วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2554

สวดมนต์ข้ามปี ต่อชะตา สะเดาะห์เคราะห์ ได้บุญมากแค่ไหน?


วิเคราะห์สถานการณ์ชาวพุทธและสาระธรรมในสังคมไทยปัจจุบัน
พระเจษฎา กันตเมธี ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๔
.................................
      การสวดมนต์มีความสำคัญมากและกลายเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของผู้ใฝ่บุญทั้งหลาย ซึ่งสังเกตได้จากหลายศาสนาในโลก(ทั้งที่มีพระเจ้าและไม่มีพระเจ้า) ล้วนใช้บทสวดมนต์เป็นเครื่องมือในการพัฒนาจิตใจและ/หรือเป็นแนวทางติดต่อกับพระผู้เป็นเจ้าของตนซึ่งมีปรากฎให้เห็นทั่วไปฯ ตลอดจนแพทย์ทางเลือกยังสรุปว่าการสวดมนต์ยังเอื้อต่อการรักษาโรคบางชนิดเช่นความเครียดฯให้หายได้ โดยอธิบายถึงเรื่องการทำงานที่ประสานกันระหว่างกายกับใจว่า หากสุขภาพกายดีจะส่งผลให้สุขภาพใจดีด้วยและขณะเดียวกันสุขภาพใจที่ดีจะมีส่วนส่งเสริมร่างกายให้ดีขึ้นได้ฯ คุณูปการตามตัวอย่างเล็กน้อยที่ยกมานี้จึงเห็นว่า แม้ปัจจุบันก็ยังไม่มีใครปฏิเสธและต่อต้านการสวดมนต์ ตรงกันข้ามกลับให้การสนับสนุนและปลูกฝังให้คนทุกวัยหันมาสวดมนต์จนเหมือนจะกลายเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่ง จึงเห็นควรนำประเด็นเหล่านั้นมาถกไว้บ้างเพื่อเพิ่มเติมความรู้ ตอกย้ำวัตถุประสงค์ดั้งเดิมและชี้ให้เห็นคุณและโทษเพื่อชีวิตที่ดีงามยิ่งขึ้นในทางธรรมฯ
      พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เน้นเรื่องปัญญา[1] คือมุ่งให้คนมีความสามารถ เข้าถึงเหตุปัจจัยหรือธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายโดยไม่ต้องขึ้นต่อเทพเจ้าองค์ใด แม้การนับถือพระรัตนตรัยคือพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ก็ล้วนเป็นเครื่องมือ(สรณะ)ในการพัฒนาศักยภาพตนเองให้สูงขึ้นจนสามารถพึ่งตนเองได้ในที่สุด ดังจะสังเกตได้ว่าศาสนาที่มีพระเจ้าจะเน้นเรื่องการอ้อนวอน ยอมศิโรราบ (Surrender) ต่อพระผู้สร้างผู้ดลบันดาลฯ สิ่งที่มนุษย์ทำได้มากที่สุดคือทำตามพระทัยพระองค์ ส่วนจะได้รับผลเช่นไรนั้นขึ้นอยู่กับการตอบสนอง/ตัดสินของพระองค์อีกทีหนึ่ง ไม่สามารถทำตนให้กลายเป็นพระเจ้าได้ฯ แต่ศาสนาพุทธย้ำว่าทุกการกระทำเป็นสิ่งที่กำหนดด้วยตนเอง มนุษย์มีความสามารถพอที่จะแก้ปัญหาต่างๆโดยการพัฒนาความรู้ของตนขึ้นไป ดังนั้นมนุษย์จึงสามารถกำหนดชะตาตนเอง จนถึงขั้นสูงสุดคือมนุษย์สามารถทำตนเองให้เข้าใจความจริงของธรรมชาติจนกลายเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ หรือหากไม่สนใจพัฒนาตนเอง ใช้ชีวิตตามความอยาก ตกเป็นทาสวัตถุ เกียรติยศฯจะทำให้ตนเป็นทุกข์ไปชั่วกาลนานก็ได้เช่นกัน สิ่งเหล่านี้คือความต่างระหว่างศาสนาที่มีจุดศูนย์กลางคือพระผู้เป็นเจ้ากับศาสนาที่เน้นศักยภาพคน ซึ่งโดยทั่วไปมักไม่ค่อยมีผู้นำมาถกกันในสังคม อาจเป็นเพราะเกรงความขัดแย้งจะเกิดขึ้น แต่ผลเสียของการไม่ยอมพูดอีกอย่างที่เห็นชัดเช่นกันคือทำให้คนทั้งหลายไม่ทราบอัตลักษณ์ของศาสนาตนเอง ได้แต่กล่าวเป็นประโยคพื้นๆว่า “ศาสนาทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดีฯ” ทั้งที่ยังไม่ทราบว่าความดีคืออะไรด้วยซ้ำฯ ดังนั้นศาสนาพุทธจึงไม่ได้ให้มนุษย์ดำเนินชีวิตด้วยศรัทธาอย่างเดียว หากแต่ต้องพัฒนาปัญญาตนเองให้สูงขึ้นเรื่อยๆสมดังลักษณะพิเศษที่ตนประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งหลายโดยมีพระพุทธเจ้าและเหล่าอรหันต์กระทำตนให้ดูเป็นแบบอย่างฯ
      เมื่อกล่าวถึงการสวดมนต์ จึงขอเริ่มต้นด้วยวัตถุประสงค์ของการสวดมนต์ก่อน ตามหลักการในพุทธศาสนาแบ่งได้เป็น ๓ ประการดังนี้

๑. เพื่อรักษาคำสอนของพระพุทธเจ้า การสวดประเภทนี้นิยมกันมากโดยเฉพาะสมัยพุทธกาล เพราะสมัยนั้นมักไม่ใช้การจดบันทึกเป็นการรักษาคำสอน(พระพรหมคุณาภรณ์อธิบายว่า อาจเป็นเพราะการรักษาไว้กับตัวสะดวกกว่า จะนำมาใช้เมื่อใดก็ได้คือสอนได้ทันที ส่วนการจดบันทึกไว้ก็ทำให้ประมาท ไม่ท่องจำ เมื่อคัมภีร์ถูกเผา/ทำลายก็หมดกันหรือหากเกิดชำรุด มองเห็นตัวอักษรไม่ชัดก็นำไปสู่ความสับสนและเข้าใจผิด)

๒. เพื่อทำจิตใจให้สงบ ข้อนี้อาจไม่จำเป็นต้องเกิดหลังข้อแรก เพราะในศาสนาทั้งหลายเช่นพราหมณ์เป็นต้นมีมานานแล้ว(ชาวพุทธเริ่มแรกก็เป็นพวกพราหมณ์เสียส่วนใหญ่) การสวดมนต์จะทำให้ใจจดจ่ออยู่กับบทมนต์ ไม่ซัดส่ายไปไหน จึงเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการควบคุมจิตใจ(สมถะ)เป็นฐานสู่วิปัสสนา

๓. เพื่อให้ทราบความหมายของสาระธรรมเพื่อนำไปใช้ในชีวิตจริง การสวดมนต์ประเภทนี้เป็นการสวดที่มุ่งแสวงหาหรือทบทวนความรู้ด้านหลักคำสอนของศาสนา เพราะบางคราวอาจไม่มีเวลาศึกษาอย่างเพียงพอ (โดยเฉพาะฆราวาส) ผู้สวดจึงต้องหาบทสวดที่มีคุณค่าจริงๆเช่น ธรรมจักรฯ กาลามสูตรฯ คิริมานนทสูตร และสติปัฏฐานสูตรเป็นต้น แม้ในขณะสวด บทเหล่านี้สามารถทำให้ผู้สวดที่มีปัญญามากพอและพิจารณาตามเข้าใจส่งผลให้บรรลุธรรมได้[2]

      แต่เมื่อพิจารณาตามสภาพสังคมปัจจุบันแล้วก็น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ชาวพุทธส่วนใหญ่ไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ บทสวดประเภทแรกเราอาจข้ามไปได้บ้างเพราะเทคโนโลยีทันสมัย แต่ประเภทที่ ๒ และ ๓ ซึ่งมีคุณค่ามากในการทำใจให้สงบและเพิ่มความรู้ คนส่วนใหญ่กลับใช้เป็นเครื่องมือหากิน(เช่นพระสงฆ์) และสิ่งปลอบประโลมใจ(เช่นคนที่ทำความชั่วหนัก เช่น ฆ่าคน ทำแท้งฯลฯ ด้วยเชื่อว่ากรรมจะตามไม่ทันฯ..มิใช่ว่าไม่มีประโยชน์เลย แต่เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงเหตุ) แม้ผู้ที่สวดประเภทที่ ๓ ก็มิได้ใช้บทสวดมนต์ที่มีสาระคือมีความสัจจริงหรือความเป็นเหตุเป็นผล แต่มุ่งไปที่การปกป้องคุ้มครองหรือการได้ลาภยศเป็นสำคัญดังจะเห็นได้จากการแต่งบทสวดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น คาถาชินบัญชร คาถาโพธิบาท บทสวดนพเคราะห์[3]ฯลฯ โดยยังพิมพ์แจกกันหลายหมื่นฉบับด้วยความเชื่อนานาประการ เช่นจะเกิดความร่ำรวย สามีจะกลับบ้าน ลูกจะเลิกดื้อ และต้องสวดเท่าอายุ หรือเท่านั้นเท่านี้ฯลฯ ซึ่งขัดกับการพึ่งตนเองและการแสวงหาปัญญาตามหลักการของพุทธศาสนาอย่างสิ้นเชิง เงินและงบประมาณเหล่านั้นหากนำมาพิมพ์พระไตรปิฎกแจกประชาชนจะมีค่าแค่ไหน เพราะชาวพุทธในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังไม่เคยเห็น/จับพระไตรปิฎกเลยฯ
      เมื่อทราบถึงวัตถุประสงค์ของการสวดมนต์แล้ว เราอาจโยงเรื่องเหล่านี้มาเข้าประเด็นการสวดมนต์ข้ามปีที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกไม่กี่วันข้างหน้า(หรือแม้โครงการ/พิธีสวดมนต์ทั่วไป)ว่ามีจุดด้อยและจุดเด่นอย่างไร?  โดยบทความนี้จะนำเสนอทั้ง ๓ ประเด็นหลักคือ ข้อดี ข้อด้อย และข้อเสนอแนะ

ข้อดีของการสวดมนต์ข้ามปี
๑. เป็นการเปลี่ยนความเชื่อและวัฒนธรรมที่คนส่วนใหญ่นิยมกินเลี้ยง ดื่มเหล้าฉลองกันมาเป็นการเข้าวัดสวดมนต์ มีความสุขในบุญกุศลฯ
๒. ทำให้พุทธบริษัทโดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนไม่ออกห่างจากพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่รักษากันมาตั้งแต่บรรพบุรุษฯ
๓. เป็นการลดอันตรายและอุบัติเหตุอันจะเกิดจากการดื่มของเมา ซึ่งจะส่งผลเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน
๔. วัดได้รับผลประโยชน์คือการบริจาคเงินและ/หรือปัจจัยอื่นๆอันเป็นการค้ำจุนพระศาสนา
๕. (ผลที่สูงสุด) ผู้มาร่วมพิธีสวดมนต์สามารถทำใจให้เป็นสมาธิได้และบ้างสามารถเข้าใจหลักคำสอนทางพระศาสนาได้ เพราะปกติมักไม่มีเวลาสวดมนต์หรือศึกษาธรรมะ

ข้อด้อยของการสวดมนต์ข้ามปี
๑. เมื่อมีการจัดโครงการหรือพิธีสวดมนต์เช่นนี้ขึ้น หากพระภิกษุไม่มีความสามารถ(หมายถึงความเข้าใจพระพุทธศาสนา) แม้สามารถนำศรัทธาประชาชนมารวมกันในวัดได้เป็นหมื่นคน แต่กลับไม่ใช้โอกาสสอน/แถลงหลักการพระศาสนา(อันเป็นเหตุเป็นผลและเสริมสร้างปัญญา)ได้ การมารวมตัวเพื่อสวดมนต์อย่างเดียวจะมีประโยชน์น้อยเกินไป ซึ่งไม่ต่างจากการสวดอยู่ที่บ้าน ทั้งที่ใช้เวลาสั้นและปลอดภัยกว่าฯ
๒.  หากผู้สอนมีเจตนาร้าย จากเดิมที่ต้องการให้ชาวบ้านหยุดฉลองกันด้วยเครื่องเมามาสวดมนต์ ก็กลับใช้โอกาสในการสอนธรรมะที่ผิด เช่น บริจาคเงินเท่านั้นจะได้อย่างนี้ฯลฯ หวังเงินบริจาคเป็นหลักโดยไม่ยอมอธิบายเรื่องหลักการทำบุญที่ถูกต้องให้ทราบ(ดังจะอธิบายต่อไป) ก็จะเปลี่ยนจากเมาเหล้าเป็นเมาบุญ (ซึ่งดีกว่าก็จริง) แต่กลายเป็นคนบ้าบุญ ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินมาทำบุญ ไม่ยอมให้เงินลูกไปโรงเรียนเพื่อเอาเงินไปทอดกฐินฯ กลายเป็นคนเห็นแก่ตัว(หยิ่งว่าตนดีกว่าผู้อื่น) ตำหนิคนทั้งหลายที่ทำดีน้อยกว่าตนฯลฯ ซึ่งกลับทำให้คนมีความสุขน้อยลง(เพราะเป็นมิจฉาทิฏฐิ)และเป็นคนที่สังคมรังเกียจ
๓. ที่กล่าวว่าวัดจะได้รับประโยชน์หรือเป็นการสืบทอดพระศาสนานั้น ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่าการสืบทอดพระศาสนาทำได้ ๒ ทางคือ พัฒนา คน กับ วัตถุ โดยการพัฒนาวัตถุอาศัยเงินและความสามัคคีเป็นหลัก(สังเกตได้จากงานกฐินทั่วไป) ส่วนการพัฒนาคนเป็นเรื่องยากกว่า เพราะต้องอาศัยความตั้งใจของผู้นั้นเอง กอปรกับการส่งเสริมและเปิดโอกาสของผู้เห็นความสำคัญซึ่งมีน้อยมาก เมื่อสามารถผ่านอุปสรรคขั้นต้นนั้นได้ก็ยังมีอุปสรรคขั้นต่อไปคือ ต้องการผู้สอนที่มีความสามารถ(มิใช่แค่ท่องจำหรือยึดตามคัมภีร์เล่มใดเล่มหนึ่ง แต่เป็นการสอนให้วิเคราะห์ข้อมูลและมีตรรกะในการรับรู้สิ่งต่างๆ)แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอย่างหลังนี้เป็นเรื่องที่พุทธศาสนาให้ความสำคัญอย่างยิ่ง[4] ซึ่งการพัฒนาคนนี้ยังกระทำกันน้อย และคนนั่นเองที่จะเป็นปัจจัยหลักในการรักษาพระศาสนาได้จริง หาใช่วัตถุหรือพุทธสถานต่างๆไม่ฯ 
๔. ที่กล่าวว่าสามารถดึงคนจากการเลี้ยงฉลองด้วยเหล้ายามาเข้าวัดได้นั้น ความจริงก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะคนที่ติดเหล้ายาหรือบ้าการเลี้ยงฉลองจริงๆปกติก็ไม่เข้าวัดอยู่แล้ว และเลือกที่จะฉลองปีใหม่ที่บ้านแทนการไปสวดมนต์ในวัด ส่วนคนที่จะมาร่วมพิธีสวดมนต์(ข้ามปี)ก็เป็นคนที่ใจบุญทำทานหรือสวดมนต์เป็นปกติเช่นกัน(หากพูดให้ตรงคือคนที่ถูกหลอกมานานแล้ว?)ฯ แต่ก็พอจะมองในแง่ดีได้บ้างว่าเป็นการเปิดให้มีตัวเลือกมากขึ้นเพื่อรองรับคนที่กลับใจใหม่...ก็เช่นเดิม นั่นคือเขาสามารถมาสวดมนต์ในวัดด้วยและกลับไปดื่มเหล้าฉลองต่อที่บ้านอีกเป็นสัปดาห์ได้เช่นกัน ถึงจุดนี้เราอาจมองไม่ออกว่า หากเช่นนั้นแล้วจะทำอย่างไรได้? เหมือนที่ผู้เขียนบอกไว้ว่า ไม่มีวิธีใดจะได้ผลดีเท่ากับการสอนธรรมะ(ความจริง)เลย คือการชี้ให้เห็นความต่างของศาสนา คุณและโทษของการทำร้ายร่างกายตนเองแทนที่จะนำมาหาปัญญาฯ แต่ประการสำคัญผู้สอนต้องแสดงให้เขาเห็นด้วยว่าตนก็ทำเช่นนั้น มิใช่พูดดี แต่ขณะเดียวกันก็มัวแต่หาเงิน ลาภ ยศ ตำแหน่งฯ เพราะการที่คนไม่ยอมเข้าวัดส่วนหนึ่งมิใช่เพราะเขาชั่วฯ แต่เพราะเขามีปัญญา ระอาใจกับพฤติกรรมและสติปัญญาของพระสงฆ์เองฯ
๕. การจัดพิธีนี้ส่วนใหญ่จะเพิ่มการทำบุญสะเดาะเคราะห์เข้าไปด้วย สังเกตได้จากการมีด้ายสายสิญจ์พาดกันราวกับใยแมงมุม มีการเขียนชื่อ วันเดือนปีเกิดฯใส่โลงศพ หรือที่ยิ่งกว่านั้นลงไปนอนเลย เพื่อให้พระสะเดาะเสนียดจัญไรออกไป (ทั้งที่ไม่ทราบว่าการทำเช่นนั้นแหละเป็นเสนียดจัญไรที่ขวางปัญญาตนและเป็นทางหาเงินของอีกฝ่ายฯ) เรามักได้ยินเหตุผลที่พระทั้งหลายให้กันว่า “เพราะไม่อยากขัดใจโยม จะทำให้โยมไม่สบายใจและออกห่างพระศาสนาไป” ซึ่งฟังดูแล้วมีเหตุผลจริงๆ แต่เมื่อย้อนนึกถึงหน้าที่ของพระเองคือการศึกษาและปฏิบัติธรรม มีจุดประสงค์หลักคือการทำให้ตนเกิดปัญญาและนำพาผู้อื่นคือญาติโยมให้ดำเนินตามทางที่ถูกต้องด้วย ฐานะที่ท่านเรียกกันว่าผู้นำทางจิตวิญญาณหมายถึงคุณธรรม (หรือที่มีการให้ตำแหน่ง...พระครู) หากพระสงฆ์ต้องตามใจญาติโยม ผู้ใดประสงค์จะทำอะไรก็ยอมตามไม่ขัดข้อง(ขอเพียงตนได้ประโยชน์ด้วย)ก็ไม่น่าจะเป็นผู้นำด้านคุณธรรมของฆราวาสได้ ประเด็นนี้ผู้เขียนพยายามมองในแง่ดีที่สุดนั่นคือที่ท่านไม่ยอมอธิบายให้ฆราวาสฟังอาจเป็นเพราะ
     ก. ท่านเองไม่ได้เจตนาร้าย แต่เพราะตนก็ไม่เข้าใจพระศาสนา บวชเรียนก็ไม่ได้หวังความรู้แต่เพื่อทำตามหน้าที่ และส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาอยู่กับสังคม หายศตำแหน่ง งานฉลองต่างๆ จึงไม่มีเวลาศึกษาพระไตรปิฎกหรือหนังสืออื่นที่ถูกต้องอย่างเพียงพอฯ
     ข. เป็นประเด็นที่ตามมา คือเมื่อไม่เข้าใจหลักการพระศาสนาก็สักแต่อยู่ไปวันๆ ไม่อยากทำตัวให้มีปัญหากับใคร สังคมจะเปลี่ยนไปอย่างไร ตนก็เปลี่ยนไปตามนั้น ฆราวาสจะทำอย่างไรก็ช่าง เพียงแต่อย่าให้ตนต้องเดือดร้อน จนนานเข้าหลักธรรมที่แท้ก็เริ่มหาย ประพฤติกันตามประเพณีอย่างเดียว จึงพยายามทำทุกอย่างเท่าที่ตนมีความสามารถ(ด้วยคำที่ปลอบใจตนเองตลอดเวลาว่า “เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงาม...ทั้งที่ไม่มีสาระธรรมแฝงอยู่เลย)
      เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำทุกอย่างที่ชาวบ้านนิยม โดยไม่สนใจว่าจะผิดหลักการของศาสนาหรือไม่ ทั้งที่ความจริงสามารถอธิบายได้เพราะพุทธศาสนาเป็นเรื่องสันทิฏฐิโกและมีเหตุผลมากพออีก อย่างชาวบ้านปัจจุบันก็มีการศึกษามากขึ้น(หากเทียบกับอดีต) พิธีที่ดีเช่นนี้จึงตกเป็นเครื่องมือในการฉลองศรัทธาที่งมงายและหาผลประโยชน์ของแต่ละฝ่าย โดยใช้ชื่อโครงการที่ดีเช่น เฉลิมพระเกียรติ หรือเริ่มต้นชีวิตใหม่ เป็นต้นมาบังหน้า

ข้อเสนอแนะ(เพื่อชีวิตที่ดี)
๑. เป็นการถูกต้องแล้วที่ให้มีโครงการหรือพิธีเช่นนี้ แต่ไม่จำเป็นต้องมาทำกันข้ามคืนเพื่อหวังบุญใหญ่ เพราะพุทธศาสนาเป็นอกาลิโก มิได้จำกัดเวลาหรือวันว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้(ความจริงรวมทั้งสถานที่ด้วย คือไม่บังคับว่าต้องเป็นวัดเท่านั้น..แต่ต้องเป็นที่ที่เอื้อเช่น มีความสงบหรือมีนักปราชญ์ฯ) เมื่อใดทำดีก็เป็นกุศล ทำชั่วก็เป็นอกุศลฯ แต่หากจะตามแฟชั่นจริงๆก็ควรทำโปรแกรมให้มีสาระมากขึ้น เช่นเปลี่ยนจากการสวดมนต์ ๔ ชั่วโมง(๒๒.๐๐-๐๒.๐๐) เป็นการบำเพ็ญประโยชน์ สวดมนต์ ทำสมาธิ และแสดงธรรม(โดยผู้ที่เข้าใจศาสนา)เฉลี่ยตามเวลาที่เหมาะสมฯ
๒. งดการทำพิธีต่อชะตา สะเดาะเคราะห์ออกเสีย โดยใช้เวลาแสดงธรรม(อธิบาย) ให้ชาวบ้านเข้าใจว่า “กรรมมีทั้งดีและชั่ว ดังนั้นในชีวิตหนึ่ง คนจึงอาจทำได้ทั้งดีและชั่วเช่นกัน ที่เป็นเช่นนั้นมิใช่เพราะพระเจ้ากำหนด แต่เป็นเพราะเราไม่มีปัญญารู้เท่าทันความจริง อยากได้หรือโกรธจนหน้ามืดมองไม่เห็นความถูกต้อง ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่าหากทำผิดไปแล้ว จะย้อนเวลากลับมาใหม่ก็ไม่ได้ หรือจะชำระล้างก็ไม่ได้เช่นกันเพราะเป็นเรื่องของจิตใจ ไม่ใช่ร่างกาย[5] พุทธศาสนาจึงสอนให้คนมีสติพิจารณาก่อนตัดสินใจทำสิ่งใด และหากทำผิดไปแล้วจริงๆก็มิใช่ให้ไปแก้กรรมกับพระ ซึ่งความจริงไม่ว่าใครก็ทำให้ไม่ได้ เพราะกรรมเป็นของส่วนตัว[6] หากผู้อื่นสามารถทำให้เราบริสุทธิ์หรือสะอาดได้จริง พระพุทธเจ้าคงทำให้ทุกคนมีปัญญา บรรลุธรรมกันหมดแล้ว แต่แม้พระองค์เองก็สอนได้เฉพาะบางคนที่พอมีปัญญา คือสามารถคิดและยืนบนขาตนเองได้มิใช่ศรัทธางมงายจนมองอะไรไม่เห็น ดังนั้นวิธีการแก้กรรมของพุทธศาสนาจึงเป็นการแก้ที่ตรงตัวที่สุด คือสำนึกผิดให้ได้ในสิ่งที่ทำและตั้งปณิธานไม่กระทำสิ่งเหล่านั้นอีก(ความจริงนี้เป็นวิธีตามมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น) ตั้งตนให้ห่างจากสิ่งนั้นและพยายามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนไปสู่ทางที่ดีขึ้น อย่าไปยึดอดีตจนเศร้าใจ แต่ให้เอามาเป็นตัวอย่างหรือบทเรียนที่มีคุณค่าเท่านั้นเองฯ[7] พุทธศาสนาจึงมีหลักคำสอนคือการเว้นจากความชั่ว การส่งเสริมให้ทำความดี และการทำใจให้บริสุทธิ์ (บริสุทธิ์ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเอาใจออกมาล้างเหมือนสะเดาะเคราะห์หรืออาบน้ำมนต์) แต่เป็นการเพิ่มปัญญาให้ตนเองจนถึงขั้นเข้าใจความจริงของธรรมชาติ จนเกิดการปล่อยวาง ไม่โลภ ไม่โกรธ อีกต่อไปฯ” จะเห็นว่าการทำเช่นนี้ยังง่ายกว่ามาก หากเทียบกับการต้องไปจัดพิธีให้ใหญ่โต จ่ายเงินฟุ่มเฟือยเพื่อล้างเคราะห์กรรม ซึ่งก็ไม่ได้ผลและส่งเสริมให้คนลวงโลกทั้งหลายยังชีพอยู่ได้อย่างสบาย โดยที่คุณธรรมและปัญญาทั้งของตนเองและผู้อื่นไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยฯ ซึ่งเริ่มแรกการอธิบายเช่นนี้อาจลำบากบ้าง เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เคยได้รับฟัง แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆความเข้าใจและเหตุผลของผู้คนจะพัฒนาขึ้นตาม

      ดังนั้นเรื่องการได้รับบุญกุศลตามหลักพุทธศาสนาจึงมิใช่แค่การเสียเงินหรือสละเวลาเข้าร่วมพิธีตามที่คนทั้งหลายเข้าใจ แต่ยังมีตัวแปรสำคัญคือการพัฒนาตนเองโดยการสร้างเสริมปัญญาและช่วยเหลือหรือเป็นผู้นำให้ผู้อื่นมีโอกาสพัฒนาชีวิตสู่ทางที่ถูกต้องด้วย ประเด็นหลักที่เราสามารถนำมาวัดว่าการกระทำนั้นสมควร(คือเป็นบุญ)หรือไม่พอสรุปได้คือ
      การกระทำนั้นส่งเสริมการลด ความ โลภ โกรธ และความโง่เขลาของตนหรือไม่? (บาลีว่า โลภะ โทสะ โมหะ) หากการกระทำใดที่มุ่งให้สละเงินเพื่อแลก อยากได้ของที่ยิ่งใหญ่กว่าไม่ว่าจะเป็นนามธรรมก็ตาม เช่น จะได้เกิดเป็นเศรษฐีฯลฯ การกระทำเช่นนั้นกลับเพิ่มความโลภ จึงมิใช่บุญ (จะกล่าวได้อย่างไรหากให้คนอื่นยืมเงินเพื่อหวังดอกเบี้ยมหาศาลว่า ตนเป็นคนดี?) การบริจาคที่ได้บุญจึงเป็นการเสียสละที่แท้จริง ไม่หวังผลกลับเข้าหาตนเอง แต่หวังความเจริญของผู้อื่น เช่นบริจาคเงินเป็นค่าเล่าเรียนเด็กเพื่อให้เขามีการศึกษา/ชีวิตที่ดีฯ หรือบุญเกิดแม่แผ่เมตตา(มิใช่แค่ปาก)แต่ให้อภัยศรัตรูและสร้างความเอื้อเฟื้อในสรรพสัตว์ทั้งหลายไปในเวลาเดียวกันฯ ที่สำคัญคือพยายามตรวจสอบตนเองอยู่ตลอดว่าแต่ละอย่างที่ตนทำแล้ว มีสติปัญญาเพิ่มขึ้นหรือไม่ (มิใช่ได้แต่ความเชื่อเช่น จุดเทียนก่อนจุดธูป เจริญพุทธมนต์ต้องมีเทียนไขจุดก่อนบทอเสวนา เป็นต้น เพราะเป็นความเชื่อที่เสริมความงมงาย ไม่เกิดประโยชน์ใดเลยระหว่างคนที่ทราบกับไม่ทราบ) สามารถแยกแยะสิ่งดีชั่วได้และทำตามสิ่งนั้นได้มากขึ้น สามารถอธิบายข้อสงสัยของผู้อื่นเช่นลูกหรือเพื่อนต่างศาสนาที่มีต่อศาสนาของตนได้ฯลฯ เมื่อตนมีความรู้ที่ถูกต้องเช่นนี้เพิ่มขึ้นจริง นั่นแหละจึงจะเป็นบุญและสามารถเลือกกระทำในสิ่งที่เป็นบุญอย่างอื่นได้จริง มิใช่เอาแต่คล้อยตามสังคมหรือประเพณีโดยไม่มีวิธีตรวจสอบและพากันจมดิ่งสู่ความงมงายเรื่อยๆ


[1] มิใช่ว่าเน้นปัญญาอย่างเดียว ศรัทธาก็จำเป็น แต่ต่างจากศาสนาทั้งหลายที่ให้เอาศรัทธามาเชื่อ(ซึ่งบางทีขวางปัญญา เช่นต้องเชื่ออย่างนั้น ทำอย่างนี้ ห้ามคิดหรือถาม) แต่ศรัทธาของพุทธฯเป็นศรัทธาที่มุ่งให้คนเข้ามาตรวจสอบโดยการศึกษาและปฏิบัติเพื่อได้เกิดปัญญาเห็นจริงด้วยตนเองจนข้ามขั้นศรัทธาไปได้ในที่สุด
[2] ตัวอย่างเช่น ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ข้อ ๓๐๒ อปิจ โข ยถาสุต ยถาปริยตฺต̊ ธมฺม̊ วิตฺถาเรน̊ สชฺฌาย̊ กโรติ... ตสฺส อตฺถปฏิส̊เวทิโน ธมฺมปฏิส̊เวทิโน ปาโมชฺช̊ ชายติฯ ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีองค์ใดองค์หนึ่งซึ่งควรแก่ตำแหน่งครู หาได้แสดงธรรมแก่ภิกษุไม่เลย แต่เธอกระทำการสาธยายธรรมตามที่ได้ฟังได้เรียนไว้แล้วโดยพิสดาร ภิกษุนั้นย่อมรู้แจ้งอรรถรู้แจ้งธรรมในธรรมนั้น โดยอาการที่ตนกระทำการสาธยายนั้น ความปราโมทย์ย่อมเกิดแก่เธอผู้รู้แจ้งอรรถ รู้แจ้งธรรม ความอิ่มใจย่อมเกิดแก่เธอผู้ปราโมทย์แล้วกายของเธอผู้มีใจประกอบด้วยปีติ ย่อมสงบระงับ เธอผู้มีกายสงบระงับแล้วย่อมเสวยความสุข จิตของเธอผู้มีความสุข ย่อมตั้งมั่น นี้แดนวิมุตติข้อที่สาม ฯ
[3] ปรากฎในหนังสือ “สวดมนต์ข้ามปี เริ่มต้นดี ชีวิตใหม่” อยากให้สังเกต หน้า ๗๓ ระบุว่า “สÓหรับคนเกิดวันพุธ (กลางคืน)สวด ๑๒ จบ กินนุ สันตะระมาโน วะ ราหุ สุริยัง ปะมุญจะติฯ” ความจริงบทนี้เป็นการกล่าวถึงพระราหู(เทพเจ้า)มาอมพระจันทร์...ซึ่งพอจะชี้ให้เห็นถึงความไร้สาระบางอย่างได้ นั่นคือบทนี้แต่งขึ้นโดยอาศัยความเชื่อเก่าที่ว่าทุกสรรพสิ่งต้องมีเทพเจ้าสิง/บังคับอยู่ มิเช่นนั้นจะทำงานไม่ได้ (รวมทั้งไร่นา แม่น้ำ ภูเขาฯลฯ) ทั้งที่ปัจจุบันสามารถพิสูจน์ได้แล้วว่า ราหูอมจันทร์ไม่ใช่เทพเจ้า แต่เป็นการโคจรมาบดบังกันเท่านั้น ก็น่าแปลกใจว่าคนไทยไม่ยอมเปลี่ยนความเชื่อ(แม้หลายคนมีการศึกษาสูง) ซึ่งสะท้อนถึงการขาดวิจารณญาณและ/หรือการไม่ยอมสั่งสอนสาระธรรมที่ถูกต้องของพระสงฆ์เองฯ

[4] มิได้หมายความว่าพระพุทธเจ้าเองไม่เห็นด้วยกับเรื่องวัตถุเลย แต่วัตถุเป็นเพียงเครื่องยังชีพเท่านั้น โดยใช้คำว่า ปัจจัย(mean)...ไม่ใช่เป้าหมาย(aim) คือมีพอให้ชีวิตอยู่ได้เท่านั้น เช่นบ้านก็มีเพียงพอดี ใช้สำหรับกันแดดและฝนรวมทั้งอันตรายต่างๆ ไม่จำเป็นต้องราคาเป็นล้าน(รวมทั้งอุโบสถ ศาลาการเปรียญฯลฯ) จากนั้นก็ใช้เป็นที่พัฒนาตนเองให้มีความรู้และคุณธรรมมากขึ้นฯ
[5] พระพุทธเจ้ามักโต้ตอบศาสนาพราหมณ์ที่มีการล้างบาปในแม่น้ำว่า หากล้างได้จริง คนก็จะไม่มีบาปและไม่ต้องทนทุกข์ทรมานอย่างใดเลย กระทั่งเต่าปลาที่อยู่ในแม่น้ำก็จะไม่มีบาป กลายเป็นผู้บริสุทธิ์กันหมดฯ ขณะเดียวกันหากพูดให้เป็นตรรกะคือหากล้างบาปได้ บุญที่เคยทำมาก็ต้องถูกล้างจนหมดไปกับน้ำ(หรือบทสวดมนต์นั้น)เหมือนกัน 
[6] องฺคุตฺตรนิกายสฺส ปญฺจกนิปาต ข้อ ๕๗ กมฺมสฺสโกมฺหิ กมฺมทายาโท กมฺมโยนิ กมฺมพนฺธุ กมฺมปฏิสรโณ ย̊ กมฺม̊ กริสฺสามิ กลฺยาณ̊ วา ปาปก̊ วา  ตสฺส ทายาโท ภวิสฺสามิ...เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
[7] ความจริงในศาสนาคริสต์ก็สอนเช่นนี้ แต่เป็นเพราะคนส่วนใหญ่(แม้ชาวคริสต์เอง)เข้าใจพลาด ไปจับประเด็นเรื่องการสารภาพบาป(Confession)เสีย คือมองว่าทำอะไรมาพระเจ้าก็ให้อภัย ความจริงศาสนาคริสต์สอนให้คนกลับใจโดยเฉพาะ แค่การสารภาพอย่างเดียวหามีผลไม่ ดังพระคัมภีร์ ยอห์น บทที่ ๘ เล่าเรื่องของหญิงคบชู้คนหนึ่ง ซึ่งตามกฎเมื่อถูกจับได้ต้องถูกขว้าวก้อนหินใส่จนตาย แต่พระเยซูบอกว่า หากในบรรดาพวกท่าน(คือผู้ที่ถือก้อนหินอยู่) ผู้ใดไม่เคยทำบาปเลยก็ให้ขว้าง/ฆ่านาง ปรากฎว่าทุกคนต่างทิ้งก้อนหินแล้วจากไปทีละคน นางจึงถามพระเยซูว่าจะ-ให้นางทำอย่างไร(จึงจะพ้นบาป?) พระองค์ตรัสว่า ไปเสียเถิด แล้วอย่าทำอย่างนี้อีก (The New Testament John 8:7 So when they continued asking Him, He raised Himself up and said to them, "He who is without sin among you, let him throw a stone at her first."8 And again He stooped down and wrote on the ground….)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น