บทบาทของห้องสมุดในการต่อสู้กับสังคมยุคบริโภคนิยม
ที่มาของคำว่า สุตะ( การศึกษา)
ห้องสมุดเป็นแหล่งพัฒนาความรู้ของคนทุกสังคมในปัจจุบันแทนการโต้วาทีหรืออภิปรายตามทางแยกหรือตลาดนัดในอดีต(เช่นโสเกรตีส อริสโตเติลในตะวันตก และนักเล่านิทานเหตุเกิดมงคลสูตรในตะวันออกฯลฯ) นั่นคือคนสามารถเปลี่ยนวิธีการแสวงหาความรู้จากการไปรับฟังท่านเหล่านั้นปราศัยในที่สาธารณะมาเป็นการอ่านหนังสือแทนได้ ความจริงศัพท์ว่า “การศึกษา” ในพุทธศาสนาใช้คำว่า “สุต” หรือแปลตามตัวว่า “ฟัง” นั่นเอง เช่นคนที่มีการศึกษาน้อยก็จะบอกว่า มีสุตะน้อย หรือบุคคลผู้ไม่ได้สดับฯ(เช่ม มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ข้อ ๑๒, มัชฌิมปัณณาสก์ ข้อ ๑๑๕ เป็นต้น) อาจเป็นเพราะการฟังเป็นวิธีหาความรู้หลักในอดีตกาลนั่นเอง ศัพท์ว่า “สุตะ” จึงสื่อความถึงการศึกษาไปในตัว
การศึกษาทั้ง ๖ ทาง
ทั้งที่ความจริงการศึกษาสามารถทำได้หลายทาง ทั้งทาง ตา(สังเกตหรือที่เรียกว่า ทัศนศึกษา) ทางหู (รู้จักฟังผู้อื่น) ทางจมูก(เปรียบเทียบอาหารดีและบูดญ) ลิ้น(รับรู้รสชาติ) กาย(สัมผัสความเย็นร้อนอ่อนแข็งฯ) และใจ(นึกคิดจินตนาการฯ) ทุกอย่างล้วนเป็นการศึกษาทั้งสิ้น หากมนุษย์รู้จักสังเกตธรรมชาติรอบข้างอย่างถี่ถ้วนก็จะเป็นการศึกษาไปในตัว(Experience) จึงมีคำพูดที่รู้จักกันดีว่าการศึกษาในระบอบ(โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย)มีเวลาที่จำกัด ส่วนการศึกษาโดยใช้อายตนะทั้ง ๖ สังเกตธรรมชาติสามารถศึกษาได้ตลอดชีวิตฯ การพัฒนาคนด้วยการศึกษาควรส่งเสริมให้คนใช้อายตนะทั้ง ๖ นี้ในการหาความรู้ซึ่งจะไปได้ดีกว่าการส่งเสริมเรื่องอ่านอ่าน หรือฟังเท่านั้นฯ ความจริงมนุษย์ใช้อายตนะนี้ในการดำเนินชีวิตอยู่แล้ว แต่เป็นเพราะไม่มีความรู้ในการแยกแยะ ว่าจะใช้ร่างกาย(อันเป็นฐานที่ตั้งของอายตนะ)ไปในทางใด ซึ่งส่วนใหญ่มิได้ใช้ไปในทางแสวงหาความรู้ แต่เพราะตอบสนองความอยากของกิเลส เช่นหารูป/วัตถุสวยมาตอบสนองตา หาเสียงที่หวาน/ไพเราะมาตอบสนองหูฯลฯ ตัวอย่างที่ชัดเจนในยุคเทคโนโลยีเช่น คนส่วนใหญ่ใช้อินเตอร์เน็ตในการหาความสุข สร้าง Facebook เป็นต้นเพื่อให้ตนเป็นที่รู้จักของผู้อื่น หาเพื่อน/แฟนหรือกิ๊กคนใหม่เพื่อเปลี่ยนรสชาติให้ชีวิต นำเรื่องไร้สาระในสังคมหรือเพื่อนฝูงมาสนทนากันฯ โดยมีส่วนน้อยมากที่จะให้เป็นช่องทางถกประเด็นปัญหาสังคมเพื่อหาทางออก สร้างความรู้ให้แก่สาธารณะและสนใจค้นคว้าหาข้อมูลข่าวสารจากมุมอื่นๆของโลกอันจะสมกับคำว่าโลกไร้พรมแดน (ซึ่งความจริงคำนี้มีความหมายในทางบวก คือมนุษย์จะไม่ถูกปิดบังความรู้ต่างๆหากสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต แต่ปัจจุบันคำนี้สื่อไปในทางลบเสียมากกว่า นั่นคือไร้พรมแดนเพราะสามารถหาสื่อลามก สนทนาเฮฮากับเพื่อนฝูงและซื้อของใช้สมัยใหม่ที่ฟุ่มเฟือยตามรสนิยมได้ทุกที่)ฯ (ทัศนะของพุทธศาสนาจึงมีว่า มนุษย์จะเป็นทุกข์ก็เพราะอาศัยอายตนะ ขณะเดียวกันจะบรรลุนิพพานคือพ้นจากความทุกข์เหล่านั้นก็อยู่ที่ฝึกฝนอบรมอายตนะฯ เช่นในอนัตตลักขณสูตร และ อาทิตตปริยายสูตรเป็นต้น)ประเด็นที่กล่าวมาชี้ให้เห็นว่า การปล่อยให้มนุษย์มีเสรีภาพในการศึกษาหรือทำอะไรก็ตามผ่านโลกอินเตอร์เน็ตซึ่งไร้พรมแดนเป็นเรื่องที่ดี แต่ก่อนอื่นต้องสอนให้ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าที่แท้ของสิ่งเหล่านั้นและประโยชน์ของการศึกษาในแง่พัฒนาความรู้เพื่อประโยชน์สุขทั้งของตนเองและสังคมเสียก่อนฯ
ประสบการณ์ตรง vs การอ่านหนังสือ
ดังกล่าวแล้วว่า การอ่านก็เป็นวิธีแสวงหาความรู้ทางหนึ่ง(อายตนะคือ ตา)การสอนให้ทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนให้มีความสามารถในการอ่านจึงเป็นเรื่องสำคัญ ดังประโยคที่ว่า “เบื้องต้นต้องสอนให้เด็กเรียนรู้ที่จะอ่าน เมื่อเขาอ่านได้แล้วเขาก็จะอ่านเพื่อจะเรียนรู้” ปัจจัยแรกในการส่งเสริมเรื่องการอ่านของเด็กคือคนในครอบครัวควรให้ความสำคัญกับการอ่าน (ให้สังเกตว่าครอบครัวที่พ่อแม่ชอบอ่านหนังสือ ลูกจะติดนิสัยชอบอ่านหนังสือไปด้วย) จัดบ้านให้เป็นที่เหมาะสมแก่การอ่าน เช่นมีหนังสืออยู่ในหลายๆจุดของบ้าน หรืออ่านนิทานให้ลูกฟังก่อนนอน (ความจริงเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกกับพ่อแม่อย่างเดียว เราสามารถอ่านหนังสือให้กับผู้อื่นเช่นปู่ ย่า ตา ยาย หรือเปิดเสียงธรรมะให้ท่านฟังได้ ระยะแรกคนเหล่านั้นอาจรู้สึกไม่คุ้นเคยหรือแสดงอาการปฏิเสธ แต่เมื่อนานเข้าเมื่อท่านเริ่มมีความรู้หรือเข้าใจในสิ่งนั้นจะทำให้ท่านต้องการหรือกลับเป็นผู้เรียกร้องเสียเอง) คนที่อ่านหนังสืออยู่เป็นประจำจะทำให้มีความรู้ดี และเป็นที่รู้จักหรือยอมรับของเพื่อนฝูง มีประสบการณ์ในหลายอย่างแม้จะมิได้ไปประสบด้วยตนก็ตาม เช่น พระหลายรูปศึกษาพุทธประวัติอย่างละเอียดตลอดจนหนังสืออื่นๆเกี่ยวกับอินเดีย ทำให้ท่านมีความรู้เรื่องอินเดียมากกว่าคนที่ไม่ได้ศึกษาแต่ไปเที่ยวอินเดียมาเสียอีกฯ เรื่องนี้เหมือนจะสอนว่าประสบการณ์จริงเป็นเรื่องสำคัญ แต่เราไม่จำต้องเอาชีวิตไปคลุกคลีเพื่อให้ได้ประสบการณ์จริงนั้นเสมอ โดยสามารถศึกษาเรื่องเหล่านั้นได้จากหนังสือหรือการถ่ายทอดของผู้มีประสบการณ์ (หากยึดประสบการณ์จริงเป็นสิ่งสำคัญก็เสี่ยงในหลายเรื่อง เช่นยาเสพติด เราสามารถเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ได้จากหนังสือโดยไม่ต้องไปทดลองด้วยตนเองฯ) การกล่าวเช่นนี้มิใช่จะสรุปว่าหนังสือจะดีกว่าประสบการณ์ไปเสียทุกอย่าง แต่ให้ทราบว่าการศึกษาโดยรอบด้านจากหนังสือ(เสียก่อน)จะทำให้เราทราบประโยชน์และโทษได้ชัดโดยไม่ต้องเสียเวลาหรือเสี่ยงชีวิตในการทดลอง ส่วนเรื่องประสบการณ์จริง หากมีความต้องการก็สามารถไปแสวงหาอย่างถูกต้อง(ตามกาละเทศะ)ได้เช่น อ่านหนังสือวิปัสสนามา ก็สามารถใช้ความรู้นั้นเป็นแผนที่ในการลงมือปฏิบัติจริงต่อไปได้ฯ
การหาความสุขจากการอ่าน
ความสุขมีหลายประเภท อาจสรุปย่อเป็น ๒ คือ สุขทางกายและสุขทางใจ การมีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วยฯ สามารถทำงานหรือกิจกรรมต่างๆอย่างปกติสุขเรียกว่าสุขทางกาย ส่วนการมีจิตใจเบิกบาน ร่าเริง ยินดี ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่เครียดกังวลเรียกว่าสุขทางใจ หลายคนอาจสงสัยว่า พุทธศาสนาเน้นเรื่องปัญญา แล้วไฉนไม่เอาปัญญามาเกี่ยวกับการแบ่งประเภทของความสุขนี้ด้วย? คำตอบคือ ความสุขทั้งสองประเภทนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สุขทางใจ พุทธศาสนาถือว่ามีพื้นมาจากการมีปัญญาแล้วนั่นเอง กล่าวคือการรู้จักรักษาสุขภาพ ออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงยาเสพติดหรือสิ่งให้โทษทั้งหลาย ก็เป็นผลของการมีปัญญา ส่วนสุขภาพจิต พุทธศาสนามองว่าคนที่ร่ำรวยแต่ยังทุจริตฉ้อโกง เอาเปรียบผู้อื่น ใช้ชีวิตด้วยความประมาท ต่อให้ดูเหมือนมีความสุขก็จริง แต่ที่แท้เขาหาได้สุขจริงไม่ เป็นแต่การแสดงออกให้เห็นหรือสุขเพียงชั่วคราวเท่านั้น (ผู้ใดแสวงหาความสุขเพื่อตนแล้วเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายผู้ล้วนปรารถนาความสุข ด้วยอาชญา ผู้นั้นย่อมไม่ได้ความสุขในโลกหน้า(รวมถึงปัจจุบันด้วย) ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๓๑) แต่ผู้จะมีความสุขใจที่แท้จริง/ยั่งยืนต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง ทำประโยชน์เพื่อตนเองและส่วนรวม ซึ่งการจะเป็นผู้มีความรู้ถูกต้อง ส่วนหนึ่งสามารถสร้างได้จากการอ่านฯ ผู้ยังมีกิเลสหนาจะเลือกวิธีแสวงหาความสุขแบบวิ่งไล่ตามกิเลส เมื่ออยากได้อะไรก็วิ่งหาสิ่งนั้น(แม้เหนื่อยยากก็ยอม เช่นอยากได้บ้านราคาแพงก็ยอมทำงานผ่อนฯ) การหาความสุขประเภทนี้เรียกอีกอย่างว่า สุขที่ยังติดกับวัตถุหรือ อามิสสุข กล่าวคือคนประเภทนี้จะมีความสุขได้ก็ต่อเมื่อได้วัตถุที่ตนปรารถนามาครอบครองเท่านั้น ส่วนผู้มีปัญญาจะพยายามปรับยกระดับความสุขของตนให้สูงขึ้นไป คือหาสุขจากการใฝ่หาความรู้ เพื่อพัฒนาตนและผู้อื่น คนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีเงินมากก็สามารถมีความสุขได้ หากพัฒนาสุขขั้นนี้ไปเต็มที่ก็จะกลายเป็นผู้มีปัญญาพรั่งพร้อม เข้าใจความจริงของธรรมชาติทุกอย่างที่ประสบโดยไม่ยึดติด(เป็นอริยบุคคลหรือบรรลุธรรม) ความสุขประเภทหลังนี้จึงเป็นความสุขที่ไม่ขึ้นกับวัตถุหรือที่เรียกว่า สุขไม่ต้องพึ่งวัตถุ(นิรามิสสุข) การหาความสุขจากการอ่านหนังสือเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถทดแทนการวิ่งหาความสุขจากโลกภายนอก การเที่ยวแตร่ การตามล่าวัตถุสมัยใหม่ แฟชั่นฯลฯ และยังเป็นฐานให้คนพัฒนาความรู้จนสามารถยกตนให้พ้นโลกของวัตถุนิยมได้ในที่สุดฯ
ปัญหาห้องสมุดสาธารณะที่พบเห็นกันทั่วไป
ปัจจุบันมีห้องสมุดเกิดขึ้นบ้าง แม้จะไม่มากแต่ก็พอจะใช้เป็นที่หาความรู้ได้ เช่นห้องสมุดประชาชนประจำจังหวัด ห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติ หรือห้องสมุดตามโรงเรียน มหาวิทยาลัยเป็นต้น สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือห้องสมุดเหล่านั้นมีปัญญาทั่วไปซึ่งคล้ายกันดังนี้
๑. ร้อนเกินไป ห้องสมุดหลายแห่งตั้งอยู่ในที่ที่ไม่เหมาะสมแก่การอ่านจริงๆ เช่นห้องสมุดประชาชนจังหวัดตรัง ซึ่งอยู่ติดถนนใหญ่ มีเสียงรถและแตรดังอย่างต่อเนื่อง กอปรกับการอยู่ในตัวเมืองซึ่งมีความเจริญมากจนไม่มีต้นไม้ ทำให้อากาศภายในห้องสมุดค่อนข้างร้อน (แม้จะมีแอร์แต่ก็ไม่เปิด อาจเป็นไปได้ว่าเก่าหรือใช้การไม่ได้แล้ว) ผู้เขียน(หำน้อย)สังเกตว่า แม้ห้องสมุดจะไม่สัปปายะเท่าที่ควร แต่หลายคนก็ยังให้ความสนใจ มุมหนังสือเด็กก็ยังมีผู้ปกครองพาลูกหลายไปอย่างไม่ขาด เรื่องนี้อาจสะท้อนได้ว่าคนที่รักห้องสมุดยังมีมาก แต่ขาดการเอาใจใส่จากรัฐหรือผู้มีส่วนรับผิดชอบโดยตรงที่จะจัดทำปรับปรุงห้องสมุดให้เป็นที่น่ารื่นรมณ์ ให้พิจารณาเถิดว่า เมื่อเข้าห้างสรรพสินค้าก็พบกับอากาศที่เย็นสบายส่วนการเข้าห้องสมุดต้องทนกับความร้อนอบอ้าว จะผิดไหมที่คนส่วนใหญ่เลือกเข้าห้างเป็นสรณะฯ ดังนั้นการจัดสถานที่รอบข้างของห้องสมุดให้ร่มรื่น มีสวนต้นไม้ฯ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจได้จริง ห้องสมุดก็จะเป็นทางเลือกหนึ่งในการพักผ่อน(แบบหาความรู้)ของคนส่วนใหญ่ได้ฯ
๒. หนังสือที่น้อย ซ้ำซากและเป็นหนังสือที่ไม่มีประโยชน์ แม้ห้องสมุดจะมีหนังสือมากก็จริงแต่หนังสือซ้ำกันมาก เช่น มีหนังสือเล่มเดียวกันถึง ๑๐ เล่ม เป็นข้อดีที่ว่าการมีหนังสือปริมาณมากจะสะดวกแก่การอ่านหรือยืมออกนอกห้องสมุดไป แต่ส่วนหนึ่งก็ชี้ให้เห็นว่าหนังสือไม่มีความหลากหลาย ปัญหานี้หำน้อยไม่ทราบชัดว่าเกิดจากการได้รับงบประมาณหรือไม่ หากมีเงินในการซื้อหนังสือน้อย หนังสือส่วนใหญ่ก็ต้องรอรับบริจาค หนังสือส่วนหนึ่งจึงเป็นเพียงหนังสือเรียน บ้างก็เป็นสถานที่ศึกษา ก.ศ.น ซึ่งมีเฉพาะหนังสือเรียนเป็นหลักจริงๆฯ(ตัวอย่างเช่น ห้องสมุดประชาชน ศาลายา) อีกเรื่องคือหนังสือไม่ได้รับการแยกว่าถูกต้องมากน้อยขนาดไหน เช่นหนังสือทางพุทธศาสนา ซึ่งจำนวนมากเป็นมิจฉาทิฏฐิ(เขียนในทำนองจินตนิยาย อิทธิปาฏิหาริย์ ความศักดิ์สิทธิ์กระทั่งเรื่องผี) ขาดการอ้างอิงจากพระไรปิฎก หนังสือจึงเป็นตัวทำลายสติปัญญาและปลูกฝังความเชื่องมงายให้แก่ผู้คนซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้จะเห็นว่า คนที่อ่านหนังสือมากจะมีโอกาสเพี้ยนกว่าคนที่ไม่ยอมศึกษาเรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ผู้อ่านมีเจตนาดีในการศึกษา แต่เป็นเพราะข้อมูลไม่ถูกต้องจึงเกิดผลเสียไปฯ การแก้ปัญหาข้อนี้สังเกตจากมหาวิทยาลัยที่มีหนังสือใหม่และดีอยู่ตลอด นั่นคือในมหาวิทยาลัยซึ่งมีหลายคณะจะให้ผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆช่วยเขียนรายชื่อหนังสือใหม่ เช่นเดือนละ ๕ เล่ม(ต่อสาขาวิชา) แม้ดูว่าจะมีหนังสือน้อย แต่ก็มีคุณค่ากว่าหนังสือที่มาก ซ้ำและเป็นหนังสือที่บั่นทอนสติปัญญา ห้องสมุดสาธารณะทั่วไปจึงอาจต้องขอคำแนะนำจากมหาวิทยาลัยเป็นต้นเพื่อทราบรายชื่อหนังสือดีทั้งหลายและจัดซื้อตามกำลังความสามารถของตนฯ
๓. กฎข้อบังคับที่คนรับไม่ได้ เรื่องนี้ดูเหมือนไม่น่าจะมี แต่ความจริงก็มีในหลายที่ เช่น
ก. ห้ามไม่ให้เอาสัมภาระเข้าไปด้านใน (หากเป็นนักเรียนก็ห้ามวางกระเป๋าไว้ด้านนอก)ซึ่งน่าจะมาจากเหตุที่ว่ามีคนแอบลักลอบเอาหนังสือออกมา อันนี้ก็น่าเห็นใจ แต่การมีกฎเช่นนี้ต้องมีการเก็บรักษาหรือรับฝากของมารองรับ ที่หำน้อยพบมาหลายที่ไม่อนุญาตให้เอาเข้าไปและก็ไม่มีการรับฝากหรือตู้บล็อกกุญแจเป็นต้นบริการ ผู้คนจึงต้องวางของไว้ด้านนอกซึ่งเสี่ยงมากที่จะถูกขโมยไปฯ
ข. ห้ามไม่ให้เอาน้ำดื่มหรืออาหารเป็นต้นเข้าไป อาจเป็นเพราะเกรงจะส่งผลเสียต่อหนังสือหรือทำให้ห้องสมุดเกลื่อนไปด้วยขยะ การมีกฎเช่นนี้ก็ควรมีอย่างอื่นมารองรับอีกเช่น มีน้ำดื่มสะอาดไว้บริการ(ไม่ใช่แก้วใบเดียว ใช้ทั้งวัน) บางท่านที่บ้านอยู่ไกลเช่น ผู้ปกครองมาส่งไว้ตอนเช้าและรับกลับตอนเย็น อาจต้องการรับประทานขนมหรืออาหารกลางวัน เมื่อไม่อนุญาตก็ควรจัดบริเวณห้องสมุดส่วนหนึ่งซึ่งอาจเป็นด้านในหรือนอกก็ได้ให้เป็นที่รัปประทานอาหารฯ หรือหากทำไม่ได้ ที่ไม่ไกลจากห้องสมุดควรมีสิ่งเหล่านั้นไว้บริการ ให้สังเกตความต่างระหว่างการไปห้างสรรพสินค้ากับการเข้าห้องสมุดในเรื่องนี้ก็ได้ ห้างสรรพสินค้ามีทุกอย่างไว้บริการ ส่วนห้องสมุดห้ามแม้กระทั่งน้ำดื่ม (แน่นอนว่าห้องสมุดไม่ใช่ห้างฯ แต่การบริการพื้นฐานซึ่งเกี่ยวกับปัจจัย ๔ การดำรงชีพต้องพร้อม) จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเช่นกันที่ห้างฯจะเป็นที่น่าสนใจกว่า(แม้แก่ปัญญาชน) แทนที่จะเลือกให้ลูกต้องมาลำบากอยู่ภายในห้องสมุดฯ วิธีแก้ปัญหาเรื่องนี้คือการจัดสรรบางพื้นที่ในห้องสมุดให้เป็นที่ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหาร อาจรวมถึงการนอนพักผ่อน นั่นคือแม้เด็กจะเข้ามานอน แต่อย่างน้อยก็ยังปลอดภัยกว่าการปล่อยให้เขาไปหาความสุขข้างนอก ซึ่งหากการนอนนั้นไม่เป็นการรบกวนผู้อื่นก็ควรอนุญาตเช่น ไม่มีเสียงกรนดังเกินไป หรือคุยโทรศัพท์/เล่นเกมส์(ด้วยคอมพิวเตอร์ที่เตรียมมา) ฟังเพลงเสียงดังฯ
ค. ห้ามนำแบตเตอรี่ทุกชนิดมาเสียบชาร์ต เรื่องนี้ก็ต้องเห็นด้วย มิเช่นนั้นคนก็จะแอบเอาเครื่องใช้ไฟฟ้ามาเสียบแทนการสิ้นเปลืองค่าไฟฟ้าที่บ้านตนเอง แต่ก็ควรยกเว้นบางอย่างเช่น โน๊ตบุค เพราะนักศึกษาบางคนต้องการทำงานโดยใช้เวลาหลายชั่วโมง หากเกรงว่าจะเป็นการเพิ่มค่าไฟให้แก่ห้องสมุดก็สามารถตั้งมาตรการอื่นรองรับได้เช่น ผู้เสียบชาร์ตแบตเตอรี่โน๊ตบุคต้องจ่ายชั่วโมงละ ๕ บาทเป็นต้น(หรือตามความเหมาะสม) เพื่อให้ห้องสมุดรองรับคนที่ต้องการศึกษาหาความรู้จริงๆ นั่นคือต้องยอมรับว่าการศึกษาไม่ใช่ต้องการเพียงหนังสือ แต่ยังเป็นความสะดวกสบายด้านอื่นๆที่จะทำให้ชีวิตดำเนินไปอย่างง่ายดายด้วย
การแก้ปัญหาในปัจจุบัน สิ่งที่กล่าวมาส่วนใหญ่อาจเหมือนต้องการโยนให้เป็นหน้าที่ของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ห้องสมุด(ซึ่งต้องอาศัยการมีใจรักในการทำงาน หวังประโยชน์สุขเพื่อประชาชนจริง ยอมเสียสละเวลาหรือกระทั่งเงินทองบางส่วนช่วยจัดสรรให้ห้องสมุดเหมาะสมแก่การแสวงหาความรู้และเป็นที่พึ่งแก่คน(ผู้ต้องการความรู้)ได้จริง) ซึ่งความหวังเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นการจะนำห้องสมุดไปเป็นเครื่องมือต่อสู้กับห้างสรรพสินค้าในยุคบริโภคนิยมหรือเหนี่ยวรั้งดึงดูดความสนใจของเด็กให้อยู่กับการหาความรู้มากกว่าแฟชั่นสมัยใหม่ก็ยากขึ้น
พุทธศาสนาเชื่อเรื่องการจัดสรรธรรมชาติในการเปลี่ยนคน(สัปปายะ)ว่าคนจะเป็นอย่างไร ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมเขา นั่นคือหากสังคมมีห้างสรรสินค้ามากกว่าห้องสมุดอันเป็นแหล่งเรียนรู้(โดยยังไม่ต้องกล่าวถึงความสะดวกสบายที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง)ก็เป็นการยากที่ทำให้เด็กไม่หลงไปตามกระแสสังคม หลายคนอาจแย้งว่าอยู่ที่ตัวเด็กเองต่างหากที่จะปลูกฝังเขา นั่นก็เป็นเรื่องจริง แต่จะมีกี่ครอบครัวที่พาลูกไปห้องสมุดหากเทียบกับการพาเขาไปห้างฯ หำน้อยไม่ได้บอกว่าต้องทำห้องสมุดให้เป็นห้างฯ แต่ต้องทำให้สะดวกสบายระดับหนึ่งซึ่งเพียงพอที่จะทำให้เด็กอยู่ในห้องสมุดได้หลายชั่วโมงฯ เมื่อเราไม่รอความหวังจากรัฐหรือผู้มีอำนาจ สิ่งที่ทุกคนสามารถช่วยกันทำได้ตอนนี้คือ
๑. หากมีหนังสือดีมีสาระ แทนที่จะเก็บไว้ที่บ้าน ควรพากันบริจาคให้ห้องสมุดใกล้บ้านฯ
๒. สามารถเลือกบริจาคอย่างอื่นแก่ห้องสมุดได้ เช่น โต๊ะอ่านหนังสือ พัดลม ชั้นวางของหรือกระทั่งชุดโซฟาร์สำหรับพักผ่อนฯลฯ
๓. ให้คำแนะนำ ข้อเสนอแนะหรือสนทนากับเจ้าหน้าที่เพื่อขออนุญาตนำต้นไม้ไปปลูก(จัดสวนด้วยไม้ดอกไม้ประดับเพื่อเป็นที่พักผ่อน)หรือตกแต่งสถานที่ให้ร่มรื่นสะดวกสบายดังกล่าวแล้ว
๔. หากเห็นว่าทางการฯไม่ให้ความร่วมมือ ผู้มีฐานะดีควรจัดการเรื่องนี้เอง เช่นเปิดบ้านให้เป็นห้องสมุดหรือสร้างห้องสมุดเล็กๆขึ้นบริการฟรีแก่ชุมชนของตน โดยจัดสถานที่ให้สะดวกสบาย ผู้มีความรู้จบการศึกษาสูงทั้งหลายซึ่งครอบครองหนังสทอมากมาย เช่นหนังสือกฎหมาย รัฐศาสตร์ การศึกษา ศาสนา วิทยาศาสตร์ฯลฯสามารถเปิดห้องสมุดเล็กๆแก่ชุมชนหรือเด็กๆบริเวณนั้นได้ ความจริงแม้แต่วัดหรือศาสนสถานอื่นๆซึ่งเป็นศูนย์รวมของประชาชนก็ควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ นั่นคือแทนที่จะสร้างโบสถ์ราคา ๑๐๐ ล้าน ก็ควรแบ่งเงินสักเล็กน้อยมาสร้างห้องสมุด ซึ่งจะเกิดประโยชน์มากกว่าและเป็นการให้ธรรมทานคือสติปัญญาได้จริงฯ
กล่าวคือทุกคนสามารถร่วมกันสร้างนิสัยรักการอ่านให้แก่ตนเองและเยาวชนได้ด้วยการจัดสรรห้องสมุดที่ดี มีหนังสือพร้อม(อาจรวมถึงบริการด้านอื่นเช่น วีดีทัศน์ สารคดี หรืออินเตอร์เน็ตในการสืบค้นข้อมูล) โดยใช้ห้องสมุดเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับพักผ่อนหย่อนใจแทนการไปห้างสรรพสินค้า ทะเลหรือร้านอาหารชื่อดังฯลฯ โดยส่งเสริมกันแสวงหาความรู้ให้มากกว่าการพาครอบครัวไปสนองกระแสสังคมซึ่งจะก่อให้เกิดความเดือดร้อน วุ่นวาย ไม่รู้จักพอและตกเป็นเหยื่อประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย เพราะการหาความรู้เท่านั้นจะทำให้ชีวิตคนมีค่าได้จริง หาใช่การครอบครองวัตถุราคาแพงหรือมัวแต่วิ่งตามกระแสสังคมไม่ฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น