บทนำ
เนื้อหาที่จะบรรยายต่อไปนี้ดูคล้ายจะเกี่ยวข้องกับชื่อหนังสือโดยตรง แต่คาดว่าบทนี้เองที่เราจะสามารถแบ่งประเภทพระหรือโล้นออกจากกันได้นั่นคือ จากนี้ไปจะมีโล้น ๒ กลุ่ม (ไม่ใช่พันธมิตรฯกับนปก.นะ)แต่เป็นโล้นซ่าและโล้นไม่ซ่าฯ หรือจะพูดให้เป็นมาตรฐานเดียวกันคือโล้นซ่าหลอกลวงประชาชนกับโล้นซ่าที่ไม่หลอกลวงประชาชน ฉะนั้นมาถึงบทนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระคุณเจ้าทั้งหลายสามารถจัดกลุ่มตนเองตามความสมัครใจได้ว่าจะอยู่กลุ่มไหน แต่ขอร้องว่าอย่าพูดอย่างหนึ่งและเลือกทำอีกอย่างหนึ่งเช่น “อาตมาเป็นศิษย์พระพุทธเจ้า สนใจศึกษาพุทธวจนะ(คำสั่งสอนของพระองค์เท่านั้นไม่เอาสาวก) ไม่เชื่องมงาย ดำเนินตามพระพุทธเจ้าอย่างเดียวฯลฯ” แต่พอสังเกตพฤติกรรมกลับพบว่า ตอนเช้าออกบิณฑบาตก็เปลี่ยนเป็นใส่จีวรสีเข้ม(เพราะโยมส่วนใหญ่เข้าใจว่าจะขลังกว่าและเป็นพระนักปฏิบัติ)เพื่อให้ได้อาหารและปัจจัย(เงิน)จำนวนมาก ร่อนเร่แสดงธรรมไปทั่วด้วยเหตุผลว่าเผยแผ่เชิงรุก(แต่ไม่ได้พูดธรรมะเลย เอาแต่เล่าประวัติฝรั่งแล้วทำตัวเองให้กลายเป็นนักพูดชั่วโมงละพัน) กุฏิก็อยู่อย่างสบาย มีอุปกรณ์เครื่องใช้อำนวยความสะดวกครบครันตั้งแต่ แอร์จนถึงเครื่องทำน้ำอุ่น(ด้วยเหตุผลว่าสุขภาพไม่ค่อยดี ผิวพรรณปรับตามสภาพอากาศไม่ได้ ทั้งที่ดั้งเดิมมาจากบ้านนอก กลางแดดต้องช่วยพ่อแม่ตัดอ้อยฯ)โดยไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม เวลาว่างก็ไม่ได้ศึกษาพระไตรปิฎกหรือธรรมะหมวดอื่นๆ แต่ทดแทนด้วยการดูมวย การ์ตูน หนังตลก(เพื่อเอาไปประกอบในการบรรยาย สร้างความครื้นเครง) ที่ยิ่งกว่านั้น เวลาเครียดก็เอาบุหรี่มานั่งสูบ เสร็จแล้วเขาก็มารับไปบรรยายเรื่องยาเสพติดให้เด็กฟังฯ ผู้อ่านอาจรู้สึกว่า ตั้งแต่อ่านบทความนี้เหมือนกระผมจะเปลี่ยนสมองท่านให้มองโลกในแง่ร้ายมากขึ้น ก็ต้องขออภัยด้วย เพราะตัวกระผมเองก็กลายเป็นคนเช่นนั้นไปแล้ว(หลังจากใช้เวลาคลุกคลี/หมกจมตัวเองอยู่ในดงขมิ้นหลายปี)
พระสงฆ์ ๓ ประเภท
สมมติสงฆ์(๑)
ความจริงการจำแนกพระสงฆ์จะมีเพียง ๒ ประเภทเท่านั้น คือ สมมติสงฆ์และอริยสงฆ์ สมมติสงฆ์คือโล้นซ่าทั่วไป ตั้งแต่เพิ่งบวชวันแรกจนได้ไต่เต้าเลื่อนยศตำแหน่งไปตามลำดับตั้งแต่ พระอธิการ ใบฎีกา สมุห ปลัด พระครู เจ้าคุณฯ(ชั้น สามัญ ราช เทพ ธรรม พรหม สมเด็จ...ขอย้ำ ไม่ใช่...สมเส็จ ต้องขออภัยด้วยหากมิได้เรียงตามลำดับขั้นจริงๆ (เพราะตั้งแต่บวชมาไม่เคยเสียเวลาศึกษาเรื่องเหล่านี้!)จนถึงพระที่มรณภาพหรือที่เรียกแบบชาวบ้านว่า “ตายคาผ้าเหลือง” (ความจริงพันธมิตรฯหลายคนก็ตายสภาพนี้นะ!) แต่ที่น่าคิดคือ พระทั้งหลายจะถูกกล่าวขานกันทั่วไปอีกว่า “ตายในหน้าที่” (ขณะออกหากิจนิมนต์เนี่ยนะ?) อย่างไรก็ตาม โล้นประเภทนี้(อาจหมายรวมตัวกระผมด้วย) มีเจตนาในการบวชตรงกันข้ามกับความเป็นมาของพระสาวกสมัยพุทธกาล นั่นคือมิได้บวชด้วยศรัทธา (อาจมีบ้าง...แต่พออยู่นานไปก็ถูกกลืนจนลืมอุดมการณ์ตนเอง) ถูกปลูกฝังตั้งแต่เป็นเณรน้อยว่าต้องได้นักธรรมเอก...เปรียญ ๙...แล้วกลับมาเป็นเจ้าอาวาส คณะตำบล อำเภอ จังหวัดฯลฯ โดยที่เราไม่ทราบว่าความคิดเช่นนี้เกิดขึ้นตอนไหน ทั้งๆที่ไม่มีพระท่านใดสอนเราเช่นนี้เลย กระผมเพิ่งถกเรื่องนี้กันกับรุ่นพี่คนหนึ่ง...ทราบว่าท่าน(ซึ่งเคยเรียนมัธยมด้วยกัน)ก็คิดเช่นเดียวกันคือกลับมาสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับสถาบัน(พูดให้ตรงตัวคือ..ตนเอง)รอรับตำแหน่งอันสูงส่งต่อไปเสมือนทายาทอสูรฯ ซึ่งสุดท้ายเราก็สรุปได้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ปูทางให้เราคิดเช่นนี้เพราะตัวอย่างที่แวดล้อม(ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ให้การยกย่อง)นั่นคือต้องเป็นพระที่ไม่สนใจพระธรรมวินัยคือศึกษาและปฏิบัติธรรมเลย แต่ใช้ชีวิตในทางหามวลชน โยมอุปัฏฐาก รายนามเจ้าภาพกฐิน และท่านจะปรากฏในทุกที่ที่มีงานสำคัญไม่ว่าจะเป็นงานคณะสงฆ์หรือชาวบ้านข้าราชการฯ ประเด็นหนึ่งที่เห็นกันเกลื่อนในสถาบันการศึกษาพระสงฆ์(ทั้งระดับ บาลี สามัญหรือมหาวิทยาลัย)สามารถนำมายืนยันการให้ความสำคัญกับงานเลี้ยง(หรือที่ท่านใช้คำว่า..ไปร่วมแสดงมุทิตา หรือ ฉลองศรัทธาญาติโยมฯ)คือนักเรียนสามารถขาดเรียนได้หากวัดจัดกิจกรรมเช่นนั้น นักเรียนมาสายได้หากติดสวดมาติกาบังสุกุลฯ เจ้าอาวาส(ที่เป็นครูสอนในโรงเรียนนั้นๆ)สามารถยุบชั่วโมงเรียนโดยเอานักเรียนไปตัดหญ้าเพื่อเตรียมงานกฐินได้ หรือปกติต้องเข้าเรียนบ่ายโมงตรง นักเรียนสามารถมา ๔ โมงเย็นได้เพียงอ้างว่าเพิ่งกลับจากฉันเพล(ข้อนี้กระผมเคยทำ และดูเหมือนจะประสบความสำเร็จ) เราจะเห็นว่าช่วงชีวิตของการอยู่วัดเพื่อศึกษาเล่าเรียนล้วนต้องคลุกคลีอยู่กับเรื่องลาภ ยศ ตำแหน่งเป็นสำคัญ จนหากผู้ใดไม่เห็นด้วยคือไม่ยอมปฏิบัติตามนี้ก็จะต้องมีอันเป็นไปภายในสามวันเจ็ดวัน นั่นคือหากเป็นครูแต่ไม่มีนักเรียนให้สอน(เพราะเจ้าอาวาสมาเอาไปผูกผ้าระบายและจัดดอกไม้งานแต่งหลานสาว)แล้วโวยวายว่านักเรียนไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่...ท่านเองนั่นแหละจะต้องหลุดจากเก้าอี้การเป็นพระพิมพ์ของชาติด้วยเหตุผลว่า “ไม่รู้จักหน้าที่” (อันนี้เพื่อนที่ไปสอนพิจิตรเล่าให้ฟัง) จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเราจึงไม่ซึบซับธรรมะที่ลึกซึ้งได้ การห่มจีวรก็สักแต่ว่าอยู่ไปวันๆเท่านั้น (แต่ตอนนั้นกระผมก็มองไม่เห็นนะ) ส่วนนักเรียนที่จบแล้วหากต้องการลาสิกขา(สึก)ก็มักถูกห้ามปรามจากครูบาอาจารย์(ซึ่งอาจเป็นเรื่องธรรมดา)แต่ลึกจริงๆแล้วเหมือนเราจะถูกปลูกฝังความเชื่อมาอีกอย่างหนึ่งว่า “ไม่ว่านักเรียนหรือครูอาจารย์คนไหนที่สึกต้องเป็นคนไม่ดี” บ้างก็ถูกกล่าวหาว่ามาทิ้งกันกลางคัน เห็นแก่ความสุขส่วนตน ไม่รักพระศาสนา...ความจริงที่ทำเช่นนั้นเพราะท่านรักพระศาสนางัยครับ! ส่วนพระป่าที่อาศัยการปฏิบัติเป็นหลัก มิใช่น้อยเหมือนกันที่เป็นโล้นซ่า นั่นคือหวังความศรัทธาจากผู้คนโดยการแสร้งเดินจงกรมให้เห็น เขานั่งกันที่ไหนก็ไปนั่งสมาธิที่นั่น และหลายท่านซึ่งไม่ได้ศึกษาพระศาสนาเลย(เพราะเหตุผลว่าปฏิบัติสำคัญกว่าทฤษฎี?)สอนธรรมะที่เป็นมิจฉาทิฏฐิแก่ฆราวาสมีมากนับไม่ถ้วน เช่นการพาทัวร์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า จ่ายเงินทำบุญมากยิ่งเข้าใกล้พระนิพพาน จ่ายเงินเพื่อลงทะเบียนเกิดพร้อมพระศรีอริยเมตโตร หรือกระทั้งนิพพานเป็นอัตตา ตายไปแล้วจะได้ไปอยู่ที่นั่นเป็นเมืองแก้ว(เรื่องนี้สำคัญมาก จะอธิบายให้ละเอียดอีกทีหนึ่ง) หรือท่านที่ศึกษาบ้าง(อาจจนขั้นเป็นดร.)แต่ไม่เข้าใจศาสนาจริงๆก็กลายเป็นคนวิกลจริต เก็บตัวอยู่ในห้องเหมือนคุณหนูอกหัก พูดไม่รู้เรื่อง ไทยคำ-อังกฤษคำ(แต่พอให้พูดภาษาอังกฤษจริงๆก็พูดไม่ได้) ชอบดักรอโยมตามสถานที่สำคัญต่างๆเช่นเจดีย์ เมื่อมีคนมาติดกับดักก็จะพูดธรรมะนานมาก เช่นเรื่องกรรม นรก สวรรค์(ทั้งที่ตนเองไม่เคยเชื่อเลย) ชาวบ้านจะกลับก็ไม่ยอมเปิดโอกาสให้เขาไปฯลฯ การบวชเป็นพระประเภทนี้สามารถเป็นได้ทุกคนที่ผ่านอุโบสถ มีพระอุปัชฌาย์และคู่สวดรวมถึงพระอีก๔-๕ รูปนั่งปรก ความจริงมีคุณสมบัติหลายข้อที่ต้องตรวจเช็คเช่นกัน เช่น ไม่พิการ ตาบอดหูหนวด(เพราะดูแลตนเองไม่ได้) ไม่เป็นหนี้(เราอาจสงสัยว่าก็ปัจจุบันที่คนไทยทุกคนมีหนี้คิดเป็นค่าหัวละ จะบวชได้หรือไม่?...ตอบว่า ได้ เพราะนั่นเป็นหนี้ที่รัฐบาลก่อ(แม้จะอ้างว่ามาจากประชาชนก็ตาม)แต่หนี้ในที่นี้ท่านหมายถึงหนี้ที่ตนต้องรับผิดชอบ...และการบวชต้องไม่เป็นการหนีการใช้หนี้อันนั้นฯ) ผู้บวชต้องไม่เป็นคนที่พระราชาให้การเลี้ยงดูหรือราชภัฏนั่นเอง(ไม่ได้หมายความว่านักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏฯนะ แต่เป็นข้าราชการที่ต้องกินเงินเดือนจากพระราชา/ภาษีประชาชน) เหตุที่ไม่อนุญาตให้คนประเภทนี้บวชเพราะทำให้งานราชการเสียหาย เช่นเป็นทหารกองประจำการ ปรากฎว่าเขมรบุกชายแดนแล้ว แต่ไม่มีทหารเพราะไปบวชในโครงการหนึ่งล้านรูปหมดฯ (เราจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมพระส่วนใหญ่จึงเป็นเด็กบ้านนอก ลูกยายมี เพราะปัญญาชนส่วนใหญ่ต้องทำงานรับราชการ)ซึ่งความจริงคนประเภทนี้ใช่ว่าจะบวชไม่ได้เลย แต่ต้องได้รับการอนุญาตเสียก่อนฯลฯ
การบวชคือการยัดความเป็นพระให้?
เมื่อมีความประสงค์จะบวชก็ต้องติดต่อพระอุปัชฌาย์ หาวัดที่จะบวชซึ่งส่วนใหญ่อยู่ใกล้บ้านตนเอง ตรงนี้หากผู้ใดต้องการอำนาจความเป็นใหญ่แนะนำให้บวชกับอุปัชฌาย์ที่มีชื่อเสียงหรืออย่างน้อยควรเป็นเจ้าคุณฯ ครั้นถึงวันบวชก็ต้องเริ่มด้วยการปลงผม(หรืออาจทำมาก่อนแล้ว)ด้วยเหตุว่ามิใช่เลียนแบบเท็กซี่ฯ แต่เพราะเป็นธรรมเนียมพระคือตัดภาระที่ต้องรับผิดชอบทั้งหลายออกไปเสียให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้ เราอาจนึกในใจว่าแค่ผมบนหัวจะเป็นภาระตรงไหน? หนักหัวใคร? ก็อาจเป็นเพราะหนักหัวนี่แหละครับ จึงต้องโกนทิ้งฯ ตัวอย่างง่ายๆคือไม่ต้องมารับผิดชอบเรื่องการดูแล หาแชมพูหรือครีมนวด แพนทีนหรือซัลซิลดี? กระทั่งทรงนั้นทรงนี้ ไปไหนก็ต้องพกก้างปลาหรือหวีไปด้วยฯลฯ การตัดผมออกจึงสามารถตัดภาระเหล่านี้ไปได้โดยไม่ต้องไปเสียเวลา...ซึ่งก็เป็นเหตุผลเดียวกับข้าวเย็นนั่นเอง(หมายถึงอาหารตอนเย็นนะ...ไม่ใช่ข้าวที่ไม่ร้อน!)ทำให้นักบวชออกมาได้จากโลกวัตถุนิยมหรือแฟชั่น มีเวลามากขึ้นในการศึกษาและปฏิบัติธรรม
จากนั้นก็ต่อด้วยการใส่ชุดนาค(ชุดขาว)เพราะเหตุผลที่ชอบเล่ากันว่า พญานาคต้องการจะบวชเพราะศรัทธาในพระศาสนา(แต่อย่างไรเสีย ตรงนี้ก็เตือนใจโล้นได้ว่า แม้แต่พญานาคยังมีศรัทธาในการบวชเลย ช่างตรงกันข้ามกับเราเสียจริง)จึงมาขอบวชกับพระพุทธเจ้า โดยการแปลงร่าง(Transformer) มาเป็นชายหนุ่ม เมื่อได้บวชแล้ว ครั้งหนึ่งขณะนอนหลับ(เผลอสติ)ทำให้ตนเองกลายเป็นนาคเหมือนเดิม พระที่เป็นเพื่อนกันเห็นเข้าก็ตกใจ ทั้งขยี้ตาทั้งหยิกแขนตนเอง เมื่อทราบแล้วว่าใช่จึงรีบไปบอกพระพุทธเจ้า จากนั้นพระองค์ก็ให้สึกไปเสีย(เพราะมีวินัยมิให้บวชแก้ผู้มิใช่มนุษย์...มนุสฺโสสิ นตฺถิ ภนฺเต)และสุดท้ายนาคได้ขอร้องให้ทุกคนที่จะบวชในอนาคตสวมชุดนาคก่อนเพื่อเป็นการไว้อาลัยแก่ตนคือเพื่อตนจะได้ร่วมอนุโมทนาฯกระผมพยายามหาที่มาของเรื่องนี้ในพระไตรปิฎก(แต่ไม่ใช่พวกบ้าพุทธพจน์นะ...ที่ประกาศว่าหากไม่ใช่คำพูดพระพุทธเจ้าแล้วจะไม่เชื่อ) เป็นเพราะเห็นว่าเรื่องนี้ไม่มีตรรกะหลายที่ (แต่ก็ไม่พบ...อาจเป็นเพราะไม่ชำนาญในพระไตรปิฎกเหมือนพระครูธรรมธรทั่วไปด้วย) เช่นหากนาคปลอมมาบวชกับพระพุทธเจ้า ไฉนพระองค์ซึ่งชื่อว่าเป็นสัพพัญญูจะไม่ทราบแต่แรก?หรือการใส่ชุดขาว ความจริงหาได้เป็นชุดนาคไม่(เพราะชุดนาคน่าจะเป็นชุดที่มีเกร็ดหรือคล้ายชุดละครนางเงือกเรื่องพระอภัยมณี)แต่เป็นชุดพราหมณ์หรือผู้ถือศีลทั่วไปใส่กันตั้งแต่อินเดียโบราณมาแล้วฯ
แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่มีใครตั้งใจจะลบล้างคืออธิบายกันให้แจ่มแจ้ง อาจเป็นเพราะเห็นว่าไม่ได้เสียหายอะไร(ทั้งที่เป็นเรื่องโกหกเนี่ยนะ?)และหากต้องลบไปจริงๆพระเทศน์หรือคนทำขวัญนาคก็จะไม่มีเรื่องเล่า! จากนั้นก็มีการเวียนโบสถ์หรือที่เรียกว่าประทักษิณ อันนี้ก็เช่นกันเป็นทำเนียมอินเดียโบราณที่ใช้สำหรับการแสดงความเคารพโดยการเดินเวียนขวา ๓ รอบ เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือจึงขอนำเสนอที่มาในพระไตรปิฎกเรื่องจอมโจรองคุลีมาลที่สามารถกลับตัวได้และเข้ามาบวช...เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลเห็นเข้าจึงเกิดความเลื่อมใสทั้งในตัวองคุลีมาลเองในพระพุทธเจ้าที่สามารถเปลี่ยนคนได้เช่นนั้นโดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ
ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วจึงประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. แล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมา ที่พระผู้มีพระภาคทรงทรมาน(ฝึก)ได้ซึ่งบุคคลที่ใครๆทรมานไม่ได้ ทรงยังบุคคลที่ใครๆ ให้สงบไม่ได้ ให้สงบได้ ทรงยังบุคคลที่ใครๆ ให้ดับไม่ได้ให้ดับได้ เพราะว่าหม่อมฉันไม่สามารถจะทรมานผู้ใดได้ แม้ด้วยอาชญา แม้ด้วยศาตรา พระผู้มีพระภาคทรงทรมานผู้นั้นได้โดยไม่ต้องใช้อาญา ไม่ต้องใช้ศาตรา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอทูลลาไปในบัดนี้ หม่อมฉันมีกิจมาก มีกรณียะมาก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ขอมหาบพิตรจงทรงทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด ลำดับนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จลุกจากที่ประทับ ถวายบังคม กระทำประทักษิณพระผู้มีพระภาคแล้วเสด็จหลีกไป.[1]
แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ทราบเรื่องการประทักษิณ ได้แต่ทำกันไปตามธรรมเนียม จึงอาจคล้ายกับว่าถ้าทำอะไรไม่ถูกก็เดินเวียนไปก่อนแล้วกันฯ การกระทำเช่นนี้สามารถทำให้เราใช้ช่วงเวลาเหล่านั้นนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเป็นต้นได้ฯ เมื่อเข้าโบสถ์ก็เป็นการประกอบพิธีบวชคือกล่าวคำขออุปสมบทและสวดถามเรื่องคุณสมบัติกันเป็นภาษาบาลี ตกลงทั้งพระทั้งนาคต่างก็ไม่ทราบว่าตนกำลังทำอะไรอยู่ (สักแต่ว่าท่องให้ได้และตอบไปตามนั้น เช่น นตฺถิ ภนฺเต ๕ ครั้ง อาม ภนฺเต ๘ ครั้ง สมมติผู้ถามสลับคำถามคงตลกน่าดูเช่น ถามถึงข้อดีก่อน...ท่านเป็นมนุษย์ใช่หรือไม่...ไม่ใช่ ท่านเป็นชายแท้ใช่หรือไม่...ไม่ใช่ ท่านไม่ได้บวชเพราะหลบเจ้าหนี้ใช่หรือไม่...ไม่ใช่(คือหลบ) ท่านได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองแล้วใช่หรือไม่...ไม่ใช่ ท่านมีบาตรจีวรในการบวชแล้วใช่หรือไม่...ไม่ใช่ฯลฯ หรือทางตรงกันข้ามคือถามข้อเสียทีหลัง ท่านเป็นกลากใช่หรือไม่...ใช่ครับ ท่านเป็นขี้เรื้อนใช่หรือไม่...ใช่ครับ ท่านเป็นโรคขาดสารอาหารใช่หรือไม่...ใช่ครับฯลฯ) แต่ก็เชื่อว่าบวชได้อยู่ดี เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ทราบว่าตนกำลังพูดอะไร?หรือหากทราบบ้าง สงฆ์ส่วนใหญ่ก็อนุมัติให้ผ่านอยู่ดีเพราะซองขาวปิดปากไว้แล้วฯ ความจริงการสวดในพิธีบวชมิได้เป็นการยัดอะไรให้เลยกลับเป็นแต่ข้อเสนอมติที่ประชุมเท่านั้น อาจเป็นเพราะใช้คำว่า “ญัตติ” นั่นเอง(แปลว่าเสนอ) ซึ่งต่อมาเรียกสั้นลงและไม่ได้เห็นตัวเขียน จึงเข้าใจผิดไปว่า “ยัด” เมื่อตกลงกันว่าผู้นี้มีคุณสมบัติที่จะเป็นพระได้จึงปิดประชุมและเขียนหลักฐานไว้ว่าผู้นั่นเป็นพระ วันนั้น เวลาเท่านั้นฯลฯ เราอาจเรียกการพิธีบวชนี้ว่าเป็นการบวชแบบนิตินัย เทียบกับพยาบาลคือตอนเข้ารับหมวกหรือตำรวจตอนเข้ารับดาบฯลฯ แต่จะเป็นพยาบาลจริงๆก็ต่อเมื่อมาทำงานในโรงพยาบาล ช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยฯลฯ ทำนองเดียวกับพระ จะเป็นพระจริงๆก็ตอนมาสำรวมกายวาจา ศึกษาและปฏิบัติธรรมฯ จึงสรุปได้ว่าการเข้าอุปสมบทในโบสถ์ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นเสมือนการเข้าอภิปรายอนุมัติงบประมาณในสภาโดยอาศัยเสียงส่วนใหญ่ (แม้การอุปสมบทไม่เหมือนการนับเสียงส่วนใหญ่เสียทีเดียว)แต่สุดท้ายทุกโครงการก็ผ่าน ด้วยเหตุที่ว่าส.ส.คือพระที่เข้าร่วมพิธีไม่ทราบว่ามีการเสนออะไรกันบ้าง ถึงเวลาก็โหวดเสียงให้อย่างเดียว เพราะตนเองก็ได้เงินใต้โต๊ะ(ซองขาว)ไปเรียบร้อยแล้วฯ
พูดไปพูดมาเดี๋ยวจะมีแต่แง่ลบอย่างเดียว ความจริงกระผมเคยเข้าร่วมการบวชในที่หนึ่ง คือวัดญาณเวศกวัน พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต)เป็นพระอุปัชฌาย์ การบวชที่นี่ใช้เวลานานมาก เพราะแต่ละช่วงจะมีการแปลและอธิบายเป็นภาษาไทย คนที่บวชจึงมีความเข้าใจและไม่หลงว่าใครจะมายัดความเป็นพระให้ตัวเอง ถ่ายรูปไปก็ไม่ต้องเอาไปหลอกปลอบใจตัวเองติดไว้ข้างฝาโชว์ลูกหลานว่าตนเคยบวชมาก่อนทั้งที่ไม่รู้จักพุทธศาสนาเลย แต่การบวชที่นี่มีการ(บังคับ)ให้เล่าเรียนและปฏิบัติธรรม ต้องอยู่ประมาณ ๑ เดือน ผู้ที่มาบวชจึงมีความรู้ด้านศาสนาดีมาก แต่ก็น่าเสียดายที่มีโอกาสเข้าร่วมเพียงครั้งเดียวจึงไม่สามารถบรรยายให้เห็นภาพชัดเจนได้ ความจริงเกือบทุกครั้งที่มีการบวช ทางวัดจะนิมนต์พระจากวิทยาลัยศาสนาศึกษา(มหิดล)ที่กระผมเคยเรียนอยู่ตลอด แต่เป็นเพราะเหตุว่า การได้รับนิมนต์ในงานบวชนั้น พระจะได้รับเงินมหาศาล ประมาณ ๓,๐๐๐ บาทต่อรูป กระผมซึ่งมีศรัตรูอยู่รอบทิศ(ไม่มีเส้น)จึงหมดโอกาสเข้าร่วมงานใหญ่และมีประโยชน์เช่นนั้นอีก เพราะผู้นิมนต์ต้องสงวนสิ่งมีค่านี้ไว้ให้กับพวกพ้องตนเอง...ใช่ก๋า?
อริยสงฆ์(๒)
เป็นพระสงฆ์อีกประเภทหนึ่งที่มิใช่เป็นแค่ผู้ผ่านอุโบสถ แต่เพราะอาศัยความตั้งใจจริงในการบวชและ/หรืออย่างน้อยเมื่อบวชมาแล้วตั้งใจจริงในการศึกษาปฏิบัติจนทำให้ตนเข้าใจสัจธรรมและพ้นทุกข์ได้ เทียบกับตำรวจคือ “จ่าเพียร” นั่นเอง เราอาจตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วพระอริยสงฆ์เหล่านี้ไม่ต้องผ่านอุโบสถหรือ? ตอบว่า บ้างก็ผ่าน บ้างก็ไม่ผ่าน...ยังงงอยู่? คือท่านที่เป็นพระต้องผ่านอุโบสถอยู่แล้ว ส่วนท่านที่เป็นฆราวาสก็ไม่ต้องผ่านอุโบสถ จริงอยู่ว่าอริยสงฆ์ไม่จำเป็นต้องเป็นพระเท่านั้น หากเป็นฆราวาสแต่สนใจศึกษาและปฏิบัติธรรมก็พ้นทุกข์ได้เช่นกัน ทีนี้อย่ามาพูดว่าเพศชายดีกว่าหญิงหรือพระดีกว่าโยม พุทธศาสนาเน้นเรื่องศักยภาพคนเป็นหลัก ธรรมะเป็นเรื่องสันทิฏฐิโก คือหากเข้าหาก็สามารถเห็นความจริงได้ ไม่เกี่ยวกับเพศ อายุ ศาสนาหรือลัทธิทางการเมือง ตอนหนึ่งพระพุทธเจ้าถูกถามว่าศาสนาไหนเป็นเลิศ พระองค์ก็มิได้ตอบว่าศาสนาพุทธเหมือนที่ศาสดาทั้งหลายชอบอ้างกัน แต่บอกเป็นข้อเท็จจริงว่า
ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยใด ไม่มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น ไม่มีสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ หรือสมณะที่ ๔ ในธรรมวินัยใด มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น มีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หรือที่ ๔ ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยนี้ มีอริยมรรคประกอบด้วย องค์ ๘ ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น มีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หรือที่ ๔ ลัทธิอื่นๆ ว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง ก็ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ[2]
สมณะที่ ๑-๔ นั้นคือพระอริยสงฆ์ตั้งแต่โสดาบันจนถึงอรหันต์นั่นเอง พระองค์ต้องการสรุปว่า ไม่ว่าศาสนาใด หากไม่ประกอบด้วยมรรค ๘ (ดูรายละเอียดตอนที่ ๒ เรื่องพระธรรม) คนก็จะไม่มีความเชื่อที่ถูกต้อง เป็นเหตุเป็นผล ถูกบังคับให้เชื่อเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีปัญญาเห็นความจริง เมื่อไม่มีความเชื่อหรือความเห็นที่ถูกต้อง(คือไม่เป็นไปตามกฎของเหตุปัจจัย สัมมาทิฏฐิ) ความคิดที่จะนำไปสู่การกระทำหรือการพูดก็ย่อมผิดพลาดไปตามลำดับได้แต่กราบไหว้อ้อนวอนฯลฯ เมื่อไม่มีปัญญาเช่นนั้นจะเกิดพระอรหันต์ย่อมเป็นไปไม่ได้ฯ ทีนี้เราก็จะนึกในใจว่า...ตกลงพระองค์แกล้งชมศาสนาตัวเองว่างั้นเหอะ? ตอบว่า ไม่ใช่ เพราะพระองค์ไม่ได้บอกเลยว่าชาวพุทธเท่านั้นจะบรรลุธรรม เพราะหากเป็นชาวพุทธแต่ขาดปัญญา เอาแต่ไหว้จอมปลวกไม่ศึกษาและปฏิบัติให้ถูกต้องก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากพุทธศาสนาเช่นกัน สุดท้ายพระองค์ตรัสว่า ใครก็ตามที่ปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ จะเป็นฝรั่ง ไทย แขก ย่อมเข้าถึงความจริงได้ทั้งนั้น และหากปฏิบัติตามแนวนี้ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์คือสามารถบรรลุธรรมกันได้เรื่อยๆไม่ต้องไปรอพระศรีอริยเมตตรัยฯ
เป็นฆราวาสหากบรรลุอรหันต์(แล้วไม่บวช)ต้องตายภายใน ๗ วัน?
เรื่องนี้มักถูกกล่าวขานกันทั่วไปจนเป็นที่ประจักษ์กับชาวพุทธทุกคน แต่ที่น่าเสียดายอย่างหนึ่งคือเรามักเชื่อกันแบบยังมิได้พิสูจน์หรืออย่างน้อยก็พิจารณาก่อน กระผมเองคิดว่าประเด็นนี้จะเป็นประเด็นเปิดที่จะให้ทุกคนใช้เสรีภาพในการอธิบายเหตุผลกันอย่างเต็มที่ เพราะตนเองก็มิได้ช่ำชองเรื่องพระอรหันต์ ฉะนั้นสิ่งที่อาจเกิดได้เสมอเกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลนี้คือ ความเข้าใจที่ผิดพลาดแต่ก็ให้ทราบว่ามิใช่ปากแห่งอบายเพียงอย่างเดียว ชาวพุทธหลายคนเมื่อไม่ทราบก็ไม่ยอมพูด(ทั้งที่หลายคนเป็นนักปราชญ์) และที่ยิ่งกว่านั้นกลับปฏิเสธไปเลยว่า ไม่ใช่ (หากตนเองค้นหาแล้วไม่พบในพระไตรปิฎก) ทำให้หลายคำถามถูกปฏิเสธไป(ไม่มีคำตอบ)แทนที่จะเป็นสรณะให้แก่พุทธบริษัทได้ เช่น นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา? การทำแท้งบาปหรือไม่(กรณีที่ถูกข่มขืน...แบบเต็มใจ เด็กพิการ ไม่มีพ่อ)หรือทำตอนไหนเรียกว่าแท้ง...หลังจากมีเพศสัมพันธ์กี่วัน?เป็นต้น ดังที่กล่าวแล้วคือ ท่านทั้งหลายต่างไม่กล้าตัดสินใจและชี้ถูกผิดตามหลักการของพระศาสนาทั้งๆที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้ถกเถียงเรื่องเหล่านี้กันได้เพื่อหาความจริง(บาลีเรียกว่า ธมฺมสากจฺฉา) แต่ก็อาจไม่ต้องไปไกลถึงขั้นนั้น แค่ปาติโมกข์ ๑๕๐ ข้อหรือ ๒๒๗ ข้อ จะหาคนโต้วาทีเพื่อยุติเรื่องนี้ก็ไม่มี (ต่างฝ่ายต่างติดงานนิมนต์ ไม่ว่าง วัดกำลังสร้างศาลาการเปรียญฯ)
กระผมมิได้มีความสามารถเพียงพอที่จะชี้ถูกผิดเรื่องฆราวาสบรรลุอรหันต์แล้วจะตายหรือไม่ด้วยเหตุผล ๒ ประการคือ
๑. ตนเองมิใช่ฆราวาส
๒. ตนเองไม่เคยบรรลุอรหันต์
ความจริงเรามีฆราวาสที่บรรลุอรหันต์จำนวนมากตามหน้าจอทีวี ท่านสามารถสแกนกรรม ทำนายอนาคต หรือเป็นที่ปรึกษากระทั่งนายกรัฐมนตรีฯลฯ ปรากฎว่าท่านก็ยังไม่ตายกัน...เอ๊ หรือว่าอรหันต์ย่านไทร? ตามเรื่องเล่าที่ปรากฎในคัมภีร์มังคลัตถทีปนี ได้พูดเรื่องอรหันต์ย่านไทรไว้ว่า ครั้งหนึ่งมีนักบวชที่ต้องการอวดตนว่าเป็นอรหันต์แล้วพยายามทำ/จัดฉากทุกอย่างให้ผู้คนเชื่อถือ เช่นท่านอาศัยอยู่ในป่า เมื่อมีคนมาหา/ถวายอาหารก็แสดงตนเป็นคนสำรวม(เพื่อให้เขาคิดว่าตนเองเป็นอรหันต์) เมื่อเขาจากไป ตนก็ขึ้นสู่ต้นไทรที่มีรากยาว(อาจมีหลายต้นติดต่อกัน...น่าจะเลียนแบบทาซานในการ์ตูน)ห้อยโหนจากกิ่งหนึ่งสู่กิ่งหนึ่ง จนออกจากป่าไปได้ก่อน(ผู้มาหา) แล้วทำทีเป็นนั่งสมาธิรอข้างทางให้เขาเห็นเพื่อเกิดความสงสัยว่า “ท่านนักบวชนี้มาหลังเรา ไฉนจึงถึงก่อน? แล้วค่อยตกลงใจเอาเองว่า ท่านคงเป็นอรหันต์แน่”ฯ
เหตุที่มักกล่าวกันว่า หากได้บรรลุอรหันต์แล้วไม่บวชจะต้องตายนั้นมีเหตุผลอยู่อย่างเดียวคือ เพศ(สถานภาพ)ฆราวาสนั้นต่ำเกินไป ไม่คู่ควรที่จะรองรับคุณธรรมชั้นสูงคือการพ้นจากกิเลสอย่างสิ้นเชิงหรืออรหันต์นั่นเอง ดังมีข้อความปรากฎในบทสนทนาของพระเจ้ามิลินท์และพระนาคเสนว่า
ขอถวายพระพรมหาบพิตร ฆราวาสได้พระอรหันต์ในวันใดต้องบวชในวันนั้น ในสำนักครูบาอาจารย์โดยปกติที่ว่าจะกระทำเหมือนพระโองการตรัสฉะนี้ จะได้บวชเอาเองก็ดี จะให้คอยท่าอุปัชฌาย์อาจารย์ท่านผู้มีฤทธิ์อันจะเหาะมาบวชให้ก็ดี ช้าไป ๑ หรือ ๒ วัน เช่นนี้มิได้ ถ้าบวชเองก็เป็นไถยเพศมิได้เรียกว่า บรรพชาฯ....เกินกำหนดไปจน ๑ หรือ ๒ วันก็คงเข้าสู่พระนิพพานในวันนั้น ขอถวายพระพร....ด้วยเพศฆราวาสนี้ต่ำ ไม่สมควรแก่พระอรหันต์ ภูมิคฤหัสถ์นี้เป็นภูมิอันต่ำช้ายิ่งนัก จึงต้องให้สละเพศฆราวาสบวชเสียในวันที่ได้พระอรหันต์นั้น...อุปมาดังบุคคลอันเคยรับประทานอาหารเลี้ยงชีวิต มีชีวิตอยู่เพราะอาศัยอาหาร ครั้นเกิดทุพภิกขภัยข้าวยากหมากแพงไม่มีอาหารบริโภค บุรุษนั้นอดอาหารอยู่หลายวัน ครั้นหาอาหารได้แล้ว บุรุษนั้นบริโภคจนเกินขนาด เตโชธาตุมิอาจเผาพลาญได้(อาหารไม่ย่อย) ก็ถึงแก่ชีวิตักษัย จะว่าบุรุษนั้นไม่รู้ประมาณหรือจะโทษเอาอาหารว่าตายเพราะอาหารหรือประการใดเล่าฯ[3]
ชาวพุทธที่ดีเมื่อได้ฟังเหตุผลที่มีอุปมาดังนี้แล้วน่าจะปลงใจเชื่อไปเลย เพราะพระนาคเสนเองก็เป็นพระอรหันต์ พระเจ้ามิลินท์ก็เป็นนักปรัชญาลือชื่อ แต่ชาวพุทธที่เป็นโล้นซ่าอย่างเราทั้งหลายน่าจะต้องมาทบทวนกันก่อน เพราะเหตุผลที่ดีอาจไม่จำเป็นต้องเป็นความจริงก็ได้ฯ ประเด็นนี้กระผมมีข้อสงสัยที่ต้องถกกันอยู่เพียงประเด็นเดียว นั่นคือสถานภาพพระดีเลิศกว่าฆราวาสจริงหรือ?
เราอาจยกเหตุผลหลายที่เช่น “อนุตฺตร̊ ปุญฺญกฺเขตฺต̊ โลกสฺส แปลว่าพระสงฆ์เป็นนาบุญอันยิ่งใหญ่ของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่าฯ”[4] โดยมักอธิบายกันว่า การทำบุญกับพระสงฆ์จะได้บุญมากกว่าทำกับผู้อื่น เพราะพระสงฆ์เป็นผู้มีศีลต่างกับฆราวาสชั่วช้าทั่วไปฯ อีกที่อาจยกมาจากเปรียบเทียบลำดับอานิสงส์ของการให้ทานดังนี้
ดูกรอานนท์ ก็ทักษิณาเป็นปาฏิปุคคลิกมี ๑๔ อย่างคือ ให้ทานในตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธ นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๑, ให้ทานในพระปัจเจกสัมพุทธ นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๒, ให้ทานในสาวกของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๓, ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตผลให้แจ้ง นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๔, ให้ทานแก่พระอนาคามี นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๕, ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๖, ให้ทานแก่พระสกทาคามี นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๗, ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๘, ให้ทานในพระโสดาบัน นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๙, ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๑๐, ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๑๑, ให้ทานในบุคคลผู้มีศีล นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๑๒, ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๑๓, ให้ทานในสัตว์เดียรัจฉาน นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๑๔ฯ[5]
เราอาจสับสนกับประโยคในภาษาบาลีนิดหนึ่งนั่นคือ ให้แก่ผู้เป็นอรหันต์ พึงทราบว่าหมายถึงอรหันตผล ส่วนให้แก่ผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหันตผลให้แจ้งหมายเอาขั้น อรหันตมรรคนั่นเอง โดยสรุปคือ มีพระพุทธเจ้า ๑ ปัจเจกพุทธเจ้า ๑ อริยบุคคล ๘ (รวมเป็นอริยบุคคลทั้งหมด ๑๐ ประเภท) นักบวชนอกศาสนาหรือผู้ข่มกิเลสคือความอยากในกามได้ ๑ ผู้มีศีล ๑ ผู้ไม่มีศีล ๑ (รวมปุถุชนทั้งหมด ๓ ประเภท) และประเภทสุดท้ายคือสัตว์เดรัจฉาน ๑ นับเป็น ๑๔ พอดีฯ ก่อนจะอธิบายเพื่อหักล้างข้อเท็จจริงข้างต้น จะขอชี้ให้เห็นถึงคุณประโยชน์บางอย่างที่เราอาจได้จากภาษิตนี้ นั่นคือหลายคนมักเข้าใจว่าการทำบุญกับพระชั่วไม่ได้บุญ เพราะฉะนั้นเอาข้าวไปให้หมาดีกว่าฯ ข้อความนี้ก็ระบุชัดเจนว่าอย่างไรเสียเพื่อนมนุษย์แม้จะไม่ดี(ทุศีล)แต่ก็ยังมีผลมากกว่าสัตว์เดรัจฉาน (สังเกตว่าท่านจัดลำดับสัตว์เดรัจฉานไว้เป็นอันดับสุดท้าย) เหตุผลง่ายๆก็คืออย่างน้อย การได้เกิดเป็นมนุษย์ยากกว่า และการเป็นมนุษย์(วันนี้)อาจจะชั่ว แต่เพราะมนุษย์มีลักษณะพิเศษคือพัฒนา/เปลี่ยนแปลงตนเองได้ สามารถกลายเป็นคนดีหรืออริยบุคคลในภายหลังได้เช่นพระองคุลีมาลเป็นต้นฯ ซึ่งสัตว์ทั้งหลายไม่มีความสามารถด้านนี้เท่าเทียมมนุษย์ฯ แต่อย่างไรก็ตามพึงทราบว่านี้เป็นเพียงปาฏิปุคคลิกทานเท่านั้น นั่นคือการถวายที่เจาะจงตัวบุคคล (เรียกอีกอย่างว่า การให้แบบใจแคบ เพราะเลือกที่รักและหวังผลประโยชน์เข้าหาตัวภายหลัง) สังเกตว่าหลายคนชอบเข้าหาพระหลวงปู่หลวงตาที่ลือกันว่าเป็นพระอรหันต์ บ้างก็เพิ่งออกจากฌานสมาบัติ (หมายถึงสมาธิหรือชานหมากครับ?) ด้วยเชื่อว่าถวายไปแล้วจะได้บุญมาก และก็เป็นจริงดังนั้นเพราะเราอาจเทียบจากพุทธดำรัสที่ยกมานี้เป็นต้น แต่เราลืมนึกไปอย่างหนึ่งคือการให้แบบเจาะจงหรือใจแคบนี้ ได้บุญน้อยกว่าการถวายสังฆทาน(คือการถวายแบบไม่เจาะจงใคร ทำเพื่อละกิเลสคือความตระหนี่ของตนเอง บ่มเพาะความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่) นั่นก็คือหากจะไปเที่ยวรุมล้อมรอหลวงตาออกจากฌานแล้วถวายทาน ยังได้บุญน้อยกว่าลุกขึ้นใส่บาตรพระ(แบบไม่เจาะจงรูปใดรูปหนึ่ง)หรือเข้าวัดไกล้บ้านถวายอาหารยังได้บุญมากกว่าด้วยซ้ำฯ และพุทธเจ้าเองก็ส่งเสริมให้เราให้ทานประเภทหลัง เพราะเป็นทานที่ทำเพื่อละ ไม่ยึดติดในทานหรือตัวบุคคลอันจะก่อให้เกิดความรักหรือความทุกข์ตามมาอีกมากฯ
โดยสรุปก็คือเราอาจถูกปลูกฝังเรื่องการแบ่งลำดับอานิสงส์ของการให้ทานมานานจนลืมย้อนนึกไปว่าเป็นทานแบบเจาะจงหรือไม่เจาะจง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมองพุทธภาษิตนี้เผินๆ จะเห็นว่าการให้แก่ผู้เป็นพระสงฆ์ผู้เป็นอริยบุคคล จะได้บัญมากกว่าการให้กับชาวบ้านธรรมดา/ปุถุชนทั่วไปฯ กระผมอยากให้เราคำนึงเรื่องการแปลศัพท์นิดหนึ่ง นั่นคือ ตถาคตสาวเก อรหนฺเต ทาน̊ เทติ โดยศัพท์เองมิได้จำแนกว่าต้องเป็นพระหรือฆราวาส เพราะแม้ฆราวาสหากเป็นอริยบุคคลก็เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าเช่นกัน แต่อาจเป็นเพราะธรรมเนียมไทยเราที่ชอบเชื่อ/แปลกันเองว่า สาวกหรืออริยบุคคลต้องเป็นพระเท่านั้น เราจึงชอบใช้คำนำหน้าที่ให้เกียรติว่า “พระ” เช่นพระโสดาบัน พระสกทาคามี...ทั้งที่ท่านเหล่านั้นเป็นฆราวาสก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็หมายความว่าพระพุทธเจ้ามิได้แบ่งความเป็นพระกับฆราวาสในเรื่องผลของการถวายทานตามที่เราเข้าใจ แต่พระองค์แบ่งคุณพิเศษ/คุณธรรมในตัวว่าใครจะทำลายกิเลสได้มากกว่ากันต่างหากฯ
ส่วนข้อบน คือ “พระสงฆ์เป็นนาบุญอันยิ่งใหญ่ของโลก” ก็แปลตามธรรมเนียมอีกว่าพระสงฆ์เป็นเสมือนนาบุญที่ไม่มีวัชพืช เต็มไปด้วยแร่ธาตุ เมื่อมีใครมาหว่านพันธุ์พืชใดไว้(มาทำบุณถวายทาน)ก็จะเกิดผลดี เจริญงอกงาม เราอาจไม่ต้องแปลกใจกับคำแปลอันนี้ เพราะคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้ที่แปลพระไตรปิฎก(เป็นไทย)หรือนักปราชญ์ทางพุทธศาสนาล้วนเติบโตไปจากวัดเสียทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านก็จะเห็นว่าการถวายทานกับพระสงฆ์มีความสำคัญมาก(เพราะถ้าไม่เป็นเช่นนั้น ตนก็จะอด! แต่นี่อาจเป็นเจตนาที่ดีหรือไม่ได้มองด้วยเหตุผลที่เพียงพอ) ครั้งแรกที่กระผมได้ยินรุ่นพี่คนหนึ่งพูดวิจารณ์เรื่องการแปล อนุตฺตร̊ นี้ก็รู้สึกรับไม่ได้เช่นกันเพราะตนเองยังเป็นโล้นซ่าเต็มตัวอยู่ ต่อมาเมื่อโตขึ้น(หมายถึงร่างกายนะ ไม่ใช่สมอง)ก็พอจะมองเห็นความเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น นั่นคือคำว่า “พระสงฆ์เป็นนาบุญ” มิได้หมายความว่า พระสงฆ์เป็นนาที่จะคอยรับทานผู้อื่นอย่างเดียว การให้ทานกับผู้มิใช่เป็นพระสงฆ์ก็ได้บุญมากเช่นกันโดยให้ถวายแบบไม่เจาะจงฯ เพราะหากกล่าวว่าให้กับพระสงฆ์เท่านั้นหรือให้พระสงฆ์แล้วจะได้บุญมากที่สุดก็เหมือนการพูดเอาแต่ได้จริงๆราวกะพราหมณ์ที่บอกว่าตนเกิดจากปากพระพรหม ทำหน้าที่ติดต่อกับพระเจ้าแล้วกุมอำนาจทั้งหมดไว้(คือหลอกให้ชาวบ้านเชื่อว่าทำบุญกับตนเท่านั้นจะได้ผลมาก) ทั้งที่การทำบุญไม่ได้จำกัดตัวบุคคลอยู่แล้ว แต่คำว่านาบุญ ในที่นี้หมายถึงพระสงฆ์ทั้งหลายเป็นตัวอย่างของศีลธรรมจริยธรรมที่ดีงาม เป็นสถาน(ไร่นา)บ่มเพาะคุณธรรมทั้งหลายให้แก่ชาวโลกซึ่งไม่มีใครจะเสียสละทั้งความสุขส่วนตน ลูกเมีย ทรัพย์สินเงินทอง ที่จะมาศึกษาพระธรรมและลงมือปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมอย่างแท้จริงเท่ากับท่านเหล่านี้ได้ฯ ด้วนคุณูปการที่เป็นแหล่งเสริมสร้างคุณธรรมและปัญญาในการดำเนินชีวิตให้แก่ชาวโลกนั่นเอง จึงชื่อว่าเป็นนาบุญอันยิ่งใหญ่[6] เพราะฉะนั้นพุทธภาษิตนี้ที่กระผมยกมาแต่แรกก็ไม่น่าจะนำมาเป็นประเด็นในการถกเรื่องความประเสริฐระหว่างพระกับฆราวาสได้อีก เพราะพุทธศาสนาไม่เน้นเรื่องสถานภาพภายนอกว่าต้องแต่ตัวอย่างไร ใส่สบงหรือ Levi แต่พูดถึงความเป็นปุถุชนหรืออรหันต์ที่คุณธรรมภายในเป็นหลักฯ
ที่ค้างอยู่ประเด็นเดียวคือเรื่องพระนาคเสนที่กล่าวว่าหากบรรลุอรหันต์แล้วไม่บวชก็จะต้องตายเสียในวันนั้น กระผมใคร่ขอแสดงความเห็นคัดค้านดังนี้
๑. กรณีที่บวชเอง (ไม่มีพระอุปัชฌาย์และคณะสงฆทำสังฆกรรมให้) จะถือเป็นลักเพศ คือพูดในภาษาปัจจุบันว่า บวชโดยผิดกฎหมาย แล้วพระพุทธเจ้าหรือพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายที่ท่านไม่มีใครบวชให้ ได้แต่ออกบวชคือสละเย้าเรือนแล้วตั้งใจ(อธิษฐาน)เป็นพระห่มผ้าเอาเอง เมื่อบรรลุอรหันต์แล้วไม่ตายกันหมดหรือ? (อย่าบอกอีกนะว่า มันเป็นพุทธวิสัย...ห้ามคิด ห้ามถาม! เพราะเชื่ออย่างนี้แหละครับ จึงต้องโง่ลงโง่ลงทุกวัน) เพราะดังที่กระผมบรรยายไปแล้วว่าการบวชในพิธีเป็นแต่เพียงการบวชโดยนิตินัยเท่านั้นเอง คือให้สังคมรับทราบ ส่วนจะทำให้บรรลุธรรมหรือไม่นั้นการบวชไม่สามารถกำหนดได้ (ถ้าได้..กระผมคงบรรลุธรรมไปนานแล้ว!)
๒. หากคุณสมบัติพระอรหันต์สูงส่งเกินที่ฆราวาสจะรับได้ ข้อนี้ก็น่าพิจารณาเหมือนกัน เพราะในคัมภีร์เราจะไม่พบว่าฆราวาสเป็นพระอรหันต์ได้ มักพบแต่พระโสดาบัน สกทาคามีหรืออนาคามี เช่นนางวิสาขา พระเจ้าพิมพิสาร สุมนมาลาการอุบาสกเป็นต้น...แต่อย่าเพิ่งดีใจว่าตัวเองถูกนะครับเพราะ...เราก็ไม่พบพุทธดำรัสเหมือนกันว่าฆราวาสบรรลุอรหันต์แล้วต้องตาย? เป็นเรื่องที่มีเหตุผลที่จะเชื่อว่ากายกับใจมีความเกี่ยวข้องกัน นั่นคือหากกายดีก็จะทำให้ใจดีไปด้วย เช่นไม่เจ็บป่วยก็ทำให้อารมณ์ดี หรือใจดีก็ทำให้กายดีได้ ตัวอย่างเดียวกันคือเมื่ออารมณ์ดีก็ทำให้อาการป่วยหายเร็วขึ้นฯลฯ แต่เราต้องยอมรับว่ากายกับใจเป็นคนละอย่าง เราไม่สามารถกำหนอกายได้แม้จะชำนาญเรื่องใจก็ตาม เช่นเป็นพระอรหันต์สามารถควบคุมใจได้ดี แต่เมื่อโดนยิงกับเอ็ม ๑๖ เข้าเป็นพันนัด ใจต่อให้แข็งอย่างไรก็ต้องตายอยู่ดีฯ
ความจริงพุทธศาสนากล่าวเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกายกับใจไว้เช่นกัน แต่มิใช่ทำนองตัวอย่างที่กระผมเพิ่งยกไป บางคนยังเข้าใจ(ผิด)มากไปกว่านั้นอีกว่า หากใจบริสุทธิ์คือเป็นพระอรหันต์ ใจจะชำระกายให้บริสุทธิ์ได้ด้วย อาจเป็นเพราะเหตุนี้พระเกจิหลายท่านจึงไม่อาบน้ำ(แต่ก็ยังเหม็นสาบอยู่ดี) หรือใจบริสุทธิ์สามารถทำกระดูกให้เป็นพระธาตุ(แก้ว)ได้ กระผมไม่ได้ล้อเล่นนะครับ ถ้าเช่นนั้นเราน่าจะปิดโรงงานผลิตแก้วหรือขวดเสียให้หมดอันจะเป็นการลดต้นทุน แรงงาน ไฟฟ้าหรือสร้างมลพิษ แล้วให้ท่านเหล่านี้พากันเสกแก้วให้ชาวบ้านมาใช้ดีกว่าเสกแค่เป็นเม็ดเล็กๆได้แต่กราบไหว้ ใช้ประโยน์อย่างอื่นไม่ได้เลยฯ แต่ความสัมพันธ์ที่พุทธศาสนากล่าวถึงคือ หากมีใจดี(หมายถึงสุจริต)ก็จะส่งผลให้กายคือการกระทำและวาจาคือคำพูดสุจริตไปด้วย(ดูเพิ่มเติมในคาถาธรรมบท ข้อที่ ๑ ยมกวรรค) ให้สังเกตว่าพุทธศาสนากล่าวถึงแต่เรื่องประโยชน์ที่ชาวพุทธจะพึงได้รับหรือสิ่งที่จะนำไปสู่การพัฒนาตนเองเท่านั้น มิได้ส่งเสริมเรื่องปาฏิหาริย์ดังที่คนไทยส่วยใหญ่เข้าใจและมุ่งแสวงหาเลย
หากถือเอาตามคำที่พระนาคเสนอธิบายไว้ การบรรลุเป็นอรหันต์ของฆราวาสจะต้องตายเพราะร่างกายที่ต่ำทรามของฆราวาสรับไม่ได้ ถ้าเช่นนั้นก็น่าจะแบ่งให้ละเอียดมากขึ้นเพื่อให้เห็นเป็นลำดับขั้นดังนี้นะครับคือ หากฆราวาส...
บรรลุโสดาบัน ต้องเป็นหวัด ป่วยออดๆแอดๆ
บรรลุสกทาคามี ต้องล้มหลอนนอนเสื่อ
บรรลุอนาคามี ต้องเข้าโรงพยาบาล(ห้อง ICU)ต่อพ่วงเครื่องช่วยหายใจฯ
บรรลุอรหันต์ หัวใจหยุดเต้น โทรฯเรียกญาติให้มารับศพ
ซึ่งเรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นไปไม่ได้ หากเราจะเชื่อตัวอย่างลำดับสุดท้ายคือบรรลุอรหันต์ เราก็ควรเชื่อ ๓ ตัวอย่างข้างต้นด้วยเพื่อความเป็นเหตุเป็นผล อย่าเพิ่งเข้าใจว่ากระผมอวดดีวิจารณ์พระอรหันต์นะครับ เพียงแต่อาศัยเจตนาดีในการส่งเสริมให้คนทั่วไปที่ยังเป็นฆราวาสไม่กลัวที่จะเป็นพระอรหันต์เท่านั้นเอง ส่วนใครจะผิดก็ต้องตัดสินกันด้วยเหตุผลอีกทีหนึ่งซึ่งเป็นไปได้ว่ากระผมจะผิดมากกว่า แต่หากท่านใดเป็นพระอรหันต์ก็ได้โปรดช่วยชี้แจงเรื่องนี้ให้ละเอียดด้วย...อย่ามัวแต่ทอดผ้าป่าหาเงินเข้าวัดอย่างเดียวฯ
๓. ดังที่กล่าวว่า เพศฆราวาสไม่เหมาะกับคุณธรรมอันสูงส่งเช่นนี้ ดังนั้นเมื่อบรรลุแล้วก็ให้รีบบวชเสีย แสดงว่าบรรชิตหรือการเข้าบวชในโบสถ์นั้นสำคัญมากจริงๆที่จะเปลี่ยนสภาวะทางร่างกายให้สูงส่ง? อันนี้กระผมใคร่อยากให้คิดว่า การที่เรามองเพศฆราวาสต่ำ ไม่เหมาะกับการรองรับคุณธรรมขั้นสูงแล้วต้องตาย ส่วนพระทั้งหลายมีเพศที่สูง(อุดมเพศ) แต่หากจิตใจต่ำ คือมีคุณธรรมน้อยเหมือนกระผมเป็นต้น ก็น่าจะต้องตายเหมือนกันนะครับ? เพื่อความยุติธรรม แต่ก็เห็นว่ากระผมบวชมาตั้งหลายปีแล้ว ยังเป็นปุถุชนอยู่ จิตใจไม่คู่ควรกับเพศภาวะก็ไม่เห็นตายสักทีแม้จะป่วยเข้าโรงพยาบาลมาหลายครั้งแล้ว หรือที่ให้ยิ่งกว่ากระผม บางท่านไม่มีคุณธรรมส่อให้เห็นเลย โลภจัด เพศชายหรือหญิงก็ไม่ทราบชัด ก็ปรากฎว่าอายุยืน ก่อนตายได้เลื่อนขั้นเป็นพระครู เจ้าคุณฯลฯกันเกลื่อนไป เพราะเหตุผลนี้ เราจึงไม่ควรตัดสินว่าเพศภาวะภายนอกหรือคุณธรรมภายในจะเป็นปัจจัยหลักให้ต้องตายหรือเป็นอยู่ฯ
๔. ความจริงเราอาจกล่าวได้ว่าคัมภีร์มิลินทปัญหาเป็นคัมภีร์ยุคหลัง (ไม่ใช่กระผมบ้าพุทธวจนะอีกนะ) ยังมีคัมภีร์ยุคหลังอีกเล่มคือ อรรถกถาพระวินัยชื่อสมันตปาสาทิกาได้ส่อถึงเรื่องนี้เหมือนกันโดยอธิบายเรื่องอรหันตฆาต การฆ่าพระอรหันต์ว่าใครบ้างที่เป็นพระอรหันต์เป็นต้นไว้ว่า
วินิจฉัยในอรหันตฆาตกวัตถุนี้ พึงทราบดังนี้ว่า อันบุคคลเมื่อแกล้งปลงพระขีณาสพผู้เป็นชาติมนุษย์ โดยที่สุดแม้ไม่ใช่บรรพชิต เป็นทารกก็ตาม เป็นทาริกาก็ตามจากชีวิต,ย่อมเป็นผู้ชื่อว่าฆ่าพระอรหันต์แท้; ย่อมถูกต้องอนันตริยกรรมด้วย, และบรรพชาของผู้นั้นพระผู้มีพระภาคทรงห้าม.[7]
สรุปก็คือ อรรถกถาพระวินัยกล่าวว่า พระอรหันต์อาจไม่จำเป็นต้องเป็นพระสงฆ์ ความจริงท่านกล่าวลึกไปถึงขั้นว่า(อาจ)ไม่ต้องเป็นชาติมนุษย์ด้วยซ้ำ ทีนี้เราอาจสงสัยต่อว่า หากมิใช่มนุษย์แล้วใครจะบรรลุธรรมได้อีก นั่นคือพระอนาคามีหรือเทพชั้นสุทธาวาสหรือ Pureland ของมหายานนั่นเอง แต่เราอาจไม่จำต้องถกเรื่องนี้กันต่อ เดี๋ยวจะมีประเด็นเพิ่มขึ้นมาอีก อย่างไรก็ตาม กระผมใคร่ขอจะทิ้งคัมภีร์รุ่นหลังนี้ไว้ให้งัดข้อต่อกับมิลินทปัญหาซึ่งเป็นคัมภีร์รุ่นหลังเอาเอง สิ่งที่เราควรรับฟังไว้ฐานะเป็นชาวพุทธคือให้เลือกสิ่งที่มีเหตุมีผลที่สุด (ในกรณีที่ยังไม่ได้ประสบด้วยตนเอง)
ที่กล่าวมานี้ความจริงเป็นเรื่องของพระสงฆ์ประเภทที่ ๒ คืออริยสงฆ์ กระผมจึงใคร่สรุปตรงนี้ไว้ก่อนว่า พระอริยสงฆ์ไม่ได้จำกัด/จำเป็นต้องเป็นพระภิกษุเท่านั้น แต่หมายถึงทุกคนที่สามารถกำจัดหรือลดกิเลสตนเองได้ เพราะหลายที่ที่พระพุทธเจ้าตรัสธรรมเทศนา แม้พระองค์ตรัสกับชาวบ้านแต่ก็ยังเรียกชื่อ/ใช้คำนำหน้าเขาเหล่านั้นว่า ภิกษุ เพราะเหตุนี้พระอรรถกถาจารย์จึงวิเคราะห์ศัพท์ไว้ว่า “ผู้ใดก็ตามที่เห็นภัยในวัฏฏสงสาร เขาผู้นั้นชื่อว่า ภิกษุ”[8]โดยเราอาจดูตัวอย่างพระสูตรที่พระพุทธเจ้าใช้คำว่าภิกษุกับคนที่มิใช่ภิกษุเช่นปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ซึ่งขณะตรัสพระธรรมเทศนาครั้งแรกท่านเหล่านั้นยังเป็นนักบวชทั่วไป ครั้นได้ฟังธรรมและเข้าใจสาระและจึงขอบวชเป็นภิกษุในภายหลังดังนี้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะพระปัญจวัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ที่สุดสองอย่างนี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือการประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น นั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานฯ[9]
ความจริงประเภทของพระสงฆ์น่าจะหยุดไว้เพียงเท่านี้ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่ามีเพียงสองประการดังกล่าวมาแล้ว แต่อาจเนื่องด้วยการอธิบายของกระผมค่อนไปทางแง่ลบมาเกินไป จึงทำให้สมมติสงฆ์ที่อธิบายและยกตัวอย่างไปเหมือนเป็นคนชั่วทั้งสิ้น ทั้งที่ความจริงบางท่านอาจเป็นคนดีก็ได้ เมื่อมาพิจารณาอริยสงฆ์ก็เช่นกัน เริ่มตั้งแต่โสดาปัตติมรรคคือผู้ปฏิบัติตัวดี ตามมรรค ๘ ไม่มีมายาเล่ห์เหลี่ยม ก็ถือเป็นโสดาปัตติมรรคได้เช่นกัน เพราะนั้นกระผมจึงไม่มั่นใจจริงๆว่าเราจะจัดลำดับโล้นดีที่เข้ามาศึกษาพระศาสนาและปฏิบัติธรรมไว้ในพระสงฆ์ประเภทสมมติหรือขั้นอริย(มรรค)กันแน่ จึงขอแยกท่านไว้อีกประเภทหนึ่งเหมือนกับฆราวาสที่มีกัลยาณปุถุชนคือ กัลยาณสมมติสงฆ์
กัลยาณสมมติสงฆ์(๓)
เป็นศัพท์ที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่(น่าจะเป็นครั้งแรกในบทความนี้) เพื่อแบ่งประเภทของพระสงฆ์ให้ชัดขึ้นนั่นคือท่านยังเป็นปุถุชนอยู่ มิได้บรรลุธรรมอะไรเลย เพียงแต่เป็นพระที่มีเจตนาดีในการบวช คือเข้ามาศึกษาพระศาสนา ปฏิบัติธรรมและสั่งสอนฆราวาสให้ดำเนินชีวิตตามหลักพระศาสนาโดยมิได้หวังลาภยศหรือสรรเสริญใดๆ พระประเภทนี้ตามที่กระผมได้เกริ่นแต่ต้นแล้วว่ามีน้อยมาก (แต่มากกว่าอริยบุคคล...ในความหมายของพุทธศาสนา...ไม่ใช่ตามความเห็นพระหลวงตาบางรูปที่บอกว่าคนนั้นเป็นอรหันต์ คนนี้เป็นอรหันต์) เราอาจสงสัยต่อว่า ก็พระส่วนใหญ่น่าจะจัดเข้าประเภทนี้มิใช่หรือ? ขอตอบอย่างจริงใจในฐานะผู้เคยคลุกคลีกับพระสงฆ์มาว่า ไม่ใช่ พระส่วนใหญ่เป็นสมมติสงฆ์ธรรมดา หลายท่านบวชเรียนเพราะครอบครัวยากจน..แต่เอาเหอะ นั่นอาจไม่ใช่ตัวบ่งชี้ความดีชั่ว...แต่หลายคนก็ไม่สนใจศึกษาพระศาสนาจริงๆ เช่นหากให้เลือกเรียนพุทธศาสตร์กับรัฐศาสตร์ก็จะเลือกรัฐศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ฯ หลายคนแม้เรียนบาลีโดยตรงก็หวังป.ธ. ๙หรือการเป็นนาคหลวง สังเกตได้จากรุ่นพี่ที่จบไปแล้วก็มิได้สรรสร้างงานดีเลิศอะไร(มีน้อยมาก ๑ ใน ๑,๐๐๐) ได้แต่เป็นอาจารย์สอนบาลีในชั้นเรียนที่มีชื่อเสียง และบ้างก็หวังการได้สึกทำงานเป็นอนุศาสนาจารย์ทหาร (อันนี้มีข้อยกเว้นบ้างนะครับ เพราะเพื่อนบางคนเรียนเพื่อสิ่งนี้จริงๆ แต่เพื่อนบางคนก็มิได้เจตนาร้าย เป็นเพราะท่านต้องถึงจุดเปลี่ยนในชีวิต พบรักแท้เข้า(True Love)จึงตัดสินใจสึกและสร้างประโยชน์อีกทางหนึ่ง)
หรือพระนักปฏิบัติเองที่เคยพบเจอส่วนใหญ่ก็มิได้มีความรู้เรื่องศาสนา (ราว ๘๐ เปอร์เซนต์...ต้องขออภัยด้วยที่ไม่สามารถอ้างอิงจำนวนที่แท้จริงได้ ได้แต่คาดคะเนเอาจากประสบการณ์จริง เพราะไม่มีใครเคยทำวิจัยเรื่องเหล่านี้ หากเป็นไปได้ใคร่ขอให้บรรดานักศึกษาทั้งหลายช่วยกันทำคนละข้อเช่น ความเข้าใจหลักธรรมทางพุทธศาสนาของพระ/ฆราวาสผู้ปฏิบัติธรรม จุดมุ่งหมายในการบวชของพระภิกษุสามเณรในประเทศไทย ฯลฯ) หลายท่านปฏิบัติเพราะหวังฤทธิ์หรือเวทมนต์คาถา ให้สังเกตว่าถ้าเราได้ยินคำว่าพระธุดงค์ เราจะคิดถึงสิ่งเหล่านี้ ทั้งๆที่ธุดงค์จริงๆหมายถึงการขัดเกลากิเลส ไม่จำต้องเดินป่าด้วยซ้ำ ขอให้ใช้ผ้าเพียง ๓ ผืนคือจีวร สบง สังฆาฏิ อย่างละผืนก็เป็นธุดงค์ข้อหนึ่งใน ๑๓ ข้อที่กำจัดความโลภ แต่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดไปเป็นการเดินป่าต่อสู้กับเสือหรือแม้แต่พระเองก็ไม่ทราบ เช่นไปเดินป่าจริง แต่ก็เอาผ้าไปครอง ๕-๖ ผืน ช่างน่าสงสารมาก! และหากมีโอกาสสอน(แม้ที่ปฏิบัติธรรมในเมืองก็ตาม) จะเน้นเรื่องดวงวิญญาณ เจ้ากรรมนายเวร หรือผลที่ทำให้บุตรธิดาเป็นคนดีซึ่งไม่ได้กล่าวให้ชัดเรื่องสภาพความเป็นจริงคือความทุกข์ที่ต้องวนเวียนในวัฏฏสงสาร และสอนให้เป็นคนมีปัญญามองหาเหตุเหล่านั้น(ตามหลักอริยสัจ ๔) ซึ่งผลที่เกิดปัจจุบันคือ หากใครอกหักก็ให้ไปปฏิบัติธรรม(ทั้งที่ผู้มีจิตฟุ้งซ่านหรือเศร้าสร้อยจัดอาจทำใจยากเกินไปในการตามควบคุม/รู้ภาวะจิตใจ เพราะได้แต่ตกอยู่กับอดีตที่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นหลัก) ใครสามีไม่กลับบ้านก็ให้ไปปฏิบัติธรรม หรือลูกติดยาก็ให้ไปปฏิบัติธรรมฯลฯ ไม่ได้หมายความว่าไม่ดีนะครับ อย่างน้อยก็ดีกว่าตามไปฆ่าแฟน ตามสามีไปเล่นการพนันหรือตามลูกไปเสพยา แต่การแก้ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นการหลอกให้คนรู้สึกดีขึ้น มีความหวังกับผลที่ไม่ตรงเหตุ และทำให้เกิดความเข้าใจพุทธศาสนาคลาดเคลื่อนไปว่าจะเป็นทิพย์โอสถรักษาทุกอย่าง (มีอะไรก็แค่สวดว่า น้ำโม โอ เรง เง เกียว?) ทั้งที่พุทธธรรมรักษาโรคความโง่เท่านั้นเอง เมื่อคนหายโง่ก็จะทำให้หายโลภและหายโกรธ ส่วนเรื่องอื่นจะตามมาทีหลังก็ถือเป็นผลพลอยได้ เช่นเมื่อสุขภาพจิตดีก็หายจากโรคบางอย่างได้ฯลฯ แต่หากไปมุ่งปฏิบิติเพื่อจุดประสงค์นั้นแต่ต้น เช่นไม่อยากตายฯลฯ พุทธศาสนาอาจช่วยร่างกายได้ระยะหนึ่ง แต่จะทำให้พ้นทุกข์ไม่ได้เลยฯ ซึ่งก็เป็นไปตามที่กล่าวว่า ความเป็นจริงสังคมย่อมมีพระสงฆ์ส่วนหนึ่งที่ประพฤติตัวดีเป็นแบบอย่างอยู่ จึงสามารถจัดท่านเหล่านั้นไว้ในประเภท กัลยาณสมมติสงฆ์เพื่อให้ก้าวไกลออกจากพระสงฆ์ทั่วไปที่พบเจอกัน และเป็นเสมือนตัวต่อก้าวสู่พระอริยบุคคลฯ ตกลงพี่โล้นทั้งหลายจะเลือกอย่างไหนก็พิจารณาดูนะครับ...แต่ขอร้อง เลิกหลอกตัวเองทีเหอะ!
อธิบายเรื่องอนาคาริก(ผู้ไม่มีเรือน)
เราอาจได้ยินคำนี้กันจนคุ้นหูโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เป็นพระภิกษุสามเณรที่ต้องทำวัตรเช้าแปล เป็นการเตือนตนว่าตนเองเป็นผู้มีศรัทธา ออกบวชจากเรือนไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนอีกต่อไปฯ ประเด็นนี้กระผมใคร่จะนำเสนอเรื่องส่วนตัวที่ได้ถกกับพระรูปหนึ่งมาโดยตรง ความจริงท่านมิใช่ใครอื่น แต่เป็นท่านนกเขาที่กล่าวในบทแรกเรื่องพระพุทธรูปนั่นเอง
เรื่องมีอยู่ว่าหลังจากออกพรรษานี้มา กระผมออกมาจากวัดและได้อาศัยอยู่ในสวนยางพาราอันร่มรื่นซึ่งเป็นสวนของบิดา(มีกุฏิเล็กๆและสงบพอที่จะปฏิบัติธรรมได้)ด้วยเหตุผลที่ว่า (ต้องขออภัยที่พูดตรงๆ) ไม่พบเจอวัดที่ประทับใจ นั่นคือวัดที่ดีจริงๆเช่น วัดญาณเวศกวัน(มีท่าน ป.อ.ปยุตฺโต เป็นเจ้าอาวาส)เคยเข้าไปขอแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ ด้วยเหตุที่ว่าไม่รับสามเณร(ตอนนั้นกระผมยังเป็นสามเณร)ซึ่งก็เห็นกันอยู่ว่า สามเณรท่านอื่นอยู่ได้...แต่ก็เป็นไปได้จริงๆเพราะมีกุฏิน้อย เป็นวัดเล็กๆ สร้างขึ้นเพื่อเผยแผ่ธรรมฯ เมื่อไม่สำเร็จ การจะอยู่กับนักปราชญ์ก็เป็นอันหมดหวังไปด้วย กระผมจึงออกหาวัดต่างๆที่น่าจะเป็นไปตามพระธรรมวินัย...คืออย่างน้อยควรมีการสั่งสอนธรรมและปฏิบัติธรรมเป็นงานประจำ ครั้นได้พบสำนักปฏิบัติธรรมบางที่(ข้างนอกดูเหมือนดี...แต่ข้างในก็ดีนั่นแหละ อย่าเพิ่งตกใจ!)ปรากฎว่าเข้าไปอยู่แล้วต้องตกเป็นเครื่องมือ(Victim) ของที่นั้นๆตลอด นั่นคือให้สอนบ้าง ให้ทำงานบ้าง เราอาจสงสัยว่าทำเรื่องเหล่านี้ไม่ดีตรงไหน? ตอบว่าดี แต่ไม่มีเวลาศึกษาและปฏิบัติธรรมส่วนตัวเลยฯ เราอาจสงสัยต่อ วัดที่ท่านให้ปฏิบัติธรรมอย่างเดียวหรือให้เราไปเรียนอย่างเดียวก็มีมิใช่หรือ? บางที่สอนตามพุทธวจนะด้วยซ้ำ? ตอบว่า ที่ปฏิบัติธรรมนั้นก็มีข้อจำกัดเช่น ห้ามอ่านหนังสือ ให้ปฏิบัติอย่างเดียวและปฏิบัติตามรูปแบบของสำนักนี้เท่านั้น (เขาจะพิสูจน์ด้วยการสอบอารมณ์) ส่วนที่เรียน(แม้เป็นพุทธวจนะหรือพระไตรปิฎก)ก็ให้เรียนกันแบบท่องจำ ห้ามพูด(กระทั่งคิด)สิ่งที่พระพุทธเจ้ามิได้ตรัสไว้ เพราะสิ่งอื่นอาจผิด พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ถูก(เพราะเป็นสัพพัญญูและธรรมเป็นอกาลิโกฯลฯ) หรือเราจุกจิกมากเกินไป?...แต่ขอสรุปสั้นๆไว้ก่อนเลยว่าตกลงท่านเหล่านั้นมิได้เข้าใจหลักการของพุทธศาสนาเลย ทั้งการศึกษาและปฏิบัติ(ดูเพิ่มเติมใน YouTube เรื่อง ลักษณะทั่วไปของพุทธศาสนาฯลฯ พระเจษฎา กันตเมธี...กรณีที่ยังไม่โดน ICT ยุบเว็บ)
สุดท้ายจึงตัดสินใจกลับบ้านนา พอมาอยู่วัดบ้านนอกทั่วไปก็หากันแต่เงิน ไม่ยอมสอนธรรมะ ใครสอนธรรมะต้องตกต่ำ (ให้เราสังเกตพระนักเทศน์ชื่อดังเป็นหลัก ความจริงท่านเหล่านั้นมิได้สอนธรรมะเลย เพียงแต่พูดเรื่องชาวบ้านทั่วไป คนที่มีระดับขึ้นมาหน่อยก็เล่าเรื่องชีวประวัติฝรั่งฯลฯจนผู้ฟังส่วนใหญ่พอใจ บ้างก็เป็นอาจารย์ปฏิบัติธรรม ใครจะบรรลุธรรมได้ต้องผ่านการพยากรณ์ของตนเอง..ช่างไม่ต่างกับมหาเทวะในสังคายนาครั้งที่ ๒ เลย ผลก็คือติดตามมาหลายปีแล้วก็ยังไม่พบว่าผู้คนมีปัญญาเข้าใจสัจธรรมมากขึ้นฯ) ชาวบ้านก็ฟังธรรมง่ายๆไม่รู้เรื่อง(เพราะถูกหลอกมาตลอดชีวิต) จึงตัดสินใจครั้งสุดท้ายว่า ตนเองควรหาที่สงบๆศึกษาธรรมและปฏิบัติด้วยตนเองดีกว่า เพราะการศึกษาก็ไม่น่าจะหลงทางแล้วด้วยอยู่ในมหาวิทยาลัยทั้งของไทยและนานาชาติมาหลายปี ส่วนเรื่องการปฏิบัติก็เคยเข้าอยู่กับครูบาอาจารย์มาบ้าง ความจริงการปฏิบัติหากมีการศึกษาดี รู้จักวิธีการและเป้าหมายให้ตรงก็ไม่พลาดอยู่แล้ว ปัจจัยสำคัญเพียงตัวเดียวเท่านั้นคือ “เวลาและสถานที่ฯ” จึงต้องออกมาจากวัด(โดยทำหนังสือแจ้งเจ้าคณะปกครองให้ทราบ...โดยที่ท่านก็..น่าจะอนุญาต..เพราะไม่ได้คัดค้านแต่อย่างใด...แล้วอย่ามาเอาเรื่องทีหลังละลูกพี่!)และพบว่า ในป่าบริเวณบ้านเอื้อกับการปฏิบัติสมณะกิจเหล่านี้มากกว่าวัดทั้งหลายที่พบเจอมาจริงๆ
ต่อมาได้มีพระนกเขามาพบดังที่เกริ่นให้ฟังแล้ว โดยที่ท่านก็มีเจตนาดีอยากให้กลับไปอยู่ที่วัด ด้วยว่าจะไม่ดูคล้ายพระสงฆ์แตกแยกกัน (ซึ่งการกระทำเช่นนั้นก็มิได้มีการแตกแยกแต่อย่างใด...หรือหากจะมองว่าให้กลับไปช่วยกันหาเงิน เลิกสอนธรรมะ...เราก็คงแตกแยกกันมานานแล้ว!) ที่น่าประทับใจอันหนึ่งคือ ท่านยกบาลีมาอ้างว่า “สทฺธา อคารสฺมา อนคาริย̊ ปพฺพชิตา แปลว่า พระสงฆ์เป็นผู้มีศรัทธา ออกบวชจากเรือนไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนแล้ว” และชี้ให้เห็นว่ากระผมกำลังทำสิ่งที่ผิดอยู่ ให้ดีคือปฏิบัติตามพระวินัย(ของท่าน)ต้องกลับไปอยู่วัด ห้ามอยู่บริเวณบ้าน กระผมจึงถือโอกาสอธิบายคำนี้ให้ท่านฟังว่า
เป็นผู้ไม่มีเรือน ไม่ได้หมายความว่า ห้ามอยู่ในเรือน หรือพบปะผู้คนชาวบ้านเลย เพราะพระมีหน้าที่อันหนึ่งคือการบิณฑบาตซึ่งต้องพบปะผู้คนอยู่แล้ว หรือการเข้าไปสอนธรรมะก็ต้องพบเจอผู้คน แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าเราพบเจอเขาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร? ความไม่มีเรือนที่แท้คือการไม่คลุกคลีด้วยชาวบ้านหรือหมู่คณะ(จนทำให้เสียเวลาในการศึกษาและปฏิบัติธรรม) อีกประการหนึ่งคือการไม่ต้องมารับผิดชอบเรื่องครอบครัว ลูกเมีย พ่อแม่เป็นต้น เป็นการอาศัยอยู่ตัวคนเดียว(อาจเป็นคณะเหมือนวัดได้ แต่ต้องมีจุดมุ่งหมายส่วนตัวคือต่างฝ่ายต่างพัฒนาตนเองและ/หรือร่วมกันสอนธรรมะ) กระผมพยายามชี้ให้เห็นว่า การเป็นอยู่ในวัดปัจจุบันไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะต้องรับผิดชอบงานมากมาย ทั้งในด้านเอกสาร(มิใช่พิมพ์หนังสือนะ..แต่เป็นฎีกากฐิน)และแรงงานคือขนโน้นย้ายนี่ เตรียมงานใหญ่ต้อนรับเจ้าภาพมหาเศรษฐี ครั้นไม่ทำทั้งที่เอาเวลาไปปฏิบัติธรรมก็ถูกกล่าวหาว่าเห็นแก่ตัว หรือเวลาที่ว่างจริงๆก็พากันไปหากิจนิมนต์ สวดโน่นเสกนี่ ไม่ไปด้วยก็หาว่าไม่อนุเคราะห์สงฆ์ ไม่มีความเสียสละเวลาส่วนตนเพื่อประโยชน์สุขของชาวบ้านฯลฯ ที่เจ็บใจกว่านั้นคือหากสอนธรรมะ จะถูกตัดสิทธิ์หลายอย่าง มีการคว่ำบาตร หรือแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าท่านเป็นคนไม่ดี เช่น หากสอนเรื่องการฟังธรรม/ศึกษาหรือรักษาศีลสำคัญกว่าการหาเงิน ก็จะถูกเจ้าอาวาส(แทบทุกที่)พูดต่อทันทีหลังจากลงจากธรรมาสน์ว่า “ปัจจุบันวัดกำลังพัฒนา ต้องการเงินเป็นจำนวนมาก หากชาวบ้านไม่สนใจทาน ศาสนาก็ไม่เจริญ ดังนั้นสิ่งที่พระธรรมกถึกพูดไปอาจไม่เหมาะกับยุคปัจจุบันฯลฯ” สุดท้ายกระผมชี้ให้ท่านนกเขาได้เห็นว่า ความจริงมิใช่กระผมที่ออกมาจากวัดแล้วเป็นผู้คลุกคลีด้วยชาวบ้าน เพราะยังอยู่ตัวคนเดียว แทบไม่ได้พูดคุยพบปะกับใครเลย แต่พวกท่านทั้งหลายต่างหากแม้อยู่ในวัดก็ยังเป็นเสมือนผู้มีเรือน คือต้องรับผิดชอบเรื่องทางบ้าน ส่งเงินให้พ่อแม่ แต่ละวันได้แต่คลุกคลีด้วยลาภยศ ท่องโลกอินเติร์เน็ต(เพื่อหาความเพลิดเพลินมิใช่ความรู้) พากันไปมุทิตาท่านรูปนั้นรูปนี้ที่ได้เลื่อนตำแหน่งโดยบอกว่าเป็นงานพระศาสนา ท่านที่พอเก่งเรื่องการพูดก็ได้แต่แหล่(หมายถึงเทศน์แหล่นะ ไม่ใช่แหล)หาเงินไปวันๆ ว่างก็โทรศัพท์หาโยมอุปัฏฐาก อย่างนี้หรือเรียกว่าผู้ออกจากเรือน? ผลก็ตามเคย...ท่านแพ้อีกแล้ว! เอาเป็นว่าแค่นี้แล้วกัน เดี๋ยวเผื่อท่านนกเขามาอ่านแล้วจะเจ็บใจ ความจริงเรื่องความไม่มีเรือนยังมีคุณสมบัติอีกหลายอย่าง ให้เราดูภาษิตที่เป็นบทสนทนาของพระพุทธเจ้ากับพระสารีบุตรดังนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลเหล่าใดไม่มีศรัทธาต้องการเลี้ยงชีวิต มิใช่ออกบวชจากเรือนสู่ความไม่มีเรือนด้วยศรัทธา เป็นผู้โอ้อวด มีมารยา เกเร ฟุ้งซ่าน เย่อหยิ่งเหลาะแหละ ปากกล้า พูดพล่าม ไม่สำรวมทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ ไม่ประกอบความเพียร ไม่เพ่งถึงความเป็นสมณะ ไม่มีความเคารพกล้าในสิกขา มักมาก ย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในการล่วงละเมิดทอดธุระในวิเวก เกียจคร้าน มีความเพียรทราม มีสติเลอะเลือน ไม่มีสัมปชัญญะ ไม่มีจิตมั่นคง มีจิตฟุ้งซ่าน มีปัญญาทราม คล้ายคนบ้าน้ำลาย คนเหล่านั้น เมื่อถูกข้าพระองค์กล่าวสอนอย่างนี้ ย่อมไม่รับโดยเคารพ
ส่วนกุลบุตรเหล่าใด มีศรัทธาออกบวชจากเรือนสู่ความไม่มีเรือน ไม่โอ้อวดไม่มีมารยา ไม่เกเร ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เย่อหยิ่ง ไม่เหลาะแหละ ไม่ปากกล้า ไม่พูดพล่ามสำรวมทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียร เพ่งถึงความเป็นสมณะ มีความเคารพกล้าในสิกขา ไม่มักมาก ไม่ย่อหย่อน ทอดธุระในการล่วงละเมิด เป็นหัวหน้าในวิเวก ปรารภความเพียร อบรมตน มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะมีจิตมั่นคง มีจิตเป็นหนึ่ง มีปัญญา มิใช่คล้ายคนบ้าน้ำลาย กุลบุตรเหล่านั้นเมื่อถูกข้าพระองค์กล่าวสอนอย่างนี้ย่อมรับโดยเคารพ ฯ[10]
ดูคำอธิบายเพิ่มเติมเรื่องอินทรีย์สังวรหรือการสำรวมอินทรีย์ดังนี้
ดูกรมหาบพิตร อย่างไร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย?ดูกรมหาบพิตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุฟังเสียงด้วยโสต ... ดมกลิ่นด้วยฆานะ ... ลิ้มรสด้วยชิวหา ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย...รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่า รักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุประกอบด้วยอินทรีย์สังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน ดูกรมหาบพิตร ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย.[11]
ดูกรมหาบพิตร อย่างไรภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ? ดูกรมหาบพิตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิสาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เอง ดูกรมหาบพิตร นกมีปีกจะบินไปทางทิสาภาคใดๆ ก็มีแต่ปีกของตัวเป็นภาระบินไปฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรเป็นเครื่องบริหารกาย ด้วยบิณฑบาตเป็นเครื่องบริหารท้อง เธอจะไปทางทิสาภาคใดๆ ก็ถือไปได้เองดูกรมหาบพิตร ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ.[12]
ภาษิตเรื่องความเป็นผู้สันโดษนี้พอจะเตือนใจพระทั้งหลายให้ระลึกได้ว่าสิ่งที่สำคัญแก่ชีวิตจริงๆคือปัจจัย ๔ เท่านั้น(ในที่นี้พระพุทธเจ้าตรัสเพียง ๒) และการได้หรือแสวงหาปัจจัย ๔ ก็มิใช่มากเกินพอดี ต้องเป็นภาระ นี้เองจึงเป็นเหตุผลที่ว่าพระเก็บอาหารไว้ฉัน(วันต่อไป)ไม่ได้ บางคนชอบเถียงว่า เพราะสมัยก่อนไม่มีตู้เย็น อาหารที่เก็บเลยบูด อยากให้ท่านไปอ่านหนังสือประวัติศาสตร์โลกผ่านเกลือ (Salt: A World History) ดูนะครับ เขามีวิธีเก็บอาหารมาหลายพันปีแล้ว ที่พระพุทธเจ้าไม่อนุญาตมิใช่เพราะไม่ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นแต่เพราะไม่ต้องการให้พระโลภในอาหารและต้องรับภาระในการเก็บรักษาดูและอันจะเป็นพันธะรัดตัวอีกทีหนึ่ง ทำนองเดียวกันกับเสื้อผ้า ที่อยู่อาศัยเป็นต้น หากเรามีมากเกินความจะเป็นก็ต้องเพิ่มภาระในการรับผิดชอบ วันๆเอาแต่ซักผ้ากับกวาดกุฏิสองชั้นไม่ต้องทำอะไรเลย จะไปไหนก็ไม่สะดวกเหมือนนกที่ต้องหอบกล่องลังไปหลายสิบใบฯลฯ
หน้าที่ของพระสงฆ์
พระสงฆ์อาจมิได้มีหน้าที่เหมือนที่เราเข้าใจกันทั่วไป นั่นคือการออกกิจนิมนต์ นั่งรับสังฆทาน สะเดาะเคราะห์ฯลฯแต่มีอาชีพหลัก ๓ ประการโดยย่อให้สั้นเป็น ๒ คืออาชีพที่ทำเพื่อตนเองและทำเพื่อผู้อื่น
๑. ศึกษา
การศึกษาของพระสงฆ์คือการศึกษาพระศาสนา คือพระไตรปิฎก ภาษาบาลี(ไม่ใช่เพื่อความเป็นนาคหลวงนะ แต่เพื่อเอาภาษามาแปลพระไตรปิฎกอีกที)หรืออรรถกถา หลายท่านปฏิเสธอรรถกถาด้วยเหตุว่ามิใช่เป็นภาษิตของพระพุทธเจ้า(รวมทั้งอภิธรรมด้วย) ก็ไม่มีใครเถียงเพราะจะทราบได้อย่างไรว่าอันไหนใช่ อันไหนไม่ใช่ อันที่ใช่ต้องขึ้นต้นว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดูก่อนสารีบุตรฯลฯเท่านั้นหรือ? หรือหากไม่ใว้ใจสาวกจริงก็ไม่ควรศึกษาพุทธศาสนาเลย เพราะทุกอย่างล้วนถ่ายทอดโดยสาวกทั้งสิ้น นั่นคือสาวกเป็นคนท่องจำกันมา เพราะฉะนั้นแม้พุทธดำรัสก็ผ่านสาวกอีกทีหนึ่งฯลฯ ดังนั้นเป็นการถูกต้องหรือไม่ที่จะเอาพระไตรปิฎกมาแล้วแยกว่าประโยคนี้เป็นของพระพุทธเจ้า ประโยคนี้ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้า อย่าไปเชื่อฯ กระผมจึงใคร่แนะนำว่าศึกษาไปให้หมดนั่นแหละครับ แล้วแยกแยะเอาสิ่งที่เป็นสาระและเหมาะแก่จริตตนเพื่อความพ้นทุกข์และเพิ่มพูนปัญญาเถิด คำสอนของสาวกบางครั้งอาจทั้งถูกต้องง่ายแก่การปฏิบัติกว่าด้วยซ้ำฯ หรือท่านผู้ต้องการมีความเชี่ยวชาญเรื่องพระศาสนาก็ควรศึกษาให้ทั่วถึง(จนสามารถบอกได้ว่า...ถ้าไม่ดีจริงแล้วไม่ดีอย่างไร? หลายคนเขียนหนังสือวิจารณ์อภิธรรม แต่ตนเองก็มิได้ศึกษาอภิธรรมเลย หากเราไปสังเกตงานเขียนจะเห็นได้ชัดว่าท่านมีความสามารถในการวิเคราะห์ธรรมะน้อยกว่าคนที่เรียนอภิธรรมจริงๆ...กระผมเคยมีอาจารย์ท่านหนึ่ง เป็นคนเยอรมัน ท่านเล่าให้ฟังว่าเหตุที่ต้องมาเป็นศาสตราจารย์เรื่องอภิธรรมนี้เพราะไม่เชื่ออภิธรรมนั่นเอง สุดท้ายศึกษาไปศึกษามาเกิดความลึกซึ้งเรื่องพุทธศาสนาเข้า ปัจจุบันกลายเป็นฝรั่งผู้เชี่ยวชาญอภิธรรมไปแล้ว...โดยท่านบอกเช่นกันว่า ท่านเองก็ไม่ยอมรับว่าอภิธรรมเป็นเทศนาของพระพุทธเจ้าเพราะลึกซึ้งเกินไป แต่ก็ยอมรับว่าอภิธรรมมีความถูกต้อง หากประสงค์จะเป็นผู้เข้าใจพระศาสนาลึกซึ้งก็ไม่ควรละทิ้งฯ)
สรุปว่าสิ่งที่พระควรศึกษาคือความรู้ที่เกี่ยวกับศาสนา อันได้แก่อริยสัจ ๔ ขันธ์ ๕ ปฏิจจสมุปบาทหรือไตรลักษณ์เป็นต้น อีกประการหนึ่งคือขั้นตอนและวิธีการทำสมาธิภาวนาเพื่อจะนำไปสู่หน้าที่ถัดไปคือ
๒.ปฏิบัติ
การปฏิบัตมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากมีความรู้อย่างเดียวไม่ปฏิบัติเลยก็ไม่เกิดผล หลายท่านบอกว่าการปฏิบัติจะทำอย่างไรก็ได้ ไร้รูปแบบ และถ้าให้ดีคือปฏิบัติโดยไม่ต้องปฏิบัติ ความจริงการพูดเช่นนี้เสี่ยงมาก นั่นคือเป็นการปฏิเสธเรื่องสัปปายะบางอย่างไป เช่นธรรมะสัปปายะ ต้องดูจริตตนด้วยว่าเป็นอย่างไร บางคนไม่สนใจเรื่องนี้ฏิบัติก็ได้ผลช้า หรือปัจจัยอื่นๆเช่น สถานที่ อาหาร เพื่อนฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเอื้อการการปฏิบัติ เพราะหากเราจะอ้างว่าปฏิบัติโดยไร้รูปแบบ อาจพูดเพิ่มไปนิดหนึ่งว่า ขอให้มี อาตาปี(ความเพียรเพ่ง เผากิเลส) สติมา สัมปชาโนฯลฯ ก็เป็นอันสำเร็จ คำพูดนี้มีความจริงอยู่ แต่ที่ต้องพิจารณาคืออาตาปีจะเกิดได้อย่างไรหากไม่มีรูปแบบในการปฏิบัติ เช่นคนขับรถ ต้องเหลียวซ้ายแลขวา มือจับโน่น เท้าเหยียบนี่ฯลฯ สรุปคือทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน หากทำเช่นนี้(สำหรับผู้ฝึกใหม่)แล้วบรรลุธรรมได้ ตอนนี้คงมีอรหันต์เกลื่อนเมืองไปแล้ว เพราะท่านเหล่านั้นต่างมีความชำนาญในการขับรถทั้งสิ้น ตรงนี้สะท้อนว่าการกระทำที่จะเกิดความต่อเนื่องได้ดีโดยเฉพาะผู้ฝึกใหม่ต้องมีรูปแบบจริงๆ(แต่อาจไม่จำเพาะแค่พุทโธหรือพองหนอยุบหนอ หรือเท้าขวาทับเท้าซ้าย) อีกประการหนึ่งคือความรู้ เช่นเรื่องขันธ์ ๕ หรือความไม่เที่ยงเป็นต้น เพราะต่อให้ได้ฌานขั้นสูง อยู่ในสมาธิได้นาน หากไม่สนใจพิจารณาธรรมะหรือความจริงของธรรมชาติอันได้แก่ร่างกายเป็นต้น วิปัสสนาก็เกิดไปได้อีกเช่นกันฯ
ความจริงขั้นของการปฏิบัติยังแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทหลักใหญ่ คือการทำจิตให้หยุดนิ่ง/แน่วแนมั่นคง เรียกว่าสมถะ และการใช้ผลจากการที่จิตมั่นคงพอพิจารณาธรรมะให้เห็นสภาพตามเป็นจริง(เช่นมีเกิด-ดับ ความรู้สึกก็เป็นแค่ความรู้สึก ไม่ใช่ตัวเราของเราฯลฯ)อันนี้เรียกวิปัสสนา ซึ่งความจริงอาจไม่ต้องเริ่ม/รอให้ใจสงบก่อนก็ได้ โดยสามารถเริ่มจากวิปัสสนาก่อน พิจารณาเห็นธรรมไปเรื่อยๆ เมื่อเข้าใจความจริงมากขึ้นก็จะช่วยให้ใจสงบลงได้(เช่นเมื่อเห็นว่าร่างกายกำลังจะก้าวสู่ความตายในไม่ช้า ก็จะทำให้ไม่โลภ ไม่โกรธฯ)เช่นกัน นั่นคือทั้งสองอย่างนี้สามารถเอื้อแก่กันและกันได้ แต่อย่างไรก็ตาม การจะบรรลุธรรม ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งเสียไม่ได้เลย อย่างน้อยก็ต้องมีในระดับหนึ่งและใช้อีกตัวเป็นตัวชูโรง(จนเมื่อประสบความสำเร็จจึงเรียกว่า ปัญญาวิมุตติบ้าง เจโตวิมุตติบ้าง) เราอาจดูตัวอย่างภาษิตที่สมาธิหรือจิตที่นิ่งนำไปสู่การพิจารณาเห็นความจริงคือวิปัสสนาดังนี้
ดูกรมหาบพิตร เปรียบเหมือนสระน้ำบนยอดเขาใสสะอาด ไม่ขุ่นมัวบุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนขอบสระนั้น จะพึงเห็นหอยโข่งและหอยกาบต่างๆ บ้าง ก้อนกรวดและก้อนหินบ้าง ฝูงปลาบ้าง กำลังว่ายอยู่บ้าง หยุดอยู่บ้าง ในสระน้ำ เขาจะพึงคิดอย่างนี้ว่า สระน้ำนี้ใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว หอยโข่งและหอยกาบต่างๆ บ้าง ก้อนกรวดและก้อนหินบ้าง ฝูงปลาบ้าง เหล่านี้กำลังว่ายอยู่บ้าง กำลังหยุดอยู่บ้าง ในสระน้ำนั้น ดังนี้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงานตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้ อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นแม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดูกรมหาบพิตร นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ ดูกรมหาบพิตร ก็สามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้ออื่น ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อนี้ ย่อมไม่มี.[13]
เมื่อปฏิบัติจนประสบความสำเร็จก็จะยกภาวะตนจากปุถุชนสู่ความเป็นอริยบุคคลแต่อย่าพึงเข้าใจว่าต้องปฏิบัติให้เป็นพระอรหันต์ก่อนจึงจะสอนผู้อื่นได้ เพราะการสอนผู้อื่นสามารถทำควบคู่กันไปกับการปฏิบัติได้เลย แต่การสอนนั้นต้องเป็นเรื่องที่ตนเองทราบดีไม่ใช่เดาเอาซึ่งจะเป็นการหลอกหรือพาผู้ปฏิบัติให้หลงไกลไปอีก ด้วยว่าหากรอให้บรรลุธรรมก่อนชาตินี้อาจไม่ได้สอนก็ได้ฯ
๓.สอนธรรม
การสอนของพระสงฆ์เป็นประเด็นที่ชอบถกกันว่า ความจริงพระมิได้มีหน้าที่สอน (จากสำนักพุทธวจนะบางที่) โดยที่ท่านอธิบายว่าในสังฆคุณ ๙ อย่างนั้นไม่มีข้อไหนบอกให้พระสงฆ์สอน พระสงฆ์เป็นแต่เพียงผู้ปฏิบัติดี ตรง เพื่อรู้ธรรม สมควรเท่านั้น หรือหากจะอนุโลมก็คือให้พูดคำของพระพุทธเจ้าอย่างเดียว ห้ามใส่ความคิดตนเองฯ ตกลงท่านกำลังปฏิเสธความเป็นคนหรือครับ? มนุษย์โดยทั่วไปมีความคิดอยู่แล้ว แน่นอนกระผมไม่ได้บอกว่าใครจะมีอิสระคิดชั่วอย่างไรก็ได้ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ไม่ดีจริง แต่การคิดดี พูดดีทำไม่ได้หรือหากไม่ตรงกับคำพูดพระพุทธเจ้า ความจริงอยากให้เรากลับไปทบทวนกาลามสูตรหน่อย คือพระพุทธเจ้าเองไม่ได้บังคับหรือสอนให้สาวกเชื่อคำของพระองค์เลย ยังตรัสเตือนด้วยซ้ำว่าอย่าเพิ่งเชื่อ ให้พิจารณาดูก่อน พูดง่ายๆคือพระองค์ก็ไม่อยากให้เราเป็นเด็กอมมือที่ต้องเชื่อฟังโดยเพียงเพราะท่านเป็นพระพุทธเจ้า แต่พระองค์อยากให้เราโตพอที่จะมีความคิดและเข้าใจความจริงได้ โดยอาศัยคำสอนพระองค์เป็นเครื่องมือเท่านั้น ไม่ใช่การผูกขาดว่าอันนี้เท่านั้นถูก หากเราจะเทศน์สอนโดยใช้คำของพระองค์อย่างเดียวก็ไม่จำเป็นต้องมีการเรียนหรือธรรมสากัจฉาอีกต่อไป เพราะการเรียนหรือการถกเถียงกันทำให้คนมีความรู้และมีความคิด เมื่อเป็นเช่นนี้เขาอาจสอนธรรมะด้วยความสามารถของเขาเอง ไม่ได้เอาคำพระพุทธเจ้าที่ท่องจำมาบอกฯ จะไม่เป็นสาวกที่ดี ดังนั้นเราควรปิดโรงเรียน มหาวิทยาลัยสงฆ์ และบังคับให้พระท่องพระไตรปิฎก ใครเทศน์ก็ให้พูดตามนั้นฯลฯ กระผมว่าถ้าจะเอาอย่างนั้นจริงก็ไม่จำเป็นต้องไปนั่งท่องอีกต่อไป เพราะเรามีซีดีเป็นเสียงที่จะให้ญาติโยมเอาไปฟังได้ การสอนก็ไม่จำเป็นอีก อย่างนี้หรือเป็นการรักษาพระศาสนาของท่าน? แต่ไม่ใช่กระผมไม่เห็นด้วยเลยนะครับ ถ้าเทียบกับอีกขั้วหนึ่งคือเขาไม่สนใจพระพุทธเจ้าเลย เหมือนที่บอกว่าพูดแต่ชีวประวัติฝรั่ง หรือแหล่หาแต่เงิน ทำการแก้กรรม สะเดาะเคราะห์หลอกชาวบ้าน อันนี้ก็แย่ไปอีกแบบ คือทั้งสองที่ยกมาไม่เอื้อกับการเสริมสร้างปัญญาเลย ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือศึกษาพระไตรปิฎกนั่นแหละ และมิใช่ปฏิเสธทุกอย่างที่ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้า สิ่งใดเป็นประโยชน์แม้เป็นอรรถกถาก็ควรศึกษา ขณะเรียนก็วิเคราะห์และอธิบายกันให้ชัดว่าอันนั้นคืออะไร นี้คืออะไร ผิดถูกประการใด คนสอนก็ไม่ใช่แค่จบนักธรรมชั้นเอกหรือเป็นเปรียญเก้า (เพราะที่สอบผ่านมาได้ก็เอาแต่ท่องจำ) แต่ควรเป็นผู้ทรงความรู้ทั้งแง่ธรรมะและวิชาการ ควบคู่ไปกับวิชาอื่นๆที่จะเอื้อแก่การตรวจสอบเช่น ตรรกศาสตร์หรือปรัชญา เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะได้หายโง่ เลิกยึดพิธีกรรมหรือตำราเพียงอย่างเดียวโดยที่ไม่เปิดหูเปิดตาฟังผู้อื่นเลยฯ
พระสงฆ์สามารถสอนธรรมะได้ (เพราะหากไม่สอนก็ไม่มีคนสืบทอดพระศาสนา)และการเรียนที่หวังการปฏิบัติอย่างเดียวจะเกิดประโยชน์น้อยกว่าการได้เอาความรู้เหล่านั้นไปเผยแผ่ และเพราะการสอนนี่เองจึงทำให้ศาสนาที่มุ่งเน้นปัญญาหรือเหตุผลอยู่ได้ หลายคนชอบเปรียบเทียบพุทธศาสนาเหมือนศาสนาที่นับถือพระเจ้า เช่นอิสลามต้องเชื่อฟังพระคัมภีร์กุรอาน คริสต์ต้องปฏิบัติตามคัมภีร์ไบเบิล ดังนั้นชาวพุทธก็ต้องยึดพระไตรปิฎกเพียงอย่างเดียว อันนี้เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะหากเป็นเช่นนั้นเราก็จะไม่ต่างอะไรจากเขาเลยที่บอกว่าความเชื่อของตนดีที่สุด(เพราะตั้งแต่ราตรีที่ตรัสรู้จนถึงวันปรินิพพาน พระองค์ไม่เคยตรัสขัดแย้งกันเลยฯ) ความพิเศษของชาวพุทธอยู่ที่ว่าไม่ใช่เราเชื่อพระพุทธเจ้าแบบสุดใจจมดิ่ง แต่เราต้องศึกษาคำสอนท่านให้เข้าใจและรับเอาสิ่งที่ถูกต้อง(อาจเป็นคำสอนทั้งหมดก็ได้...แต่ต้องเข้าใจก่อนการรับ)ส่วนศาสนาอื่นๆมุ่งให้เชื่อเป็นหลัก สังเกตได้จากคัมภีร์ทางศาสนาที่เริ่มต้นด้วย พระเจ้าทรงสร้างโลกหรือท่านมูฮัมหมัดเป็นศาสนทูตของพระเจ้าฯลฯ แต่พุทธศาสนาไม่ได้เน้นความเชื่อ กลับเน้นเรื่องความจริงและความเข้าใจเพื่อการปฏิบัติให้พ้นทุกข์เช่น ทางสุดโต่ง ๒ ทางที่ไม่ควรดำเนินฯ หรืออริยสัจ ๔ ข้อทุกข์ ชีวิตเป็นทุกข์ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มิใช่บังคับให้เชื่อเลย แต่สอนให้มองความจริงโดยใช้ปัญญา (ทีนี้ท่านจะยังบอกอีกไหมครับว่า...ชาวพุทธต้องเชื่อ!!!) นี่พอจะเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาและการสอนพุทธศาสนาที่ต้องเปิดกว้างจริงๆ มิเช่นนั้นจะไม่มีคนเข้าใจหลักการของพระศาสนาและทำให้กลายเป็นดั่งศาสนาที่ยอมศิโรราบต่อพระผู้เป็นเจ้า(หรือพระพุทธเจ้า)ไปหมด โดยไม่สามารถใช้ความคิดหรือความสามารถยกตนขึ้นจากความเชื่อนั้นได้เลยฯ
โดยสรุปคือการสอนของพระสงฆ์และการสอนให้พระสงฆ์มีความรู้ที่ถูกต้องด้านพุทธศาสนานั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง คนที่เหมาะสมจะเป็นครูผู้สอนตัวยงก็คือพระนั่นเอง (ไม่ใช่เพราะถือเรื่องชนชั้นนะ) แต่เพราะพระสงฆ์เป็นผู้ไม่มีอาชีพ ไม่ต้องดูและญาติพี่น้อง จึงมีเวลาว่างมากที่สุดในการทำความเข้าใจเรื่องศาสนา และหากพระสงฆ์ที่เป็นผู้นำทางด้านคุณธรรมจริยธรรมของสังคมแล้วกลับปฏิเสธที่จะไม่สอน ชาวบ้านก็ไม่มีหวังว่าจะได้รับที่พึงที่แท้จริงอันจะเปลี่ยนความเชื่อและพฤติกรรมตนได้จากที่ไหนอีกฯ (ก็จากซีดีพุทธวจนะนั่นงัย?)
[1] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ข้อ ๕๒๙ อถ โข ราชา ปเสนทิโกสโล อุฏฺายาสนา ภควนฺต̊ อภิวาเทตฺวา ปทกฺขิณ̊ กตฺวา ปกฺกามิ ฯ ความจริงพระไตรปิฎกสยามรัฐฉบับภาษาไทยก็แปลข้ามศัพท์นี้ไปเสีย
[2] ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร ข้อ ๑๓๘ ยสฺมึ โข สุภทฺท ธมฺมวินเย อริโย อฏฺงฺคิโก มคฺโค น อุปลพฺภติ สมโณปิ ตตฺถ น อุปลพฺภติ ทุติโยปิฯ
[3]คิหีอรหัตตปัญหา ที่ ๓ หน้า ๗๖๓ น โส มหาราช อรหา สย̊ ปพฺพเชยฺย สเจ โส สย̊ ปพฺพชนฺโต เถยฺย̊ อาปชฺชติ น จ ทิวส̊ อติกฺกเมยฺย อญฺญสฺส อรหนฺตสฺส อาคมน̊ ภเวยฺย วา น วา ภเวยฺย ตสฺมึเยว ทิวเส ปรินิพฺพาเยยฺยาติฯ มิลินทปัญหา เป็นคัมภีร์ทางพุทธศาสนา แต่งขึ้นราว ๕๐๐ ปีหลังพุทธปรินิพพาน เป็นการโต้วาที/สนทนาธรรมของนักบวชในพุทธศาสนาชื่อว่า พระนาคเสน(เชื่อว่าเป็นพระอรหันต์) และแม่ทัพกรีก เมนานเดอร์(Menander of Bactria)หรือเรียกเป็นบาลีว่า มิลินทะ
[4] เป็นบทสรรเสริญคุณของพระสงฆ์ มีปรากฎในพระไตรปิฎกหลายที่ เช่น ทีฆนิกายสฺส มหาวคฺโค ข้อที่ ๘๙, ทีฆนิกายสฺส ปาฏิกฺวคฺโค ข้อที่ ๓, มชฺฌิมนิกายสฺส มูลปณฺณาสก̊ ข้อ ๙๕ฯลฯ
[5] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ข้อ ๗๑๐ จุทฺทส โข ปนิมานนฺท ปาฏิปุคฺคลิกา ทกฺขิณา ตถาคเต อรหนฺเต สมฺมาสมฺพุทฺเธ ทาน̊ เทติ อย̊ ปมา ปาฏิปุคฺคลิกา ทกฺขิณาฯ ปจฺเจกสมฺพุทฺเธ ทาน̊ เทติ อย̊ ทุติยา ปาฏิปุคฺคลิกา ทกฺขิณาฯ ตถาคตสาวเก อรหนฺเต ทาน̊ เทติ อย̊ ตติยา ปาฏิปุคฺคลิกา ทกฺขิณาฯ อรหตฺตผลสจฺฉิกิริยาย ปฏิปนฺเน ทาน̊ เทติ อย̊ จตุตฺถา ปาฏิปุคฺคลิกา ทกฺขิณาฯ อนาคามิสฺส ทาน̊ เทติ อย̊ ปฺจมี ปาฏิปุคฺคลิกา ทกฺขิณาฯ
[6] เราอาจมองศัพท์ว่า บุญ ไม่ชัดนัก เพราะปกติจะนึกถึงแต่อานิสงส์เรื่องการเกิดมารวย การได้ไปสวรรค์เพียงอย่างเดียวฯลฯ บุญจริงๆตามหลักการของพุทธศาสนาหมายถึงการชำระกิเลส ๓ อย่างคือ ความ โลภ(จึงต้องมีการให้ทาน) ความโกรธ (มีการรักษาศีลไม่เบียดเบียนหรือให้อภัย) และความโง่เขลา(จึงต้องมีการฟังธรรมหรือบำเพ็ญสมาธิภาวนา) เหตุที่ไม่เน้นให้เกิดเป็นเศรษฐี นายกหรือไปเมืองแก้วเป็นต้นเพราะยังไม่ใช่การพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง แม้จะมีความสุขบ้าง มีหน้ามีตา แต่ก็ต้องทรทุกข์เรื่องสังขารร่างกายหรือความอยาก อิจฉาริษยาอยู่ดีฯ
[7] ตติยสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย มหาวรรค ตอน ๑ หน้าที่ 145 หน้า ๙๗ อรหนฺตฆาตโกปิ มนุสฺสอรหนฺตวเสเนว เวทิตพฺโพฯ มนุสฺสชาติย̊ หิ อนฺตมโส อปพฺพชิตมฺปิ ขีณาสว̊ ทารก̊ วา ทาริก̊ วา สฺญฺจิจฺจ ชีวิตา โวโรเปนฺโต อรหนฺตฆาตโกว โหติ ฯ
[8] ภย̊ อิกฺขตีติ ภิกฺขุ
[9] วินัยปิฎก มหาวรรค ข้อ ๑๓ อถโข ภควา ปฺจวคฺคิเย ภิกฺขู อามนฺเตสิ เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพาฯ โย จาย กาเมสุ กามสุขลฺลิกานุโยโค หีโน คมฺโม โปถุชฺชนิโก อนริโย อนตฺถสฺหิโตฯ
[10] อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ข้อ ๑๖๗ เย เต ภนฺเต ปุคฺคลา อสฺสทฺธา ชีวิกตฺถา น สทฺธา อคารสฺมา อนคาริย̊ ปพฺพชิตา สา มายาวิโน เกฏุภิโน อุทฺธตา อุนฺนฬา จปลา มุขรา วิกิณฺณวาจา อินฺทฺริเยสุ อคุตฺตทฺวารา...ฯ
[11] พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค สามัญญผลสูตร ข้อ ๑๒๒ กถฺจ มหาราช ภิกฺขุ อินฺทฺริเยสุ คุตฺตทฺวาโร โหติฯ อิธ มหาราช ภิกฺขุ จกฺขุนา รูป̊ ทิสฺวา น นิมิตฺตคฺคาหี โหติ นานุพฺยฺชนคฺคาหี
[12] พระสูตรเดียวกัน ข้อ ๑๒๔ อิธ มหาราช ภิกฺขุ สนฺตุฏฺโ โหติ กายปริหาริเกน จีวเรน กุจฺฉิปริหาริเกน ปิณฺฑปาเตน โส เยน เยเนว ปกฺกมติ สมาทาเยว ปกฺกมติฯ เสยฺยถาปิ มหาราช ปกฺขี สกุโณ เยน เยเนว เฑติ สปตฺตภาโร ว เฑติ
[13] พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค สามัญญผลสูตร ข้อ ๑๓๘ เสยฺยถาปิ มหาราช ปพฺพตส̊เขเป อุทกรหโท อจฺโฉ วิปฺปสนฺโน อนาวิโล ตตฺถ จกฺขุมา ปุริโส ตีเร ิโต ปสฺเสยฺย สิปฺปิกสมฺพุก̊ปิ สกฺขรกล̊ปิ มจฺฉคุมฺพ̊ปิ จรนฺต̊ปิ ติฏฺนฺต̊ปิ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น