วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2557

พระพุทธศาสนา 101









พระพุทธศาสนา 101

บทความเชิงวิพากษ์เพื่อความเข้าใจพุทธศาสนาเบื้องต้น
  


พระจิระศักดิ์ เกตุเมโธ
พระมหาเจษฎา กนฺตเมธี



คำนำ
      หนังสือเล่มนี้เป็นการนำเสนอหลักการพื้นฐานของพุทธศาสนาที่ได้จากการศึกษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์อื่นๆ ซึ่งหากพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นว่าความเชื่อและข้อปฏิบัติต่างๆ ที่กระทำกันอยู่นั้น พุทธศาสนาจะมีจุดยืนหรือเป้าหมายของตนอย่างชัดเจน หลายกรณีแตกต่างไปจากความเชื่อเดิมของศาสนาเทวนิยมทั้งหลาย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากท่านจะรู้สึกประหลาดใจหรือพบแง่มุมใหม่จากหนังสือเล่มนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมิได้ยืนยันว่า หนังสือเล่มนี้มีความถูกต้องสมบูรณ์ เป็นคัมภีร์ที่ดีที่สุดของพุทธศาสนาและห้ามไม่ให้มีการโต้แย้ง หากแต่ตรงกันข้าม เป็นการนำเสนอข้อมูลแบบวิพากษ์ โดยพยายามยกอ้างอิงจากพระไตรปิฎกให้มากที่สุด ซึ่งอาจเป็นการประมวลความรู้ที่มีความผิดพลาดก็เป็นได้ ทั้งนี้ เป้าหมายของผู้เขียนทั้งสองอยู่ที่การจุดประกายให้ชาวพุทธหันมาสนทนา ถกเถียงและแสวงหาหลักการที่ดีที่สุดของพุทธศาสนาเพื่อจะได้ทราบวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง แทนการปลงใจเชื่อด้วยศรัทธา อันจะไม่สามารถเข้าใจและได้ประโยชน์จากพุทธศาสนาได้มากพอ ... 19 ธันวาคม 2557






พระรัตนตรัย ที่พึ่งแบบพุทธ
      พระรัตนตรัยหรือแก้วประเสริฐ 3 ประการ อันประกอบด้วย พระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ เป็นเสมือนสัญลักษณ์หรือตัวแทนของพุทธศาสนา อย่างไรก็ตาม ชาวพุทธนิยมยึดเอาสามสิ่งนี้ว่า “เป็นที่พึ่ง” ซึ่งได้มาจากศัพท์บาลีว่า “สรณะ” ทั้งนี้พึงเข้าใจว่า การพึ่งพาในพุทธศาสนามิใช่การอาศัยอำนาจพระรัตนตรัยให้มาช่วยในฐานะพระผู้มาโปรด (Messiah) หรือผู้จะมาช่วยให้รอด (Savior) ดังปรากฏในศาสนาเทวนิยม เพราะพุทธศาสนามีหลักการอยู่ที่ว่า “มนุษย์จะต้องพึ่งตนเอง” พระพุทธเจ้าเป็นแต่เพียงผู้ชี้ทาง (ขุททกนิกาย ธรรมบท ข้อที่ 30) เฉพาะแต่ความเชื่อในพระรัตนตรัยโดยไม่ใช้ความพยายามบากบั่นด้วยตนเอง จนถึงระดับที่พึ่งพาตนเองได้จึงไม่สามารถนำพาให้ผู้นั้นเข้าถึงความเกษมอย่างสูงสุดได้
      หากพิจารณาให้ดี คำว่า “สรณะ” อาจต้องมีการนำมาให้ความหมายใหม่ เดิมศัพท์นี้นิยมแปลเป็นสองความหมายคือ ที่พึ่ง และ ที่ระลึก เช่นคำว่า อนุสรณ์ ก็หมายถึง วัตถุหรือสถานที่ที่สร้างไว้เพื่อการใช้หวนระลึกถึง หากนำเอาหลักของการพึ่งตนเองดังที่อธิบายไปข้างต้น จะเห็นว่า บางทีคำว่า “ที่ระลึกถึง” อาจเหมาะสำหรับการนำมาเป็นท่าทีที่ชาวพุทธพึงปฏิบัติต่อพระรัตนตรัยมากกว่า “การพึ่งพา”
            ตัวอย่างเช่น ชาวพุทธจะต้องเชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า (ตถาคตโพธิสทฺธา) ถ้าคำนี้หมายถึง คนที่นับถือศาสนาพุทธจะต้องเชื่อพระพุทธเจ้าแบบไม่ต้องลังเลสงสัยก็ถือว่าผิดหลักการของพุทธศาสนาอีกเช่นกัน เพราะพระพุทธเจ้าให้วางท่าทีด้วยการ “ไม่ให้รีบเชื่อ และไม่ให้รีบปฏิเสธ” (ดูเพิ่มเติมใน กาลามสูตร/เกสปุตตสูตร อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ข้อ 505) แต่ต้องรับฟังและพิสูจน์สิ่งนั้นก่อนว่าถูกต้อง เป็นประโยชน์หรือไม่ จากนั้นจึงค่อยยอมรับ
      การเชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า จะต้องอธิบายโยงกลับไปที่ว่า พุทธศาสนาเกิดขึ้นเพราะปฏิเสธอำนาจพระพรหมผู้สร้างและบันดาลโลก “ฉะนั้นพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องของพระพุทธเจ้าในฐานะคน มาปฏิสัมพันธ์กับคน” ซึ่งเป็นปฏิสัมพันธ์แบบแนวนอน (Horizontal Interaction) ไม่มีใครเหนือกว่าใคร แต่จะต่างกันเพราะขึ้นอยู่กับความเพียรในการพัฒนาปัญญาตนเอง แนวคิดนี้ตรงกันข้ามกับศาสนาเทวนิยมที่เชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้กำหนดทุกอย่าง พระเจ้าสร้างโลก สร้างมนุษย์ ฉะนั้นพระเจ้าจะสูงส่งกว่าและคอยบัญชามนุษย์ ความสัมพันธ์ในศาสนาประเภทนี้เรียกว่า ความสัมพันธ์แบบแนวดึ่ง หรือจากบนลงล่าง (Vertical Interaction)
      พึงสังเกตความแตกต่างระหว่างปฏิสัมพันธ์ทั้งสองประเภทนี้ดังตัวอย่างของ บัญญัติ และ ศีล “บัญญัติเป็นข้อบังคับ (Commandment)”ที่พระเจ้าเรียกร้องให้มนุษย์ต้องทำ ผู้ใดทำตามพระองค์จะประทานบำเหน็จ ส่วนผู้ใดละเมิดพระองค์ก็จะลงโทษ ซึ่งต่างกับศีลหรือสิกขาบทในศาสนาพุทธที่เป็นเพียง “คำแนะนำให้ปฏิบัติ (Suggestion)
            ชาวพุทธมักนิยมแปลศีลว่าเป็นข้อห้าม เช่น ห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามลักทรัพย์ ฯลฯ แท้จริง นี้เป็นคำแปลที่ผิดพลาดมาก เพราะในคำสมาทาน ไม่มีศัพท์ใดแปลว่า “ห้าม” เลย แต่จะแปลว่า “เราขอสมาทานฝึกฝนตัวเองด้วยการเว้นจากการ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น” เหตุผลที่ไม่มีการห้าม เพราะพุทธศาสนาเป็นศาสนาของพระพุทธเจ้าในฐานะคนที่ให้คำแนะนำต่อคน พระองค์เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง แต่ไม่ประมาท เร่งพัฒนาตัวเอง จนเกิดสติปัญญารู้เท่าทันกฎของธรรมชาติได้ เมื่อรู้แล้วก็ทำให้ตัวเองพ้นทุกข์ (เรียกชื่อใหม่ว่า พระพุทธเจ้า) และนำสิ่งที่ตนทราบมาบอกต่อ พระองค์ชี้ให้เห็นว่า การฆ่าหรือเบียดเบียนกันจะทำให้สังคมไม่สงบ ใจผู้ทำเองก็เต็มไปด้วยความอาฆาตจึงไม่มีความสุข สอนให้เอาใจเขามาใส่ใจเราว่า ทุกสรรพสัตว์ต่างรักชีวิตตัวเอง เมื่อเราได้ฟังประโยชน์ของการไม่เบียดเบียนและโทษของการทำร้ายกันแล้ว เราจึงตั้ง “เจตนาด้วยตนเอง” ที่จะไม่เบียดเบียนกัน ด้วยการพูดออกมาเป็นคำสมาทานเป็นต้นว่า ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ดังนั้น ศีลจึงเป็นเจตนาในการฝึกฝนตนของเราเอง มิใช่เป็นการสั่งห้ามเหมือนศาสนาเทวนิยม นั่นหมายความว่า หากเราไม่เห็นประโยชน์ของศีล ไม่รักษาศีล พระพุทธเจ้าก็จะไม่ลงโทษเรา แต่เราต้องรับผลคือความเดือดร้อนในการเบียดเบียนทำร้ายกันด้วยตัวเราเอง
            พระพุทธเจ้าเป็นคนธรรมดา ที่เราระลึกถึงแล้ว จะนำศักยภาพของคนกลับมาสู่ใจเราว่า พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นคนยังสามารถพัฒนาตัวเองได้ ฉะนั้นแม้เราทุกคนก็สามารถพัฒนาปัญญาให้สูงขึ้นจนเห็นความจริงแบบพระพุทธเจ้าได้เช่นกัน “ดังนั้น ตถาคตโพธิสทฺธา หรือการต้องเชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าจึงไม่ใช่ความเชื่อในลักษณะที่คล้ายกับการเชื่อว่าพระเจ้าสูงส่ง มนุษย์ต้องยอมสิโรราบ แต่เป็นความเชื่อที่สุดท้ายแล้วเสริมกำลังใจเราให้เร่งพัฒนาตัวเองดังเช่นพระองค์” ว่าในเมื่อพระองค์ที่เป็นมนุษย์พ้นทุกข์ได้ เราก็สามารถพ้นทุกข์ได้เช่นกัน
            กรณีของพระธรรมคำสอน พุทธศาสนาก็อธิบายลักษณะของพระธรรมไว้ว่าเป็น สันทิฏฐิโก อันหมายถึง คำสอนนั้นเป็นสิ่งที่สามารถเข้าใจได้ (Understandable) ซึ่งมีความชัดเจน ประจักษ์ และมีความเป็นเหตุเป็นผลอยู่ในตัวเอง ผู้ฟังจึงสามารถเข้าใจได้โดยไม่ต้องใช้ความเชื่อ เช่น การประสบสิ่งที่ตนไม่ชอบเป็นความทุกข์ การต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นความทุกข์ ฯลฯ เพราะคำสอนเช่นนี้มีความเป็นสากลในตัวเอง มิใช่คำสอนประเภทลัทธิความเชื่อ (Dogma) ที่ผู้ฟังไม่สามารถเข้าใจด้วยเหตุผลหรือพิสูจน์ได้ในทันที จำต้องเชื่อเพราะอาศัยความเคารพในตัวผู้พูดหรือเพราะเกรงภัยอันตราย  ฉะนั้นธรรมะในพุทธศาสนาจึงเป็นสิ่งที่สามารถพูดคุย ถกเถียง ชี้แจงเหตุผลกันได้ ต่อให้ผู้นั้นจะไม่มีความศรัทธาเลยก็ตาม แต่หากยึดมั่นในหลักการ ความถูกต้องก็สามารถศึกษาพุทธศาสนาได้ จึงมีความจำเป็นที่ชาวพุทธจะต้องเปลี่ยนทัศนคติในการมองพระธรรมที่จากเดิมเป็นเครื่องบูชาที่ละเมิดไม่ได้ เป็นสิ่งที่จะต้องเชื่อโดยไม่อาจตั้งคำถาม มาเป็นการสร้างความคุ้นเคยกับพระธรรม รู้จักตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์พระธรรม หาความรู้ใหม่อยู่เสมอและนำสิ่งที่ได้ไปพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติ จึงจะได้รับประโยชน์ขั้นสูงสุด
      “บางทีการบอกตัวเองว่า พระพุทธเจ้าจะไม่ช่วยอะไรเรา นอกจากให้คำแนะนำไว้ ฟังแล้วจะหดหู่ใจมากกว่าการบอกว่า พระเจ้าอยู่เคียงข้างเราเสมอ พร้อมจะช่วยเหลือเราทุกเวลา แต่ชาวพุทธควรตื่นขึ้นมายอมรับความจริงและบอกตัวเองให้ได้ว่า ไม่มีใครช่วยเราได้ดีเท่ากับการที่เราช่วยเหลือตัวเอง การพึ่งตนเองทำให้เราไม่ต้องฝากความหวังไว้กับสิ่งที่มองไม่เห็น และเมื่อเราพัฒนาตัวเองเรื่อยๆจนพึ่งตัวเองได้แล้ว เรายังสามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์พร้อมทั้งสรรพสัตว์อื่นๆ ได้ด้วยโดยไม่ต้องรอคอยอำนาจ การคุ้มครองจากสิ่งที่เรามองไม่เห็น”
      ดังนั้น การมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะจึงไม่ใช่การต้องศรัทธาแบบไม่ตั้งคำถามหรือการรอหวังพึ่งให้มาช่วย แต่เป็นการเรียนรู้ให้เข้าใจว่าพระพุทธเจ้าเป็นใคร ฝึกฝนตนเองแบบใด พระธรรมมีลักษณะอย่างไร เราจะได้ประโยชน์จากพระธรรมอย่างไร ทั้งนี้พระสงฆ์ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ยืนยันว่า บุคคลธรรมดาที่ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วนำมาปฏิบัติฝึกตน ก็สามารถก้าวถึงความสุขแบบสมบูรณ์ได้ พระรัตนตรัยทั้ง 3 ในพุทธศาสนาจึงเป็นตัวอย่างที่ดีอันจะเตือน (สรณะ) ให้มนุษย์ไม่หยุดพัฒนาตนเองโดยไม่ฝากความหวังหรือต้องศรัทธาต่อสิ่งเร้นลับ


คำถามเชิงวิพากษ์
      1. ท่านคิดว่า ชาวพุทธควรแขวนพระเครื่องหรือนำวัตถุมงคลอย่างอื่นติดตัวหรือไม่? เพราะเหตุใด?
      2. จากการที่ท่านได้ศึกษาพระไตรปิฎกมาระดับหนึ่ง เชื่อว่าน่าจะมีคำสอนหรือบางพระสูตรที่เสนอข้อความแบบไม่มีเหตุผลหรือบอกให้ชาวพุทธต้องเชื่อ พอจะยกตัวอย่างคำสอนเหล่านั้นมาแสดงได้บ้างหรือไม่?
      3. กรณีที่มีคนเสนอความเห็นว่า “พระพุทธเจ้าหรือเจ้าชายสิทธัตถะไม่เคยมีอยู่จริง เป็นแต่เรื่องราวที่ถูกแต่งขึ้น” ท่านจะตอบด้วยเหตุผลใด? การไม่เชื่อว่าจะมีเจ้าชายสิทธัตถะอยู่จริง จะทำลายหลักการของพุทธศาสนาหรือไม่?









การบริโภคปัจจัยสี่
      มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยอาศัยปัจจัยพื้นฐานคือ “อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่พักอาศัย และยารักษาโรค” ซึ่งเรียกรวมว่า ปัจจัยสี่ หากมีปัจจัยสี่ครบถ้วนตามความจำเป็น แม้ไม่มากก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างผาสุก
      ตามหลักการของพุทธศาสนา จะเห็นว่าบทพิจารณาใช้สอยปัจจัยสี่ได้กล่าวถึงการใช้สอยเพียงเพื่อบรรเทาทุกข์ทางกาย และพัฒนาตนเองไปถึงระดับที่สามารถมีความสุขได้แม้ในยามที่มีวัตถุใช้สอยน้อยนิด พุทธศาสนามองปัจจัยสี่เป็นเพียงเครื่องมืออุปถัมถ์เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ (Means) ปัจจัยสี่จึงไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด (Aim) ที่มนุษย์จะต้องหลงแสวงหาจนเกินจำเป็นและลืมพัฒนาชีวิตด้านอื่นๆ ไปเสีย
      ในวิถีปฏิบัติของพุทธศาสนาจึงมีบทพิจารณาปัจจัยสี่ที่เรียกว่า “ปัจจะยะปัจจะเวกขะณะ” คือการพิจารณาส่วนที่ไม่ควรทำและพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการใช้สอยสิ่งเหล่านั้น ดังตัวอย่างเช่น
      พิจารณาการใช้สอยจีวร (หากเป็นฆราวาสก็หมายเอาเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม) ว่าเราใช้สอยเครื่องนุ่งห่มมิใช่เพื่อการประดับตกแต่ง แต่เพื่อบำบัดความหนาว ความร้อน และป้องกันเหลือบ ยุง ลม แดด เพื่อปกปิดอวัยวะอันทำให้เกิดความน่าละอาย
      พิจารณาการบริโภคอาหาร ว่าเราจะไม่บริโภคเพื่อความเพลิดเพลิน สนุกสนาน หรือเพื่อความเมามัน เพื่อเกิดพลังทางกาย ไม่ใช่เพื่อประดับหรือตกแต่ง แต่เพื่อสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้และระงับทุกข์อันเกิดจากความหิว บริโภคแล้วก็ไม่ให้สูญเปล่า แต่จะเอาเวลาพลังงานที่ได้จากการบริโภคอาหารไปบำเพ็ญกิจอันเป็นประโยชน์ต่อไป เช่น ปฏิบัติธรรม
      พิจารณาการใช้สอยที่พักอาศัย เพื่อบำบัดความหนาว ความร้อน ป้องกันเหลือบยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย และป้องกันอันตรายที่เกิดจากดินฟ้าอากาศ (ที่พักอาศัยในที่นี้ ไม่ได้หมายเอาเพียงแค่บ้านหรือห้องพัก แต่ยังให้มองไปถึงการใช้สอยสถานที่ต่างๆ เพื่อการภาวนาหรือพัฒนาด้านจิตใจอีกด้วย)
      พิจารณาใช้สอยยารักษาโรค เพื่อบำบัดทุกขเวทนาอันเกิดจากโรคต่างๆ เพื่อจะใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่มีโรคภัยเบียดเบียน
     ทางสายกลางกับปัจจัยสี่...จากบทพิจารณาปัจจัยสี่ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การบริโภคใช้สอยปัจจัยสี่จะเป็นไปตามเนื้อหาสาระที่แท้จริงของสิ่งเหล่านั้น เช่น สาระแท้ของอาหารคือระงับความหิวและได้พลังงานจากอาหารไปทำกิจที่เป็นประโยชน์ ส่วนที่ไม่ใช่สาระคือการกินเพื่อความเอร็ดอร่อย อวดหรู อวดรวย หรือเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงบันเทิง เป็นต้น ด้วยเหตุนี้การบริโภคใช้สอยปัจจัยสี่จึงเป็นไปตามหลัก “ทางสายกลาง” (มัชฌิมาปฏิปทา) คือไม่ทำร่างกายให้ทุกข์ทรมานจนสุดโต่งไปทางด้านขาดแคลน หรือไม่ใช้สอยปัจจัยสี่เพราะเห็นว่าจะเป็นการไปบำรุงบำเรอกิเลสของตน นักบวชในบางลัทธิเมื่อหิวก็ไม่ยอมกินอาหารอดข้าวอดน้ำ เมื่อหนาวก็ไม่ใส่เสื้อผ้าปล่อยให้ร่างกายทนกับความหนาว เหลือบ ยุง ลม แดด ซ้ำยังไม่ปกปิดอวัยวะอันจะทำให้เกิดความละอายในที่สาธารณะ นักบวชเปลือยกายประเภทนี้ยังมีอยู่โดยเฉพาะในศาสนาเชน นิกายฑิฆัมพร แม้นักบวชโยคีในอินเดียสมัยอดีตจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังทำตัวให้ลำบากด้วยการนุ่งน้อยห่มน้อย ทำตัวให้สกปรกเศร้าหมอง ให้ลำบาก เกิดทุกขเวทนาจากโรคต่างๆ เพราะมีความเชื่อว่าการทรมานตนเองเท่านั้นจึงจะบรรลุเป้าหมาย (อัตตกิลมถานุโยค/self-mortification) คือ พระนิพพาน
      อีกกลุ่มหนึ่งเป็นพวกสุดโต่งไปทางด้านเสพบริโภคใช้สอย หรืออาจะเรียกว่าพวกวัตถุนิยม คือการหาความสุขภายนอกจากการปรนเปรอด้วยวัตถุที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา รับรู้กลิ่นทางจมูก รู้รสชาติทางลิ้น การได้สัมผัสกับร่างกาย รวมถึงการอาศัยจิตนึกคิดเอา การแสวงหาความสุขที่เกินไปจากเนื้อหาสาระที่แท้จริง ทางพุทธศาสนาเรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค (Sensual gratification) เช่น การบำรุงบำเรอทางกาย มีความพยายามหาเสื้อผ้า เครื่องประดับตกแต่ง เครื่องประทินผิวให้เกิดกลิ่นหอมต่างๆ หรือหากเป็นที่นอนก็หาชนิดที่นุ่ม เป็นต้น การหาความสุขจากการได้ลิ้มรสชาติอาหารเครื่องดื่มต่างๆ การได้ที่พักอาศัยเพื่อตอบสนองความสะดวกสบาย หรือการหายาบำรุงร่างกายหรือกินยาเพื่อเสริมอวัยวะบางส่วนเพื่อความสวยงาม บุคคลกลุ่มหลังนี้มีทุกยุคทุกสมัย ไม่ใช่เพิ่งเกิดมีเมื่อเทคโนโลยีเจริญแล้ว หากมองอีกด้าน ในสมัยที่ไม่มีเทคโนโลยีก้าวหน้า การแสวงหาให้ได้มาอาจต้องใช้ความทะเยอทะยานสูงกว่าก็เป็นได้ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายเดือดร้อนมากมาย เช่น การทำสงครามเพื่อแย่งอาหาร ที่ดิน ที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ต้องฆ่าฟันกันมาไม่น้อยด้วยเหตุเพราะความไม่พึงพอใจในปัจจัยสี่ที่ตนมี และความกลัวการขาดแคลนในปัจจัยสี่ จึงต้องแสวงหาสะสมมาไว้ให้มากๆ เกิดการปล้น ลักขโมย ฉ้อโกง สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนขัดกับหลักสัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพโดยชอบตามมรรคมีองค์แปด
     บริโภคใช้สอยปัจจัยสี่อย่างคนมีการศึกษา...การบริโภคปัจจัยสี่ตามหลักทางสายกลางนอกซึ่งจากของสิ่งนั้นจะได้มาอย่างบริสุทธิ์แล้ว ยังต้องรู้จักใช้สอยอย่างมีสติปัญญา บริโภคใช้สอยปัจจัยสี่ด้วยความพอดีพอใจ มองเห็นคุณค่าที่แท้จริงโดยธรรมชาติ เรียกว่า “บริโภคด้วยฉันทะ ไม่ใช่ด้วยตัณหา” หากเรากินอาหารด้วยฉันทะคืออยากให้ร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพดี ก็จะเลือกกินในสิ่งที่ดีมีประโยชน์ และพอดีพอประมาณเพื่อไม่ให้เป็นโทษแก่ร่างกาย แต่หากกินอาหารด้วยตัณหาคือความอยาก เราก็จะเอาแต่ติดค่านิยมในอาหาร ยี่ห้อ รสชาติ ราคา โดยไม่สนใจว่ากินเข้าไปแล้วจะมีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน     การใช้สอยปัจจัยอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน หากใช้สอยด้วยความอยากอวดฐานะ อยากโชว์ แข่งขันกับคนอื่น “ทางพุทธศาสนาก็ยังถือว่าเป็นคนไม่มีการศึกษา” เพราะละเลยคุณค่าที่แท้จริงของชีวิตแต่กลับไปติดอยู่กับคุณค่าเทียมของการใช้สอยปัจจัยสี่
      พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้แสดงธรรมเกี่ยวกับการใช้สอยปัจจัยสี่ไว้ว่า “การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็น” ท่านกล่าวไว้ว่า “การศึกษาขั้นพื้นฐานคือ การบริโภคปัจจัยสี่กับการใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เอง จะต้องให้เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษา ถ้าได้จุดนี้แล้วการศึกษาก็เริ่มเดินหน้า ในทางตรงกันข้ามหากเราใช้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในทางที่เพลิดเพลิน มัวเมา ก็จะเป็นโทษกับตนเองและผู้อื่น” ท่านยังกล่าวต่อไปอีกว่า “หากเป็นการบริโภคใช้สอยอย่างคนที่มีการศึกษาก็ต้องใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเพื่อแสวงหาปัญญาและหาทางสร้างสรรค์ประโยชน์ แต่ถ้าสักแต่ว่าใช้สอยไปตามความอยาก หาสิ่งมาบำรุงบำเรอ ตามค่านิยมของยุคสมัย ก็ยังเป็นได้แค่นักเสพ ไม่ใช่นักศึกษา”
     ปัจจัยสี่กับศีล...อันที่จริงการใช้สอยปัจจัยสี่นั้นก็เป็นศีลอย่างหนึ่ง เรียกว่า “ปัจจัยสันนิสิตศีล” คือการบริโภคใช้สอยปัจจัยสี่ให้เป็นไปตามความหมายและประโยชน์ของสิ่งนั้น โดยอาศัยการสำรวมระวังอินทรีย์คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้รับรู้สิ่งที่มากระทบ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส ให้เป็นไปตามคุณค่าและประโยชน์ที่ควรจะได้รับ เช่นนี้ก็จัดเป็นศีลอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า “อินทรียสังวรศีล” การบริโภคใช้สอยอย่างมีสติจะนำไปสู่ความพอดี ความยินดี ความพอใจในปัจจัยสี่ที่มี เช่นนี้จึงชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ เมื่อกล่าวถึงความสันโดษในปัจจัยสี่ นอกจากตนเองจะพอใจยินดีเท่าที่มี ไม่มีความเดือดร้อนใจในการแสวงหาแล้ว ก็ยังต้องยินดีที่จะแบ่งปันหรือสละให้บุคคลอื่นได้ด้วย บุคคลที่สันโดษในปัจจัยสี่นี้จะสามารถเป็นผู้มีความสุขได้ง่ายแม้มีวัตถุน้อยนิด
      ด้วยเหตุนี้ จึงมีการรักษาอุโบสถศีล คือ ศีล 8 ซึ่งมี 3 ข้อเพิ่มเติมมาจาก ศีล 5 คือ
      - เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล (นับเอาหลังเที่ยงวันจนถึงรุ่งอรุณของวันใหม่)
      - เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้องและประโคมเครื่องดนตรีต่าง ๆ และดูการเล่นที่เป็นข้าศึกแก่กุศล และทัดทรงตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับและดอกไม้ของหอม เครื่องย้อมเครื่องทา
      -  เว้นจากการนั่ง นอน บนที่นอนอันสูงใหญ่ ภายในยัดนุ่นหรือสำลี (หมายเอาที่นอนอันทำให้นุ่มเกิดความสบายกาย แม้ปัจจุบันจะไม่ใช่นุ่นหรือสำลีก็ตาม)
      เมื่อพิจารณาตาม ศีล 8 จะเห็นว่ามีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการกิน การดู การฟังและการใช้สอยปัจจัยสี่แทบทั้งสิ้น การใช้สอยปัจจัยสี่ของคนทั่วไปซึ่งไม่ใช่พระสงฆ์จึงสามารถปรับตัวเองไปตามสมัยนิยมได้ คือการไม่จำกัดมื้ออาหาร เครื่องประดับตกแต่งกาย เครื่องประทินผิว ที่หลับนอน โดยสามารถบริโภคสิ่งเหล่านี้ได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องพยายามให้เป็นไปอย่างมีสติและพอประมาณ พิจารณาถึงคุณค่าและประโยชน์ที่แท้จริงอยู่นั่นเอง       ในประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ ชาวพุทธมักจะถือเอาวันพระเป็นวันปฏิบัติพิเศษ คือ ศีล 8 ด้วยการลดมื้ออาหารลงเหมือนพระสงฆ์ งดการฟ้อนรำ ขับร้อง ดูหนังละครที่สร้างความรื่นเริงบันเทิง งดการใช้สอยเครื่องประดับตกแต่งร่างกาย งดการใช้น้ำหอม เครื่องแป้ง เป็นต้น ตลอดถึงงดการนั่งนอนบนที่นอนใหญ่นุ่ม นี่เป็นการฝึกฝนตนเองให้รู้จักสันโดษในปัจจัยสี่และฝึกสติสำรวมอินทรีย์ (อินทรียสังวรศีล)
      แม้ไม่สามารถถือปฏิบัติได้ตลอดเวลาอย่างเคร่งครัด ก็ควรหาโอกาสฝึกฝนไว้บ้าง เพื่อในยามคับขันขาดแคลนจะได้ไม่เดือดร้อนใจ สามารถใช้ชีวิตตามปกติ เรียกว่า “มีก็ได้ ไม่มีก็ไม่เป็นทุกข์เดือดร้อน” ตรงกันข้ามกับคนที่ไม่เคยฝึกในเรื่องสันโดษในปัจจัยสี่เลย “เมื่อไม่มีไม่ได้อย่างที่หวังก็เป็นทุกข์ได้ง่าย” เมื่อยามปกติก็หลงระเริงไปกับการใช้สอยปัจจัยสี่ ทั้งยังหวั่นไหวไปกับค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ “ส่วนผู้ที่ฝึกตนด้านศีลซึ่งสัมพันธ์กับการบริโภคปัจจัยสี่นี้ นอกจากตนเองจะได้ประโยชน์แล้วหากมีเหลือก็พอใจที่จะแบ่งปันให้คนอื่นด้วยความเอื้อเฟื้อ ไม่เบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเพื่อสนองความต้องของตน การพัฒนาด้านจิตใจและปัญญาก็จะเกิดขึ้นได้ง่ายเมื่อมองเห็นคุณค่าและความสำคัญของสรรพสิ่งทั้งหลาย”





คำถามเชิงวิพากษ์
      1. การใช้สอยปัจจัยสี่ตามความต้องการโดยไม่สนใจคุณค่าแท้ คุณค่าเทียม แต่ก็มิได้ขัดสนด้านเงินทอง พฤติกรรมนี้ถือว่าทำได้หรือไม่? ทางสายกลางในการใช้สอยปัจจัยสี่ของคนรวยและคนจนเหมือนหรือต่างกันหรือไม่ อย่างไร?
      2. ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ นับว่าเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้ดีขึ้น อย่างนี้ถือว่าไม่สันโดษในปัจจัยสี่ใช่หรือไม่? หากเราอยู่ชนบท มีวัตถุใช้สอยน้อยแต่มีความสุข เราก็ควรจะอยู่อย่างนั้นต่อไปหรือไม่? การพัฒนาให้ประเทศเจริญไปตามยุคสมัย ซึ่งมีวัตถุใช้สอยเพิ่มมากขึ้น มีความสะดวกมากขึ้น อย่างนี้ชื่อว่า ติดค่านิยมคนเมืองหรือไม่?
      3. การอยากกินอาหาร อยากได้ของใหม่ๆ ที่เห็นในโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า อุปกรณ์เทคโนโลยีรุ่นใหม่ๆ ที่ทันสมัย เพราะรู้สึกเชยหรืออายเมื่อต้องเข้าสังคมกับคนอื่น การอัพเดทตัวเองไปตามสมัยนิยมทำได้หรือไม่ โดยไม่ให้ขัดกับหลักพุทธศาสนา? ถ้าได้จะต้องทำอย่างไร?
      4. เมื่อเห็นพระสงฆ์มีของใช้ราคาแพง ฉันอาหารราคาแพง ในร้านที่มีระดับ เราควรมีท่าทีอย่างไร?  พระสงฆ์สามารถเลือกแสวงหาปัจจัยสี่เองได้หรือไม่? มีข้อจำกัดในการใช้เครื่องอำนวยความสะดวก เช่น รถยนต์ อุปกรณ์สื่อสาร อุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ได้จำกัดแค่ไหน ลองอภิปราย?







การทำบุญให้ทาน กรวดน้ำ แผ่เมตตา
      บุญ แปลตามศัพท์ว่า “การชำระล้างหรือทำให้สะอาด” การชำระในที่นี้หมายถึงการชำระใจจากกิเลสคือ ความอยากได้ (โลภะ) ความโกรธเคือง ไม่พอใจ (โทสะ) และความไม่รู้ (โมหะ) ซึ่งการทำบุญมีถึง 3 ระดับคือ การบริจาคทาน การรักษาศีลและปฏิบัติธรรมเจริญภาวนา แต่ทั้งนี้ เรามักเข้าใจกันว่า  บุญจะต้องเกิดจากการให้ทานเท่านั้น เหตุผลที่การทำบุญต้องมีถึง 3 ประเภทเพราะการบริจาคสิ่งของช่วยเหลือกันเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ใจเราพ้นจากกิเลสได้ทั้งหมด

การบริจาควัตถุช่วยเหลือผู้อื่นแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
      1. ปาฏิปุคคลิกทาน การเลือกให้เฉพาะคนที่เรารัก ไม่ให้แก่คนที่เราไม่ชอบ
      2. สังฆทาน การให้ที่ไม่เจาะจงผู้รับ ไม่ให้เพราะความชอบส่วนตัว แต่พิจารณาจากสถานการณ์ว่าใครในขณะนั้นควรได้รับการสงเคราะห์ ก็ช่วยเหลือผู้นั้น
      เป้าหมายของการทำบุญด้วยการ “บริจาคทาน” คือการลดความตระหนี่ของผู้ให้ ฉะนั้นการให้ในแบบสังฆทานจึงเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าส่งเสริมมากกว่า (มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ข้อ 713) เนื่องจากเป็นการเสียสละที่ประสงค์จะช่วยเหลือผู้อื่นจริงๆ ไม่ใช่ “การลงทุน” ที่บริจาคไปแล้วคาดหวังว่าตนจะได้รับอะไรบางอย่างตอบแทน เช่น ความรัก ความเคารพ บุญคุณ สวรรค์หรือความร่ำรวยในภพหน้าเป็นต้น “สังเกตว่า การให้ที่หวังผลกลับเข้าหาตนเองทั้งในปัจจุบันและอนาคต เป็นการให้ที่ไม่สามารถชำระล้างความตระหนี่ได้” ทั้งยังเป็นการมองผู้อื่นเป็นเสมือนเครื่องมือสนองความใคร่ในการสร้างทานบารมีของตน มิใช่การสละเพราะเจตนาที่บริสุทธิ์ ปรารถนาดี เห็นคุณค่าในตัวบุคคลของผู้นั้น อนึ่ง การให้แบบสังฆทาน จะทำให้คนในสังคมเอื้อเฟื้อกันโดยไม่จำกัดว่าผู้รับจะต้องเป็นญาติของตนหรือคนที่ตนรัก อันจะช่วยในการเปิดใจกว้างของผู้บริจาคได้มากขึ้น
     ส่งบุญให้ผู้ตาย ได้หรือไม่? พุทธศาสนามีหลักกรรมอยู่ที่ “การทำความดีหรือความชั่ว เป็นของเฉพาะตน ไม่มีใครสามารถทำแทนกันได้” ฉะนั้นหากเชื่อว่า เราสามารถส่งบุญให้บางคนได้โดยที่เขาไม่ต้องทำด้วยตัวเอง ก็ถือเป็นการขัดกับหลักกรรมของพุทธศาสนาอย่างมาก เพราะหากเราสามารถทำบุญแทนกันได้ ฉันเป็นคนทำแต่ให้เธอเป็นคนรับผล ซึ่งก็เท่ากับการยอมรับว่า ถ้าฉันทำบาปด้วยการฆ่าคน ฉันก็จะให้เธอช่วยรับผลของบาปนั้นแทนได้ด้วย การกล่าวเช่นนี้จึงไม่เป็นความจริง
      แต่มิได้หมายความว่า  ใครๆ ก็ไม่สามารถจะได้บุญจากการกระทำของเราเลย เพราะต้องไม่ลืมว่า การกระทำทางพุทธศาสนามี 3 ช่องทางคือ ทางกาย วาจาและใจ หากนาย ก. สละเงินช่วยเหลือคนจน (ทำบุญ) นาย ข. ทราบการกระทำนั้นเข้าแล้วเกิดความรู้สึกชื่นชมยินดีว่า “นาย ก. ช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์โดยไม่หวังชื่อเสียง แล้วก็ตั้งเจตนาว่า หากตนมีโอกาสก็จะทำความดีแบบนาย ก. เหมือนกัน” ความรู้สึกประเภทนี้เรียกว่า “การอนุโมทนา” ซึ่งบุญจะเกิดจากการกระทำทางใจ/ความคิดของนาย ข. (ปัตตานุโมทนามัย) นาย ข. จึงได้บุญจากการเห็นพฤติกรรมของนาย ก. ในครั้งนี้ด้วย
      ไม่ใช่นาย ก. ทำบุญแล้วนาย ข. เป็นคนรับ หากแต่เป็นบุญที่นาย ก. ได้รับโดยตรง เพราะชำระความตระหนี่ของตัวเองได้ “ส่วนนาย ข. ได้บุญ เพราะทำบุญด้วยตนเองเหมือนกัน” แต่เป็นการกระทำทางใจ โดยเกิดจากการเห็นคนอื่นทำความดี เรามักสอนกันให้อนุโมทนา สาธุ กับการทำบุญของผู้อื่นอยู่เสมอ การอนุโมทนายินดีเมื่อเห็นผู้อื่นทำความดีเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะสามารถลดความอิจฉาที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ต้องเข้าใจว่า การอนุโมทนาจะเป็นบุญ ก็ต่อเมื่อเราเห็นคุณค่าของความดีนั้นจริงๆ ไม่ใช่การเปล่งสาธุเพราะอยากได้บุญ เราต้องไม่ลืมว่า บุญ คือการชำระล้างกิเลสเช่นความตระหนี่ หากเราอนุโมทนาเพราะอยากได้บุญ ก็เท่ากับเพิ่มความตระหนี่อีกเช่นกัน และนั่นก็เป็นการ “สาธุเพราะโลภอยากได้บุญ”  แท้จริงคนที่มีปัญญาและไม่ตระหนี่ เขาจะเกิดจิตที่อนุโมทนากับการทำความดีของผู้อื่นเสมอ เช่นเห็นเด็กเก็บขยะไปทิ้งในถัง เห็นคนหนุ่มลุกให้ผู้สูงอายุนั่งบนรถประจำทางเป็นต้น โดยไม่จำต้องเปล่งออกมาเป็นคำพูด ว่า สาธุ หรือ อนุโมทามิ แต่ใจเขาเกิดบุญกุศลอยู่ในตัว ประการสำคัญ เราต้องไม่ลืมว่า บุญสามารถเกิดได้ทุกที่ มิใช่เฉพาะในวัดหรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับพิธีทางศาสนาเท่านั้น
      สำหรับ บาป หรือ ความชั่ว ก็มีลักษณะเดียวกัน เราไม่สามารถทำความชั่วแล้วส่งผลกรรมไปให้อีกคนรับแทนได้ เพราะความชั่วก็เป็นของเฉพาะตน แต่การเห็นคนทำความชั่วแล้วเรารู้สึกชื่นชมยินดี ก็จะทำให้เรามีส่วนของความชั่วนั้นได้ เช่น เราไม่ชอบเพื่อนบ้านคนหนึ่ง แต่ก็ไม่เคยแสดงออก จนวันหนึ่งเพื่อนบ้านคนนั้นถูกรุมทำร้ายถึงขั้นสาหัส พอทราบข่าวเราก็รู้สึกสะใจ แน่นอนว่า เรายังไม่ได้ลงมือทำกรรมทางกาย แต่ได้ทำกรรมผ่านจิตใจไปแล้ว “เหตุผลที่การรู้สึกสะใจจัดเป็นกรรมชั่ว เพราะใจของเราถูกกิเลสคือความโกรธ อาฆาตพยาบาทครอบงำ คุณธรรมคือความเมตตา กรุณาในใจได้ลดลงไป” เหตุการณ์เช่นนี้ชี้ให้เห็นว่า เราสามารถได้รับผลของกรรมชั่วเพราะเห็นพฤติกรรมของผู้อื่นได้เช่นกัน แต่นั่นไม่ใช่การรับกรรมแทน หากแต่เป็นการทำกรรมด้วยตนเองผ่านความรู้สึกชื่นชมยินดีด้วยตัวเอง
      กล่าวโดยสรุปคือ เราไม่สามารถทำกรรมแทนกันได้ ทั้งความดีและความชั่ว แต่เราสามารถได้รับผลเช่นเดียวกันนั้นได้ ด้วยการกระทำทางใจคือ “เห็นดีเห็นงาม” กับการกระทำของผู้อื่นได้ ซึ่งการเห็นดีเห็นงามหรืออนุโมทนาในสิ่งที่ถูกต้องนั้นจะสร้างคุณธรรมขึ้นในใจของเราเอง ในทางตรงกันข้าม การเห็นดีเห็นงามกับความชั่วก็จะลดคุณธรรมในใจของเราลงได้เช่นกัน “กรรมที่เราจะได้รับจึงมิใช่สิ่งที่ผู้อื่นส่งให้ แต่เป็นสิ่งที่เราทำผ่านใจของเราเอง”
      ถามว่า....ผู้ตายจะได้รับบุญกุศลที่เราทำหรือไม่? ตอบว่า....อยู่ที่เขาจะรับทราบการทำความดีของเราหรือไม่ และเมื่อทราบแล้ว เขารู้สึกเห็นดีเห็นงามหรืออนุโมทนาด้วยหรือไม่ ซึ่งการอนุโมทนาก็ต้องเกิดจากการเห็นด้วยกับการสร้างประโยชน์นั้นๆ แบบบริสุทธิ์ใจ มิใช่แค่การเปล่งสาธุเพราะอยากได้บุญหรือโลภอยากได้ภพภูมิที่ดีกว่า ดังนั้นการจะได้รับบุญ (ผ่านการอนุโมทนา เป็นต้น) จึงไม่ได้ขึ้นกับการต้องกรวดน้ำหรือการหาบทสวดพิเศษมาประกอบ แต่เป็นการตั้งใจทำกรรมดีและการรู้สึกเห็นดีเห็นงามกับความดีด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์
     การให้เป็นการสร้างความสุขโดยไม่ต้องครอบครอง...เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า เราจะมีความสุขก็ต่อเมื่อได้ครอบครองวัตถุ และเป็นทุกข์เมื่อวัตถุที่เราชอบพลัดพรากไป พุทธศาสนาจึงสอนให้เราฝึกมีความสุขแบบไม่ต้องครอบครอง ไม่ต้องวิ่งแสวงหาวัตถุ แต่จะสุขได้ด้วยแม้การสละวัตถุนั้นให้คนอื่นไป นี่จึงเป็นที่มาของการให้ทาน อาจสันนิษฐานได้เช่นกันว่า การสร้างพิธีกรรมถวายทาน การแต่งบทกรวดน้ำแบบยาวยืดเพื่ออุทิศผลบุญให้คนนั้นคนนี้ จะเป็นอุบายเตือนใจให้เรารู้จักทำบุญเสียสละแบบไม่หวังผลเข้าตัวเอง เราจะขอโอนกุศลทั้งหมดให้กับสรรพสัตว์ ให้ทุกคนมีความสุขจากการกระทำของเรา สิ่งนี้น่าจะนำมาพิจารณากันให้ดีทีเดียว
      การแผ่เมตตา...เป็นการกล่อมเกลาให้ใจเราเกิดความรู้สึกรักและสงสารผู้อื่น เช่นคำว่า ขอให้สัตว์ทั้งปวงมีความสุข อย่าได้เบียดเบียนกัน ฯลฯ การตั้งความปรารถนาเช่นนี้จะช่วยเตือนสติให้เรานึกถึงผู้อื่น ไม่เบียดเบียนทำร้ายใคร การแผ่เมตตาจึงไม่ได้มีเฉพาะบนเตียงก่อนนอนหรือในห้องพระ แต่เป็นการกระทำในทุกที่โดยเฉพาะเมื่อเราต้องพบสัมพันธ์กับผู้อื่น การแผ่เมตตาก็มีลักษณะคล้ายกับการทำบุญที่อธิบายไปข้างต้น นั่นคือเราฝึกจิตให้เป็นเมตตาเพราะต้องการชำระกิเลส และสร้างคุณธรรมความดีขึ้นในใจ มิใช่การแผ่เมตตาเพราะโลภ อยากให้คนอื่นรักหรือแผ่เพราะกลัวภัยอันตราย โดยเชื่อว่าบทนี้มีความขลัง เมื่อสวดแล้วจะได้อานิสงส์เช่นนั้นเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม ชาวพุทธจะต้องอยู่กับความเป็นจริงและมองทุกอย่างด้วยปัญญาไม่ใช่ความเชื่อ นั่นคือ ต่อให้เรามีเมตตาแล้วก็ใช่ว่าจะไม่มีอุปสรรคอันตรายอะไรเกิดขึ้นกับเราได้เลย ดังมีพระพุทธเจ้ากับพระเทวทัตเป็นตัวอย่าง พระองค์ทรงเมตตาต่อพระเทวทัตมาก แต่ก็ยังถูกทำร้ายด้วยวิธีต่างๆ เพราะการกระทำของพระเทวทัตก็เกิดจากเจตนาของพระเทวทัตเอง แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่า การฝึกจิตให้เป็นเมตตาจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย อย่างน้อยคนที่มีเมตตาจะมีความปรารถนาดี หวังจะช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ การทำร้ายกันด้วยกายและวาจาจะลดไปครึ่งหนึ่งหากอีกฝ่ายมีเมตตาไม่ตอบสนองด้วย
      จึงควรเข้าใจว่า การแผ่เมตตา เป็นการสอนให้ตนเองสร้างความรู้สึกดีต่อผู้อื่น อันจะนำไปสู่การปฏิสัมพันธ์กันด้วยความรัก การช่วยเหลือเกื้อกูล ผลของเมตตาจึงอยู่ที่ความรู้สึกเมื่อเรานึกถึงคนอื่นด้วยไมตรีจิตและปฏิสัมพันธ์กับเขาด้วยความโอบอ้อมอารี มิใช่การท่องมนต์บทแผ่เมตตาแล้วจะมีสิ่งดีลอยมาหาเราหรือความศักดิ์สิทธิ์ของมนต์จะดลให้เรากลายเป็นคนพิเศษเหนือคนอื่น ทั้งนี้ผู้อื่นจะปฏิบัติอย่างไรต่อเราก็เป็นสิ่งที่เขาเลือกเอง ถ้าเขาฝึกจิตให้มีเมตตาด้วย สังคมก็จะมีสันติมากขึ้น
คำถามเชิงวิพากษ์
      1. บีได้ฟังมาว่า การถวายของแก่พระที่เพิ่งออกจากฌานสมาบัติจะมีอานิสงส์มาก ด้วยการอยากได้ผลบุญมหาศาล บีจึงนำของไปถวายเจาะจงกับพระรูปนั้น การกระทำของบีถือเป็นสังฆทานหรือไม่? และจะได้รับอานิสงส์มากดังที่กล่าวกันหรือไม่?
      2. การ “อนุโมทนา/สาธุ” คืออะไร? ทุกครั้งที่กล่าวคำนี้ เราจะได้บุญเหมือนกันหรือไม่?
      3. หนังสือบางเล่มระบุว่า “ก่อนที่จะแผ่เมตตาให้ผู้อื่น เราต้องแผ่เมตตาให้ตนเองก่อน จึงจะได้บุญมาก” การกล่าวเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่ เพราะเหตุใด?














กรรมและการแก้กรรม
      กรรมในพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัด มิฉะนั้นแล้วจะสับสนกับความเชื่อตามลัทธิอื่น ซึ่งแท้จริงพระพุทธเจ้าได้ตรัสอธิบายหลักการไว้อย่างชัดแจ้ง พร้อมทั้งวิจารณ์ข้อด้อยของความเชื่อในรูปแบบอื่นอีกด้วย
      กรรม หมายถึง “การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา” เจตนาในที่นี้หมายถึง เจตจำนงของมนุษย์ เนื่องจากพุทธศาสนาไม่ให้ความสำคัญกับเทพเจ้าหรือพระพรหมผู้สร้างโลกที่จะมีอำนาจในการควบคุมสั่งการให้ชีวิตต้องเป็นไปตาม ดังนั้นการกระทำจึงเกิดจากการตัดสินใจของมนุษย์เอง ซึ่งจะกระทำไปด้วยความโลภ โกรธ หลง หรือปัญญาความรอบรู้ก็ขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาของแต่ละบุคคล พุทธศาสนาปฏิเสธความเชื่อเรื่องกรรม 3 แนวทางคือ

     1. อิสรนิมมานเหตุวาท การเชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของมนุษย์
     2. ปุพเพกตเหตุวาท การเชื่อว่าทุกอย่างล้วนเกิดจากกรรมเก่าที่สร้างมาในอดีตชาติ
     3. อเหตุวาท การเชื่อว่าอะไรจะเกิดก็เกิด โดยไม่มีเหตุและปัจจัย (อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ข้อ 501)  

      เหตุผลที่พุทธศาสนาต้องปฏิเสธพระเจ้าผู้กำหนดและกรรมเก่า เนื่องจากความเชื่อนี้จะลดทอนความสำคัญของมนุษย์ลง มนุษย์จะไม่มีค่าอะไรเลยนอกจากสิ่งที่ถูกกำหนดมาแบบตายตัวและต้องดำเนินชีวิตไปตามนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ การเชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องพัฒนาตัวเองเพื่อยกระดับการกระทำและจิตใจให้สูงขึ้นจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกอย่างไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถของมนุษย์ หากแต่เทพเจ้าหรือกรรมเก่าในอดีตเป็นผู้กำหนด
      เป็นที่น่าสนใจว่า ชาวพุทธจำนวนมากเชื่อตามลักษณะสองข้อข้างต้นนี้ บางคนสลัดความเชื่อพ้นจากพระเจ้ามาได้ แต่ก็ยังติดอยู่กับอำนาจของกรรมเก่าอีกนั่นเอง แท้จริงทั้งสองอย่างนี้แทบไม่ต่างกัน เพราะถือเป็นสิ่งสูงสุดที่มนุษย์ไม่มีอำนาจในการต่อรอง ตัวอย่างเช่น “มีโจรเข้ามาขโมยของในบ้าน” ผู้ที่เชื่อว่าเทพเจ้าและกรรมเก่าเป็นผู้กำหนดจะมองว่า เป็นความประสงค์ของพระองค์เพื่อต้องการทดสอบหรือเป็นกรรมเก่าที่เราเคยไปขโมยของผู้อื่นในชาติก่อน ท่าทีที่ได้คือ เขาจะต้องทำใจ ปล่อยวางและก้มหน้ายอมรับชะตากรรมโดยไม่ต้องโต้แย้งหรือหาทางออก นี่จึงเป็นข้อเสียความความเชื่อตามแนวคิดทั้งสอง อันจะทำให้มนุษย์หยุดการพัฒนาปัญญาตนเองในการดำเนินชีวิต
      สำหรับความเชื่อในประเภทที่สาม เป็นความพยายามที่จะปฏิเสธสองแนวคิดแรก โดยเชื่อว่าสรรพสิ่งไม่มีเหตุปัจจัย อะไรจะเกิดก็เกิด ความเชื่อนี้จึงผิดพลาดเพราะไม่มีอะไรในโลกที่เกิดโดยไม่มีเหตุปัจจัย เช่น การที่โจรเข้าไปขโมยของในบ้าน แท้จริงอาจเป็นเพราะหลายปัจจัย เช่น โจรคนนั้นยากจนหรือมีความโลภมากหรือบ้านผู้เสียหายเองอาจปิดประตูหน้าต่างไม่แน่นหนาพอ ฯลฯ ซึ่งการโจรกรรมในครั้งนั้นก็อาศัยเจตนาของโจรผู้นั้นเองในการตัดสินใจกระทำ มิใช่เพราะอำนาจกรรมเก่าหรือเทพเจ้าบันดาลหรือเพราะไม่คิดวางแผนอะไรเลย อยู่ๆ ก็เดินเข้าไปขโมยของแบบไม่มีสาเหตุ
      การพยายามอธิบายหลักกรรมของพุทธศาสนาให้กลับมาอยู่ที่เจตนาของมนุษย์จึงทำให้มนุษย์มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (ทั้งทางกาย วาจาและใจ) ของตนได้ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของมนุษย์อีกนั่นเองในการเรียนรู้และพัฒนาชีวิตของตน
      แก้กรรม...เมื่อกรรมเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ผู้ที่จะแก้กรรมได้ก็คือมนุษย์อีกนั่นเอง ที่สำคัญ วิธีการแก้กรรมในพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายมาก นั่นคือ เมื่อทำชั่วไปแล้ว ก็ให้กลับใจ หยุดทำความชั่วและหันมาทำความดีตามหลักโอวาทปาฏิโมกข์ การจะตามไปล้างกรรมที่เคยทำมาแล้วเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเราไม่สามารถย้อนอดีตกลับไปตัดสินใจและทำใหม่ได้อีกแล้ว พุทธศาสนาจึงให้ความสำคัญกับปัจจุบัน และเน้นว่า การประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ไม่สามารถล้างบาปได้ การอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ก็ล้างกรรมไม่ได้ ดังที่พระองค์ให้เหตุผลว่า หากทำเช่นนั้นได้จริง เต่า ปลา ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ (คงคา) ก็จะบริสุทธิ์กลายเป็นเทพเจ้าไปหมดแล้ว ชาวพุทธจึงไม่ควรไปเสียเวลากับการตามล้างกรรมในอดีตและไม่ควรกลัวกรรมจนต้องนำเงินไปซื้อ สิ่งที่จะเป็นประโยชน์มากกว่าคือการศึกษาให้เข้าใจว่าอะไรผิด ถูก มีโทษ มีประโยชน์ และเลือกดำเนินชีวิตด้วยสติปัญญาให้มากเพื่อจะได้ไม่ผิดพลาดในคราวต่อไป
      พุทธศาสนาได้เสนอ “อริยมรรคมีองค์แปด” ให้เป็นวิธีในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้นจนถึงขั้นพ้นจากความทุกข์ไปได้ตามลำดับ อริยมรรคมีองค์แปดประกอบด้วย
      1. สัมมาทิฏฐิ มีความเข้าใจที่ถูกต้อง มีปัญญารอบรู้
      2. สัมมาสังกัปปะ คิดในเรื่องที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์
      3. สัมมาวาจา พูดในเรื่องที่ถูกต้อง ไม่ใช้วาจาทำร้ายผู้อื่น
      4. สัมมากัมมันตะ กระทำแต่สิ่งที่ถูกต้องดีงามตามศีลธรรม
      5. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพด้วยวิธีสุจริต
      6. สัมมาวายามะ พยายามลดละความชั่วและเพิ่มพูนความดี
      7. สัมมาสติ มีสติระลึกรู้อยู่กับปัจจุบัน รู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้นกับกายและใจ (ดูรายละเอียดเรื่อง “การปฏิบัติธรรม”)
      8. สัมมาสมาธิ มีใจมั่นคง ไม่ขึ้นลงเพราะสิ่งที่ชอบและไม่ชอบเข้ามากระทบ (ดูรายละเอียดใน ทีฆนิกาย มหาวรรค ข้อที่ 299)
      ฉะนั้น การกล่าวว่า “เราเกิดมาเพื่อชดใช้กรรม” จึงไม่ตรงตามหลักการของพุทธศาสนา เพราะมนุษย์มีศักยภาพพอที่จะเลือกกระทำกรรมได้ด้วยตัวเอง และยังสามารถพัฒนาต่อยอดพฤติกรรม ความคิดของตนให้ดีขึ้นได้สูงสุดจนถึงขั้นกลายเป็นพระพุทธเจ้าก็ยังได้ จึงควรกล่าวใหม่ว่า “เราเกิดมาเพื่อเรียนรู้กรรม และพัฒนาการกระทำของตัวเองให้ดีขึ้นจนสามารถละกรรมไม่ดีได้ทั้งหมด”

คำถามเชิงวิพากษ์
      1. กรรมกับเจตจำนงของมนุษย์มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร?
      2. นันทาเชื่อว่า การสวดบท “อิติปิโส” ให้ครบ 108 จบ หรือเท่าจำนวนอายุ จะทำให้ล้างบาปกรรมได้ ความเชื่อนี้ถูกต้องหรือไม่ เพราะเหตุใด?
      3. ทำไม อริยมรรคมีองค์แปด จึงเป็นวิธีแก้กรรมที่ตรงที่สุด?















การตอบแทนบิดามารดา
ในบริบทของสังคมพุทธแบบไทย
      เป็นที่น่าสังเกตว่าสังคมไทยนิยมปลูกฝังคุณธรรมเรื่องความกตัญญูที่ลูกจะต้องมีต่อพ่อแม่ซึ่งต้องทำตอบแทนให้พิเศษกว่าผู้มีพระคุณอื่นๆ ด้วยเหตุผลว่า “พ่อแม่เป็นอรหันต์ เป็นพรหมของลูก (อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ข้อ 470)” ซึ่งการปลูกฝังเช่นนี้มิใช่จะไม่มีข้อดีเสียเลย หากแต่มีการเน้นย้ำเพียงมิติเดียว คือคุณธรรมทางจิตใจ เด็กจะต้องเทิดทูนพ่อแม่แบบไม่มีเงื่อนไข ต้องยอมรับทุกอย่างที่ท่านเป็น และหลายท่านมักปลูกฝังอีกว่า ลูกจะต้องเชื่อว่า ทุกคำพูดของพ่อแม่มีแต่ประโยชน์ไม่เคยมีโทษ ลูกคนใดพูดไม่ดีต่อท่าน ทำให้ท่านไม่สบายใจร้องไห้ จะต้องตกนรก ฯลฯ
      อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธว่าบิดามารดาไม่มีพระคุณ ในทางตรงกันข้าม ดังอ้างอิงที่เพิ่งยกไปในพรหมสูตร อังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าก็เน้นย้ำให้บุตรดูแลทะนุถนอมบิดามารดา โดยตรัสอีกว่า บุตรที่ไม่ลืมพระคุณของท่านควรจะได้รับการสรรเสริญ
      แต่ทั้งนี้ สิ่งที่ดูเหมือนจะขาดไปจากสังคมไทยคือ “การสอนให้เด็กอยู่บนความจริง มองโลกด้วยความฉลาด หากพ่อแม่เราพูดผิด ทำผิดเราก็ต้องทราบและยอมรับความจริง ไม่ใช่การก้มศีรษะกราบเท้า ยอมรับโอวาททุกอย่างโดยไม่ตั้งคำถามอะไรเลย เนื่องจากท่านเป็นพระอรหันต์? 
      เป็นเรื่องน่าสงสัยว่า ภาษิตในพระไตรปิฎกได้อธิบายเกี่ยวกับบิดามารดาไว้หลายแห่ง แต่มักยกมาอ้างและสอนกันประโยคเดียวคือ บุตรต้องกตัญญูเพราะบิดามารดาเป็นพรหมของบุตร ทั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสอีกว่า ต่อให้บุตรเอาบิดามารดามาวางบนบ่าทั้งสองข้าง ให้ท่านถ่ายปัสสาวะ อุจจาระรด เลี้ยงดูประคบประหงมตลอดชีวิตหรือแต่งตั้งให้ท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระราชินี ก็ยังไม่ถือว่าได้ตอบแทนบุญคุณชองท่าน แต่พ่อแม่คนใดมีความเชื่องมงาย ขาดปัญญา ขี้เหนียว ไม่มีศีล แล้วสามารถช่วยให้พ่อแม่มีปัญญา ไม่งมงาย มีใจเมตตากรุณารักษาศีล ช่วยเหลือผู้อื่นได้ บุตรคนนั้นแหละชื่อว่า ได้ตอบแทนบุญคุณท่าน(อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ข้อ 277)
      อีกแห่งหนึ่งก็พูดเกี่ยวกับ “อมาตาปุตติกภัย” หรือภัยที่มารดาและบุตรทำแทนกันไม่ได้ กล่าวคือ ความแก่ เจ็บ ตาย แม้จะรักมากแค่ไหนก็ทำแทนไม่ได้ ฉะนั้น จึงต้องรีบเร่งชักจูงกันพัฒนาตัวเองทั้งในเรื่องศีล คุณธรรมและสติปัญญาเพื่อให้ดำรงชีพอย่างผาสุกและข้ามพ้นสังสารวัฏไปได้ (อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ข้อ 502)
      หลักการของพุทธศาสนาจึงไปไกลกว่าการสอนให้กตัญญูหรือการดูแล แต่ยังมุ่งไปถึงการพัฒนาชีวิตทั้งสามด้าน ซึ่งเงื่อนไขแรกที่บุตรจะสามารถทำเช่นนั้นได้คือ “ต้องเป็นคนที่ยอมรับความจริง มีปัญญามากพอที่จะชักจูงบิดามารดาสู่การพัฒนาตนเองได้”
      แต่ดูเหมือนสังคมไทยพยายามลดทอนคำสอนของพุทธศาสนาให้เหลือเพียงคุณธรรม ให้คนเป็นคนดีโดยไม่ต้องสนใจการพัฒนาปัญญา ไม่ต้องตรวจสอบใคร ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าอะไรผิดถูก แค่เราเป็นคนดีก็เพียงพอแล้ว การเกิดมาเป็นลูกของท่าน เท่ากับเรามีบุญบารมีน้อยกว่าท่าน ต้องน้อมรับโอวาทไปปฏิบัติเท่านั้น ถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้
      ผู้เขียนมิได้บอกว่า เราจะต้องเป็นคนอกตัญญูต่อพ่อแม่ ในทางกลับกัน เรายิ่งต้องกตัญญู ดูแล ช่วยเหลือ ทุกคนที่เราพอทำได้โดยไม่เลือกอยู่แล้ว เพราะนี่เป็นความเมตตากรุณาขั้นพื้นฐาน ต่อให้ใครไม่เคยมีบุญคุณ เราก็ต้องช่วยเหลือเมื่อเห็นเขาตกทุกข์ “กล่าวคือมิใช่รอแต่จะกตัญญูตอบแทนผู้มีพระคุณ แต่ต้องทำตนเป็นบุพการีต่อคนอื่นด้วย” เพื่อสังคมจะอยู่รอดได้โดยไม่ต้องอาศัยระบอบอุปถัมภ์ที่เห็นแก่พวกพ้องหรือครอบครัวตนเอง
      ถ้าเราสอนให้เด็กฉลาด เห็นคนอื่นเป็นเพื่อนร่วมโลกที่มีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่มีใครเป็นอภิสิทธิ์ชนหรือพระเจ้าที่เราจะต้องเทิดทูนบูชาโดยไม่ต้องตั้งคำถาม เด็กมองโลกตามความเป็นจริงและพยายามสงเคราะห์ทุกคนตามความสามารถ  การอยู่ร่วมกันด้วยกัลยาณจิตและสติปัญญาน่าจะมากกว่าที่เป็นอยู่นี้ การสอนให้เด็กช่วยเหลือทุกคนด้วยจิตเมตตากรุณา น่าจะสำคัญกว่าการสอนให้สำนึกแต่บุญคุณบิดามารดาอย่างมืดบอด คนที่มีจิตเมตตากรุณาจริงๆ เขาจะไม่สามารถทอดทิ้งหรือทำร้ายใครได้โดยอัตโนมัติ ไม่เฉพาะแต่พ่อแม่เท่านั้น ผู้เขียนเชื่อว่า การปลูกฝังคุณธรรมจะต้องคำนึงถึงการพัฒนาปัญญาของเด็กด้วย เพราะหลายกรณี คุณธรรมเองได้กลายเป็นตัวขัดขวางปัญญา ดังกรณีของการต้องเคารพ เชื่อฟังโดยไม่ต้องตั้งคำถามหรือโต้แย้งตามที่กล่าวมานี้ ยิ่งกว่านั้น ผู้เขียนกลับเชื่อด้วยว่า การสอนให้เด็กมีปัญญา อยู่กับความเป็นจริง รู้จักแยกแยะเหตุผล และให้ความเคารพต่อเพื่อนมนุษย์ จะทำให้เขาพัฒนาคุณธรรม ความเห็นอกเห็นใจขึ้นมาได้โดยอัตโนมัติ
อ่านเพิ่มเติมจากคัมภีร์ต้นฉบับ
      อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ข้อ 470 การดูแลบิดามารดาเป็นเหตุให้ได้สุคติ โลกสวรรค์ และการสรรเสริญจากบัณฑิต (ระดับโลกิยะ)
      อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ข้อ 277 การดูแลด้านร่างกายเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาศีล คุณธรรมและปัญญาจนทำให้พ้นจากทุกข์ได้ (ระดับโลกุตตระ)

คำถามเชิงวิพากษ์
      1. การที่บุตรรักบิดามารดามากย่อมเป็นผลดีคือ จะนำมาซึ่งการดูแลตอบแทนพระคุณท่านให้อยู่อย่างผาสุกได้ ท่านคิดว่า ความรักระหว่างบุตรกับบิดามารดาเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาตนเองให้พ้นทุกข์หรือไม่ อย่างไร?
      2. มีคำกล่าวที่ว่า การออกบวชของเจ้าชายสิทธัตถะเป็นการทิ้งภาระบ้านเมือง ทิ้งครอบครัว ไม่ให้การดูแลบุตรภรรยา ไม่กตัญญูต่อบิดามารดา เป็นความเห็นแก่ตัวที่ต้องการเอาตัวรอดคนเดียว ท่านเห็นด้วยกับคำกล่าวนี้หรือไม่? เพราะเหตุใด?






การปฏิบัติต่อเทวดา
      ประเด็นนี้สอดรับกับเรื่อง “พระรัตนตรัย” ดังได้กล่าวไปแล้ว พุทธศาสนาเป็นการปฏิวัติความเชื่อจากอำนาจเทพสูงสุดมาสู่ธรรมสูงสุด (ฟังเพิ่มเติมจากธรรมบรรยายเรื่อง “จากเทพสูงสุดสู่ธรรมสูงสุด” ของพระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตฺโต) กล่าวคือ แต่เดิมชาวฮินดูเชื่อว่า เทพเจ้าหรือพระพรหมเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด มนุษย์จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อได้รับการอวยพรจากพระองค์ ชีวิตของสรรพสัตว์ล้วนถูกกำหนดโดยพระพรหม (พรหมลิขิต) พระพุทธเจ้าได้ปฏิเสธแนวคิดนี้โดยเสนอใหม่ว่า ไม่ว่ามนุษย์หรือเทพเจ้า ต้องเคารพธรรมหรือความถูกต้อง หากมีปัญหาเกิดขึ้นก็จะตัดสินกันด้วยธรรม ซึ่งหากมนุษย์ปฏิบัติถูกต้องชอบธรรม เทพเจ้าหรือเทวดาก็ต้องเป็นฝ่ายยอมแพ้ “หลักการของพุทธศาสนาจึงอยู่ที่การนำอำนาจและศักยภาพในการกำหนดชะตาชีวิตมาสู่กำมือของมนุษย์”
      เรื่องเล่าต่างๆ ในพุทธศาสนาจึงเกิดขึ้นเพื่อต้านกับแนวคิดเทวนิยมแบบเดิม เช่น กรณีของอนาถปิณฑิกเศรษฐีกับเทวดาประจำเรือน ในเรื่องนี้ เศรษฐีในฐานะผู้เป็นสัมมาทิฏฐิและเป็นเจ้าของบ้านได้ขับไล่เทวดาออกจากบ้านเนื่องจากขัดขวางมิให้ตนทำความดีด้วยการบริจาคทาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์มิได้ตกอยู่ภายใต้การคุ้มครองและให้โทษของเทวดา
      อีกกรณีหนึ่งคือ การทำประโยชน์เพื่อสังคมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนของ “มฆะมาณพ” จนส่งผลให้ไปเกิดเป็นหัวหน้าเทวดาคือ พระอินทร์  แม้เรื่องนี้ก็ปฏิเสธความเชื่อเก่าว่า แท้จริงแล้ว เทวดามิใช่ถูกสร้างมาหรือเป็นอมตะที่จะมีอำนาจชั่วนิรันดร “หากแต่ผู้ที่จะเป็นเทวดาได้จะต้องบำเพ็ญประโยชน์อย่างมหาศาลเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ และภพภูมิของเทวดาก็มิได้ยั่งยืน” เมื่อหมดบุญก็ต้องจุติไปเรื่อยจนกระทั่งพัฒนาตนเองจนพ้นทุกข์ไปได้ เทวดาในพุทธศาสนาจึงเป็นเพียงภพภูมิหนึ่งที่ยังต้องประสบสุขและทุกข์
      หลายคนไม่เชื่อว่าจะมีเทวดาอยู่จริง ซึ่งพุทธศาสนาเองก็ไม่ประสงค์จะพิสูจน์ให้ทุกคนต้องเชื่อจนเป็นที่ประจักษ์แก่ตาได้ ทั้งนี้เนื่องจากผู้ที่เชื่อว่า เทวดามีอยู่จริง ก็ไม่สามารถพิสูจน์ให้ผู้อื่นเห็นได้ ส่วนผู้ที่ไม่เชื่อว่ามีจริง ก็ไม่มีวิธีพิสูจน์ให้ผู้อื่นยอมรับได้อีกเช่นกัน เรื่องนี้จึงกลายเป็นความเชื่อส่วนบุคคลที่ถกเถียงกันนานเท่าไหร่ก็ไม่จบ แท้จริง การไม่เชื่อเรื่องเทวดามิได้บั่นทอนหรือทำลายพุทธศาสนาแต่ประการใด เนื่องจากพุทธศาสนาได้โยงเอาสาเหตุของความสุขและทุกข์มาไว้ที่ตัวมนุษย์เสียแล้ว ระดับของความรู้ สติปัญญาและการตัดสินใจจะเป็นตัวกำหนดสุขทุกข์ของมนุษย์เอง ที่สำคัญ มนุษย์จะก้าวถึงความสุขสูงสุดได้ก็เพราะอาศัยกำลังความพากเพียรของมนุษย์ เทวดาหรือพระพรหมจะมีหรือไม่จึงไม่มีความหมายอีกต่อไป ซึ่งตรงกันข้ามกับศาสนาเทวนิยม เพราะหากปฏิเสธเทพเจ้าเสียแล้ว ศาสนาเหล่านั้นก็จะประสบปัญหาอย่างมาก
      พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เสนอให้ชาวพุทธวางท่าทีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่น “พระพรหมและเทวดา” ด้วยจิตที่เป็นเมตตา กรุณา เช่นเดียวกับที่เรามีเมตตากรุณาต่อ “แมว” เพราะชาวพุทธต้องฝึกแผ่เมตตาจิตและช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้อื่นเมื่อมีโอกาสโดยไม่เลือกบุคคลอยู่แล้ว เรามอบความรักให้แก่ทุกคน ในขณะเดียวกันก็จะต้องพึ่งตัวเอง แน่นอนว่า เราสงสารแมวและไม่มีใครรอคอยการช่วยเหลือจากแมว ท่าทีเช่นนี้ท่านแนะนำให้เอามาปฏิบัติต่อสิ่งเร้นลับด้วย คือตั้งใจเมตตาปรารถนาดี (โดยไม่จำต้องเสียเวลาพิสูจน์) เพราะอย่างไรเสีย เราก็มิได้หวังพึ่งหรือรอคอยการดลบันดาลจากท่าน ที่สำคัญ ท่าทีเช่นนี้ก็มิใช่เป็นการลบหลู่ดังที่คนส่วนใหญ่กลัว แต่เป็นการไม่สนใจ ไม่อาลัยอาวรณ์ ไม่เกี่ยวข้องด้วย มนุษย์จำเป็นจะต้องพัฒนาตัวเองและเป็นกัลยาณมิตรให้แก่กันและกันเพื่อช่วยพยุงกันก้าวไปข้างหน้าโดยไม่เสียเวลาหมกมุ่นกับสิ่งที่มองไม่เห็น เพราะจะเป็นเหตุให้การพัฒนาชีวิตมีความล่าช้า
วิพากษ์พระมหาชนก
      พระมหาชนกเป็นชาดกเรื่องหนึ่งที่ย้ำถึงการใช้ความพยายามของมนุษย์ในการฝ่าฟันอุปสรรค เรื่องมีอยู่ว่า เรือสำเภาลำใหญ่ของพ่อค้าหลายคนซึ่งหนึ่งในนั้นคือ พระมหาชนก ได้ออกล่องไปในมหาสมุทรเพื่อเดินทางไปค้าขายที่เมืองอื่น แต่แล้วเรือเกิดอับปาง พ่อค้าส่วนใหญ่พากันสวดมนต์อ้อนวอน ของให้เทพเจ้าที่ตนนับถือลงมาช่วย เฉพาะมหาชนกคนเดียวเท่านั้นที่ไม่สวดมนต์อ้อนวอน แต่กลับรีบคิดหาวิธีว่าจะทำอย่างไรเมื่อเรือแตกแล้วตนจะอยู่ในทะเลได้นานที่สุด จึงรีบหาน้ำมันทาตัวเพื่อป้องกันสัตว์ร้าย บริโภคอาหารที่จะให้พลังงานได้มากและขึ้นไปอยู่บนที่สูงเพื่อจะได้ไม่ถูกส่วนอื่นๆ ของเรือทับ ฯลฯ ปรากฏว่า เหลือเพียงมหาชนกคนเดียวที่ยังว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทรถึง 7 วัน (ขุททกนิกาย ชาดก ข้อ 442 อ่านเนื้อหาโดยละเอียดในอรรถกถา ชาดก)
      ถึงตอนนี้มักเล่ากันว่า มีนางมณีเมขลาซึ่งเป็นเทวดารักษาท้องทะเล ได้มาช่วยมหาชนกไว้ โดยมีบทสนทนาที่น่าประทับใจ คำตอบที่มหาชนกตอบโต้นางมณีเมขลามีใจความสรุปว่า แม้ท่านจะมองไม่เห็นฝั่งแต่ก็จะต้องใช้ความพยายามในฐานะมนุษย์อย่างถึงที่สุด เพราะผู้ที่มีความพยายามแม้ตายไปก็ไม่ถูกนินทา
      ความจริง เรื่องราวในพระไตรปิฎกตอนนี้ไม่ได้บอกว่า “นางมณีเมขลาได้ช่วยมหาชนกไว้” ดังคำกล่าวของนางมณีเมขลาว่า “ท่านใดถึงพร้อมด้วยความพยายามโดยธรรม ไม่จมลงในห้วงมหรรณพทั้งลึกทั้งกว้างเห็นปานนี้ ด้วยการกระทำความเพียรของบุรุษ ท่านนั้นจงไปในสถานที่ซึ่งใจของท่านยินดีเถิด” (ขุททกนิกาย ชาดก ข้อ 448) ท่านจงไปในสถานที่ที่ท่านชอบใจเถิด อาจตีความได้ว่า 1).นางได้พามหาชนกไปสู่ฝั่ง(ตามที่นิยมเล่ากัน) และ 2).อาจเป็นไปได้เช่นกันว่านางได้ปล่อยให้มหาชนกว่ายน้ำต่อไปสู่ที่ที่ท่านปรารถนา
      อยากชวนให้วิเคราะห์ว่า เรื่องราวของมหาชนกได้ชี้ให้เห็นถึงความพยายามของมนุษย์ที่แรงกล้ามาก แม้ไม่มีความหวังแต่ก็ไม่ละความพยายาม ไม่หวังพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ทั้งนี้ การนำเสนอเรื่องราวก็ต้องมาตกม้าตายในตอนจบ เพราะท้ายที่สุดแล้ว มหาชนกอาจต้องตายแน่ถ้าไม่มีนางมณีเมขลา (เทวดา) ช่วยไว้ นั่นหมายความว่า อย่างไรเสีย เทวดาก็ยังให้การคุ้มครองมนุษย์อยู่ดี แต่พอจะกล่าวตามคำคมที่นิยมกันในปัจจุบันว่า “พระเจ้าจะช่วยคนที่ช่วยตัวเองก่อน” อนึ่ง ผู้เขียนกลับเห็นว่า การจะมีเทวดามาช่วยมหาชนกหรือไม่นั้นยังไม่เป็นการทำลายหลักการของพุทธศาสนา เพราะทั้งนี้ มหาชนกก็ยังไม่รอคอย ไม่หวังพึ่งหรืออ้อนวอนให้ช่วยแม้เทวดาจะมาปรากฏต่อหน้าแล้วก็ตาม
      นักปราชญ์บางท่านเสนอว่า หากเรื่องนี้ถูกนำเสนอในรูปแบบที่มีเรือสำเภาลำอื่นมาพบและเข้าช่วยมหาชนกไว้ จะทำให้หลักการของพุทธศาสนาสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้พึงเข้าใจว่า ชาดกเป็นเพียงเรื่องเล่าที่อาจคล้อยตามความเชื่อของคนในภูมิภาคนั้นเพื่อสอนคุณธรรมบางอย่าง ซึ่งจะพิสูจน์ความถูกต้องทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องที่ลำบากอยู่ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนใคร่ขอฝากบทสนทนาสุดท้ายของนางมณีเมขลาด้านบน ไปพิจารณากันใหม่ว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่นางมิได้ช่วยมหาชนกจริงๆ

คำถามเชิงวิพากษ์
      1. ในเมื่อหลักการของพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับมนุษย์เป็นหลัก ปฏิเสธการคุ้มครอง ผลดลบันดาลและการลงโทษจากเทวดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไฉนเมื่อพระสงฆ์ต้องสวดมนต์ ยังต้องสวดบทอัญเชิญเทวดา (สัคเค) อีกเล่า บทนี้มีประโยชน์หรือโทษอย่างไร ลองอภิปราย?



พรหมวิหาร 4:
ปฏิเสธพระพรหมด้วยข้อปฏิบัติของคน
      การปฏิเสธพระพรหม ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า พุทธศาสนาเน้นย้ำว่า พระพรหมไม่ได้มีอยู่จริง ดังเกริ่นนำในหัวข้อ “การปฏิบัติต่อเทวดา” และไม่สนใจรอการพิสูจน์ให้เห็นจนเป็นที่ประจักษ์อีกด้วย เนื่องจากพุทธศาสนาเชื่อว่า ชีวิตเป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถกำหนดได้เองผ่านการกระทำ (กรรม) ของคน ดังนั้น การปฏิเสธในที่นี้จึงหมายถึง “ปฏิเสธการหวังพึ่งและรอคอยการช่วยเหลือจากพระพรหม”
      คนอินเดียเชื่อว่า พระพรหมเป็นผู้สร้างโลกและคุ้มครองโลก ฉะนั้นเมื่อมนุษย์มีปัญหาจึงต้องอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระพรหม พระพุทธเจ้าได้นำเอาความเชื่อเก่ามาปรับใช้ใหม่ โดยให้มนุษย์เอาคุณสมบัติของพระพรหม หรือธรรมะที่เรียกว่า “พรหมวิหาร” มาปฏิบัติเพื่อทุกคนจะได้เป็นพระพรหม ช่วยกันดูแลโลก แก้ปัญหากันด้วยตัวมนุษย์เอง โดยไม่ต้องรอคอยให้พระพรหมมาดลบันดาล
      พรหมวิหาร ประกอบด้วยข้อปฏิบัติ 4 ประการ โดยเหมาะแก่สถานการณ์ของบุคคลที่เราสัมพันธ์ด้วยดังนี้

หัวข้อธรรม
สถานะของบุคคลที่เราสัมพันธ์ด้วย
1. เมตตา ความรักใคร่หรือความปรารถนาดี
ใช้เมื่อบุคคลอื่นมีสถานะเสมอกับเรา ทั้งสองฝ่ายต่างสบายดี ก็มีเจตนาดี  มอบความรักให้แก่กัน
2. กรุณา ความสงสาร ประสงค์จะช่วยให้พ้นทุกข์
ใช้เมื่อบุคคลอื่นตกต่ำกว่าเรา เช่น เราสบายดีแต่เขาเจ็บป่วย ก็มีความตั้งใจจะช่วยให้เขาหายป่วย
3. มุทิตา การรู้สึกยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
ใช้เมื่อบุคคลอื่นมีสถานะสูงกว่าเรา ประสบความสำเร็จหรือมีความสุขมากกว่าเรา
4. อุเบกขา การทำใจให้เป็นกลาง ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ
ใช้ในสถานการณ์ที่เราไม่สามารถเข้าช่วยเหลือหรือแสดงความยินดีได้ เช่น ผู้นั้นถูกจำคุกเพราะขายยาเสพติด เราไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ ก็ต้องปล่อยให้เขาเป็นไปตามกรรมของตน
      แท้จริงพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้แผ่เมตตาเฉพาะบนเตียงเท่านั้น หากแต่ให้นำความเมตตามาใช้ในการดำเนินชีวิตด้วย เช่น เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างมีความสุข เจอหน้ากันก็ยิ้มแย้ม เอื้อเฟื้อกัน ครั้นเมื่ออีกฝ่ายตกต่ำ เช่น ประสบอุบัติเหตุนอนอยู่ข้างถนน เฉพาะความเมตตายิ้มให้อย่างเดียวจึงไม่พอ เราจะต้องมี “กรุณา” คือต้องหาทางช่วยเหลือ เช่นโทรศัพท์เรียกรถพยาบาลให้เป็นต้น
      เมื่อบุคคลใดประสบความสำเร็จกว่าเรา เช่น เรียนจบ เลื่อนตำแหน่ง เพิ่มขั้นเงินเดือน หรือมีโอกาสทำความดีมากกว่า เราก็ต้องพลอยชื่นชมยินดีด้วย “เพราะมุทิตา หรือ การอนุโมทนา นี้จะช่วยลดความอิจฉาริษยาของเราได้”    
     มีคำถามว่า...หากผู้นั้นประสบความสำเร็จกว่าเราด้วยวิธีการทุจริต ประจบเจ้านายหรือใช้เงินซื้อ เราจะต้องอนุโมทนากับเขาด้วยหรือไม่? ตอบว่า...ชาวพุทธต้องมีทั้งคุณธรรมทางจิตใจและปัญญาที่จะรู้เท่าทันความจริง ไม่ว่าธรรมะข้อใด หากไร้ปัญญาในการตรวจสอบควบคุม ก็จะทำให้เกิดความผิดพลาดได้ พุทธศาสนาจึงมีภาษิตว่า “ข่มผู้ที่ควรข่ม ยกย่องผู้ที่ควรยกย่อง” หรือ “บูชาบุคคลที่ควรบูชาเท่านั้น” (ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ข้อ 6) เราจึงไม่ต้องการแค่เป็นคนดี มีใจอ่อนโยน อนุโมทนากับทุกเรื่องทุกคนโดยไม่พิจารณาถึงผลดีผลเสีย เหตุผลประการหนึ่ง เพราะมนุษย์เป็นผู้กำหนดความเป็นไปของสังคม ถ้ามนุษย์ร่วมกันเชิดชูคนดี ก็จะทำให้คนดีอยู่อย่างผาสุกและคนชั่วเองก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่หากมนุษย์ไม่สนใจถูก ผิด พากันเชิดชูคนไม่ดี ก็จะส่งผลให้การทำความดีของคนบางคนไม่สามารถให้ผลเป็นที่ประจักษ์ได้ และแท้จริงแล้ว การร่วมอนุโมทนายินดีกับผู้อื่นไปเรื่อยแม้ในสิ่งที่ไม่ถูกต้องเป็นอกุศล ก็จะส่งผลให้คุณธรรมความดีในจิตใจของผู้นั้นตกต่ำลงด้วย (ดูเพิ่มเติมในหัวข้อ “การทำบุญให้ทาน กรวดน้ำ แผ่เมตตา”)
      เมื่อพบเจอผู้ประกอบกรรมทุจริต สร้างความเสียหายให้ผู้อื่น ชาวพุทธจะต้องไม่นิ่งนอนใจหรือวางเฉยตามที่นิยมสอนกัน แน่นอนว่า ใครทำกรรมใดก็จะได้รับกรรมนั้นตอบแทน แต่มนุษย์มีปัญญามากพอที่จะจัดการกับปัญหาโดยไม่ต้องรอผลกรรมซึ่งไม่ทราบว่าจะมาถึงเมื่อใด เช่น นายดำ เป็นฆาตกรฆ่าข่มขืนนักเรียนมานับไม่ถ้วน เพื่อความผาสุกของสังคม กฎหมายจะต้องจัดการกับนายดำเพื่อป้องกันไม่ให้นายดำทำเช่นนั้นอีก ผู้เสียหายหรือผู้เห็นเหตุการณ์จะต้องร่วมมือกันแจ้งความดำเนินคดีกับนายดำ มิใช่ปลอบใจตนเองว่า “เป็นผลของกรรมเก่า” แต่ทั้งนี้ การจัดการกับนายดำก็มิใช่เป็นเพราะความเกลียดชัง หากแต่เพราะความถูกต้อง ยุติธรรมที่ทุกฝ่ายควรได้รับ พุทธศาสนาไม่สนับสนุนให้มีการแก้แค้นตอบแทนเพื่อความสะใจ แต่เชื่อว่ามนุษย์สามารถพัฒนาตัวเองหรือกลับใจได้เมื่อถูกจัดสรรสถานที่และผู้คนรอบข้างที่เหมาะสมให้ จึงอาจกล่าวได้ว่า พุทธศาสนาไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต แต่ก็มิใช่จะปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวลไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย หากแต่สังคมจะต้องมีจิตเมตตาและร่วมมือกันจัดสรรสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเขาให้ได้ (ซึ่งยากกว่าการจับตัวนักโทษไปประหารชีวิต)
      การต้องลงมือจัดการปัญหาโดยไม่เห็นแก่ความชอบหรือความเกลียดชังส่วนตน แต่เพราะเห็นแก่ความถูกต้องยุติธรรมนี้ ก็จัดเป็นตัวอย่างหนึ่งของ “อุเบกขา”
      อุเบกขาในพุทธศาสนาจึงอิงอยู่กับการต้องกระทำหรือพยายามจนถึงที่สุดแล้ว เมื่อทราบว่าทำไม่ได้จึงจะหยุด แล้วทำใจยอมรับความจริงไม่ให้ดีใจหรือเสียใจ มิใช่การรีบวางเฉยแบบปล่อยปละละเลย ไม่สนใจอะไร ไม่เคยหาวิธีแก้ปัญหา ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า อัญญาณุเบกขา หรือ การวางเฉยแบบโง่เขลา ซึ่งพุทธศาสนาไม่สนับสนุนให้ทำ (พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม, ป.อ.ปยุตฺโต, 2555, น, 126)
      อุเบกขา อีกความหมายหนึ่งคือ การเข้าไปมองดูอยู่ใกล้ๆ (อุป+อิกฺขา) เป็นการปล่อยให้ผู้อื่นฝึกทำด้วยตนเองก่อน และหากเขาต้องการความช่วยเหลือก็พร้อมจะใช้กรุณาเข้าหาทันที ดังตัวอย่างของแม่ที่ต้องการฝึกให้ลูกทำอาหาร ความรักที่ถูกต้องมิใช่การต้องทำทุกอย่างเพื่อลูก หากแต่ต้องปล่อยให้ลูกเติบโตและพึ่งตัวเองได้ด้วย เช่น กรณีที่แม่ต้องฝึกให้ลูกทำกับข้าวด้วยตนเอง แม่ก็จะต้องสอนและเปิดโอกาสให้ลูกฝึกทำ ตัวเองก็พร้อมจะดูแลอยู่ใกล้ๆ เมื่อลูกต้องการคำปรึกษาก็แนะนำด้วยความเต็มใจ
      อย่างไรก็ตาม หลักพรหมวิหารนี้มิได้จำกัดอยู่แต่สังคมของมนุษย์ หากแต่ต้องนำไปใช้กับสัตว์ได้ด้วย นี่เป็นหัวข้อธรรมอีกหมวดหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าดึงอำนาจคุ้มครองรักษาโลกจากพระพรหมมาไว้เป็นหน้าที่ที่มนุษย์จะต้องช่วยเหลือกันเอง

คำถามเชิงวิพากษ์
      1. คนทั่วไปมักแยกความหมายของเมตตาและกรุณาไม่ออก จึงนิยมใช้สองคำนี้รวมกัน ท่านพอจะมองเห็นลักษณะความแตกต่างของธรรมสองข้อนี้หรือไม่?
      2. ท่านคิดว่า พุทธศาสนามีท่าทีอย่างไรต่อโทษประหารชีวิต ลองอภิปราย?










ศีล: ความปกติของพฤติกรรม
ศีล เป็นข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าเสนอไว้ ซึ่งทุกคนมีเสรีภาพในการเลือกว่าจะปฏิบัติตามหรือไม่ (ดูความแตกต่างระหว่าง ศีลกับบัญญัติ ในหัวข้อ “พระรัตนตรัย ที่พึ่งแบบพุทธ”) แต่ทั้งนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากทุกคนอยู่ในกฎระเบียบ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นผ่านข้อฝึกฝนตนด้วยศีล ย่อมจะทำให้สังคมสงบมากยิ่งขึ้น เรานิยมแปล “ศีล ว่าเป็น ความปกติ” ซึ่งหมายถึง เมื่อทุกคนรักษาศีล จะทำให้สังคมเป็นปกติสุขไม่เดือดร้อนวุ่นวาย และในมิติที่เล็กลงกว่านั้นคือ ตัวผู้ปฏิบัติศีลเองจะต้องมีความเป็นปกติ คือ รักษาศีลจนเป็นนิสัย รักสันติและเคารพในสิทธิผู้อื่นโดยไม่ต้องบังคับใจ จึงกล่าวได้ว่า ศีลจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราฝึกปฏิบัติจนติดเป็นนิสัยแล้วนั่นเอง
ศีลจะต้องขอจากพระ?....ความเชื่อนี้ไม่ถูกต้อง เพราะการจะเปลี่ยนแปลงตนเอง ขึ้นอยู่กับเจตนาที่ตั้งมั่นของตัวเราเอง ที่สำคัญ ศีล ซึ่งเป็นคุณธรรมประการหนึ่งไม่สามารถขอหรือมอบให้แก่กันได้ พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตฺโต กล่าวว่า “เมื่อโยมขอศีล พระให้ไม่ได้  พระจึงต้องให้สิกขาบทไปฝึกตัวเอง โยมขอสมาธิ พระให้ไม่ได้ พระเลยให้สมถ กรรมฐานไปปฏิบัติเอาเอง โยมขอปัญญา พระก็ให้ไม่ได้ พระเลยต้องให้วิปัสสนาหรือโยนิโสมนสิการไปเจริญเอาเอง”
อันที่จริง ศีล ที่เราเรียกกัน จะให้ถูกต้องใช้คำว่า “สิกขาบท” แทน เพราะข้อปฏิบัติทั้ง 5 ข้อที่ชาวพุทธฝึกฝนกันอยู่เรียกเป็นภาษาบาลีว่า สิกขาบท (สิกขาปทํ สมาทิยามิ) ต่อเมื่อปฏิบัติสิกขาบทจนชิน ติดเป็นนิสัยแล้ว ไม่ฆ่าสัตว์จนเป็นปกติ ไม่ลักขโมยฉ้อโกงจนเป็นปกติ ฯลฯ เมื่อนั้นจึงจะเรียกว่า มีศีล อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่า การไปสมาทานศีลกับพระสงฆ์จะผิด เพราะบางคนมีใจที่ไม่เข้มแข็งพอ การให้คำปฏิญาณต่อหน้าพระสงฆ์ที่ตนเคารพอาจเป็นตัวผลักดันให้ปฏิบัติตามสิกขาบทเคร่งครัดขึ้นกว่าเดิมได้ เมื่อจะล่วงละเมิดก็นึกถึงพระที่ตนเคารพและเกิดความละอาย จึงเกิดสติยับยั้งใจได้ การทำเช่นนี้ก็ถือเป็นอุบายที่ดีในเบื้องต้นได้
     เจตนางดเว้น ไม่ใช่ไม่มีโอกาสทำความผิด...หลายคนมักเข้าใจศีล ผิดไปว่า แค่ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ฯลฯ ก็เท่ากับมีศีลแล้ว ฉะนั้นก่อนนอนให้กล่าวคำสมาทานศีลและหลับไปในศีล หากตายไปก็จะมีศีลเต็มเปี่ยม เพราะขณะนอนหลับไม่ได้ไปละเมิดสิกขาบทที่ไหนเลย ซึ่งความเป็นจริง ศีลเกิดจากการปฏิบัติจนเป็นอุปนิสัยดังกล่าวแล้ว มิใช่การไม่มีโอกาสล่วงละเมิด การจะวัดว่าเรามีศีลหรือไม่จะต้องดูที่อุปนิสัย โอกาสในการทำความชั่วเปิดให้แล้ว แต่ก็ยังเลือกที่จะไม่ทำ เช่น สามารถตบยุงได้แต่เลือกที่จะไล่มันไป สามารถขโมยโทรศัพท์ผู้อื่นได้ สามารถมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครองคนอื่นได้ ฯลฯ โดยไม่มีใครรับทราบแต่ก็เลือกที่จะไม่ทำ พฤติกรรมเช่นนี้จึงจะเรียกว่า มีศีล เนื่องจากศีลเป็นคุณธรรมความปกติของจิตใจ มิใช่แค่การกล่าวคำสมาทานแล้วนอนหลับหรือการต้องโดนจำคุก ขังเดี่ยว ไม่มีโอกาสออกไปทำความผิดที่ไหน
เป้าหมายของศีล...สิกขาบททั้ง 5 ข้อนี้มิได้มีไว้เพื่อเสริมทิฏฐิมานะ ว่าตนประเสริฐกว่าคนอื่น แต่เป็นพฤติกรรมพื้นฐานที่จะทำให้มนุษย์ใช้ชีวิตในสังคมโดยไม่เบียดเบียนกัน ทั้งนี้พึงทราบว่า ศีล 5 ไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของชีวิต เพราะแม้จะมีศีลดี แต่หากไม่รู้จักยับยั้งอารมณ์ไม่พอใจ อารมณ์โลภอยากได้ไม่สิ้นสุด ก็ยากที่จะหาความสุขให้ชีวิตได้ เป็นความจริงว่า การที่เราอยากได้ บ้าน รถ เสื้อผ้า ฯลฯ ราคาแพงแล้วก้มหน้าทำงาน อดออมด้วยความเหน็ดเหนื่อย เราไม่ได้ล่วงละเมิดศีลแต่ประการใด แต่ชีวิตก็ยังต้องดิ้นรนและเสียเวลาไปกับสิ่งที่เกินจำเป็น
พุทธศาสนาจึงเสนอ “ศีล 8” หรือสิกขาบททั้งแปดข้อให้ฝึกปฏิบัติอาทิตย์ละครั้งหรือมากเท่าที่จะมากได้ เช่น เว้นจากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งแต่เดิมเราสามารถมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครองของตนได้ และพฤติกรรมนี้ก็ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร เว้นจากการดูหนัง ขับร้องเพลงเพื่อหาความเพลิดเพลิน ซึ่งก็ไม่ได้เบียดเบียนใครอีกเช่นกัน หากแต่พุทธศาสนามองว่า สิ่งเหล่านี้แม้เราจะไม่มีก็พอดำรงอยู่ได้ ที่สำคัญ หากเรามุ่งหาความสุขกับสิ่งเหล่านี้ เราก็จะฝากความสุขไว้กับมัน วันหนึ่งหากไม่มีให้เสพ เราก็จะรู้สึกทรมานไม่มีความสุข ศีลแปดจึงเป็นข้อฝึกฝนที่จะเลื่อนระดับความสุขจากการเสพวัตถุเป็นการให้มีความสุขได้แม้จะไม่ต้องเสพ เรามีวัตถุที่ครอบครองน้อยลงแต่ก็มีความสุขเท่าเดิม
กล่าวโดยสรุปคือ ศีลหรือสิกขาบทแปดข้อ (และที่ยิ่งขึ้นไปเช่น 10, 227,311) มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความสุขให้กับมนุษย์โดยพึ่งวัตถุให้น้อยลงนั่นเอง เมื่อต้องการวัตถุน้อยลง เวลาที่ในอดีตต้องใช้ไปกับการแสวงหาก็จะมีมากขึ้น สามารถนำเวลาส่วนนั้นมาพัฒนาคุณธรรม จิตใจและปัญญาให้มากขึ้นได้  

คำถามเชิงวิพากษ์
      1. การรักษาศีล 8 จะต้องปฏิบัติควบคู่ไปกับการสวมใส่ชุดขาวหรือไม่ เพราะเหตุใด?
      2. ท่านคิดว่า การเป็นคนมีศีลจนเป็นอุปนิสัย จะเอื้อต่อการปฏิบัติธรรมเจริญภาวนาหรือไม่ อย่างไร?
      3. เพื่อนสนิทคนหนึ่งวิ่งหนีคู่อริมาซ่อนตัวในบ้านของเรา เมื่อถูกถามว่า คุณเห็นผู้ชายที่วิ่งหนีมาทางนี้หรือไม่ โดยที่ผู้ถามถือปืนอยู่ในมือ ท่านจะตอบกลับไปว่าอย่างไร? หากท่านบอกความจริง เท่ากับท่านส่งเสริมให้มีการทำผิดศีลข้อที่ 1 หรือไม่? และหากท่านต้องโกหกว่า “ไม่เห็น” จะเป็นการล่วงละเมิดสิกขาบทข้อที่ 4 หรือไม่?  
     










การปฏิบัติธรรม
     ที่มา...การปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาต่อยอดมาจากหลักการปฏิบัติเพื่อให้พ้นทุกข์ตามปรัชญาของอินเดียโบราณ คนฮินดูเชื่อว่าพื้นฐานชีวิตของมนุษย์มีความทุกข์และมีวิธีปฏิบัติให้ตนพ้นจากทุกข์ไปได้ ซึ่งนิยมปฏิบัติกัน 2 วิธีคือ
      1. เมื่อชีวิตมีทุกข์ ก็ต้องหาความสุขใส่ตัวเองให้มากที่สุด เช่น กินอาหารอร่อย ราคาแพง เที่ยวตามสถานที่ต่างๆ เสพกามคุณ หาวัสดุอุปกรณ์บำเรอความสุขให้มากที่สุด เมื่อทำเช่นนี้ได้ ความทุกข์ก็จะหมดไป พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธแนวทางนี้เพราะเห็นว่าเป็นการปล่อยชีวิตตามกิเลสมากเกินไป ซึ่งความอยากหรือตัณหาไม่สามารถเติมให้เต็มได้เปรียบเหมือนมหาสมุทรและกองไฟ การปฏิบัติประเภทนี้เรียกว่า “กามสุขัลลิกานุโยค”
     2. เมื่อชีวิตมีทุกข์ ก็จะต้องทรมานตัวเองให้ลำบากมากที่สุด โดยเชื่อว่าในอนาคตความทุกข์จะหมดไปและเหลือแต่ความสุข ผู้เชื่อแนวคิดนี้จึงพากันปฏิบัติทรมานตนด้วยวิธีต่างๆ เช่น อดอาหาร เวลาร้อนก็ตากแดด หนาวก็ลงไปแช่น้ำ นอนบนตะปู ฯลฯ แนวทางนี้พุทธศาสนาก็ปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า แม้แต่วิธีปฏิบัติก็ยังนำทุกข์มาให้ จะเป็นไปได้อย่างไรว่าปฏิบัติแล้วจะเข้าถึงความสุขสูงสุดคือพระนิพพานได้ แนวการปฏิบัติประเภทนี้มีชื่อว่า “อัตตกิลมถานุโยค”
      การปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาจึงมิใช่ 2 แนวทางข้างต้นนี้ แต่เป็นการเจริญสติ ที่ไม่ทรมานตัวเองมากและไม่ปฏิเสธความสุขพื้นฐานทางร่างกาย ผู้ปฏิบัติธรรมยังคงบริโภคอาหาร ใช้ชีวิตตามปกติ แต่อาจสันโดษมากขึ้นเพราะใช้สอยปัจจัยสี่แค่พอจำเป็น ไม่ฟุ่มเฟือย จากนั้นก็ดำรงตนตามวิถีของมรรคมีองค์แปด
      การปฏิบัติธรรมคือ “การเจริญสติในทุกอิริยาบถของการดำเนินชีวิต” เนื่องจากพุทธศาสนาเชื่อว่า ความทุกข์มิได้เกิดจากการบันดาลของ “เทพเจ้า” แต่เป็นการใช้ชีวิตที่ผิดพลาดของ “มนุษย์” เอง เพราะมนุษย์ยังไม่ได้ใช้สติและปัญญาอย่างเพียงพอในการดำรงชีพ ฉะนั้นเมื่อสาเหตุของความทุกข์เกิดที่ตัวมนุษย์ การแก้ปัญหากล่าวคือการจะให้ได้มาซึ่งสุขก็อยู่ที่การกระทำของมนุษย์อีกเช่นกัน
          เป้าหมายของการปฏิบัติ...คือการรู้จักความทุกข์ สาเหตุของทุกข์ ซึ่งเกิดที่ตัวมนุษย์นั้นมีชื่อว่า “ตัณหา” หรือความอยาก การปฏิบัติธรรมจึงเป็นการสร้างสติปัญญาเพื่อให้รู้เท่าทันกิเลสตัณหาดังกล่าว เราสามารถแบ่งระดับของกิเลสตัณหาได้ 3 ประเภทตามระดับความเข้มข้นได้ดังนี้
          1. วีติกกมกิเลส เป็นกิเลสที่เราอดกลั้นไว้ไม่อยู่ ต้องแสดงออกมาให้เห็นทางกายและวาจา เช่น ถูกยุงกัด เราเกิดความโกรธถึงขั้นต้องใช้มือตบยุง (ปาณาติบาต) โลภอยากได้มากจนถึงขั้นต้องไปขโมยของผู้อื่น (อทินนาทาน) เป็นต้น “วิธีแก้หรือควบคุมกิเลสประเภทนี้คือ การรักษาศีล” หากทุกคนสมาทานศีลได้เช่นนี้ สังคมจะเกิดสันติสุขขึ้นมาได้มาก เพราะไม่มีการเบียดเบียนกัน “แต่มิได้หมายความว่าจะทำให้เรามีสุขขั้นสูงสุด เพราะยังมีกิเลสที่ละเอียดลงไปอีก 2 ประเภทดังจะกล่าวด้านล่าง
          2. ปริยุฏฐานกิเลส กิเลสประเภทนี้ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้เห็นดังข้อแรก ผู้คนไม่เบียดเบียนกันเพราะมีศีลคุ้มกันไว้ แต่เป็นกิเลสที่ยังครอบงำใจทำให้เรารู้สึกรัก ชอบ  โกรธ ไม่พอใจ โดยไม่ได้แสดงออกมาทางการกระทำหรือคำพูด เช่น เราไม่ตบยุงก็จริง แต่ในใจยังรู้สึกโกรธที่ถูกยุงกัด เราไม่ขโมยของของใครก็จริง แต่เรายังไม่รู้จักสันโดษ อยากได้วัตถุมาเสพอยู่เรื่อยไป จากนั้นก็พยายามทำงานหาเงินมาด้วยวิธีที่ชอบธรรมเพื่อนำไปซื้อของมาบำเรอความสุขตนเอง[1] หรือเช่น อากาศร้อนมาก หนาวมาก ซึ่งเรารู้สึกไม่ชอบ แต่ก็ไม่ได้แสดงออกถึงขั้นไปทำร้าย บ่นหรือด่าใคร นี่จัดเป็นพฤติกรรมของปริยุฏฐานกิเลส ซึ่งไม่เบียดเบียนใคร แต่ใจเราเองไม่มีความสุข “หลายคนมักสงสัยว่า ตนเองรักษาศีลอย่างไม่บกพร่อง ไฉนจึงยังไม่มีความสุข นั่นเพราะยังไม่ได้ทำความรู้จักกับกิเลสตัวนี้นี่เอง
          3. อนุสัยกิเลส เป็นกิเลสขั้นละเอียดที่สุด ไม่แสดงให้เห็นชัดทางกายและวาจาดังประเภทแรก และไม่ก่อกวนใจให้เกิดความรำคาญดังข้อที่สอง แต่เป็นกิเลสน้อยๆ ที่มีอำนาจมาก แฝงตัวอยู่ในทุกการกระทำซึ่งหากไม่มีสติดีจริงจะไม่สามารถมองเห็นได้ เช่น การเปลี่ยนช่องทีวี เราทำไปโดยไม่รู้สึกตัวหรือสังเกตใจตัวเองว่าทำไมเราต้องเปลี่ยน นั่นเป็นเพราะ เรารู้สึกไม่พอใจกับช่องเดิม (โทสะ...บางๆ) และอยากดูช่องอื่นที่ดีกว่าหรือที่เราชอบมากกว่า (โลภะ...บางๆ) กล่าวคือ เราเปลี่ยนช่องเพราะอนุสัยกิเลสสั่งให้เราเปลี่ยน หรือเมื่อเราสั่งซื้ออาหารที่ร้านแล้วต้องเลือกแกง ทำไมเราต้องเลือกอย่างหนึ่งแล้วไม่ยอมเลือกอีกอย่างหนึ่ง นั่นเป็นเพราะเรามีความชอบสิ่งนี้มากกว่าสิ่งอื่น ลักษณะการชอบหรือไม่ชอบที่ซ่อนอยู่ลึกๆ นี่เองเรียกว่า อนุสัยกิเลส เป็นความรู้สึกลึกๆ ที่เราทำไปด้วยความไม่รู้สึกตัว และดูเหมือนว่าชีวิตเราก็ไม่ได้เป็นทุกข์เพราะกิเลสตัวนี้แต่ประการใด แท้จริงแล้วเหตุที่เรายังไม่ทุกข์ เพราะยังมีสิ่งที่เราต้องการให้เสพอยู่นั่นเอง หากวันหนึ่งไม่มีสิ่งที่เราชอบให้เลือกเลย ถึงตอนนั้นกิเลสตัวนี้ก็จะเผยรูปออกมา (แต่เป็นรูปของ ปริยุฏฐานกิเลส) (The Path of Freedom, Vimuttimagga, Upatissa, translated by Somathera, 1961, p.4)
            แม้แต่การเปลี่ยนอิริยาบถ จากยืนเป็นนั่ง หรือเอนซ้าย-ขวา ขยับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการถูกความปวดเมื่อยครอบงำ เรารู้สึกปวดจึงต้องเปลี่ยนท่าหรือขยับร่างกาย แต่เพราะเราไม่เคยมีสติเฝ้าดูอาการ และไม่เห็นว่าจะเป็นความทุกข์ตรงไหน เราจึงละเลยกระบวนการทำงานของกายและใจตรงนี้ไป หากสังเกตให้ดี เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทีละน้อย เช่น เริ่มปวดขาทีละน้อย เมื่อจิตรับรู้ก็เกิดความไม่พอใจ เลยสั่งให้ร่างกายเปลี่ยนเป็นท่านั่งเป็นต้น
            การปฏิบัติธรรมตามหลักพุทธศาสนาจึงมุ่งให้เกิดสติปัญญารู้เท่าทันความทุกข์และสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์แบบทะลุปรุโปร่ง “การจะวัดว่าวิธีไหนผิดหรือถูกจึงวัดกันที่ วิธีนั้นจะทำให้ผู้ปฏิบัติมีสติรู้เท่าทันทุกข์ที่เกิดขึ้นกับกายและใจของตนหรือไม่ ดังนั้น การปฏิบัติแบบพุทธจึงไม่สนใจปาฏิหาริย์ เหาะได้ มีฤทธิ์ การต้องเกิดตาทิพย์มองเห็นเทวดา ผีสาง หรือทายใจคนอื่นได้ แม้แต่การนั่งสมาธินิ่งๆ ได้หลายชั่วโมงแต่ไม่มีสติตามรู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับกายและใจก็ไม่มีประโยชน์ตามหลักแห่งการพ้นทุกข์ของพุทธศาสนา”
      ทั้งนี้ การจะมีสติ สัมปชัญญะที่มากพร้อมจะต้องเกิดจากการเจริญสติในทุกอิริยาบถหรือให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ผู้ปฏิบัติจึงต้องพยายามมีสติเสมอแม้ในขณะเดิน นั่ง หยิบจับสิ่งของ เข้าห้องน้ำ (เปิดประตู จับลูกบิด ใส่กลอน ถอดเสื้อผ้า ฯลฯ) “สติที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องจะทำให้ผู้ปฏิบัติมองเห็นปริยุฏฐานกิเลสและอนุสัยกิเลสของตนได้
     พึงทราบว่า การมีสติรู้เป็นแต่เพียงการตามรู้สิ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้น เมื่อปวดก็ตามดูอาการปวดให้เห็นประจักษ์ เมื่อคิดก็รู้ชัดว่าคิด เมื่อโลภ โกรธ ก็รู้ชัด การรู้ไม่ใช่การบังคับให้มันต้องหายไป การปฏิบัติธรรมตามหลักพุทธศาสนาจึงไม่ก่อให้เกิดความเครียด เนื่องจากเรามิได้ต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปตามใจเราเอง ถ้าเกิดอาการปวดแล้วเราบริกรรมเพื่อให้หายปวด อันนี้จะทำให้เราเครียดหรือทุกข์ได้ เพราะร่างกายจะไม่เป็นไปตามที่เราสั่ง แต่ทั้งนี้การปฏิบัติเป็นแต่เพียงการตามดูด้วยสติและความพยายามอย่างไม่ลดละ ดูเพื่อให้เห็นความจริงที่กำลังเกิดขึ้น ดูเพื่อเรียนรู้และเข้าใจ การปฏิบัติเช่นนี้ นานเข้าจะทำให้เราเข้าใจและยอมรับสภาพความเปลี่ยนแปลง (ไตรลักษณ์) ที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลาได้ จนทำให้เราถอนตัวเองขึ้นมาจากการต้องทุกข์หรือสุขตามร่างกาย หรือความคิดที่จัดสรรให้มาในแต่ละขณะได้

     ดังนั้น การพ้นทุกข์หรืออยู่เหนือทุกข์ จึงไม่ใช่การมีตาทิพย์เห็นสิ่งประหลาด แต่เป็นการที่เรามีสติในระดับที่ดีพอจนรู้เท่าทัน เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับกายและใจได้ มีตาคือปัญญาที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลง จนไม่เกิดการยึดถือว่าสิ่งนั้นจะต้องเป็นไปตามใจเรา

คำบริกรรม (พุทโธ/สัมมาอรหัง/พองหนอ-ยุบหนอ) สำคัญหรือไม่?
      คำบริกรรมเป็นอุบายเพื่อผูกใจผู้ปฏิบัติให้อยู่กับปัจจุบันในการฝึกระยะแรก ไม่ให้เผลอหลงไปคิดเรื่องในอดีตและอนาคต (เป็นวิธีทำใจให้สงบ/สมถะ) แต่ผู้ปฏิบัติต้องพัฒนาไปสู่ระดับที่สูงกว่านั้น คือการต้องมีสติรู้ทุกการกระทำของกายและใจทุกขณะ ต่อให้ผู้ปฏิบัติใช้คำบริกรรม แต่สิ่งที่เขาจะต้องทราบคือ กิริยาอาการที่ตนกำลังทำอยู่ในปัจจุบัน มิใช่การใช้คำมาท่องจนคล่องปาก เช่น ขณะเดิน เราจะภาวนาว่าพุทโธ หรือ ซ้ายย่างหนอ-ขวาย่างหนอด้วยก็ได้ แต่สิ่งที่ต้องทราบชัดคือ อาการเคลื่อนไปของเท้า ความรู้สึกเย็น ร้อน อ่อนแข็งที่เกิดกับเท้า ฯลฯ เมื่อเกิดความคิดมาแทรก จะภาวนาว่าคิดหนอหรือไม่ก็ได้ แต่สติต้องตามรู้อารมณ์ความรู้สึกความคิดในขณะนั้นให้ได้ เป็นการดูความคิดที่เกิดขึ้นมา ดูความคิดกำลังทำงานและดับไปเสมือนผู้นั่งดูละคร มีหน้าที่ในการรับรู้เท่านั้น มิใช่ผู้เล่นหรือผู้บังคับ ใจเกิดความโลภ ความโกรธ ความเบื่อเป็นต้นขึ้น ก็ตามดูอย่างไม่ลดละจนเห็นการเกิดขึ้นและดับไป การทำเช่นนี้ จะทำให้ผู้ปฏิบัติเห็นความไม่เที่ยงของสิ่งที่จรเข้ามาและจุดหนึ่งจะรู้สึกเบื่อหน่ายเห็นว่าไม่ควรยึดถือไปเอง (สรุปอีกครั้งว่า หากทราบว่าสติตนเองไม่ดีพอ มักหลงบ่อย อยู่กับอะไรได้ไม่นาน การใช้คำบริกรรมก็ช่วยได้ ส่วนผู้ใดพอจะมีสติตามดูอาการที่เกิดขึ้นจริงในขณะนั้นได้ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้คำมาบริกรรม)
     การไม่ยึดถือหรือการปล่อยวาง มิใช่จะทำได้ง่ายๆ ดังที่พูดกันว่า ให้รีบปล่อยวางๆ แต่การปล่อยวางจะเกิดเมื่อมีสติ สัมปชัญญะตามดูจนเห็นอาการเกิดดับ เห็นความไม่เที่ยงแท้ของมันจริงๆ แล้วมันจะปล่อยด้วยตัวมันเอง มิใช่ด้วยคำสั่งของเรา (ขุททกนิกาย ธรรมบท ข้อที่ 30) ดังกรณีตัวอย่างการยึดติดในสร้อยคอทองคำ เราอยากได้มันมาก แต่หากวันใด เรามีเครื่องมือพิสูจน์หรือมีผู้ชำนาญพิสูจน์ให้เราทราบว่า แท้จริงสร้อยเส้นนั้นเป็นของเก๊ ความรู้สึกอยากได้ก็จะหายไปอัตโนมัติ เพราะเรามีปัญญาเข้าใจความจริง
     อ่านเพิ่มเติม (จากคัมภีร์ต้นฉบับ)
            1. มหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค ข้อที่ 273-300
            2. อานาปานสติสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ข้อที่ 282-           291
            3. กายคตาสติสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ข้อที่ 292-317

คำถามเชิงวิพากษ์
      1. แดงนั่งสมาธิได้ถึง 5 ชั่วโมงโดยไม่รู้สึกปวดขาและไม่รับรู้อะไรเลยทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น สัมผัสกายและความคิด ถือว่า การปฏิบัติของแดงถูกต้องหรือไม่?
      2. ลูกน้ำเห็นเทวดาและพระพุทธเจ้ามาเยี่ยมทุกครั้งเมื่อนั่งสมาธิ เราจะแนะนำให้ลูกน้ำปฏิบัติหรือมีท่าทีอย่างไรเพื่อพัฒนาการเจริญสติในการปฏิบัติต่อไปได้?
      3. ตามหลักการพุทธศาสนา เราใช้อะไรเป็นตัวชี้วัดว่า การปฏิบัติแบบไหนผิดและแบบไหนถูก?
      4. หลวงปู่ท่านหนึ่งกล่าวว่า “หากลูกติดยาเสพติด ให้พ่อแม่มาปฏิบัติธรรม ด้วยอานิสงส์นี้ จะทำให้ลูกหยุดเสพยาได้” ท่านคิดว่าคำพูดนี้มีเหตุผลหรือความเป็นไปได้หรือไม่?











เรามีสิทธิที่จะเชื่ออะไรก็ได้ แต่ความเชื่อนั้นต้องสามารถอธิบายและพูดคุยกับผู้อื่นได้ด้วยเหตุผล ว่าเพราะอะไรเราจึงเชื่อสิ่งนี้และไม่เชื่อสิ่งนั้น การพูดคุยกันด้วยเหตุผลจะทำให้เราสนทนากับผู้อื่นได้ด้วยสันติ และยังสามารถแนะนำชักชวนให้ผู้อื่นเข้าใจตามสิ่งที่เราเชื่อได้อีกด้วย ซึ่งตรงข้ามกับการใช้ศรัทธาแบบงมงาย ไม่เห็นด้วยกับอีกฝ่ายเพียงเพราะเขาเชื่อในคัมภีร์ที่ต่างจากเรา ชาวพุทธจึงควรเปิดใจ ให้ความสำคัญกับปัญญามากกว่าศรัทธา ซึ่งตรงกับความประสงค์ที่พระพุทธเจ้าตรัสเตือนไม่ให้เชื่อโดยไม่ตรวจสอบแม้กระทั่งตัวพระองค์เองไว้ในกาลามสูตรว่า
“อย่าเพิ่งเชื่อ เพียงเพราะผู้พูดเป็นครูของตน”



………….…………………………………………………………………………………..….
ร่วมสนทนาธรรมหรือแสดงความคิดเห็นได้ที่
พระจิระศักดิ์ เกตุเมโธ  www.facebook.com/Jirasak.Nundam
พระมหาเจษฎา กนฺตเมธี  www.facebook.com/Jesada.Buaban
หรือติดตามได้ที่ ช่อง YouTube Channel - Jesada Buaban


[1] การแสวงหาวัตถุโดยวิธีสุจริตมาเสพบำเรอเพื่อสนองความโลภ เช่นด้วยการออกแรงทำงานสะสมเงิน ไม่ถือว่าผิดจริยธรรม แต่พุทธศาสนาเห็นว่า การสนองความโลภที่ไม่มีวันสิ้นสุดไม่สามารถนำมาซึ่งความสุขที่แท้จริงได้ เพราะปกติใจคนมักไม่รู้จักพอและเปลี่ยนวัตถุที่ต้องการไปเรื่อยๆ ฉะนั้นการหมั่นรู้เท่าทันความอยากของตัวเองและพิจารณาใช้เฉพาะของที่จำเป็นจึงเป็นสิ่งสำคัญ อ่านรายละเอียดในหัวข้อ “การบริโภคปัจจัยสี่”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น