วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การยึดพุทธพจน์


จดหมายถึง คุณ อรชุน แก้วกังวาล ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๕
ยินดีมากครับ ที่ได้อ่านบทความโยม ผมได้ความรู้หลายอย่างจากบทความนี้ครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัฒนธรรมฮินดูที่ตกทอดมาในสายเลือดชาวไทยพุทธฯลฯ ขอชื่นชมกับความรู้เหล่านี้ครับ และคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกคนฯ ความจริงพระสงฆ์ในทัศนะที่โหดร้าย หวังผลประโยชน์เป็นต้นนั้นก็ไม่ทุกรูปนะครับ น่าจะมีพระดีเหลืออยู่อีกสัก ๐.๕ เปอเซนต์ ฮ่ะๆๆ (ตกลงผมมองแง่ลบมากกว่าโยมอีก?....ที่บอก ๐.๕ เปอเซนต์นั้นวัดตามรายชื่ออีเมลล์ซึ่งส่งต่อไปถึงท่านเหล่านั้นด้วย อาจเป็นพระอยู่ในกรุงเทพซัก ๒-๓ รูป เรียนอยู่ศรีลังกา ๑ รูป คิดว่าพระเหล่านี้ต่อไปอาจเป็นกำลังช่วยเหลือพระศาสนาได้...หรือบางท่านอาจเป็นสายให้กับโล้นซ่าฯ แอบอ่านจดหมายเราอยู่แล้วหาทางกำจัดเราไปซะก่อนก็ไม่ทราบ ฮิๆๆๆ) ส่วนผมเองก็ไม่ได้ถูกกลั่นแกล้งอะไรหรอกครับ ยังใช้ชีวิตด้วยความผาสุก หรืออาจมีบ้างก็ไม่ทราบครับ เพราะไม่เคยสนใจว่าใครจะมากลั่นแกล้งหรือจะมาเชิดชู(ไม่ใช่เป็นอรหันต์อยู่เหนือโลกธรรมนะครับ แต่เพราะมีกิจมาก เช่นต้องศึกษา/ปฏิบัติธรรม และเขียนบทความเป็นต้นเพิ่มสัมมาทิฏฐิให้ชาวบ้าน จึงไม่มีเวลาสนใจรับรู้เรื่องเหล่านั้น) ขอกล่าวถึงประเด็นสำคัญนะครับ ก่อนอื่นอยากให้แน่ใจก่อนว่า เรามีความคิดไปทำนองเดียวกัน ซึ่งหากไม่ตรงก็ต้องขออภัยด้วย(เผื่อบางทีเป็นพันธมิตรกันตั้งนาน เพิ่งมารู้ทีหลังว่าเห็นไปคนละทางโดยมิได้ทำความเข้าใจกันฮิๆๆ) และคิดว่าหากต่างฝ่ายต่างมีเจตนาดีต่อพุทธศาสนา(ทั้งต่อตัวเอง)แล้ว แม้ไม่ตรงก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ครับฯ  
เรื่องการยึดแนวทาง(คำสอน)ของพระพุทธเจ้า อันนี้ที่โยมพูดมาตรงและถูกต้องทุกอย่างแล้วครับ ผมเพียงแต่อยากเปิดใจนิดหน่อย(แก่ผู้อ่านท่านอื่น)เท่านั้นเอง ดังที่โยมบอกว่าปัญหาตอนนี้อยู่ที่คนไม่ยอมเอาคำพระพุทธเจ้ามาใช้(หรือแม้แต่คิดจะศึกษา) พากันเชื่อและประกอบพิธีกรรมที่งมงายฯลฯ ตรงนี้ถูกต้องเลยครับ อยากบอกว่าความจริงเมืองไทยมีชาวพุทธ ๒ ฝ่ายมานานแล้ว ๑. คือคนเชื่องมงายไม่สนใจเหตุผลความถูกต้องดังตัวอย่างแหละครับ ๒. คนที่ยึดพุทธพจน์ คำพูดพระพุทธเจ้าอย่างเหนียวแน่และไม่สนใจคำพูดของผู้อื่นเลยฯ
ประเภทแรกชัดเจนอยู่แล้ว ขออธิบายอันที่ ๒ นี้นะครับ ว่าความจริงผมเองไม่ได้จัดตัวเองอยู่ในคนประเภทนี้นะ เพราะคนประเภทนี้เยอะมากที่รับคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยอาศัยความเชื่อ/ศรัทธา (ความจริงใช้คำว่าความเชื่อก็ไม่ถูก เพราะพุทธศาสนาความเชื่อจะควบคู่ไปกับปัญญา หรือเอื้อแก่สัมมาวายามะคือการกระทำ) ศรัทธาที่กล่าวถึงนี้อาจใช้ภาษาฝรั่งได้ว่า Blind faith นั่นคืออะไรก็ตามที่ปรากฎในพระไตรปิฎก หรือให้ดีกว่านั้นเป็นคำพูดพระพุทธเจ้า (ขึ้นต้นด้วยคำว่า ดูกรภิกษุ ดูกรอานนท์ฯลฯ) ต้องถูกเสมอและชาวพุทธต้องยอมรับโดยดุษฎีฯ ผมไม่ได้หมายความว่าพระพุทธเจ้าไม่ดีนะครับ ข้อเสียอยู่ตรงที่คนเหล่านี้ต่อให้จับของดีก็ไม่เข้าใจความหมายและไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ที่แย่กว่านั้นคือนำไปสู่การปฏิเสธคำสอนของผู้อื่น(แม้ถูกต้อง) เพราะเหตุว่าไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า เราต้องยอมรับว่าแม้พระพุทธเจ้าจะเป็นผู้เลิศที่สุด แต่ ๑) ไม่ได้หมายความว่า คำสอนคนอื่นจะต้องผิดหมด เรื่องนี้มีให้เห็นในพระสูตรเยอะมาก ว่าพระพุทธเจ้าก็ยอมรับคำสอนผู้อื่นหากกล่าวถูกต้องแล้ว เช่นเรื่องชีวิตเป็นของไม่เที่ยง ให้พิจารณาเห็นด้วยปัญญาแล้วเบื่อหน่ายในกามคุณเสียฯ (อรกานุสาสนีสูตร อังคุตตระนิกาย) ข้อ ๒). แม้ความสามารถพระพุทธเจ้าไม่จำกัด แต่การตรัสเทศนาของพระพุทธเจ้าถูกจำกัดด้วยบริษัท คือต้องดูอุปนิสัยคนที่ฟัง เช่นถ้าเขาเป็นคนโง่(มีปัญญาน้อย) เทศนาก็เหมาะสำหรับคนโง่ บางครั้งพระสูตรนั้นพระสูตรเดียวให้ข้อมูลไม่ครบ เช่นสอนเรื่องการให้ผลของกรรม ก็ต้องตรัสว่า ให้ผลในปัจจุบัน ชาติหน้า และชาติถัดๆไป (เท่านั้น) ซึ่งถ้าจะยึดเอาพระดำรัสนี้เป็นตัวชี้ขาดเรื่องกรรมก็ถือว่าผิดพลาดมาก เช่นเรื่ององคุลีมาล การฆ่าคนมาเกือบพัน หากพูดตามหลักกรรมแล้วต้องชดใช้กันมาก เผลอๆชาตินี้อย่างเดียวไม่พอ ต้องชาติหน้าหรือชาติต่อๆไปด้วย (ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้) แต่ผลสรุปคือ องคุลีมาลไม่ต้องรับกรรม(ที่สาหัสหรือสาสมแก่กรรม)ที่ตนได้ทำนั้น เพียงแค่โดยไม้ โดนก้อนหิน หัวแตก เลือดออกเป็นต้น นั่นคือกรรมทั้งหมดขององคุลีมาลถูกอรหันตมรรคตัดจนขาดแล้ว (เป็นอโหสิกรรม...กรรมที่ให้ไม่ให้ผลอีกแล้ว) การบรรลุธรรมเป็นการตัดภพชาติ ถ้าท่านไม่บรรลุธรรม ยังเวียนว่ายตายเกิดก็ต้องมีโอกาสให้กรรมตามสนองภพใดภพหนึ่งได้ แต่เมื่อท่านไม่เกิดอีก ก็ไม่ต้องไปรอรับผลที่ไหนอีกแล้วนั่นเอง (ความจริงข้อนี้ก็รับรองโดยพระพุทธเจ้าว่า มรรค เป็นหนทางตัดกรรมที่ดีที่สุด) ดังนั้นการสอนเรื่อง อโหสิกรรม ก็ถูกต้องเช่นกันแม้ไม่ได้อยู่ในพระสูตรข้างต้นซึ่งยกเฉพาะผลของกรรมเพียง ๓ อย่าง(ดังบอกว่าพระสูตรมีข้อจำกัด) ผมอยากสรุปตรงนี้ว่าคนที่ยึดมั่นในพุทธพจน์หลายคนก็ไม่ยอมรับเรื่องอโหสิกรรมนี้ กล่าวแต่เพียงเป็นมติของอรรถกถาจารย์ โดยมิได้พิจารณาแยกแยะความเป็นจริงเลยฯ และนี่ก็เป็นข้อเสียของคนยึดพระพุทธเจ้าแบบไม่มีปัญญาครับ
ที่ยกตัวอย่างเหล่านี้มาเพียงเพื่อชี้ให้เห็นว่า จริงๆแล้วผมไม่ได้ยกย่องคนยึดพุทธพจน์นะครับ การทำเช่นนั้นมันง่ายมาก เพียงแต่ก็อบข้อความจากพระไตรปิฎกมาพูดหรือเขียนเป็นหนังสือขายก็ได้เงินแล้ว ที่สำคัญไม่ผิดอีกต่างหาก ระบุไว้ว่าใครไม่เห็นด้วยก็ให้ไปเถียงกับพระพุทธเจ้าเอาเอง (ตกลงคนเหล่านั้นต้องการเพียงผลประโยชน์ตนเท่านั้น) ไม่สามารถทำให้ผู้อื่นเข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้าได้ ซึ่งเรื่องนี้โยมก็ได้พูดไว้แล้วว่าภาษาธรรมะเป็นภาษาที่เข้าใจยากสำหรับคนทั่วไป(ดูตัวอย่างในหนังสือธรรรมโฆษณ์ของท่านพุทธทาสเป็นต้น....แต่ท่านพุทธทาสไม่ใช่คนประเภทนั้นนะครับ สังเกตจากการที่ท่านสามารถเทศน์สอนด้วยภาษาที่ง่ายได้ด้วยความเข้าใจที่ลึกซึ้ง)ฯ แต่ก็ใช่ว่าจะรังเกียจคนยึดพุทธพจน์ อย่างน้อยมองในแง่ดีเขาก็มีหลัก เป็นชาวพุทธที่อาศัยศรัทธา(เหมือนกับศาสนาของพระเจ้าทั่วไป) ที่จะทำให้เขาได้อ่านหนังสือหรือพระไตรปิฎกบ้าง เผื่อมีโอกาสดีๆ วันหนึ่งเขาจะกลายเป็นคนรู้จักคิดและหาความเข้าใจ/ความจริงเรื่องนั้นต่อได้(ความจริงแบบมีเหตุมีผลนะครับ ไม่ใช่ความจริงว่าตรงกับคัมภีร์เล่มอื่นหรือเปล่า จะได้เชื่ออย่างสนิทใจฮิๆๆ)
(คนประเภทที่ ๓)ส่วนผู้ที่ยึดพระไตรปิฎกด้วยและหาความเข้าใจไปด้วยก็ยิ่งน่าอนุโมทนาครับ แต่คนเหล่านี้ไม่ค่อยมีให้เห็น เหตุผลคือเพราะถ้าพยายามหาความเข้าใจหรือยึดความถูกต้อง เขาก็จะไม่ผูกตัวเองอยู่กับพระไตรปิฎกอย่างเดียวอยู่แล้ว แต่จะสนใจสิ่งถูกต้องและเป็นประโยชน์ทุกอย่าง(ที่จะช่วยในการพัฒนาชีวิตได้)
คนที่ผมอยากสนับสนุนมากที่สุดก็คือคนประเภทหลังที่กล่าวมานี่แหละครับ คือไม่ผูกขาดตัวเองอยู่กับความเชื่อ แน่นอนว่าชาวพุทธต้องเคารพพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าก็แนะนำให้พิสูจน์พระองค์ก่อนเชื่อ บ้างก็ตรัสว่า....วิธีการรับข้อมูลที่ดีที่สุด(ไม่ว่าคำสอนในศาสนาใด) ต้องอย่ารีบรับเสียทันที ขณะเดียวกันก็อย่าปฏิเสธเสียทันที ให้ดีที่สุดต้องเห็นคุณเห็นโทษในสิ่งนั้นก่อนฯ เรื่องนี้โยมก็เข้าใจดีอยู่แล้ว สังเกตจากการวิเคราะห์ในบทความ นั่นคือเราจะบอกว่าสิ่งใดผิดถูกต้องมีเหตุผลมารองรับฯ มาถึงตรงนี้แล้วพอสรุปได้นะครับว่าผมเป็นคนอย่างไร ยึดพุทธพจน์หรือไม่ยึดฯ.....และตรงกับโยมมากแค่ไหน.....(ต้องให้โยมตัดสิน เพราะผมเองก็ไม่ทราบ)
สิ่งที่ผมกลัวมากที่สุดไม่ได้เป็นพวกนอกรีต หรือพวกหาผลประโยชน์ เช่นหลอกชาวบ้าน หาเงิน รีดไถบุญ สะเดาะเคราะห์ฯลฯ ตามที่เราทราบกันอยู่นะครับ คนเหล่านั้นจะจัดการกับเขาง่ายมาก (ถ้าเขาไม่ส่งมือปืนมาจัดการเราเสียก่อน ฮิๆๆๆ) โดยการเปิดเวทีโต้วาทะกันสักยก ปัญหาก็จบครับ เพราะคนผิดเถียงอย่างไรเขาก็ผิด(แต่ก็ทำไม่ได้อยู่ดี เพราะไม่มีใครจะยอมทำในสิ่งที่ตนเสียผลประโยชน์)ฯ ที่น่ากลัวยิ่งกว่าคือพวกยึดพุทธพจน์นี่เองฯ เพราะเขามีความมั่นใจมากว่าการกระทำของเขาถูกต้อง มีพุทธพจน์รับรอง สามารถอ้างที่มาจากพระสูตรได้(โดยที่ตนไม่เข้าใจและพุทธพจน์บางที่ก็มีข้อจำกัดตามที่อธิบายไปแล้ว) คนประเภทนี้ไม่ต้องการความถูกต้องอย่างอื่น ใช้คำพูดที่ต่างไปจากพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ เช่น ฌาณ ที่๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘..... ด้วยเหตุผลว่าพระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสคำเหล่านี้ ตรัสแต่เพียงว่า อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะเป็นต้น เราลองนึกภาพดูว่าการใช้คำจะส่งผมอะไรมาก พระพุทธเจ้าอนุโลมให้ใช้ภาษาของถิ่นนั้นๆด้วยเหตุผลว่าจุดประสงค์ของการสอนธรรมคือทำให้เขาเข้าใจธรรมเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติเท่านั้นเอง จะมีประโยชน์อะไรหากใช้คำหรูแต่ผู้ฟัง(หรือรวมทั้งผู้พูด)ไม่เข้าใจฯ และสาวกหรือบริษัทที่ส่งเสริมแนวคิดประเภทพุทธวจนะนี้ก็จะไม่ชื่นชมยินดีกับการแสดงธรรมแบบอื่นอีกแล้ว(ต่อให้เข้าใจง่ายและมีสาระ) เพราะฝังความคิดไว้แล้วว่า ใครๆก็ไม่ดีเท่าพระพุทธเจ้าฯ
ตกลงคนยึดพุทธพจน์ที่ผมหมายถึงในที่นี้คือ คนที่เอาแต่ท่องจำหรือถ่ายทอดคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยไม่สนใจความรู้หรือความเข้าใจทั้งแก่ตนเองและผู้ฟัง อาศัยศรัทธา(ความเชื่อแบบ Blind faith) เป็นตัวนำทาง เช่น พระพุทธเจ้าเป็นสัพพัญญู ธรรมเป็นอกาลิโก พระสงฆ์เป็นสุปฏิปันโน(โดยไม่ทราบว่าที่เป็นเช่นนั้นเนื่องด้วยเหตุผลใด และตนควรทำอย่างไรที่จะปฏิบัติให้เป็นเช่นนั้นบ้าง เอาแต่เคารพ บูชา กราบไหว้โดยยึดเป็นสรณะที่ดึงตนเองลงต่ำ มิใช่ไม้ยัน ๓ ขา ดังที่ท่านพุทธทาสกล่าวไว้ฯ)
ที่ไม่เห็นด้วยกับคนประเภทที่ ๒ คือยึดพุทธพจน์นั้น เพราะความจริงคนเหล่านี้ในเมืองไทยมีมากมานานแล้วครับ สิ่งที่เห็นชัดอย่างหนึ่งคือ ไม่ได้ทำให้ศาสนาดีขึ้นเลย แน่นอนว่าสามารถรวบรวมกลุ่มชนได้เป็นกลุ่มใหญ่เช่นกัน (เพราะการรวมกลุ่มทุกประเภทสามารถทำได้ ขอให้ปลุกศรัทธาคนขึ้นมาเท่านั้น คนที่ไม่มีความรู้ต้องอาศัยศรัทธาเป็นหลัก) แต่สิ่งใดที่ไม่ให้ความสำคัญกับความเชื่อ อาศัยปัญญาหรือวิจารณญาณเป็นสำคัญ (ดังตัวพุทธศาสนาแท้) ก็เป็นที่รวมคนได้ยาก เพราะคนส่วนใหญ่(เราต้องยอมรับว่า) ไม่มีปัญญา พร้อมที่จะเชื่อแบบงมงาย หากได้ยินว่าบริจาคเงินแล้วได้บุญก็จะทำโดยไม่ต้องทราบว่า บุญเกิดจากการกระทำแบบใดฯ
จึงอยากสรุปดังนี้นะครับ ว่าการรวมตัวเป็นพันธมิตรกันที่จะทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้สำเร็จนั้นดีมากครับ และเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริม แม้บางเรื่อง(ที่เน้นให้คนใช้ปัญญา)จะยากมากก็ตาม แต่หากพยายามก็ทำได้ฯ อยากให้ดูกรณีของคณะนิติราษฏร์ เริ่มแรกตั้งตัวขึ้นใหม่ผู้คนก็รับไม่ได้(เพราะขัดกับความเชื่อเก่าฯลฯ) แต่พอนานเข้าก็สามารถให้ความรู้คนได้มากขึ้นจนเติบโตเป็นที่ยอมรับของคนส่วนหนึ่งได้ ทั้งที่บางท่านเองก็ยอมรับว่า ได้เขียนบทความให้ความรู้คนมาเป็น ๑๐ ปีแล้วแต่เมื่อก่อนก็ไม่มีคนสนใจ อาจเป็นได้ว่าคนเหล่านั้นอยู่ในสถานภาพที่เหมาะและมีเวทีในการให้ความรู้ฯ แต่พอหันกลับมามองพุทธศาสนา อาจเป็นเพราะผมยังเด็กและความรู้น้อยด้วย(นี่พูดจากใจจริงครับ ไม่ใช่ทำดัดจริต) ผมมองไม่เห็นทางเลยที่จะช่วยพุทธศาสนาหรือทำให้ชาวพุทธกลุ่มใหญ่หันมาสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง(ออกจากความงมงายทุกรูปแบบ ทั้งวัตถุพิธีกรรม และยึดพระพุทธเจ้าแบบหลับตา) ได้ บางทีโยมเป็นคนที่อาวุโสกว่า ความรู้มากกว่าอาจพอมองเห็นทางฯ
ส่วนเรื่องการต้องเผยแผ่แบบหักดิบทำนองท่านเกษม อาจิณฺณสีโล เป็นตัวอย่างที่เตือนใจได้ดีนะครับ ว่าเราไม่ควรเอาอย่าง (ไม่ได้หมายความว่าผมเห็นด้วยกันท่านเกษมทุกอย่างนะครับ) แต่เจตนาดีของท่าน กอปรกับการใช้พระไตรปิฎกอ้างอิง (ทั้งที่ถูก)ก็สะท้อนแล้วว่า ไม่ได้ผล ซึ่งก็เชื่อว่า เมื่อท่านนำเสนอความจริงเหล่านั้นแล้ว(เช่นพระบ้าอำนาจ การถวายเงินแก่พระ เป็นต้นไป) ผมว่าคนส่วนใหญ่ที่ดูข่าวจากสื่อมวลชน น่าจะมีทัศนะในแง่ลบกับท่านมากกว่าจะพิจารณาความถูกต้องฯ สรุปคือ ยิ่งทำแบบนี้มากเท่าไร ยิ่งมีคนเกลียดขึ้นมากเท่านั้น เหตุผลง่ายๆคือเมืองไทยเหมือนจะไม่เหมาะกับการใช้เหตุผลความถูกต้อง แต่คนที่ยึดประเพณี ความเชื่อเก่า ทำอะไรก็ได้ให้ชาวบ้านสบายใจ(โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร) จะได้รับการยกย่องและอยู่อย่างยั่งยืนครับ หากอยากเป็นนักเทศน์ชชื่อดังก็ไม่จำเป็นต้องชี้แจงหลักการของพระศาสนาหรือหวังให้คนสละมิจฉาทิฏฐิ เพียงแต่คิดคำคมหรือมุขเด็ดขึ้นมาพูด(ไม่จำเป็นต้องเป็นความจริงหรือมีผลในทางปฏิบัติ) พอให้คลายความเครียดของคนและหลอกให้เขาเชื่อว่า เขาเป็นชาวพุทธที่ดีอยู่แล้วก็จะได้รับการยกย่อง มีชื่อเสียงฟุ้งกระจายได้ไม่ยากครับฯ
สิ่งที่ผมมองเห็นตอนนี้คือ แม้จะไม่มีโอกาสพูดกับคนส่วนใหญ่ แต่เราต้องทำให้คนที่ใกล้ชิดเรา เช่นคนในครอบครัวเป็นต้น หรือคนอื่นๆที่พอจะพูดกันรู้เรื่อง เปลี่ยนทัศนคติมาเป็นคนเห็นถูก ตรง(ตามเหตุผล) เสียก่อนครับ ยอมรับว่าตั้งแต่ผมมาเปิดที่ปฏิบัติธรรมนี้ ผมยังไม่สามารถทำให้ใครเข้าใจพุทธศาสนาแบบจริงจังได้เลย (เมื่อตอนอยู่วัดก็มิใช่ทำง่ายนะครับ มีอุปสรรคมากกว่านี้เสียอีก) แต่ที่ยังภูมิใจคือพอจะเป็นตัวอย่างแก่คนที่บ้าน ให้เขามีโอกาสรับรู้สาระธรรมมากขึ้น (เริ่มเปลี่ยนจากความเชื่อที่ว่า เอาทองไปปิดก้อนหิน ฝังรอบโบสถ์แล้วได้บุญ มาเป็นการศึกษาและปฏิบัติธรรมจึงได้บุญ) และจะใช้เวลาส่วนหนึ่งในการทำบทความหรือวีดีโอช่วยคนอยู่ห่างไกล (ซึ่งก็ได้ผลน้อยครับ แต่ก็ทำไปเรื่อยๆ) เราต้องยอมรับดังที่กล่าวแล้วว่า ไม่มีอะไรยากไปกว่าการให้ความรู้(ที่แท้จริง)แก่คนหรอกครับ หลอกเขามาทำพิธีกรรมหรือหลอกให้ยึดพระพุทธเจ้าแบบหลับตาว่าได้บุญมากยังง่ายกว่าอีกครับ (ศรัทธายังง่ายกว่าปัญญา)ฯ ถ้าเช่นนั้นอาจถามว่า ไฉนไม่หลอกเขาให้ยึดพระพุทธเจ้าไปก่อน พอได้มวลชนแล้วก็ค่อยสอนธรรมะจริงๆ(ความเป็นเหตุเป็นผล) เป็นกุศโลบาย? ตอบว่า ทำไม่ลงครับ ผมเชื่อว่าครูบาอาจารย์ดัง(ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ)หลายคนอาจมีความคิดเช่นนี้ในตอนแรกก็ได้ (อาจเทียบกับนักการเมืองดีที่หวังเข้าไปเปลี่ยนแปลงการเมืองใหม่)แต่พอเติบโตขึ้นเขาก็กลับลำไม่ได้ ส่วนหนึ่งคือต่อให้ช่วยคนไม่ได้มากก็ยังดีที่มีเวลาเหลือให้พัฒนาตัวเองครับ ไม่มีใครมาหาก็ดีแล้วจะได้ไม่เสียเวลาของเรา (เพราะถึงมาแต่หากไม่ได้ตอบสนองความต้องการของเขา เช่นให้เขาทำบุญ(สร้างพระประธาน) ต้องไปส่งบุญให้ญาติเขาที่นรก ต้องการน้ำมนต์ฯลฯ เขาก็ไม่ต้องการเราอยู่ดี ไม่ใช่ผมไม่สอนธรรมะเขานะครับ พยายามทำอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ต้องเข้าใจว่าคนเขาถูกหลอกมาแล้วกว่าครึ่งชีวิต เขาฟังสิ่งที่ไม่เคยฟังจากเรา ต่อให้เป็นเหตุเป็นผล นั่นพยักหน้า ใจจริงๆแล้วเขารับไม่ได้ครับ อันนี้ไม่รู้จะโทษใครดี ขอยกให้เป็นโทษภัยของสังสารวัฏแล้วกัน)
ก่อนจบขออธิบายคำหนึ่งที่เราใช้กันบ่อยคือ พุทธวาท หรือพุทธพจน์ก็แล้วแต่ ผมจะไม่ขอแปลว่า ชาวพุทธผู้ที่ยึดคำสอนของพระพุทธเจ้านะครับ เพราะอาจจะไปเข้าข่าย Blind faith ที่อธิบายไปแล้วโดยยึดพระพุทธเจ้าเหมือนพระเจ้าองค์หนึ่งเท่านั้นเอง แต่ขอแปล พุทธ ในที่นี้ว่า ผู้รู้ (พุทฺธ รู้,ตื่นฯ) หมายถึง ผู้ที่ยึดเอาความรู้(ความถูกต้อง)เป็นหลัก โดยการยึดหรือเชื่อนั้นต้องผ่านกระบวนการใช้ความรู้ มาตรวจสอบก่อนแล้ว มิใช่รับเอาด้วยความงมงาย และชาวพุทธประเภทที่ผมหมายถึง ต้องมิใช่คนที่ผูกตนเองติดกับพุทธพจน์ (ไม่ใช่ว่าไม่ยอมรับพระพุทธเจ้า) แต่ไม่ว่าคำพูดใดก็ตาม จะพระไตรปิฎก อรรถกถา หรือ ครูอาจารย์ท่านอื่นฯ ชาวพุทธต้องไม่รีบรับและไม่รีบปฏิเสธ แต่พิจารณาเนื้อหาของสิ่งนั้นจนเข้าใจเสียก่อนแล้วน้อมมาศึกษาหรือปฏิบัติให้รับผลที่ยิ่งขึ้นไปฯ   
ขอสรุปว่า ผมยินดีมากที่อย่างน้อยได้ทราบว่าคนมีความรู้และหวังดีแก่พระศาสนายังมีอยู่ อาจไม่มากแต่ก็อีกจำนวนหนึ่ง สิ่งแรกที่เราต้องทำคือใช้เวลาส่วนหนึ่งอุทิศแก่การศึกษาและปฏิบัติของเราเองแหละครับ พร้อมทั้งชักชวน(ชี้แจงเหตุผล) ให้คนใกล้ชิดที่พร้อมจะรับฟังได้มีโอกาสรับรู้ความจริง การเปลี่ยนคนที่ตัวปัญญาไม่ใช่เรื่องง่าย พระพุทธเจ้าเองหลายครั้งสอนธรรมะให้คนฟังมากมาย ผู้เข้าใจพระองค์มีเพียงครั้งละคนหรือสองคนเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าเราต้องท้อใจนะครับ เพียงแต่เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องตระหนัก สัมมาทิฏฐิ(แม้ไม่ใช่ในระดับสูงสุดก็)ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ เพียงแต่ต้องอาศัยเวลา กอปรกับความกรุณาที่มีต่อเพื่อมนุษย์แล้วทำไปเรื่อยๆ ครับ   โชคดีครับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น