(บทความบางส่วนของ ปัญหาภิกษุณีในยุคสิทธิเสรีภาพฯ) เจษฎา กันตเมธี
ที่มาของการบวชชี
เมื่อปัญหาของคนฐานะดีจบไปก็อาจอ้างต่อได้อีกว่า สตรีจำนวนไม่น้อยที่ยากจนไม่สามารถปฏิบัติธรรมได้สะดวกเพราะต้องทำงานเลี้ยงชีพฯ เรื่องนี้เป็นสิ่งน่าเห็นใจและไม่ควรเพิกเฉยจริงๆ หลายคนมองว่าเพราะประเด็นนี้เองคือเรื่องความตั้งใจในการบวชของสตรีกอปรกับอุปสรรคเรื่องพระธรรมวินัย ปราชญ์ในอดีตจึงเลือกวิธีรักษาทั้งสองอย่างคือน้ำใจและวินัย ส่งผลให้ “คิดหาทางออกโดยการให้บวชเป็นแม่ชี” แต่ก็ยังน่าเสียดายที่สถานภาพนี้ต่ำเกินไป ไม่ได้รวมเข้าในภิกษุณีบริษัทตามที่มักกล่าวอ้างกัน คือจัดเป็นอุบาสิกาผู้รักษาศีล ๘ เท่านั้น(ความจริงผู้เขียนเองกลับไม่เห็นความสำคัญในเรื่องสถานะภาพนี้) เป็นไปได้ว่าสิ่งที่ทำให้เกิดความน้อยใจคือการที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงการตั้งมั่นและผู้จะรักษาพุทธศาสนาโดยฝากเป็นหน้าที่ของพุทธบริษัททั้ง ๔ ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกและอุบาสิกา คนส่วนใหญ่จะมองภิกษุและภิกษุณีผู้เป็นนักบวชว่าสูงส่ง และมองอุบาสกอุบาสิกาว่าต่ำต้อย ดังนั้นการได้เป็นแค่อุบาสิกาจึงด้อยเกินไป ความจริงหากพิจารณาเรื่องสามเณรก็คงไม่ต่างกัน คือสามเณรก็มิได้รวมอยู่ในการเป็นภิกษุและไม่มีให้สังกัดประเภทใดเลยใน ๔ ประการนั้น(แย่กว่าแม่ชีเสียอีกที่ยังสังกัดได้ในกลุ่มอุบาสิกา) แต่บริษัทในที่นี้ที่พระพุทธเจ้าหมายถึงคือทุกคนที่นับถือพุทธศาสนานั่นเองจะมีส่วนในการทำนุบำรุงและเผยแพร่คำสอนของพระองค์ฯ(รวมถึงการได้รับประโยชน์คือการบรรลุธรรม) ประเด็นสำคัญจึงเป็นว่าไม่น่าจะเกี่ยวด้วยเรื่องสถานะภาพ แต่กลายเป็นการยอมรับของคนไทยส่วนใหญ่นั่นเอง ผู้เขียนสันนิษฐานว่าการเรียกร้องให้มีการบวชภิกษุณีนี้มีจุดประสงค์เพื่อยกสถานภาพของสตรีให้กลายเป็นที่ยอมรับมากกว่าการเรียกร้องเพื่อบรรลุธรรม นั่นคือความเป็นแม่ชีต้องกลายเป็นเสมือนคนรับใช้พระ คอยจัดแจงอาหารถวายพระสงฆ์และที่สำคัญถูกสังคมมองว่าเป็นสถานภาพที่ต่ำ คล้ายคนไม่มีทางออกให้ชีวิตหวังพึ่งพาวัดฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้สำหรับความคิดคน แต่ก็ขึ้นอยู่กับแม่ชีเองที่เลือกที่จะเป็นอย่างนั้น เพราะแม่ชีจำนวนไม่น้อยเมื่อบวชมาแล้วตั้งใจศึกษาและปฏิบัติจนเป็นที่ยอมรับของสังคมก็มี กล่าวคือหากบวชมาแล้วตั้งใจศึกษาปฏิบัติจริงก็จะได้รับการยกย่องจากสังคมไปเองโดยไม่ต้องร้องขอฯ
จุดยืนของผู้เขียนเรื่องการบวชภิกษุณีและแม่ชี
(๑)ผู้เขียนไม่ได้ปฏิเสธหากจะมีการเรียกร้องให้สามารถบวชภิกษุณีได้ตามเหตุผลที่ยกอ้างแล้วข้างต้นว่าการจะรักษาคำสอนแบบเถรวาทนั้นก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน เพราะเรายอมเปลี่ยนแปลงหลักการหลายอย่างตามสังคม แต่ประเด็นภิกษุณีกลับยืนยันไม่เปลี่ยนแบบหัวชนฝา ซึ่งหากการบวชภิกษุณีสามารถยกสถานภาพของสตรีให้ดีขึ้นได้และเป็นช่องทางเปิดโอกาสให้กว้างมากขึ้นกับการศึกษาและปฏิบัติธรรม การบวชภิกษุณีก็น่าให้การสนับสนุน (ไม่ได้หมายถึงแก้พระไตรปิฎก แต่ยอมให้มีการบวชเหมือนประเด็นการรับเงินของภิกษุ)
(๒)หากคณะสงฆ์หรือคนส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับที่จะเปลี่ยนหลักการก็ให้ใช้วิธีปัจจุบันคือสังกัดเป็นนิกายของมหายาน แต่ทั้งฆราวาสและพระสงฆ์ที่มีอิทธิพลในสังคมควรให้การยอมรับและช่วยกันให้ความรู้แก่ชาวบ้านว่าแม้จะเป็นมหายานแต่ก็เป็นภิกษุณีสงฆ์และควรให้ความสำคัญเช่นกันฯ ประเด็นก็จะตามมาว่า นิกายอื่นจะไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมไทยอีกฯ (เรื่องนี้ชี้เจตนาของผู้เรียกร้องจะบวชได้ชัดเจนว่ามิได้ต้องการบรรลุธรรมเป็นหลัก เพราะนิกายไหนก็บรรลุธรรมได้ แต่ต้องการเป็นเถรวาทเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคมไทยจริงๆ บางท่านถึงกับอ้างว่าให้ทุกคนกลับไปหาพระพุทธเจ้าคือไม่มีนิกาย มีแต่พุทธศาสนาแท้ตามพระไตรปิฎก ก็จะเป็นการขัดกับการเรียกร้องที่จะเป็นภิกษุณีเถรวาทอยู่ดี ไฉนเมื่อไม่อยากมีนิกายจึงยังไม่พอใจกับมหายานแล้วอยากเป็นเถรวาทอีกเล่า? อีกประการหนึ่งหากจะกลับไปหาพระพุทธเจ้าจริงคือยึดพระไตรปิฎก การโต้เถียงเรื่องภิกษุณีก็จบไปเพราะต้องเอาตามพระวินัยฯ) ฉะนั้นถ้ายังจะยืนยันเป็นภิกษุณีเถรวาทจริงๆ ทางเลือกเดียวคือต้องยอมให้บวชโดยยอมรับว่าเราเลือกที่จะไม่ปฏิบัติตามหลักการของเถรวาทนั่นเอง เรื่องนี้มิใช่สิ่งที่เป็นอุปสรรคหากทุกคนยอมรับได้และจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุธรรม เพราะการเข้าถึงธรรมอยู่ที่ความตั้งใจจริงในการปฏิบัติฯ
(๓) หากไม่สามารถยอมรับสิ่งที่เสนอไปแล้วทั้ง ๒ ข้อต้นได้เลยก็ควรมีการส่งเสริมให้บวชเป็นแม่ชี แต่ปัจจัยสำคัญคือการยกสถานะภาพแม่ชีให้เป็นอิสระมากขึ้นไม่เป็นเพียงคนรับใช้พระ นั่นคืออาจให้มีการตั้งวัดขึ้นมา(เหมือน เสถียรธรรมสถานฯ) แยกแม่ชีออกจากวัดที่มีพระ แม่ชีทั้งหลายบริหารปกครองกันเองตามธรรม ส่งเสริมเรื่องการศึกษาและปฏิบัติธรรม ทำวัดให้เป็นศูนย์ให้ความรู้ธรรมะแก่ผู้คนในชุมชน เพราะบ้านเมืองเจริญขึ้น จึงไม่ต้องห่วงเรื่องความปลอดภัยเหมือนพุทธกาล ประเด็นสำคัญคือต้องแสดงให้ผู้คนเห็นถึงเจตนาที่บริสุทธิ์ของตนในการบวชและความตั้งใจจริงในการศึกษาปฏิบัติ พระสงฆ์ก็พยายามให้ความรู้พุทธศาสนาที่แท้จริงแก่ประชาชน เช่นเรื่องการหาความรู้ การเสียสละ ฯลฯ โดยให้ผู้คนไม่เลือกที่จะเคารพเฉพาะตนด้วยความเชื่อว่าเป็นผู้สูงส่งหรือบุญเขต(คือทำบุญแล้วได้รับผลมากที่สุด) แต่ควรแนะนำให้ผู้คนรู้จักแบ่งปัน ช่วยเหลือทุกคน(โดยเฉพาะแม่ชีที่ออกบวชจากเรือน) สื่อมวลชนก็นำเสนอสาระที่ดีและเป็นประโยชน์ของทุกฝ่ายเสมอกัน คือมีทั้งพระทั้งแม่ชี(ที่มีความรู้)ในการสั่งสอนธรรมทางโทรทัศน์เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้สังคมไทยก็จะยอมรับนับถือสตรีมากขึ้นเอง
กล่าวโดยสรุปผู้เขียนไม่เห็นว่าการอนุญาตให้บวชภิกษุณีเป็นเรื่องที่เลวร้ายจนไม่สามารถทำได้ อีกอย่างหนึ่งการบวชภิกษุณีก็ไม่ได้มีความจำเป็นหากต้องการบรรลุธรรม นั่นคือผู้เขียนไม่มีอะไรต้องถกกับสองประเด็นข้างต้นเพราะเห็นว่ามิใช่ปัจจัยสำคัญ เรื่องที่ควรพิจารณาคือรูปแบบของพุทธศาสนาไทยในปัจจุบันเองต่างหากที่ควรได้รับการแก้ไขก่อน นั่นคือทำให้เป็นพุทธศาสนาแท้หรือเถรวาทแท้โดยการใช้มาตการทางพระธรรมวินัยเป็นวิถีการดำเนินชีวิตของพระสงฆ์ให้ได้ เมื่อพระสละลาภ ยศ อำนาจ ตำแหน่งเป็นต้นได้แล้วหันมาศึกษาพระศาสนาและปฏิบัติกันอย่างจริงจัง สามารถสอนธรรมะที่ถูกต้องแก่ประชาชนเพื่อความสุขในการดำรงชีวิตปัจจุบันตลอดจนการพ้นทุกข์ จากนั้นจะให้มีการบวชภิกษุณี บวชชี หรือแม้แต่บวชพระเองก็จะน่าอนุโมทนา แต่หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ถึงบวชเข้ามาได้(แม้แต่พระ)ก็จะยิ่งพากันหลงทาง ใช้เวลาอยู่กับการต้อนรับผู้คนที่มาท่องเที่ยวหรือเอาผ้าป่ามาถวาย นั่งสะแกนกรรมดูอดีตชาติคนอื่น สร้างกันแต่วัตถุอาคารหรือเทศน์สอนเอาใจคนเพื่อตนจะได้โด่งดัง ซึ่งจะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยแก่พุทธศาสนาแถมยังเป็นการปิดทางบรรลุธรรมของตนเองเสียอีกเพราะดำรงชีพแบบมิจฉาอาชีวะ
ความอ่อนแอเดิมของสังคมไทยที่ไม่มีตัวเลือก
ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยทั้งในแง่ประชาธิปไตยหรือพุทธศาสนาเองก็ตามคือ คนไทยส่วนใหญ่มิได้เป็นคนมีความรู้และขาดแคลนปัญญาชนที่จะนำเสนอข้อมูลหรือความถูกต้องแก่ผู้คนได้ คนส่วนใหญ่เองก็เหมือนจะใช้ชีวิตไปวันๆโดยไม่ยอมพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นสาระไม่เป็นสาระ ความจริงพุทธศาสนาก็คล้ายกับประชาธิปไตย คือเราไม่สามารถทำให้เกิดประชาธิปไตยได้เพียงเพราะแก้รัฐธรรมนูญหรือระบุไว้ว่าประเทศเป็นประชาธิปไตย เพราะมิเช่นนั้นก็จะสามารถทำให้ทุกประเทศมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้เลยเพียงคัดลอกรัฐธรรมนูญของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยไปมอบให้ฯ แต่ประชาธิปไตยจะเกิดจากการที่คนในประเทศนั้นรู้ความจริง เข้าถึงข้อมูล สามารถตัดสินใจเลือกสิ่งที่ถูกต้องได้ด้วยตนเอง(โดยไม่ต้องมีผู้ใดมาชักจูง)และเปิดใจอภิปรายรับฟังความเห็นของกันและกัน พุทธศาสนาก็เช่นกัน มิใช่เพียงอ้างว่าเป็นเถรวาทแล้วจะเป็นเถรวาทแท้ แต่ผู้คนจะต้องรู้จักพระไตรปิฎก เข้าใจหลักการแท้ของพุทธศาสนา กลายเป็นคนมีเหตุผลพร้อมจะรักษาหลักการเดิมเพื่อป้องกันการบิดเบือนคำสอนที่ถูกต้องฯลฯ
นับแต่อดีตมา คนไทยรู้จักเฉพาะพุทธศาสนาเถรวาท(ที่กล่าวอ้างชื่อนี้กัน) ไม่มีนิกายอื่น(ถึงมีก็น้อยและมักไม่ค่อยให้ความสำคัญที่จะศึกษาเรียนรู้)ให้เปรียบเทียบ หากเทียบกับประชาธิปไตยคือมีนักการเมืองพรรคเดียวหรือสองพรรคฯ ซึ่งต่างจากตะวันตกเช่นอเมริกา ถนนสายหนึ่งประกอบด้วยวัดไทย ทิเบต พม่า กัมพูชา อินเดีย ศรีลังกา ญี่ปุ่นฯลฯ และยังไม่รวมศาสนาอื่นอีก ทำให้ฝรั่งมีตัวเลือกมาก นั่นคือวัดใดที่ตนเข้าไปสัมผัสแล้วสอนไม่เป็นเหตุเป็นผล งมงาย หลอกลวงด้วยวัตถุมงคล หรือพิธีกรรมฯลฯ ก็จะถูกทอดทิ้งหรือคว่ำบาตรไปเอง ส่วนวัดที่สอนธรรมะได้ดี มีการปฏิบัติวิปัสสนาซึ่งเห็นผลจริงฯ วัดนั้นก็จะดำรงอยู่ได้อย่างผาสุข เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับผลักดันหรือบังคับให้แต่ละฝ่ายต่างเสนอหลักการ(สาระธรรม)ที่ดีของตนสู่ชาวโลก ซึ่งน่าเสียดายที่คนไทยไม่มีโอกาสเช่นนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อสังคมเจริญขึ้น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารก็มากขึ้น กอปรกับเมืองไทยคล้ายจะมีนิกายใหม่เพิ่มขึ้น(เช่น สันติอโศก ธรรมกาย หรือพุทธวจนะ)สิ่งเหล่านี้สามารถทำให้คนไทยเปิดใจได้กว้างมากขึ้นได้ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดไม่ใช่การที่ยอมให้มีภิกษุณีหรือยกย่องสถานะของแม่ชี แต่อยู่ที่การไม่ยอมรับฟังหรือเปรียบเทียบสาระจากผู้อื่นเลย เพราะจะทำให้ติดที่ไม่สามารถพัฒนาตนเองได้ เราไม่จำต้องกลัวว่าเมื่อรับพิจารณาแล้วต้องเปลี่ยนแปลงเสมอไป สิ่งใดเห็นว่าเป็นประโยชน์ก็รับเอา สิ่งใดมีโทษก็ทิ้งไปเสียฯ
จุดประสงค์ วัดที่เหมาะสมและข้อปฏิบัติในการบวชชี
เพื่อให้บทความนี้มีประโยชน์แก่ผู้ที่ประสงค์จะบวชชี จึงขอชี้แจงรายละเอียดเรื่องแม่ชีบ้าง วัตถุประสงค์ในการบวชชีอาจมีหลายอย่างตามผู้ที่ประสงค์จะบวช เช่น แก้บน สะเดาะเคราะห์(หมอดูแนะนำมา) หรือเป็นประเพณีของบางท้องที่ที่เด็กผู้หญิงทุกคนต้องบวชชีอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต(ผู้เขียนไม่มีเวลาอธิบายเรื่องเหล่านี้ว่าไม่ดีและไร้สาระอย่างไร แต่อยากให้ถามตัวเองกันว่า ไฉนการทำความดีสักอย่าง เราจะต้องรอให้มีคนมาทักหรือบีบบังคับ บ้างก็เพราะกลัวภัยอันตรายมีความตายเป็นต้น เราไม่สามารถทำความดีด้วยความตั้งใจและความบริสุทธิ์ใจของเราเองได้เลยหรือ?) เป้าหมายเหล่านี้ไม่ได้เลวร้ายแต่ก็ไม่ทำให้ผู้บวชได้ปัญญาเหมือนกัน นั่นคือบวชเพราะความเชื่อ(เป็นมิจฉาสัทธา) พุทธศาสนาสอนเรื่องศรัทธาเช่นกัน แต่เป็นสัมมาสัทธาคือทำให้ผู้นั้นเกิดแรงบันดาลใจในการอยากเรียนและปฏิบัติฯ ดังนั้นแรงบันดาลใจในการบวชที่ดีที่สุดคือการอยากศึกษาพุทธศาสนาและปฏิบัติธรรมแต่หากไม่สามารถทำให้เกิดแรงบันดาลใจเช่นนี้ได้เพราะมีจุดประสงค์คือการแก้บนเป็นต้นก็ไม่เป็นไร เพียงแต่เมื่อบวชมาแล้วให้ดำเนินชีวิตตามนี้คือใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับการศึกษาและปฏิบัติ (พึงทราบว่าการบวชมาอยู่เฉยๆ นั่งพูดคุยสนทนากัน หรือทำงานวัดทั้งวันเช่นถักด้ายข้อมือ ทำตะกรุดฯลฯ ล้วนไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยกับการเข้ามาบวช) การที่จะมีโอกาสศึกษาและปฏิบัติธรรมได้นั้นผู้บวชต้องพิจารณาปัจจัยอีกข้อหนึ่งคือ
วัดที่เหมาะสม จะต้องมีพระ(หรือหัวหน้าแม่ชี)ที่มีการศึกษาทำหน้าที่เผยแผ่พุทธศาสนาและมีความรู้ด้านการปฏิบัติ(สังเกตได้ว่าพระปฏิบัติจะมีจริยวัตรที่งดงาม และไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของขลัง ยศอำนาจฯ)หากยังหาไม่ได้ก็ไม่ควรตัดสินใจบวชมั่วเพียงเพราะอยากแก้บนให้สำเร็จ เพราะจะทำให้เสียเวลาเปล่า ในกรณีที่เป็นวัดของพระสงฆ์ก็ควรมีการแบ่งเขตพระสงฆ์และแม่ชีให้ชัดเจน(ไม่อยู่คลุกคลีกัน)ฯ
ข้อปฏิบัติในการบวชชี ต้องทราบว่าความเป็นจริงแม่ชีมิได้เป็นนักบวชที่ผ่านอุโบสถทำสังฆกรรมเหมือนพระสงฆ์ (สามเณรก็ใช้วิธีบวชเช่นเดียวกับแม่ชี เพียงแต่เคร่งครัดเรื่องพระอุปัชฌาย์มากกว่า) กล่าวคือเป็นการบวชที่ง่าย เรียกว่าเป็นติสรณคมณูปสัมปทาก็ได้ คือการกล่าวรับเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งหรือที่ระลึก(หมายความว่าจะเชื่อและทำตามพระรัตนตรัยเท่านั้น ไม่ใช่ของขลัง หมอดูหรือคนทรงเป็นต้น) เมื่อกล่าวคำรับเอาพระรัตนตรัย(พุทธํ สรณํ คจฺฉามิฯ)แล้ว บางที่อาจให้มีการท่องคำขอบวชชี (สาระของบทสรุปว่าเป็นการขอรับเอาพระรัตนตรัยและให้พระสงฆ์จำไว้ว่าผู้นั้นได้บวชในพระธรรมวินัย) จากนั้นก็มีการสมาทานเอาศีล ๘ ไปปฏิบัติ มักมีคำถามว่าควรจะโกนผมดีหรือไม่? คำตอบคือควรโกนทิ้งเสีย(มิใช่เพราะบรรลุธรรมง่าย) เนื่องจากการบวชเป็นการเสียสละที่ต้องวัดใจผู้บวช นี้เป็นข้อดีคือทำให้การบวชชีไม่เป็นของง่ายเกินไปที่ใครจะทำก็ได้ จนไม่เห็นคุณค่า เราต้องยอมรับว่าสตรีเป็นเพศที่รักสวยรักงาม ส่วนใหญ่ไม่สามารถตัดสินใจโกนผมตนเองได้ (ไม่ต้องพูดถึงภิกษุณีว่าไฉนมีจำนวนน้อย) ความจริงการโกนผมทิ้งยังเอื้อต่อการดำรงชีพของแม่ชีเองด้วย นั่นคือลดความหน้าตาดีลง ทำให้ตนไม่เย่อหยิ่งและไม่เป็นที่ดึงดูดใจของผู้พบเห็นมีพระสงฆ์เป็นต้นฯ การบวชแบบติสรณคมณูปสัมปทานี้ไม่จะเป็นต้องบวชกับพระด้วยซ้ำ(แต่ก็นิยมกันจนเข้าใจผิดกันว่าหากไม่บวชในวัดหรือบวชกับพระก็จะไม่เป็นแม่ชี) แน่นอนว่าหากจะดำรงชีวิตเป็นแม่ชีแบบยาวนานหรืออยากได้รับการรับรองว่าเป็นแม่ชีเพื่อใช้อ้าง/แสดงแก่สังคมก็ต้องยอมรับข้อนี้คือควรหาพระที่โด่งดังหรือวัดที่ใหญ่โตในการบวช แต่หากประสงค์เพียงรักษาศีล ๘ และตั้งใจปฏิบัติธรรม จะบวชที่ไหนก็ได้ รวมถึงบวชเองที่บ้านและปฏิบัติธรรมที่บ้าน (ภาคใต้หลายวัดมีการอนุญาตให้บวชในวัด แต่เมื่อบวชเสร็จก็ให้ไปอยู่ที่บ้าน อาจเป็นเพราะต้องการตัดข้อครหาเรื่องพระอยู่ร่วมกับแม่ชีในวัด) เหตุที่กล่าวว่าบวชที่ไหนหรือกับใครก็ได้ เพราะการบวชประเภทนี้เป็นแต่การสมาทานรักษาศีลเท่านั้นเองซึ่งจะทำที่ไหนกับใครก็ได้ เพราะคนที่ต้องรักษาศีลหรือปฏิบัติธรรมคือผู้บวชเอง มิใช่คนที่ตนไปขอบวช กล่าวคือต่อให้มีพระอุปัชฌาย์เป็นถึงเจ้าคุณก็ไม่ได้มีส่วนอะไรกับผู้บวช เพราะเรื่องปฏิบัติเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เช่นเดียวกันเมื่อต้องการลาสิกขา(สึก) หากบวชกับพระสงฆ์ก็สามารถเข้าไปลาและขอลาสิกขากับท่านได้ ส่วนผู้ที่สมาทานเอาเองที่บ้านก็ให้เปลี่ยนเป็นสมาทานศีล ๕ ตามเดิมโดยไม่จำต้องมีพิธีกรรม จัดดอกไม้ธูปเทียนอะไรเลย สำหรับผู้ประสงค์จะบวชระยะสั้น ผู้เขียนแนะนำให้ใช้วิธีบวชที่บ้านอันจะได้ประโยชน์และเป็นการบวชที่เสียสละมากกว่า(อาจไม่ต้องโกนผมก็ได้เพราะไม่เป็นที่ต้องตาใครฯ) การบวชที่บ้านไม่ได้เป็นการอวดผู้อื่นและหากตั้งใจปฏิบัติจริงก็ได้ผลเช่นกัน ส่วนผู้ประสงค์จะอยู่นานเช่นเป็นปีหรือตลอดชีวิต เพื่อความอุ่นใจเรื่องเอกสารรับรองเป็นต้นหากต้องเดินทางไกล ก็ควรเข้าไปหาวัดที่ดีซึ่งมีคุณสมบัติตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นการบวชที่ไหน แบบไหน ผู้บวชต้องไม่ลืมอุดมการณ์ตนเองคือการศึกษาและปฏิบัติธรรม ส่วนสิกขาบทหรือศีลแม้จะมีเพียงเล็กน้อย แต่ก็ไม่ง่ายสำหรับการรักษา ดังนั้นต้องตระหนักเรื่องศีลให้ดี หากเห็นว่าไม่สามารถรักษาศีลให้บริสุทธิ์อยู่ได้(ซึ่งข้อที่ล่วงละเมิดนั้นมีความสำคัญต่อการเป็นนักบวช เช่น เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ การลักขโมย ก็ไม่ควรดำรงตนเป็นแม่ชีอีก แต่ให้ลาสิกขาเสียเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพระศาสนาฯ
..............................................................................