วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ภัทเทกรัตตสูตร ว่าด้วยผู้ที่มีชีวิตอยู่เพียงคืนเดียวก็ประเสริฐ

ภัทเทกรัตตสูตร ว่าด้วยผู้ที่มีชีวิตอยู่เพียงคืนเดียวก็ประเสริฐ
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ข้อ ๕๒๖ (เจษฎา กันตเมธี)
บทนำ
พระสูตรนี้เป็นพระดำรัสของพระพุทธเจ้าซึ่งตรัสสอนภิกษุที่วัดเชตวันฯ ความจริงพระสูตรในนิกาย(ที่มา)เดียวกันนี้ ถัดไปอีก ๓ พระสูตร(รวมทั้งสิ้นเป็น ๔ พระสูตร)ได้นำพระสูตรนี้ไปกล่าวต่อ (และบ้างก็มีอรรถาธิบายใหม่ที่ชัดเจน)โดยพระอานนท์ พระมหากัจจายนะและ เทวดาที่กล่าวกับพระโลมสกังคิยะฯ เป็นการเน้นเรื่องการมีชีวิตอยู่ที่คุ้มค่าหรือพระพุทธเจ้า(มุนีผู้สงบ)ทรงสรรเสริญ ด้วยไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์ซึ่งรังแต่จะก่อให้เกิดทุกข์และที่ยิ่งกว่านั้นผู้ไม่รู้จักคุณค่าของเวลา(ใช้ชีวิตไปวันๆ)แม้จะทำงานหนัก ยุ่งกับกิจกรรมบางอย่างทั้งวัน แต่ก็เป็นสิ่งไร้ค่าที่ไม่สามารถพัฒนา/ยกระดับจิตใจตนให้สูงขึ้นเหนือกิเลสได้ฯ
หลักคำสอนทางพุทธศาสนาใช่จะมีจุดประสงค์แค่ทางโลก(โลกิยะ) ที่สอนให้คนประกอบอาชีพและสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างเท่านั้น(ผู้มีตาข้างเดียว)ฯ หากแต่ยังเน้นให้เข้าใจหลักศีลธรรม สั่งสมความดี(ผู้มีตาสองข้าง)และถึงที่สุดยังสอนให้คนพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงโดยการเข้าใจอริยสัจอันเป็นสัจธรรมของโลกที่กล่าวถึงสภาพของปัญหาตลอดจนการพ้นจากปัญหาเหล่านั้น(ผู้มีตาสมบูรณ์) โดยแนวทางการพ้นจากปัญหา(ทุกข์) มิได้จากการอ้อนวอนหรือฝากตน(ความไว้วางใจ/ศรัทธา)ไว้กับพระผู้เป็นเจ้าฯ หากแต่ต้องเร่งความเพียร ใช้ศักยภาพตนเอง พัฒนาปัญญา โดยใช้เวลาทุกขณะอย่างมีประโยชน์ หมายถึงการรู้เท่าทันความจริงที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ ไม่ปล่อยให้กิเลสเข้าครอบงำจิตใจแล้วชักพาตนให้ตกอยู่ให้ห้วงของอดีตและอนาคตซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ มีแต่จะทำให้วิตกกังวลหรือจิตนาการจนเสียกิจการงานที่พึงกระทำในปัจจุบันไปเสียฯ อย่างไรก็ตาม ดังกล่าวแล้วว่าพระสูตร(หรือหลักธรรมในพุทธศาสนา)นี้ใช่จะสอนให้ดำเนินชีวิตทางโลกแบบฆราวาสที่ทำมาหากินไปวันๆเท่านั้น แต่หลักปัจจุบันขณะ(หรือที่เรียกปัจจุบันธรรม)นี้ชี้ถึงการปฏิบัติวิปัสสนาอันเป็นเหตุ(ทางตรง)สู่ความสิ้นทุกข์หรือปัญหาได้ฯ

ใจความหลักของพระสูตร
(๕๒๗)  พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว  ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง  สิ่งใดล่วงไปแล้วสิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว  และสิ่งที่ยังไม่มาถึงก็เป็นอันยังไม่ถึง  ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบันไม่ง่อนแง่น  ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆได้  บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ  ให้ปรุโปร่งเถิด  พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ  ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง  เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้นย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้  มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืนนั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ 
ปัญหาของคำว่า ราตรีเดียว
เหตุที่ต้องนำคำนี้มาอธิบายเสียก่อนเพราะหากอ่านพระสูตรจนจบแล้ว หลายคนสามารถตั้งข้อสงสัยถึงความขัดแย้งกันได้ว่า ที่หนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้มีชีวิตอยู่เพียงราตรีเดียวเจริญ(มีคุณค่า)” โดยใช้ศัพท์บาลีว่า ภทฺเทกรตฺโต หรือแม้แต่ชื่อของพระสูตรเองกล่าวคือหมายเอาช่วงเวลา “กลางคืน” ส่วนอีกที่กลับตรัสว่า “ผู้มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันกลางคืนฯ” ตรงนี้กลับบอกเป็นนัยว่าพระองค์ชื่นชมคนที่ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าทั้งวันและคืน(อโหรตฺต) มิใช่กลางคืนอย่างเดียวฯ
 เรื่องนี้อาจไม่สำคัญมาก เพราะสามารถกล่าวได้ว่าไม่ควรไปจับผิดพระพุทธเจ้า เพียงแต่ให้ศึกษาจุดหมายหรือสาระสำคัญที่พระองค์สอน ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติก็เพียงพอแล้วฯ ผู้เขียนมิได้ประสงค์จะจับผิดเช่นนั้น หากแต่เห็นว่าการอธิบายเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์คือให้ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์หรือสังคมแก่ผู้สนใจได้โดยศึกษาจากบริบทของสังคมสมัยพุทธกาล(ความจริงก็ใช่จะนำมากล่าวเป็นครั้งแรก เพราะนักปราชญ์ต่างชาติแสดงความเห็นไว้มากมายเพียงพอแล้ว) ยิ่งกว่านั้น การอธิบายให้ชัดเสียก่อนจะช่วยเป็นการคลายความสังสัยของผู้ศึกษาอย่างรอบคอบ ครั้นอ่านมาพบบทที่ดูขัดแย้งกันจะทำให้หมดแรงบันดาลใจในการอ่านไปเสียได้ฯ
คำว่า ราตรี ตามศัพท์หมายถึงช่วงเวลากลางคืน รากคำเป็นศัพท์เดียวกับ ราคะหรือความกำหนัด(ยินดีในกาม)นั่นเอง มีบทวิเคราะห์ว่า เวลาที่ผู้มีราคะเกิดความกำหนัดชื่อว่า ราตรี(รชฺชญฺติ เอตฺถ รตฺติ[1]) หมายถึงช่วงเวลาที่คนมักทำกิจกรรมทางเพศฯ หรือ จะแปลอีกอย่างได้ว่า เวลาที่ทรัพย์หรือเสียง(บทสนทนา) สูญหายไป ชื่อว่าราตรี(รา ธนํ ติยติ ภิชฺชติ เอตฺถาติ รตฺติ, รา สทฺโท ติยติ ฉิชฺชตีติ รตฺติ[2]) หมายความว่าช่วงเวลากลางคืนขโมยจะออกทำงานและเสียงสนทนาของผู้คนก็ขาดหายไปเพราะต้องพักผ่อน(พึงเข้าใจว่าบทวิเคราะห์นี้หมายเอาความเป็นจริงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ในสังคม ใช่ว่าเวลานอกจากนี้คือกลางวัน จะทำกิจเหล่านั้นมิได้เลยฯ) อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์เหล่านี้อาจไม่ตายตัว คือขึ้นอยู่กับผู้รู้บาลีจะแยกแยะออกไป ดังนั้นการนำเสนอจึงเป็นการให้ความรู้เท่านั้น ใช่จะยืนยันว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดและความหมายอื่นที่มิได้กล่าวถึงจะผิดฯ จะวิเคราะห์ศัพท์อย่างไรก็ตาม แต่ที่ค้านไม่ได้ คำว่าราตรีจะสื่อถึงช่วงเวลากลางคืนเป็นหลัก และยังรักษาความหมายเดิมอยู่แม้นำมาใช้ในภาษาไทยฯ
ความจริงคำนี้ หลายแห่งเป็นคำพูดรวมๆ คือเหมาเอากลางวันเข้าไปด้วย เช่นการเข้าปริวาส(เป็นบทลงโทษของภิกษุที่ทำอาบัติสังฆาทิเสส) พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้ประพฤติมานัตเป็นเวลา ๖ ราตรี(ฉารตฺตํ มานตฺตํ)[3] แม้การจัดปริวาสในปัจจุบันส่วนใหญ่ก็มักตีความตามตัว(ถือเอาพยัญชนะ)ว่า พระพุทธเจ้าให้ประพฤติวัตร(อยู่ ลดมานะทิฎฐิตนเองและปฏิบัติธรรมฯลฯ) เพียงแค่ช่วงเวลากลางคืนเท่านั้น(เพราะทรงใช้คำว่า ราตรี) ดังนั้นกลางวันจึงพากันบอกคืนวัตรปฏิบัติคือหยุดปฏิบัติชั่วคราว แล้วค่อยไปสมาทานใหม่เฉพาะช่วงกลางคืน[4]ฯ ผู้เขียนกลับเห็นว่า การใช้ศัพท์ว่า ราตรี ในที่นี้ พระองค์น่าจะหมายเอาช่วงเวลากลางวันด้วยคือทั้ง ๒๔ ชั่วโมง มิใช่ให้อยู่ประพฤติวัตรแค่ครึ่งเดียว(เพียง ๑๒ ชั่วโมง) กล่าวคือ การใช้ศัพท์นี้เป็นสำนวนนิยมที่สื่อถึงช่วงเวลาหนึ่งวันหนึ่งคืนนั่นเอง หากเทียบกับภาษาไทย จะนิยมใช้คำว่า “วัน” (ความจริงบาลีก็มีใช้เช่นกัน) เช่น ไปพักร้อนต่างจังหวัด ๑๐ วันหรือเข้าโครงการปฏิบัติธรรม ๗ วัน(ทั้งที่กล่าวหมายเอาช่วงเวลากลางคืนด้วย เพราะเวลาเย็นก็ยังค้างที่นั่น มิได้กลับมาบ้านแต่อย่างใด) แต่ก็เป็นอันทราบกันว่าจะใช้เวลาทั้งหมด(ทั้งกลางวันและกลางคืน) โดยนับเวลาการขึ้นลงของพระอาทิตย์เป็นหลัก นักปราชญ์จึงสันนิษฐานว่า การนิยมใช้คำว่า วัน(แทนเวลาทั้ง ๒๔ ชั่วโมง) ได้รับอิทธิพลจากการนับตามสุริยคติ ส่วนการนิยมใช้คำว่า คืนหรือราตรี ได้รับอิทธิพลจาก จันทรคติฯ
 อีกประการหนึ่งอาจสันนิษฐานได้ว่า เป็นการกล่าวถึงเวลาส่วนใหญ่ของการทำกิจนั้นๆ เช่นโครงการปฏิบัติธรรมในปัจจุบัน ระบุว่าใช้เวลา ๗ วัน เพราะเวลาปฏิบัติส่วนใหญ่อาจเป็นช่วงกลางวัน หรือไปประชุมต่างจังหวัด ๕ วัน ช่วงเวลาการประชุมก็มักอยู่ตอนกลางวันฯ ส่วนสมัยพุทธกาลเรื่องการปฏิบัติธรรม จะเป็นทั้งกลางวันและกลางคืน ช่วงกลางวันอาจเป็นเรื่องปกติจนไม่ต้องกล่าวถึง แต่ผู้มีความเพียรมักใช้ช่วงเวลากลางคืน (ซึ่งเงียบสงัดและไม่มีกิจอื่นต้องรับผิดชอบ) ไปกับการปฏิบัติธรรมด้วย สังเกตจากธุดงค์ (ข้อปฏิบัติที่เคร่งครัดสำหรับขัดเกลากิเลส) ข้อ ๑๓ ว่าด้วยเรื่อง ถืออิริยาบท ๓ เว้นการนอน(เนสัชชิกังคะ เน้นการนั่ง[5]) เพื่อใช้เวลาไปปฏิบัติธรรม มีการเดินจงกรมและนั่งสมาธิเป็นต้นสลับกัน เรื่องการปฏิบัติในตอนกลางคืนจึงเป็นเรื่องดึงดูดใจและกล่าวถึงกันมาก จึงมีความเป็นไปได้ที่คนสมัยนั้น(รวมทั้งพระพุทธเจ้า) จะใช้ศัพท์ว่า ราตรีเพื่อเน้นหนักในเรื่องการปฏิบัติฯ นี่จึงเป็นที่มาของการใช้คำว่า มีราตรีเดียวเจริญ หรือมีชีวิตอยู่เพียงคืนเดียวก็น่ายกย่อง(ทั้งที่ความเป็นจริงจะใช้คำว่า วันเดียวก็ได้ เนื่องจากการปฏิบัติสามารถทำได้ทั้งวันและคืน ซึ่งก็ควรทำทั้งกลางวันและกลางคืนอย่างติดต่ออยู่แล้วฯ) เพราะหากจะมุ่งเอากลางคืนอย่างเดียว แล้วบอกว่า มุนีผู้สงบ(พระพุทธเจ้า)ทรงยกย่องผู้มีความเพียรเช่นนั้น ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันกลางคืนว่า “ผู้มีราตรีเดียวเจริญ” ก็เท่ากับว่า ต่อให้เขาทำความดี เร่งความเพียร ปฏิบัติธรรมตลอดทั้งวันและคืน(๒๔ ชั่วโมง) พระพุทธเจ้าก็ทรงยกย่องเขาเฉพาะช่วงกลางคืน(๑๒ ชั่วโมง)เท่านั้นหรือ?
สรุปคือพระองค์ทรงยกย่องคนที่ปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืนว่าชีวิตมีคุณค่า เพียงแต่เวลาสรุป(ซึ่งนำมาตั้งเป็นชื่อพระสูตรด้วย) ทรงใช้คำว่า “มีราตรีเดียวเจริญ” แปลตามพยัญชนะหมายเอากลางคืนอย่างเดียว แต่ความจริงเป็นสำนวนนิยม(โดยอรรถ)ที่ยังส่อถึงการปฏิบัติอยู่ตลอดไม่ขาดสาย นับเวลากลางวันรวมเข้าด้วยนั่นเองฯ
ไม่สนใจอดีตและอนาคต ชีวิตจะพัฒนาได้หรือ?
      หลายคนอ่านพระสูตรนี้แล้วเข้าใจผิด โดยตีความไปเองว่าพระพุทธเจ้าบอกให้ลืมอดีตและไม่ต้องวางแผนอนาคต ไม่ต้องดิ้นรนทำอะไรให้เหนื่อย เพราะชีวิตมีเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นธรรมดา อย่างไรเสีย(ต่อให้รวยขนาดไหน)ก็ต้องตายอยู่ดี??? ดังนั้นจึงเอาแต่วางเฉย ทอดทิ้งภาระที่ควรทำไปเสีย นี่เป็นความเข้าใจผิดข้อหนึ่ง ส่วนเรื่องอดีต ก็ตีความไปว่า ไม่ต้องไปสนใจอดีต อะไรที่เคยทำไปแล้วก็ปล่อยวางเสีย ผลที่เกิดจะเป็นอย่างไรหรือใครบ้างได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำนั้นก็ไม่ต้องใส่ใจเพราะเป็นอดีตไปแล้ว??? ความจริงการเข้าใจผิดเหล่านี้เป็นเหตุให้คนหยุดนิ่ง ลืมการพัฒนาตนเองซึ่งขัดกับหลักการของพุทธศาสนาที่เป็น กิริยวาที[6] อาจเรียกบุคคล/ลัทธิประเภทนี้ว่า อุจเฉททิฏฐิ[7] ทุกอย่างขาดสูญ เวรกรรมไม่มี ไม่ต้องสนใจอะไร ใช้ชีวิตให้รอดในปัจจุบันก็พอ ตายไปสุคติหรือทุคติก็ไม่มีฯ
      อีกแง่ผู้ที่ปฏิเสธพระสูตรนี้ก็จะมองว่า พระพุทธเจ้าทรงมองข้ามเรื่องอดีตไปเสีย ทั้งที่ความเป็นจริงมนุษย์สามารถเรียนรู้ประสบการณ์จากอดีตได้ เช่นเอาเรื่องราวทั้งที่ดีและไม่ดีในอดีตมาเตือนใจตนเอง เพื่อจะใช้เป็นแนวทางหรือบรรทัดฐานในการเลือกทำสิ่งใหม่ในอนาคต หากคนไม่รู้จักศึกษาจากอดีตหรือประวัติศาสตร์เลย ก็เสมือนคนความจำเสื่อม ทำผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่าฯลฯ ทำนองเดียวกับอนาคต หากไม่สนใจวางแผนชีวิตว่าจะทำอะไรในอนาคต ชีวิตก็จะไร้ทิศทาง อยู่ไปวันวันดังกล่าวแล้ว ไม่สามารถวางแผนสร้างประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ให้แก่ตนเองและสังคมได้ เช่นหากเด็กไม่รู้จักวางแผนชีวิตตนเอง ก็จะไม่รู้ว่าตนอยากเป็น/ทำอะไร เข้าเรียนมัธยมปลายก็เลือกสายไม่ถูก เรียนระดับอุดมก็ไม่มีวิธีเลือกมหาวิทยาลัยหรือคณะ(เพราะไร้จุดมุ่งหมายในการพัฒนาตนในด้านนั้นๆ) กลายเป็นว่าชีวิตเขาจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็นไปฯ แน่นอนว่าตัวอย่างและแนวคิดทั้งสอง(เรื่องการปฏิเสธอดีตและอนาคต)นี้ ไม่ถูกต้องตามหลักการและความมุ่งหมายของพระพุทธเจ้าในการตรัสพระสูตรนี้ฯ
      การบอกให้ไม่พะวง/นึกถึงอดีตและไม่มัวจินตนาการอนาคตนั้น ใช่จะเป็นการปฏิเสธสิ่งทั้งสองนั้นเสียเลย ตัวอย่างของพระพุทธเจ้าเองก็ทรงสนพระทัยเรื่องเหล่านี้ เช่นชาดก(เรื่องราวในอดีตชาติ)ที่พระองค์ทรงนำมาเล่า ก็เป็นเรื่องของอดีตทั้งสิ้น หรือญาณประเภทหนึ่งที่พระองค์มีคือ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เป็นการระลึกถึงภพชาติในอดีตทั้งของตนและผู้อื่นได้ฯ แต่ต้องเข้าใจว่าจุดหมายของการใช้ประโยชน์จากญาณหรือนำนิทานเหล่านี้มาเล่าเพื่อเป็นตัวสอนธรรมะให้คนเห็นถึงวิธีการพัฒนาตนเอง (แม้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน แต่พระองค์ก็ยังทำประโยชน์เพื่อสังคมหรือฝูงสัตว์เหล่านั้นได้ฯลฯ) ประโยชน์โดยตรงสำหรับพระองค์เองก็เพื่อให้เห็นว่าการเกิดมาหลายชาติ(ในอดีต) ล้วนเป็นเรื่องทุกข์ มีความซ้ำซาก มีอาหาร/อาชีพอย่างนั้นอย่างนี้ มีสุขทุกข์อย่างนั้นอย่างนี้ จึงทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในสังสารวัฏได้(เช่นต่อให้เกิดเป็นคนร่ำรวย ใช้ชีวิตอย่างมีสุขตลอด แต่ก็ต้องแก่ เจ็บ ตาย และวนเวียนอยู่อย่างนี้จนเห็นความเบื่อหน่ายไม่มีสาระ ส่งผลให้ต้องหาสิ่งที่สูงส่งกว่าคือการพ้นจากวงจรเหล่านี้เสีย) สำหรับประโยชน์เพื่อผู้อื่นคือพระองค์สามารถใช้ญาณนี้ตรวจดูว่าผู้ที่จะสอนมีลักษณะอุปนิสัยอย่างไร เคยสะสมกรรมใดไว้ในอดีต เช่นเขามีอุปนิสัยรักสวยรักงาม พระองค์ก็สอนให้พิจารณาอสุภะกรรมฐานเป็นต้นฯลฯ ทำนองเดียวกับเรื่องอนาคต พระองค์ก็มีญาณอีกประเภทหนึ่งชื่อว่า อนาคตังสญาณ เป็นญาณที่ล่วงรู้อนาคต(บางเรื่องโดยพิจารณาจากเหตุและปัจจัยของอดีตและปัจจุบัน) ประโยชน์ของญาณนี้ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันกับญาณอดีตฯ หรือให้เห็นภาพชัด พระองค์ก็ทรงวางแผนหรือตั้งตารางล่วงหน้าว่าจะไปสอนใคร ที่ไหน(เป็นหนึ่งในพุทธกิจ) เรื่องนี้ก็สะท้อนให้เห็นชัดว่าพระพุทธเจ้าเองก็มิได้ปฏิเสธอนาคตว่าเป็นเรื่องไม่ดีและไม่ควรสนใจเสียอย่างสิ้นเชิงฯ
      แต่การกล่าวเตือนไม่ให้พะวงอดีตและอนาคตในที่นี้หมายเอาช่วงเวลาของการปฏิบัติธรรมเพื่อให้พ้นทุกข์เท่านั้น กล่าวคือก่อนการปฏิบัติอาจจำเป็นต้องทราบเป้าหมายหรืออนาคตของตน เช่นทราบว่าปฏิบัติเพื่อละกิเลสหรือตัดภพชาติซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอนาคต ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า เมื่อทราบแล้วหรือวางเป้าหมายไว้ชัดเจนแล้วก็เป็นอันเสร็จไป ไม่ไปเอาเรื่องอนาคตมาจินตนาการต่ออีก คราวนี้สิ่งที่ต้องทำคือปัจจุบัน รู้ทันกิเลสในปัจจุบันนั่นเอง ทำนองเดียวกับเรื่องในอดีต สามารถคิดถึงประสบการณ์เก่าได้ เช่นความผิดพลาดหรือคำสอนที่ได้เรียนมา แต่ก็เอามาเป็นข้อเตือนใจว่าจะทำอย่างไรไม่ให้พลาดซ้ำอีกและเดินทางถูกได้ ไม่ใช่ให้มัวเสียใจหรืออาลัยรักอดีต จมอยู่แต่กับเรื่องที่ผ่านไปแล้วโดยเสียเวลาเปล่า ครั้นเตือนใจตนอย่างนี้แล้วก็วางเรื่องนั้นเสีย กลับมาอยู่กับปัจจุบันอีกนั่นเองฯ
โดยสรุป พุทธศาสนามิได้สอนให้ลืมทุกเรื่องหรือไม่เอาประโยชนน์จากอดีตหรืออนาคตเลย เพียงแต่ให้คิดถึงสิ่งเหล่านั้นเพื่อเป็นข้อเตือนใจและตั้งเป้าหมายชีวิตให้ชัดเจน ครั้นได้ดังนั้นแล้วก็เริ่มลงมือทำหรือเปลี่ยนแปลงกันตรงปัจจุบันฯ
การพะวงถึงอดีตและอนาคตในพระสูตร
      พระพุทธเจ้าทรงหมายเอาการหลงยึดมั่นในขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณทั้งของอดีตและอนาคต โดยที่สุด(ผู้ที่หลงผิด)จะมองสิ่งเหล่านั้นเป็นอัตตาไป เช่นรูป หมายถึงรูปธรรม มีร่างกายเป็นต้น ผู้ที่พะวงถึงอดีตก็จะนั่งอาลัยถึงเรื่องที่ผ่านมาว่า เมื่อก่อนผิวพรรณตนเปล่งปลั่งอย่านั้นอย่างนี้ เต่งตึงอย่างนั้นอย่างนี้ สวยงามอย่างนั้นอย่างนี้ ก็จะส่งผลให้เกิดความยินดีพอใจไป(ประทับใจในตนเอง?) ในทางตรงกันข้าม หากคิดถึงรูปอดีต แต่รูปนั้นกลับแย่/ทรามกว่าปัจจุบัน ก็จะรู้สึกรังเกียจฯ เป็นเหตุให้จมอยู่กับความสุขหรือทุกข์เพราะเรื่องในอดีต ซึ่งไปสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ขัดขวางการรู้เท่าทันความจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเสีย (ความจริงรูปในที่นี้รวมเอาทั้ง เสียง กลิ่น รส ฯ)[8], เวทนาหรือความรู้สึกเป็นสุข ทุกข์ เฉยๆ ก็นั่งนึกถึงอดีตว่าครั้งตอนอายุ ๕ ขวบ พ่อแม่ตามใจตนมีความสุขอย่างนั้นอย่างนี้ อายุ ๒๐ ต้องอกหักเป็นทุกข์อย่างนั้นอย่างนี้ฯ สัญญาคือความจำได้หมายรู้ พึงทราบก่อนว่าสัญญาในที่นี้มีความหมายไม่ตรงกับภาษาไทยที่หมายถึง การตกลงหรือให้คำมั่นอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ฯ แต่เป็นการจำภาพ สัณฐานหรือเรื่องราวในอดีตได้ เช่น เมื่อเห็นรองเท้าวางอยู่ ก็ทราบว่านั่นเป็นรองเท้า(ไม่ใช่ดินสอ เพราะเคยจำมาว่าสัณฐานของรองเท้าต้องเป็นอย่างนี้) หรือให้ลึกไปกว่านั้นเห็นรองเท้าวางอยู่หลายคู่ ก็แยกออกคือจำได้ว่า คู่ไหนเป็นของตนฯ นี่เป็นลักษณะของสัญญา ฉะนั้นการใช้ชีวิตของมนุษย์ในชีวิตประจำวัน ส่วนที่ต้องติดต่อกับโลกเพื่อแยกแยะสิ่งนั้นสิ่งนี้ โดยอาศัยชื่อเรียกหรือคำสมมติของสิ่งนั้นๆ จึงต้องใช้สัญญาอยู่ตลอดทั้งวัน (การเข้าใจขันธ์ ๕ มีสัญญาเป็นต้นจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นสิ่งที่ต้องประสบอยู่ตลอด ครั้นทราบสิ่งนี้ว่าเป็นเพียงสภาวะธรรม มีเกิดได้และเสื่อมได้/ความจำไม่ยั่งยืน ก็จะทำให้คลายความเป็นตัวตนลงได้ฯ) การหวนระลึกถึงสัญญาในอดีตเช่น เปรียบเทียบว่าเมื่อเป็นเด็ก ตนมีความจำดีอย่างนั้นอย่างนี้ สามารถเรียนรู้เรื่องราวต่างๆได้รวดเร็วฯ สังขาร คือความคิด การปรุงแต่งซึ่งอาศัยเจตนาเป็นตัวผลักดัน สามารถยกตัวอย่างง่ายๆก่อนเช่น การคิดหรือวางแผนเรื่องนั้นเรื่องนี้ซึ่งเป็นทั้งเรื่องดีและไม่ดีก็เป็นสังขาร ความคิดเหล่านั้นปกติจะมีผลต่อจิตใจ คือหากคิด/ปรุงแต่งในเรื่องดี เช่น เมตตา กรุณา อยากช่วยเหลือผู้อื่นฯ การปรุงแต่งนี้ก็จะทำให้จิตมีลักษณะเป็นอย่างนั้นคือดี มีเมตตาไปด้วย ส่วนจะคิดปรุงแต่งเรื่องไม่ดี เช่นกาม หรือพยาบาท ก็จะทำให้จิต(หรือชีวิต) มีลักษณะที่จะแสดงออกไปในทางไม่ดีเช่นเดียวกัน[9] การนึกถึงอดีตก็เช่น นึกไปว่าเมื่อก่อนตนมีสังขาร(อุปนิสัย)เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งถ้าเป็นเรื่องดีคือเห็นว่าอดีตตนเป็นคนดี คิดในเรื่องดีก็ภาคภูมิใจ ส่วนหากตรงกันข้ามก็เกิดความไม่สบายใจฯ ประการสุดท้าย วิญญาณ หมายถึงการรับรู้ โดยอาศัย ตาเป็นตัวรับรูป(สัญฐาน สี) หูเป็นตัวรับเสียง จมูกเป็นตัวรับกลิ่น ลิ้นเป็นตัวรับรส กายเป็นตัวรับสัมผัส และใจเป็นตัวรับอารมณ์ความนึกคิด การระลึกถึงอดีตของวิญญาณคือ เราเคยรับรู้เรื่องอย่างนี้ เคยเห็นรูปอย่างนี้ เคยได้ยินเสียงอย่างนี้ฯลฯ ส่วนการจินตนาการถึงอนาคตก็เป็นเรื่องเดียวกัน เป็นแต่เพียงยังไม่ถึงและไปคาดหวังว่าให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น อยากให้เรามีผิวพรรณอย่างนั้นอย่างนี้ในอนาคต(เปล่งปลั่ง ไม่เหี่ยวฯ) อยากให้เรามีความสุขอย่างนั้นอย่างนี้ มีความจำอย่างนั้นอย่างนี้ มีอุปนิสัยอย่างนั้นอย่างนี้และประสบกับสิ่งที่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้(เช่น เห็นรูปสวย ได้ยินเสียงไพเพราะเป็นต้น การอธิบายวิญญาณโดยอาศัยอายตนะทั้ง ๖ นี้นี่เองที่กล่าวว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับอรรถาธิบายของพระมหากัจจายนะ)
อธิบายการทำงานร่วมกันของขันธ์ ๕
กล่าวคือการจะรับรู้อะไรสักอย่างต้องอาศัยวิญญาณเป็นตัวเชื่อมต่อ เช่นเห็นหญิงสาว ตา(รูปขันธ์)ก็กระทบกับรูปที่กำลังเดินมา(เรียกว่า จักขุวิญญาณ) แต่เป็นการเห็นอย่างเดียวเท่านั้น ครั้นเห็นแล้วรู้ว่าเป็นผู้หญิง ก็ต้องอาศัยสัญญาที่เคยสะสมมา(จำได้ชัดว่านั่นเป็นหญิงไม่ใช่งูฯลฯ) ครั้นรับทราบแล้วว่าเป็นหญิง หากสวยก็เกิดความพอใจ เป็นสุข(เวทนา)ต่อมาหากไม่มีสติรู้เท่าทันอีกก็จะปรุงแต่งต่อไป(สังขาร) เช่นคิดไปในทางกามเป็นต้น ความจริงการอธิบายขันธ์ ๕ นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยกันและกันและเกิดขึ้นเร็วจนมนุษย์ทั่วไป(รวมทั้งผู้เขียน)มองไม่เห็นว่าเป็นการทำงานของขันธ์ จึงหลงผิดยึดว่าเป็นตัวตนไปเสีย ฉันเห็น ฉันชอบ ฉันสุขฯลฯ  การปฏิบัติธรรมหรือเจริญวิปัสสนามีเป้าหมายเพื่อเห็นสิ่งเหล่านี้นี่เอง(นามรูปปริจเฉทญาณ)ฯ สังเกตว่าแนวทางการเกิดทุกข์นี้ความจริงก็เป็นลักษณะของปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง ต่างกันตรงที่ปฏิจจสมุปปาทนั้นละเอียดกว่าหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการอธิบายแบบครบชุด(เช่นมีอวิชชามาเป็นพื้นและนำไปสู่การยึดมั่น ภพชาติและทุกข์เป็นต้นในที่สุด)
ปัจจุบันขณะคือสัมมาสติ
      พระสูตรกล่าวถึงลักษณะของผู้ไม่ง่อนแง่คลอนแคลน(มีจิตตั้งมั่น พิจารณาเห็นปัจจุบันขณะอย่างต่อเนื่อง) เห็นสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าว่าเป็น สัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของพระอริยะ จะเห็นขันธ์ทั้ง ๕ ว่าไม่ใช่ตัวตนและไม่มีตัวตน(อัตตา)อยู่ในขันธ์เหล่านั้นดังเนื้อความด้านบนที่อธิบายแล้ว ด้วยเหตุที่เขาเห็นการทำงานของขันธ์แบบแยกส่วน คือกิจหนึ่งเป็นหน้าที่ของขันธ์หนึ่ง เสร็จแล้วก็ส่งต่อให้ขันธ์อื่น หรืออาศัยกันหลายขันธ์จึงจะดำเนินไปได้ จึงเข้าใจสภาวะการเกิดดับของขันธ์อยู่ตลอดฯ ผู้เขียนใคร่ขออธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นตั้งแต่เริ่มแรก คือต้องลงมือปฏิบัติหรือฝึกสติให้ดีเสียก่อน ต้องยอมรับว่าการเห็นการทำงานของขันธ์นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายแต่เป็นกิจของผู้ได้วิปัสสนาแล้ว(มิฉะนั้นทุกคนแม้ทำกิจอย่างอื่นอยู่เช่น ขับรถ กวาดบ้าน ซึ่งอาศัยระดับของสติขั้นเล็กน้อยก็จะสมามารถบรรลุธรรมกันได้หมดแล้ว) ด้วยการเห็นสัจธรรมผู้นั้นต้องมีสติสมาธิที่ชัดเจนมั่นคงระดับหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสอธิบายมรรคมีองค์ ๘ ข้อสัมมาสติว่ามีสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อมในสติปัฏฐานทั้ง ๔ พิจารณาเห็นกาย เวทนา จิต และธรรม[10] กล่าวคือไม่ว่าจะทำกิจใดอยู่ก็มีสติรู้ชัดการกระทำนั้น จนเห็นขันธ์ ๕ เป็นเพียงรูปและนามร่วมกันทำงาน เป็นเหตุให้ปล่อยวางเรื่องตัวตน ไม่เกิดกิเลส สุข ทุกข์ไปตามโลก(กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้)ฯ เมื่อกล่าวว่าทำอะไรอยู่ก็รู้ชัดการกระทำนั้น เท่ากับบอกว่าให้รู้ปัจจุบันขณะนั่นเอง เพราะการมัวแต่นั่งนึกอาลัยถึงอดีตหรือจินตนาการถึงอนาคต(ต่อให้เป็นเรื่องดีก็ตาม) ก็มิใช่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เอาอดีตหรืออนาคตมาพิจารณาจนทิ้งปัจจุบันไปเสีย คราวนี้หากถามว่า ถ้ากำลังปฏิบัติ(มีสติตามรู้รูปนามปัจจุบัน)อยู่แล้วเกิดความคิดแทรกขึ้นมาในจิตเล่าจะทำเช่นไร ตอบว่าให้เปลี่ยนไปสังเกตความคิดตัวนั้นแทน ไม่ได้หมายความว่าตามจิตไปช่วยคิดเรื่องนั้นเพราะเชื่อว่าเป็นปัจจุบันขณะ เพียงแต่ให้สติรับทราบว่าตนกำลังคิด เป็นลักษณะของผู้เฝ้าดูละครเท่านั้น มิใช่ไปร่วมแสดงละครด้วย สังเกตอาการคิดนั้นไป สักพักจะเห็นว่าแม้ความคิดก็ไม่เที่ยง มีเกิดขึ้นและเสื่อมไปในที่สุด ก็จะเป็นลักษณะของอนิจจานุปัสสี(เห็นความไม่เที่ยง) ซึ่งเมื่อความคิดหายไปก็ทราบชัดว่าหายไป ส่วนจะเกิดอะไรขึ้นต่อก็ให้มีสติรับรู้ให้ชัด แล้วทำต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนกับตอนแรกคือตามรู้ให้เห็นลักษณะเขาอีกเรื่อยไปฯ การรับรู้ปัจจุบันเท่านั้นจึงจะเรียกว่าสัมมาสติ เพราะหากเอาใจไปผูกมัดไว้กับสิ่งที่เป็นอดีตก็จะเป็นการหวนระลึก ผูกไว้กับอนาคตก็จะเป็นการจินตนาการนั่งหาเหตุผลเสีย หลายคนไม่พอใจกับการตามรู้เพียงอย่างเดียว เพราะเคยเชื่อมาตลอดว่ามนุษย์จะฉลาดได้ก็ต้องคิดหรือตั้งคำถามให้มาก ความเชื่อเช่นนั้นมิได้ผิด หากแต่ไม่ตรงกับลักษณะของวิปัสสนา เพราะปัญญาที่เกิดจากวิปัสสนาเป็นปัญญาจากการเห็นจริง(ภาวนามยปัญญา) มิใช่ปัญญาในลักษณะเอาเหตุเอาผลขั้นตรึกตรอง(จินตามยปัญญา) ทั้งสองอย่างอาจเข้าใจตรงกันได้ แต่การจะพ้นทุกข์จริงต้องเป็นปัญญาเกิดจากการเห็นจริงเท่านั้น เพราะจะทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจสภาพขันธ์ ๕ ชัด เห็นความเกิดขึ้นและเสื่อมไปจนคลายความยึดมั่นไปในตัวโดยอัตโนมัติ(ด้วยเห็นว่าไม่มีสาระหรือความมั่นคงให้ยึดถือ) ส่วนการคิดใช้เหตุผลที่เข้าใจภาวะนี้ไม่เหมือนกัน อาจเข้าใจถูกว่าขันธ์ ๕ ไม่เที่ยงเป็นต้น แต่เพราะตนไม่เคยเห็นขณะในการเกิดและดับของสิ่งนั้น(ด้วยสติไม่แก่กล้าพอ) ได้แต่คาดเดาหรือใช้เหตุผลเอา ทำให้ไม่สามารถปล่อยวางได้จริง(หากปล่อยวางได้ก็เพราะบอกหรือบังคับตนเองให้ปล่อยวาง ดังที่คนทั่วไปบอกว่า “มันไม่เที่ยง อย่าไปยึดติด” แต่ความเป็นจริงลึกๆ ยังมีอาการยึดอยู่) สรุปคือการจะปล่อยวางหรือพ้นทุกข์ได้ต้องเกิดจากการเห็นของจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะทุกๆขณะเท่านั้น แล้วการปล่อยวางก็จะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติฯ
การผัดเพี้ยน/ต่อรองต่อความตายทำไม่ได้
      ความจริงหัวข้อนี้แทบไม่จำต้องอธิบาย เพราะทุกคนทราบข้อเท็จจริงนี้ดีอยู่แล้ว เพียงแต่อาจเป็นประโยชน์บ้างในแง่นำมาเตือนสติ เพราะหลายคนมักอ้างว่าตนไม่มีเวลาปฏิบัติฯ แต่ครั้นความแก่ เจ็บ ตาย จะมาเยือนก็กลับใช้เป็นข้ออ้างไม่ได้ว่าตนยังไม่พร้อมจะแก่ ยังไม่มีเวลาเจ็บต้องทำงานเลี้ยงครอบครัว หรือยังตายไม่ได้เพราะมีภาระที่ต้องรับผิดชอบฯ พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่าทุกข์ ๓ ตัวนี้เป็นเรื่องน่ากลัว(ภัย[11]) ซึ่งผู้ไม่ประมาทจะต้องเอามาเป็นอุทาหรณ์สำคัญในการเตือนใจตนว่าจะทำอย่างไรให้ชีวิตตนมีค่ามากที่สุด ฉะนั้นการได้เกิดมา ได้รับการศึกษา ทำงาน หาเงินหรือสร้างครอบครัวจึงยังมิใช่สิ่งประสริฐที่จะพ้นจากภัยเหล่านี้ไปได้ หากแต่ต้องช่วยกันเตือนตนเองและสังคมให้หมั่นระลึกถึงความตายอยู่เสมอ(เป็นการใช้อดีตหรือสิ่งที่ตนเคยประสบมาสอนความไม่ประมาทในปัจจุบัน) สละความเห็นแก่ตัว ความเบียดเบียนฯ และใช้เวลาส่วนหนึ่ง(หรือผู้ที่มีเวลามาก ก็เป็นเวลาส่วนใหญ่) ของชีวิตทุ่มเทให้กับการฝึกสติอยู่กับปัจจุบันของตน เป็นเรื่องที่น่าแปลกที่สิ่งนี้เป็นสิ่งประเสริฐที่สุดที่มนุษย์ควรทำและแม้พระพุทธเจ้าเองก็ทรงยกย่องถึงกับบอกว่าแม้มีชีวิตเพียงคืนเดียวหรืออายุน้อยก็คุ่มค่า แต่คนส่วนใหญ่กลับเห็นสิ่งอื่นดีกว่าและเอาการฝึกฝนจิตมาเป็นธุระสุดท้ายที่ดูสำคัญน้อยที่สุดไปเสียฯ
.............................................................................................


[1] พระมหาสมปอง มุทิโต, คัมภีร์ อภิธานวรรณนา, หน้า ๑๑๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒, บริษัทประยูรวงศ์พริ้นติ้ง จำกัด, กรุงเทพฯ. ๒๕๔๗
[2] เพิ่งอ้าง
[3] วินัยปิฎก จุลวรรค ข้อ ๓๗๗ ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น สงฆ์จงให้พระอุทายีประพฤติมานัตเป็นเวลา ๖ ราตรี ด้วยกระทำอาบัติตัวหนึ่งที่ไม่ได้ปกปิดไว้ ข้อตั้งใจทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน/ช่วยตัวเอง(เตนหิ  ภิกฺขเว  สงฺโฆ  อุทายิสฺส  ภิกฺขุโน  เอกิสฺสา  อาปตฺติยา สฺเจตนิกาย สุกฺกวิสฏฺิยา อปฺปฏิจฺฉนฺนาย ฉารตฺตํ มานตฺตํ เทตุ ฯ)
[4] มิใช่ว่าการอยู่ปริวาสหรือมานัตจะเก็บวัตรคือหยุดประพฤติชั่วคราวไม่ได้เลย แต่ควรมีเหตุจำเป็น เช่นมีพระสงฆ์ผ่านมาในวัดนั้นมาก ทำให้ยากแก่การต้องไปบอกวัตร(คือสารภาพกับท่านที่มาเยือนว่าตนทำอาบัติสังฆาทิเสส) เมื่อคนมาก ต้องลำบากเช่นนั้นก็หยุดไว้ชั่วคราวได้ แต่คงมิใช่หยุดประพฤติวัตรทุกวันไปคราวละครึ่งวันเพื่อความสะดวกแล้วค่อยสมาทานเอาเฉพาะกลางคืนเพียง ๑๒ ชั่วโมงหรือบางกรณีเพียงเพราะต้องการอยากได้ให้ครบ ๑ ราตรี(ตามพยัญชนะ) ก็สมาทานประพฤติตอน ตี ๔ แล้วค่อยเก็บวัตรเอาตอน ๖ โมงเช้า กลายเป็นว่าประพฤติเพียง ๒ ชั่วโมงก็เท่ากับได้ ๑ ราตรีแล้ว?
[5] อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ข้อ ๑๔๖
[6] ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ข้อ ๑๘๒ หมายถึง การสอนให้รู้จักเรื่องกรรม คือทราบเหตุและผลที่ได้รับของการกระทำ เมื่อทราบชัดแล้วก็ให้มนุษย์เลือกคือทำกรรมใหม่ด้วยตนเอง เพื่อพัฒนาชีวิตตน โดยปฏิเสธความเชื่อเรื่องพระเจ้าดลบันดาล แต่เป็นกฎของกรรมที่ให้ผลได้ด้วยตัวเองฯ
[7] สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ข้อ ๑๘๐
[8] พระสูตรหลังที่อธิบายโดยพระมหากัจจายนะ ชื่อมหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร ข้อ ๕๕๖ ถึง ๕๖๑ ก็อธิบายอายตนะ ๖ แทนขันธ์ ๕ ตามแบบพระพุทธเจ้า (แต่โดยสรุปก็เป็นอย่างเดียวกัน) โดยท่านได้กล่าวถึงรูปที่เห็นด้วยตาในอดีตแล้วเกิดฉันทะราคะคือความยินดีกำหนัดว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้(ที่สวยงาม) เสียงที่ฟังด้วยหูว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้(ไพเราะจับใจ) จมูกที่เคยได้รับกลิ่นที่หอมฯ ลิ้นที่เคยรับรสที่ถูกปากฯ กายที่เคยรับสัมผัสอ่อนนุ่มฯ และใจเคยได้คิด/จินตนาการเรื่องที่ชื่นชอบฯลฯ ส่วนอนาคตคือการไปคาดหวังว่า ขอให้ในอนาคตเราได้เห็นรูปสวยงามตามความปรารถนาอย่างนั้นอย่างนี้ ทำนองเดียวกับ เสียง กลิ่น รส สัมผัส และอารมณ์ความนึกคิดฯ
[9] สังขารในทางอภิธรรมจัดเป็นเจตสิก(คือสิ่งที่เกิดร่วมกับจิต คือเกิดพร้อมกัน จับอารมณ์อย่างเดียวกัน และดับพร้อมกัน) ความจริงรวมเอา เวทนาและสัญญาเข้าเป็นเจตสิกด้วย เหตุที่ต้องอธิบายเช่นนี้เพื่อให้เห็นถึงความเป็นอนัตตาอีกนั่นเอง เพราะหลายคนไปเชื่อว่าคนจะดีเพราะจิตดี ชั่วก็เพราะจิต คือจิตมีลักษณะที่แน่นอน ตายตัวฯ อภิธรรมต้องการแสดงว่า ความจริงจิต(หรือวิญญาณ) เป็นสภาวะที่ทำหน้าที่รับรู้เท่านั้น(แม้การรับรู้ก็อาศัยอายตนะหรืออย่างน้อยก็เจตสิกดังกล่าวแล้ว จึงไม่สามารถทำงานโดดเดี่ยวได้และไม่เข้าลักษณะของอัตตาหรืออาตมัน) ส่วนจะดีหรือชั่วไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิกที่มาเกิดร่วมกัน ดังตัวอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า หากเมตตามาเกิดร่วมก็ทำให้จิตดีไปด้วย หรือหากพยาบาทมาเกิดร่วมก็ทำให้จิตเสีย/ตกต่ำไปด้วย แต่ต้องเข้าใจว่าเจตสิกหรือสังขารเองก็ไม่เที่ยง บ้างดี บ้างร้าย ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม การเลือกคบคนฯ หรือการปลูกฝังเป็นต้น สังเกตจากตัวเราเองว่าบางทีมีอารมณ์ดี บางทีก็ร้ายฯ แต่ไม่พึงเข้าใจว่าพุทธศาสนาสอนให้ปล่อยวางคือไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็แล้วแต่บุญกรรมเสียอีก พุทธศาสนาสอนเพื่อให้เห็นว่าครั้นมันไม่เที่ยง ย่อมหมายความว่า การจะเป็นคนชั่วก็ไม่เที่ยง ดังนั้นคนดีสามารถสร้างได้โดยการจัดสรรเหตุปัจจัย และที่สำคัญสามารถพัฒนาจนพ้นจากความดีชั่วคือพ้นอุปาทานทั้งหลายได้เช่นกันฯ เรื่องจิตดีชั่วเพราะอาศัยเจตสิกหรือสังขารมาประกอบนี้ความจริงเป็นพุทธพจน์เรื่องจิตประภัสสร แต่ต้องเศร้าหมองเพราะกิเลสเข้าครอบงำ(อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ข้อ ๕๐) ต่อมาอภิธรรมก็นำมาอธิบายจนกระจ่างฯ
[10] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ข้อ ๑๔๙
[11] ภยสูตร อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ข้อ ๕๐๒ (ทรงเรียกวว่า อมาตาปุตติกภัย ภัยที่มารดาและบุตรทำแทนหรือห้ามกันไม่ได้ คือ แก่ เจ็บ ตาย)

วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การกินและเที่ยว ในทัศนะของพุทธศาสนา

การกินและเที่ยว ในทัศนะของพุทธศาสนา (เจษฎา กันตเมธี)
บทนำ
วัฒนธรรมเรื่องการกินและเที่ยวได้รับความสนใจจากคนส่วนใหญ่และเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นผลสะท้อนจากความเจริญในยุคบริโภคนิยม(Consumerism) กล่าวคือมนุษย์ใช้วิธีหาวัตถุ(อาหารเป็นต้น)ที่แปลกใหม่มาบำเรอชีวิต กอปรกับการได้เที่ยวชมสิ่งงมงามแปลกตา หรือสถานที่สร้างบรรยากาศให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้น โรมเมนติก หรือผ่อนคลายฯ สิ่งเหล่านี้ใช่จะเป็นทางเลือกใหม่ที่มีเฉพาะปัจจุบันหรือสังคมที่เจริญแล้วเท่านั้น หากแต่ยังมีอิทธิพลครอบงำมนุษย์ทุกคนที่ยังมีความรู้สึกรักสุข เกลียดทุกข์ มีความเข้าใจผิด แก้ปัญหาด้วยการเสพหรือบำเรอตนด้วยอายตนะ(กามสุข) สมัยพุทธกาลเรียกลัทธิบริโภคนิยมหรือการวิ่งหาความสุขทางวัตถุนี้ว่า กามสุขัลลิกานุโยค (วินัย.มหา.ข้อ ๑๓)ฯ
      ปัจจุบันหลายประเทศใช้วัฒนธรรมสองอย่างนี้(กินและเที่ยว)เป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ มีการส่งเสริมการท่องเที่ยว พัฒนาท้องถิ่นเป็นต้นให้เป็นที่ดึงดูดใจของผู้คนเพื่อเป็นแหล่งรายได้ทั้งของรัฐเองและผู้คนในบริเวณนั้น หลายคนอาจแย้งว่าการทำเช่นนี้ไม่ดีกว่าการปล่อยให้ผู้คนออกไปเที่ยวและเอาเงินไปทิ้งนอกประเทศหรือ? คำตอบคือดีกว่า หากเทียบกับวัฒนธรรมหรือค่านิยมเช่นนั้น แต่ข้อเสียคือเป็นการใช้วัตถุมายั่วกิเลสคน(ซึ่งมีมากอยู่แล้ว รอวันจะปลดปล่อย)ให้ตกเป็นเหยื่อของความอยากมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อให้มีเงินทองมาก สามารถใช้ชีวิตไปในทางฟุ่มเฟือยเช่นนั้นได้ แต่กลับหาความสุขที่เต็มพร้อมไม่ได้อยู่ดี เพราะความสุขหรือความสบายใจของตนได้นำไปฝากไว้(ขึ้นอยู่)กับวัตถุอันเป็นสิ่งภายนอกเสียแล้ว เมื่อมีวัตถุครอบครองมากเท่าใดก็มีความสุขมากเท่านั้น ทำนองกลับกันเมื่อต้องพรากจากวัตถุ(ของรัก)นั้นไปก็ยิ่งกลับเป็นความทุกข์ได้มากกว่าเดิม ทั้งที่ในอดีตแม้ไม่มีสิ่งนั้นตนก็อยู่ได้ เช่น การดื่มน้ำเย็น ครั้นยังไม่มีตู้เย็นก็สามารถดื่มน้ำปกติได้ แต่พอมีตู้เย็น เมื่อได้น้ำที่ไม่เย็นกลับต้องดื่มด้วยความไม่พึงปรารถนาฯลฯ
ดีกรีของการเสพวัตถุ
การดำรงชีพที่ต้องขึ้นอยู่กับวัตถุภายนอกใช่จะมีผลเสียเพราะตนต้องทุกข์จากการพลัดพรากจากสิ่งนั้นเท่านั้น(ปิเยหิ วิปฺปโยโค ทุกฺโข... วินัย.มหา.ข้อ ๑๔) ความจริงแม้ยังครอบครองสิ่งนั้นอยู่ ความรู้สึกเป็นสุขก็กลับลดน้อยลงเพราะความเคยชินได้เช่นกัน ดังหนุ่มสาวที่ต้องการคู่รักมาครอบครอง ตอนต้นคิดว่าหากได้ผู้นี้มาเป็นของตน จะสามารถสร้างความพอใจให้แก่ตนไปได้ตลอดชีวิต แต่ครั้นอยู่ด้วยกันนานเข้า ความรู้สึกปรารถนาก็เปลี่ยนแปลงไป เบื่อหน่าย(มีความสุขน้อยลงที่ได้อยู่ร่วมกับผู้นั้น)อยากหาคนอื่นมาแทนที่เรื่อยๆ หรือกระทั่งอาหารการกิน อาหารชนิดหนึ่งที่ตนถูกปากแล้ว นานไปกลับรู้สึกเบื่อหน่ายได้โดยไม่ต้องพลัดพรากจากสิ่งนั้นฯ สิ่งที่น่ากลัวของกิเลสคือ นานวันเข้า กิเลสเองจะพัฒนาตนเองไปจนทำให้คนรู้สึกไม่พึงพอใจกับสิ่งที่ตนมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ไม่รู้จักใช้สอย(วัตถุประสงค์ของการบริโภค)ปัจจัย ๔ เมื่อไม่รู้จักเป้าหมายที่แท้ของวัตถุคือสักแต่พอให้ชีวิตอยู่รอดเพื่อพัฒนาปัญญาและสร้างประโยชน์เพื่อผู้อื่น
การพัฒนาดีกรีของกิเลสเกิดขึ้นโดยที่มนุษย์ไม่รู้สึกตัว กล่าวคือเพิ่มความต้องการขึ้นเรื่อยๆ จนผลักดันให้มนุษย์รู้สึกไม่พึงพอใจกับสิ่งนั้นๆ เช่นเมื่อยากจนก็ปรารถนาได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท(ปลอบใจตนว่าแค่พอมีพอกินก็ดีแล้ว) ครั้นได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทจริงตนก็มีความสุขอยู่ระยะหนึ่งแล้วก็ไม่รู้สึกพอใจ อยากได้เพิ่มเป็น ๑๐,๐๐๐ บาท(เพราะมีรถ บ้าน โทรศัพท์เป็นต้นให้ใช้สอย) พอได้ตามปรารถนาก็มีความสุขอยู่อีกระยะหนึ่ง แต่ก็มารู้สึกภายหลังอีกว่ายังไม่พอ ควรจะเป็น ๒๐,๐๐๐ บาท(ด้วยต้องเข้าสังคม พบปะเพื่อนฝูง กิน เที่ยวฯ) ตัวอย่างเหล่านี้สะท้อนให้เห็นต่อไปว่า แม้ได้เงินเดือนเป็นแสนก็ไม่สามารถสร้างความสุขที่ยืนนานได้ ในลักษณะที่ร้ายกว่านั้น กิเลสที่ถูกพัฒนาไปไกลแล้วกลับทำให้ตนเป็นทุกข์มากกว่าเดิม ทั้งที่ยังมีวัตถุเสพอยู่ เช่น จากเงินเดือน ๒๐,๐๐๐ บาทหากต้องถูกปรับลดไปด้วยเหตุผลบางอย่างเหลือเพียง ๑๐,๐๐๐ บาท ตนก็จะเป็นทุกข์ ทั้งจากเดิมตนมีความสุขมากหากเทียบกับตอนที่เงินเดือนปรับขึ้นมาจาก ๕,๐๐๐ บาทตั้งแต่ตอนเริ่มทำงานฯ นี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการปรับดีกรีกิเลสฯ กล่าวโดยสรุปคือ เมื่อไม่เข้าใจเป้าหมายของการใช้วัตถุ(รวมถึงตัวคนที่ตนรัก) กลับเอาตนไปพัวพันและฝากความสุขไว้กับการเสพสุขทางอายตนะ ตนก็จะขาดเสรีภาพมากขึ้น สุขเก่าก็จะเริ่มชินชาและมีโอกาสเป็นทุกข์ได้ง่ายขึ้นฯ
การกิน ในพุทธศาสนา
พุทธศาสนาแม้มีจุดหมายเพื่อพาคนออกจากความทุกข์หรือสังสารวัฏ(โลกุตตระ) แต่ก็มิได้ปฏิเสธเรื่องทางโลกเสียทีเดียว ดังจะเห็นได้จากการสั่งสอนทั้งในแง่ประโยชน์ในปัจจุบัน(ทิฏฐธัมมิกัตถะ คือให้มนุษย์มีความผาสุกในปัจจุบัน) แง่ประโยชน์ในอนาคตหรือชาติหน้า (สัมปรายิกัตถะ เพื่อรับรองว่าแม้จะยังไม่พ้นทุกข์ดับภพชาติได้ แต่ก็มีสุคติไม่ลำบากยากเข็ญเป็นความหวังในชาติหน้า)และแง่ประโยชน์สูงสุดกล่าวคือการพ้นทุกข์ ไม่ตกเป็นทาสกิเลสอีกต่อไป (ปรมัตถะ การดับภพชาติได้ไม่ต้องเกิดอีกเพราะทำลายกิเลสได้หมดตั้งแต่ปัจจุบัน) การสอนเรื่องการกิน แม้จะดูผิวเผินเหมือนจัดอยู่ในประโยชน์ที่จะพึงได้รับในปัจจุบันอย่างชัดเจน แต่ด้วยเป้าหมายของพุทธศาสนาคือความดับทุกข์แล้ว ย่อมส่งผลครอบคลุมไปถึงประโยชน์ทั้ง ๓ ได้เลย เช่นหากมีสติพิจารณาเห็นคุณและโทษของการกินได้ ไม่ประมาท เร่งปฏิบัติธรรมก็สามารถดับทุกข์ได้เช่นกัน(โภชนสัปปายะ...วิสุทธิมรรค ๑/๑๖๑)


โลกิยะไม่ควรแยกจากโลกุตตระ
      เมื่อกล่าวถึงเรื่องการกิน ใคร่ขอแทรกสาระธรรมเล็กๆซึ่งคนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดกันทั่วไปคือการแยก โลกิยะออกจากโลกุตตระ เป็นความจริงว่า สองตัวนี้มีความตรงกันข้ามกันอย่างชัดเจน กล่าวให้ชัดคือ โลกิยะเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ยังต้องผูกติดอยู่กับโลก กิเลส ความทุกข์ หรือภพชาติ ส่วนโลกุตตระเป็นเรื่องตรงกันข้าม เพราะเป็นเรื่องของผู้มีปัญญารู้ทันกิเลส จนถอนความเศร้าโศกทั้งปวงออกเสียได้ แม้อยู่ในโลกก็ไม่เศร้าโศกหรือดีใจไปตามสภาวการณ์ที่ขึ้นลงของโลก เป็นความสุขที่ยั่งยืนเพราะไม่มีความยึดมั่นฯ คนส่วนใหญ่มักแยกลักษณะทั้งสองประการออกจากกันอย่างสิ้นเชิง เช่นเห็นว่าตนเป็นฆราวาส ต้องใช้ชีวิตในโลก อยู่กับลาภ ยศ เงินทอง หรือกามคุณเป็นต้นไม่สามารถหวังเอาโลกุตตระที่เป็นธรรมสูงส่งได้ และโยนเรื่องโลกุตตระให้เป็นเรื่องของพระหรือคนในวัดไป คนประเภทหลังจึงถูกมองจากสังคมว่าเป็นคนอีกระดับหนึ่งที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางโลก หรือในทางลบกว่านั้นใครที่มุ่งหาโลกุตตระ เป็นคนดี หมั่นปฏิบัติธรรมฯลฯ จะถูกมองว่าสติฟั่นเฟือน เป็นคนไม่ปกติฯ ความจริงธรรมทั้งสองนี้ไม่ได้ถูกสอนเพื่อให้คนเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าต้องการเน้นให้คนพ้นทุกข์คือโลกุตตระ แต่ขณะที่คนยังไม่ถึงจุดนั้น ก็ต้องให้คนรักษาสถานภาพตนไว้ให้ดีแม้อยู่ในขั้นโลกิยะ ที่สำคัญต้องมีเป้าหมายเป็นอันที่สองคือโลกุตตระให้ได้ โลกิยะจึงเป็นเสมือนบันไดขั้นแรกๆที่คนต้องผ่าน แต่พุทธศาสนาไม่ให้ยึดติดคือหวังว่าชีวิตนี้จะอยู่ระดับนี้ไปเรื่อยๆ เช่น หากินไปวันๆ มีเงินทองก็เที่ยวเตร่หาความสุขไปตามสภาพฯ แน่นอนพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธความสุขขั้นโลกิยะดังกล่าวแล้ว แต่สอนให้รู้จักพัฒนาไปสู่ความสุขที่ยิ่งขึ้นไป จึงต้องใช้เวลาในชีวิตประจำวันมุ่งทั้งเรื่องโลกิยะ(ทำงานหากินทางโลก)และโลกุตตระ(หมั่นแสวงหาปัญญาชำระกิเลส) ธรรมทั้งสองจึงควรดำเนินไปด้วยกัน ชีวิตจึงจะมีเป้าหมายและพัฒนาไปในทางที่ถูกต้อง มิใช่รับเอาแต่เรื่องโลกิยะหาสุขไปวันๆ จนลืมมองเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตอันเป็นโลกุตตระซึ่งเป็นคุณค่าที่แท้จริงของการเกิดเป็นมนุษย์ฯ
การกินที่ถูกต้องจัดเป็นมัชฌิมาปฏิปทา
จุดมุ่งหมายของการกินอยู่ที่การดำรงชีพ มนุษย์(รวมถึงสัตว์)จึงต้องเลือกอาหารที่เหมาะและปลอดภัยแก่ตน ความจริงเรื่องจุดประสงค์นี้เป็นที่ทราบกันดีจนไม่น่าจะนำมาเป็นประเด็นในการถกฯ แต่เพราะสังคมเปลี่ยนไป รสนิยมในการกินจึงเปลี่ยนตาม กล่าวคือคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมิได้กินเพียงเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ แต่การตัดสินเลือกร้าน เมนูอาหาร ราคาฯลฯ กลับวางอยู่บนฐานของพึงพอใจมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากอาหารโดยตรง อาหารบางอย่างราคาแพง แต่ก็มิได้ให้สารอาหารที่คุ้มค่ากับราคา กระทั่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ราคาแพงที่มีแต่จะบั่นทอนสติปัญญาและทำลายสุขภาพ ก็กลับเป็นที่ต้องการของคนส่วนมาก ตัวอย่างเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า การเลือกอาหารบริโภคไม่ได้เป็นไปถูกทางคือเอื้อประโยชน์แก่ร่างกาย แต่เป็นการสนองกิเลสหรือค่านิยมที่ทำให้คนดิ้นรนขวนขวายให้ได้สิ่งนั้นมาเพียงเพราะรู้สึกสบายใจที่ตนมีโอกาสได้ลิ้มลองของเหล่านั้น พุทธศาสนาจึงสอนให้พิจารณาอาหารก่อนการบริโภค(มิใช่การขอบคุณพะผู้เป็นเจ้าในหลายศาสนา)เพื่อให้เห็นคุณค่าที่แท้ของอาหารเป็นต้นว่า เราพิจารณาดีแล้วจึงบริโภคอาหาร(ปฏิสงฺขา โยนิโส ปิณฺฑปาตํ ปฏิเสวามิ) เรามิได้บริโภคเพื่อความสนุกสนาน (เนว  ทวาย), ไม่ใช่เพื่อความเมามัน (น  มทาย), ไม่ใช่เพื่อประดับและตกแต่งร่างกาย เช่นเสริมให้หุ่นดีฯ (น มณฺฑนาย    วิภูสนาย), แต่บริโภคเพื่อให้ร่างกายดำรงอยู่ได้  (ยาวเทว  อิมสฺส  กายสฺส  ิติยา ยาปนาย), เพื่อกำจัดความทรมานทางกาย  (วิหึสุปรติยา),    เมื่อบริโภคแล้วก็ใช้กำลังมาปฏิบัติธรรม/ทำประโยชน์ (พฺรหฺมจริยานุคฺคหาย), เพราะการบริโภคนี้ ทำให้เรากำจัดความหิวเสียได้ (อิติ  ปุราณญฺจ  เวทน  ปฏิหงฺขามิ), และด้วยการบริโภคนี้ เวทนาใหม่จะไม่เกิดขึ้น คือบริโภคแต่พอประมาณ ไม่มากเกินหรือน้อยเกิน พร้อมทั้งเป็นของมีประโยชน์ไม่มีโทษ (นวฺจ  เวทน    อุปฺปาเทสฺสามิ), ด้วยการบริโภคนี้ ทำให้ชีวิตดำเนินไปได้อย่างสะดวกไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ดำรงชีพอย่างมีความสุข (ยาตฺรา    เม  ภวิสฺสติ  อนวชฺชตา จ  ผาสุวิหาโร  จ....สัพพาสวสังวรสูตร ม.มู. ข้อ ๑๔)
จากพระสูตรนี้จะเห็นได้ชัดถึงคำสอนเรื่องการบริโภคอาหารของพุทธศาสนา (ความจริงมีทั้งเสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคด้วย) ที่เน้นสาระของอาหารคือก่อนบริโภคก็รู้จักเลือกสรรอาหารที่มีคุณค่า มีราคาเหมาะสมไม่ฟุ่มเฟือย ขณะบริโภคก็มีสติ ไม่หลงมัวเมา ไม่ติดรสนิยมฯ ครั้นบริโภคเสร็จก็เอากำลังมาทำประโยชน์ หากเป็นพระก็คือการปฏิบัติธรรมขัดเกลากิเลสโดยตรง ส่วนฆราวาสที่ต้องรับผิดชอบภาระหน้าที่ของตนก็ทำงานไปด้วยความสุจริตฯ เพียงพระสูตรเดียวก็สามารถชี้วัฒนธรรมการกินของพุทธศาสนิกชนได้ชัดเจน
ทางสายกลาง(มัชฌิมาปฏิปทา)ของพุทธศาสนาอีกข้อที่ต้องทราบคือ พุทธศาสนาปฏิเสธเรื่องกามสุขัลลิกานุโยคหรือการบริโภคตามใจอยาก กล่าวคือกิเลสอยากกินอะไรเราก็หาอันนั้นมาใส่ปากซึ่งคนทั่วไปกำลังเป็นอย่างนี้ และอีกทางที่พุทธศาสนาเห็นว่าสุดโต่งไม่ควรดำเนินคือทรมานตนเอง(อัตตกิลมถานุโยค) เช่นเมื่อเกิดความหิวขึ้นก็บำเพ็ญตบะด้วยการอดอาหาร ไม่ยอมหาอะไรรับประทานด้วยเหตุผลว่าไม่ต้องการตามใจกิเลส การปฏิบัติเช่นนี้ก็จะทำให้ชีวิตลำบากไปอีกทางหนึ่ง ในทางแรกทำให้คนหลงมัวเมาในการหาวัตถุมาเสพ ส่วนทางที่สองปฏิเสธวัตถุอย่างสิ้นเชิงจนชีวิตต้องลำบาก ดังนั้นพุทธศาสนาซึ่งประกาศทางสายกลางจึงให้คนพึ่งวัตถุได้ระดับหนึ่ง คือสักแต่พออยู่รอดเท่านั้น ที่สำคัญคือต้องไม่เป็นทาสวัตถุนั้น(บริโภคด้วยปัญญา) แต่กลับเอาวัตถุมาเป็นบันไดในการสร้างคุณประโยชน์หรือพัฒนาตนเองสู่ขั้นสูงขึ้นไป เช่นรถยนต์ ตามหลักการของพุทธศาสนาอนุญาตให้มีได้หากแต่ต้องไม่ตกเป็นทาส คือใช้รถยนต์เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกและปลอดภัยของตน ใช้รถไปทำสิ่งที่มีประโยชน์เช่นเดินทางไกลไปสอนคนหรือบริการผู้อื่น แต่การใช้รถจะผิดทันทีหากเลือกรถหี่ห้อนั้นเพราะมีชื่อเสียง ราคาแพง เป็นที่ชื่นชมของสังคมและต้องตกเป็นทาสคือคอยห่วงใยดูแล กลัวผู้อื่นจะมาขโมย จิตใจต้องผูกติดกับรถจนขาดอิสรภาพฯ
ปัญหาเรื่องมังสวิรัติ
เป็นเรื่องถกเถียงกันทั่วไปว่า พุทธศาสนาในฐานะที่เน้นความเมตตาและมีสิกขาบทข้อเว้นจากการเบียดเบียนสัตว์(ทำปาณาติบาต) จะสามารถรับประทานเนื้อสัตว์ได้หรือไม่? ครั้งหนึ่งพระเทวทัตได้ขออนุญาตให้พระพุทธเจ้าบัญญัติวินัยเรื่องการไม่ทานเนื้อสัตว์ขึ้นมา(วินัย.มหา.ข้อ๕๙๐) พระพุทธเจ้าทรงตรัสตอบว่า เราอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์ด้วยอาการ ๓ อย่าง คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน และไม่ได้รังเกียจ(วินัย. มหา.ข้อ ๕๙๑) ก่อนจะกล่าวถึงเนื้อบริสุทธิ์ทั้ง ๓ ข้อ อยากให้พิจารณาข้ออื่นๆ อีก ๔ ข้อที่พระเทวทัตทูลขอเพื่อให้เห็นบริบทก่อน เช่น ให้พระเที่ยวบิณฑบาตตลอดชีวิต ห้ามมิให้รับกิจนิมนต์, ห่มจีวรที่ทำจากเศษผ้าที่เขาทิ้งแล้ว(บังสุกุล) ห้ามมิให้รับผ้าเนื้อดีที่เขาถวาย ข้อเหล่านี้พระองค์ตอบว่า ภิกษุใดปรารถนาก็ให้ทำเถิดคือไม่บังคับ อีกสองข้อคือพระจะต้องอยู่ป่าและใต้ต้นไม้ตลอดชีวิต ห้ามไม่ให้อยู่ในกุฏิ พระองค์ก็ตรัสตอบว่า อนุญาตให้เพียง ๘ เดือน ส่วนช่วงเข้าพรรษา ๓ เดือนก็ให้อยู่ในกุฏิเป็นต้น(เพื่อจะได้ไม่ลำบาก)ฯ สังเกตว่าสิ่งที่พระเทวทัตขอส่วนหนึ่งก็เป็นกิจที่พระต้องทำอยู่แล้ว เช่นการเที่ยวบิณฑบาตหรือใช้ผ้าบังสุกุล เพราะพระพุทธเจ้าเองก็ตรัสว่าสิ่งเหล่านั้นสำคัญ ส่วนข้ออื่นเช่นอาหารที่เขามานิมนต์ไปถวายหรือผ้าเนื้อดีที่เขาเย็บให้แล้วตลอดจนกุฏิที่อยู่ให้ถือเป็นอดิเรกลาภ หมายถึงโบนัสหรือ สิ่งที่เกินจำเป็น จะใช้ก็ได้แต่อย่าไปยึดหรือหมกมุ่นให้มาก(เพราะอาจทำให้หลงสบาย ลืมปฏิบัติธรรม) ฉะนั้นเรื่องเหล่านี้(ที่พระเทวทัตขอ)เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงย้ำให้ทำอยู่ก่อนแล้ว พระองค์ปฏิเสธเพียงเพราะไม่อยากให้พระต้องทำตัวสุดโต่ง ดำรงอยู่ทางสายกลาง บางครั้งอาจมองเป็นการสงเคราะห์ฆราวาสได้เช่น หากเขาต้องการสร้างกุฏิถวายก็ให้รับ หรือเขาทำจีวรมาถวายด้วยศรัทธา การจะไม่รับหรือเอาไปทิ้งเสียก็ไม่ควรทำฯลฯ คราวนี้มาถึงประเด็นสำคัญคือข้อ มังสวิรัติหรือการไม่บริโภคเนื้อ หากดูตามเหตุผลข้ออื่นๆ จะสามารถสันนิษฐานได้ก่อนเลยว่า พระองค์ก็ไม่ได้ขัด(ใครจะเป็นนักมังสวิรัตก็ได้ หากสภาพสังคมเอื้อ) แต่ก็ไม่อยากให้พระสุดโต่ง คือต้องฝากชีวิตไว้กับฆราวาสเขา เมื่อเขาบริโภคอย่างไร เราก็บริโภคอย่างนั้น ทำตัวเป็นผู้เลี้ยงง่ายฯ
ขออธิบายเนื้อที่ไม่บริสุทธิ์(ซึ่งตรงกันข้ามและภิกษุไม่ควรฉัน)ทั้ง ๓ คือ เนื้อที่ตนเห็น ได้แก่ตนสงสัยโดยเห็นว่าเนื้อนั้นเขาหา(ฆ่า)เพื่อมาถวายตนเช่น เห็นชาวบ้านนำเครื่องมือดักสัตว์เข้าป่าไป ครั้นรุ่งขึ้นเขาก็นำแกงเนื้อมาถวาย ตนก็เกิดความสงสัย ครั้นสงสัยดังนี้ก็ไม่ควรฉันฯ เนื้อที่ตนได้ยิน คือเนื้อที่ภิกษุไม่เห็นแต่ได้ยินมาว่า พวกชาวบ้านนำเครื่องมือจับสัตว์เป็นต้นเข้าป่าไป ครั้นวันรุ่งขึ้นท่านเข้าไปบิณฑบาต เขาก็ถวายเนื้อมา ภิกษุนั้นเกิดความสงสังว่าเขาจะฆ่ามาเพื่อตน ครั้นสงสัยดังนี้ก็ไม่ควรฉันฯ เนื้อที่ตนรังเกียจ คือเนื้อที่ทั้งตนไม่ได้เห็นไม่ได้ยินว่าเขาไปหา(ฆ่า)มาจากที่ไหน แต่ครั้นตนได้รับบิณฑบาตก็เกิดสงสัย(รังเกียจ)ขึ้นมาว่า เขาต้องฆ่าสัตว์เพื่อตนเป็นแน่ ภิกษุสงสัยเช่นนี้ก็ไม่ควรฉันฯ ความจริงสามารถสอบถามได้เพื่อความแน่ใจ หากได้คำตอบมาว่าเขามิได้ทำเพื่อเจาะจงถวายพระ แต่ทำเพื่อคนในครอบครับเขาเองหรือพวกข้าราชการเป็นต้น ก็ให้ฉันได้(อรรถกถา ชีวกสูตร)
หากมองโดยไม่ได้พิจารณาจะเห็นว่า พุทธศาสนาก็มีความเชื่อลึกลับเหมือนศาสนาพระเจ้าทั้งหลาย กล่าวคือสิ่งนี้ทำได้ สิ่งนี้ห้ามทำฯลฯ ความจริงสามารถเข้าใจเหตุผลข้างต้นนั้นได้ไม่ยาก เหตุที่พระพุทธเจ้าใช้คุณสมบัติของเนื้อ ๓ ประการมาวางไว้ก็เพื่อให้พระไม่กลายเป็นผู้มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการฆ่าสัตว์(ทำปาณาติบาต)นั่นเองฯ
คราวนี้หากถามว่าเมื่อเป็นเช่นนั้น ไฉนพระองค์ไม่ทรงบัญญัติไปเลยว่าให้พระฉันมังสวิรัติ? คำตอบคือ ต้องย้อนดูสังคมในอดีตและกิจวัตรของพระเอง อดีตกาลพุทธศาสนายังไม่เจริญมาก(หรือต่อให้เจริญ)ผู้คนหลายกลุ่มหรือส่วนใหญ่ก็ยังบริโภคเนื้อ ครั้นเขาทำอาหารเช่นนั้น พระสงฆ์เองก็ต้องฝากท้องไว้กับคนเหล่านั้น กลายเป็นว่าต้องบริโภคตามชาวบ้านเขา การจะมาตั้งกฎว่าขอรับมังสวิรัติอย่างเดียว ในอดีตอาจเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตของพระ เพราะท่านเองไม่ได้ทำอาหารแต่เลี้ยงชีพด้วยการขอ(บิณฑบาต) แต่หากเป็นปัจจุบันหรือบางพื้นที่ที่คนทานมังสวิรัติอยู่แล้วก็เป็นการเอื้อต่อพระด้วยเช่นกัน ท่านสามารถตัดภาระเรื่องสงสัยในอาหารนั้นไปได้เลยฯ
ความจริงจะกล่าวว่าไม่รับประทานเนื้อเลยก็ไม่ถูก เพราะประเด็นที่มีปัญหาคือการรับประทานเป็นเหตุให้ต้องฆ่าสัตว์นั่นเอง ดังนั้นเนื้อที่ไม่ได้ฆ่า แต่เป็นพวกสัตว์เดรัจฉานด้วยกันทิ้งไว้ เช่น เสือกินวัวไปครึ่งตัว เหลือทิ้งไว้อีกครึ่งตัว เนื้อนั้นก็สามารถนำมาเป็นอาหารได้ฯ อย่างไรก็ตาม การบริโภคที่บริสุทธิ์จะต้องไม่ประกอบด้วยความโลภในอาหารดังที่กล่าวไปแล้ว และใช้อาหารนั้นเป็นกำลัง/เครื่องเลี้ยงชีพเพื่อพัฒนาตนเท่านั้นฯ
คนดีหรือชั่วใช่อยู่ที่อาหาร
แน่นอนว่าหากยึดตึดในเรื่องการกิน อยากหาเนื้อสัตว์แปลกๆมาชิมอยู่เสอม การทำเช่นนั้นก็สะท้อนถึงการขาดความเมตตาได้ชัดเจน ส่วนผู้บริโภคแบบพิจารณาเช่นภิกษุเป็นต้น(ความจริงฆราวาสก็ควรทำ) การพิจารณาทำให้คนไม่ตกเป็นทาสความอยาก การบริโภคนั้นก็ไม่มีโทษ เพราะการบริโภคปัจจัย ๔ มิใช่เป็นเป้าหมาย(aim)ในตัว แต่เป็นเพียงเครื่องมือ(mean)ในการดำรงชีพเพื่อพัฒนาตนดังกล่าวแล้ว ฉะนั้นการบริโภคอย่างเดียวจึงไม่สามารถตัดสินให้เด็ดขาดได้ว่าคนนั้นเป็นคนดีหรือชั่ว แต่จะตัดสินด้วยการกระทำของเขาทั้งทางกาย วาจา และใจ ขอกล่าวถึงคัมภีร์ไบเบิล บทมัททิว ๑๕/๑๑ มีว่า “ จงฟังและเข้าใจเถิด ไม่ใช่สิ่งซึ่งเข้าไปในปากจะทำให้มนุษย์เป็นมลทิน แต่สิ่งซึ่งออกจากปากนั้นแหละทำให้มนุษย์เป็นมลทิน”  สิ่งที่นักมังสวิรัติต้องระวังให้มากที่สุดคือความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน นั่นคือปกติหลายคนจะรู้สึกสงสารสัตว์ จนไม่สามารถกินเนื้อของพวกเขาได้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าชื่นชม แต่ขณะเดียวกันอีกหลายคนกลับรังเกียจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง เพราะเหตุว่าผู้อื่นไม่ได้เป็นนักมังสวิรัติเหมือนตน พยายามโจมตี กล่าวหาว่าเป็นคนต่ำทราม ไม่รักษาศีลฯลฯ มากกว่าการให้ความรู้เพื่อเขาจะเกิดความเข้าใจและสงสารสรรพสัตว์ขึ้นมา ผลจึงกลายเป็นว่าคนที่ทานเนื้อสัตว์ก็รังเกียจนักมังสวิรัติเพราะไปดุด่า ดูถูกเขา นักมังสวิรัติเองก็เกลียดชังคนทั่วไปเพราะเข้าใจว่าศีลตนดีกว่าฯลฯ   ฉะนั้นสิ่งที่ควรทำคือต้องพยายามหลีกเลี่ยงการฆ่าสัตว์ แผ่เมตตาในสัตว์ทั้งหลาย ครั้นเกิดเมตตาจิตแล้ว การเว้นจากการฆ่าสัตว์หรือไม่อยากบริโภคเนื้อเป็นต้นจะเกิดขึ้นตามลำดับฯ
ไม่ฆ่าสัตว์แต่ยังซื้อเนื้อมากิน
คำถามต่อมาจึงมีว่า ครั้นไม่ฆ่าสัตว์หรือทำปาณาติบาตด้วยตนเองแล้ว เพียงแต่ไปซื้อเนื้อที่เขาฆ่าแล้วมาปรุงเป็นอาหารจะถือว่าถูกต้องแค่ไหน? ข้อนี้อาจใช้ความรู้สึกวัดได้ชัดเจนฯ ก่อนอื่นใคร่พูดถึงการเป็นอยู่ของสัตว์สักเล็กน้อย พุทธศาสนาถือว่า สัตว์เดรัจฉานเป็นภพภูมิหนึ่งซึ่งตกต่ำกว่าการเกิดเป็นมนุษย์ ตรงที่มีโอกาสพัฒนาตนเองน้อย ต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่ตามสัญชาติญาณ ชาวพุทธจึงถูกสอนให้มองสัตว์เป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย และไม่เบียดเบียนกัน กล่าวคือ “ให้น้อมเอาความรู้สึกเขามาใส่ใจเราว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมกลัวการถูกทำร้าย กลัวความตาย ครั้นรู้ข้อเท็จจริงนี้แล้วก็ไม่พึงเบียดเบียนกัน”(ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๒๙) การเลี้ยงสัตว์ของชาวพุทธส่วนหนึ่งจึงเป็นเครื่องมือสะท้อนความเมตตาไปในตัว เช่นเลี้ยงสุนัข ก็ดูแลให้มีความสุข จะได้ไม่ต้องไปหากินเสี่ยงภัยอยู่ข้างนอก หลายคนรักสุนัขเหมือนลูกตนเองฯ หรือกระทั่งไก่ที่ดูจะเป็นอาหารโดยตรง ชาวบ้านไม่น้อยที่เลี้ยงไก่ไว้แบบปล่อยให้เป็นอิสระ มีโอกาสพาลูกหากิน มีบ้างก็ไปเอาไข่มันมากินหรือบ้างก็ขอชีวิตจากลูกมันมานานๆสักตัวหนึ่ง เรื่องนี้แม้เป็นปาณาติบาตแต่ก็ยังเห็นได้ชัดถึงสภาพชีวิตของสัตว์ที่อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีหรือเสรีภาพบ้าง เป็นเรื่องตรงกันข้ามเมื่อเทียบกับฟาร์มไก่ที่เลี้ยงในที่แคบ ถูกบำรุง(เร่ง)เนื้อด้วยอาหาร ไม่มีโอกาสได้ไปไหน ครั้นถึงเวลาก็ถูกนำไปฆ่าฯลฯ ไก่เหล่านี้เหมือนเกิดมาเพื่อเป็นอาหารมนุษย์เท่านั้น มิได้มีศักดิ์ศรีอะไรเลยฯ แน่นอนว่าการประกอบอาชีพเช่นนี้เป็นมิจฉาชีพ หรือที่พุทธศาสนาเรียกว่า มิจฉาวนิชชา (ต่อให้ถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม) เพราะขัดกับหลักศีลธรรม ใช้ชีวิตสัตว์อื่นเป็นเครื่องมือในการอยู่รอด/สร้างความร่ำรวยให้ตนเองฯ ดร.สมภาร พรมทาตั้งข้อสังเกตว่าพุทธศาสนาเถรวาทกลับห้ามเรื่องการเลี้ยงสัตว์ไว้ฆ่าหรือขายอย่างชัดเจน เป็นการเน้นไปที่ผู้ผลิต ส่วนพุทธศาสนามหายานกลับเน้นที่ตัวผู้บริโภค คือสอนว่าผู้ใดบริโภคเนื้อสัตว์ย่อมสะท้อนถึงการขาดเมตตาฯลฯ (งานวิจัยเรื่อง “กิน : มุมมองของพุทธศาสนา” โดยอาจารย์สมภาร พรมทา โครงการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ครั้งที่ ๒, พ.ศ ๒๕๔๗) หากสามารถพุ่งคำสอนไปทั้งสองฝ่ายคือทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เรื่องการเว้นจากการฆ่าสัตว์(เพื่อปรุงอาหาร) ก็จะสิ้นสุดลงได้ด้วยดีฯ
      คราวนี้กลับมาที่ประเด็นเรื่องการไม่ฆ่า แต่ไปหาซื้อมาบริโภค เรื่องนี้ไม่ค่อยมีการถกกันให้กระจ่าง อาจเป็นเพราะหลายฝ่ายไม่ต้องการความจริง คือเกรงว่าครั้นได้ข้อยุติแล้วตนจะทำเช่นนั้นอยู่ไม่ได้ เพราะจะถูกมองว่าขาดคุณธรรมเป็นต้น ประเด็นนี้ผู้เขียนเองก็ไม่ประสงค์จะถก อาจเป็นเพราะเหตุผลเดียวกัน? เราอาจยกตัวอย่างการฆ่าสัตว์เหมือนกับการลักทรัพย์ได้ว่า เป็นการไปละเมิดสิทธิเขา คือเอาชีวิตของผู้อื่นมา หากเราไม่ยอมขโมย(เพราะรักษาศีล) แต่เมื่อผู้อื่นขโมยมา(เอามาขาย เพราะทราบว่าผู้คนต่างสนใจหาซื้อ)เราก็ไปซื้อสิ่งนั้นมา การรับซื้อของประเภทนี้ถือเป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่?
      สรุปว่าเรื่องมังสวิรัติก็คงจบลงด้วยการเปิดประเด็นไว้ให้ไปถกเถียงต่อ สิ่งที่ผู้เขียนต้องการเสนอแนะคือ การบริโภคอะไรก็ตาม ควรบริโภคด้วยสติ พิจารณาถึงเป้าหมายที่แท้จริงคือคุณค่าทางโภชนาการ มิใช่รสนิยมหรือความชอบส่วนตัว ขณะเดียวกันให้ใคร่ครวญเสมอ(อย่างไม่มีอคติ)ว่า การบริโภคของตนเบียดเบียนตนและผู้อื่นหรือไม่? ที่สำคัญที่สุด เมื่อบริโภคแล้วใช่จะเอากำลังไปเที่ยวแตร่ นอน หรือสนองกิเลสอย่างอื่น แต่ต้องทำประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและส่วนรวม ความจริงพุทธศาสนายังสอนให้พิจารณาการบริโภคอีกอย่างหนึ่งคือให้เห็นเป็นเพียงธาตุ ไม่ใช่ สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา แม้แต่ตัวผู้บริโภคเองก็ให้มองด้วยการไม่ยึดมั่น เห็นเพียงขันธ์ ๕ มาประกอบกันเป็นไปตามเหตุปัจจัย คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป เป็นของสกปรก อาหารทั้งหลายแต่ก่อนดูดี น่ารับประทาน แต่พอเคี้ยวหรือกลืนไปแล้วก็กลายเป็นสิ่งปฏิกูลน่ารังเกียจฯลฯการพิจารณาเช่นนี้จะทำให้ไม่ยึดติดในรสและรูป(ความสวยงาม)ของอาหารได้ อีกประการคือหากต้องบริโภคเนื้อสัตว์  ให้มองเนื้อนั้นเป็นเสมือนเนื้อบุตรสุดที่รักของตน ซึ่งคนและคู่ครองต้องเดินทางกันดานผ่านทะเลทราย(สังสารวัฏ) ถึงกลางทางเกิดความเหนื่อยล้า อาหารก็หมด บังเอิญลูกตัวเล็กตายขึ้นมา ทั้งสองก็บริโภคเนื้อลูกไปพลาง ร้องไห้ไปพลาง(ถามกันว่าลูกที่น่ารักของตนไปไหนเสียแล้ว) เขาทั้งสองกินเนื้อนั้นไม่ใช่เพื่อความอร่อย เมามัน แต่เพียงเพราะต้องรักษาชีวิตเพื่อผ่านทางกันดาน(สังสารวัฏ)นั้นให้ได้เท่านั้นเองฯ
การท่องเที่ยวในทัศนะของพุทธศาสนา
      ในที่นี้อาจแบ่งการท่องเที่ยวออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือการท่องเที่ยวเพื่อแสวงหาความรู้และการท่องเที่ยวตามใจกิเลส(เสพสุขทางอายตนะดังกล่าวแล้ว) การท่องเที่ยวประเภทแรกจึงไม่ขัดกับหลักของพุทธศาสนาเรื่องการคบหาบัณฑิต(ปณฺฑิตานญฺ จ เสวนา) อย่างไรก็ตามการเที่ยวในประเภทแรกซึ่งมีประโยชน์นี้ยังแบ่งได้อีกเป็น ๒ ประเภท คือมุ่งหาความรู้ทางโลก ดังจะเห็นได้จากการมีโครงการทัศนศึกษาตามสถานที่ต่างๆเป็นต้น ส่วนการท่องเที่ยวประเภทที่สองคือ การมุ่งหาความรู้ทางธรรมหรือความพ้นทุกข์ ด้วยเหตุว่าการท่องเที่ยวประเภทแรกแม้ได้ประสบการณ์หรือความรู้มากมาย แต่ก็เป็นประโยชน์กับชีวิตปัจจุบันเสียส่วนใหญ่(ไม่เอื้อกับการพ้นทุกข์) คือมีความรู้สามารถถ่ายทอดให้ผู้อื่นฟังได้หรือสามารถนำมาสอนเป็นคติเตือนใจ(เช่นอยุธยาเมืองในประวัติศาสตร์) เพื่อให้คนรักชาติและยอมเสียสละไม่เห็นแก่ตัวเป็นต้น การศึกษาประเภทนี้มีผลดีมากหากเทียบกับการไปทะเลหรือน้ำตกของคนที่ต้องการหาความสุขเพียงอย่างเดียวฯ การท่องเที่ยวด้วยอำนาจกิเลสนี้พุทธศาสนาติเตียนมาก จนใช้คำว่า สถานที่อโคจรมีโรงสุรา(ผับบาร์ สถานเริงรมณ์)และแหล่งขายบริการเป็นต้น(อภิธรรม วิภังค์ ข้อ ๖๐๔)  การเที่ยวแสวงสิ่งนอกกายเป็นเรื่องเสียเวลาและไม่เป็นที่ปรารถนาของนักปราชญ์ เพราะความสุขที่แท้ต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นในตัว ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่ภัททวัคคีย์ทั้ง ๓๐ คนผู้กำลังออกตามหาหญิงโสเภณีว่า “ดูกรกุมารทั้งหลาย พวกเธอสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ข้อที่พวกเธอแสวงหาหญิงหรือแสวงหาตนนั้น อย่างไหนเป็นความดีของพวกเธอเล่า(คืออย่างไหนมีประโยชน์กว่า)? (วินัย.มหา. ข้อ ๓๖)
      พระพุทธเจ้าทรงย้ำให้ภิกษุ(เหตุที่ย้ำกับภิกษุเพราะเป็นสังคมที่พระองค์ตั้งขึ้นมาเองและสามารถวางกฎระเบียบหรือแนะนำให้ปฏิบัติตามพระองค์ได้ ส่วนการจะไปขอให้ฆราวาสทำเช่นนั้นเป็นเรื่องค่อนข้างยาก แต่พึงเข้าใจว่าธรรมะเป็นเรื่องดี แม้ฆราวาสทำได้ก็จะดีกับตัว คือชีวิตพัฒนาขึ้น) ให้รู้จักวิธีและสถานที่ในการท่องเที่ยว คือ สติปัฏฐาน ๔ ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปในแดนเป็นของบิดาของตนซึ่งเป็นโคจร(ที่ที่ควรไป) ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในแดนเป็นของบิดาของตนซึ่งเป็นโคจร มาร(กิเลส)ย่อมไม่ได้ช่อง(โอกาส) ไม่ได้อารมณ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แดนเป็นของบิดาของตน ซึ่งเป็นโคจรของภิกษุคืออะไร คือ สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกอยู่ เป็นผู้พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย เป็นผู้พิจารณาเห็นจิตในจิต เป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า แดนเป็นของบิดาของตนซึ่งเป็นโคจรของภิกษุ”(ขุททกนิกาย มหานิเทศ ข้อ ๙๑๗) ดังนั้นสถานที่ที่ควรท่องเที่ยวตามหลักพุทธศาสนาคือสติปัฏฐาน ๔ คือมีสติดำรงอยู่กับกาย เวทนา(ความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉยๆที่เกิดขึ้น) จิต(สภาวะของใจขณะนั้นๆ เช่นมีความโลภก็รู้ว่ามีความโลภ มีความโกรธก็รู้ว่ากำลังมีความโกรธ หดหู่ หรือฟุ่งซ่านเป็นต้น) และรู้ธรรม(คือเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับใจ....รวมถึงสิ่งอื่นๆเช่นมีสติรู้ขณะตาเห็นรูป หูได้ยินเสียงฯลฯ ต่างกับข้อจิตตรงที่ จิตตานุปัสสนารู้ตัวจิตเป็นหลัก ส่วนธรรมานุปัสสนารู้สิ่งที่เกิดกับจิตหรือมาเกาะจิตฯ) โดยสรุปคือตนกำลังทำอะไรก็ให้รู้ชัดว่ากำลังทำสิ่งนั้น จิตมีสภาพเช่นไรก็รู้ชัดถึงสภาพนั้น นี่เป็นการท่องเที่ยวที่ประเสริฐ คือเอาสติตั้งด่านไว้ตรงอายตนะทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ รู้จักสำรวมระวัง ไม่ปล่อยให้กิเลสเข้ายึดครอง ยิ่งท่องเที่ยวไปในสติปัฏฐาน ๔ นี้มากเท่าไร ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสการพ้นทุกข์คือมีปัญญามากเท่านั้นฯ
ความสุข ๓ ระดับ
เป็นที่น่าเสียดายที่แม้แต่ชาวพุทธเองกลับมองข้ามการท่องเที่ยวตามแบบสติปัฏฐานนี้ มุ่งหาแต่ความสุขด้านนอกซึ่งเป็นสุขเคลือบหรือจอมปลอม กล่าวคือเป็น อามิสสุข สุขที่อิงอามิส(หรือวัตถุ) เหตุที่สุขประเภทนี้ไม่เที่ยง เพราะวัตถุเป็นของไม่เที่ยง เมื่อวัตถุที่ตนไปยึดเกิดเสียหาย/เสื่อมสภาพ ความสุขที่ตนจะได้รับก็น้อยลง เช่น คนรัก ครั้นเขามีนิสัยเปลี่ยนไปหรือแสดงอาการบางอย่างซึ่งเราไม่ชอบให้เห็น ความสุขที่เกิดจากการมีคนรักก็จะเปลี่ยนไปตาม นี่เป็นความสุขของปุถุชนที่มีกิเลสหนา เป็นสุขประเภทแรกที่แม้เบื่อหน่ายแล้วก็ยังอยากวิ่งหาสิ่งอื่น อาจเรียกความสุขประเภทนี้ว่า สุขเกิดจากกามฯ ความสุขประเภทที่สองซึ่งยกระดับขึ้นมาอีกหน่อยคือ สุขที่เกิดจากฌาน หรือสมาธิระดับที่ตั้งมั่น คนที่จะเสพสุขประเภทนี้ต้องรู้จักสงบจิตใจ หมั่นฝึกสมาธิ ความสุขที่ได้เป็นความสุขด้านในที่เกิดจากปีติฯ ไม่ต้องวิ่งหาสุขนอกกาย แต่อย่างไรเสียก็ยังไม่ใช่ความสุขขั้นสูงสุด เพราะหากลุกออกมาจากสมาธิหรือเลิกปฏิบัติ ยังต้องพบปะกับผู้คน เผชิญหน้ากับโลกธรรมมีนินทา สรรเสริญเป็นต้น ก็ยังต้องสุขทุกข์ไปตามโลกอีกเช่นเคยฯ ความสุขระดับที่สองนี้หากไม่กล่าวถึงฌาน เพื่อให้เข้ากับสังคมสมัยนี้มากที่สุดคงเทียบได้กับ สุขจากการศึกษาหรือทำประโยชน์ เช่นคนที่ตั้งใจศึกษาหาความรู้เรื่องใดอย่างเต็มที่ เขาจะมีความสุขอยู่กับการจมอยู่กับหนังสือโดยไม่ต้องไปเที่ยวที่ไหน หรือนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังค้นคว้าผลิตวัตถุอะไรสักอย่าง เขาจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้นจนแทบไม่สนใจลูกเมียกระทั่งลืมโกนหนวดเคราตนเองก็มีฯ ความสุขระดับที่ ๓ คือ สุขจากการมีปัญญามองเห็นความจริง ไม่เป็นทาสกิเลส คนที่ได้สุขประเภทนี้ทางศาสนาเรียกว่าอริยบุคคล ไม่ติดทั้งในสุขและทุกข์ มองเห็นทุกอย่างเป็นเพียงการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป กระทั่งร่างกายตนเอง ไม่มีความอาลัยรัก แต่อย่าพึงเข้าใจว่าคนประเภทนี้ปล่อยปละละเลย ป่วยก็ไม่ยอมรักษาหรืออยากฆ่าตัวตาย การกระทำดังกล่าวไม่ใช่เป็นของพระอริยบุคคล แต่เป็นของคนโง่และขี้เกียจ ไม่สามารถจัดการกับชีวิตตนให้ดีขึ้นได้ ที่กล่าวว่าอริยบุคคลไม่อาลัยรักในชีวิตหมายความว่า ท่านยังรักษาสุขภาพเหมือนเดิม ไม่เสพอบายมุขที่ทำร้ายร่างกายให้ลำบาก เพราะยังต้องใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ทำประโยชน์เพื่อผู้คน(ให้มีความสุขเหมือนท่าน) ส่วนเมื่อร่างกายไม่ไหวแล้ว เช่นแก่หง่อมหรือโรคเบียดเบียนแบบรักษาไม่ได้ ท่านก็ไม่เสียดายชีวิต เพราะไม่เห็นว่าใครต้องตาย เป็นแต่เพียงร่างกาย(ขันธ์)ที่กำลังเสื่อมไปตามธรรมชาติเท่านั้นฯ
ไหว้พระ ๙ วัด ได้บุญมากไหม?
      ปัจจุบันมีการท่องเที่ยวเชิงพุทธฯ หรือเรียกให้ถูกคือพุทธพาณิช? แม้ข้าราชการก็จะได้รับสิทธิพิเศษ มีการจัดทัวร์ไปนมัสการพระ ๙ วัดตามท้องถิ่นของตนฯ นี้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย หากยังจัดอยู่ในประเภทของการทัศนศึกษาที่พอเป็นประโยชน์บ้าง ความจริงสิ่งที่ชาวพุทธ(หรือปัญญาชน)ควรสนใจมิใช่การไปไหว้พระในสถานที่ต่างๆเท่านั้น หากแต่ควรเป็นการลงมือศึกษาหาความรู้ทางพระศาสนาให้จริงจัง คือหันกลับเข้าหาพระไตรปิฎก หรือหาความเป็นเหตุเป็นผลของคำสอนมากกว่าการท่องเที่ยว ศึกษาพระพุทธรูปลักษณะปางต่างๆหรือชมเทศน์แหล่มหาชาติเป็นต้น บุญในทางพุทธศาสนาจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อคนคนนั้นสละกิเลส ๓ ตัวได้ คือความโลภ ความโกรธและความหลง(โง่เขลา) การทำบุญที่ได้ผลมากที่สุดคือการเข้าจัดการกับกิเลสตัวสุดท้ายซึ่งเป็นรากเหง้าของทุกอย่างกล่าวคือ ความหลงหรือไม่รู้จริงนั่นเอง ดังนั้นการศึกษาธรรมะให้เข้าใจและการลงมือปฏิบัติเพื่อให้รู้จักกิเลสและละกิเลสจึงเป็นเรื่องน่าแสวงหากว่าฯ มิใช่ว่าการทำบุญอย่างอื่นเช่นให้ทานเป็นต้นไม่ดี เพียงแต่สิ่งเหล่านั้นก็ล้วนต้องทำแบบจำกัด คือรู้จักประมาณ ช่วยเหลือคนที่ควรช่วย และไม่ทำให้ตนต้องเดือนร้อน ที่สำคัญบุญควรประกอบกับปัญญา(ญาณสัมปยุต)เพื่อจะได้พัฒนาความรู้ในการดำเนินชีวิตให้ดีและมีสุขขึ้น ใช่แต่จะหาทางทำบุญโดยความงมงาย หลายคนทำบุญไม่ถูก(ไม่พัฒนาปัญญา)ชีวิตก็ไม่ดีขึ้น ซ้ำยังเป็นตัวรังเกียจของคนรอบข้าง เช่นชอบกล่าวหาผู้อื่นว่า ทำบุญน้อยหรือยิ่งกว่านั้นทำจนตนเดือนร้อน บริจาคเพื่อหวังบุญจอมปลอมจนครอบครัวอดอยากฯลฯ การท่องเที่ยวหรือแสวงบุญ ๙ วัดจึงต้องย้ำเรื่องบุญที่แท้นี้ให้ดีฯ
      สรุปว่า ชาวพุทธต้องตระหนักถึงการเสพปัจจัยมีอาหารการกินและการท่องเที่ยวแสวงหาความสุขของตนให้มากกว่าเดิม  โดยเฉพาะคนที่มีการศึกษา จะต้องพัฒนาความสุขของตนให้เลื่อนระดับไปสู่ขั้นที่สูงขึ้นให้ได้ เพราะโดยเป้าประสงค์ของการศึกษาแล้วก็เพื่อพัฒนาคน การพัฒนาในที่นี้มิใช่จะสอนแต่วิธีหากำไรหรือหาความสุขจากวัตถุ แต่ต้องเป็นคนที่มีความสุขได้ง่ายขึ้นโดยพึ่งวัตถุให้น้อยลง ไปจนถึงขั้นสุดท้ายคือหมั่นพัฒนาจิต มีปัญญามองเห็นความเป็นจริง ไม่ถูกทุกข์บับคั้นฯ เมื่อสามารถพัฒนาไปจนถึงขั้นนี้(หรือแม้ยังไม่ถึง เพียงแต่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการแสวงหาสุขที่ถูกต้อง)ก็สามารถนำพาสังคมหรือคนรอบข้างตนให้พ้นจากโลกของบริโภคนิยมและการแก้ปัญหาอย่างไม่ถูกจุด(เอาสุขไปฝากไว้กับวัตถุ)ได้ ดังพระดำรัสที่ทรงส่งสาวกไปประกาศศาสนาว่า “พวกเธอก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวงทั้งที่เป็นของทิพย์  ทั้งที่เป็นของมนุษย์  พวกเธอจงเที่ยวจาริก  เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก  เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์”(วินัย.มหา.ข้อ ๓๒)
..................................................

วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2555

มารู้จัก ธรรมจักรฯ กันเถอะ


อธิบาย ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
(มารู้จัก ธรรมจักรฯ กันเถอะ ) เจษฎา กันตเมธี
ขมากรรมกถา
หลายคนอาจแปลกใจเพราะไม่เคยเห็นคำว่า “ขมากรรมกถา” ปรากฎเป็นบทนำของบทความทั้งหลาย จะมีก็ควรเป็น บทนำ, เกริ่นนำ, คำนำ, คุยกันก่อนเข้าเรื่อง หรือหากไม่เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้เลยก็ควรเป็น กิตติกรรมประกาศ เพื่อเขียนรายงานให้ทราบถึงรายนามผู้มีคุณแก่การทำงานวิจัย/บทความนั้นให้สำเร็จ แต่ในที่นี้ใช้เป็น “ขมากรรมกถา” ซึ่งหมายถึงการขออภัยโทษหรือแก้ตัวของข้าพเจ้าเอง เนื่องจากบทความรุ่นหลังๆมาไม่ได้ให้ความกระจ่างด้านสาระธรรมทางพุทธศาสนาเท่าใดนัก มุ่งแต่จะวิเคราะห์หรือพูดให้ตรงคือโจมตีมิจฉาทิฏฐิทางพุทธศาสนาเสียเป็นส่วนใหญ่ จนมารู้สึกได้ด้วยตนเองว่า ชักจะมองโลกในแง่ลบไปเสียแล้ว กล่าวคือสถานการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นด้านพุทธศาสนาล้วนมีทั้งแง่ดีและเสีย(ส่วนที่แย่คือผู้รู้หลอกเอาผลประโยชน์จากชาวบ้านเขาและที่ดีคือพาชาวบ้านสร้างวัตถุ เวียนเทียนฯ ดีตรงไหนเนี่ย?) นั่นคือหากจะมองในแง่สร้างสังคมให้ร่มเย็น เกิดสันติสุขฯ ก็ต้องพูดตรงๆว่าบทบาทพุทธศาสนายังมีส่วนอยู่มากเช่นพระที่ไปอบรมคุณธรรมตามโรงเรียนต่างๆ พาเอาเด็ก ผู้ปกครองตลอดจนครูใหญ่ร้องไห้น้ำลายฟูมปาก....อุ้ย! ขอโทษ...น้ำตานองหน้า....กันมานับไม่ถ้วนแล้ว นี่คือแง่คุณธรรม ซึ่งมีในทุกศาสนา แต่หากกล่าวในแง่พัฒนาปัญญา ยังไม่ค่อยมีให้เห็น คือทำให้ผู้ฟังเข้าใจหลักการของพระศาสนา เปลี่ยนจากความเห็นผิดมาเห็นให้ตรง(เช่นจากเดิมเชื่อว่าแม่มีบุญคุณมากที่สุด รักเราโดยไม่เคยหวังผลตอบแทน ท่านตายก็ต้องร้องไห้เพื่อแสดงความกตัญญู หลับตาบูชาท่านโดยไม่ต้องคำนึงถึงความถูกต้อง ก็มาเป็นมองให้เห็นความจริงว่าแม่เป็นคนอย่างไร มีส่วนไหนดีบ้างและส่วนไหนที่ท่านไม่ดี(ไม่ใช่เพื่อจับผิด) แต่เพื่อสามารถเอาอย่างท่านเฉพาะในเรื่องที่ดี เรื่องบุญคุณก็ไม่มีข้อคัดค้าน เพราะท่านมีคุณอยู่แล้ว ต้องตอบแทนตามสมควรไป แต่ไม่ใช่แค่ดูแลประคบประหงม กราบไหว้บูชาหรือร้องไห้ตอนท่านจากไป หากแต่ยังต้องพาท่านให้พัฒนาชีวิตทั้ง ๔ ด้านคือ ศรัทธา ศีล จาคะและปัญญา โดยสรุปคือหากท่านยังเป็นคนเหลวไหล เชื่ออะไรงมงาย ก็ต้องช่วยให้ท่านเป็นคนมีสาระ สร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ตลอดจนพัฒนาปัญญาจนรู้ทันกิเลสพ้นจากความทุกข์ไปให้ได้ฯ) เรื่องนี้เห็นจะมีคนทำกันน้อย ใครออกมาพูดเรื่องเหล่านี้ก็จะถูกมองว่าเป็นคนอกตัญญู พ่อแม่ล้วนมีดีโดยส่วนเดียว เพราะท่านเป็นอรหันต์ของลูกฯลฯ ก็ต้องยกไว้ครับ ลืมไปว่าตั้งใจจะเขียนเป็นเชิงขอขมา เผลอสติทีไรเป็นอันต้องโจมตีคนอื่นตลอดฯลฯ ดังที่กล่าวมาแล้วว่าระยะหลังเขียนบทความเชิงอธิบายสาระธรรมค่อนข้างน้อย จึงถือโอกาสนี้อธิบายธรรมจักรฯเพื่อให้การสละมิจฉาทิฏฐิควบคู่ไปกับการให้ความรู้ด้านสัมมาทิฏฐิแง่ที่มีผลทางปฏิบัติ ดังนั้นให้ผู้ที่ถูกโจมตีมาแล้วหลายครั้งในบทความก่อนๆเบาใจได้และศึกษาเรื่องธรรมจักรฯนี้อย่างไม่ต้องแคลงใจเพราะไม่มีจุดประสงค์พี่จะพาดพิงถึงท่านแต่ประการใด หรือหากมีบางที่คล้ายจะกระทบก็ต้องขอขมาและโปรดอดโทษ เพราะนั่นเกิดจากอนุสัยที่นอนเนื่องอยู่ใน...เอ่อ....จิตสำนึกลึกๆ ซึ่งยากแก่การถ่ายถอนได้ฯ
ขอกล่าวถึง ธรรมจักรฯ (คำเต็มคือ  ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร) โดยอ้างอิงถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ประกอบกับอรรถาธิบายหัวข้อธรรมะ โดยมุ่งเน้นความเข้าใจเป็นสำคัญ เพราะชาวพุทธส่วนใหญ่เคยได้ยินแต่คำว่า ธรรมจักรฯ โดยไม่ทราบลึกลงไปว่าธรรมจักรฯมีความสำคัญมากแค่ไหน พระสูตรอันนี้ถือเป็นหลักการครั้งแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศ ผู้ฟังได้มีโอกาสเข้าใจจนยกตนเองขึ้นเป็นอริยบุคคลมาแล้ว การทราบสาระของธรรมจักรฯนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประสงค์จะพ้นทุกข์หรืออย่างน้อยสามารถสละทิฏฐิที่งมงายทิ้งไปได้บ้างให้สมกับการเป็นชาวพุทธ(ผู้รู้, ตื่นและเบิกบาน)
ธรรมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นเทศนาอันหนึ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเป็นครั้งแรกหลังจากทรงบรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้า วันนั้นถือเป็นวันอาสาฬหบูชา(ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘) แต่ปัจจุบันพอได้ยินคำว่า ธรรมจักรฯ คนส่วนใหญ่ก็กลับนึกถึงวงล้อเกวียนหรือเทียบให้ตรงยุคสมัยคือแม็ครถยนต์ไปเสียฯ นั่นไม่ใช่เรื่องผิด เพราะล้อเกวียนเป็นต้นนั้นถูกใช้เป็นเครื่องหมายโดยแฝงคุณค่าของพระสูตรหรือปรากฎการณ์ครั้งสำคัญทางพุทธศาสนาไว้ด้านใน ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องชำแหละหรือกระชากหน้ากาก(ความหมายเหมือนจะเป็นแง่ลบอย่างไรไม่ทราบ?) เอาเป็นว่าต้องอธิบายเนื้อหาสาระของพระสูตรนั้นให้ชัดเจนจนเป็นประโยชน์แก่การเปลี่ยนทิฏฐิ(สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง)และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ธรรมจักรฯที่เห็นกันทั่วไปจึงจะเป็นสื่อสอนธรรมะทางพุทธศาสนาได้มากกว่าติดไว้ตามกำแพงวัดหรือหน้าศาลาเป็นต้นฯ
ย้อนอดีตคนสองเผ่า
ย้อนกลับไปด้านประวัติศาสตร์ แต่จะไม่ขอกลับไปจนถึงขั้นวิวัฒนาการของมนุษย์ เพราะเดี๋ยวจะเกิดคำถามเหมือนนักบวชศาสนาคริสต์ถามขึ้นมาอีกว่า “ในชีวิตนี้ เราเคยเจอลิงที่ออกลูกเป็นคนบ้างหรือไม่?”  และคงต้องยกเรื่องนี้ให้เป็นหน้าที่ของดาวินส์ไปฯ นั่นคือยุคโบราณ อินเดียเป็นอารยธรรมที่เจริญมายาวนานในแถบเอเชีย(อารัปปาและโมเฮนโจดาโร) มีแม่น้ำสินธุเป็นแหล่งสร้างความอุดมสมบูรณ์(รศ. นันทนา กปิลกาญจน์, ประวัติศาสตร์และอารยธรรมโลก ๒๕๕๐ หน้า ๖๔) (มักสันนิษฐานกันว่า สินธุ เป็นรากศัพท์/ที่มาของคำว่า อินเดีย กล่าวคือ จากเดิมเรียกตามชื่อแม่น้ำว่า Sindhu ต่อมาก็การออกเสียง S หายไปเพี้ยนเป็น Hindhu และสุดท้ายพวกแขกที่อพยพมาใหม่ออกเสียงตัวท้ายเพี้ยนจาก อุ=U เป็น เอีย=ia ผลลัพธ์จึงเป็น อินเดีย(India)...พึงทราบว่านี่เป็นเพียงการสันนิษฐาน ดังนั้นไม่ควรยึดถือว่าต้องถูกต้องเสมอฯ แต่อย่างไรก็ตามน่าจะเชื่อถือได้มากกว่าการบอกว่า “เพราะอินเดียเป็นประเทศที่อยู่ในกวาง...In deer”) แม้ในพุทธประวัติหลักสูตรนักธรรมชั้นตรีก็พูดถึงชน ๒ กลุ่มที่ทำสงครามกัน พวกแรกเป็นพวกที่อยู่กินบริเวณนั้นมานานแล้ว มีการปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ อยู่กันอย่างผาสุก ชนพวกนี้คือพวก มิลักขะ หรือ ดราวิเดียน(Dravidians) หลายคนอาจไม่ทราบว่าศัพท์นี้แปลว่าอะไร (ดร.บรรจบ บรรณรุจิกล่าวว่า ท่านใช้เวลาทั้งชีวิตในการหาความหมายของศัพท์นี้ ซึ่งก็น่ายินดีที่ได้คำตอบคือ) มิลักขะตามความหมายในภาษาบาลีคือ “ผู้มีตาโพลง” (อะไรคือโพลง ยังไม่เข้าใจอยู่ดี? อุตส่าห์หาทั้งชีวิต? แซวเล่นครับอาจารย์) อีกพวกที่อพยพเข้ามาทีหลัง ไม่มีแหล่งทำกินที่แน่นอน เร่ร่อนไปทั่ว เป็นนักรบบนหลังม้า มีอาวุธในการรบที่ก้าวหน้ากว่าจอบเสียมหรือคันเบ็ดของพวกแรก(จะให้เห็นภาพชัด ลองจินตนาการการทำสงครามกันของทั้งสองพวกดู คือพวกหนึ่งขี้ม้า ถือดาบ สะพายธนู ส่วนอีกพวกถือครก สากกระเบือ หนังสะติ้กและวิ่งด้วยเท้าเปล่าไม่ใส่รองเท้า ชัยชนะจะเป็นของใครคงพยากรณ์ไม่ยากถึงขั้นต้องไปหาหมอดูให้ฟันธง)ฯ พวกหลังนี้มีชื่อว่า อินโดยูโรเปี้ยน (Indo-European) ภาษาบาลีเรียกพวกนี้ว่าเป็นอริยกะ แปลว่าผู้ประเสริฐฯ

ปฏิวัติให้สำเร็จก็จะเป็นคนดีโดยอัตโนมัติ
กล่าวคือประเสริฐกว่าพวกแรกที่สามารถเข้ารุกรานและปราบปรามพวกแรกจนราบคาบนั่นเอง (มารุกรานเขาเนี่ยน่ะ เป็นผู้ประเสริฐกว่า?) ข้อนี้สะท้อนถึงสัจธรรมอย่างหนึ่งคือ โลก(คนส่วนใหญ่)จะไม่มองว่าใครเป็นคนดี มีคุณธรรมแล้วพากันยกย่องผู้นั้น กลับพากันยกย่องคนที่ชนะผู้อื่น(ไม่ว่าด้วยวิธีใด) ครั้นทำเขาให้ตกเป็นทาสได้แล้วก็ถือว่าประสบความสำเร็จ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ปัจจุบัน สังคมส่วนใหญ่(ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย)จะยอมรับการปฏิวัติทุกรูปแบบ จนกล่าวกันว่า หากปฏิวัติไม่สำเร็จก็ต้องเป็นกบฏไป แต่เกิดทำได้การปฏิวัตินั้นต้องถือเป็นความชอบธรรมไปในตัว โดยไม่ต้องคำนึงถึงวิธีการหรือผลเสียที่จะได้รับ นี่เป็นการยอมรับโดยดุษฎีตั้งแต่ประชาชนรากหญ้ายันผู้พิพากษาซึ่งทำหน้าที่รักษากฎหมายฯ
ตระกูลของพระพุทธเจ้า
       จากการเข้ารุกรานของพวกหลังนี้ โดยอาศัยอุปกรณ์การรบที่ทันสมัยกว่า สุดท้ายก็สามารถเข้ายึดดินแดนแถบนี้ได้และตั้งตนเป็นพวกที่ประเสริฐกว่าหรือ อริยกะตามที่ทราบแล้ว เมื่อตนเป็นผู้ประเสริฐก็ต้องทำพวกเก่าซึ่งเป็นเชลยหรือคนแพ้สงครามให้ตกเป็นทาส (อาจเทียบกับอำมาตย์และไพร่) ตระกูลของพระพุทธเจ้าก็จัดเป็นพวกหลังที่อพยพเข้ามาใหม่คืออริยกะ เป็นธรรมดาที่ต้นตระกูลของพระพุทธเจ้าต้องถูกจัดให้เป็นพวกที่เจริญกว่าฯ หากยังไม่เชื่อก็ต้องดูวรรณะของพระพุทธเจ้า นั่นคือกษัตริย์ คนแพ้สงครามจะตั้งตนเป็นกษัตริย์ย่อมไม่สมเหตุสมผลฯ นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า การเกิดวรรณะ ๔ ของอินเดียมีต้นกำเนิดจากสงครามครั้งนี้นี่เอง
๑. พวกที่ชนะสงคราม ชำนาญเรื่องการรบก็ตั้งตนเป็น “กษัตริย์” (ผู้ใช้แขนจับดาบเข้าต่อสู้)
๒. อีกพวกกุมคัมภีร์พระเวทไว้ในมือ ทำพิธีกรรมสรรเสริญขอพรพระเจ้าเป็นต้นก็ตั้งตนเป็น “พราหมณ์” (หรือพระในปัจจุบัน) เป็นที่น่าเสียดายที่พระในพุทธศาสนาส่วนใหญ่ยังไม่ทราบหน้าที่ในการบวชของตน(คือเร่งศึกษาและปฏิบัติเพื่อพัฒนาตรัยสิกขา) กลับเข้าใจผิดคิดว่าตนมีหน้าที่เหมือนพราหมณ์ ต้องเร่ร่อนปลุกเสกหรือทำพิธีเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ไปทั่ว เช่นเจิมบ้าน เจิมรถ ต่อชะตา พรมน้ำมนต์ฯลฯ พุทธพจน์ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกก็กลายมาเป็นวิชาอาคมที่ขลังฯ (แต่ก็ดีเหมือนกันน่ะ เพราะเราเองที่อยู่มาแบบร่ำรวยได้จนปัจจุบันก็เพราะทำเรื่องเหล่านี้??? อยากแนะนำให้ฟังธรรมบรรยายของพระพรหมคุณาภรณ์เรื่อง “ตัวมีชื่อว่าเป็นพระ แต่ถ้าไม่ปฏิบัติให้ถูก ก็แค่คือกันกับหมอผี”) ทั้งสองพวกนี้อาจจัดเป็นผู้ชนะสงครามและใช้ชีวิตแบบปีรมิด ขูดรีดผู้อื่น(ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางอ้อมคือหลอกให้เขาเชื่อว่าตนเป็นผู้ทรงพลานุภาพ ติดต่อกับพระเจ้าได้ อยากให้นาได้ผลดีต้องมาทำบุญกับตนเพราะตนเป็นเนื้อนาบุญเป็นต้น) และพวกมิลักขะหรือผู้แพ้สงคราม(ซึ่งเป็นคนดี ประกอบอาชีพสุจริต อยู่แบบพอเพียง เสียอย่างเดียวตรงไม่มีปัญญารับการรุกรานของผู้อื่น)ต้องกลายมาเป็น ๒ พวกหลังคือ
๓. แพทศ์หรือไวศยะ พวกนี้มีหน้าที่ค้าขาย ทำการเกษตร เปิดโรงงานทอผ้า(จะเป็นแขกขายมุ้งตามบ้านเราหรือเปล่าไม่ทราบชัด?) ตามที่ตนได้เคยทำอยู่ก่อนแล้ว อาชีพนี้ยังไม่ถือว่าตกต่ำมากนัก ความจริงพวกพราหมณ์หลายคนก็ทำอาชีพนี้ มองในแง่ลบอาจเป็นไปได้ว่าหากินอยู่กับพิธีกรรมอย่างเดียวไม่เพียงพอ เทียบกับพระก็ต้องสร้างขุนแผน พระกริ่ง ปลัดขิกหรือสายมือเป็นต้นขึ้นมาขายด้วย บรรดาอาหารปิณฑบาตอย่างเดียวแม้จะพอกิน แต่ก็ไม่ได้สร้างความเจริญมั่งคั่ง เป็นอุปสรรคกับการเปลี่ยนรุ่นโทรศัพท์มือถือฯ หรือหากมองในแง่บวกก็เป็นไปได้เช่นกันว่ากษัตริย์หรือพราหมณ์เหล่านั้นไม่อยากหลอกชาวบ้าน รังเกียจการทำนาบนหลังคน จึงประสงค์จะประกอบอาชีพที่สุจริตด้วยตนเองฯ ประเด็นหลังนี้มีโอกาสเป็นไปได้มาก เพราะสังคมมนุษย์ต่อให้ตกต่ำหรือเอาเปรียบกันอย่างไร ก็จะมีอีกหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำเช่นนั้น คิดอยากหาทางออกไปในทางเมตตา ไม่เบียนเบียนตนและผู้อื่น (แต่คนดีเช่นนั้นคงไม่ใช่คนที่ท่านเห็นในกระจกทุกวันเป็นแน่???)
๔. ศูทร (อ่านว่า สูด หรือ สู-ทะ-ระ) อย่าเพิ่งเข้าใจผิดไปว่าพวกที่ใส่สูทผูกไทท์ แต่งตัวหล่อตามบริษัทหรือในทำเนียบนะ พวกนี้เป็นชนชั้นแรงงาน กรรมกร  เรียกให้เจ็บใจคือลูกจ้าง หรือให้สะใจกว่านั้นคือขี้ข้าฯ ความน่าสงสารของคนเหล่านี้คือต้องยอมรับชะตากรรมที่เลวร้ายทุกอย่าง หากประสงค์จะอาบน้ำก็ต้องไปอยู่บริเวณที่ไหลมาจากการใช้สอยของคน ๓ วรรณะข้างต้นแล้ว แม้น้ำจะสกปรกอย่างไรก็รับด้วยความยินดีเพราะเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจอยู่แล้วว่าตนด้อยวาสนาและยินดี/ยกย่องคนวรรณสูงให้อยู่เหนือหัว พร้อมเป็นข้ารับใช้อย่างไม่มีเงื่อนไข(เหมือนความรู้สึกที่ผู้ชายแอบชอบสาวฐานะดีในรักครั้งแรกๆนำมาใช้ปลอบใจ/หลอกตัวเอง?)ฯ
ต่อมามีการเพิ่มวรรณะขึ้นอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า จัณฑาล ตามศัพท์แปลว่า “คนดุร้าย” ความจริงพวกนี้เป็นกลุ่มที่น่าสงสารที่สุดและไม่ได้มีความโหดร้ายตามชื่อ ชื่อนั้นตั้งไว้เพื่อให้ผู้อื่นหลีกเสียให้ไกล อย่าไปคบหาสมาคมด้วย เดินเหยียบพื้นบ้านใครต้อง เจ้าของบ้านต้องล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ(ตราเป็ด) อตีดใช้น้ำนมมาล้างฯวรรณะนี้เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ของ ๔ วรรณะข้างต้น เช่นเป็นกษัตริย์แต่รักใคร่กับศูทร์ฯ ลูกที่เกิดมาก็จัดเป็นจัณฑาล ข้าพเจ้ามีเพื่อนคนหนึ่งพ่อเป็นคนอินเดีย ส่วนแม่เป็นคนอีสาน แกจึงถูกล้อว่าเป็นคนจัณฑาล ข้าพเจ้าเองรู้สึกสงสารไม่รู้จะทำประการใดดีจึงได้แต่ปลอบใจว่า “อย่าเสียใจไปเลย การเข้ามาบวชเป็นพระถือเป็นการสลัดออกจากวรรณะทั้งหลายไปแล้ว ตั้งอยู่ในอุดมเพศ อีกอย่างพระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าคนจะเป็นอริยะ(ประเสริฐ)หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการกระทำ มิใช่ชาติกำเนิด(น  ชจฺจา วสโล โหติ    น ชจฺจา โหติ พฺราหฺมโณฯ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ข้อ ๗๐๗) ไม่ต้องไปโกรธหรือด่าตอบเขาหรอกฯ” แต่สิ่งที่ท่านตอบกลับมาคือ “มาห้ามไม่ให้ไปด่าเขากลับ แหม...เพราะเป็นพวกเดียวกับมันอะดิ?” เรื่องของจัณฑาลนี้น่าสนใจมาก ผู้อ่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากประวัติของ ดร.เอ็มเบดก็า (Ambedkar, Bhimrao Ramji)
พุทธศาสนาสอดรับกับประชาธิปไตย
พระพุทธเจ้าไม่ได้เห็นด้วยกับการแบ่งวรรณะตามการเกิดหรือการอ้างว่าพระเจ้า(พรหม)เป็นผู้สร้างผู้บันดาล นั่นคือใครจะเกิดเป็นคนวรรณะไหนก็อยู่ที่อำนาจของพระพรหม ดังนั้นมนุษย์ต้องยอมรับโชคชะตาของตนไปตลอดชีพโดยไม่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ พระองค์มองว่าเหตุของวรรณะอยู่ที่อาชีพ เขากระทำสิ่งใดเขาก็จะถูกเรียกตามนั้น เช่นทำหน้าที่ปกครอง ต่อสู้กับข้าศึกก็ถูกเรียกว่ากษัตริย์ ปั้นหม้อขายก็ถูกเรียกว่านายช่างหม้อ ยากจนเป็นลูกจ้างเขาก็ถูกเรียกว่าทาส ตลอดจนโจร ทหาร ชาวนา ล้วนถูกเรียกชื่อนั้นเพราะกิจการที่ตนทำ (มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ข้อ ๗๐๗)ฯ แต่อาชีพเหล่านั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ คือคนรวยที่ใช้ชีวิตด้วยความประมาท ฟุ่มเฟือยก็ตกเป็นยาจกได้ ส่วนทาสที่รู้จัดอดออม(อาจไม่ถึงขั้นทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย)ก็สามารถตั้งตัวเป็นนายได้ฯ สรุปคือทุกอย่างอยู่ที่การกระทำ(ที่มีปัญญาหรือขาดปัญญา)ฯ
พุทธศาสนาเน้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงชีวิตเป็นหลัก แม้มหายานเองก็ปลุกเรื่องโพธิจิต(Bodhi-mind) ขึ้นมา เพื่อให้เห็นศักยภาพของสัตว์(รวมถึงมนุษย์)ว่ามีความเท่าเทียมกัน มิได้มีใครเลิศไปกว่าใคร ต่างกันแค่ตรงมีโอกาสพัฒนาตนเองเท่านั้น เมื่อมนุษย์ทุกคนมีศักยภาพเสมอกัน จึงต้องเป็นหน้าที่มนุษย์ ที่ไม่ควรหยุดนิ่งรอรับโชคชะตา แต่เร่งทำความเพียรเพื่อประสบความสำเร็จขั้นสูงสุดฯ ที่กล่าวว่าพุทธศาสนาสอดคล้องกับประชาธิปไตยเพราะเห็นว่า ทั้งสองอย่างนี้อาศัยปัจจัยพื้นฐานเหมือนกัน คือก่อนอื่นต้องเชื่อก่อนว่าทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ หรือศักยภาพเท่ากัน ดังนั้นเราจึงสามารถตัดสินใจหรือเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้องได้โดยไม่ต้องให้ผู้อื่นจูงจมูกอยู่เรื่อยไป(สมบูรณาญาสิทธิราชฯ) หากไม่เชื่อข้อเท็จจริงนี้เสียแล้ว เช่นมองว่าคนอื่นดีหรือพัฒนาได้ แต่ตนแย่ไม่สามารถพัฒนาได้ หรือในทางตรงกันข้ามเห็นว่าตนดีและผู้อื่นแย่ ก็นำไปสู่การมอบอำนาจให้ใครคนหนึ่งไปจัดการ(มิได้หมายความว่าระบอบประชาธิปไตยจะต้องเชื่อว่าทุกคนเหมือนกัน มีพัฒนาการสติปัญญาเท่ากัน แต่เห็นว่าแม้ต่างกันก็ต้องเปิดโอกาสให้พัฒนาไปเรื่อยๆ เนื่องจากหากเห็นว่าคนมีความรู้เท่านั้นจึงจะมีสิทธิในสังคมและไม่เปิดโอกาสแก่จนไร้การศึกษา ผู้ไร้การศึกษาก็จะจมอยู่เช่นนั้นเรื่อยไป เห็นว่าแม้ตนไม่มีเสียงในสังคมก็ยังอยู่ได้ เพราะมีผู้ดูแลแทนแล้ว ระบอบเช่นนี้จะทำให้คนบางกลุ่มเท่านั้นพัฒนาชีวิตตนได้ แต่คนส่วนใหญ่ต้องจมปลักอยู่กับที่ การเปิดโอกาสให้แก่คนทุกคนเสมอกันเป็นเสมือนแรงผลักดันให้ผู้มีความรู้น้อยต้องเร่งพัฒนาตนขึ้นมาเพื่อใช้สิทธิและกำหนดสังคมไปในทางที่ถูกต้อง เลือกผู้นำที่ดี/มีคุณภาพและสนใจข้อมูลข่าวสารแบบรอบด้านเป็นต้น)
สำหรับพุทธศาสนา แม้หลายคนจะมีความแตกต่างเช่นฐานะเป็นต้น แต่นั่นไม่ใช่ตัวตัดสินว่าชีวิตจะดีงามได้ ความเท่าเทียมกันของพุทธศาสนาทำให้คนมั่นใจในความสามารถตนเอง ไม่ต้องร้องขออ้อนวอนจากพระเจ้า ปรารถนาสิ่งใดก็ทำความเข้าใจเหตุปัจจัยของสิ่งนั้น ครั้งทราบแล้วว่าเหตุคืออะไร ประสงค์ผลก็เร่งทำเหตุนั้นด้วยตนเอง เช่นเกิดโรคขึ้นกับร่างกาย แทนที่จะไปไหว้จอมปลวกหรือศาลเจ้าที่ก็ไปปรึกษาแพทย์และแก้ไขไปตามอาการของโรคนั้นฯ (ผู้ศรัทธาในพระเจ้าทั้งหลายต่างมีความหวังและรอคอยการช่วยเหลือของพระเจ้าทั้งสิ้น ด้วยเหตุว่าตนเป็นแต่เพียงผู้ถูกสร้าง ไม่มีฤทธิ์อำนาจแต่ประการใด ให้ทุกอย่างเป็นไปตามพระทัยของพระผู้เป็นเจ้าฯ (CEV.Matthew 26:39 My father, if it is possible, don’t make me suffer by drinking from this cup. But do what you want not I want) แปลว่า หากเป็นไปได้ ขอพระเจ้าทรงเลื่อนความตายออกไปจากข้าพระองค์ แต่อย่างไรก็ให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์ ไม่ต้องมาทำตามความปรารถนาของข้าพเจ้า (พระเยซู) แน่นอนว่าภาษิตนี้อาจหมายถึงความไม่เห็นแก่ตัวของพระเยซูได้ แต่จะไม่ขอกล่าวถึงประเด็นนั้นฯ เพราะนี่อย่างน้อยเป็นการลดทอนศักยภาพตนไปฝากแก่ผู้อื่นเสียแล้ว ทัศนะของพุทธศาสนาเมื่อกล่าวถึงทุกข์ก็หมายเอาเหตุปัจจัยเป็นเหตุ (อาศัยตัณหา ดังจะอธิบายต่อไป) ครั้งปัญหามีสาเหตุในการเกิด ผู้ที่แก้ปัญหานั้นก็ต้องเป็นมนุษย์ด้วยการศึกษาเหตุนั้นให้ชัดและตามแก้ให้ตรงจุดตามลักษณะของอริยสัจ ๔
เลือกคนเก่ง(ที่มีอินทรีย์แก่กล้า)เท่านั้นจึงแสดงธรรม
ตกลงตั้งแต่กล่าวมายังไม่ได้เข้าเรื่องธรรมจักรฯเลย เจตนาในการบรรยายถึงสิ่งเหล่านั้นเพียงเพื่อปูพื้นฐานทางพุทธศาสนาให้เห็นความต่างเล็กน้อยกับศาสนาอื่น อีกประการคือเพื่อให้เห็นที่มาอันเป็นร่องความคิดซึ่งจะก่อให้เกิดหลักการสำคัญที่พระพุทธเจ้าใช้ปฏิเสธความเชื่อเก่าทั้งหลายฯ แต่คราวนี้ขอเริ่มแบบเอาจริงแล้ว....
       ธรรมจักรฯ หรือชื่อเต็มคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นเทศนากัณฑ์แรกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์(วินัยปิฎก มหาวรรค ข้อ ๑๓-๑๗ และสังยุตตนิกาย มหาวรรค ข้อ ๑๖๖๔-๑๖๗๓) ครั้นพระพุทธเจ้าบรรลุธรรมใหม่ พิจารณาเห็นธรรมของพระองค์แล้วเป็นของยาก สัตว์ทั้งหลายต่างหลงเพลิดเพลินอยู่ในกาม(การหาความสุขสนองกิเลส) ไม่สามารถจะเข้าใจธรรมของพระองค์ได้แน่ จึงไม่อยากแสดงธรรม ดูเนื้อหาเรื่องนี้จากพระสูตรเลยดีกว่า
ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ เป็นคุณอันลึก เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก เป็นธรรมสงบ ประณีต ไม่หยั่งลงสู่ความตรึก ละเอียด เป็นวิสัยที่บัณฑิตจะพึงรู้แจ้ง ส่วนหมู่สัตว์นี้เริงรมย์ด้วยอาลัย(ตัณหา) ยินดีในอาลัย ชื่นชมในอาลัย ฐานะคือความที่อวิชชาเป็นปัจจัยแห่งสังขารเป็นต้นนี้ เป็นสภาพอาศัยปัจจัยเกิดขึ้นนี้ อันหมู่สัตว์ผู้เริงรมย์ด้วยอาลัย ยินดีในอาลัย ชื่นชมในอาลัยเห็นได้ยาก แม้ฐานะคือธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่สิ้นกำหนัด เป็นที่ดับสนิท หากิเลสเครื่องร้อยรัดมิได้นี้ก็แสนยากที่จะเห็นได้ ก็ถ้าเราจะพึงแสดงธรรม สัตว์เหล่าอื่นก็จะไม่พึงรู้ทั่วถึงธรรมของเรา ข้อนั้นจะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา. (วินัยปิฎก มหาวรรค ข้อ ๗)
อะไรกันแน่คือ โยนิโสมนสิการ (ขั้นของวิปัสสนา/โลกุตตระ)
ความจริงภาษิตนี้ชี้อะไรได้หลายอย่าง เช่นธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้เป็นของลึกซึ้ง ไม่หยั่งลงสู่ความตรึก (อตกฺกาวจโร) คือพิจารณาหาเหตุผลอย่างไรเหมือนพวกนักคิดก็บรรลุธรรมไม่ได้ เป็นเรื่องต้องเตือนใจนักปราชญ์ทั้งหลายที่ชอบแปลคำว่า โยนิโสมนสิการ ว่า การนั่งคิดใคร่ครวญ หรือบ้างก็บอกว่านั่งสมาธิไปพลางพิจารณาธรรมไปพลางก็มี (ข้อหลังนี้ไม่ผิด แต่เสี่ยงตรงที่พิจารณาธรรมมีขอบเขตแค่ไหน? หากนั่งใคร่ครวญหาเหตุผล ก็ไม่ถูก ความจริงจะหมายถึงการนำเอาสิ่งต่างๆ เช่นอนุสสติเป็นต้นมาพิจารณา/บริกรรม มาทำไว้ในใจ ซึ่งจัดเป็นขั้นสมถะฯ โยนิโสมนสิการจะแปลว่านั่งนึกหรือตั้งใจจดจ่อกับสิ่งนั้นอย่างแยบคายก็ไม่น่าจะผิด หรือการได้ฟังข่าวสารเรื่องใดมาแล้วพิจารณาใคร่ครวญเสียก่อนเรียกว่าเป็นโยนิโสฯก็ใช้ได้ ข้าพเจ้าไม่ต้องการถกแง่ของโลกิยะหรือขั้นสมถะคือเป็นเพียงอุบายทำใจให้สงบเหล่านี้) แต่ความหมายที่แท้ของโยนิโสมนสิการในแง่ของการปฏิบัติวิปัสสนา(การจะพ้นทุกข์)คือ การตามรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะอย่างต่อเนื่อง  กระทั่งเห็นการเกิดขึ้น แปรเปลี่ยนและดับไปเองของอารมณ์นั้นในที่สุด เข้าใจชัดว่าเป็นลักษณะของอนัตตาฯ ไม่เป็นไปตามใจปรารถนา แต่ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยฯ ครั้งเห็นต้นเงื่อนของทุกข์ดังนี้แล้วเกิดความปล่อยวาง ไม่ยึดมั่น นี่แหละจึงเป็นโยนิโสมนสิการ โยสิโสมนสิการในวิปัสสนาจึงไม่ได้แปลง่ายๆว่าพิจารณาโดยแยบคาย แต่หมายถึงพิจารณาเห็น(สิ่งที่ปรากฎขึ้น)อย่างกระจ่าง โยนิ(ศัพท์ที่แสนสกปรก จนกลายเป็นชื่ออวัยวะเพศหญิง....แต่ก็เซ็กซี่นะ?) อาจแปลตามรากศัพท์ได้เลยว่า ที่เกิด/แหล่งกำเนิด หมายถึงพิจารณาสิ่งที่ปรากฎจนเห็นแหล่งกำเนิด เช่นเกิดทุกข์ก็ไม่ใช่เพียงรู้สึกว่าเป็นทุกข์แล้วดีใจ/เสียใจหรือบ้างก็หลอกตัวเองว่าให้รีบปล่อยวาง กล่าวคือหากไม่ผ่านกระบวนการเห็นให้ชัดเจนเสียก่อน การปล่อยวางนั้นเป็นเพียงอัญญานุเปกขา คือปล่อยวางด้วยความไม่รู้(เหมือนเด็กปล่อยวางเรื่องการเมือง) ได้ยินอาจารย์กรรมฐานสอนมาอย่างไรก็ทำตามนั้น ซึ่งการกระทำเช่นนั้นเป็นการปฏิเสธความจริงที่ตนต้องประสบเฉพาะหน้า(โดยผูกใจไว้กับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ตนเอามาพิจารณาอย่างเหนียวแน่น ไม่สนใจสิ่งอื่น อารมณ์ที่ที่จับก็เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นเองหรือจดจำมาจากอดีต มิใช่ปัจจุบัน) นี้จึงไม่ใช่ทางบรรลุธรรม แต่โยนิโสฯที่ถูกต้อง ต้องพิจารณาเห็นสิ่งนั้น(ที่เกิดอยู่ในปัจจุบันขณะ)ตั้งแต่มูลรากที่มันเกิดจนทะลุปรุโปร่ง ครั้นเห็นแล้วจิตที่เข้าใจจะปล่อยวางไปเองเพราะเห็นว่าไม่เป็นสาระให้ยึด มิใช่ต้องมาเที่ยวบังคับให้จิตไปปล่อยวาง....อย่าคิดว่าจะมาสร้างความแตกแยกในยุคแสวงหาการปรองดองนะครับ ความจริงอาจารย์วิปัสสนาท่านพูดให้ฟัง ยังมิได้เห็นด้วยตนเอง แต่ที่นำมาเล่าก็เพื่อจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ศึกษาปริยัติโดยไม่สนใจแง่ปฏิบัติเลย(หมายถึงการปฏิบัติที่ถูกทางนะ?)ฯ อีกประการที่ชัดเจนซึ่งจะรับรองคำพูดที่ข้าพเจ้ากล่าวว่า ธรรมะในพุทธศาสนา(ขั้นของการบรรลุธรรม/โลกุตตระ) เหมาะแก่คนที่เป็นบัณฑิตมีปัญญา(คืออินทรีย์ ๕ แก่กล้า)เท่านั้น พระองค์ใช้ศัพท์ว่า “ปณฺฑิตเวทนีโย” หมายถึง ธรรมนี้บัณฑิตเท่านั้นจะเข้าใจได้ มิใช่เหมาะแก่คนโง่เง่าทั่วไปที่สักแต่ใช้ชีวิตไปวันๆ  เพราะเหตุนี้เองจึงกล่าวได้ว่า พุทธศาสนาเกิดขึ้นเพราะคนกลุ่มน้อยเท่านั้น(ผู้มีธุลีในดวงตาน้อย) เพราะพิจารณาเห็นคนกลุ่มนี้ พระพุทธเจ้าจึงตัดสินใจสอนธรรม ถ้าเช่นนั้นแล้วจะไม่ขัดกับคำว่า พุทธศาสนาเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนหรือ(วินัยปิฎก มหาวรรค ข้อ ๓๒)? ตอบว่าไม่ขัด เบื้องต้นที่ตัดสินใจสอนธรรม พระพุทธเจ้าทรงเห็นประโยชน์ของคนกลุ่มน้อยจริง(ที่จะเข้าใจจนบรรลุธรรมได้) แต่ครั้นลงมือแสดงธรรมแล้วก็ตรัสทั้งเรื่องโลกุตตระและโลกิยะเพื่อจะเป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางที่สุด กล่าวคือบางคนแม้จะไม่ถึงขั้นบรรลุธรรม แต่ก็สามารถพัฒนาตนเอง ตั้งอยู่ขั้นคุณธรรม ศีล หรือสมาธิเป็นต้นได้ฯ
พระพรหมที่เป็นสัมมาทิฏฐิมีด้วยหรือ?
ในเบื้องต้นครั้นทรงดำริเห็นคนมีกิเลสมากเช่นนี้ก็เกิดไม่ประสงค์จะแสดงธรรมฯพระพรหมเห็นจะเป็นเรื่องเสียหายแก่สัตว์โลก คือจะไม่มีผู้ได้รับประโยชน์จากการบรรลุธรรมของพระองค์ จึงได้มานิมนต์ให้ไปแสดงธรรม ซึ่งทราบได้จากที่นี้เองว่า พรหมที่เป็นสัมมาทิฏฐิก็มี มิได้มีแต่พวกยึดมั่นอัตตาอย่างเดียว(อัตตวาทุปาทาน) ถามต่อว่า หากพรหมเข้าใจเรื่องอนัตตา(ไม่ยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง) คือทราบแน่ว่าเจ้าชายสิทธัตถะเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว(การจะทราบว่าใครบรรลุธรรมได้ชัดเจน ตนต้องมีความสามารถในระดับหนึ่ง)ไฉนจึงไม่บรรลุธรรมเสียก่อนพระพุทธเจ้า ติดกันอยู่แค่ขั้นรูปพรหมหรืออรูปพรหมเท่านั้น ตอบว่า(บาง)ท่านอาจทราบว่าการเขาถึงพรหมยังมิใช่การดับสังสารวัฏ เพราะยังมีอัตตาความยึดมั่นในตนเหลืออยู่ แต่ก็ไม่ทราบจะทำประการใดจึงจะละอัตตานั้นได้ฯ พระพุทธเจ้าซึ่งมาพบวิธีเป็นคนแรกจึงได้กลายเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปฯ การอาราธนาของพรหมมีภาษิตว่า
เมื่อก่อนธรรมไม่บริสุทธิ์อันคนมีมลทินทั้งหลายคิดแล้วได้ปรากฏในมคธชนบท ขอพระองค์ได้โปรดทรงเปิดประตูแห่งอมตธรรมนี้ ขอสัตว์ทั้งหลายจงฟังธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้หมดมลทินตรัสรู้แล้วตามลำดับ เปรียบเหมือนบุรุษมีจักษุยืนอยู่บนยอดภูเขาศิลาพึงเห็นชุมชนได้โดยรอบฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้มีปัญญาดี มีพระปัญญาจักษุรอบคอบ ขอพระองค์ผู้ปราศจากความโศกจงเสด็จขึ้นสู่ปราสาท อันสำเร็จด้วยธรรม แล้วทรงพิจารณาชุมชน ผู้เกลื่อนกล่นด้วยความโศก ผู้อันชาติและชราครอบงำแล้ว มีอุปมัยฉันนั้นเถิด ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ทรงชนะสงคราม ผู้นำหมู่ หาหนี้มิได้ ขอพระองค์จงทรงอุตสาหะเที่ยวไปในโลกเถิด ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมเพราะสัตว์รู้ทั่วถึงธรรมจักมี.(วินัยปิฎก มหาวรรค ข้อ ๘)
ทางสุดโต่งสะท้อนความเชื่อคน
       เริ่มต้นของธรรมจักรฯ เป็นการกล่าวถึงทาง ๒ ทางที่สุดโต่ง(เผื่อบางคนไม่เข้าใจศัพท์นี้ คือทางที่ตึงเกินไปหรือหย่อนเกินไป ภาษาอังกฤษเรียก Extreme) ประกอบด้วย
๑. การตามใจกิเลส หาความสุขไปวันๆ หรือ กามสุขัลลิกานุโยค (Pursuit of sensual happiness ) ความเชื่อประเภทนี้มีอยู่ทั่วไปนั่นคือ เห็นว่าบาปบุญคุณโทษไม่มี เป็นความเชื่อของคนประเภทอุจเฉททิฏฐิ(Nihilism) ปฏิเสธโลกหน้า กล่าวคือชีวิตนี้เกิดมาแล้วก็แสวงหาความสุขให้เต็มที่ ไม่ต้องสนใจเรื่องศีลธรรม ความสุข(ที่เกิดจากการสนองอายตนะ)เป็นสิ่งที่ต้องแสวงหา จนเกิดศัพท์หนึ่งขึ้นคือ ทิฏฐธรรมนิพพานทิฏฐิ  (ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พรหมชาลสูตร ข้อ ๕๐) อย่างไรก็ตามนิพพานในปัจจุบันนี้พึงทราบว่าต่างจากพุทธศาสนา นิพพานที่ใช้ในความเชื่อ(ซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิ)นี้ หมายถึงการได้เสพสุขอย่างเต็มที่จนความทุกข์หายไปสิ้น เช่นคนเสพยาเสพติดหรือมีความสุขกับการบำเรอทางเพศ(ห้ามหยุดจินตนาการนะ!) ขณะนั้นเรียกว่าเป็นทิฏฐธรรมนิพพานของลัทธินี้ ส่วนนิพพานของพุทธศาสนาเป็นภาวะที่พร้อมด้วยปัญญา รู้เท่าทันกิเลส ครั้นไม่ตกเป็นทาสกิเลสที่ชักพาให้วิ่งแสวงหาก็ได้สงบนิ่ง อยู่ด้วยสันติฯ การหาความสุขไปเรื่อยๆนี้มีปรากฎทุกยุคสมัย ผู้ที่สามารถประกอบกรรมเช่นนี้ได้ล้วนเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยโภคทรัพย์ แม้ปัจจุบัน(ยุคที่การศึกษาเจริญแล้ว แต่ก็ยังมีลักษณะ...หางด้วน)คนมีการศึกษามาก แต่ยังไม่เข้าใจเป้าหมายของชีวิตเรื่องการพัฒนาพฤติกรรม จิตใจ(คุณธรรม) และปัญญา กลับคิดแต่จะศึกษาให้สูงเอาไว้หาผลประโยชน์จากสังคมและเพื่อนมนุษย์ การงานที่ตนเลือกก็มิใช่สิ่งที่ตนถนัดหรือประสงค์จะช่วยเหลือผู้อื่นในวงกว้าง แต่เป็นงานที่ใช้กำลังให้น้อยที่สุด ได้เงินมากที่สุด เพื่อจะได้ใช้ชีวิต/เวลาที่เหลือสนองตัณหาของตนไปวันๆ นี้เป็นลักษณะของการดับทุกข์ด้วยวิธีประเภทแรกคือ กามสุขัลลิกานุโยค มีปรากฎทุกยุค(ที่คนยังไม่มีปัญญา) เอาแต่ปลอบใจกันว่า เกิดมาก็ต้องตาย เงินทองก็เอาไปไม่ได้(พูดเหมือนเป็นคนรู้ธรรมะ แต่ความจริงโคตรหื่น...) ดังนั้นใช้ชีวิตให้เต็มรสชาติไปดีกว่าฯลฯ ช่างเป็นคำพูดที่ต่ำทรามจริงๆ แต่ลึกๆเราก็รู้สึกอิจฉาเขานะ??? ความเชื่อมิจฉาทิฏฐิข้อแรกนี้โทษรุนแรงมาก เพราะปิดทางสุคติหมด สวรรค์ มนุษย์ก็ได้ยาก เพราะปฏิเสธศีลธรรมเช่นทานเป็นต้นเสียแล้ว ข้อที่ ๒ ถัดไปแม้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ก็ยังพอมีลุ้นสุคติมากกว่าคือ
๒. การทรมานตนให้เต็มที่ หรืออัตตกิลมถานุโยค (Self-mortification) พวกนี้เป็นพวกปฏิเสธพวกแรก  คือเห็นว่าใช้ชีวิตให้สุขขนาดไหนแล้วก็ไม่เห็นสุขถาวรสักที ต้องเติมอยู่เรื่อยๆ ตามทำนองเต็มน้ำอาจเต็ม แต่เต็มตัณหาไม่รู้จักเต็ม(นตฺถิ ตณฺหาสมา นที, ขุททกนิกาย ธรรมบท ข้อ ๒๘ ) พวกนี้จึงพากันปฏิเสธการเสพความสุขแบบจอมปลอม(ดูเหมือนว่าตัวเองเข้าใจถูกว่าสุขแท้คืออะไร แต่สุดท้ายพวกนี้ก็ไม่เข้าใจสุขอยู่ดี) อาจเรียกตามทฤษฎีสมัยใหม่ว่า พวกแรกเป็น Thesis, พวกที่สองนี้ตั้งขึ้นมาปฏิเสธพวกแรกจึงเป็น Anti-Thesis, และสุดท้ายพุทธศาสนาแสดงทางสายกลางเป็น Synthesis (แต่ Synthesis ของพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่สมบูรณ์ไม่สามารถถูกปฏิวัติ(อปฺปฏิวตฺติยํ)ให้กลายเป็น Thesis ใหม่ได้อีกแล้ว) คนที่นิยมการประพฤติประเภทนี้ส่วนใหญ่เป็นนักบวช ออกจากเรือน อยู่ป่าแล้วบำเพ็ญโยคะ/ตบะทรมานด้วยความเชื่อว่า ตนเองได้ทำกรรมชั่วมาตั้งแต่อดีดชาติ(ปุพฺเพกตเหตุวาท...อรรถกถาไทย อังคุตตรนิกาย ติตถสูตร หน้า ๒๗๗) ฉะนั้นตนต้องรับ/เสวยกรรมเหล่านั้นให้หมด นักบวชพวกนี้จึงพากันทรมานร่างกายเพื่อเป็นการเร่งกรรมชั่ว(ทุกขเวทนา)ให้ผลิตผลจนหมด ตนจะได้เหลือแต่ความสุข เพราะเมื่อทำไปถึงจุดหนึ่งกรรมชั่วน่าจะหมดไปแน่ เลยพากันนอนบนตะปู หนาวก็แช่น้ำ ร้อนก็ผิงไฟ อดอาหาร กลั้นลมหายใจเป็นต้น (นิครนถ์นาฏบุตรก็มีคำสอนเช่นนี้ คือไถ่ถอนกรรมเก่าด้วยการบำเพ็ญทุกรกิริยา เรียกว่า นิชชรา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ข้อ ๑๙๕)
ไฉนจึงตำหนิกามสุขัลลิกานุโยคมากกว่าอัตตกิลมถานุโยค?
การปฏิบัติแบบแรก(กามสุขัลลลิกานุโยค)พระพุทธเจ้าตำหนิว่าเป็นของต่ำทราม(หีโน...ใช้คำที่แสนสกปรกแต่แซกซี่อีกแล้ว), เป็นเรื่องของชาวบ้าน(คมฺโม), เป็นของพวกที่หนาด้วยกิเลส(โปถุชฺชนิโก), ไม่เป็นแผนปฏิบัติของผู้ประเสริฐ(อนริโย), ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์(อนตฺถสญฺหิโต), ส่วนการปฏิบัติประเภทที่สองหรือการทรมานตนเอง พระองค์ด่าน้อยลงหน่อย เหลือแค่สองข้อหลังคือไม่เป็นแผนปฏิบัติของผู้ประเสริฐและไม่เป็นประโยชน์ ถามว่าไฉนจึงเป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าไม่ยุติธรรมหรือ? ท่านมหาสียาดอ(โสภณมหาเถระ ในหนังสือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร, พระคันธสาราภิวงศ์แปล, ๒๕๕๑ หน้า ๖๐)ได้วิจารณ์ไว้ว่า เหตุที่การทรมานตน พระพุทธเจ้าไม่ตรัสว่าเป็นของต่ำทรามหรือเป็นของคนที่หนาด้วยกิเลสเพราะการกระทำเช่นนี้ทำได้ยาก กอปรกับให้เกียรตินักบวชทั้งหลายในเวลานั้น(แม้ไม่เห็นด้วยก็ไม่ด่าให้รุนแรง) เพราะการทรมานตนแม้จะยังมีกิเลสแต่ก็ทำ(ด้วยความเข้าใจผิด)เพื่อจะถ่ายถอนกิเลส ซึ่งต่างกับพวกแรก อีกประการที่ไม่กล่าวว่าเป็นของชาวบ้าน เพราะชาวบ้านทั่วไปเขาไม่ทำกัน ผู้ประกอบกิจเช่นนี้จึงจำกัดวงอยู่แต่พวกนักพรตฯ ที่ทรงตำหนิเหมือนกันคือ ไม่เป็นของผู้ประเสริฐและเป็นสิ่งไม่มีประโยชน์ อันนี้เป็นความจริงที่ต้องแนะนำ เพราะพระองค์เองก็เคยปฏิบัติเช่นนั้นมาแล้วจนเจียนตาย แต่ก็ไม่เห็นร่องรอยการบรรลุธรรม(ด้วยว่าไม่เป็นการเจริญปัญญาและแก้ปัญหาตรงการตัดกิเลสทางใจ) เห็นแต่เพียงหากยังทำเช่นนั้นต่อไปคงต้องเดินทางไปเมืองผีเป็นแน่ฯ
ครั้นปฏิเสธทางสุดโต่ง ๒ สายแล้วพระองค์จึงประกาศทางสายกลางของพุทธศาสนา ทางนั้นจะนำไปสู่การรู้แจ้งและพ้นทุกข์(สมฺโพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตติ) ก่อนจะอธิบายทางนี้ซึ่งจัดเป็น มรรค ในข้อสุดท้ายของอริยสัจ ขอกล่าวถึงอริยสัจตามลำดับไปก่อนฯ
อริยสัจ ความจริงที่เหนือความจริงอื่น?
ดังที่ทราบว่า ในโลกนี้มีความจริงอยู่มากมาย ตั้งแต่คำของนักปราชญ์ทั้งหลาย ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่สมบูรณ์แล้วจนกระทั่งหนังสือพิมพ์ Truth today แต่ความจริงที่พระพุทธเจ้าประกาศในเทศนากัณฑ์แรกคือชุด อริยสัจ ๔ นี้เป็นความจริงประเภทกำมือเดียว คือไม่จำต้องรู้ความจริงอย่างอื่นมาก แต่ต้องทราบความจริง ๔ ข้อนี้จึงจะพ้นทุกข์ ครั้นเป็นความจริงขั้นสูงสุดที่คุมชะตาชีวิตมนุษย์ ใครจะสุขหรือทุกข์ก็ขึ้นอยู่กับข้อนี้ ความจริงประเภทนี้จึงไม่ได้เรียกว่าจริงอย่างเดียว แต่โคตรจริง....อริยสัจหรือ Noble Truths
ความหมายของอริยสัจ
       อริยสัจนิยมแปลกันดังนี้คือ
๑. ความจริงอันประเสริฐ (อริย+สจฺจ อริยใช้เป็นตัวขยาย ส่วน สจฺจ เป็นนาม) หมายถึงความจริงอื่นที่มีอยู่ทั่วไปนั่นก็จริง(เช่น เด็กข้างบ้านหนีตามผู้ชายไป, การเลือกตั้งปีนี้ซื้อเสียงกันเกลื่อนเมือง, เบิกงบประมาณไปขุดลองคลองป้องกันน้ำท่วมก็โกงกันวอดวาย ขุด ๑๐ เมตร เว้น/ขยับไปอีก ๑๐ เมตรฯลฯ) ใช่ว่าพุทธศาสนาจะปฏิเสธ แต่ความจริงเหล่านั้นไม่ประเสริฐ คือต่อให้ทราบ/รับรู้ข้อมูลมากก็ไม่เป็นไปเพื่อตัดสังสารวัฏ(ซึ่งความจริงทั่วไปก็มีประโยชน์ในโลกนี้และโลกหน้า แต่ไม่ใช่ประโยชน์สูงสุด)
๒. ความจริงที่ทำให้คนเป็นอริยะ หมายความว่า คนที่รู้ความจริงอย่างอื่นก็ยังเป็นปุถุชนธรรมดา เพราะยังตกเป็นทาสกิเลส แต่คนที่ทราบอริยสัจ จะทำให้อยู่กับโลกได้อย่างไม่ติดโลก ยกสภาพตนจากบุคคลธรรมดา(ที่ต้องรู้สึกสุข ทุกข์ คล้อยตามสถานการณ์ของโลก)มาเป็นอริยบุคคล เข้าใจสภาพทุกอย่างที่เกิดขึ้นตามเป็นจริงและมีท่าที(วิธีตอบสนอง)ต่อสิ่งนั้นได้ถูกต้อง ไม่เป็นทุกข์ฯ
๓. ความจริงของพระอริยะ (แยกศัพท์แบบเดียวกับข้อแรก บาลีเรียกการรวมศัพท์ข้อ ๓ นี้ว่า ฉัฏฐี ตัปปุริสสมาส) คือความจริงประเภทนี้สงวนไว้ให้รับทราบเฉพาะคนที่เป็นอริยะ(บรรลุธรรมแล้ว)เท่านั้น ไม่สาธารณะเหมือนความจริงอย่างอื่นที่รู้แล้วไม่พ้นทุกข์แบบสิ้นเชิงและสามารถใช้สื่อบอกเล่ากระจายกันได้ง่ายฯ
อะไรกันแน่คือ ปัจจัตตังฯ
แต่อย่าพึงเข้าใจว่า อริยสัจต้องเป็นปัจจัตตังตามที่คนไทยหมายถึงคืออธิบายให้ฟังไม่ได้เลย ห้ามพูด ต้องปฏิบัติเอาเองจึงจะรู้ฯลฯ ก็ถ้าไม่พูดให้ฟังจะไปปฏิบัติได้อย่างไร? คำตอบคืออริยสัจหรือหลักธรรมของพุทธศาสนาทุกอย่างสามารถอธิบายได้(ใครบอกว่าเป็นปัจจัตตังแล้วไม่อธิบาย ให้ทราบว่าคนนั้นไม่รู้จักพุทธศาสนาจริง เพราะความเชื่อเช่นนั้นเป็นของลัทธิลึกลับหรือศาสนาพระเจ้า ที่ไม่สามารถบอกใครได้ พระเจ้าเท่านั้นทรงทราบ มนุษย์ไม่มีความสามารถเหมือนพระเจ้าฯ) ส่วนในพุทธศาสนา ปัจจัตตังมีความหมายไปอีกอย่าง คือสามารถอธิบายให้เข้าใจชัดได้ทุกเรื่อง(เพราะพุทธศาสนามีปริยัติมาเป็นแผนที่นำสู่ปฏิบัติ และปริยัติก็เขียนจากผลของการปฏิบัติ) แม้เรื่องนิพพาน อนัตตาฯลฯ ประเด็นคือ การอธิบายเป็นแต่เพียงความเข้าใจเบื้องต้น(สุตมยปัญญาและจินตามยปัญญา. ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ข้อ ๒๒๘) มิใช่ความจริงที่ตนได้เห็นเอง เปรียบง่ายๆเหมือนการเล่าประวัติอเมริกาให้ลูกฟัง ตลอดจนสถานที่สำคัญต่างๆซึ่งตนได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นจนช่ำชอง และการเล่านั้นก็ถูกต้องทุกประการ ลูกที่ฟังเข้าใจก็สามารถรับรู้เรื่องราวของอเมริกาและสามารถเล่าต่อได้ดังตนไปสัมผัสมาเอง แต่อย่างไรเสียลูกคนนั้นก็ยังไม่เคยไปเหยียบ/เห็นอเมริกาด้วยตาตนเองอยู่ดีฯ เมื่อเอาคำว่าปัจจัตตังในความหมายของคนไทยมาจับ ถามว่าลูกคนนั้นไม่สามารถพูดเรื่องอเมริกาได้เลยหรือ? หรือถามให้หนักไปกว่านั้น แม่คนที่ไปอยู่มาเองก็ไม่สามารถเล่าเรื่องอเมริกาได้ จะต้องนิ่งเท่านั้น เพราะประสบการณ์ทุกอย่างเป็นปัจจัตตัง จะต้องทราบได้ด้วยตัวเองเท่านั้น เหมือนคนไทยบอกว่าต่อให้เป็นอรหันต์ก็ไม่สามารถอธิบาย/พูดธรรมะที่ลึกซึ้งได้??? เพราะอันนี้แหละครับ อรหันต์จึงเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด หาเงินกันคนละวิธี สอนกันคนละอย่าง ก็ไม่สามารถทราบได้ว่าใครเป็นตัวจริงตัวปลอมเพราะได้แต่อ้างว่า มันเป็นปัจจัตตังฯ ตกลงเราจะมีพระไตรปิฎกไว้ทำไมครับ มหาวิทยาลัยสงฆ์(ประกอบด้วยนักปราชญ์ทางศาสนา)ก็ควรจะปิดไปให้หมด เพราะธรรมะเป็นสิ่งที่เรียนไม่ได้ ต้องเห็นเองเท่านั้นฯ อย่ามาหมั่นไส้และฟ้องฯกระผมนะ เหตุผลนี้ก็ไม่สามารถให้การในศาลได้ เพราะทุกอย่างเป็นปัจจัตตัง???สรุปนิดหนึ่งเผื่อไม่เข้าใจ(เพราะเดี๋ยวนี้คนส่วนใหญ่ชอบทำเป็นไม่รู้เรื่อง อ่านเสร็จแล้วไปปลุกเสกต่อฯ ) นั่นคือธรรมะทุกอย่างสามารถอธิบายได้เพราะเป็นเรื่องของเหตุและผล การอธิบายสามารถทำให้คนเข้าถึงได้ด้วยปัญญา ๒ ทางคือการฟังและการคิดตาม ปริยัติของพุทธศาสนาจึงไม่ใช่ปัจจัตตัง แต่ปัจจัตตังนี้มีความหมายเพียงแค่ เข้าใจได้(ซึ่งตรงกับความเป็นจริงทุกอย่าง) เพียงแต่ไม่ได้สัมผัสด้วยตนเองเท่านั้นเรียกว่า ภาวนามยปัญญาฯ ฉะนั้นการสอน/เผยแผ่ธรรมะทางพุทธศาสนาจึงไม่จำกัดด้วยคำว่า ปัจจัตตัง (ต่อไปเลิกพูดคำนี้สักทีเหอะ?)
วิธีการสอนของนักปราชญ์
       หลายคนกล่าวว่า พุทธศาสนาหรือพระพุทธเจ้าเองก็ไม่ได้ปฏิเสธให้ตรงตัวไปเลยว่า โลกนี้เกิดจากวิวัฒนาการ ไม่มีพระเจ้า ผู้สร้าง ผู้อภิบาลหรือทำลายโลกฯลฯ ฉะนั้นแสดงว่าพระองค์น่าจะยอมรับเรื่องนี้ไปในตัว  เพียงแต่อยากให้เราเร่งพัฒนาตนเอง ไม่ไปยึดตึดกับพระเจ้าเท่านั้นฯ ความจริงพุทธศาสนาปฏิเสธพระเจ้าด้วยการใช้กฎอริยสัจ ๔ (หรือให้ละเอียดคือปฏิจสมุปบาทนั่นเอง) การอธิบายกฎนี้ให้เข้าใจ ดีกว่าการไปบอกว่า มีพระเจ้าหรือไม่มีฯ เพราะธรรมดานักปราชญ์กล่าวสอนสิ่งใดมักไม่ได้ให้ความเชื่อ/คำตัดสินเท่านั้น แต่จะให้กลวิธีหรือสูตรไปตรวจสอบ เพื่อต่อไปจะสามารถตอบคำถามนั้นด้วยตนเอง ตัวอย่างเช่นหากมีคนถามว่า ท่าน ก.เป็นอรหันต์หรือไม่ แม้ตัวผู้ตอบจะทราบปัญหานั้นดี แต่หากตนเป็นนักปราชญ์ก็จะไม่ตอบแค่ว่าเป็นหรือไม่เป็น เช่นเพราะหากตอบว่าเป็น(สมมติเป็นความจริง)ก็จะทำให้ผู้ถามเกิดศรัทธาในพระ ก. และไม่สนใจความรู้ต่อไป เพียงแต่ประสงค์จะปรนนิบัติ ถวายปัจจัย ๔ ด้วยหวังว่าเกิดบุญกุศลเป็นอันมาก สรุปคือการได้คำตอบของเขา ไม่ได้เป็นไปเพื่อการพัฒนาปัญญาให้สมกับที่ควรจะได้เลย  และคราวต่อไปก็สงสัยใหม่อีกว่า แล้วพระข.ซึ่งมีจริยวัตรงดงามละ...เป็นอรหันต์หรือไม่? ตลอดจน พระ ค.พระ ง....เรื่อยไป ไม่สามารถพึ่งความรู้ตนเองตัดสินอะไรได้ฯ นั่นคือผู้ที่เป็นปราชญ์หลายครั้งไม่ตอบคำถามโดยตรง หรือตอบก็ไม่หยุดแค่นั้น แต่จะให้เหตุผลและมาตรวัดไปด้วยเพื่อเขาจะได้ใช้ในการอื่นต่อ(สามารถพึ่งตนเองได้คราถัดไป) เช่น ท่านจะไม่ตอบว่าพระก.เป็นอรหันต์หรือไม่ แต่จะตอบว่า ให้สังเกตดูว่าท่านยังมีสังโยชน์ ๑๐ อยู่หรือ? สามารถสลายความเชื่อเรื่องอัตตา ศีลพรต/พิธีกรรมงมงาย ความพอใจในลาภยศ ความขุ่นเคืองหมองใจ กระทั่งติดความสุขจากการเข้าฌานเป็นต้นได้หรือ หากสามารถทำลายได้แล้วก็เป็นอรหันต์ หากยังทำไม่ได้ก็ไม่ใช่อรหันต์ การตอบเช่นนี้จะทำให้ผู้ถามสามารถนำไปใช้ได้กับทุกคน ไม่ต้องกลับมาถามซ้ำแล้วซ้ำอีกฯ และให้ดีก็จะแนะนำให้ผู้ถามเองเร่งปฏิบัติเพื่อละกิเลสเหล่านั้น เพื่อจะได้ไม่ต้องไปตามกราบเท้าใครหรือรอปรนนิบัติฯ
อริยสัจนี่เองที่ปฏิเสธพระเจ้า
การสอนของพระพุทธเจ้าก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน คือสอนให้คนมีเหตุผลพึ่งตนเองได้ ไม่ผูกติดอยู่กับผู้สอน(เป็นอาจารย์ที่ไม่อยากได้จำนวนลูกศิษย์) คราวนี้กลับมาว่า การตรัสเรื่องอริยสัจปฏิเสธความเชื่อเรื่องพระเจ้าอย่างไร แต่ครั้งอดีต มนุษย์มีปัญญาน้อย ผูกติดตนเองอยู่กับพระเจ้า หวังให้ทรงโปรดและช่วยเหลือจากอุปสรรคทั้งปวง แต่ครั้งพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วทรงสอนว่า ปัญหาเกิดจากสาเหตุคือการไม่เข้าใจเหตุผลของธรรมชาตินั่นเอง เมื่อไม่เข้าใจกฎของธรรมชาติก็ปฏิบัติตนผิด เช่นสุขภาพจะดีก็ต่อเมื่อรู้จักรักษา ออกกำลังกาย ดูแลเรื่องการบริโภคอาหาร สภาพแวดล้อมที่ตนอาศัยอยู่ฯลฯ หากไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ ฝนตกก็ไปตากฝน แดดออกก็ไปตากแดด เผาขยะก็ไปยืนใต้ลม อาหารก็ประเภทฟาดส์ฟูดฯลฯ เพราะความไม่ทราบปัจจัยเหล่านี้ก็จะส่งผลให้สุขภาพตนไม่ดีตามไปด้วย การแก้ปัญหาจึงไม่ใช่ไปเชื่อว่าเป็นเพราะพระเจ้าทรงต้องการทดลอง หรือกรรมเก่าแต่ชาติปางไหนฯ การแก้ปัญหาจึงต้องแก้ที่สาเหตุ ดูแลร่างกายตนด้วยความรู้ เช่นไปพบแพทย์ กลับมาแก้ไขสภาพแวดล้อม มิใช่ไปกราบไหว้วิงวอนให้พระเจ้าทรงอภัยโทษ หรือหาผ้าเหลืองไปมัดต้นไม้เป็นต้น การสอนให้เข้าใจสภาพปัญหา(ทุกข์) สาเหตุของปัญหา(สมุทัย) การมีชีวิตที่ดี(นิโรธ) และวิธีการนำตนไปสู่การพ้นจากปัญหาทั้งหลาย(มรรค) อย่างถูกต้องนี่จึงเป็นการปฏิเสธอำนาจพระเจ้าผู้บันดาลไปในตัวฯ
ทุกข์
       อริยสัจข้อแรกคือ ทุกข์ ทุกข์เป็นความจริงสูงสุดอย่างหนึ่งที่ทุกคนไม่สามารถปฏิเสธได้ พระพุทธเจ้าตรัสอธิบายว่า การเกิดเป็นทุกข์ แก่...ตาย...เศร้าโศกร่ำไรรำพัน ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ คับแค้นใจ การประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก พลัดพรากจากของรัก ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นล้วนเป็นทุกข์ กล่าวโดยสรุปคือการยึดมั่นในขันธ์ ๕ ว่าเป็นของเราฯนี้เป็นตัวทุกข์
       หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า ไฉนพระพุทธเจ้าไม่ตรัสว่า ความเจ็บป่วย(พยาธิ)เป็นทุกข์ ตรัสข้ามไปเสีย ทรงหลงลืมสติหรืออย่างไร? คำตอบคือ ความจริงการกล่าวถึงการเกิดอย่างเดียวก็ครอบคลุมไปทุกอย่างแล้ว เพราะทุกตัวหลังล้วนเป็นผลมาจากการเกิดทั้งสิ้น เช่นความแก่(ถ้าไม่เกิดก็ไม่แก่ ครั้นเกิดแล้วก็ปฏิเสธความแก่ไม่ได้) อย่าพึงเข้าใจว่าความแก่คือการที่ร่างกายต้องอายุ ๖๐ ปีขึ้นไปเท่านั้น เพราะพุทธศาสนาสอนเรื่อง อนิจจตา ความไม่เที่ยงที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานี้เองก็เป็นความแก่ เกิดมาตั้งแต่วินาทีแรกก็ถูกความแก่ครอบงำแล้ว(เซลล์บางตัวเกิดขึ้น บางตัวตายไปทุกขณะ) ดังนั้นการกล่าวไม่ครบก็ไม่มีปัญหาเพราะยกหัวหน้าขึ้นแสดงแล้ว เช่นพรรคพลังประชาชนโดนยุบฯ ก็ไม่จำต้องกล่าวชื่อสมาชิกพรรคให้ครบ แต่เมื่อทราบดังนี้แล้วก็เป็นอันเข้าใจว่า ใครก็ตามที่สังกัดพรรคพลังประชาชน ล้วนถูกหมายเอาในที่นี้ทั้งสิ้นฯ อีกเหตุผลหนึ่งคือ พยาธิหรือความเจ็บป่วยแม้ไม่กล่าวตรงตัว แต่ใช้คำว่า ความไม่สบายกาย/ความไม่สบายใจมาแทน(ครอบคลุม)ไว้แล้ว ดังนั้นการจะกล่าวเสียทั้งสองอย่างจึงทำให้เฝือไปเสียอีก เป็นการกล่าวที่ซ้ำซากฯ
       ความทุกข์นี้ครอบงำสัตว์ทั้งหลายอย่างเป็นสากลจริงๆ เพราะไม่มีใครหลุดไปจากกฎนี้ ความทุกข์อาจต่างกันบ้างก็ตรงที่ยึดเรื่องใดมากกว่ากัน เช่นบางคนไม่กลัวตายก็ทุกข์กับความตายน้อย แต่ก็ยังทุกข์กับเรื่องอื่นมาก เช่นเป็นคนเจ้าโทสะ ชอบทำร้ายผู้อื่น ก็มีทุกข์มากตรง “ความไม่สบายใจ” ความจริงทุกอย่างก็สัมพันธ์กันหมด เพียงแต่จะมีตัวเด่นมาออกหน้าในสถานการณ์นั้น ตัวอย่างเดิมเช่นเป็นคนเจ้าโทสะ ที่ตนโกรธก็เพราะปรารถนาสิ่งใดก็ไม่ได้ตามชอบใจ รักสิ่งใดมากก็พลัดพรากจากสิ่งนั้นฯลฯ และสุดท้ายก็กลับมาที่ข้อสรุปว่า เพราะไม่เข้าใจเรื่องขันธ์ ยึดว่านี้เป็นตัวตนของตน  ต้องบังคับบัญชาให้เป็นไปตามชอบใจได้ฯ (กรุณาอ่านเสริมเรื่องอริยสัจนี้ได้จากบทความเรื่อง โล้นซ่าหลอกลวงประชาชน ตอนที่ ๒ พระธรรม)


สอนเรื่องทุกข์เพราะมองโลกในแง่ลบหรือ?
หลายคนชอบโจมตีพุทธศาสนาว่าเป็นลัทธิสอนให้มองโลกในแง่ลบ (Pessimism) ศาสนาอื่นสอนแต่เรื่องความรัก เอื้อเฟื่อเผื่อแผ่ พระเจ้าเมตตากับมนุษย์ทุกคนเสมอกัน ชีวิตหลังความตายจะได้ไปอยู่บนสวรรค์ชั่วนิรันดร์(ต้อขอโทษศาสนาคริสต์ด้วยนะครับ ไม่ประสงค์จะโจมตี เพียงแต่กระผมศึกษาคริสตศาสนามากหน่อยด้วยอาลัยรักในพระเยซู ดังนั้นถึงคราเปรียบเทียบเรื่องใดก็นึกถึงคริสตศาสนาก่อนเป็นอันดับแรก หากท่านอ่านแล้วไม่สบายใจก็ให้กลับไปขมากรรมกถาครับ นั่นเป็นคำขอโทษจากลูกแกะหลงทาง) ความจริงการเข้าใจว่าพุทธศาสนาสอนในแง่ลบ ทั้งเรื่องอริยสัจก็เริ่มด้วยความทุกข์ แม้แต่ธรรมะกำมือเดียวก็บอกว่าสอนเฉพาะทุกข์และการพ้นทุกข์ การสอนนี้ให้ทราบว่าไม่ได้ต้องการให้มนุษย์เป็นทุกข์เลย ทุกศาสนาเกิดมาเพื่อคลายทุกข์คน หากศาสนาใดสอนให้คนเป็นทุกข์ก็ต้องถูกลบไปจากประวัติศาสตร์(เพราะวัยรุ่นบอก โคตรกาก) พระพุทธเจ้าสอนเรื่องทุกข์เพื่อให้คนตระหนักถึงความจริงข้อนี้เท่านั้น ไม่ได้ให้เป็นทุกข์ เพราะดังกล่าวแล้วว่า เราถูกทุกข์บีบคั้นอยู่ทุกขณะ แต่ด้วยไม่มีสติปัญญาจึงมองข้ามไปเสีย ถามว่าไฉนฝรั่งต้องมาอาบแดดในเมืองไทย ทั้งที่บ้านตนก็มีทะเล (หรือมาติดใจสาวไทยตัวดำหน้าตาดั่งลิงรุ่น ทั้งที่สาวฝรั่งผิวขาว หน้าตารวมทั้งสติปัญญาดีกว่า)? คำตอบคือถูกทุกข์บีบคั้น ให้รู้สึกอยู่กับที่ไม่ติด เกิดความเบื่อหน่ายของเก่า อยากหารูป รส กลิ่น เสียงฯอันใหม่เสพไปเรื่อยๆ นี่แหละการทำงานของทุกข์ที่ท่านไม่รู้จัก อีกประการหนึ่งให้เห็นภาพชัด(เผื่อฝรั่งบางคนมีปัญญาน้อย) ฝรั่งเดินไม่ระวัง สะดุดก้อนหินเลือดไหล มีคนไหนบ้างบอกว่าตนมีความสุขมากขึ้น? สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความทุกข์พื้นฐานที่คนไม่มีปัญญาเอาแต่ปฏิเสธและหลอกตนเองว่าสุขดีอยู่แล้ว พุทธศาสนามองการณ์ไกลกว่านั้น คือต่อให้สุขในปัจจุบัน แต่หากยังมิกิเลสอยู่ก็เป็นเชื้อก่อทุกข์เรื่อยไป สังสารวัฏก็ไม่จบสิ้น มีการเกิดเมื่อไหร่ แก่ เจ็บ ตายหรือทุกข์ก็ตามมาเมื่อนั้นฯ การสอนเรื่องทุกข์ของพุทธศาสนาจึงประสงค์ให้คนรู้จักความทุกข์ให้เจนจบ จะได้นำไปสู่กระบวนการถัดไปคือหาสาเหตุและวิธีการดับทุกข์แบบสิ้นเชิงฯ หน้าที่หรือกิจในอริยสัจเรื่องของทุกข์นี้พระพุทธเจ้าสอนให้กำหนดรู้(ทุกฺขํ ปริญฺเญยฺยํ) คือรับทราบความจริงเท่านั้น ไม่ได้สอนให้เป็นทุกข์ตามสิ่งที่ต้องประสบฯ

สมุทัย (ทำความเข้าใจตัณหา ๓ กันใหม่)
ครั้นตรัสให้เห็นสภาพความจริงของชีวิตแล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงชี้ต่อว่า ความทุกข์นั้นมิได้เกิดลอยๆ แต่เพราะมีสาเหตุที่เอื้อให้เกิดขึ้น สาเหตุของทุกข์เรียกว่า “สมุทัย” ตรงสาเหตุนี่เองที่แยกพุทธศาสนาออกจากศาสนาของพระเจ้าทั้งหลาย นั่นคือการปฏิเสธอำนาจดลบันดาล แต่เป็นเพราะมนุษย์มีกิเลสหรือที่เรียกว่า ตัณหา มี ๓ ประเภทคือ กามตัณหา ความอยากหาอารมณ์(สิ่งต่างๆ)มาสนองอายตนะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของตน(Craving for sensual pleasure) ประการที่ ๒ คือ ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น(Craving for existence)  ประการสุดท้ายคือ วิภวตัณหา ความอยากที่จะสลัดไปให้พ้น ไม่อยากมีไม่อยากเป็นเช่นนั้น(Craving for non-existence) ที่ยังไม่อธิบายสองข้อหลังเพราะมีเรื่องต้องทำความเข้าใจกันต่อคือ...
หากพูดในแง่ปุถุชนทั่วไป ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็นก็หมายถึง อยากเป็นคนรวย อยากมีหน้ามีตาในสังคม อยากให้ผู้อื่นยกย่องให้เกียรติ หรือถ้าเด็กก็อยากเป็นดาวมหาลัยเป็นต้นฯ ส่วนวิภวตัณหา ความอยากที่จะไม่เป็นนั่นเป็นนี่ เช่น เขาให้เป็นนายกก็ไม่อยากเป็น ให้เป็นเจ้าอาวาสก็ไม่อยากเป็น หรือเด็กก็ไม่อยากเป็นหัวหน้าห้องฯลฯ การอธิบายเช่นนี้ก็ใช้ได้เหมือนกันกรณีที่ต้องการให้คนรู้จักกิเลสแล้วพยายามฝึกสติ สลัดตนออกไปเสียฯ ความจริงหากดูศัพท์ภาษาอังกฤษในสองข้อหลัง การอธิบายที่ผ่านมาเหมือนจะใช้ไม่ได้ นั่นคือหากสื่อแค่การอยากเป็นนั่นเป็นนี่ สามารถใช้ศัพท์ว่า Being แทน Existence ได้เลย แต่ที่ไม่เป็นเช่นนั้นเพราะตัณหาในสองตัวหลังที่นี้หมายเอาภพชาติ การเกิด การดำรงชีวิตอยู่ มากกว่าการอยากเป็นนั่นเป็นนี่ (หรือไม่อยากเป็นนั่นเป็นนี่)การติดในเรื่องภพ หมายเอารูปภพและอรูปภพ จึงเข้ากับขั้นตอนของสังโยชน์ ๑๐ ได้อย่างครอบคลุม นั่นคือเรื่อง รูปราคะ(การติดในรูปฌาน-เกิดเป็นพรหมมีรูป)นี่เป็นภวตัณหา ส่วนอรูปราคะ ไม่พอใจกับรูปพรหม ไม่อยากเป็นเช่นนั้นเพราะเห็นว่ายังไม่เที่ยง แต่ก็ไม่ทราบว่าอะไรกันแน่คือการดับภพชาติ ได้แต่พัฒนาตนสูงขึ้นไปกว่าหน่อยคืออรูปพรหม (การเข้าใจผิดคิดว่าตนดับรูปเสียได้แล้วก็เป็นอันตัดสังสารวัฏ...อุจเฉททิฏฐิ แต่ยังยึดติดในนาม เกิดเป็นอรูปพรหม)นี่จัดเป็นวิภวตัณหา ดังนั้นตัณหาสองข้อหลังจึงเป็นเรื่องคนมีสมาธิแก่กล้า มิใช่ตัณหาความยึดมั่นของปุถุชนทั่วไปฯ
ถามว่า เมื่ออธิบายภวตัณหาและวิภวตัณหาไปในทางสมาธิขั้นสูง แล้วคนที่อยากเป็นนั่นเป็นนี่ล่ะ ไม่จัดเป็นภวตัณหาหรือ? ตอบว่านั่นเป็นเพียงกามตัณหา เช่นอยากเป็นนายกรัฐมนตรีฯ สาเหตุของการอยากเป็นเพราะต้องการชื่อเสียง คำยกย่อง จากคนอื่น ความต้องการเช่นนี้เป็นกามตัณหาที่ผ่านโสตวิญญาณ(อาศัยหูเป็นทางรับอารมณ์ความสุข) หรืออยากเป็นเพราะจะได้มีเงินทองใช้ ชีวิตการเป็นอยู่จะได้สบาย เมื่อประสงค์บ้านหรือรถที่สุขสบายก็เป็นโผฏฐัพพารมณ์(ต้องการผัสสะที่น่าชอบใจ) เพื่อให้ได้กินอาหารที่เลิศหรูก็เป็นชิวหารมณ์เป็นต้น จะเห็นว่าไม่มีอะไรหลุดไปจากการเสวยอายตนะเหล่านี้เลย จึงจัดเป็นกามตัณหาเท่านั้น ส่วนขั้นที่สองและสาม ผู้มีตัณหาเช่นนั้นสามารถสลัดตนออกจากความสุขขั้นต่ำ(อายตนะ)นี้ได้แล้ว ก็เลื่อนไปเป็นสุขจากอำนาจฌานแทนฯ
กล่าวโดยสรุปเพราะอำนาจตัณหานี่เองที่เป็นเหตุให้คน(สัตว์)ต้องเป็นทุกข์อยู่ร่ำไป (อเนกชาติ สํสารํ...ขุททกนิกาย ธรรมบท ข้อ ๒๑) ตัวอย่างง่ายๆ คือยังมีตัณหาทั้ง ๓ ประเภทจึงทำให้พอใจในภพภูมิต่างๆ ครั้นตายไปก็วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏเรื่อยๆ เป็นคนบ้าง เทวดาบ้าง พรหมบ้าง เมื่อมีตัณหาอันเป็นสมุทัย ก็ส่งผลให้เกิดทุกข์มีชาติเป็นต้น ครั้นมีชาติ ชรา มรณะ ความเศร้าโศกผิดหวังต่างๆก็ตามมาฯ กล่าวให้เห็นเป็นปัจจุบันมากขึ้นคือ เพราะมีตัณหาความอยากเสวยอารมณ์ทางอายตนะเป็นต้น จึงต้องให้มนุษย์ออกเที่ยวหาสิ่งเสพบริโภค(อนริยปริเยสนา)อยู่ไม่หยุดยั้ง ยอมทำงานหนักเพียงเพื่อรถราคาแพง ยอมทำทุกอย่าง(ไม่คำนึงถึงความถูกต้อง/ศีลธรรม)เพื่อให้ได้คนที่ตนรักมาครอบครอง สิ่งเหล่านี้ล้วนมีตัณหาเป็นตัวหนุนทั้งสิ้นฯ กิจในอริยสัจหรือวิธีการที่ควรกระทำต่อตัณหานี้คือ ละเสียให้สิ้น เมื่อละตัณหาได้ก็เป็นการตัดเชื้อที่จะส่งผลให้เกิดทุกข์ไปได้ในตัวฯ
เฒ่าชราตัณหากลับ(รู้จักกิเลส ๓ ระดับ)
คำนี้เป็นที่มักคุ้นกันดีและใช้เรียกคนแก่(ทั้งหญิงชาย)ที่แม้ร่างกายเสื่อมโทรมแล้วก็ยังไม่เลิกราในการวิ่งหากาม(ความสุขทางเพศ) หญิงเองก็อยากมีหญ้าอ่อนไว้เคี้ยว(ด้วยฟันปลอม) เช่นเดียวกับเสี่ยที่รับเลี้ยงเด็กหญิงไว้ในอุปถัมถ์(บางคน) ไม่ยอมปล่อยให้กิเลสแก่ไปพร้อมๆกับตนเอง จนมีการคิดคำขึ้นมาพูดกันว่า ตัณหากลับ ความจริงตัณหาก็มีอยู่เช่นนี้นานมาแล้ว มิใช่ว่ากำจัดกิเลสได้แต่ตัณหากลับมาใหม่อีก คำว่าตัณหากลับนี้ให้ถูกควรใช้กับดาบสหรือพระที่ได้ฌาน ทำสมาธิข่มความรู้สึกด้านลบเอาไว้ ครั้นสบโอกาสได้เห็นภาพที่ต้องใจในอดีต เช่นดาบสเห็นมเหสีพระราชานอนนุ่งห่มชั่ว(เป็นสำนวนบาลี แปลให้ทันสมัยคือนอนโป๊?) ฌานก็เสื่อม หล่นลงจากเวหาที่ตนกำลังเหาะมา โชคดีไม่ได้รับอันตราย สามารถร่อนลงจอดได้ทันท่วงทีฯ นี่อาจกล่าวได้ว่าตัณหากลับ แต่สำหรับปุถุชนทั่วไป ตัณหามิได้เคยถูกจัดการหรือจำกัดพื้นที่แต่ประการใด รอคอยโอกาสแสดงตนทุกครั้งเมื่อมีปัจจัยพร้อม เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า ความแก่ไม่สามารถทำให้คนละตัณหาได้ (หากละได้จริงไฉนจึงเที่ยวหายาชูกำลัง ฝ่ายหญิงก็พากันผ่าตัด ดึงหน้า แม้กระทั่งย้อมผมฯ) วิธีการจัดการกับตัณหาจึงต้องใช้วิธี ๓ อย่างตามประเภทของกิเลสดังนี้
๑. วีติกกมะกิเลส        กิเลสที่ทำให้คนต้องทำความผิด ก้าวล่วงศีล การชนะกิเลสเบื้องต้นนี้ให้ได้ต้องอาศัยการรักษาศีล
๒. ปริยุฏฐานกิเลส      กิเลสที่ทำให้ต้องกังวล ฟุ้งซ่าน หมกมุ่นอยู่ในใจ หากเป็นเรื่องเพศก็ไม่ได้ไปล่วงละเมิดลูกเมียใคร(เพราะมีศีลดังข้อแรก) แต่วันๆก็เอาแต่ฟุ้งซ่าน นั่งจินตนาการถึง หรือบางคนบอกว่ามีเพศสัมพันธ์กับสามีภรรยาตนนั่นแหละ แต่คิดถึงหน้าคนอื่น?(ไม่แน่ใจว่าเรื่องเช่นนี้มีจริงหรือไม่ เพราะไม่เคยมีประสบการณ์) แต่พึงเข้าใจโดยสรุปว่า ใครมีกิเลสประเภทนี้ แม้ดูภายนอกเหมือนเป็นคนดี รักษาศีล แต่ภายในก็ยังคิดหมกมุ่น อยู่ไม่เป็นสุขฯ วิธีจัดการกับกิเลสประเภทนี้สามารถใช้สมาธิเข้าต่อสู้ หรือฝึกสมถะให้ชำนาญในเรื่องของอสุภกรรมฐาน หรือมรณัสติ เป็นต้น
๓.อนุสัยกิเลส     กิเลสตัวนี้แม้มีอยู่ตลอด คนก็กลับมองไม่เคยเห็นเพราะซ่อนอยู่เบื้องลึก เช่นเวลานั่งดูทีวี สักพักก็เอาแขนซ้ายมาท้าวคาง สักพักก็เปลี่ยนเป็นแขนขวา หรือดูช่องนี้แล้วสักพักก็เปลี่ยนเป็นช่องอื่นฯ การกระทำเช่นนี้ไม่ได้ก่อทุกข์ให้แก่ผู้นั้นเลย เพราะกิเลสแสดงออกด้วยอัตราที่ต่ำมาก แต่หากย้อนถามว่าไฉนจึงต้องเปลี่ยนมือซ้าย ขาวท้าวคาง? คำตอบคือเพราะมันเริ่มปวด แล้วถูกอนุสัยกิเลสสั่งให้เปลี่ยนโดยที่เราไม่มีสติกำหนดรู้ กิเลสตัวนี้เรียกว่าปฏิฆานุสัย เป็นโคตรตระกูลของโทสะนั่นเอง ครั้นตนไม่ปรารถนาสิ่งใด ใคร่จะผลักไสให้พ้น ก็สะท้อนออกมาด้วยการเปลี่ยนท่าหรือเปลี่ยนอารมณ์เป็นต้นฯ กิเลสประเภทอนุสัยนี้มองผิวเผินเหมือนไม่มีโทษมาก แต่ก็เป็นหัวเชื้อให้แก่กิเลสสองตัวข้างต้น เหตุผลที่ว่าไฉนคนจึงไม่สามารถชนะกิเลสให้ราบคาบได้ เพราะเขาไม่สามารถชนะกิเลสหัวเชื้อตัวนี้นี่เอง เช่นคนกำลังเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง มีลุ้นว่าจะอยู่หรือจะตายเท่าๆกัน ในภาวะเช่นนั้นกิเลสสองประเภทต้นของเขาอาจถูกระงับไปได้ เช่นไม่หื่นกามเหมือนเมื่อก่อนแล้วฯ แต่ครั้นหายดีขึ้นเป็นปกติ นกเขาเริ่มบินกลับรัง ความปรารถนาในกามก็กลับมาอีก นี่เป็นตัวอย่างของอนุสัยกิเลสที่นอน(กรน)อยู่ในจิตสันดาน ครั้นร่างกายพร้อม มีปัจจัย/กำลังเต็มที่ ตนก็จะส่งลูกน้องเป็นกิเลสสองตัวต้นให้มาทำงานต่อฯ ตราบใดที่ไม่สามารถทำลายกิเลสตัวนี้เสียได้ โอกาสกลับมาเป็นเฒ่าชราตัณหากลับก็มีตราบนั้น วิธีประหารกิเลสข้อนี้มีแต่ในพุทธศาสนาคือการทำวิปัสสนา สอนให้มีสติทุกอิริยาบท เช่นวัดมหาธาตุ คณะ ๕ (เลียนแบบมาจากหมวดสัมปชัญญะปัพพะในสติปัฏฐานหรืออานาปานัสติ)ก็จะแนะนำให้ดูกิเลสตัวนี้ด้วยการเฝ้าสังเกตอารมณ์ เมื่ออยากขยับมือก็ให้รู้จิตก่อน อาจใช้คำบริกรรมว่า อยากขยับหนอๆ ขณะขยับก็มีสติรู้ตลอดเวลาโดยบริกรรมว่า เคลื่อนหนอหรือขยับหนอๆฯลฯ การปล่อยตนไปตามกิเลสเรื่อยๆ ไม่มีสติรับรู้กาย เวทนาฯลฯจะทำให้ทุกการกระทำขับเคลื่อนด้วยโมหะ อันเป็นอนุสัยกิเลสนี่เองที่แฝงอยู่เบื้องลึก การสอนวิปัสสนากรรมฐานหากไม่ลงลึกไปถึงขั้นอนุสัยกิเลสนี้ก็ได้ผลน้อยคือออกจากทุกข์ไม่ได้ เช่นในปัจจุบันเน้นการสอนแค่เรื่องลมหายใจ ฝึกควบคุมความคิด  เน้นพรหมวิหาร ๔ มีเมตตากับสรรพสัตว์รอบด้านฯ เรื่องเหล่านี้ก็ดีระดับหนึ่ง(เบื้องต้น) พอที่จะให้ใช้ชีวิตเป็นสุขไปวันๆ ไม่คร่ำเครียดกับโลกมากเท่านั้นเอง แต่ผู้ปฏิบัติก็ยากที่จะสัมผัสหรือเข้าประลองฝีมือกับหัวหน้าโจรชื่ออนุสัยฯ กิเลสตัวนี้สามารถกำจัดได้ด้วยวิปัสสนาหรือปัญญาเท่านั้น นี่เป็นความพิเศษของพุทธศาสนาที่เป็นศาสนาเดียวซึ่งสอนให้คนรู้จักกิเลสตัวนี้พร้อมทั้งวิธีกำจัดให้สิ้นซาก โดยศาสนาอื่นๆ พากับอยู่แต่ขอบนอก เน้นศรัทธา คุณธรรมจริยธรรมเป็นต้นเท่านั้นฯ (ประเภทกิเลสทั้ง ๓ และวิธีกำจัดพบใน The path of freedom, Vimuttimagga, Upatissa, translated by Soma thera,1961 p.4)


นิโรธ
นิโรธเป็นภาวะที่พ้นจากความทุกข์หรือกิเลส บาลีใช้คำว่า ตณฺหาย อเสสวิราคนิโรธาเพราะตัณหาดับหมด จึงชื่อว่านิโรธ นิโรธเป็นคำที่ใช้เรียกแทน(ไวพจน์)ของนิพพานนั่นเอง ฉะนั้นต่อไปนี้หากมีคนถามว่า อะไรคือนิพพานของพุทธศาสนา สามารถตอบได้ทันทีว่า “ภาวะที่คนสามารถดับตัณหาทุกอย่างได้หมด อยู่ด้วยสติปัญญา ไม่เป็นทาสกิเลสอีกต่อไป”ฯ หากเขาสนใจถามต่อว่า แล้วตกลงนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา? ก็ต้องบอกว่า หากยังมีความเชื่อเรื่องอัตตาอยู่ ชีวิตหรือภพยังไม่สูญสิ้น ก็เป็นอันว่าผิด เพราะภพหรือความเห็นผิดเรื่องอัตตามีได้เพราะยังมีตัณหา(กามตัณหา ภวตัณหาและวิภวตัณหา) หากตายไปแล้วประสงค์จะไปเกิดอีก ต่อให้ในที่นั้นตั้งชื่อว่าแดนพระนิพพานก็แสดงว่ามีตัณหาอยู่ ฉะนั้นนิพพานหรือการดับสิ้นของตัณหาในพุทธศาสนาจึงต้องสลายความเชื่อเรื่องอัตตา(Soul) หรืออัตตวาทุปาทาน ไปด้วยในตัวอันเป็นปัจจัยหลักที่จะพาสัตว์ไปเกิดฯ สำหรับกิจในอริยสัจข้อนิโรธนี้ ท่านแนะนำให้ทำให้แจ้ง พูดง่ายๆคือตั้งไว้เป็นอุดมคติ ว่าจะต้องทำให้ถึงภาวะเช่นนี้ ซึ่งวิธีการทำเรียกว่า..
มรรค
       มรรคแปลตามตัวได้เลยว่าช่องทาง(เช่นในปาราชิกข้อเสพเมถุน ภิกษุเสพเมถุน(คือมีเพศสัมพันธ์...เผื่อหลายคนทำเป็นไร้เดียงสาไม่รู้ศัพท์นี้ทั้งที่ประสบการโชกโชน?) ทางใดทางหนึ่งต้องอาบัติปาราชิก ได้แก่ทางปัสสาวมรรคคือทวารเบาหรืออวัยวะเพศ ทางวัจจมรรคคือทวารหนักและมุขมรรคทางปาก...วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ข้อ ๓๙, พูดถึงข้อนี้แล้วสงสารพระหลายรูปเหมือนกัน อยากจะรักษาพระวินัย แต่ด้วยความไม่รู้เลยเลือกเลียนแบบอดีตประธานาธิบดีคนหนึ่ง ไม่ยอมมีเพศสัมพันธ์ทางทวารเบา แต่เลือกเป็นทางปากแทน ฝากพระอุปัชฌาย์และพระวินัยธรทั้งหลายช่วยเน้นย้ำข้อนี้ด้วยนะครับ...แต่อย่าไปทำเสียเองละ???) ซึ่งมรรคในที่นี้มีความหมายว่า ถนนหรือวิธีปฏิบัติมีองค์ประกอบ ๘ อย่างหรือที่เรียกกันว่า มรรคมีองค์ ๘


ทางไปนิพพาน ๘ สาย?
       ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจคำว่า มรรคมีองค์ ๘ กันเสียก่อน หลายคนชอบเรียกให้สั้นเข้าไว้จึงเหลือเพียง มรรค ๘ (การพูดสั้นมิใช่อุปสรรค หากเข้าใจให้ถูก) เลยกลายเป็นว่า ทางไปนิพพานมีตั้ง ๘ สาย ฉะนั้นการปฏิบัติอาจต่างกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดา บางคนก็เน้นปัญญาคือสัมมาทิฏฐิ บ้างก็เน้นการเล่นฌาน ใช้ฤทธิ์ปาฏิหาริย์ก็เป็นสัมมาสมาธิ จนหลายคนที่งมงายกว่านั้นก็เอามาพูดต่อว่า เพราะทางมีหลายสาย บางรูปจึงต้องปลุกเสก บางรูปก่อสร้าง บางรูปเขาวังขอเลื่อนยศฯลฯ แต่สุดท้ายท่านก็มีจุดหมายอันเดียวคือไปเจอกันที่นิพพานอยู่ดี(ไปเจอกันที่ธนาคารเพื่อฝากเงินต่างหากครับ?) สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนทั้งสิ้น พระพุทธเจ้าตรัสว่าท่างไปนิพพานมีทางเดียวเท่านั้นคือ สติปัฏฐาน ๔ (เอกายโน ภิกฺขเว อยํ มคฺโค...มหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค ข้อ ๒๗๓) ทีนี้อาจถามต่อว่า แล้วสติปัฏฐาน ๔ เกี่ยวอะไรด้วยกับมรรค ๘ ที่กำลังอธิบาย? คำตอบคือคนที่บำเพ็ญสติปัฏฐาน เท่ากับเจริญมรรค ๘ อยู่นั่นเอง เช่นเดินจงกรม เขามีความเชื่อถูกว่า การรู้เท่าทันกิเลสเป็นเหตุให้ละกิเลสได้ นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ, ขณะเดินจงกรมไม่ส่ายไปหาความความคิดเรื่องกาม พยาบาท และการเบียดเบียนเพราะตนพินิจอยู่แต่เรื่องการเดิน ก็เป็นสัมมาสังกัปปะฯ, ขณะเดินละเว้นจากการพูดเท็จ ส่อเสียด คำหยาบและเพ้อเจ้อ ก็เป็นสัมมาวาจาฯ, ขณะนั้นเขาเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์และประพฤติผิดในกามเป็นต้นชื่อว่า สัมมากัมมัตตะฯ,  ขณะเดินจงกรมได้เว้นมิจฉาอาชีพทั้งหมดทั้งที่เบียดเบียนตนและผู้อื่น ตั้งอยู่ในสัมมาอาชีพคือเจริญสมาธิและปัญญาตนจึงจัดเป็น สัมมาอาชีวะฯ, การเดินจงกรมต้องอาศัยความเพียร ๔ ประการคือ ละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ป้องกันไม่ให้บาปอกุศลเกิดขึ้น ทำให้กุศลกรรมเกิดขึ้นและพยายามรักษา(ทำให้เจริญ)กุศลกรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นสัมมาวายามะฯ, การระลึกอยู่แต่อาการของการเดิน เห็นอาการยก ย่าง เหยียบเป็นต้นในปัจจุบันขณะ ไม่ส่งใจไปในอดีต หรืออนาคต ก็จัดเป็น สัมมาสติฯ ครั้นเกิดสติมั่น ไม่ตกไปในอารมณ์ของกามเป็นต้น จิตตั้งมั่นในกุศลธรรม อยู่ด้วยปีติ สุข หรืออุเบกขาเป็นต้นก็จัดเป็นสัมมาสมาธิฯ
       จึงขอสรุปสั้นๆว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ ทั้งหมดจะเกิดผลดีก็ต่อเมื่อประกอบพร้อมกันเท่านั้น(เป็นไปได้หรือที่เขาบอกว่า เขามีสัมมาสมาธิแต่ไม่มีสัมมาทิฏฐิ???) นั่นคือทางสายนี้(สู่พระนิพพาน)มีทางเดียว แต่ผู้จะเดิน (หรือจะบอกว่าขับยานใหญ่เช่นมหายาน กระทั่งนั่งจรวดไปเร็วปานสายฟ้าตามวัชรยานก็ดี) ต้องมีคุณสมบัติครบทั้ง ๘ ข้อ เจ้าหน้าที่ทางด่วนจึงเปิดโอกาสให้ขึ้นไปแล่นบนทางนี้ได้ฯ
ปริวัฏ ๓ อาการ ๑๒ กับการปฏิญาณตนเป็นพระพุทธเจ้า
ข้อนี้ฟังชื่อแล้วน่ากลัว แต่ความจริงไม่ยากกับการอธิบาย นั่นคือกล่าวถึงกิจที่ควรทำแก่อริยสัจทั้ง ๔ ข้อขอยกเป็นตารางง่ายๆ ดังนี้

อริยสัจ ๔
และ ญาณ ๓
สัจจญาณ(ทราบตามจริงว่าสิ่งนั้นคืออะไร)
กิจจญาณ(ทราบว่าจะทำอย่างไรต่อสิ่งนั้น)
กตญาณ(ทราบว่าตนทำสิ่งนั้นสำเร็จแล้ว)
ทุกข์
สภาวะไม่สบายกายและใจ(ผล)
ต้องกำหนดรู้ทุกข์ให้ชัด รับทราบว่าตนถูกครอบงำด้วยทุกข์
รู้ว่าตนเข้าใจทุกข์ชัดแล้ว
สมุทัย
สาเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์(เหตุ)
พยายามละเหตุที่จะก่อให้เกิดทุกข์เสีย
รู้ว่าเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ตนก็ละได้ขาดแล้ว
นิโรธ
สภาพที่หลุดพ้นจากทุกข์หรือตัณหาทั้งปวง(ผล)
กระทำให้แจ้ง คือทราบชัดว่าทางออกจากปัญหามีอยู่ ไม่ท้อแท้
รู้ว่าทางความสุขแท้อันเกิดจากการพ้นปัญหาตนได้ประสบแล้ว
มรรค
วิธีปฏิบัติเพื่อให้ก้าวถึงนิโรธ(เหตุ)
ดำเนินตามยุทธวิธีนี้(มรรค ๘)เพื่อก้าวถึงการพ้นทุกข์
รู้ว่ากลวิธีทั้ง ๘ ตนได้ดำเนินตามจนสำเร็จลุล่วงแล้ว

หากยังไม่แน่ใจว่าครบ ๑๒ หรือไม่ให้ลองนับจำนวนตารางที่เป็นช่องว่างสีขาวดูฯ ปริวัฏ ๓ คือญาณทั้ง ๓ ที่พึงทำต่ออริยสัจ อาจจัดเป็นเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ส่วนอาการ ๑๒ เป็นการเอาญาณทั้ง ๓ นั้นมาจับอริยสัจทั้ง ๔ ข้อ จึงเท่ากับ ๓ คูณ ๔ เท่ากับ....เท่าไหร่ไม่แน่ใจ จบประถมมานานแล้ว เดี๋ยวจะลองไปถามหลานให้?
หากถามว่า เราทราบได้อย่างไรว่าใครเป็นพระพุทธเจ้า? พระพุทธเจ้ารู้อะไรจึงได้มาเป็นพระพุทธเจ้า? คำตอบคือเพราะท่านผู้นั้นรู้แจ้งในปริวัฏ ๓ อาการ ๑๒ ด้านบนนี้เองจึงทรงปฏิญาณคือกล้าพูดว่าตนเป็นพระพุทธเจ้า ถามต่อว่ารู้แค่อริยสัจคือแง่ความจริง(ในตารางแถวที่๒ ข้อสัจจญาณ)อย่างเดียวไม่ได้หรือ? เพราะเห็นคนเขาชอบพูดกันว่าพระพุทธเจ้ารู้อริยสัจ แม้แต่การสอนในโรงเรียนก็สอนกันแต่ข้อนี้(ไม่ครอบคลุมถึงกิจจญาณและกตญาณ)? ตอบว่ายังไม่ได้ เหตุผลเพราะการรู้ความจริงอย่างเดียว แต่ไม่รู้วิธีปฏิบัติต่อความจริงฯจะทำให้เราประสบความสำเร็จไม่ได้ เช่นรู้แต่ว่าชีวิตเป็นทุกข์ แต่ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรกับความทุกข์ ก็อาจปฏิบัติผิด(ทำกิจ)ต่อทุกข์ผิดก็ได้ เช่นแทนจะไปกำหนดรู้ คือสักแต่ว่ารู้ให้ชัด ก็กลับไปเป็นทุกข์เสียแทน(ดังท่านป.อ.ปยุตฺโตย้ำว่า ทุกข์สำหรับเห็น สุขสำหรับเป็นฯ) หรือหากทราบทุกข์เป็นต้นดีแล้ว รู้วิธีปฏิบัติได้ถูกต้อง แต่หากไม่ลงมือทำก็จะไม่ส่งผลไปข้อที่ ๓ คือกตญาณฯ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงต้องรู้และทำให้ได้ครบทั้ง ๓ อย่างจึงเป็นอันเสร็จกิจฯ
ล้อเกวียนสื่อธรรม
       ขอกล่าวถึงล้อเกวียนหรือแม็ครถยนต์สักเล็กน้อย นักปราชญ์หลายท่านสันนิษฐานว่าเป็นสัญลักษณ์ของรถศึกในครั้นอดีต(ดูคำอธิบายเพิ่มเติมข้อ ย้อนตำนานคนสองเผ่า) หมายถึงผู้ใดมีรถศึกที่เทียมเกวียน สามารถขนส่งเสบียงหรืออาวุธเป็นต้นในการทำศึกด้วยเกวียน กองทัพนั้นก็จะเกรียงไกร คือสามารถปราบบรรดาเมืองที่มีแต่กองทัพคนเดินเท้าเป็นต้นได้ ด้วยวิทยาการที่ทันสมัยกว่านี่เอง ทำให้การรบเป็นไปได้รวดเร็ว ลดกำลังคนในการแบกหามหรือการยกทัพด้วยการเดินเท้าอย่างเดียว ล้อเกวียนจึงเป็นสัญลักษณ์ของ “สงครามวิชัย” คือยกไปถึงไหนก็มีโอกาสชนะถึงนั่น หากแม่ทัพเป็นคนดี(ดีแล้วไปรุกรานเขาทำไม?)ก็จะนำความเจริญไปสู่ที่ที่ตนชนะ เช่นอเล็กซานเดอร์ที่ชนะศึกแล้วสร้างห้องสมุดเป็นต้นให้แก่เมื่องนั้นๆ ล้อเกวียนจึงสื่อทั้งชัยชนะของสงครามและความเจริญของวัตถุฯ พระพุทธเจ้าเองก็เป็นแม่ทัพเหมือนกัน แต่ไม่ได้เอาสงครามไปฝากใครหรือสร้างความเจริญทางวัตถุให้แก่ผู้ใด พระองค์ทรงเอาธรรมะไปให้ และธรรมะนั้นก็เป็นสิ่งทำให้ชนะกิเลส เรียกว่า “ธรรมวิชัย” หมายถึงไม่ทรงชนะผู้อื่นด้านร่างกาย ลดทอนอิสรภาพของผู้ใด แต่ทำให้เขาชนะกิเลสภายใน ประกาศอิสรภาพให้แก่ตนเอง การหมุนล้อธรรมของพระองค์จึงเป็นเสมือนการปฏิวัติประเภทหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงทัศนะคนทั้งทางด้านการเมือง ที่คิดแต่จะเอาเปรียนผู้อื่น ก็มาเป็นสงเคราะห์ช่วยเหลือเขา(ตัวอย่างที่เด่นที่สุดคือ พระเจ้าอโศกมหาราช) แง่ศาสนาก็ปฏิวัติคำสอนผิดทั้งหลายที่เน้นแต่ศรัทธา ผูกคนไว้ด้วยมิจฉาทิฏฐิ คนจึงไม่พ้นทุกข์เป็นอิสรภาพ พระองค์ก็เอาธรรมจักรฯ ที่เป็นสาระธรรมประกอบด้วยความจริงอันประเสริฐเป็นต้นมาประกาศแทน ล้อนี้หมุนไปถึงไหนคนก็มีสิทธิได้รับแสงสว่างคือปัญญามากถึงที่นั่นฯ
       ล้อธรรมจักรฯจึงมีความหมายมาก(กว่าการเห็นแล้วนึกอยากเปลี่ยนแม็ครถยนต์ตัวเอง) หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยต่อว่า จำนวนก้านด้านในธรรมจักรฯนั้นมีจำนวนเท่าไหร่กันแน่? เพราะบ้างก็ ๔ บ้างก็ ๘ หรือบ้างก็ ๑๒?  คำตอบคือไม่ทราบ เพราะเรานึกเอาเองว่าจะจัดเข้าในธรรมหมวดไหน คนที่เชื่อ ๔ ก็ยกอริยสัจมาอ้าง พวกที่เชื่อ ๘ ก็ยกเอาอริยมรรค ส่วนพวก ๑๒ ก็บอกว่า ปฏิจจสมุปบาทฯ ความจริงอย่าว่าแต่ ๑๒ เลย ต่อให้มีสัก ๓๗ ก็ยังอ้างเรื่องโพธิปักขิยธรรมได้ หรือ ๑๐๘ ก็เอาตัณหามาอธิบายฯ สรุปคือไม่มีข้อไหนผิด จุดประสงค์คือต้องการสื่อว่า ธรรมจักรฯของพระพุทธเจ้าหมุนไปเพื่อประกาศอิสรภาพแก่คนเท่านั้นเอง ความจริงหากให้แสดงความเห็นอีกข้อหนึ่งซึ่งสอดคล้องกับเรื่องที่อธิบายไปแล้ว ธรรมจักรฯ ๑๒ ก้านน่าจะสื่อถึง อาการ ๑๒ ของญาณทั้ง ๓ ที่ทำกิจต่ออริยสัจ ๔ นั้นก็ได้...อย่างไรก็ตาม ดังที่กล่าวแล้วว่าก้านล้อธรรมจักรฯไม่ได้ผูกขาดว่าต้องจำนวนเท่านี้เท่านั้น เพียงสื่อให้ถึงความหมายของสาระธรรมทางพุทธศาสนาในแง่การปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ก็ถือเป็นอันใช้ได้ฯ  
.................................................................................