วันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2555

โล้นซ่าหลอกลวงประชาชน ตอนที่ ๔ จะเอาอย่างไรดีกับสมณศักดิ์

ดาวโหลดเอกสาร pdf
โล้นซ่าหลอกลวงประชาชน ตอนที่ ๔
เรื่อง จะเอาอย่างไรดีกับระบอบสมณศักดิ์ (ตำแหน่งพระ)
เรื่องนี้น่าจะเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของคนทั่วไปมิใช่น้อย (อย่างน้อยก็พระคุณเจ้าที่กำลังแสวงหาสมณศักดิ์และกระผมเองที่ต้องการโจมตีเรื่องนี้อย่างหัวล้านชนฝา!) โดยดั้งเดิมแล้วก็ไม่มีความปรารถนาที่จะมายืนฝั่งตรงข้ามโดยประการใด แต่ด้วยยิ่งนานวันกลับเห็นว่าสมณศักดิ์นี้กำลังจะกลายเป็นมหันตภัยร้ายของพระศาสนาขึ้นมาทุกที (หรือที่พูดอย่างนี้เพราะตัวเองไม่ได้เลื่อนขั้นอย่างเขากันแน่?)
ที่มาของระบอบสมณศักดิ์
แหล่งข้อมูลที่พอจะให้ความชัดเจนเรื่องนี้ได้ดีและเข้าถึงง่ายที่หนึ่งคือ Wikipedia โดยระบุว่าน่าจะมาจากธรรมเนียมพระสงฆ์ศรีลังกา(พระสามีสังฆราช)ที่ได้รับนิมนต์มาประกาศพระศาสนานิกายลังกาวงศ์สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทย(สุโขทัย) มีการสันนิษฐานว่าพระสงฆ์จะกราบทูลพระองค์ให้มีการพระราชทานสมณศักดิ์แก่พระคุณเจ้าทั้งหลายเพื่อสะดวกแก่การปกครองฯ แต่สมัยนั้นลำดับขั้นสมณศักดิ์ไม่ได้สลับซับซ้อนเพราะมีเพียง ๒ ระดับชั้นเท่านั้น คือ พระสังฆราชและพระครู พอมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาระบบสมณศักดิ์ได้รับการปรับให้มีระดับชั้นเพิ่มขึ้นเป็น ๓ ระดับคือ สมเด็จพระสังฆราช พระสังฆราชคณะ(หรือพระราชาคณะ)และพระครู
       ช่วงหลังมาก็มีการจำแนกแบบซับซ้อนมากขึ้น ต้องขออภัยที่ไม่ได้นำมากล่าวให้ชัดเจนในที่นี้เพราะเห็นว่าจะเสียเวลาแก่ผู้อ่าน (แม้กระผมเองไปอ่านเพื่อเตรียมข้อมูลมาเขียนยังรู้สึกเสียเวลาเลย!) แต่สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือระเบียบหรือวิธีการในการไต่เต้าให้ได้มาซึ่งสิ่งนี้ ลูกพี่ทั้งหลายที่อยากเลื่อนขั้นน่าจะศึกษาและท่องจำไว้ให้ขึ้นใจเพื่อผลประโยชน์ของพระศาสนาที่จะเจริญงอกงามในอนาคต (เหมือนที่ท่านชอบอ้างเวลาพูดกับโยม?)
 การแต่งตั้งสมณศักดิ์จะมีการพิจารณาปัจจัยเด่น ๒ ประการคือ คุณสมบัติส่วนบุคคล(พร้อมทั้งวัดที่สังกัด)และ ความสามารถในการแสดงออกให้ชาวโลก(หมายถึงมนุษย์ในโฆษณาปุ๋ยตราม้าบิน)เห็นว่าสร้างคุณประโยชน์แก่สังคมจนเป็นที่ยอมรับฯ  เริ่มจากประการแรก คุณสมบัติส่วนตัว(ภาษาฝรั่งเศสเรียก RESUME) ให้ดีต้องมีวุฒิการศึกษา(ไม่ได้หมายถึงความรู้) ทั้งบาลี นักธรรม ยิ่งสูงเท่าใดยิ่งมีสิทธิเท่านั้น หรือให้เหมาะสมกับปัจจุบัน(ซึ่งเป็นปรากฏในนโยบายการแต่งตั้งสมณศักดิ์และความต้องการของชาวบ้าน(ทุ)ปัญญาชนสมัยใหม่) ท่านควรมีปริญญาทางโลกควบคู่ไปด้วย โดยหลายท่านมักเลือกมหาวิทยาลัยที่จบง่าย ไม่ต้องเข้าเรียน ใช้เงินทุนน้อย กระผมเคยมีโอกาสพูดคุยกับพระนักศึกษาปริญญาเอกจากต่างประเทศหลายคน ซึ่งเหตุผลที่ท่านตัดสินใจไปเรียนเมืองนอกพอจะสรุปได้ดังนี้
๑.  เหตุผลในแง่บวก ทำให้มีประสบการณ์ มีโลกทัศน์กว้างขึ้น, เมืองนอกเอื้อต่อการพัฒนาภาษา(โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาษาอังกฤษ มากกว่า...เช่น เกวชชั่น นัมเบอ ตู/Question number two หรือ วัดถ้ำอีดอิด/ What time is it?), ศาสตราจารย์ต่างประเทศเก่งจริงสามารถสอนปากเปล่าได้ ไม่ต้องอ่านตาม power point เหมือนไทย, บ้างก็ว่าเพราะการศึกษาในเมืองไทยไม่ค่อยได้มาตรฐาน ซึ่งทุกอย่างที่กล่าวมา กระผมเห็นด้วยหมดเลยและอยากสนับสนุนให้พระเราไปเรียนต่างประเทศจริงๆ
๒.  เหตุผลในแง่ลบ เรียนจบง่าย บางแห่งไม่ต้องทำวิทยานิพนธ์(ป.โท), บางที่ไม่ต้องไปเรียน นั่งอยู่เมืองไทยจ่าย ๔๐,๐๐๐ ก็รอรับปริญญาได้เลย (แต่ถ้าให้ดีต้องไปอินเดียบ้างนะ...ไปสังเวชนียสถานกับคนจัดทัวร์ก็ยังดี เดี๋ยวโยมข้างวัดสงสัย), เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นนักเรียนนอก(แม้พูดภาษาอังกฤษไม่ได้)ฯลฯ
กระผมเคยถกเรื่องนี้กับอาจารย์ต่างชาติท่านหนึ่ง โดยท่านตั้งคำถามว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ ไฉนนักปราชญ์พุทธจึงไม่มีรายนามคนไทยให้ปรากฎ ส่วนใหญ่จะมีแต่ฝรั่งหรือบ้างก็ศรีลังกา(กรณีที่ไม่นับท่าน ป.อ.ปยุตฺโต เพราะช่วงหลังบทบาทในนานาชาติมีน้อย) กระผมจึงตอบไปว่าความจริงเรามีคนที่เก่งเรื่องพุทธศาสนาอยู่มาก ทั้งพระและฆราวาสแต่ปัจจัยหลักน่าจะมาจากการที่บ้านเราไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษา/วิชาการด้านศาสนามากเท่าที่ควร การเรียนการสอนยังไม่มีการเปิดกว้างเรื่องการคิดวิเคราะห์ ไม่เฉพาะแต่นักเรียน แต่รวมถึงครูที่ไม่สามารถจุดประเด็นให้แก่นักเรียนได้ เช่นพระพุทธเจ้าเกิดมาต้องเดินได้ ๗ ก้าว(ข้อนี้มีปรากฎในพระไตรปิฎกเป็นพุทธวจนะจริง) แต่ผู้สอนก็เหมือนจะสร้างบรรยากาศให้เห็นว่า หากใครไม่เชื่อข้อนี้ก็ไม่ใช่ชาวพุทธฯ ทั้งที่ประเด็นบางอย่างสามารถถกได้ เช่น ตามหลักการพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าประเสริฐกว่าคนทั่วไปตรงที่เดินได้ตั้งแต่เกิดหรือ? หลายคนพูดอังกฤษได้ จบจากอเมริกาแต่ก็ไม่เข้าใจพุทธศาสนา อธิบายอริยสัจก็ไม่ได้ ส่วนพระที่เก่งเรื่องธรรมะก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ พุทธศาสนาจึงไม่ถึงหูคนต่างชาติฯ ขอย้ำเรื่องวิชาการในบ้านเราอีกนิด นั่นคือวิชาการเมืองไทยมีความหมายไปในทางที่พูดอะไรก็ตามต้องให้ฟัง/เข้าใจยาก ทั้งที่ความจริงวิชาการคือการนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านและมีการวิพากษ์วิจารณ์ให้เห็นความสำคัญของเรื่องนั้นๆ ผู้อ่านบทความวิชาการจะได้ความรู้ที่ครบถ้วนและกลายเป็นคนมีวิจารณาณมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทุกอย่างที่เขียนออกมาล้วนกระชับ มีเหตุผลและอ้างอิงที่มาฯ ขอยกตัวอย่างนักวิชาการศาสนาของพุทธเราเช่น นิรยะ แปลว่า โลกอันหาความเจริญมิได้[1] (ทั้งที่สามารถสื่อให้ง่ายขึ้นได้ว่า โลกที่ไม่เจริญ) , กรรมฐานเป็นที่สบายแก่จริตทุกอย่าง[2]  ควรเป็น กรรมฐานที่เหมาะกับคนทุกประเภท เป็นต้นเพื่อให้สอดคล้องกับนักเรียนที่ยังมีอายุน้อย ความจริงหาใช่แต่คนอายุน้อยเท่านั้น กระผมเข้าร่วมบรรยายวิชานี้แก่นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยมคธ(ตรัง) หลายที่เช่นตัวอย่างที่สองที่ยกมาแล้วนักศึกษาทั้งที่เป็นผู้ใหญ่ มีภูมิรู้ก็อ่านจุดนั้นไม่เข้าใจฯ สิ่งเหล่านี้ที่ยกมาพอจะชี้ให้เห็นได้ว่าเมืองไทยเรามีนักปราชญ์หรือนักวิชาการน้อยจริงๆ ส่วนใหญ่เป็นแต่เพียงผู้จบการศึกษาระดับสูงและทำหน้าที่สวมรอยเป็นนักวิชาการโดยไม่ทราบว่าผู้อื่นจะเข้าใจงานของตนมากแค่ไหนฯ
       ประเด็นถัดมา(ซึ่งอยู่ในหัวข้อเดียวกัน)คือ คุณสมบัติของวัด ถ้าเป็นวัดหลวง (มีระบุต่อท้ายว่า พระอารามหลวง)ก็มีโอกาสงอกเงยกว่าวัดโคกอีแร้งบ้านนอก(ไม่แน่ใจว่ามีวัดโคกอีแร้งนี้อยู่จริงหรือไม่ แต่พระเณรส่วนใหญ่เคยได้ยินชื่อนี้ในกรณีที่ถูกล้อเลียนว่ามาจากสถานอันไกลโพ้นฯ) รวมถึงตัวพระอุปัชฌาย์ว่าอยู่ในระดับซีไหน หลายคนอาจสงสัยว่าแค่วัดอย่างเดียวก็น่าจะพอ ไฉนคุณสมบัติพระอุปัชฌาย์จึงมีส่วนด้วย? ข้อนี้เป็นความจริงที่ต้องยอมรับว่า สังคมไทยมีระบบอุปถัมภ์อยู่ทุกหย่อมหญ้า พระสงฆ์เราก็เป็นระบบหนึ่งที่เน้นเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ไฉนจะพราดจากเรื่องเลวทรามเช่นนี้ไปได้ฯ กระผมจะขอยกตัวอย่างพระระดับซีต่ำ เช่นพระครูหรือพระปลัดเป็นต้น(ที่ได้โดยการแต่งตั้งจากพระผู้ใหญ่...เรียกอีกอย่างว่า พระฐานา) สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามวัดชั้นนำทั่วเมืองไทย หรือที่เห็นชัดคือหากทราบว่าวัดไหนมีการเลื่อนเจ้าคุณ (ซึ่งตัวผู้ถูกเลื่อนสามารถแต่งตั้งพระฐานาได้) ก็จะมีเจ้าอาวาสที่รักลูกศิษย์แห่ถือกระเช้าแบรนด์เข้าไปหาโดยใช้ลิ้นสัมผัสหน้าแข้งจนสะอาดและเปล่งอุทานออกมาสั้นๆว่า “ให้ลูกศิษย์ผมนะขอรับ” (ตรงนี้รู้สึกจะพูดแรงเกินไป แต่ก็ไม่อยากกดลบแล้ว เอาเป็นว่าขออภัยและขอถอนครับ) จึงใคร่อยากให้พุทธบริษัทที่ได้รับเชิญไปงานฉลองสมณศักดิ์เหล่านั้นลองถามพระคุณเจ้าดูบ้างว่า “ยศนี้ท่านได้แต่ใดมา?” อย่าสักแต่ว่าท่านทำอะไรก็สนับสนุนไปเรื่อยฯ เมื่อพูดถึงประเด็นนี้ขอชื่นชมคนใต้นิดหนึ่ง(เฉพาะบางพื้นที่) นั่นคือโดยปกติคนใต้ ถ้าเทียบกับคนภาคอื่นๆน่าจะเป็นผู้ที่ค่อนข้างกระด้างหรือให้ความเคารพพระน้อยที่สุด แต่นั่นไม่ใช่เป็นปัญหาใหญ่เพราะกลับเป็นผลดีด้วยซ้ำที่จะช่วยเอาพวกโล้นซ่าออกไปจากวัดได้บ้าง(ด้วยการไม่สนับสนุนด้านปัจจัย ๔) ครั้งใดมีการฉลองสมณศักดิ์ แม้จะเป็นยศเปรียญที่ได้มาด้วยการสอบก็ตาม ชาวบ้านจะพูดกันอย่างเปิดเผยเลยว่า “ท่านไปซื้อมาหรือเปล่า?” ด้วยเหตุนี้ส่งผลให้บางท่านอับอาย ที่ไปซื้อมาจริงก็ไม่กล้าฉลอง หลายท่านเลื่อนยศนานแล้วก็ไม่มีใครทราบ แต่ก็ยังมีโล้นซ่าบางกลุ่มที่ไม่สนใจเสียงเหล่านี้ อาจเป็นเพราะคิดว่าสามารถยกตนขึ้นจากอารมณ์ทางโลก ไม่สนใจโลกธรรมข้อนินทา สรรเสริญได้แล้ว...แต่ทำไมยังถอนข้อมีลาภ มียศไม่ได้ครับ?
       คุณสมบัติด้านที่สองคือ การแสดงความสามารถให้สังคมรับทราบ ความจริงคุณสมบัติข้อนี้อาจไม่มีความจำเป็นด้วยซ้ำในกรณีที่คุณสมบัติแรกครบถ้วนแล้ว แต่นั่นก็หมายถึงโล้นที่ซ่าจัด ในความเป็นจริงยังมีพระอีกมากที่ต้องการเรื่องเหล่านี้แต่ขณะเดียวกันก็มีความเป็นคนดีอยู่ลึกๆในจิตใต้สำนึกเหมือนภูเขาน้ำแข็ง(แต่ส่วนที่โผล่ให้เห็นนั้นเป็นความดีนะ) ในกรณีนี้พระบางท่านถึงแม้ตนอยากได้เลื่อนยศก็ตาม แต่ก็พยายามทำให้สมศักดิ์ศรี คล้ายกับฆราวาสที่อยากโด่งดัง แต่ก็ไม่ต้องการซื้อใบปริญญา เลยลงมือเล่าเรียนจนจบ คนประเภทนี้แม้เจตนาจะไม่ดีแต่การกระทำหรือหนทางที่นำไปสู่จุดหมายก็ถือว่าน่ายอมรับ เราจึงไม่ควรรังเกียจคน/พระประเภทนี้เสียแบบสุดจิตสุดใจ หลายท่านจึงตั้งใจทำงานและสร้างสรรประโยชน์ไปพร้อมๆกับความปรารถนาส่วนลึกที่ว่าสักวันคงจะมีคนเห็นใจเราเป็นแน่ฯ ความจริงการกระทำเช่นนี้ถือเป็นกิเลสที่ละเอียดขึ้นหากเปรียบเทียบ/อธิบายตามหลักของโลกธรรม นั่นคือคนส่วนใหญ่ติดลาภ(หมายถึงวัตถุมีเงินเป็นต้นนะ ไม่ใช่อาหารจำพวกก้อยหรือน้ำตกฯ) คนที่มีความสามารถคือกิเลสละเอียดอ่อนขึ้นก็สามารถยกตนจากลาภ ทรัพย์สินเงินทองขึ้นไปอีกระดับหนึ่งนั่นคือยศ (พี่โล้นของเราก็จัดอยู่ในประเภทนี้เอง) คนประเภทนี้แม้ไม่ได้เงินทองหรือที่ยิ่งกว่านั้นต้องเสียผลประโยชน์ในบางส่วนบ้างก็เอา เพื่อแลกกับการได้ยศตำแหน่งฯ ประเภทที่ ๓ คือเงินก็ไม่ต้องการ ยศตำแหน่งก็ไม่ต้องการ เช่นไม่อยากรวย ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ชอบใส่ชุดขาว ไม่สนใจปริญญา(ยศ) ครั้นมีคนต้องการความช่วยเหลือก็ช่วยเต็มที่ เขาเชิญไปสอนในมหาวิทยาลัยก็ไม่รับเงินเดือน ดูคล้ายจะเป็นคนหมดกิเลสแล้ว แต่ในใจลึกๆทำเพียงเพื่อให้คนยกย่องว่าเขาเป็นคนดี ไม่ต้องการอะไรจากใครฯลฯ ความคิดประเภทนี้ก็ยังจัดอยู่ในกิเลสด้านโลกธรรมที่ละเอียดลงไปอีก คนที่ไม่รู้จักสังเกตจะมองว่าเขาคงเป็นผู้วิเศษหรือหากเป็นพระก็จะยกให้เป็นอรหันต์ทันทีฯ ต้องขอเสริมนิดหนึ่งว่า มิใช่กล่าวเช่นนี้แล้วเราจะมองทุกคนในแง่ลบว่าเป็นคนชั่วไปเสียหมด เพราะบางท่านที่ดีจริงก็มี แต่การสังเกตคนต้องมองให้รอบด้าน มิใช่พิจารณาแต่สิ่งที่เห็นเพียงเล็กน้อย  ความจริงทั้งคำพูดและการกระทำสามารถสะท้อนปัญญาและความเมตตากรุณาของท่านได้ดีฯ
       อย่างไรก็ตามก็มีพระที่ได้รับการเลื่อนชั้นโดยมิได้เขียนผลงานตัวเองส่งเข้าประกวดเลย แต่ด้วยทางราชสำนักเห็นคุณความดีเอง ตัวอย่างเช่น ท่านพุทธทาส ท่านปัญญานันทะ(บางครั้ง)เป็นต้น คนที่น่าเอาเป็นแบบอย่างที่อยากกล่าวถึงในที่นี้คือท่านพุทธทาส เพราะท่านทำประโยชน์โดยมิได้หวังว่าใครจะเอาอะไรมาให้ และแม้ได้รับพระราชทานยศตำแหน่งแล้วก็มิได้สนใจ(แม้แต่จะไปรับเอามาเลี้ยงฉลอง)โดยทำภาระกิจคือการเผยแผ่ธรรมะต่อไป
       ส่วนโล้นซ่าที่ต้องการยศตำแหน่งและประสงค์จะได้มาด้วยความชอบธรรม ต้องเร่งขวนขวายหามวลชน และทำประโยชน์ให้ปรากฎเป็นชิ้นเป็นอัน เช่นในกรณีของการสร้างวัตถุมีรายละเอียดดังนี้ (ในวงเล็บ ตัวอักษรเอียงเพิ่มเติมโดยผู้เขียน)
หลักเกณฑ์การพิจารณาแต่งตั้งสมณศักดิ์[3]
๑๑. ในเขตปกครองหนกลาง ต้องมีจำนวนเงินที่ได้ใช้จ่ายในการก่อสร้าง และปฏิสังขรณ์แล้ว จำนวนตั้งแต่ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านบาท) ขึ้นไป (หลอกโยมกับแย่เลยกว่าจะสร้างเสร็จ!)
๑๒. ในเขตปกครองหนเหนือ หนตะวันออก และหนใต้ ต้องมีจำนวนเงินที่ได้ใช้ในการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์แล้ว จำนวนตั้งแต่ ๑๕๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นบาท) ขึ้นไป (อันนี้หลอกน้อยหน่อย แต่เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายก็เป็นคนจน น่าเห็นใจจริงๆ ยิ่งจนยิ่งเจ็บ)
๑๓. เฉพาะในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๔ และภาค ๕ ต้องมีจำนวนเงินที่ได้ใช้จ่ายในการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์แล้ว จำนวนตั้งแต่ ๕๐๐,๐๐๐ บาท (ห้าแสนบาท) ขึ้นไป
๑๔. สำหรับผลงานสาธารณูปการตามข้อ ๑๑, ๑๒ และข้อ ๑๓ ข้างต้นนั้น ไม่นับผลงานที่เป็นประธานในการก่อสร้างโรงเรียนของรัฐบาล ที่ใช้งบประมาณแผ่นดิน หรือการก่อสร้างในวัดอื่น (หมายถึงเอาผลงานคนอื่นที่ตัวจะอ้างว่าไปทำเรื่องขอมาลงไม่ได้ ต้องดิ้นรนเสาะหา เที่ยวแจกฎีกาผ้าป่า กฐินด้วยตนเอง)
๑๕. แม้จำนวนเงินจะครบตามหลักเกณฑ์ในข้อ ๑๑, ๑๒ หรือข้อ ๑๓ แล้วก็ตามแต่ถ้าการก่อสร้างโรงอุโบสถ หรือศาลาการเปรียญอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างยังไม่แล้วเสร็จ ให้รอไว้ก่อน (เพราะอุโบสถและศาลาการเปรียญมีความสำคัญที่สุด อุโบสถเอาไว้สร้างคนให้เป็นพระ...ปลอม ศาลาการเปรียญเอาไว้เป็นสถานฟังธรรม...เพื่อเรื่ยไรเงินทำอย่างอื่นต่อ เอาเป็นว่าเลิกแซวดีกว่า เดี๋ยวจะมีแต่แง่ลบและจะยิ่งเครียดไปกว่าเดิม)
เกณฑ์การพิจารณายังไม่มีแค่นี้ บ้างก็มีการสนับสนุนการศึกษา มีพระเณรจำพรรษาในวัดมาก มีการสอบนักธรรม บาลีได้มากฯลฯ ก็จะได้รับพิจารณาไปอีกประเภทหนึ่งซึ่งผู้สนใจสามารถติดตามอ่านได้ในเว็บไซด์ dharma-gateway ที่ได้อ้างอิงไว้แต่ต้นแล้ว
ยศช้าง ขุนนางพระ
       ภาษิตนี้ได้ยินกันจนคุ้นหู กระผมเองเมื่อฟังเหตุผลที่นิยมอธิบายกันแล้วก็รู้สึกเห็นด้วยที่ว่า พระกับช้างมิได้ต่างกันเลยเรื่องการมียศอำนาจ นั่นคือมีแต่ชื่อเสียงและการกราบไหว้บูชาแต่ไม่สามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตตนไปสู่ทางที่สะดวกสบายมากขึ้นได้ เช่นเป็นช้างแม้มียศสูงก็ยังต้องกินกล้วยกับอ้อย (ไม่เคยเปลี่ยนเป็น MC Donald) พระเองก็ยังต้องบิณฑบาต ได้อะไรมาก็ฉันอันนั้นฯ หรือจะสื่อให้เจ็บปวดมากขึ้นคือยังเป็นทาส ถูกจูงจมูกอยู่เสมอ ไม่สามารถคิดหรือทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันได้ด้วยตนเอง ทั้งชีวิตตนเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจหรือผู้ให้ยศตนเอง ท่านไพศาล วิสาโล อธิบายไว้ในหนังสือพุทธศาสนาไทยในอนาคตว่า สมัยอดีตพระสงฆ์หรือพุทธศาสนาตกเป็นเครื่องมือของชาติ/การเมืองมาตลอด มีการลดคุณค่าหลักธรรมเพื่อให้รับใช้ชาติ เช่น ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่เป็นบาป, จะให้เป็นคนดีจริงต้องบำรุงชาติ ศาสน์ กษัตริย์เป็นต้น อันนี้น่าจะเป็นการให้คำนิยามของยศช้าง ขุนนางพระได้ดีทีเดียว นั่นคือที่ให้เพราะต้องการใช้เป็นเครื่องมือฯ
       แต่จะมองอีกแง่ก็ไม่น่าเห็นด้วยเหมือนกัน นั่นคือให้เรามองในแง่ดี(ซึ่งน่าจะเป็นความจริงมากกว่า) ภาษิตนี้อาจเกิดขึ้นเพื่อยกย่องคุณธรรมของพระโดยเฉพาะ นั่นคือการได้ยศของพระไม่ต่างจากช้าง คือแม้ได้มาก็มิได้หลงมัวเมา ยังทำหน้าที่ตนเองตามปกติ ถึงเวลามีสงครามช้างก็ออกรบด้วยความกล้าหาญ พระเองก็มีเจตนาบริสุทธิ์กับประชาชนในการเผยแผ่คำสอน มิได้หยิ่งยโส ซึ่งเป็นไปได้ว่ายุคแรก(อาจรวมถึงการรับเอตทัคคะสมัยพุทธกาล)พระสงฆ์ทั้งหลายเป็นเช่นนี้จริงๆ
การตั้งสมณศักดิ์เป็นการข่มคนที่ควรข่ม ยกย่องคนที่ควรยกย่องจริงหรือ?
เมื่อมีการถกเรื่องสมณศักดิ์กัน หลายคนมักใช้เหตุผลนี้มาอ้าง นั่นคือเป็นการเชิดชูคนดีและคว่ำบาตรหรือข่มคนชั่ว แต่นานวันเข้าภาษิตนี้หรือการกระทำเช่นนี้เหมือนจะไม่ได้เป็นไปตามนั้น กลับแต่ตรงกันข้าม ก่อนอื่นให้เราลองนึกภาพคนดีที่ต้องเหยี่ยวแห้งตายอยู่ตามชนบท และคนชั่วที่เจริญรุ่งเรืองทั้งชีวิตดูก็ได้  นั่นเป็นเพราะสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป คือสังคมพากันยกย่องคนชั่ว แม้แต่การเมืองไทยช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมาก็ปรากฎคำว่า ขอให้ประเทศเจริญ นายกจะโกงก็ไม่เป็นไรฯ ซึ่งคำพูดนี้ดูแต่ผิวเผินก็ขัดแย้งกันเองในตัวอยู่แล้ว นั่นคือเมื่อเข้ามาโกง ไม่มีวันที่ประเทศจะเจริญได้ หรือจะได้บ้างก็ในกรณีโกงคนรวยมามาก แล้วแบ่งให้คนจนบ้าง(แทกซี่สักคันก็ยังดีฯ)เพื่อให้คนจนเห็นว่าตนได้รับประโยชน์จากผู้แทนเขา แต่โดยที่สุดการกระทำที่เลวร้ายไม่สามารถพาไปสู่จุดหมายที่งดงามได้ฯ ในมงคลสูตร พระพุทธเจ้าได้ตรัสสิ่งที่ทำนำพาชีวิตมนุษย์ไปสู่ความเจริญในข้อที่ ๓ ไว้ว่า บูชาคนที่ควรบูชา[4] คำว่าบูชาในที่นี้มีความหมายมากไปกว่าการกราบเท้าฯ แต่เป็นการให้เกียรติ ยกย่อง เทิดทูลกระทั่งเอาเป็นแบบอย่าง กล่าวโดยสรุปคือการยกย่องคนดี(และมีปัญญา)นั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมาโยงได้กับประเด็นเรื่องการให้สมณศักดิ์ด้วยเหตุผลที่มักอ้างกันว่า “ยกย่องคนดีฯ”
       ก่อนอื่นกระผมใคร่จะแบ่งการให้ยศ(สมณศักดิ์)ออกจากการประทานเอตทัคคะของพระพุทธเจ้าให้ชัดเจนเสียก่อน ด้วยเหตุว่าประเด็นนี้เองที่สมณศักดิ์ถูกใช้/อ้างถึงด้วยความชอบธรรมเสมอมา หลายคนหลงและเข้าใจว่าการให้สมณศักดิ์ในปัจจุบันกับการประทานเอตทัคคะ(คือยกย่องว่ามีความสามารถ)ของพระพุทธเจ้าเป็นอันเดียวกัน ซึ่งการกล่าวเช่นนี้ก็ใช่จะผิดเสียทั้งหมด แต่มีความต่างที่ต้องเข้าใจดังนี้
๑.  จุดหมายของการให้ตำแหน่ง.....การให้สมณศักดิ์(ส่วนใหญ่)เกี่ยวโยงกับการปกครอง คือผู้ที่ได้รับเลื่อนขั้นจะมีหน้าที่ปกครองพระสงฆ์ไปด้วยเช่นเป็นเจ้าคณะตำบล อำเภอฯลฯ นั่นหมายถึงคนที่ถูกยกย่องเพียงเพราะมีความสามารถด้านวิชาการจะไม่สามารถก้าวถึงตำแหน่งสูงสุดได้(มักติดเพดานอยู่ชั้น พรหม)ฯ พระสงฆ์ส่วนใหญ่ที่ไขว่คว้าหาเรื่องเหล่านี้ก็จะเป็นพระนักปกครองฯ  ดังนั้นประเด็นใหญ่ของการตั้งสมณศักดิ์จึงอยู่ที่การปกครอง ตรงนี้เองที่ต่างจากการตั้งเอตทัคคะของพระพุทธเจ้า เช่นพระสารีบุตรมีความเก่งด้านปัญญา ท่านอานนท์มีความจำดีฯลฯ พระพุทธเจ้าทรงตั้งเพื่อยกย่องเกียรติคุณเท่านั้น มิได้ประทานอำนาจให้ปกครองคณะสงฆ์เป็นลำดับขั้นฯ ด้วยว่าพุทธศาสนาให้ใช้พระธรรมวินัยเป็นตัวสืบทอด ดังพระดำรัสที่ว่า
“ธรรมและวินัยอันใด เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา ดูกรอานนท์..... ภิกษุผู้แก่กว่า พึงเรียกภิกษุผู้อ่อนกว่าโดยชื่อหรือโคตรหรือโดยวาทะว่า  อาวุโส  แต่ภิกษุผู้อ่อนกว่าพึงเรียกภิกษุผู้แก่กว่าว่า ภันเต หรืออายัสมา”[5]
ความจริงพุทธพจน์นี้ยังโยงไปถึงการให้แสดงความเคารพกันโดยอาศัยการบวชก่อนบวชหลัง นั่นคือพุทธศาสนาปฏิเสธศาสนาพราหมณ์เรื่องวรรณะ ๔ (ซึ่งเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ได้จากพระผู้เป็นเจ้า ผู้เป็นคนวรรณะสูงย่อมมีสิทธิอำนาจมากกว่าคนวรรณะต่ำ) อำนาจทั้งหลายล้วนขึ้นอยู่กับผู้ปกครอง แต่พระองค์กลับสอนใหม่ให้ละทิ้งชนชั้น โดยให้อยู่ด้วยการช่วยเหลือหรืออนุเคราะห์กันตามฐานะ พระที่เข้ามาบวชในพุทธศาสนาจึงต้องตัดเรื่องยศอำนาจออกไปเสีย เริ่มด้วยการเข้ากราบเท้าพระอุปัชฌาย์และหมู่สงฆ์(ดูตัวอย่างเรื่องนี้จากประวัติท่านอุบาลี ที่ออกบวชพร้อมเจ้าชายศักยะโดยท่านท่านหลายยอมให้อุบาลีที่เป็นคนรับใช้บวชก่อนเพื่อจะได้ทำความเคารพเพื่อลดมานะทิฏฐินี้) พระองค์อนุญาตให้พระสงฆ์เคารพกันตามพรรษาการเข้ามาบวช  ก็น่าเสียดายที่ปัจจุบันตอนบวชหลายคนยอมทำเช่นนั้น แต่เมื่อเข้ามาบวชนานเข้ากลับหวังสร้างชนชั้นขั้นต่อไปอีกด้วยระบบการปกครองฯ
๒.  วิธีการได้มาซึ่งตำแหน่ง.....การให้สมณศักดิ์(โดยเฉพาะด้านการปกครอง)เป็นเรื่องที่ต้องดิ้นรนเสียเองส่วนใหญ่ หรือไม่ก็อาศัยอุปัชฌาย์อาจารย์ฯ สังเกตได้จากหลักเกณฑ์การพิจารณาแต่งตั้งหรือเลื่อนขั้นพระสังฆาธิการ นั่นคือต้องทำแฟ้มสะสมผลงานตนเอง แล้วส่งให้พิจารณาฯ ส่วนการประทานเอตทัคคะเป็นการประทานเพราะเห็นแก่ความดีงามในเรื่องนั้นเองโดยไม่ได้ร้องขอ ซึ่งพระพุทธเจ้าจะประทานแก่ผู้เป็นอริยบุคคลเท่านั้นฯ(ข้อนี้หากไม่เอาโลกุตตระมาเกี่ยวข้องเพราะมองเห็นยาก อาจกล่าวแบบอนุโลมได้ว่ายกย่องคนที่รู้จักทุกด้านแล้วว่าดีจริง)
เมื่อกล่าวเช่นนี้อาจเกิดข้อสงสัยเพิ่มขึ้นอีก นั่นคือเมื่อประเทศพัฒนาไปไกลถึงขั้นมีประชาธิปไตย ไฉนพุทธศาสนาจึงยังปฏิเสธความเจริญเหล่านี้ เพราะพระองค์ก็ตรัสไว้เองมิใช่หรือว่าให้เปลี่ยนแปลงไปตามระบอบการปกครอง (อนุชานามิ ภิกฺขเว ราชูนํ อนุวตฺติตุ◦) ตอบว่าการปฏิเสธการปกครองคณะสงฆ์หรือสมณศักดิ์ยังมิได้ขัดแย้งประการใดกับระบอบการปกครองนี้ นั่นคือหากการปกครองเป็นประชาธิปไตยจริง ไฉนจึงยังมีการรวมศูนย์อำนาจ การแต่งตั้งทั้งหลายก็ล้วนมาจากผู้ปกครอง(ซึ่งได้อำนาจด้วยการแต่งตั้ง ไม่ใช่วิธีที่เป็นประชาธิปไตย แต่นั่นก็ถูกมองว่าเป็นแล้ว ด้วยว่าไม่มีพระสงฆ์ออกมาประท้วงแสดงความไม่เห็นด้วย ความจริงที่เป็นเช่นนั้นมิใช่เพราะท่านเห็นดีด้วยเสมอไป แต่เพราะพระสงฆ์ส่วนใหญ่ขาดความรู้เรื่องการปกครองและ/หรือก็ทราบดีว่าทำอย่างไรก็ไม่ประสบความสำเร็จ จึงเลือกที่จะนิ่งเฉยเสีย แน่จริงลองเปิดโอกาสให้พระสงฆ์โหวตดูสิครับว่าท่านจะรับการปกครองที่ขึ้นต่อมหาเถรสมาคมหรือระบบสมณศักดิ์หรือไม่ฯ)
มาถึงประเด็นที่ว่า การให้สมณศักดิ์เป็นการยกย่องพระคุณเจ้าที่มีภูมิรู้ให้เป็นที่ประจักษ์(รู้จัก)ของสังคมจริงหรือ?  ดังที่กล่าวแต่ต้นแล้วว่า พระสงฆ์ประเภททรงภูมิรู้นี้ไม่ค่อยจะมีใครเที่ยวเขียนผลงานตนเองส่งเพื่อเลื่อนขั้นนัก (หรือถ้ามีก็เพราะต้องการใช้ภูมิรู้ให้เป็นประโยชน์ในทางสนองกิเลสตนเอง) พระประเภทนี้จะได้รับการยกย่องเพราะเห็นคุณความดีจริงๆ (รวมถึงพระที่ขลังศักดิ์สิทธิ์แต่สามารถเป็นศูนย์รวมใจ/แหล่งงมงายหลอกลวง ประชาชนได้ฯ) ซึ่งหากมองว่าการให้สมณศักดิ์ด้วยเหตุผลที่ท่านสร้างคุณประโยชน์และเป็นที่พึ่งของประชาชนเช่นนี้ก็ยังถือว่าใช้ได้ เพราะไม่ได้ไปสนองตัณหาท่าน แต่กระผมก็ยังเห็นว่าไม่มีความจำเป็นอยู่ดี เพราะท่านเหล่านี้แม้จะไม่มีใครยกย่องเขาจนให้ยศถาบรรดาศักดิ์ แต่เขาก็เป็นที่รู้จักและสร้างคุณประโยชน์แก่คนทั่วไปอยู่แล้ว เช่นพระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) พุทธบริษัทจำนวนไม่น้อยที่ไม่ทราบด้วยซ้ำว่าปัจจุบันท่านมีสมณศักดิ์ชื่อนี้ เพียงแต่จดจำและเคารพกันในนาม “เจ้าคุณประยุทธ์” เท่านั้น ตรงนี้พอจะสะท้อนให้เห็นว่า กิตติคุณของท่านที่กระจายออกไปนั้นเป็นเพราะความสามารถส่วนตัว(ซึ่งทำเพื่อพระศาสนา) มิใช่เพราะได้รับการยกย่องจากการให้สมณศักดิ์ฯ (ตัวอย่างคนอื่นๆที่ชัดเจนเช่น พระไพศาล วิสาโล, มหาวุฒิชัย ว.วชิรเมธี, มหาสมปอง ตาลปุตฺโต, พระศักดิ์ชัย กิตฺติชโย วัดธารน้ำไหล พระคึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล ฯลฯ)
ความอ่อนแอของคณะสงฆ์และสาระธรรมอันเนื่องจากระบอบสมณศักดิ์
ทุกอย่างล้วนทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ประเด็นนี้กระผมกลับมองเห็นแต่ข้อหลังอย่างเดียวนั่นคือยังมองไม่ออกว่าการได้สมณศักดิ์จะเป็นประโยชน์โดยตัวมันเองชัดเจน เพราะที่เป็นบ้าง(ในแง่บวก)ก็ขึ้นอยู่กับผู้นั้นเอง(กล่าวคือคนที่น่ายกย่องต่อให้ไม่มีสมณศักดิ์ก็ยังน่ายกย่อง) จึงขอชี้แจงให้เห็นถึงความอ่อนแอหรือจุดด้อยของการมีสมณศักดิ์นี้ (พึงทราบว่าสมณศักดิ์ที่จะวิจารณ์ต่อไปนี้เกี่ยวโยงกับเรื่องตำแหน่งการปกครองที่ขึ้นกับมหาเถรสมาคมเท่านั้น)
เมื่อมีการปกครองที่ต้องขึ้นตรงต่อผู้ใหญ่ตามขั้นลำดับเหมือนคณะสงฆ์ไทย หรือที่ยิ่งกว่านั้นการกระทำอะไรก็ตามที่เป็นโครงการใหญ่ การออกระเบียบ ข้อบังคับ(ในนามพระสงฆ์ไทย)จะต้องผ่านมติ(หรือได้รับอนุญาตจาก)มหาเถรสมาคมซึ่งมีผู้ตัดสินคือกรรมการมหาเถรสมาคม ประเด็นทั้งหลายในปัจจุบันเช่นการแต่งตั้งพระอุปัชฌาย์ซึ่งยังร้อนอยู่ในขณะนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ชอบนำมาถกกัน ฝ่ายหนึ่ง(สันติโศก)มองว่าการทำเช่นนั้นไม่สมควร เพราะเป็นการขัดพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าอนุญาตไว้ว่าผู้ใดมีคุณสมบัติครบก็สามารถเป็นพระอุปัชฌาย์ได้เลย ส่วนฝ่ายนักปราชญ์(มหาเถรสมาคม)ก็อธิบายว่า บ้านเมืองปัจจุบันมีระบอบการปกครอง มีขื่อมีแปฉะนั้นการทำอะไรก็ตามจะทำตามใจชอบเหมือนแต่ก่อนมิได้(ต่อให้ถูกพระธรรมวินัยก็ตาม?) อีกอย่างผู้ที่จะเป็นพระอุปัชฌาย์ควรจะได้รับการคัดเลือกหรือฝึกฝนอบรมเสียก่อนจะเป็นการดีกว่า หากเทียบกับการที่จะปล่อยให้ผู้นั้นเป็นพระอุปัชฌาย์เอง(เมื่อมีคุณสมบัติครบถ้วน) เป็นการรับประกันคุณภาพและให้ประกาศนียบัตรหรือใบประกอบวิชาชีพไปด้วยฯ กระผมไม่อยากถกประเด็นเหล่านี้ว่าใครถูกผิด แต่ที่น่าสนใจคือการเป็นพระอุปัชฌาย์จำเป็นต้องมีใบประกอบวิชาชีพจริงหรือ?

พระอุปัชฌาย์มิใช่ผู้ประกอบการที่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ
หลายท่านชอบยกตัวอย่างการแต่งตั้งพระอุปัชฌาย์ว่าต้องได้รับใบประกอบวิชาชีพเหมือนหมอ ผู้พิพากษาหรือนักวิศวกรฯ เพราะมิเช่นนั้นจะก่อความเสียหายแก่ผู้คนได้หากไม่มีความรู้ด้านนั้นจริงๆ เช่นผ่าตัดไปคนต้องพิการหรือสร้างตึกแล้วถล่ม(เองโดยไม่ถูกเครื่องบินชน) วิชาชีพเหล่านั้นจำเป็นต้องอาศัยใบประกอบวิชาชีพจริงเพื่อรับประกันความสามารถและคุณธรรมความซื่อสัตย์ในการทำงาน(เนื่องจากคนที่ไม่มีความซื่อสัตย์สามารถถูกยึด/พักใบประกอบวิชาชีพได้) เหตุผลหลักคือสิ่งเหล่านี้เป็นความเป็นความตายของผู้อื่นที่ต้องระวังให้มากที่สุด แต่ความเป็นอุปัชฌาย์มิได้ร้ายแรงถึงขั้นนั้น ดังที่เคยอธิบายไปแล้วว่าการบวชเป็นแต่เพียงการรับเข้าหมู่คณะเท่านั้น ยังมิได้รับรองคุณภาพหรือคุณธรรมของพระว่าเป็นคนดีขนาดไหน ใครจะเข้าใจธรรมะหรือบรรลุธรรมปกติแล้วก็วัดกันเมื่อบวชเสร็จว่าเข้ามาแล้วมุ่งความเพียรแค่ไหน ส่วนเรื่องคุณสมบัติความสามารถของพระอุปัชฌาย์ หากท่านทำผิดพระธรรมวินัย เป็นคนชั่วฯลฯ การเป็นอุปัชฌาย์ของท่านก็สิ้นสุดไปเองโดยพระธรรมวินัยซ้ำยังต้องอาบัติฯ      กล่าวเช่นนี้อาจยังดูเป็นนามธรรมอยู่ นั่นคือเราไม่สามารถทราบได้ว่าใครดีใครชั่วฯ พระไพศาล วิสาโล กล่าวว่า ผู้คนในถิ่นนั้นๆจะทราบเองว่าพระ(หลวงพ่อที่เป็นอุปัชฌาย์)ของตนดีชั่วหรือมีเมตตาอย่างไร ท่านใดที่มีพฤติกรรมแย่คนทั้งหลายก็จะไม่ยอมเอาลูกตนไปบวช(ฝาก)ไว้กับท่านอยู่แล้ว หรือเมื่อมีปัญหา/อธิกรณ์เกิดขึ้นสงฆ์ก็สามารถใช้ธรรมวินัยจัดการกับผู้นั้นได้เลยโดยไม่ต้องไปรอไอทีวีหรืออำนาจจากรัฐมายุ่งเกี่ยว ที่สำคัญหากยึดระบอบนี้ คนชั่วจะถูกทำลายไปโดยง่ายเพราะไม่มีระบบอุปถัมภ์เกรงกลัวผู้มีอิทธิพลที่สูงกว่าหนุนอยู่ นี่จึงถือเป็นการคว่ำบาตรหรือปฏิเสธตามระบอบประชาธิปไตยจริงๆเพราะไม่ได้ปิดกั้นผู้ใดแต่กลับปกครองด้วยระบอบธรรมวินัยที่ถูกต้องสอดรับกับการเป็นพุทธศาสนาฯ
ประเด็นที่ตามมาคือพระที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งอาจเป็นคนชั่วหรือทำผิดพระธรรมวินัยได้ฯ ข้อนี้ดูเผินๆก็ไม่เป็นตรรกะอยู่แล้ว นั่นคือไม่มีอะไรจะรับรองความเป็นคนดีได้(แม้แต่ใบประกาศนักธรรมหรือบาลี) และจะกล่าวอย่างตรงไปตรงมาให้ชัดคือ ลองดูว่าปัจจุบันคนที่ทำผิดส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้มีใบประกอบวิชาชีพทั้งสิ้น นั่นคือเป็นเจ้าอาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ฯลฯ แต่ทำพิธีสะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา สวดถอนคำสาบ หาเงินแบบรีดไถหรือกระทั่งบวชให้บรรดากระเทยทั้งหลาย(ที่เป็นพวกเดียวกัน) ในทางตรงกันข้าม การจะเอาผิดกับคนเหล่านี้ก็ทำไม่ได้(มิเช่นนั้นท่านเกษม อาจิณฺณสีโล คงทำสำเร็จแล้ว) เพราะเขาสามารถยึดกันเป็นกลุ่มก้อน มีผู้นำที่เป็นใหญ่ แม้แจ้งต่อผู้มีอำนาจชั้นสูงขึ้นไปก็ยังวางเฉยปล่อยปละละเลย ตัวอย่างบทเรียนทั้งหลายในอดีตน่าจะมีให้เห็นกันชัดพอฯ
อีกประการที่น่าจะกล่าวถึงคือจุดหมายของการให้ใบประกอบวิชาชีพหมอ พยาบาลฯลฯนอกจากจะเพื่อให้มีความสามารถด้านนั้นจริงๆแล้ว สิ่งที่คนเหล่านี้เอาไปใช้คือเพื่อผลประโยชน์ของผู้อื่น(และตนเองเป็นหลัก) คนเหล่านี้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยความสุขสบาย มีเงินทอง มีคลีนิกต่างๆเพราะใบประกอบวิชาชีพนั้น การรับรองด้วยใบประกอบวิชาชีพจึงมีความสำคัญมาก แต่พระอุปัชฌาย์มิได้มีตราตั้งไว้เพื่อเหตุนั้น(กรณีที่ท่านเป็นคนดี) เพราะพระพุทธเจ้าทรงให้มีอุปัชฌาย์ด้วยต้องการให้สร้างประโยชน์เพื่อผู้อื่นเท่านั้น หากเอาตามพระธรรมวินัยแล้ว แม้เวลาบวชท่านจะรับเงินใต้อาสนะ(โต๊ะ)ก็ไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง ในทางตรงกันข้ามท่าน(พระอุปัชฌาย์)กลับต้องมีภาระหนักขึ้นในการต้องคอยดูแลสอดส่องพฤติกรรมของผู้นั้น หากผู้เข้ามาบวชสร้างความเสียหายแก่หมู่คณะ พระอุปัชฌาย์เองก็มีส่วนในการรับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือทั้งการว่ากล่าวตักเตือนหรือให้สึกไปเสียฯ ข้อดีของการยึดพระธรรมวินัยนี้คือทำให้การคัดเลือกคนที่เข้ามาบวชมีความจริงจังมากขึ้น คือพิจารณาจากคุณสมบัติ(ตามพระธรรมวินัย)จริงๆ ทำให้ได้คนดีหรือคนที่ตั้งใจบวชศึกษาปฏิบัติมากขึ้น ต่างจากปัจจุบันที่การรับคนเข้าพิจารณาเงินเสียเป็นส่วนใหญ่ ใครจะบวชก็ได้ขอให้มีเงิน(มีเพียงบางวัดที่ไม่สนใจข้อนี้) บางคนเป็นลูกผู้มีอิทธิพล ทั้งที่ทราบดีว่าเขานิสัยแย่ ไม่มีศรัทธาจะบวช แต่ก็ยังรับเข้าบวช บ้างก็อ้างว่าขัดใจไม่ได้(เพราะเขามาเป็นเจ้าภาพทอดกฐินเมื่อปีที่แล้ว) สรุปว่าหากสามารถดึงธรรมวินัยกลับมาใช้ใหม่แทนใบประกอบวิชาชีพ(ตราตั้งพระอุปัชฌาย์)ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ได้ สังคมดงขมิ้นคงจะมีคนดีเข้ามามากขึ้นและคนชั่วก็จะถูกกำจัดออกไปโดยอัตโนมัติ(เช่น เพราะไม่มีอำนาจ ไม่ได้รับเงิน ก็จะออกไปหาอาชีพอื่นฯ)
ทางออกจากวิกฤติพุทธศาสนาที่ล้มเหลวของไทย
กระผมเคยถกกับอาจารย์ท่านหนึ่งชื่อ มหาน้ำ (นามสมมติที่แปลจากชื่อจริง) เป็นเจ้าคณะอำเภอ โดยท่านสารภาพ/อธิบายตามตรงว่า “ท่านเองไม่เห็นด้วยกับระบอบสมณศักดิ์หรือตำแหน่งการปกครองที่มีอยู่ แต่เหตุที่ท่านรับตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอเพราะถือเป็นไม้กันหมาในการอยู่ในสังคมสงฆ์ปัจจุบัน นั่นคือท่านต้องการสอนธรรมะ(ตามแนวพุทธพจน์) ซึ่งธรรมดาจะต้องไปขัดผลประโยชน์ของพวกมีอิทธิพลทั้งหลาย เช่นท่านสอนเรื่องการแก้กรรมตามหลักมรรค ๘ ที่ผู้ทำกรรมต้องแก้(เปลี่ยนแปลงนิสัยตนเอง) แต่ผู้มีอิทธิพลก็พยายามจัดพิธีสะเดาะเคราะห์แก้กรรมกันทั่วเพื่อหาเงินเข้าวัดฯ หากท่านไม่ได้เป็นเจ้าคณะอำเภอคงถูกขัดขวางและเด้งไปนานแล้ว เพราะเหตุนี้เองที่อำนาจจึงมีประโยชน์”
ฟังดูแล้วกระผมก็เห็นด้วยกับท่านและคิดว่าเหตุผลนี้น่าจะเป็นคำตอบหรือทางออกที่ดีที่สุดแล้วในเวลานี้ แต่ลึกๆยังมีบางอย่างที่ไม่เห็นด้วย นั่นคือหากเชื่อว่าการมีอำนาจไว้เป็นไม้กันหมา(ต่อให้ไม่เมาในยศก็ตาม) แต่หากวันหนึ่งผู้มีอิทธิพลมีอำนาจสูงกว่าเรามาก เราก็จะต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้ยศที่สูงขึ้นเพื่อค้ำคอตัวเองด้วยหรือ? และพระที่ต้องการสอนธรรมะจริงๆ(ซึ่งขัดกับคณะสงฆ์กระแสหลักทำกัน)ก็จะต้องวิ่งเต้นเพื่อให้ได้ยศมาก่อนหรือ? เมื่อเป็นเช่นนี้การแสวงหายศตำแหน่งก็จะไม่มีวันสิ้นสุด กระผมเห็นว่าสิ่งที่ควรจะเป็นมากกว่าคือการทำให้สังคมเห็นว่ายศอำนาจ(ของพระ)เป็นสิ่งไม่มีประโยชน์ และเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งกับการสื่อให้คนเข้าใจธรรมะ ตัวอย่างง่ายๆเช่นในงานศพคนใหญ่คนโต จะนิยมนิมนต์พระไปเทศน์ และจะต้องเป็นพระที่มีตำแหน่งเช่นเจ้าคณะอำเภอขึ้นไปฯ โดยไม่ได้ใส่ใจว่าท่านสามารถทำให้คนเข้าใจธรรมะได้หรือไม่ ทั้งที่พระหลายรูปมีความสามารถก็แต่ไม่ได้รับการเปิดโอกาส(หรือในความเป็นจริง กลับถูกปิดกั้นโอกาสด้วยซ้ำ)
จึงเป็นการดีหากไม่มีเรื่องยศถาบรรดาศักดิ์ให้ต้องกังวลใจหรือเที่ยวยกหางตนเองและคณะ คนที่มีความสามารถก็ทำประโยชน์ได้เต็มที่โดยไม่ต้องไปเกรงกลัวการขัดผลประโยชน์ของผู้ใด กระผมจึงใคร่ขอเสนอทางออกที่ชัดเจนคือ ยกเลิกการให้สมณศักดิ์และการปกครองมหาเถรสมาคมเสีย อันนี้ดูเหมือนเป็นสิ่งใหญ่ เลวร้าย และทำไม่ได้เพราะถือเป็นประเพณีที่ทำมาช้านาน แต่ให้ลองพิจารณาข้อดีข้อเสียของการมีการปกครองและระบอบสมณศักด์ประเภทนี้ดู แล้วเล็งถึงผลประโยชน์ที่ชาวพุทธจะพึงได้รับให้มากกว่าการปิดใจแคบหรือคลั้งไคล้ยศอำนาจ
เป็นไปได้มากคือสิ่งที่เสนอไปไม่สามารถทำได้(น่าจะหนักพอกับวาทกรรมเรื่อง มาตรา ๑๑๒) แต่ยังมั่นใจว่าอนาคตเมื่อคนมีปัญญาและยอมรับความเป็นจริงมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะถูกเอามาพิจารณาใหม่เป็นแน่ฯ แต่ให้เข้าใจก่อนว่ากระผมไม่ได้เปรียบเทียบการปกครองคณะสงฆ์กับมาตรา ๑๑๒ ว่าเป็นอันเดียวกัน เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่าเป็นประเด็นที่หนักพอๆกันเท่านั้น หลายคนอาจตั้งคำถามต่อว่า เมื่อไม่มีการปกครองคณะสงฆ์(ที่กล่าวถึงการปกครองเป็นหลัก เพราะสมณศักดิ์อยู่ได้ด้วยอาศัยการปกครองระบอบนี้) หรือไม่มีพระสังฆราช ชาวพุทธก็จะไม่มีศูนย์รวมจิตใจให้สงบร่มเย็น? ก่อนอื่นต้องถามก่อนว่า สมเด็จพระสังฆราชเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธไทยจริงหรือ? กี่คนที่ถึงคราไม่สบายใจก็อาศัยคำสอนพระองค์เป็นที่พึ่งที่ระลึก? ส่วนใหญ่มีแต่กลับเข้าหาพระเครื่อง หมดดู หมดทำเสน่ห์หรือการสะเดาะเคราะห์เสียโดยมากฯ หรือแม้พระองค์มิได้เป็นสังฆราชโดยตำแหน่ง แต่เพราะปฏิปทาการปฏิบัติของพระองค์ดีพร้อมก็ย่อมเป็นสรณะให้แก่ชาวพุทธไปโดยพฤตินัยและมีคุณประโยชน์มากกว่าการได้เป็นอยู่แค่นิตินัยฯ  ซึ่งความเป็นจริงพระพุทธเจ้าเองก็ให้เอาพระรัตนตรัยคือพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะอยู่แล้ว นั่นคือมิใช่ให้มีไว้เพียงกราบไหว้หรือปลอบประโลมใจเหมือนพระพุทธรูป แต่มีไว้เพื่อเป็นตัวอย่างในการครองชีพและพัฒนาตนเพื่อยกระดับขึ้นไปถึงขั้นมีปัญญาและพึ่งตนเองได้ในที่สุดฯ
ปัญหาอีกอย่างคือ หากไม่มีการปกครองคณะสงฆ์ บ้านเมืองจะเอาอย่างไรกับพระสงฆ์ ใครจะเป็นผู้ดูแลท่าน? ตอบว่าท่านสามารถดูแลกันได้ด้วยอาศัยธรรมวินัยในการยกย่องและติเตียนกันได้เอง ทุกคนมีพระอุปัชฌาย์ในการบวช จะต้องขึ้นกับพระอุปัชฌาย์ตนอยู่แล้ว เรื่องการรวบรวมรายชื่อพระเข้าพรรษา การสอบธรรม บาลีฯลฯ สิ่งเหล่านี้โยนไปให้นักวิชาการศาสนาหรือสำนักงานพุทธทำได้ เพราะเป็นเรื่องไม่ยากและท่านเหล่านั้นเองจะได้มีงานทำบ้าง(ในแง่ดีคือการทุจริตข้อสอบฯลฯ อาจลดลงด้วยเพราะพระสงฆ์ไม่ได้จัดการกันเอง)ฯ ส่วนเมื่อเกิดปัญหาร้ายแรง นอกจากพระจะจัดการด้วยอธิกรณสมถะแล้ว ทางบ้านเมืองยังสามารถเข้าไปดูแลได้ (เพราะท่านก็เป็นพลเมืองคนหนึ่ง) เช่นท่านขายยาบ้า ตำรวจก็สามารถเข้าไปจับกุมหรือสอบสวนได้ฯ
อยากกลับมาตรงประเด็นที่ว่า ข่มผู้ที่ควรข่มและยกย่องผู่ที่ควรยกย่อง กระผมยังเห็นด้วยกับการจัดการกับพระที่ทำผิดวินัย/หลอกลวงผู้คนมาลงโทษ(โดยไม่ต้องใส่ใจว่าท่านมีตำแหน่งสูงขนาดไหน)และการยกย่องท่านผู้มีความสามารถ แต่การยกย่องนั้นมิใช่ให้สมณศักดิ์ไปปกครองคนอื่น(เพราะขัดกับหลักพุทธศาสนา) แต่ให้เพื่อเชิดชูเกียรติประกาศให้ผู้อื่นเอาเป็นแบบอย่างหรืออย่างน้อยก็ให้ประชาชนเข้าหาท่านมากกว่าจะไปหาคนลวงโลกทั้งหลายฯ ควรเปิดโอกาสให้นักปราชญ์เหล่านั้นมีปากเสียงทางสังคม(ทางวิทยุ โทรทัศน์)ให้มากกว่าเดิม
ความจริงเราสามารถยกย่องพระเหล่านั้นด้วยการให้ชื่อต่อท้ายเช่น บัณฑิต มหาบัณฑิตหรืออัครมหาบัณฑิตก็ได้ (มหาวิทยาลัยทั้งหลายที่ถวายปริญญาดุษฎีท่านก็ทำเช่นนี้) เพราะเป็นเกียรติคุณที่ดีและสร้างประโยชน์แก่สังคมได้จริง ยิ่งกว่านั้นหากการให้รางวัลเช่นนี้ดึงดูดใจโล้นซ่าทั้งหลายก็จะเปิดโอกาสให้ท่านเหล่านั้นตั้งใจเล่าเรียน ศึกษาพระธรรมวินัย(ดีกว่าการไปแจกซองผ้าป่าหาเงิน สร้างตึก เพิ่มยศ) อย่างน้อยเมื่อมีความรู้ที่ถูกต้องมากขึ้น ท่านจะลดกิเลสตนเองไปได้ในตัว(แม้เจตนาไม่ดีในตอนแรก แต่นานวันจะเปลี่ยนพฤติกรรมและความคิดตนให้ดีขึ้นได้)และยังสามารถสั่งสอนธรรมะที่ถูกต้องแก่ประชาชนอันจะเป็นความเจริญของพระศาสนาอย่างแท้จริงฯ
การยกย่องท่านผู้สร้างคุณประโยชน์นี้แท้จริงแล้วไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อให้เป็นขวัญหรือกำลังใจท่าน เพราะดังที่อธิบายแล้วว่า ท่านที่มีคุณลักษณะเช่นนี้มิได้ทำความดีเพราะหวังอะไรตอบแทน เช่นท่านพุทธทาส การจะให้รางวัลท่านหรือไม่นั้นไม่สามารถส่งผลต่อความตั้งใจอันดีงามของท่านได้ ส่วนผู้ใดเห็นว่าหากพระไม่มีกำลังใจ(ลาภยศ)ในการทำความดี วันหนึ่งท่านก็จะเลิกทำเสียฯ ให้เข้าใจเถิดว่าคนที่ทำความดีเพราะความคิดเช่นนี้หาได้เป็นคนดีจริงไม่ ในทางตรงกันข้ามหากเป็นเช่นนั้นจริงท่านก็ไม่ควรจะได้รับการยกย่อง การให้เกียรติหรือยกย่องตามแนวที่กระผมได้บรรยายมานี้มีเป้าหมายเพียงเพื่อเชิดชูคนดีให้ปรากฎในสังคม เปิดโอกาสให้ท่านได้พบปะประชาชน ให้ความรู้หรือแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางมากขึ้น เมืองไทยก็จะมีผู้นำทางจิตวิญญาณที่มีความสามารถจริงและไม่หวังผลตอบแทนเพื่อประโยชน์ตนอันจะเป็นตัวอย่างที่ดีของพุทธบริษัทในรูปแบบใหม่(ซึ่งตรงกับยุคพุทธกาล)


[1] หนังสือ ธรรมศึกษาชั้นเอก ฉบับปรับปรุงใหม่ที่ประกาศใช้ปัจจุบัน, หน้า ๕๔, กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. ๒๕๕๐
[2] เล่มเดียวกัน หน้า ๖๓
[3] ข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การพิจารณาแต่งตั้งสมณศักดิ์อ่านเพิ่มเติมได้จาก http://www.dharma-gateway.com/monk/monk-03-01.htm
[4] ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ขุททกนิกาย สุตนิบาต ข้อ ๓๑๘
[5] ทีฆนิกาย มหาวรรค  ข้อ ๑๔๑  อานนฺท   เอวํ  ทฏฺฐพฺพํ  โย  โว อานนฺท   มยา   ธมฺโม      วินโย    เทสิโต  ปญฺญตฺโต  โส  โว มมจฺจเยน   สตฺถา.........อานนฺท   ภิกฺขุนา  นวกตโร  ภิกฺขุ  นาเมน  วา  โคตฺเตน วา   อาวุโสวาเทน  วา  สมุทาจริตพฺโพ  นวกตเรน  ภิกฺขุนา  เถรตโร ภิกฺขุ   ภนฺเตติ   วา   อายสฺมาติ   วา   สมุทาจริตพฺโพ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น