ภัทเทกรัตตสูตร ว่าด้วยผู้ที่มีชีวิตอยู่เพียงคืนเดียวก็ประเสริฐ
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ข้อ ๕๒๖ (เจษฎา กันตเมธี)
บทนำ
พระสูตรนี้เป็นพระดำรัสของพระพุทธเจ้าซึ่งตรัสสอนภิกษุที่วัดเชตวันฯ ความจริงพระสูตรในนิกาย(ที่มา)เดียวกันนี้ ถัดไปอีก ๓ พระสูตร(รวมทั้งสิ้นเป็น ๔ พระสูตร)ได้นำพระสูตรนี้ไปกล่าวต่อ (และบ้างก็มีอรรถาธิบายใหม่ที่ชัดเจน)โดยพระอานนท์ พระมหากัจจายนะและ เทวดาที่กล่าวกับพระโลมสกังคิยะฯ เป็นการเน้นเรื่องการมีชีวิตอยู่ที่คุ้มค่าหรือพระพุทธเจ้า(มุนีผู้สงบ)ทรงสรรเสริญ ด้วยไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์ซึ่งรังแต่จะก่อให้เกิดทุกข์และที่ยิ่งกว่านั้นผู้ไม่รู้จักคุณค่าของเวลา(ใช้ชีวิตไปวันๆ)แม้จะทำงานหนัก ยุ่งกับกิจกรรมบางอย่างทั้งวัน แต่ก็เป็นสิ่งไร้ค่าที่ไม่สามารถพัฒนา/ยกระดับจิตใจตนให้สูงขึ้นเหนือกิเลสได้ฯ
หลักคำสอนทางพุทธศาสนาใช่จะมีจุดประสงค์แค่ทางโลก(โลกิยะ) ที่สอนให้คนประกอบอาชีพและสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างเท่านั้น(ผู้มีตาข้างเดียว)ฯ หากแต่ยังเน้นให้เข้าใจหลักศีลธรรม สั่งสมความดี(ผู้มีตาสองข้าง)และถึงที่สุดยังสอนให้คนพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงโดยการเข้าใจอริยสัจอันเป็นสัจธรรมของโลกที่กล่าวถึงสภาพของปัญหาตลอดจนการพ้นจากปัญหาเหล่านั้น(ผู้มีตาสมบูรณ์) โดยแนวทางการพ้นจากปัญหา(ทุกข์) มิได้จากการอ้อนวอนหรือฝากตน(ความไว้วางใจ/ศรัทธา)ไว้กับพระผู้เป็นเจ้าฯ หากแต่ต้องเร่งความเพียร ใช้ศักยภาพตนเอง พัฒนาปัญญา โดยใช้เวลาทุกขณะอย่างมีประโยชน์ หมายถึงการรู้เท่าทันความจริงที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ ไม่ปล่อยให้กิเลสเข้าครอบงำจิตใจแล้วชักพาตนให้ตกอยู่ให้ห้วงของอดีตและอนาคตซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ มีแต่จะทำให้วิตกกังวลหรือจิตนาการจนเสียกิจการงานที่พึงกระทำในปัจจุบันไปเสียฯ อย่างไรก็ตาม ดังกล่าวแล้วว่าพระสูตร(หรือหลักธรรมในพุทธศาสนา)นี้ใช่จะสอนให้ดำเนินชีวิตทางโลกแบบฆราวาสที่ทำมาหากินไปวันๆเท่านั้น แต่หลักปัจจุบันขณะ(หรือที่เรียกปัจจุบันธรรม)นี้ชี้ถึงการปฏิบัติวิปัสสนาอันเป็นเหตุ(ทางตรง)สู่ความสิ้นทุกข์หรือปัญหาได้ฯ
ใจความหลักของพระสูตร
(๕๒๗) พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้วสิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึงก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบันไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆได้ บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้นย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืนนั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ
ปัญหาของคำว่า ราตรีเดียว
เหตุที่ต้องนำคำนี้มาอธิบายเสียก่อนเพราะหากอ่านพระสูตรจนจบแล้ว หลายคนสามารถตั้งข้อสงสัยถึงความขัดแย้งกันได้ว่า ที่หนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้มีชีวิตอยู่เพียงราตรีเดียวเจริญ(มีคุณค่า)” โดยใช้ศัพท์บาลีว่า ภทฺเทกรตฺโต หรือแม้แต่ชื่อของพระสูตรเองกล่าวคือหมายเอาช่วงเวลา “กลางคืน” ส่วนอีกที่กลับตรัสว่า “ผู้มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันกลางคืนฯ” ตรงนี้กลับบอกเป็นนัยว่าพระองค์ชื่นชมคนที่ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าทั้งวันและคืน(อโหรตฺต) มิใช่กลางคืนอย่างเดียวฯ
เรื่องนี้อาจไม่สำคัญมาก เพราะสามารถกล่าวได้ว่าไม่ควรไปจับผิดพระพุทธเจ้า เพียงแต่ให้ศึกษาจุดหมายหรือสาระสำคัญที่พระองค์สอน ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติก็เพียงพอแล้วฯ ผู้เขียนมิได้ประสงค์จะจับผิดเช่นนั้น หากแต่เห็นว่าการอธิบายเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์คือให้ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์หรือสังคมแก่ผู้สนใจได้โดยศึกษาจากบริบทของสังคมสมัยพุทธกาล(ความจริงก็ใช่จะนำมากล่าวเป็นครั้งแรก เพราะนักปราชญ์ต่างชาติแสดงความเห็นไว้มากมายเพียงพอแล้ว) ยิ่งกว่านั้น การอธิบายให้ชัดเสียก่อนจะช่วยเป็นการคลายความสังสัยของผู้ศึกษาอย่างรอบคอบ ครั้นอ่านมาพบบทที่ดูขัดแย้งกันจะทำให้หมดแรงบันดาลใจในการอ่านไปเสียได้ฯ
คำว่า ราตรี ตามศัพท์หมายถึงช่วงเวลากลางคืน รากคำเป็นศัพท์เดียวกับ ราคะหรือความกำหนัด(ยินดีในกาม)นั่นเอง มีบทวิเคราะห์ว่า เวลาที่ผู้มีราคะเกิดความกำหนัดชื่อว่า ราตรี(รชฺชญฺติ เอตฺถ รตฺติ[1]) หมายถึงช่วงเวลาที่คนมักทำกิจกรรมทางเพศฯ หรือ จะแปลอีกอย่างได้ว่า เวลาที่ทรัพย์หรือเสียง(บทสนทนา) สูญหายไป ชื่อว่าราตรี(รา ธนํ ติยติ ภิชฺชติ เอตฺถาติ รตฺติ, รา สทฺโท ติยติ ฉิชฺชตีติ รตฺติ[2]) หมายความว่าช่วงเวลากลางคืนขโมยจะออกทำงานและเสียงสนทนาของผู้คนก็ขาดหายไปเพราะต้องพักผ่อน(พึงเข้าใจว่าบทวิเคราะห์นี้หมายเอาความเป็นจริงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ในสังคม ใช่ว่าเวลานอกจากนี้คือกลางวัน จะทำกิจเหล่านั้นมิได้เลยฯ) อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์เหล่านี้อาจไม่ตายตัว คือขึ้นอยู่กับผู้รู้บาลีจะแยกแยะออกไป ดังนั้นการนำเสนอจึงเป็นการให้ความรู้เท่านั้น ใช่จะยืนยันว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดและความหมายอื่นที่มิได้กล่าวถึงจะผิดฯ จะวิเคราะห์ศัพท์อย่างไรก็ตาม แต่ที่ค้านไม่ได้ คำว่าราตรีจะสื่อถึงช่วงเวลากลางคืนเป็นหลัก และยังรักษาความหมายเดิมอยู่แม้นำมาใช้ในภาษาไทยฯ
ความจริงคำนี้ หลายแห่งเป็นคำพูดรวมๆ คือเหมาเอากลางวันเข้าไปด้วย เช่นการเข้าปริวาส(เป็นบทลงโทษของภิกษุที่ทำอาบัติสังฆาทิเสส) พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้ประพฤติมานัตเป็นเวลา ๖ ราตรี(ฉารตฺตํ มานตฺตํ)[3] แม้การจัดปริวาสในปัจจุบันส่วนใหญ่ก็มักตีความตามตัว(ถือเอาพยัญชนะ)ว่า พระพุทธเจ้าให้ประพฤติวัตร(อยู่ ลดมานะทิฎฐิตนเองและปฏิบัติธรรมฯลฯ) เพียงแค่ช่วงเวลากลางคืนเท่านั้น(เพราะทรงใช้คำว่า ราตรี) ดังนั้นกลางวันจึงพากันบอกคืนวัตรปฏิบัติคือหยุดปฏิบัติชั่วคราว แล้วค่อยไปสมาทานใหม่เฉพาะช่วงกลางคืน[4]ฯ ผู้เขียนกลับเห็นว่า การใช้ศัพท์ว่า ราตรี ในที่นี้ พระองค์น่าจะหมายเอาช่วงเวลากลางวันด้วยคือทั้ง ๒๔ ชั่วโมง มิใช่ให้อยู่ประพฤติวัตรแค่ครึ่งเดียว(เพียง ๑๒ ชั่วโมง) กล่าวคือ การใช้ศัพท์นี้เป็นสำนวนนิยมที่สื่อถึงช่วงเวลาหนึ่งวันหนึ่งคืนนั่นเอง หากเทียบกับภาษาไทย จะนิยมใช้คำว่า “วัน” (ความจริงบาลีก็มีใช้เช่นกัน) เช่น ไปพักร้อนต่างจังหวัด ๑๐ วันหรือเข้าโครงการปฏิบัติธรรม ๗ วัน(ทั้งที่กล่าวหมายเอาช่วงเวลากลางคืนด้วย เพราะเวลาเย็นก็ยังค้างที่นั่น มิได้กลับมาบ้านแต่อย่างใด) แต่ก็เป็นอันทราบกันว่าจะใช้เวลาทั้งหมด(ทั้งกลางวันและกลางคืน) โดยนับเวลาการขึ้นลงของพระอาทิตย์เป็นหลัก นักปราชญ์จึงสันนิษฐานว่า การนิยมใช้คำว่า วัน(แทนเวลาทั้ง ๒๔ ชั่วโมง) ได้รับอิทธิพลจากการนับตามสุริยคติ ส่วนการนิยมใช้คำว่า คืนหรือราตรี ได้รับอิทธิพลจาก จันทรคติฯ
อีกประการหนึ่งอาจสันนิษฐานได้ว่า เป็นการกล่าวถึงเวลาส่วนใหญ่ของการทำกิจนั้นๆ เช่นโครงการปฏิบัติธรรมในปัจจุบัน ระบุว่าใช้เวลา ๗ วัน เพราะเวลาปฏิบัติส่วนใหญ่อาจเป็นช่วงกลางวัน หรือไปประชุมต่างจังหวัด ๕ วัน ช่วงเวลาการประชุมก็มักอยู่ตอนกลางวันฯ ส่วนสมัยพุทธกาลเรื่องการปฏิบัติธรรม จะเป็นทั้งกลางวันและกลางคืน ช่วงกลางวันอาจเป็นเรื่องปกติจนไม่ต้องกล่าวถึง แต่ผู้มีความเพียรมักใช้ช่วงเวลากลางคืน (ซึ่งเงียบสงัดและไม่มีกิจอื่นต้องรับผิดชอบ) ไปกับการปฏิบัติธรรมด้วย สังเกตจากธุดงค์ (ข้อปฏิบัติที่เคร่งครัดสำหรับขัดเกลากิเลส) ข้อ ๑๓ ว่าด้วยเรื่อง ถืออิริยาบท ๓ เว้นการนอน(เนสัชชิกังคะ เน้นการนั่ง[5]) เพื่อใช้เวลาไปปฏิบัติธรรม มีการเดินจงกรมและนั่งสมาธิเป็นต้นสลับกัน เรื่องการปฏิบัติในตอนกลางคืนจึงเป็นเรื่องดึงดูดใจและกล่าวถึงกันมาก จึงมีความเป็นไปได้ที่คนสมัยนั้น(รวมทั้งพระพุทธเจ้า) จะใช้ศัพท์ว่า ราตรีเพื่อเน้นหนักในเรื่องการปฏิบัติฯ นี่จึงเป็นที่มาของการใช้คำว่า มีราตรีเดียวเจริญ หรือมีชีวิตอยู่เพียงคืนเดียวก็น่ายกย่อง(ทั้งที่ความเป็นจริงจะใช้คำว่า วันเดียวก็ได้ เนื่องจากการปฏิบัติสามารถทำได้ทั้งวันและคืน ซึ่งก็ควรทำทั้งกลางวันและกลางคืนอย่างติดต่ออยู่แล้วฯ) เพราะหากจะมุ่งเอากลางคืนอย่างเดียว แล้วบอกว่า มุนีผู้สงบ(พระพุทธเจ้า)ทรงยกย่องผู้มีความเพียรเช่นนั้น ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันกลางคืนว่า “ผู้มีราตรีเดียวเจริญ” ก็เท่ากับว่า ต่อให้เขาทำความดี เร่งความเพียร ปฏิบัติธรรมตลอดทั้งวันและคืน(๒๔ ชั่วโมง) พระพุทธเจ้าก็ทรงยกย่องเขาเฉพาะช่วงกลางคืน(๑๒ ชั่วโมง)เท่านั้นหรือ?
สรุปคือพระองค์ทรงยกย่องคนที่ปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืนว่าชีวิตมีคุณค่า เพียงแต่เวลาสรุป(ซึ่งนำมาตั้งเป็นชื่อพระสูตรด้วย) ทรงใช้คำว่า “มีราตรีเดียวเจริญ” แปลตามพยัญชนะหมายเอากลางคืนอย่างเดียว แต่ความจริงเป็นสำนวนนิยม(โดยอรรถ)ที่ยังส่อถึงการปฏิบัติอยู่ตลอดไม่ขาดสาย นับเวลากลางวันรวมเข้าด้วยนั่นเองฯ
ไม่สนใจอดีตและอนาคต ชีวิตจะพัฒนาได้หรือ?
หลายคนอ่านพระสูตรนี้แล้วเข้าใจผิด โดยตีความไปเองว่าพระพุทธเจ้าบอกให้ลืมอดีตและไม่ต้องวางแผนอนาคต ไม่ต้องดิ้นรนทำอะไรให้เหนื่อย เพราะชีวิตมีเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นธรรมดา อย่างไรเสีย(ต่อให้รวยขนาดไหน)ก็ต้องตายอยู่ดี??? ดังนั้นจึงเอาแต่วางเฉย ทอดทิ้งภาระที่ควรทำไปเสีย นี่เป็นความเข้าใจผิดข้อหนึ่ง ส่วนเรื่องอดีต ก็ตีความไปว่า ไม่ต้องไปสนใจอดีต อะไรที่เคยทำไปแล้วก็ปล่อยวางเสีย ผลที่เกิดจะเป็นอย่างไรหรือใครบ้างได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำนั้นก็ไม่ต้องใส่ใจเพราะเป็นอดีตไปแล้ว??? ความจริงการเข้าใจผิดเหล่านี้เป็นเหตุให้คนหยุดนิ่ง ลืมการพัฒนาตนเองซึ่งขัดกับหลักการของพุทธศาสนาที่เป็น กิริยวาที[6] อาจเรียกบุคคล/ลัทธิประเภทนี้ว่า อุจเฉททิฏฐิ[7] ทุกอย่างขาดสูญ เวรกรรมไม่มี ไม่ต้องสนใจอะไร ใช้ชีวิตให้รอดในปัจจุบันก็พอ ตายไปสุคติหรือทุคติก็ไม่มีฯ
อีกแง่ผู้ที่ปฏิเสธพระสูตรนี้ก็จะมองว่า พระพุทธเจ้าทรงมองข้ามเรื่องอดีตไปเสีย ทั้งที่ความเป็นจริงมนุษย์สามารถเรียนรู้ประสบการณ์จากอดีตได้ เช่นเอาเรื่องราวทั้งที่ดีและไม่ดีในอดีตมาเตือนใจตนเอง เพื่อจะใช้เป็นแนวทางหรือบรรทัดฐานในการเลือกทำสิ่งใหม่ในอนาคต หากคนไม่รู้จักศึกษาจากอดีตหรือประวัติศาสตร์เลย ก็เสมือนคนความจำเสื่อม ทำผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่าฯลฯ ทำนองเดียวกับอนาคต หากไม่สนใจวางแผนชีวิตว่าจะทำอะไรในอนาคต ชีวิตก็จะไร้ทิศทาง อยู่ไปวันวันดังกล่าวแล้ว ไม่สามารถวางแผนสร้างประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ให้แก่ตนเองและสังคมได้ เช่นหากเด็กไม่รู้จักวางแผนชีวิตตนเอง ก็จะไม่รู้ว่าตนอยากเป็น/ทำอะไร เข้าเรียนมัธยมปลายก็เลือกสายไม่ถูก เรียนระดับอุดมก็ไม่มีวิธีเลือกมหาวิทยาลัยหรือคณะ(เพราะไร้จุดมุ่งหมายในการพัฒนาตนในด้านนั้นๆ) กลายเป็นว่าชีวิตเขาจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็นไปฯ แน่นอนว่าตัวอย่างและแนวคิดทั้งสอง(เรื่องการปฏิเสธอดีตและอนาคต)นี้ ไม่ถูกต้องตามหลักการและความมุ่งหมายของพระพุทธเจ้าในการตรัสพระสูตรนี้ฯ
การบอกให้ไม่พะวง/นึกถึงอดีตและไม่มัวจินตนาการอนาคตนั้น ใช่จะเป็นการปฏิเสธสิ่งทั้งสองนั้นเสียเลย ตัวอย่างของพระพุทธเจ้าเองก็ทรงสนพระทัยเรื่องเหล่านี้ เช่นชาดก(เรื่องราวในอดีตชาติ)ที่พระองค์ทรงนำมาเล่า ก็เป็นเรื่องของอดีตทั้งสิ้น หรือญาณประเภทหนึ่งที่พระองค์มีคือ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เป็นการระลึกถึงภพชาติในอดีตทั้งของตนและผู้อื่นได้ฯ แต่ต้องเข้าใจว่าจุดหมายของการใช้ประโยชน์จากญาณหรือนำนิทานเหล่านี้มาเล่าเพื่อเป็นตัวสอนธรรมะให้คนเห็นถึงวิธีการพัฒนาตนเอง (แม้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน แต่พระองค์ก็ยังทำประโยชน์เพื่อสังคมหรือฝูงสัตว์เหล่านั้นได้ฯลฯ) ประโยชน์โดยตรงสำหรับพระองค์เองก็เพื่อให้เห็นว่าการเกิดมาหลายชาติ(ในอดีต) ล้วนเป็นเรื่องทุกข์ มีความซ้ำซาก มีอาหาร/อาชีพอย่างนั้นอย่างนี้ มีสุขทุกข์อย่างนั้นอย่างนี้ จึงทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในสังสารวัฏได้(เช่นต่อให้เกิดเป็นคนร่ำรวย ใช้ชีวิตอย่างมีสุขตลอด แต่ก็ต้องแก่ เจ็บ ตาย และวนเวียนอยู่อย่างนี้จนเห็นความเบื่อหน่ายไม่มีสาระ ส่งผลให้ต้องหาสิ่งที่สูงส่งกว่าคือการพ้นจากวงจรเหล่านี้เสีย) สำหรับประโยชน์เพื่อผู้อื่นคือพระองค์สามารถใช้ญาณนี้ตรวจดูว่าผู้ที่จะสอนมีลักษณะอุปนิสัยอย่างไร เคยสะสมกรรมใดไว้ในอดีต เช่นเขามีอุปนิสัยรักสวยรักงาม พระองค์ก็สอนให้พิจารณาอสุภะกรรมฐานเป็นต้นฯลฯ ทำนองเดียวกับเรื่องอนาคต พระองค์ก็มีญาณอีกประเภทหนึ่งชื่อว่า อนาคตังสญาณ เป็นญาณที่ล่วงรู้อนาคต(บางเรื่องโดยพิจารณาจากเหตุและปัจจัยของอดีตและปัจจุบัน) ประโยชน์ของญาณนี้ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันกับญาณอดีตฯ หรือให้เห็นภาพชัด พระองค์ก็ทรงวางแผนหรือตั้งตารางล่วงหน้าว่าจะไปสอนใคร ที่ไหน(เป็นหนึ่งในพุทธกิจ) เรื่องนี้ก็สะท้อนให้เห็นชัดว่าพระพุทธเจ้าเองก็มิได้ปฏิเสธอนาคตว่าเป็นเรื่องไม่ดีและไม่ควรสนใจเสียอย่างสิ้นเชิงฯ
แต่การกล่าวเตือนไม่ให้พะวงอดีตและอนาคตในที่นี้หมายเอาช่วงเวลาของการปฏิบัติธรรมเพื่อให้พ้นทุกข์เท่านั้น กล่าวคือก่อนการปฏิบัติอาจจำเป็นต้องทราบเป้าหมายหรืออนาคตของตน เช่นทราบว่าปฏิบัติเพื่อละกิเลสหรือตัดภพชาติซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอนาคต ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า เมื่อทราบแล้วหรือวางเป้าหมายไว้ชัดเจนแล้วก็เป็นอันเสร็จไป ไม่ไปเอาเรื่องอนาคตมาจินตนาการต่ออีก คราวนี้สิ่งที่ต้องทำคือปัจจุบัน รู้ทันกิเลสในปัจจุบันนั่นเอง ทำนองเดียวกับเรื่องในอดีต สามารถคิดถึงประสบการณ์เก่าได้ เช่นความผิดพลาดหรือคำสอนที่ได้เรียนมา แต่ก็เอามาเป็นข้อเตือนใจว่าจะทำอย่างไรไม่ให้พลาดซ้ำอีกและเดินทางถูกได้ ไม่ใช่ให้มัวเสียใจหรืออาลัยรักอดีต จมอยู่แต่กับเรื่องที่ผ่านไปแล้วโดยเสียเวลาเปล่า ครั้นเตือนใจตนอย่างนี้แล้วก็วางเรื่องนั้นเสีย กลับมาอยู่กับปัจจุบันอีกนั่นเองฯ
โดยสรุป พุทธศาสนามิได้สอนให้ลืมทุกเรื่องหรือไม่เอาประโยชนน์จากอดีตหรืออนาคตเลย เพียงแต่ให้คิดถึงสิ่งเหล่านั้นเพื่อเป็นข้อเตือนใจและตั้งเป้าหมายชีวิตให้ชัดเจน ครั้นได้ดังนั้นแล้วก็เริ่มลงมือทำหรือเปลี่ยนแปลงกันตรงปัจจุบันฯ
การพะวงถึงอดีตและอนาคตในพระสูตร
พระพุทธเจ้าทรงหมายเอาการหลงยึดมั่นในขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณทั้งของอดีตและอนาคต โดยที่สุด(ผู้ที่หลงผิด)จะมองสิ่งเหล่านั้นเป็นอัตตาไป เช่นรูป หมายถึงรูปธรรม มีร่างกายเป็นต้น ผู้ที่พะวงถึงอดีตก็จะนั่งอาลัยถึงเรื่องที่ผ่านมาว่า เมื่อก่อนผิวพรรณตนเปล่งปลั่งอย่านั้นอย่างนี้ เต่งตึงอย่างนั้นอย่างนี้ สวยงามอย่างนั้นอย่างนี้ ก็จะส่งผลให้เกิดความยินดีพอใจไป(ประทับใจในตนเอง?) ในทางตรงกันข้าม หากคิดถึงรูปอดีต แต่รูปนั้นกลับแย่/ทรามกว่าปัจจุบัน ก็จะรู้สึกรังเกียจฯ เป็นเหตุให้จมอยู่กับความสุขหรือทุกข์เพราะเรื่องในอดีต ซึ่งไปสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ขัดขวางการรู้เท่าทันความจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเสีย (ความจริงรูปในที่นี้รวมเอาทั้ง เสียง กลิ่น รส ฯ)[8], เวทนาหรือความรู้สึกเป็นสุข ทุกข์ เฉยๆ ก็นั่งนึกถึงอดีตว่าครั้งตอนอายุ ๕ ขวบ พ่อแม่ตามใจตนมีความสุขอย่างนั้นอย่างนี้ อายุ ๒๐ ต้องอกหักเป็นทุกข์อย่างนั้นอย่างนี้ฯ สัญญาคือความจำได้หมายรู้ พึงทราบก่อนว่าสัญญาในที่นี้มีความหมายไม่ตรงกับภาษาไทยที่หมายถึง การตกลงหรือให้คำมั่นอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ฯ แต่เป็นการจำภาพ สัณฐานหรือเรื่องราวในอดีตได้ เช่น เมื่อเห็นรองเท้าวางอยู่ ก็ทราบว่านั่นเป็นรองเท้า(ไม่ใช่ดินสอ เพราะเคยจำมาว่าสัณฐานของรองเท้าต้องเป็นอย่างนี้) หรือให้ลึกไปกว่านั้นเห็นรองเท้าวางอยู่หลายคู่ ก็แยกออกคือจำได้ว่า คู่ไหนเป็นของตนฯ นี่เป็นลักษณะของสัญญา ฉะนั้นการใช้ชีวิตของมนุษย์ในชีวิตประจำวัน ส่วนที่ต้องติดต่อกับโลกเพื่อแยกแยะสิ่งนั้นสิ่งนี้ โดยอาศัยชื่อเรียกหรือคำสมมติของสิ่งนั้นๆ จึงต้องใช้สัญญาอยู่ตลอดทั้งวัน (การเข้าใจขันธ์ ๕ มีสัญญาเป็นต้นจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นสิ่งที่ต้องประสบอยู่ตลอด ครั้นทราบสิ่งนี้ว่าเป็นเพียงสภาวะธรรม มีเกิดได้และเสื่อมได้/ความจำไม่ยั่งยืน ก็จะทำให้คลายความเป็นตัวตนลงได้ฯ) การหวนระลึกถึงสัญญาในอดีตเช่น เปรียบเทียบว่าเมื่อเป็นเด็ก ตนมีความจำดีอย่างนั้นอย่างนี้ สามารถเรียนรู้เรื่องราวต่างๆได้รวดเร็วฯ สังขาร คือความคิด การปรุงแต่งซึ่งอาศัยเจตนาเป็นตัวผลักดัน สามารถยกตัวอย่างง่ายๆก่อนเช่น การคิดหรือวางแผนเรื่องนั้นเรื่องนี้ซึ่งเป็นทั้งเรื่องดีและไม่ดีก็เป็นสังขาร ความคิดเหล่านั้นปกติจะมีผลต่อจิตใจ คือหากคิด/ปรุงแต่งในเรื่องดี เช่น เมตตา กรุณา อยากช่วยเหลือผู้อื่นฯ การปรุงแต่งนี้ก็จะทำให้จิตมีลักษณะเป็นอย่างนั้นคือดี มีเมตตาไปด้วย ส่วนจะคิดปรุงแต่งเรื่องไม่ดี เช่นกาม หรือพยาบาท ก็จะทำให้จิต(หรือชีวิต) มีลักษณะที่จะแสดงออกไปในทางไม่ดีเช่นเดียวกัน[9] การนึกถึงอดีตก็เช่น นึกไปว่าเมื่อก่อนตนมีสังขาร(อุปนิสัย)เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งถ้าเป็นเรื่องดีคือเห็นว่าอดีตตนเป็นคนดี คิดในเรื่องดีก็ภาคภูมิใจ ส่วนหากตรงกันข้ามก็เกิดความไม่สบายใจฯ ประการสุดท้าย วิญญาณ หมายถึงการรับรู้ โดยอาศัย ตาเป็นตัวรับรูป(สัญฐาน สี) หูเป็นตัวรับเสียง จมูกเป็นตัวรับกลิ่น ลิ้นเป็นตัวรับรส กายเป็นตัวรับสัมผัส และใจเป็นตัวรับอารมณ์ความนึกคิด การระลึกถึงอดีตของวิญญาณคือ เราเคยรับรู้เรื่องอย่างนี้ เคยเห็นรูปอย่างนี้ เคยได้ยินเสียงอย่างนี้ฯลฯ ส่วนการจินตนาการถึงอนาคตก็เป็นเรื่องเดียวกัน เป็นแต่เพียงยังไม่ถึงและไปคาดหวังว่าให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น อยากให้เรามีผิวพรรณอย่างนั้นอย่างนี้ในอนาคต(เปล่งปลั่ง ไม่เหี่ยวฯ) อยากให้เรามีความสุขอย่างนั้นอย่างนี้ มีความจำอย่างนั้นอย่างนี้ มีอุปนิสัยอย่างนั้นอย่างนี้และประสบกับสิ่งที่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้(เช่น เห็นรูปสวย ได้ยินเสียงไพเพราะเป็นต้น การอธิบายวิญญาณโดยอาศัยอายตนะทั้ง ๖ นี้นี่เองที่กล่าวว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับอรรถาธิบายของพระมหากัจจายนะ)
อธิบายการทำงานร่วมกันของขันธ์ ๕
กล่าวคือการจะรับรู้อะไรสักอย่างต้องอาศัยวิญญาณเป็นตัวเชื่อมต่อ เช่นเห็นหญิงสาว ตา(รูปขันธ์)ก็กระทบกับรูปที่กำลังเดินมา(เรียกว่า จักขุวิญญาณ) แต่เป็นการเห็นอย่างเดียวเท่านั้น ครั้นเห็นแล้วรู้ว่าเป็นผู้หญิง ก็ต้องอาศัยสัญญาที่เคยสะสมมา(จำได้ชัดว่านั่นเป็นหญิงไม่ใช่งูฯลฯ) ครั้นรับทราบแล้วว่าเป็นหญิง หากสวยก็เกิดความพอใจ เป็นสุข(เวทนา)ต่อมาหากไม่มีสติรู้เท่าทันอีกก็จะปรุงแต่งต่อไป(สังขาร) เช่นคิดไปในทางกามเป็นต้น ความจริงการอธิบายขันธ์ ๕ นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยกันและกันและเกิดขึ้นเร็วจนมนุษย์ทั่วไป(รวมทั้งผู้เขียน)มองไม่เห็นว่าเป็นการทำงานของขันธ์ จึงหลงผิดยึดว่าเป็นตัวตนไปเสีย ฉันเห็น ฉันชอบ ฉันสุขฯลฯ การปฏิบัติธรรมหรือเจริญวิปัสสนามีเป้าหมายเพื่อเห็นสิ่งเหล่านี้นี่เอง(นามรูปปริจเฉทญาณ)ฯ สังเกตว่าแนวทางการเกิดทุกข์นี้ความจริงก็เป็นลักษณะของปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง ต่างกันตรงที่ปฏิจจสมุปปาทนั้นละเอียดกว่าหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการอธิบายแบบครบชุด(เช่นมีอวิชชามาเป็นพื้นและนำไปสู่การยึดมั่น ภพชาติและทุกข์เป็นต้นในที่สุด)
ปัจจุบันขณะคือสัมมาสติ
พระสูตรกล่าวถึงลักษณะของผู้ไม่ง่อนแง่คลอนแคลน(มีจิตตั้งมั่น พิจารณาเห็นปัจจุบันขณะอย่างต่อเนื่อง) เห็นสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าว่าเป็น สัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของพระอริยะ จะเห็นขันธ์ทั้ง ๕ ว่าไม่ใช่ตัวตนและไม่มีตัวตน(อัตตา)อยู่ในขันธ์เหล่านั้นดังเนื้อความด้านบนที่อธิบายแล้ว ด้วยเหตุที่เขาเห็นการทำงานของขันธ์แบบแยกส่วน คือกิจหนึ่งเป็นหน้าที่ของขันธ์หนึ่ง เสร็จแล้วก็ส่งต่อให้ขันธ์อื่น หรืออาศัยกันหลายขันธ์จึงจะดำเนินไปได้ จึงเข้าใจสภาวะการเกิดดับของขันธ์อยู่ตลอดฯ ผู้เขียนใคร่ขออธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นตั้งแต่เริ่มแรก คือต้องลงมือปฏิบัติหรือฝึกสติให้ดีเสียก่อน ต้องยอมรับว่าการเห็นการทำงานของขันธ์นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายแต่เป็นกิจของผู้ได้วิปัสสนาแล้ว(มิฉะนั้นทุกคนแม้ทำกิจอย่างอื่นอยู่เช่น ขับรถ กวาดบ้าน ซึ่งอาศัยระดับของสติขั้นเล็กน้อยก็จะสมามารถบรรลุธรรมกันได้หมดแล้ว) ด้วยการเห็นสัจธรรมผู้นั้นต้องมีสติสมาธิที่ชัดเจนมั่นคงระดับหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสอธิบายมรรคมีองค์ ๘ ข้อสัมมาสติว่ามีสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อมในสติปัฏฐานทั้ง ๔ พิจารณาเห็นกาย เวทนา จิต และธรรม[10] กล่าวคือไม่ว่าจะทำกิจใดอยู่ก็มีสติรู้ชัดการกระทำนั้น จนเห็นขันธ์ ๕ เป็นเพียงรูปและนามร่วมกันทำงาน เป็นเหตุให้ปล่อยวางเรื่องตัวตน ไม่เกิดกิเลส สุข ทุกข์ไปตามโลก(กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้)ฯ เมื่อกล่าวว่าทำอะไรอยู่ก็รู้ชัดการกระทำนั้น เท่ากับบอกว่าให้รู้ปัจจุบันขณะนั่นเอง เพราะการมัวแต่นั่งนึกอาลัยถึงอดีตหรือจินตนาการถึงอนาคต(ต่อให้เป็นเรื่องดีก็ตาม) ก็มิใช่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เอาอดีตหรืออนาคตมาพิจารณาจนทิ้งปัจจุบันไปเสีย คราวนี้หากถามว่า ถ้ากำลังปฏิบัติ(มีสติตามรู้รูปนามปัจจุบัน)อยู่แล้วเกิดความคิดแทรกขึ้นมาในจิตเล่าจะทำเช่นไร ตอบว่าให้เปลี่ยนไปสังเกตความคิดตัวนั้นแทน ไม่ได้หมายความว่าตามจิตไปช่วยคิดเรื่องนั้นเพราะเชื่อว่าเป็นปัจจุบันขณะ เพียงแต่ให้สติรับทราบว่าตนกำลังคิด เป็นลักษณะของผู้เฝ้าดูละครเท่านั้น มิใช่ไปร่วมแสดงละครด้วย สังเกตอาการคิดนั้นไป สักพักจะเห็นว่าแม้ความคิดก็ไม่เที่ยง มีเกิดขึ้นและเสื่อมไปในที่สุด ก็จะเป็นลักษณะของอนิจจานุปัสสี(เห็นความไม่เที่ยง) ซึ่งเมื่อความคิดหายไปก็ทราบชัดว่าหายไป ส่วนจะเกิดอะไรขึ้นต่อก็ให้มีสติรับรู้ให้ชัด แล้วทำต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนกับตอนแรกคือตามรู้ให้เห็นลักษณะเขาอีกเรื่อยไปฯ การรับรู้ปัจจุบันเท่านั้นจึงจะเรียกว่าสัมมาสติ เพราะหากเอาใจไปผูกมัดไว้กับสิ่งที่เป็นอดีตก็จะเป็นการหวนระลึก ผูกไว้กับอนาคตก็จะเป็นการจินตนาการนั่งหาเหตุผลเสีย หลายคนไม่พอใจกับการตามรู้เพียงอย่างเดียว เพราะเคยเชื่อมาตลอดว่ามนุษย์จะฉลาดได้ก็ต้องคิดหรือตั้งคำถามให้มาก ความเชื่อเช่นนั้นมิได้ผิด หากแต่ไม่ตรงกับลักษณะของวิปัสสนา เพราะปัญญาที่เกิดจากวิปัสสนาเป็นปัญญาจากการเห็นจริง(ภาวนามยปัญญา) มิใช่ปัญญาในลักษณะเอาเหตุเอาผลขั้นตรึกตรอง(จินตามยปัญญา) ทั้งสองอย่างอาจเข้าใจตรงกันได้ แต่การจะพ้นทุกข์จริงต้องเป็นปัญญาเกิดจากการเห็นจริงเท่านั้น เพราะจะทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจสภาพขันธ์ ๕ ชัด เห็นความเกิดขึ้นและเสื่อมไปจนคลายความยึดมั่นไปในตัวโดยอัตโนมัติ(ด้วยเห็นว่าไม่มีสาระหรือความมั่นคงให้ยึดถือ) ส่วนการคิดใช้เหตุผลที่เข้าใจภาวะนี้ไม่เหมือนกัน อาจเข้าใจถูกว่าขันธ์ ๕ ไม่เที่ยงเป็นต้น แต่เพราะตนไม่เคยเห็นขณะในการเกิดและดับของสิ่งนั้น(ด้วยสติไม่แก่กล้าพอ) ได้แต่คาดเดาหรือใช้เหตุผลเอา ทำให้ไม่สามารถปล่อยวางได้จริง(หากปล่อยวางได้ก็เพราะบอกหรือบังคับตนเองให้ปล่อยวาง ดังที่คนทั่วไปบอกว่า “มันไม่เที่ยง อย่าไปยึดติด” แต่ความเป็นจริงลึกๆ ยังมีอาการยึดอยู่) สรุปคือการจะปล่อยวางหรือพ้นทุกข์ได้ต้องเกิดจากการเห็นของจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะทุกๆขณะเท่านั้น แล้วการปล่อยวางก็จะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติฯ
การผัดเพี้ยน/ต่อรองต่อความตายทำไม่ได้
ความจริงหัวข้อนี้แทบไม่จำต้องอธิบาย เพราะทุกคนทราบข้อเท็จจริงนี้ดีอยู่แล้ว เพียงแต่อาจเป็นประโยชน์บ้างในแง่นำมาเตือนสติ เพราะหลายคนมักอ้างว่าตนไม่มีเวลาปฏิบัติฯ แต่ครั้นความแก่ เจ็บ ตาย จะมาเยือนก็กลับใช้เป็นข้ออ้างไม่ได้ว่าตนยังไม่พร้อมจะแก่ ยังไม่มีเวลาเจ็บต้องทำงานเลี้ยงครอบครัว หรือยังตายไม่ได้เพราะมีภาระที่ต้องรับผิดชอบฯ พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่าทุกข์ ๓ ตัวนี้เป็นเรื่องน่ากลัว(ภัย[11]) ซึ่งผู้ไม่ประมาทจะต้องเอามาเป็นอุทาหรณ์สำคัญในการเตือนใจตนว่าจะทำอย่างไรให้ชีวิตตนมีค่ามากที่สุด ฉะนั้นการได้เกิดมา ได้รับการศึกษา ทำงาน หาเงินหรือสร้างครอบครัวจึงยังมิใช่สิ่งประสริฐที่จะพ้นจากภัยเหล่านี้ไปได้ หากแต่ต้องช่วยกันเตือนตนเองและสังคมให้หมั่นระลึกถึงความตายอยู่เสมอ(เป็นการใช้อดีตหรือสิ่งที่ตนเคยประสบมาสอนความไม่ประมาทในปัจจุบัน) สละความเห็นแก่ตัว ความเบียดเบียนฯ และใช้เวลาส่วนหนึ่ง(หรือผู้ที่มีเวลามาก ก็เป็นเวลาส่วนใหญ่) ของชีวิตทุ่มเทให้กับการฝึกสติอยู่กับปัจจุบันของตน เป็นเรื่องที่น่าแปลกที่สิ่งนี้เป็นสิ่งประเสริฐที่สุดที่มนุษย์ควรทำและแม้พระพุทธเจ้าเองก็ทรงยกย่องถึงกับบอกว่าแม้มีชีวิตเพียงคืนเดียวหรืออายุน้อยก็คุ่มค่า แต่คนส่วนใหญ่กลับเห็นสิ่งอื่นดีกว่าและเอาการฝึกฝนจิตมาเป็นธุระสุดท้ายที่ดูสำคัญน้อยที่สุดไปเสียฯ
.............................................................................................
[1] พระมหาสมปอง มุทิโต, คัมภีร์ อภิธานวรรณนา, หน้า ๑๑๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒, บริษัทประยูรวงศ์พริ้นติ้ง จำกัด, กรุงเทพฯ. ๒๕๔๗
[3] วินัยปิฎก จุลวรรค ข้อ ๓๗๗ ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น สงฆ์จงให้พระอุทายีประพฤติมานัตเป็นเวลา ๖ ราตรี ด้วยกระทำอาบัติตัวหนึ่งที่ไม่ได้ปกปิดไว้ ข้อตั้งใจทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน/ช่วยตัวเอง(เตนหิ ภิกฺขเว สงฺโฆ อุทายิสฺส ภิกฺขุโน เอกิสฺสา อาปตฺติยา สฺเจตนิกาย สุกฺกวิสฏฺิยา อปฺปฏิจฺฉนฺนาย ฉารตฺตํ มานตฺตํ เทตุ ฯ)
[4] มิใช่ว่าการอยู่ปริวาสหรือมานัตจะเก็บวัตรคือหยุดประพฤติชั่วคราวไม่ได้เลย แต่ควรมีเหตุจำเป็น เช่นมีพระสงฆ์ผ่านมาในวัดนั้นมาก ทำให้ยากแก่การต้องไปบอกวัตร(คือสารภาพกับท่านที่มาเยือนว่าตนทำอาบัติสังฆาทิเสส) เมื่อคนมาก ต้องลำบากเช่นนั้นก็หยุดไว้ชั่วคราวได้ แต่คงมิใช่หยุดประพฤติวัตรทุกวันไปคราวละครึ่งวันเพื่อความสะดวกแล้วค่อยสมาทานเอาเฉพาะกลางคืนเพียง ๑๒ ชั่วโมงหรือบางกรณีเพียงเพราะต้องการอยากได้ให้ครบ ๑ ราตรี(ตามพยัญชนะ) ก็สมาทานประพฤติตอน ตี ๔ แล้วค่อยเก็บวัตรเอาตอน ๖ โมงเช้า กลายเป็นว่าประพฤติเพียง ๒ ชั่วโมงก็เท่ากับได้ ๑ ราตรีแล้ว?
[6] ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ข้อ ๑๘๒ หมายถึง การสอนให้รู้จักเรื่องกรรม คือทราบเหตุและผลที่ได้รับของการกระทำ เมื่อทราบชัดแล้วก็ให้มนุษย์เลือกคือทำกรรมใหม่ด้วยตนเอง เพื่อพัฒนาชีวิตตน โดยปฏิเสธความเชื่อเรื่องพระเจ้าดลบันดาล แต่เป็นกฎของกรรมที่ให้ผลได้ด้วยตัวเองฯ
[8] พระสูตรหลังที่อธิบายโดยพระมหากัจจายนะ ชื่อมหากัจจานภัทเทกรัตตสูตร ข้อ ๕๕๖ ถึง ๕๖๑ ก็อธิบายอายตนะ ๖ แทนขันธ์ ๕ ตามแบบพระพุทธเจ้า (แต่โดยสรุปก็เป็นอย่างเดียวกัน) โดยท่านได้กล่าวถึงรูปที่เห็นด้วยตาในอดีตแล้วเกิดฉันทะราคะคือความยินดีกำหนัดว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้(ที่สวยงาม) เสียงที่ฟังด้วยหูว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้(ไพเราะจับใจ) จมูกที่เคยได้รับกลิ่นที่หอมฯ ลิ้นที่เคยรับรสที่ถูกปากฯ กายที่เคยรับสัมผัสอ่อนนุ่มฯ และใจเคยได้คิด/จินตนาการเรื่องที่ชื่นชอบฯลฯ ส่วนอนาคตคือการไปคาดหวังว่า ขอให้ในอนาคตเราได้เห็นรูปสวยงามตามความปรารถนาอย่างนั้นอย่างนี้ ทำนองเดียวกับ เสียง กลิ่น รส สัมผัส และอารมณ์ความนึกคิดฯ
[9] สังขารในทางอภิธรรมจัดเป็นเจตสิก(คือสิ่งที่เกิดร่วมกับจิต คือเกิดพร้อมกัน จับอารมณ์อย่างเดียวกัน และดับพร้อมกัน) ความจริงรวมเอา เวทนาและสัญญาเข้าเป็นเจตสิกด้วย เหตุที่ต้องอธิบายเช่นนี้เพื่อให้เห็นถึงความเป็นอนัตตาอีกนั่นเอง เพราะหลายคนไปเชื่อว่าคนจะดีเพราะจิตดี ชั่วก็เพราะจิต คือจิตมีลักษณะที่แน่นอน ตายตัวฯ อภิธรรมต้องการแสดงว่า ความจริงจิต(หรือวิญญาณ) เป็นสภาวะที่ทำหน้าที่รับรู้เท่านั้น(แม้การรับรู้ก็อาศัยอายตนะหรืออย่างน้อยก็เจตสิกดังกล่าวแล้ว จึงไม่สามารถทำงานโดดเดี่ยวได้และไม่เข้าลักษณะของอัตตาหรืออาตมัน) ส่วนจะดีหรือชั่วไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิกที่มาเกิดร่วมกัน ดังตัวอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า หากเมตตามาเกิดร่วมก็ทำให้จิตดีไปด้วย หรือหากพยาบาทมาเกิดร่วมก็ทำให้จิตเสีย/ตกต่ำไปด้วย แต่ต้องเข้าใจว่าเจตสิกหรือสังขารเองก็ไม่เที่ยง บ้างดี บ้างร้าย ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม การเลือกคบคนฯ หรือการปลูกฝังเป็นต้น สังเกตจากตัวเราเองว่าบางทีมีอารมณ์ดี บางทีก็ร้ายฯ แต่ไม่พึงเข้าใจว่าพุทธศาสนาสอนให้ปล่อยวางคือไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็แล้วแต่บุญกรรมเสียอีก พุทธศาสนาสอนเพื่อให้เห็นว่าครั้นมันไม่เที่ยง ย่อมหมายความว่า การจะเป็นคนชั่วก็ไม่เที่ยง ดังนั้นคนดีสามารถสร้างได้โดยการจัดสรรเหตุปัจจัย และที่สำคัญสามารถพัฒนาจนพ้นจากความดีชั่วคือพ้นอุปาทานทั้งหลายได้เช่นกันฯ เรื่องจิตดีชั่วเพราะอาศัยเจตสิกหรือสังขารมาประกอบนี้ความจริงเป็นพุทธพจน์เรื่องจิตประภัสสร แต่ต้องเศร้าหมองเพราะกิเลสเข้าครอบงำ(อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ข้อ ๕๐) ต่อมาอภิธรรมก็นำมาอธิบายจนกระจ่างฯ
[11] ภยสูตร อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ข้อ ๕๐๒ (ทรงเรียกวว่า อมาตาปุตติกภัย ภัยที่มารดาและบุตรทำแทนหรือห้ามกันไม่ได้ คือ แก่ เจ็บ ตาย)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น