วันอาทิตย์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555

ประโยชน์ที่ชาวพุทธจะพึงได้รับจากวันขึ้นปีใหม่?

บทความเตือนใจ ที่ระลึกในวันปีใหม่ ๒๕๕๕
พระเจษฎา กันตเมธี ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๔
บทความ pdf
บทนำ
ของขวัญ, การเลี้ยงฉลอง, มีโอกาสเลื่อนขั้นฯ, ได้กลับบ้าน(เก่า...บ้างก็ตายจากอุบัติเหตุ), ได้เป็นรัฐบาลยาวนานอีกปี, กิ๊ก, สวดมนต์ข้ามปี ต่อชะตา สะเดาะเคราะห์, กระทั่ง 2012 the last judgmentฯลฯ สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนคาดหวังและพอจะนึกออกเมื่อถึงวันปีใหม่ฯ กระผมตั้งใจจะเขียนบทความนี้ให้เป็นแง่บวกมากที่สุด(หลังจากที่ชีวิตต้องพัวพันอยู่กับแง่ลบมานาน สังเกตได้จากบทความเรื่องโล้นซ่าฯเป็นต้น) แต่สิ่งที่จะเน้นเป็นเป้าสำคัญคือประโยชน์ที่ผู้อ่านจะพึงได้รับ เมื่อกล่าวเช่นนี้หลายคนอาจแย้งในใจว่า เราสามารถพูดสิ่งที่เป็นแง่บวกไปด้วยและสิ่งที่เป็นประโยชน์ไปด้วยในเวลาเดียวกันได้มิใช่หรือ? ไม่จำต้องพูดแง่ลบ? ก็อาจต้องตอบว่าเป็นความจริง แต่การจะกล่าวเช่นนั้นได้ในสังคมจะต้องมีทั้งสองขั้วให้เห็น นั่นคือฝ่ายหนึ่งสร้างประโยชน์ อีกฝ่ายสร้างโทษ เราจึงสามารถเลือกที่จะเข้าข้างฝ่ายที่ถูกได้(ในกรณีที่ไม่อ้างว่า ตนเองเป็นกลาง...หรือกระดาษระหว่างแก้มก้นฯ) แต่พอหันมามองพุทธศาสนาในเมืองไทย เราพอจะยกตัวอย่างฝ่ายที่สร้างโทษได้มากมายโดยอาศัยประเพณี พิธีกรรม ความขลังมาหลอกลวงผู้คน(แต่จะไม่ขอยกมากล่าวในที่นี้ เพราะประกาศเจตนารมณ์แต่แรกแล้วว่าจะพูดแต่แง่ดี) ส่วนฝ่ายที่สร้างประโยชน์(ไม่ใช่ศาลาการเปรียญหรือโบสถ์นะ แต่เป็น..)การให้ความรู้พุทธบริษัทให้เข้าใจชีวิต เห็นความสำคัญของการศึกษาเป็นต้น เป็นสิ่งที่หาดูได้ยากอยู่ การกล่าวในแง่หลังจึงเป็นเหมือนการจินตนาการ โกหกหลอกลวงผู้คน(ตนเอง)อีกประเภทหนึ่งด้วยว่าทำอย่างหนึ่งแต่ต้องพูดอีกอย่างหนึ่งฯ กระผมเคยอ่านหนังสือหลายเล่มที่เขียนเกี่ยวกับพุทธศาสนาในเมืองไทย ซึ่งต้องขอพูดตามความรู้สึกจริงๆว่าเป็นการเขียนที่ไม่มีมูลความจริงอยู่เลย เช่น พุทธศาสนาเป็นรากเง้าของอารยธรรมไทย...ตรงไหนที่เป็นรากเง้า? ตกงานแล้วเข้าวัดไปอาบน้ำมนต์หรือ? ถอยรถมาใหม่ป้ายแดง(เสียทั้งหยาดเหงื่อ แรงงาน โดนโกงฯ)กว่าจะได้รถมาคันหนึ่งยากลำบากมาก เมื่อได้มาแล้วแทนที่จะขับให้สบายใจก็เอาไปวัดให้หลวงพ่อเจิม(โดนหลอกขั้นที่สอง)? หรือผู้ชายจะเป็นคนดีก็ต้องผ่านการบวช(คนสุก) หลายคนจึงบวชตามประเพณีเพียงสัปดาห์เดียว ทำแต่งาน ไม่มีเวลาศึกษาและปฏิบัติธรรมเลย เช่นนี้ก็ได้บุญแล้ว? หรือถ้าอยู่นานแล้วเป็นคนดี กระผมเองก็น่าจะเป็นคนที่สุดประเสริฐคนหนึ่งนะ? เป็นต้น จากหนังสือเหล่านั้นเราจะเห็นว่าพุทธศาสนามีส่วนเสริมสร้างวัฒนธรรมไทยจริงๆ เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าไฉนผู้เขียนทั้งหลายไม่ยอมบรรยายตามสภาพความเป็นจริง...แต่ก็ช่างเถอะ ลืมไปว่าจะกล่าวแต่แง่ดี...(ปากเสียจริงๆเลยเรา...ตบปากตัวเองหน่อยสิ!)
อะไรคือ...สากล?
วันที่ ๑ มกราคมของทุกปีถือเป็นวันปีใหม่สากล คือชาวโลกทั่วไปรับทราบกันโดยแม้ว่าตนจะมีวันปีใหม่อยู่ก่อนแล้ว(เช่น ปีใหม่ไทย จีนฯลฯ)ก็ยังรับวันนี้เข้าเป็นปีใหม่อีกวันด้วยความสมัครใจ เมื่อพูดถึงความเป็นสากล เราอาจตีความคำนี้กันหลายแง่ บ้างก็บอกว่าสิ่งสากลคือความถูกต้อง สิ่งสากลคือพระเจ้า หรือสิ่งสากลต้องเป็นสัจธรรม(อกาลิโก)ฯลฯ แต่เมื่อดูตัวอย่างวันปีใหม่เป็นต้น เราจะทราบว่าคำจำกัดความนั้นแคบและง่ายลง นั่นคือสิ่งที่เป็นสากลคือสิ่งที่เป็นของฝรั่ง เสื้อผ้าสากลก็ต้องเป็นเสื้อยืด กางเกงยีนส์ของฝรั่ง(แม้คนคิดจะไม่ใช่ฝรั่งก็ตาม) ดนตรีสากลต้องเป็นดนตรีฝรั่ง ภาษาสากลต้องเป็นภาษาฝรั่งฯลฯ ตกลงเราทั้งหลายที่ไม่ใช่ฝรั่งก็ย่อมไม่มีอะไรที่เป็นสากลในสายตาชาวโลกเลย (หรือจะบอกว่าวิสาขบูชาโลกเป็นวันสากล?...ลองถามคนต่างชาติดูสิว่าระหว่างวิสาบูชากับคริสต์มาสเขารู้จักอะไรมากกว่า...แต่อย่ามองออกนอกประเทศเลย แค่ไปดูเชียงรายก็น่าจะชัดพอ!) อย่างไรก็ตามเราอาจได้ประโยชน์จากความเป็นสากลนี้ นั่นคือทางพุทธศาสนาเรียกว่า “สมมติสัจจะ” หมายถึงความจริงที่สมมติกันขึ้น เราไม่สามารถปฏิเสธความจริงข้อนี้ได้หากยังต้องการอยู่ในสังคม เช่นหากไม่ยอมรับวันนี้เป็นวันสำคัญสากล อยากออกไปซื้อเครื่องใช้ไม้สอยตามร้านจีนแดงทั้งหลาย ก็จะต้องกลับบ้านด้วยความผิดหวัง เพราะคนส่วนใหญ่เขายอมรับวันนี้กันและปิดร้านปล่อยให้ลูกทาส(อุ้ย! โทษที...ลูกจ้าง)กลับบ้านพักผ่อนหรือเยี่ยมญาติกันทั้งสิ้น ดังนั้นการปฏิเสธสมมติสัจจะก็จะทำให้คนดำรงชีพด้วยความยากลำบากฯ พุทธศาสนาเองจึงยอมให้คนรับความจริงข้อนี้ได้ แต่ต้องทราบความจริงอีกข้อหนึ่งคือ “ปรมัตถสัจจะ” หมายถึงความจริงที่เที่ยงแท้ เช่นชีวิตคือการพัฒนาตนเอง ไม่ว่าเมื่อไรก็สามารถพัฒนาตนได้เสมอ ทุกการกระทำควรให้เป็นไปเพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเองคือเสริมสร้างปัญญาด้วย มิใช่เลี้ยงฉลองให้สุข(ก)ไปวันๆ หากย้อมมองประวัติศาสตร์แบบลับๆจะทราบว่า วันที่ ๑ มกราคมนี้อดีตเคยเป็นเลี้ยงฉลองของฝรั่งที่ต้องการเยาะเย้ยอิสลามที่สามารถทำสงครามชนะได้หลังจากขับเคี่ยวกันมานานฯลฯ อยากทราบเรื่องนี้ชัดลองศึกษาดูเองหรือจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์อิสลามเช่น ดร.อนัส อมาตยกุล(มหิดล), ดร.จรัญ มะลูลีม(ธรรมศาสตร์)ได้ เพราะหากจะให้กระผมเล่าเองอาจมองเหมือนเป็นการยุให้เกิดความขัดแย้งกันด้านศาสนามากกว่าจะนำเรื่องประวัติศาสตร์มาเล่า ทั้งที่กระผมมีเจตนาดี...จำไม่ได้ก็บอกมาตรงๆดีกว่า?
ไม่สนใจคำพยากรณ์แต่มุ่งสร้างประโยชน์
หลายคนมักนึกถึงคำพยากรณ์เรื่องวันสิ้นโลกหรือจากหนังดังเรื่อง 2012 ความจริงเรื่องนี้มีหลายคนมาทำนายไปในทำนองเดียวกัน ตั้งแต่นักวิทยาศาสตร์ยันหมอดูฯ บ้างก็กลัวเพราะไปตรงกับปฏิทินปีสุดท้ายของชนเผ่าชาวมายาเข้า (ไม่ลองแปลคำว่ามายาดูบ้างละครับ?)กระผมไม่เคยต้องการถกเรื่องนี้ เพราะตนไม่มีความสามารถด้านนั้น เพียงแต่อยากให้สังเกตพฤติกรรมท่านเหล่านั้นว่า ท่านออกมาพูดกันอย่างน่าตื่นเต้น ตัวสั่น ขนลุก แต่ตัวเองก็ยังไม่คิดหยุดหลอกชาวบ้าน ยึดอาชีพหมอดูอย่างหนาแน่น ท่านจะเอาเงินไปไหนมากขนาดนั้นครับ? หรือตกลงกับนาซ่าไว้แล้วเรื่องจองตั๋วไปดาวอังคาร? บางท่านเป็นนักเขียนชาวพุทธก็ยังเขียนอธิบายเรื่องนี้เหมือนกันโดยยกข้อความจาก อัคคัญญสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค มาแสดง เนื้อความในพระสูตรนี้มีบางอย่างคล้ายศาสนาคริสต์อยู่เช่น มนุษย์เกิดมาก่อน จากนั้นก็มีพระจันทร์ พระอาทิตย์ ต้นไม้ ข้าวสาลี(ดูเทียบใน Genesis บทที่ ๑)ฯ ความจริงไม่น่าจะนำเรื่องนี้มาวิเคราะห์เลย เดี๋ยวจะถูกบรรดานักศึกษาพุทธวจนะวิจารณ์ว่าไม่เชื่อคำพูดพระพุทธเจ้า แต่อย่างไรก็ตามถ้าเป็นคำพูดพระพุทธเจ้า เราก็ต้องมองในแง่ดีไว้ก่อน(เพราะท่านต้องถูกเสมอ คนอื่นผิดหมด? โอ้...My Lord) นั่นคือพระองค์อาจตรัสเรื่องนี้เพื่อให้คนคลายความคิดเรื่องพระเจ้าสร้างโลกเท่านั้น แต่ให้เห็นเป็นการวิวัฒนาการ พอใจยัง..? ทีนี้สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์เลย คนที่ไม่ได้อ่านพระสูตรนี้อาจสงสัย จึงขอเล่าโดยย่อเสียก่อน นั่นคือ
มนุษย์ดั้งเดิมแล้วเกิดจากพรหม(หมายถึงสัตว์ประเสริฐชนิดหนึ่ง ไม่ใช่พรมเช็ดเท้านะ) เหาะไปมาก็เห็นโลกซึ่งถูกทำลายใหม่ๆเข้า เมื่อเข้ามาใกล้ก็เห็นง้วนดินซึ่งอาจเทียบกับปัจจุบันคือช็อกโกแล็ต(ที่ไหลท่วมทุ่งข้าวสาลีเหมือนอาหารเช้าโกโก้คร้านส์ฯ) เกิดกิเลสอยากกินขึ้นมา(พระพรหมเนี่ยนะเกิดกิเลสอยากกิน? เอาเป็นว่าเล่าอย่างเดียว อย่าแสดงความคิดเห็นแทรกได้ไหม?) จึงตัดสินใจลิ้มง้วนดินนั้นเข้า ต่อมาติดใจและติดจนงอมแงม เป็นปกติของร่างกายว่าเมื่อบริโภคอาหารเช่นไรก็ต้องก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามอาหารนั้นๆ เช่นแต่ก่อนพรหมกินปีติเป็นอาหาร (ปีติหมายถึงความอิ่มใจจากสมาธิ ไม่ต้องกินข้าวก็อยู่ได้ คล้ายกับที่น้าหมู พงษ์เทพบอกว่า “ยามรักไม่กินก็อิ่มฯ”) ร่างการจึงเป็นทิพย์ ละเอียดอ่อน แต่เมื่อมาบริโภคอาหารหยาบเข้าร่างกายก็หยาบไปตาม จนกลายมาเป็นมนุษย์ในปัจจุบันหน้าตาทุเรศๆที่ท่านเห็นในกระจกนั่นเอง (ตกลงพุทธศาสนาก็บอกว่ามนุษย์ไม่ได้วิวัฒนาการมาจาก กกน. เหมือนกันหรือ?) ต่อมาก็รู้จักมี sex มีครอบครัว ทำนา สร้างบ้านเรือน อยู่กันเป็นสังคมเพื่อความปลอดภัย จากนั้นก็โดนพวกหัวขโมยและนักเลงเอาเปรียบ จึงต้องการผู้นำมาปกป้องดูแล ตัดสินคดีความ เกิดกษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ ศูทรเพื่อแบ่งกันทำหน้าที่ฯลฯ ดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี่เอง (ความจริงถ้าพระพุทธเจ้ายังอยู่พระองค์น่าจะตรัสถึงการเรียกร้องประชาธิปไตยและการสลายการชุมนุมแถวแยกคอกวัว สะพานมฆวานฯ และราชประสงค์ด้วย?)
ทั้งที่พระพุทธองค์ตรัสตลอดมิใช่หรือว่า เรื่องการเกิดขึ้นและการสิ้นสุดของโลกพระองค์จะไม่ตรัส (อัพยากตปัญหา) เพราะไม่ได้ทำให้พ้นทุกข์? นั่นคือต่อให้เราทราบว่ามนุษย์มาจากลิงหรือไม่เราก็ต้องกินข้าวเหมือนเดิม เป็นลูกจ้างเขาเหมือนเดิม เรียนก็เป็นทาสใบปริญญาเหมือนเดิมฯ ดังนั้นสิ่งที่พระองค์สอนคือสิ่งที่จะเอื้อให้มนุษย์พัฒนาตนเองได้เท่านั้น (ธรรมะของพระองค์มีรสเดียว คือวิมุตติรส หมายถึงความพ้นทุกข์) แต่ก็เหมือนที่กล่าวแต่ต้นว่า เมื่อพระองค์ตรัสแล้วเราก็ต้องยอมรับและห้ามบอกว่าผิด มิเช่นนั้นจะเป็นบาป! (ความจริงไม่มีบาปอะไรจะมากเท่ากับการเชื่อแบบงมงายเลย) เมื่อมองในแง่ดีก็ต้องกล่าวว่า พระองค์ต้องการบอกว่าพระเจ้ามิได้สร้างมนุษย์ เพราะฉะนั้นไม่ต้องมัวแต่กราบไหว้อ้อนวอนจนลืมพัฒนาปัญญา อีกประการหนึ่งคือเมื่อตรัสเรื่องการปกครองก็บอกว่า ไม่มีการปกครองแบบใดดีไปกว่าการยึดธรรมหรือความถูกต้องเป็นหลักเลย (ธรรมาธิปไตย) กระผมจึงมองว่า สาระที่เราจะได้จากพระสูตรนี้คือเรื่องหลังนี้มากกว่า เพราะจะทำให้เกิดประโยชน์กว่าไปสนแต่เรื่องวิวัฒนาการเพื่อเอาไปเขียนหนังสือหรือบรรยายหาเงินฯ ดังนั้นในฐานะชาวพุทธ เราจึงไม่ควรติดกับคำทำนายจนถึงขั้นตื่นตูม ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไม่เชื่อใครเลย เพียงแต่ต้องดูเหตุผลและปัจจัยให้รอบด้าน เช่น จะบอกว่าไฟไหม้โลก ก็ต้องดูว่าอากาศแห้งแล้งแค่ไหน น้ำท่วมโลกก็ต้องดูว่าระดับน้ำเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน ที่สำคัญมิใช่ดูแต่ปัจจุบัน แต่ต้องเทียบกับอดีตด้วย เช่นปรากฎการณ์บางอย่างอาจเกิดหลายสิบปีครั้งหนึ่ง เมื่อเกิดแล้วก็จะหายไปอีกหลายสิบปี อย่าเพิ่งไปตัดสินว่าหากปีที่แล้วเป็นอย่างนั้น ปีหน้าต้องเป็นอย่างนี้ฯลฯ อีกประเด็นคือพวกตัวแปรทั้งหลาย เช่นน้ำท่วมบางครั้งมิได้เกิดจากฝนตกหนักหรือน้ำทะเลหนุน แต่เพราะสร้างเมืองกันจนลืมขุดคูระบาย บ้างก็กลัวเขื่อนแตกจึงต้องปล่อยน้ำออกมาปริมาณมากๆ สรุปก็คือชาวพุทธฯไม่จำต้องเชื่อจนสุดใจว่าโลกจะดับปีไหน? ก่อนโลกแตกหนึ่งคืนเราควรทำอะไร? สวดมนต์นั่งสมาธิรอ อยู่กับแฟน หรือเอาเสื้อแดงมาใส่เพื่อรำลึกถึงบรรพชนฯ ดังนั้นไม่ว่าโลกจะแตกหรือไม่หน้าที่ชาวพุทธฯ(มีการพัฒนาตนเองเป็นต้น)ต้องทำอยู่ตลอดฯ

อายุมากขึ้น คุณธรรมต้องเพิ่มขึ้น
อีกประการหนึ่งซึ่งวันขึ้นปีใหม่สามารถเตือนสติเราได้คืออายุที่เปลี่ยนไป ความจริงเรื่องนี้มีคนพูดกันเกลื่อนเมือง นั่นคือ “ปีใหม่แล้วก็แก่ขึ้นอีกปี” แล้วงัย? ยังโกงชาติเหมือนเดิม ยังรักสวยรักงามเหมือนเดิม ยังอู้งานเห็นแก่ตัวเหมือนเดิมฯลฯ เราจึงเห็นว่าคำพูดที่ดูเหมือนเข้าใจสัจจะธรรมเช่นนี้ไม่ได้มีส่วนในการดำเนินชีวิตมนุษย์เลย หากเทียบกับอริยสัจคือกล่าวถึงเฉพาะเรื่องทุกข์ แต่มืได้กล่าวต่อ/ชักไปหาหนทางสู่การดับทุกข์ นั่นคือเมื่อทราบว่าร่างกายไม่เที่ยง ก็ไม่ยอมถามต่อว่า แล้วเราควรใช้ชีวิตที่เหลืออย่างไร? โบราณเปรียบร่างกายนี้เหมือนเทียนไข ที่จุดแล้วและกำลังส่องแสงสว่างอยู่ อนาคตข้างหน้าอาจดับแบบไม่ทราบชัดว่าด้วยกรณีใด บ้างก็ดับเองเพราะหมดแท่ง(แก่ตาย) บ้างก็โดนลมพัด(อุบัติเหตุ/โรค) ดังนั้นควรนำแสงสว่างของเทียนที่เหลืออยู่ไปแสวงหาสิ่งที่ประเสริฐ ไม่เป็นตัวก่อทุกข์ พระพุทธเจ้าเองก่อนออกบวชได้ถูกห้ามและปวารณาจะให้ทุกอย่างตามที่ต้องการ แต่พระองค์ก็ตรัสตอบไปว่าชีวิตพระองค์ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตายอยู่แล้ว ไฉนจะหาของที่เกิด แก่ เจ็บ ตายมาครอบครองอีก (ของในที่นี้หมายเอาทั้งสามี ภรรยา บุตร ทรัพย์สิน...ที่ได้มาและเสื่อมไป) ดังนั้นพระองค์จึงออกบวชเพื่อหาสิ่งประเสริฐ นั่นคือคุณธรรม ความเมตตาต่อสรรพสัตว์ ปัญญาที่รู้เห็นความจริงของธรรมชาติว่ามีความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไปและอยู่เหนือการควบคุม เมื่อทราบเช่นนี้ก็สามารถปล่อยวางในสิ่งทั้งปวงได้ ไม่ต้องทุกข์ไปตามชาวโลกฯ นี้เป็นการแสวงหาที่ประเสริฐ(อริยปริเยสนา) เรื่องนี้น่าจะเตือนใจทุกคนได้ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระภิกษุสามเณรทั้งหลายที่ออกบวชตามพระพุทธเจ้า ให้ตรวจดูว่าอุดมการณ์เรายังตรงกับพระองค์หรือไม่? สำหรับชาวบ้านทั่วไปต้องใช้แสงเทียนชีวิตที่เหลืออยู่สร้างประโยชน์แก่ตนเองและคนรอบข้าง โดยไม่ควรคิดว่าอายุยังน้อยหรืออายุมากแล้ว ความตายเป็นสิ่งที่กำหนดยาก อายุยังน้อยแต่ขณะเดียวกันอายุอาจเหลือน้อยด้วยก็ได้ฯ กล่าวเช่นนี้มิใช่สนับสนุนให้ทุกคนมาบวชพระหรือชีกันหมด (สงสารพระหลายรูปที่รอตำแหน่งเจ้าคุณฯอยู่ เพราะหากบวชกันมากท่านก็จะมีคู่แข่งมากขึ้น) เพียงแต่ไม่ละเลยภาระหน้าที่ตนเอง ทำตัวเป็นสามี ภรรยา พ่อ แม่ และลูกที่ดี อีกอย่างคือไม่ลืมหน้าที่ของการเป็นมนุษย์หรือชาวพุทธฯที่ต้องพัฒนาคุณธรรมและปัญญาตนเอง ท่านพุทธทาสกล่าวว่า “ปีใหม่อย่าโง่เหมือนปีเก่า” ไม่ได้หมายความว่าจะต้องโง่กว่าปีเก่า แต่ต้องฉลาดขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องพระศาสนาที่อดีตสักแต่เข้าวัด ตักบาตรปีใหม่(หน้ากล้องดิจิตอล) ให้เปลี่ยนมาเป็นแบบอย่างแก่ครอบครัวตนเอง เช่นหันมาทำวัตรเช้า-เย็น ฝึกสมาธิหรือศึกษาพระศาสนาโดยการอ่านพระไตรปิฎกเป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะสะท้อนความเป็นชาวพุทธฯมากกว่าการไปลอดโบสถ์ ยกช้าง หรือนั่งใต้สายสิญจ์ใยแมงมุม(ระวัง spider monk นะ มันชอบดูดเงิน!) เมื่อทำตัวเช่นนี้ได้ ไม่จำต้องถามเลยว่าโลกเกิดเมื่อไร?และจะแตกเมื่อไร? 

ชีวิตวกวนอยู่ที่เดิม เหมือนไก่ในเล้า
ข้อดีของปีใหม่อีกประการคือ สะท้อนให้เห็นความซ้ำซากของชีวิตได้ บางคนบอกว่าซ้ำซากเพราะไม่ได้เลื่อนขั้นสักที ทำไมคนอื่นเขาได้กันทีละสองขั้น? ความคิดเช่นนี้ให้ทราบว่ายังเป็นการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐเพราะส่งผลคือความทุกข์ในที่สุด มิใช่แต่คนซ้ำขั้นเท่านั้น คนได้เลื่อนขั้นก็ทุกข์ แต่มองเห็นยากเพราะการฉลอง เงินเดือน ความเคารพนับถือจากผู้อื่นมาบังไว้ จะเห็นให้ชัดลองนั่งในห้องคนเดียวสิ นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราต้องปฏิบัติธรรม เพราะไม่มีใครมากราบเรา ไม่มีใครยกย่องเรา หรือให้ชัดกว่านั้นลองไปยืนต่อหน้างูเห่า แล้วกระซิบกับมันว่า “ฉันเป็นผู้อำนวยการนะ แกห้ามกัดฉัน” หัวโขนทั้งหลายจะถูกดึงออกก็ต่อเมื่อเราต้องประสบกับความเป็นจริงของธรรมชาตินี่เอง ซึ่งไม่ใช่โลกที่มนุษย์พากันสมมติ พุทธศาสนาจึงบอกว่าความทุกข์ที่เป็นอยู่ปัจจุบันเกิดจากความโง่เขลา หลอกตัวเองโดยไม่ยอมรับทราบความเป็นจริง (วิปลาส หรือ Hallucination)
ญาณสองอย่างที่พระพุทธเจ้าได้ก่อนการตรัสรู้คือ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ(ระลึกชาติได้) และจุตูปปาตญาณ(รู้ว่าสัตว์ทั้งหลายตายแล้วไปเกิดที่ไหน) ตีความกันอย่างให้เห็นในปัจจุบันคือ รู้ว่าเพราะเหตุปัจจัยอะไรทำให้ตนต้องเป็นอย่างนี้ อีกทั้งทราบว่าหากทำเช่นนี้ผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นอย่างไรฯ เช่นรู้ว่าตนจบปริญญามาได้เพราะตั้งใจเรียนตั้งแต่เป็นเด็กและทราบว่าหากอยากเป็น ส.ส.ในภาคใต้ห้ามสังกัดพรรคเพื่อไทยเป็นอันขาดเป็นต้น ความจริงญาณทั้งสองนี้สามารถแปลตามตัวข้างต้นได้เลย เพราะผลที่เกิดจากสมาธิเป็นอานุภาพสูง (ดูตัวอย่างเช่น Nostradamus ที่ทำนายหลายเหตุการณ์ได้จริง) จึงไม่ใช่เรื่องเกินจริงที่จะกล่าวถึงพระพุทธเจ้าในทำนองนี้ แต่ให้ทราบว่าการรู้อดีตและอนาคตของพระพุทธเจ้าไม่เหมือนกับนักทำนายทั้งหลายตรงที่พระองค์ไม่เอามาทำนายใคร แต่ใช้เป็นฐานในการบรรลุธรรม นั่นคือเมื่อสามารถย้อยระลึกชาติได้หลายชาติก็เห็นชัดว่าตนเกิดมาแล้วหลายครั้ง สุขอย่างนั้น ทุกข์อย่างนี้ เป็นทั้งกษัตริย์ยันยาจก ซ้ำแล้วซ้ำอีก (เหมือนไก่ที่ถูกขังในเล้า ออกไปไหนไม่ได้) จึงเกิดความเบื่อหน่ายการเกิดอีกแม้จะร่ำรวยแค่ไหนก็ตาม เพราะเมื่อขึ้นชื่อว่าชาติ(เกิด) ก็ต้องประสบกับ ชรา พยาธิ มรณะ ทุกข์โทมนัสตามลำดับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ญาณของพระองค์จึงมีประโยชน์กว่าคนทั้งหลายเช่น Nostradamus เป็นต้นที่สามารถปลดปล่อยตนให้เป็นอิสระจากกิเลสหรือภพชาติได้ฯ ปีใหม่จึงสะท้อนความซ้ำซากให้เราเห็นลางๆได้ สมควรอย่างยิ่งที่เราทั้งหลายจะใช้โอกาสของปีใหม่นี้นึกถึงเป้าหมายชีวิตแล้วรีบเร่งกระทำกิจนั้นให้สำเร็จเสีย อย่าได้ปล่อยชีวิตให้ผ่านไปสักแต่ตื่นนอน ทำมาหากิน (ท่องอินเตอร์เน็ตหรือนินทาชาวบ้าน) และเข้าห้องนอนเหมือนอดีตอีกฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น