วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การกินและเที่ยว ในทัศนะของพุทธศาสนา

การกินและเที่ยว ในทัศนะของพุทธศาสนา (เจษฎา กันตเมธี)
บทนำ
วัฒนธรรมเรื่องการกินและเที่ยวได้รับความสนใจจากคนส่วนใหญ่และเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นผลสะท้อนจากความเจริญในยุคบริโภคนิยม(Consumerism) กล่าวคือมนุษย์ใช้วิธีหาวัตถุ(อาหารเป็นต้น)ที่แปลกใหม่มาบำเรอชีวิต กอปรกับการได้เที่ยวชมสิ่งงมงามแปลกตา หรือสถานที่สร้างบรรยากาศให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้น โรมเมนติก หรือผ่อนคลายฯ สิ่งเหล่านี้ใช่จะเป็นทางเลือกใหม่ที่มีเฉพาะปัจจุบันหรือสังคมที่เจริญแล้วเท่านั้น หากแต่ยังมีอิทธิพลครอบงำมนุษย์ทุกคนที่ยังมีความรู้สึกรักสุข เกลียดทุกข์ มีความเข้าใจผิด แก้ปัญหาด้วยการเสพหรือบำเรอตนด้วยอายตนะ(กามสุข) สมัยพุทธกาลเรียกลัทธิบริโภคนิยมหรือการวิ่งหาความสุขทางวัตถุนี้ว่า กามสุขัลลิกานุโยค (วินัย.มหา.ข้อ ๑๓)ฯ
      ปัจจุบันหลายประเทศใช้วัฒนธรรมสองอย่างนี้(กินและเที่ยว)เป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ มีการส่งเสริมการท่องเที่ยว พัฒนาท้องถิ่นเป็นต้นให้เป็นที่ดึงดูดใจของผู้คนเพื่อเป็นแหล่งรายได้ทั้งของรัฐเองและผู้คนในบริเวณนั้น หลายคนอาจแย้งว่าการทำเช่นนี้ไม่ดีกว่าการปล่อยให้ผู้คนออกไปเที่ยวและเอาเงินไปทิ้งนอกประเทศหรือ? คำตอบคือดีกว่า หากเทียบกับวัฒนธรรมหรือค่านิยมเช่นนั้น แต่ข้อเสียคือเป็นการใช้วัตถุมายั่วกิเลสคน(ซึ่งมีมากอยู่แล้ว รอวันจะปลดปล่อย)ให้ตกเป็นเหยื่อของความอยากมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อให้มีเงินทองมาก สามารถใช้ชีวิตไปในทางฟุ่มเฟือยเช่นนั้นได้ แต่กลับหาความสุขที่เต็มพร้อมไม่ได้อยู่ดี เพราะความสุขหรือความสบายใจของตนได้นำไปฝากไว้(ขึ้นอยู่)กับวัตถุอันเป็นสิ่งภายนอกเสียแล้ว เมื่อมีวัตถุครอบครองมากเท่าใดก็มีความสุขมากเท่านั้น ทำนองกลับกันเมื่อต้องพรากจากวัตถุ(ของรัก)นั้นไปก็ยิ่งกลับเป็นความทุกข์ได้มากกว่าเดิม ทั้งที่ในอดีตแม้ไม่มีสิ่งนั้นตนก็อยู่ได้ เช่น การดื่มน้ำเย็น ครั้นยังไม่มีตู้เย็นก็สามารถดื่มน้ำปกติได้ แต่พอมีตู้เย็น เมื่อได้น้ำที่ไม่เย็นกลับต้องดื่มด้วยความไม่พึงปรารถนาฯลฯ
ดีกรีของการเสพวัตถุ
การดำรงชีพที่ต้องขึ้นอยู่กับวัตถุภายนอกใช่จะมีผลเสียเพราะตนต้องทุกข์จากการพลัดพรากจากสิ่งนั้นเท่านั้น(ปิเยหิ วิปฺปโยโค ทุกฺโข... วินัย.มหา.ข้อ ๑๔) ความจริงแม้ยังครอบครองสิ่งนั้นอยู่ ความรู้สึกเป็นสุขก็กลับลดน้อยลงเพราะความเคยชินได้เช่นกัน ดังหนุ่มสาวที่ต้องการคู่รักมาครอบครอง ตอนต้นคิดว่าหากได้ผู้นี้มาเป็นของตน จะสามารถสร้างความพอใจให้แก่ตนไปได้ตลอดชีวิต แต่ครั้นอยู่ด้วยกันนานเข้า ความรู้สึกปรารถนาก็เปลี่ยนแปลงไป เบื่อหน่าย(มีความสุขน้อยลงที่ได้อยู่ร่วมกับผู้นั้น)อยากหาคนอื่นมาแทนที่เรื่อยๆ หรือกระทั่งอาหารการกิน อาหารชนิดหนึ่งที่ตนถูกปากแล้ว นานไปกลับรู้สึกเบื่อหน่ายได้โดยไม่ต้องพลัดพรากจากสิ่งนั้นฯ สิ่งที่น่ากลัวของกิเลสคือ นานวันเข้า กิเลสเองจะพัฒนาตนเองไปจนทำให้คนรู้สึกไม่พึงพอใจกับสิ่งที่ตนมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ไม่รู้จักใช้สอย(วัตถุประสงค์ของการบริโภค)ปัจจัย ๔ เมื่อไม่รู้จักเป้าหมายที่แท้ของวัตถุคือสักแต่พอให้ชีวิตอยู่รอดเพื่อพัฒนาปัญญาและสร้างประโยชน์เพื่อผู้อื่น
การพัฒนาดีกรีของกิเลสเกิดขึ้นโดยที่มนุษย์ไม่รู้สึกตัว กล่าวคือเพิ่มความต้องการขึ้นเรื่อยๆ จนผลักดันให้มนุษย์รู้สึกไม่พึงพอใจกับสิ่งนั้นๆ เช่นเมื่อยากจนก็ปรารถนาได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท(ปลอบใจตนว่าแค่พอมีพอกินก็ดีแล้ว) ครั้นได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทจริงตนก็มีความสุขอยู่ระยะหนึ่งแล้วก็ไม่รู้สึกพอใจ อยากได้เพิ่มเป็น ๑๐,๐๐๐ บาท(เพราะมีรถ บ้าน โทรศัพท์เป็นต้นให้ใช้สอย) พอได้ตามปรารถนาก็มีความสุขอยู่อีกระยะหนึ่ง แต่ก็มารู้สึกภายหลังอีกว่ายังไม่พอ ควรจะเป็น ๒๐,๐๐๐ บาท(ด้วยต้องเข้าสังคม พบปะเพื่อนฝูง กิน เที่ยวฯ) ตัวอย่างเหล่านี้สะท้อนให้เห็นต่อไปว่า แม้ได้เงินเดือนเป็นแสนก็ไม่สามารถสร้างความสุขที่ยืนนานได้ ในลักษณะที่ร้ายกว่านั้น กิเลสที่ถูกพัฒนาไปไกลแล้วกลับทำให้ตนเป็นทุกข์มากกว่าเดิม ทั้งที่ยังมีวัตถุเสพอยู่ เช่น จากเงินเดือน ๒๐,๐๐๐ บาทหากต้องถูกปรับลดไปด้วยเหตุผลบางอย่างเหลือเพียง ๑๐,๐๐๐ บาท ตนก็จะเป็นทุกข์ ทั้งจากเดิมตนมีความสุขมากหากเทียบกับตอนที่เงินเดือนปรับขึ้นมาจาก ๕,๐๐๐ บาทตั้งแต่ตอนเริ่มทำงานฯ นี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการปรับดีกรีกิเลสฯ กล่าวโดยสรุปคือ เมื่อไม่เข้าใจเป้าหมายของการใช้วัตถุ(รวมถึงตัวคนที่ตนรัก) กลับเอาตนไปพัวพันและฝากความสุขไว้กับการเสพสุขทางอายตนะ ตนก็จะขาดเสรีภาพมากขึ้น สุขเก่าก็จะเริ่มชินชาและมีโอกาสเป็นทุกข์ได้ง่ายขึ้นฯ
การกิน ในพุทธศาสนา
พุทธศาสนาแม้มีจุดหมายเพื่อพาคนออกจากความทุกข์หรือสังสารวัฏ(โลกุตตระ) แต่ก็มิได้ปฏิเสธเรื่องทางโลกเสียทีเดียว ดังจะเห็นได้จากการสั่งสอนทั้งในแง่ประโยชน์ในปัจจุบัน(ทิฏฐธัมมิกัตถะ คือให้มนุษย์มีความผาสุกในปัจจุบัน) แง่ประโยชน์ในอนาคตหรือชาติหน้า (สัมปรายิกัตถะ เพื่อรับรองว่าแม้จะยังไม่พ้นทุกข์ดับภพชาติได้ แต่ก็มีสุคติไม่ลำบากยากเข็ญเป็นความหวังในชาติหน้า)และแง่ประโยชน์สูงสุดกล่าวคือการพ้นทุกข์ ไม่ตกเป็นทาสกิเลสอีกต่อไป (ปรมัตถะ การดับภพชาติได้ไม่ต้องเกิดอีกเพราะทำลายกิเลสได้หมดตั้งแต่ปัจจุบัน) การสอนเรื่องการกิน แม้จะดูผิวเผินเหมือนจัดอยู่ในประโยชน์ที่จะพึงได้รับในปัจจุบันอย่างชัดเจน แต่ด้วยเป้าหมายของพุทธศาสนาคือความดับทุกข์แล้ว ย่อมส่งผลครอบคลุมไปถึงประโยชน์ทั้ง ๓ ได้เลย เช่นหากมีสติพิจารณาเห็นคุณและโทษของการกินได้ ไม่ประมาท เร่งปฏิบัติธรรมก็สามารถดับทุกข์ได้เช่นกัน(โภชนสัปปายะ...วิสุทธิมรรค ๑/๑๖๑)


โลกิยะไม่ควรแยกจากโลกุตตระ
      เมื่อกล่าวถึงเรื่องการกิน ใคร่ขอแทรกสาระธรรมเล็กๆซึ่งคนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดกันทั่วไปคือการแยก โลกิยะออกจากโลกุตตระ เป็นความจริงว่า สองตัวนี้มีความตรงกันข้ามกันอย่างชัดเจน กล่าวให้ชัดคือ โลกิยะเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ยังต้องผูกติดอยู่กับโลก กิเลส ความทุกข์ หรือภพชาติ ส่วนโลกุตตระเป็นเรื่องตรงกันข้าม เพราะเป็นเรื่องของผู้มีปัญญารู้ทันกิเลส จนถอนความเศร้าโศกทั้งปวงออกเสียได้ แม้อยู่ในโลกก็ไม่เศร้าโศกหรือดีใจไปตามสภาวการณ์ที่ขึ้นลงของโลก เป็นความสุขที่ยั่งยืนเพราะไม่มีความยึดมั่นฯ คนส่วนใหญ่มักแยกลักษณะทั้งสองประการออกจากกันอย่างสิ้นเชิง เช่นเห็นว่าตนเป็นฆราวาส ต้องใช้ชีวิตในโลก อยู่กับลาภ ยศ เงินทอง หรือกามคุณเป็นต้นไม่สามารถหวังเอาโลกุตตระที่เป็นธรรมสูงส่งได้ และโยนเรื่องโลกุตตระให้เป็นเรื่องของพระหรือคนในวัดไป คนประเภทหลังจึงถูกมองจากสังคมว่าเป็นคนอีกระดับหนึ่งที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางโลก หรือในทางลบกว่านั้นใครที่มุ่งหาโลกุตตระ เป็นคนดี หมั่นปฏิบัติธรรมฯลฯ จะถูกมองว่าสติฟั่นเฟือน เป็นคนไม่ปกติฯ ความจริงธรรมทั้งสองนี้ไม่ได้ถูกสอนเพื่อให้คนเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าต้องการเน้นให้คนพ้นทุกข์คือโลกุตตระ แต่ขณะที่คนยังไม่ถึงจุดนั้น ก็ต้องให้คนรักษาสถานภาพตนไว้ให้ดีแม้อยู่ในขั้นโลกิยะ ที่สำคัญต้องมีเป้าหมายเป็นอันที่สองคือโลกุตตระให้ได้ โลกิยะจึงเป็นเสมือนบันไดขั้นแรกๆที่คนต้องผ่าน แต่พุทธศาสนาไม่ให้ยึดติดคือหวังว่าชีวิตนี้จะอยู่ระดับนี้ไปเรื่อยๆ เช่น หากินไปวันๆ มีเงินทองก็เที่ยวเตร่หาความสุขไปตามสภาพฯ แน่นอนพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธความสุขขั้นโลกิยะดังกล่าวแล้ว แต่สอนให้รู้จักพัฒนาไปสู่ความสุขที่ยิ่งขึ้นไป จึงต้องใช้เวลาในชีวิตประจำวันมุ่งทั้งเรื่องโลกิยะ(ทำงานหากินทางโลก)และโลกุตตระ(หมั่นแสวงหาปัญญาชำระกิเลส) ธรรมทั้งสองจึงควรดำเนินไปด้วยกัน ชีวิตจึงจะมีเป้าหมายและพัฒนาไปในทางที่ถูกต้อง มิใช่รับเอาแต่เรื่องโลกิยะหาสุขไปวันๆ จนลืมมองเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตอันเป็นโลกุตตระซึ่งเป็นคุณค่าที่แท้จริงของการเกิดเป็นมนุษย์ฯ
การกินที่ถูกต้องจัดเป็นมัชฌิมาปฏิปทา
จุดมุ่งหมายของการกินอยู่ที่การดำรงชีพ มนุษย์(รวมถึงสัตว์)จึงต้องเลือกอาหารที่เหมาะและปลอดภัยแก่ตน ความจริงเรื่องจุดประสงค์นี้เป็นที่ทราบกันดีจนไม่น่าจะนำมาเป็นประเด็นในการถกฯ แต่เพราะสังคมเปลี่ยนไป รสนิยมในการกินจึงเปลี่ยนตาม กล่าวคือคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมิได้กินเพียงเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ แต่การตัดสินเลือกร้าน เมนูอาหาร ราคาฯลฯ กลับวางอยู่บนฐานของพึงพอใจมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากอาหารโดยตรง อาหารบางอย่างราคาแพง แต่ก็มิได้ให้สารอาหารที่คุ้มค่ากับราคา กระทั่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ราคาแพงที่มีแต่จะบั่นทอนสติปัญญาและทำลายสุขภาพ ก็กลับเป็นที่ต้องการของคนส่วนมาก ตัวอย่างเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า การเลือกอาหารบริโภคไม่ได้เป็นไปถูกทางคือเอื้อประโยชน์แก่ร่างกาย แต่เป็นการสนองกิเลสหรือค่านิยมที่ทำให้คนดิ้นรนขวนขวายให้ได้สิ่งนั้นมาเพียงเพราะรู้สึกสบายใจที่ตนมีโอกาสได้ลิ้มลองของเหล่านั้น พุทธศาสนาจึงสอนให้พิจารณาอาหารก่อนการบริโภค(มิใช่การขอบคุณพะผู้เป็นเจ้าในหลายศาสนา)เพื่อให้เห็นคุณค่าที่แท้ของอาหารเป็นต้นว่า เราพิจารณาดีแล้วจึงบริโภคอาหาร(ปฏิสงฺขา โยนิโส ปิณฺฑปาตํ ปฏิเสวามิ) เรามิได้บริโภคเพื่อความสนุกสนาน (เนว  ทวาย), ไม่ใช่เพื่อความเมามัน (น  มทาย), ไม่ใช่เพื่อประดับและตกแต่งร่างกาย เช่นเสริมให้หุ่นดีฯ (น มณฺฑนาย    วิภูสนาย), แต่บริโภคเพื่อให้ร่างกายดำรงอยู่ได้  (ยาวเทว  อิมสฺส  กายสฺส  ิติยา ยาปนาย), เพื่อกำจัดความทรมานทางกาย  (วิหึสุปรติยา),    เมื่อบริโภคแล้วก็ใช้กำลังมาปฏิบัติธรรม/ทำประโยชน์ (พฺรหฺมจริยานุคฺคหาย), เพราะการบริโภคนี้ ทำให้เรากำจัดความหิวเสียได้ (อิติ  ปุราณญฺจ  เวทน  ปฏิหงฺขามิ), และด้วยการบริโภคนี้ เวทนาใหม่จะไม่เกิดขึ้น คือบริโภคแต่พอประมาณ ไม่มากเกินหรือน้อยเกิน พร้อมทั้งเป็นของมีประโยชน์ไม่มีโทษ (นวฺจ  เวทน    อุปฺปาเทสฺสามิ), ด้วยการบริโภคนี้ ทำให้ชีวิตดำเนินไปได้อย่างสะดวกไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ดำรงชีพอย่างมีความสุข (ยาตฺรา    เม  ภวิสฺสติ  อนวชฺชตา จ  ผาสุวิหาโร  จ....สัพพาสวสังวรสูตร ม.มู. ข้อ ๑๔)
จากพระสูตรนี้จะเห็นได้ชัดถึงคำสอนเรื่องการบริโภคอาหารของพุทธศาสนา (ความจริงมีทั้งเสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคด้วย) ที่เน้นสาระของอาหารคือก่อนบริโภคก็รู้จักเลือกสรรอาหารที่มีคุณค่า มีราคาเหมาะสมไม่ฟุ่มเฟือย ขณะบริโภคก็มีสติ ไม่หลงมัวเมา ไม่ติดรสนิยมฯ ครั้นบริโภคเสร็จก็เอากำลังมาทำประโยชน์ หากเป็นพระก็คือการปฏิบัติธรรมขัดเกลากิเลสโดยตรง ส่วนฆราวาสที่ต้องรับผิดชอบภาระหน้าที่ของตนก็ทำงานไปด้วยความสุจริตฯ เพียงพระสูตรเดียวก็สามารถชี้วัฒนธรรมการกินของพุทธศาสนิกชนได้ชัดเจน
ทางสายกลาง(มัชฌิมาปฏิปทา)ของพุทธศาสนาอีกข้อที่ต้องทราบคือ พุทธศาสนาปฏิเสธเรื่องกามสุขัลลิกานุโยคหรือการบริโภคตามใจอยาก กล่าวคือกิเลสอยากกินอะไรเราก็หาอันนั้นมาใส่ปากซึ่งคนทั่วไปกำลังเป็นอย่างนี้ และอีกทางที่พุทธศาสนาเห็นว่าสุดโต่งไม่ควรดำเนินคือทรมานตนเอง(อัตตกิลมถานุโยค) เช่นเมื่อเกิดความหิวขึ้นก็บำเพ็ญตบะด้วยการอดอาหาร ไม่ยอมหาอะไรรับประทานด้วยเหตุผลว่าไม่ต้องการตามใจกิเลส การปฏิบัติเช่นนี้ก็จะทำให้ชีวิตลำบากไปอีกทางหนึ่ง ในทางแรกทำให้คนหลงมัวเมาในการหาวัตถุมาเสพ ส่วนทางที่สองปฏิเสธวัตถุอย่างสิ้นเชิงจนชีวิตต้องลำบาก ดังนั้นพุทธศาสนาซึ่งประกาศทางสายกลางจึงให้คนพึ่งวัตถุได้ระดับหนึ่ง คือสักแต่พออยู่รอดเท่านั้น ที่สำคัญคือต้องไม่เป็นทาสวัตถุนั้น(บริโภคด้วยปัญญา) แต่กลับเอาวัตถุมาเป็นบันไดในการสร้างคุณประโยชน์หรือพัฒนาตนเองสู่ขั้นสูงขึ้นไป เช่นรถยนต์ ตามหลักการของพุทธศาสนาอนุญาตให้มีได้หากแต่ต้องไม่ตกเป็นทาส คือใช้รถยนต์เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกและปลอดภัยของตน ใช้รถไปทำสิ่งที่มีประโยชน์เช่นเดินทางไกลไปสอนคนหรือบริการผู้อื่น แต่การใช้รถจะผิดทันทีหากเลือกรถหี่ห้อนั้นเพราะมีชื่อเสียง ราคาแพง เป็นที่ชื่นชมของสังคมและต้องตกเป็นทาสคือคอยห่วงใยดูแล กลัวผู้อื่นจะมาขโมย จิตใจต้องผูกติดกับรถจนขาดอิสรภาพฯ
ปัญหาเรื่องมังสวิรัติ
เป็นเรื่องถกเถียงกันทั่วไปว่า พุทธศาสนาในฐานะที่เน้นความเมตตาและมีสิกขาบทข้อเว้นจากการเบียดเบียนสัตว์(ทำปาณาติบาต) จะสามารถรับประทานเนื้อสัตว์ได้หรือไม่? ครั้งหนึ่งพระเทวทัตได้ขออนุญาตให้พระพุทธเจ้าบัญญัติวินัยเรื่องการไม่ทานเนื้อสัตว์ขึ้นมา(วินัย.มหา.ข้อ๕๙๐) พระพุทธเจ้าทรงตรัสตอบว่า เราอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์ด้วยอาการ ๓ อย่าง คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน และไม่ได้รังเกียจ(วินัย. มหา.ข้อ ๕๙๑) ก่อนจะกล่าวถึงเนื้อบริสุทธิ์ทั้ง ๓ ข้อ อยากให้พิจารณาข้ออื่นๆ อีก ๔ ข้อที่พระเทวทัตทูลขอเพื่อให้เห็นบริบทก่อน เช่น ให้พระเที่ยวบิณฑบาตตลอดชีวิต ห้ามมิให้รับกิจนิมนต์, ห่มจีวรที่ทำจากเศษผ้าที่เขาทิ้งแล้ว(บังสุกุล) ห้ามมิให้รับผ้าเนื้อดีที่เขาถวาย ข้อเหล่านี้พระองค์ตอบว่า ภิกษุใดปรารถนาก็ให้ทำเถิดคือไม่บังคับ อีกสองข้อคือพระจะต้องอยู่ป่าและใต้ต้นไม้ตลอดชีวิต ห้ามไม่ให้อยู่ในกุฏิ พระองค์ก็ตรัสตอบว่า อนุญาตให้เพียง ๘ เดือน ส่วนช่วงเข้าพรรษา ๓ เดือนก็ให้อยู่ในกุฏิเป็นต้น(เพื่อจะได้ไม่ลำบาก)ฯ สังเกตว่าสิ่งที่พระเทวทัตขอส่วนหนึ่งก็เป็นกิจที่พระต้องทำอยู่แล้ว เช่นการเที่ยวบิณฑบาตหรือใช้ผ้าบังสุกุล เพราะพระพุทธเจ้าเองก็ตรัสว่าสิ่งเหล่านั้นสำคัญ ส่วนข้ออื่นเช่นอาหารที่เขามานิมนต์ไปถวายหรือผ้าเนื้อดีที่เขาเย็บให้แล้วตลอดจนกุฏิที่อยู่ให้ถือเป็นอดิเรกลาภ หมายถึงโบนัสหรือ สิ่งที่เกินจำเป็น จะใช้ก็ได้แต่อย่าไปยึดหรือหมกมุ่นให้มาก(เพราะอาจทำให้หลงสบาย ลืมปฏิบัติธรรม) ฉะนั้นเรื่องเหล่านี้(ที่พระเทวทัตขอ)เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงย้ำให้ทำอยู่ก่อนแล้ว พระองค์ปฏิเสธเพียงเพราะไม่อยากให้พระต้องทำตัวสุดโต่ง ดำรงอยู่ทางสายกลาง บางครั้งอาจมองเป็นการสงเคราะห์ฆราวาสได้เช่น หากเขาต้องการสร้างกุฏิถวายก็ให้รับ หรือเขาทำจีวรมาถวายด้วยศรัทธา การจะไม่รับหรือเอาไปทิ้งเสียก็ไม่ควรทำฯลฯ คราวนี้มาถึงประเด็นสำคัญคือข้อ มังสวิรัติหรือการไม่บริโภคเนื้อ หากดูตามเหตุผลข้ออื่นๆ จะสามารถสันนิษฐานได้ก่อนเลยว่า พระองค์ก็ไม่ได้ขัด(ใครจะเป็นนักมังสวิรัตก็ได้ หากสภาพสังคมเอื้อ) แต่ก็ไม่อยากให้พระสุดโต่ง คือต้องฝากชีวิตไว้กับฆราวาสเขา เมื่อเขาบริโภคอย่างไร เราก็บริโภคอย่างนั้น ทำตัวเป็นผู้เลี้ยงง่ายฯ
ขออธิบายเนื้อที่ไม่บริสุทธิ์(ซึ่งตรงกันข้ามและภิกษุไม่ควรฉัน)ทั้ง ๓ คือ เนื้อที่ตนเห็น ได้แก่ตนสงสัยโดยเห็นว่าเนื้อนั้นเขาหา(ฆ่า)เพื่อมาถวายตนเช่น เห็นชาวบ้านนำเครื่องมือดักสัตว์เข้าป่าไป ครั้นรุ่งขึ้นเขาก็นำแกงเนื้อมาถวาย ตนก็เกิดความสงสัย ครั้นสงสัยดังนี้ก็ไม่ควรฉันฯ เนื้อที่ตนได้ยิน คือเนื้อที่ภิกษุไม่เห็นแต่ได้ยินมาว่า พวกชาวบ้านนำเครื่องมือจับสัตว์เป็นต้นเข้าป่าไป ครั้นวันรุ่งขึ้นท่านเข้าไปบิณฑบาต เขาก็ถวายเนื้อมา ภิกษุนั้นเกิดความสงสังว่าเขาจะฆ่ามาเพื่อตน ครั้นสงสัยดังนี้ก็ไม่ควรฉันฯ เนื้อที่ตนรังเกียจ คือเนื้อที่ทั้งตนไม่ได้เห็นไม่ได้ยินว่าเขาไปหา(ฆ่า)มาจากที่ไหน แต่ครั้นตนได้รับบิณฑบาตก็เกิดสงสัย(รังเกียจ)ขึ้นมาว่า เขาต้องฆ่าสัตว์เพื่อตนเป็นแน่ ภิกษุสงสัยเช่นนี้ก็ไม่ควรฉันฯ ความจริงสามารถสอบถามได้เพื่อความแน่ใจ หากได้คำตอบมาว่าเขามิได้ทำเพื่อเจาะจงถวายพระ แต่ทำเพื่อคนในครอบครับเขาเองหรือพวกข้าราชการเป็นต้น ก็ให้ฉันได้(อรรถกถา ชีวกสูตร)
หากมองโดยไม่ได้พิจารณาจะเห็นว่า พุทธศาสนาก็มีความเชื่อลึกลับเหมือนศาสนาพระเจ้าทั้งหลาย กล่าวคือสิ่งนี้ทำได้ สิ่งนี้ห้ามทำฯลฯ ความจริงสามารถเข้าใจเหตุผลข้างต้นนั้นได้ไม่ยาก เหตุที่พระพุทธเจ้าใช้คุณสมบัติของเนื้อ ๓ ประการมาวางไว้ก็เพื่อให้พระไม่กลายเป็นผู้มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการฆ่าสัตว์(ทำปาณาติบาต)นั่นเองฯ
คราวนี้หากถามว่าเมื่อเป็นเช่นนั้น ไฉนพระองค์ไม่ทรงบัญญัติไปเลยว่าให้พระฉันมังสวิรัติ? คำตอบคือ ต้องย้อนดูสังคมในอดีตและกิจวัตรของพระเอง อดีตกาลพุทธศาสนายังไม่เจริญมาก(หรือต่อให้เจริญ)ผู้คนหลายกลุ่มหรือส่วนใหญ่ก็ยังบริโภคเนื้อ ครั้นเขาทำอาหารเช่นนั้น พระสงฆ์เองก็ต้องฝากท้องไว้กับคนเหล่านั้น กลายเป็นว่าต้องบริโภคตามชาวบ้านเขา การจะมาตั้งกฎว่าขอรับมังสวิรัติอย่างเดียว ในอดีตอาจเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตของพระ เพราะท่านเองไม่ได้ทำอาหารแต่เลี้ยงชีพด้วยการขอ(บิณฑบาต) แต่หากเป็นปัจจุบันหรือบางพื้นที่ที่คนทานมังสวิรัติอยู่แล้วก็เป็นการเอื้อต่อพระด้วยเช่นกัน ท่านสามารถตัดภาระเรื่องสงสัยในอาหารนั้นไปได้เลยฯ
ความจริงจะกล่าวว่าไม่รับประทานเนื้อเลยก็ไม่ถูก เพราะประเด็นที่มีปัญหาคือการรับประทานเป็นเหตุให้ต้องฆ่าสัตว์นั่นเอง ดังนั้นเนื้อที่ไม่ได้ฆ่า แต่เป็นพวกสัตว์เดรัจฉานด้วยกันทิ้งไว้ เช่น เสือกินวัวไปครึ่งตัว เหลือทิ้งไว้อีกครึ่งตัว เนื้อนั้นก็สามารถนำมาเป็นอาหารได้ฯ อย่างไรก็ตาม การบริโภคที่บริสุทธิ์จะต้องไม่ประกอบด้วยความโลภในอาหารดังที่กล่าวไปแล้ว และใช้อาหารนั้นเป็นกำลัง/เครื่องเลี้ยงชีพเพื่อพัฒนาตนเท่านั้นฯ
คนดีหรือชั่วใช่อยู่ที่อาหาร
แน่นอนว่าหากยึดตึดในเรื่องการกิน อยากหาเนื้อสัตว์แปลกๆมาชิมอยู่เสอม การทำเช่นนั้นก็สะท้อนถึงการขาดความเมตตาได้ชัดเจน ส่วนผู้บริโภคแบบพิจารณาเช่นภิกษุเป็นต้น(ความจริงฆราวาสก็ควรทำ) การพิจารณาทำให้คนไม่ตกเป็นทาสความอยาก การบริโภคนั้นก็ไม่มีโทษ เพราะการบริโภคปัจจัย ๔ มิใช่เป็นเป้าหมาย(aim)ในตัว แต่เป็นเพียงเครื่องมือ(mean)ในการดำรงชีพเพื่อพัฒนาตนดังกล่าวแล้ว ฉะนั้นการบริโภคอย่างเดียวจึงไม่สามารถตัดสินให้เด็ดขาดได้ว่าคนนั้นเป็นคนดีหรือชั่ว แต่จะตัดสินด้วยการกระทำของเขาทั้งทางกาย วาจา และใจ ขอกล่าวถึงคัมภีร์ไบเบิล บทมัททิว ๑๕/๑๑ มีว่า “ จงฟังและเข้าใจเถิด ไม่ใช่สิ่งซึ่งเข้าไปในปากจะทำให้มนุษย์เป็นมลทิน แต่สิ่งซึ่งออกจากปากนั้นแหละทำให้มนุษย์เป็นมลทิน”  สิ่งที่นักมังสวิรัติต้องระวังให้มากที่สุดคือความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน นั่นคือปกติหลายคนจะรู้สึกสงสารสัตว์ จนไม่สามารถกินเนื้อของพวกเขาได้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าชื่นชม แต่ขณะเดียวกันอีกหลายคนกลับรังเกียจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง เพราะเหตุว่าผู้อื่นไม่ได้เป็นนักมังสวิรัติเหมือนตน พยายามโจมตี กล่าวหาว่าเป็นคนต่ำทราม ไม่รักษาศีลฯลฯ มากกว่าการให้ความรู้เพื่อเขาจะเกิดความเข้าใจและสงสารสรรพสัตว์ขึ้นมา ผลจึงกลายเป็นว่าคนที่ทานเนื้อสัตว์ก็รังเกียจนักมังสวิรัติเพราะไปดุด่า ดูถูกเขา นักมังสวิรัติเองก็เกลียดชังคนทั่วไปเพราะเข้าใจว่าศีลตนดีกว่าฯลฯ   ฉะนั้นสิ่งที่ควรทำคือต้องพยายามหลีกเลี่ยงการฆ่าสัตว์ แผ่เมตตาในสัตว์ทั้งหลาย ครั้นเกิดเมตตาจิตแล้ว การเว้นจากการฆ่าสัตว์หรือไม่อยากบริโภคเนื้อเป็นต้นจะเกิดขึ้นตามลำดับฯ
ไม่ฆ่าสัตว์แต่ยังซื้อเนื้อมากิน
คำถามต่อมาจึงมีว่า ครั้นไม่ฆ่าสัตว์หรือทำปาณาติบาตด้วยตนเองแล้ว เพียงแต่ไปซื้อเนื้อที่เขาฆ่าแล้วมาปรุงเป็นอาหารจะถือว่าถูกต้องแค่ไหน? ข้อนี้อาจใช้ความรู้สึกวัดได้ชัดเจนฯ ก่อนอื่นใคร่พูดถึงการเป็นอยู่ของสัตว์สักเล็กน้อย พุทธศาสนาถือว่า สัตว์เดรัจฉานเป็นภพภูมิหนึ่งซึ่งตกต่ำกว่าการเกิดเป็นมนุษย์ ตรงที่มีโอกาสพัฒนาตนเองน้อย ต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่ตามสัญชาติญาณ ชาวพุทธจึงถูกสอนให้มองสัตว์เป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย และไม่เบียดเบียนกัน กล่าวคือ “ให้น้อมเอาความรู้สึกเขามาใส่ใจเราว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมกลัวการถูกทำร้าย กลัวความตาย ครั้นรู้ข้อเท็จจริงนี้แล้วก็ไม่พึงเบียดเบียนกัน”(ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๒๙) การเลี้ยงสัตว์ของชาวพุทธส่วนหนึ่งจึงเป็นเครื่องมือสะท้อนความเมตตาไปในตัว เช่นเลี้ยงสุนัข ก็ดูแลให้มีความสุข จะได้ไม่ต้องไปหากินเสี่ยงภัยอยู่ข้างนอก หลายคนรักสุนัขเหมือนลูกตนเองฯ หรือกระทั่งไก่ที่ดูจะเป็นอาหารโดยตรง ชาวบ้านไม่น้อยที่เลี้ยงไก่ไว้แบบปล่อยให้เป็นอิสระ มีโอกาสพาลูกหากิน มีบ้างก็ไปเอาไข่มันมากินหรือบ้างก็ขอชีวิตจากลูกมันมานานๆสักตัวหนึ่ง เรื่องนี้แม้เป็นปาณาติบาตแต่ก็ยังเห็นได้ชัดถึงสภาพชีวิตของสัตว์ที่อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีหรือเสรีภาพบ้าง เป็นเรื่องตรงกันข้ามเมื่อเทียบกับฟาร์มไก่ที่เลี้ยงในที่แคบ ถูกบำรุง(เร่ง)เนื้อด้วยอาหาร ไม่มีโอกาสได้ไปไหน ครั้นถึงเวลาก็ถูกนำไปฆ่าฯลฯ ไก่เหล่านี้เหมือนเกิดมาเพื่อเป็นอาหารมนุษย์เท่านั้น มิได้มีศักดิ์ศรีอะไรเลยฯ แน่นอนว่าการประกอบอาชีพเช่นนี้เป็นมิจฉาชีพ หรือที่พุทธศาสนาเรียกว่า มิจฉาวนิชชา (ต่อให้ถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม) เพราะขัดกับหลักศีลธรรม ใช้ชีวิตสัตว์อื่นเป็นเครื่องมือในการอยู่รอด/สร้างความร่ำรวยให้ตนเองฯ ดร.สมภาร พรมทาตั้งข้อสังเกตว่าพุทธศาสนาเถรวาทกลับห้ามเรื่องการเลี้ยงสัตว์ไว้ฆ่าหรือขายอย่างชัดเจน เป็นการเน้นไปที่ผู้ผลิต ส่วนพุทธศาสนามหายานกลับเน้นที่ตัวผู้บริโภค คือสอนว่าผู้ใดบริโภคเนื้อสัตว์ย่อมสะท้อนถึงการขาดเมตตาฯลฯ (งานวิจัยเรื่อง “กิน : มุมมองของพุทธศาสนา” โดยอาจารย์สมภาร พรมทา โครงการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ครั้งที่ ๒, พ.ศ ๒๕๔๗) หากสามารถพุ่งคำสอนไปทั้งสองฝ่ายคือทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เรื่องการเว้นจากการฆ่าสัตว์(เพื่อปรุงอาหาร) ก็จะสิ้นสุดลงได้ด้วยดีฯ
      คราวนี้กลับมาที่ประเด็นเรื่องการไม่ฆ่า แต่ไปหาซื้อมาบริโภค เรื่องนี้ไม่ค่อยมีการถกกันให้กระจ่าง อาจเป็นเพราะหลายฝ่ายไม่ต้องการความจริง คือเกรงว่าครั้นได้ข้อยุติแล้วตนจะทำเช่นนั้นอยู่ไม่ได้ เพราะจะถูกมองว่าขาดคุณธรรมเป็นต้น ประเด็นนี้ผู้เขียนเองก็ไม่ประสงค์จะถก อาจเป็นเพราะเหตุผลเดียวกัน? เราอาจยกตัวอย่างการฆ่าสัตว์เหมือนกับการลักทรัพย์ได้ว่า เป็นการไปละเมิดสิทธิเขา คือเอาชีวิตของผู้อื่นมา หากเราไม่ยอมขโมย(เพราะรักษาศีล) แต่เมื่อผู้อื่นขโมยมา(เอามาขาย เพราะทราบว่าผู้คนต่างสนใจหาซื้อ)เราก็ไปซื้อสิ่งนั้นมา การรับซื้อของประเภทนี้ถือเป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่?
      สรุปว่าเรื่องมังสวิรัติก็คงจบลงด้วยการเปิดประเด็นไว้ให้ไปถกเถียงต่อ สิ่งที่ผู้เขียนต้องการเสนอแนะคือ การบริโภคอะไรก็ตาม ควรบริโภคด้วยสติ พิจารณาถึงเป้าหมายที่แท้จริงคือคุณค่าทางโภชนาการ มิใช่รสนิยมหรือความชอบส่วนตัว ขณะเดียวกันให้ใคร่ครวญเสมอ(อย่างไม่มีอคติ)ว่า การบริโภคของตนเบียดเบียนตนและผู้อื่นหรือไม่? ที่สำคัญที่สุด เมื่อบริโภคแล้วใช่จะเอากำลังไปเที่ยวแตร่ นอน หรือสนองกิเลสอย่างอื่น แต่ต้องทำประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและส่วนรวม ความจริงพุทธศาสนายังสอนให้พิจารณาการบริโภคอีกอย่างหนึ่งคือให้เห็นเป็นเพียงธาตุ ไม่ใช่ สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา แม้แต่ตัวผู้บริโภคเองก็ให้มองด้วยการไม่ยึดมั่น เห็นเพียงขันธ์ ๕ มาประกอบกันเป็นไปตามเหตุปัจจัย คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป เป็นของสกปรก อาหารทั้งหลายแต่ก่อนดูดี น่ารับประทาน แต่พอเคี้ยวหรือกลืนไปแล้วก็กลายเป็นสิ่งปฏิกูลน่ารังเกียจฯลฯการพิจารณาเช่นนี้จะทำให้ไม่ยึดติดในรสและรูป(ความสวยงาม)ของอาหารได้ อีกประการคือหากต้องบริโภคเนื้อสัตว์  ให้มองเนื้อนั้นเป็นเสมือนเนื้อบุตรสุดที่รักของตน ซึ่งคนและคู่ครองต้องเดินทางกันดานผ่านทะเลทราย(สังสารวัฏ) ถึงกลางทางเกิดความเหนื่อยล้า อาหารก็หมด บังเอิญลูกตัวเล็กตายขึ้นมา ทั้งสองก็บริโภคเนื้อลูกไปพลาง ร้องไห้ไปพลาง(ถามกันว่าลูกที่น่ารักของตนไปไหนเสียแล้ว) เขาทั้งสองกินเนื้อนั้นไม่ใช่เพื่อความอร่อย เมามัน แต่เพียงเพราะต้องรักษาชีวิตเพื่อผ่านทางกันดาน(สังสารวัฏ)นั้นให้ได้เท่านั้นเองฯ
การท่องเที่ยวในทัศนะของพุทธศาสนา
      ในที่นี้อาจแบ่งการท่องเที่ยวออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือการท่องเที่ยวเพื่อแสวงหาความรู้และการท่องเที่ยวตามใจกิเลส(เสพสุขทางอายตนะดังกล่าวแล้ว) การท่องเที่ยวประเภทแรกจึงไม่ขัดกับหลักของพุทธศาสนาเรื่องการคบหาบัณฑิต(ปณฺฑิตานญฺ จ เสวนา) อย่างไรก็ตามการเที่ยวในประเภทแรกซึ่งมีประโยชน์นี้ยังแบ่งได้อีกเป็น ๒ ประเภท คือมุ่งหาความรู้ทางโลก ดังจะเห็นได้จากการมีโครงการทัศนศึกษาตามสถานที่ต่างๆเป็นต้น ส่วนการท่องเที่ยวประเภทที่สองคือ การมุ่งหาความรู้ทางธรรมหรือความพ้นทุกข์ ด้วยเหตุว่าการท่องเที่ยวประเภทแรกแม้ได้ประสบการณ์หรือความรู้มากมาย แต่ก็เป็นประโยชน์กับชีวิตปัจจุบันเสียส่วนใหญ่(ไม่เอื้อกับการพ้นทุกข์) คือมีความรู้สามารถถ่ายทอดให้ผู้อื่นฟังได้หรือสามารถนำมาสอนเป็นคติเตือนใจ(เช่นอยุธยาเมืองในประวัติศาสตร์) เพื่อให้คนรักชาติและยอมเสียสละไม่เห็นแก่ตัวเป็นต้น การศึกษาประเภทนี้มีผลดีมากหากเทียบกับการไปทะเลหรือน้ำตกของคนที่ต้องการหาความสุขเพียงอย่างเดียวฯ การท่องเที่ยวด้วยอำนาจกิเลสนี้พุทธศาสนาติเตียนมาก จนใช้คำว่า สถานที่อโคจรมีโรงสุรา(ผับบาร์ สถานเริงรมณ์)และแหล่งขายบริการเป็นต้น(อภิธรรม วิภังค์ ข้อ ๖๐๔)  การเที่ยวแสวงสิ่งนอกกายเป็นเรื่องเสียเวลาและไม่เป็นที่ปรารถนาของนักปราชญ์ เพราะความสุขที่แท้ต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นในตัว ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่ภัททวัคคีย์ทั้ง ๓๐ คนผู้กำลังออกตามหาหญิงโสเภณีว่า “ดูกรกุมารทั้งหลาย พวกเธอสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ข้อที่พวกเธอแสวงหาหญิงหรือแสวงหาตนนั้น อย่างไหนเป็นความดีของพวกเธอเล่า(คืออย่างไหนมีประโยชน์กว่า)? (วินัย.มหา. ข้อ ๓๖)
      พระพุทธเจ้าทรงย้ำให้ภิกษุ(เหตุที่ย้ำกับภิกษุเพราะเป็นสังคมที่พระองค์ตั้งขึ้นมาเองและสามารถวางกฎระเบียบหรือแนะนำให้ปฏิบัติตามพระองค์ได้ ส่วนการจะไปขอให้ฆราวาสทำเช่นนั้นเป็นเรื่องค่อนข้างยาก แต่พึงเข้าใจว่าธรรมะเป็นเรื่องดี แม้ฆราวาสทำได้ก็จะดีกับตัว คือชีวิตพัฒนาขึ้น) ให้รู้จักวิธีและสถานที่ในการท่องเที่ยว คือ สติปัฏฐาน ๔ ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปในแดนเป็นของบิดาของตนซึ่งเป็นโคจร(ที่ที่ควรไป) ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในแดนเป็นของบิดาของตนซึ่งเป็นโคจร มาร(กิเลส)ย่อมไม่ได้ช่อง(โอกาส) ไม่ได้อารมณ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แดนเป็นของบิดาของตน ซึ่งเป็นโคจรของภิกษุคืออะไร คือ สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกอยู่ เป็นผู้พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย เป็นผู้พิจารณาเห็นจิตในจิต เป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า แดนเป็นของบิดาของตนซึ่งเป็นโคจรของภิกษุ”(ขุททกนิกาย มหานิเทศ ข้อ ๙๑๗) ดังนั้นสถานที่ที่ควรท่องเที่ยวตามหลักพุทธศาสนาคือสติปัฏฐาน ๔ คือมีสติดำรงอยู่กับกาย เวทนา(ความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉยๆที่เกิดขึ้น) จิต(สภาวะของใจขณะนั้นๆ เช่นมีความโลภก็รู้ว่ามีความโลภ มีความโกรธก็รู้ว่ากำลังมีความโกรธ หดหู่ หรือฟุ่งซ่านเป็นต้น) และรู้ธรรม(คือเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับใจ....รวมถึงสิ่งอื่นๆเช่นมีสติรู้ขณะตาเห็นรูป หูได้ยินเสียงฯลฯ ต่างกับข้อจิตตรงที่ จิตตานุปัสสนารู้ตัวจิตเป็นหลัก ส่วนธรรมานุปัสสนารู้สิ่งที่เกิดกับจิตหรือมาเกาะจิตฯ) โดยสรุปคือตนกำลังทำอะไรก็ให้รู้ชัดว่ากำลังทำสิ่งนั้น จิตมีสภาพเช่นไรก็รู้ชัดถึงสภาพนั้น นี่เป็นการท่องเที่ยวที่ประเสริฐ คือเอาสติตั้งด่านไว้ตรงอายตนะทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ รู้จักสำรวมระวัง ไม่ปล่อยให้กิเลสเข้ายึดครอง ยิ่งท่องเที่ยวไปในสติปัฏฐาน ๔ นี้มากเท่าไร ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสการพ้นทุกข์คือมีปัญญามากเท่านั้นฯ
ความสุข ๓ ระดับ
เป็นที่น่าเสียดายที่แม้แต่ชาวพุทธเองกลับมองข้ามการท่องเที่ยวตามแบบสติปัฏฐานนี้ มุ่งหาแต่ความสุขด้านนอกซึ่งเป็นสุขเคลือบหรือจอมปลอม กล่าวคือเป็น อามิสสุข สุขที่อิงอามิส(หรือวัตถุ) เหตุที่สุขประเภทนี้ไม่เที่ยง เพราะวัตถุเป็นของไม่เที่ยง เมื่อวัตถุที่ตนไปยึดเกิดเสียหาย/เสื่อมสภาพ ความสุขที่ตนจะได้รับก็น้อยลง เช่น คนรัก ครั้นเขามีนิสัยเปลี่ยนไปหรือแสดงอาการบางอย่างซึ่งเราไม่ชอบให้เห็น ความสุขที่เกิดจากการมีคนรักก็จะเปลี่ยนไปตาม นี่เป็นความสุขของปุถุชนที่มีกิเลสหนา เป็นสุขประเภทแรกที่แม้เบื่อหน่ายแล้วก็ยังอยากวิ่งหาสิ่งอื่น อาจเรียกความสุขประเภทนี้ว่า สุขเกิดจากกามฯ ความสุขประเภทที่สองซึ่งยกระดับขึ้นมาอีกหน่อยคือ สุขที่เกิดจากฌาน หรือสมาธิระดับที่ตั้งมั่น คนที่จะเสพสุขประเภทนี้ต้องรู้จักสงบจิตใจ หมั่นฝึกสมาธิ ความสุขที่ได้เป็นความสุขด้านในที่เกิดจากปีติฯ ไม่ต้องวิ่งหาสุขนอกกาย แต่อย่างไรเสียก็ยังไม่ใช่ความสุขขั้นสูงสุด เพราะหากลุกออกมาจากสมาธิหรือเลิกปฏิบัติ ยังต้องพบปะกับผู้คน เผชิญหน้ากับโลกธรรมมีนินทา สรรเสริญเป็นต้น ก็ยังต้องสุขทุกข์ไปตามโลกอีกเช่นเคยฯ ความสุขระดับที่สองนี้หากไม่กล่าวถึงฌาน เพื่อให้เข้ากับสังคมสมัยนี้มากที่สุดคงเทียบได้กับ สุขจากการศึกษาหรือทำประโยชน์ เช่นคนที่ตั้งใจศึกษาหาความรู้เรื่องใดอย่างเต็มที่ เขาจะมีความสุขอยู่กับการจมอยู่กับหนังสือโดยไม่ต้องไปเที่ยวที่ไหน หรือนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังค้นคว้าผลิตวัตถุอะไรสักอย่าง เขาจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้นจนแทบไม่สนใจลูกเมียกระทั่งลืมโกนหนวดเคราตนเองก็มีฯ ความสุขระดับที่ ๓ คือ สุขจากการมีปัญญามองเห็นความจริง ไม่เป็นทาสกิเลส คนที่ได้สุขประเภทนี้ทางศาสนาเรียกว่าอริยบุคคล ไม่ติดทั้งในสุขและทุกข์ มองเห็นทุกอย่างเป็นเพียงการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป กระทั่งร่างกายตนเอง ไม่มีความอาลัยรัก แต่อย่าพึงเข้าใจว่าคนประเภทนี้ปล่อยปละละเลย ป่วยก็ไม่ยอมรักษาหรืออยากฆ่าตัวตาย การกระทำดังกล่าวไม่ใช่เป็นของพระอริยบุคคล แต่เป็นของคนโง่และขี้เกียจ ไม่สามารถจัดการกับชีวิตตนให้ดีขึ้นได้ ที่กล่าวว่าอริยบุคคลไม่อาลัยรักในชีวิตหมายความว่า ท่านยังรักษาสุขภาพเหมือนเดิม ไม่เสพอบายมุขที่ทำร้ายร่างกายให้ลำบาก เพราะยังต้องใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ทำประโยชน์เพื่อผู้คน(ให้มีความสุขเหมือนท่าน) ส่วนเมื่อร่างกายไม่ไหวแล้ว เช่นแก่หง่อมหรือโรคเบียดเบียนแบบรักษาไม่ได้ ท่านก็ไม่เสียดายชีวิต เพราะไม่เห็นว่าใครต้องตาย เป็นแต่เพียงร่างกาย(ขันธ์)ที่กำลังเสื่อมไปตามธรรมชาติเท่านั้นฯ
ไหว้พระ ๙ วัด ได้บุญมากไหม?
      ปัจจุบันมีการท่องเที่ยวเชิงพุทธฯ หรือเรียกให้ถูกคือพุทธพาณิช? แม้ข้าราชการก็จะได้รับสิทธิพิเศษ มีการจัดทัวร์ไปนมัสการพระ ๙ วัดตามท้องถิ่นของตนฯ นี้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย หากยังจัดอยู่ในประเภทของการทัศนศึกษาที่พอเป็นประโยชน์บ้าง ความจริงสิ่งที่ชาวพุทธ(หรือปัญญาชน)ควรสนใจมิใช่การไปไหว้พระในสถานที่ต่างๆเท่านั้น หากแต่ควรเป็นการลงมือศึกษาหาความรู้ทางพระศาสนาให้จริงจัง คือหันกลับเข้าหาพระไตรปิฎก หรือหาความเป็นเหตุเป็นผลของคำสอนมากกว่าการท่องเที่ยว ศึกษาพระพุทธรูปลักษณะปางต่างๆหรือชมเทศน์แหล่มหาชาติเป็นต้น บุญในทางพุทธศาสนาจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อคนคนนั้นสละกิเลส ๓ ตัวได้ คือความโลภ ความโกรธและความหลง(โง่เขลา) การทำบุญที่ได้ผลมากที่สุดคือการเข้าจัดการกับกิเลสตัวสุดท้ายซึ่งเป็นรากเหง้าของทุกอย่างกล่าวคือ ความหลงหรือไม่รู้จริงนั่นเอง ดังนั้นการศึกษาธรรมะให้เข้าใจและการลงมือปฏิบัติเพื่อให้รู้จักกิเลสและละกิเลสจึงเป็นเรื่องน่าแสวงหากว่าฯ มิใช่ว่าการทำบุญอย่างอื่นเช่นให้ทานเป็นต้นไม่ดี เพียงแต่สิ่งเหล่านั้นก็ล้วนต้องทำแบบจำกัด คือรู้จักประมาณ ช่วยเหลือคนที่ควรช่วย และไม่ทำให้ตนต้องเดือนร้อน ที่สำคัญบุญควรประกอบกับปัญญา(ญาณสัมปยุต)เพื่อจะได้พัฒนาความรู้ในการดำเนินชีวิตให้ดีและมีสุขขึ้น ใช่แต่จะหาทางทำบุญโดยความงมงาย หลายคนทำบุญไม่ถูก(ไม่พัฒนาปัญญา)ชีวิตก็ไม่ดีขึ้น ซ้ำยังเป็นตัวรังเกียจของคนรอบข้าง เช่นชอบกล่าวหาผู้อื่นว่า ทำบุญน้อยหรือยิ่งกว่านั้นทำจนตนเดือนร้อน บริจาคเพื่อหวังบุญจอมปลอมจนครอบครัวอดอยากฯลฯ การท่องเที่ยวหรือแสวงบุญ ๙ วัดจึงต้องย้ำเรื่องบุญที่แท้นี้ให้ดีฯ
      สรุปว่า ชาวพุทธต้องตระหนักถึงการเสพปัจจัยมีอาหารการกินและการท่องเที่ยวแสวงหาความสุขของตนให้มากกว่าเดิม  โดยเฉพาะคนที่มีการศึกษา จะต้องพัฒนาความสุขของตนให้เลื่อนระดับไปสู่ขั้นที่สูงขึ้นให้ได้ เพราะโดยเป้าประสงค์ของการศึกษาแล้วก็เพื่อพัฒนาคน การพัฒนาในที่นี้มิใช่จะสอนแต่วิธีหากำไรหรือหาความสุขจากวัตถุ แต่ต้องเป็นคนที่มีความสุขได้ง่ายขึ้นโดยพึ่งวัตถุให้น้อยลง ไปจนถึงขั้นสุดท้ายคือหมั่นพัฒนาจิต มีปัญญามองเห็นความเป็นจริง ไม่ถูกทุกข์บับคั้นฯ เมื่อสามารถพัฒนาไปจนถึงขั้นนี้(หรือแม้ยังไม่ถึง เพียงแต่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการแสวงหาสุขที่ถูกต้อง)ก็สามารถนำพาสังคมหรือคนรอบข้างตนให้พ้นจากโลกของบริโภคนิยมและการแก้ปัญหาอย่างไม่ถูกจุด(เอาสุขไปฝากไว้กับวัตถุ)ได้ ดังพระดำรัสที่ทรงส่งสาวกไปประกาศศาสนาว่า “พวกเธอก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวงทั้งที่เป็นของทิพย์  ทั้งที่เป็นของมนุษย์  พวกเธอจงเที่ยวจาริก  เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก  เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์”(วินัย.มหา.ข้อ ๓๒)
..................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น