วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

โล้นซ่าหลอกลวงประชาชน ตอนที่ ๒ พระธรรม

ปกติชาวพุทธชอบแปล “พระธรรม” แบบง่ายและตรงที่สุดคือ “คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า” อาจเทียบได้กับศาสนาคริสต์คือ คำสั่งสอนของพระเยซู หรืออิสลามคือของท่านนบีมูอัมหมัดฯ ความจริงการแปลอย่างนี้มิได้มีอะไรผิด แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้แปลไม่ได้สื่อความหมายให้ทราบถึงความแตกต่างเบื้องต้นระหว่างศาสนานั่นเอง บางคนบอกว่า “ไม่จำเป็น ยิ่งเห็นความต่างมากเท่าไร เราก็ยิ่งขัดคอกันมากเท่านั้น แค่เรื่องการเมืองก็เป็นอุทาหรณ์มามากพอแล้ว เพราะฉะนั้นสอนไปเถอะว่า ศาสนาทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี” ประโยคนี้พูดกันจนทำให้เราแยกศาสนาแต่ละศาสนาไม่ออก ขอถามหน่อยว่า ถ้าจะยึดเอาประโยคเช่นนั้นจริงคือทุกศาสนาเหมือนกัน ทำไมคนศาสนาอื่นไม่เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธให้หมด (แค่จะไปขอขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติก็ใจหวั่นขวัญเสียกันไปแล้ว) หรือถ้าพูดแบบไม่เข้าข้างตัวเองก็ต้องถามว่า ถ้าเช่นนั้นทำไมพี่โล้นทั้งหลายไม่สึกไปขลิบ....ละครับ? คำตอบง่ายๆซึ่งเป็นตรรกะคือ เพราะแต่ละศาสนาล้วนมีความแตกต่างกันไม่ว่าจะเรื่องความเชื่อ โครงสร้างด้านคำสอน การประกอบพิธีกรรม ตลอดถึงอุดมคติฯ ข้อเสียคือเราพยายามหลีกเลี่ยงการเจรจาหรือเสวนากันมาตลอดเวลาเพราะอาจเกรงเรื่องจะเกิดความขัดแย้งขึ้นได้ ความจริงความขัดแย้งเกิดเพราะการไม่ยอมพูดกันต่างหาก เอาแต่ประกอบกิจตามความเชื่อของตนอย่างเดียว นานเข้าก็คิดว่าตนเองเท่านั้นที่ดีเลิศ ส่วนผู้อื่นไร้สาระ เป็นมิจฉาทิฏฐิ พระเจ้าจะไม่มีวันให้อภัยบาปหรืออัลเลาะห์ทรงปิดตาคนเขลาพวกนั้นไว้ฯลฯ ครั้งหนึ่งกระผมเคยร่วมนั่งฟังการสวดพระอภิธรรมในงานศพคุณตาของเพื่อน โดยมีบาทหลวงนั่งอยู่ข้างๆ(ซึ่งครอบครัวนี้หลายคนนับถือคริสตศาสนา) ตอนนั้นกระผมกำลังเรียนพระคัมภีร์ใหม่และมีหลายอย่างที่ยังสงสัยอยู่ จึงชวนท่านพูดเรื่องหลักคำสอนของพระเยซูเพื่อหาคำตอบไปด้วยในตัว แต่ไม่เป็นไปดังที่คิด นั่นคือท่านปฏิเสธที่จะพูดเรื่องนี้โดยอาจมาจากเจตนาที่ดีซึ่งท่านให้เหตุผลว่า “ศาสนา การเมืองและเกมส์กีฬาไม่ควรพูดในที่สาธารณะโดยเฉพาะกับคนที่ยังไม่คุ้นเคย เพราะอาจนำไปสู่การทะเลอะโต้เถียงได้” กระผมก็เข้าใจที่ท่านพูดแต่ก็แกล้งแซวกลับไปว่า “ใช่ครับ แต่นั่นมันเป็นวิสัยของคนโง่และเห็นแก่ตัวที่ไม่ยอมเปิดใจรับฟังความเห็นของคนอื่น ซึ่งสำหรับคนที่มีการศึกษาอย่างพวกเราคงไม่มีใครใจแคบขนาดนั้นจนเป็นเหตุให้ทะเลอะกันมั้งครับ” ปรากฎว่าท่านอึ้งไปนิดหนึ่งแต่ก็พยายามจะไม่พูดเรื่องนั้นอยู่ดี เพียงแต่แนะนำให้มาเปิดดูเว็บไซด์ของท่าน ซึ่งขอเรียนให้ทราบนะครับท่าน ว่ากระผมจำชื่อเว็บไม่ได้ฯ ตัวอย่างที่ยกมาเพียงเพื่อชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันเราไม่มีใจที่เปิดกว้างพอที่จะรับรู้สิ่งใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ขัดกับหลักความเชื่อของเราเอง ทำนองที่ว่า ถ้านักวิชาการคนไหนไม่ใช่แดง เราก็จะไม่ฟังและจะตั้งเจตคติ(Mind set)ไว้ก่อนเลยว่า “มันต้องเข้าข้างสนธิแน่” จึงทำให้เราพลาดที่จะรับรู้ข้อมูลหรือความจริงบางอย่างไป อย่าเพิ่งยัดความเป็นเหลืองให้กระผมนะครับ(มีมากพอแล้ว!) ที่ยกตัวอย่างสีเดียวเพราะจะไม่เป็นการเสียเวลาฯ ความจริงหลักของประชาธิปไตยอันหนึ่งจะใช้ได้ผลดีมากคือการกล้าที่จะพูดแสดงความคิดเห็นและกล้าที่จะรับฟังเพื่อปรับเปลี่ยนการกระทำของตนเอง หากสังคมไม่สามารถสร้างความรู้สึกอยากแสวงหาความรู้หรือการเปิดใจประเภทนี้ได้ ตัวประชาธิปไตยเองก็ขับเคลื่อนไปยากเช่นกัน ทำนองเดียวกับศาสนาหรือหลักความเชื่อที่หากไม่ยอมเปิดใจรับทราบข้อแตกต่าง ยัดทุกอย่างไว้ใต้พรม แล้วปลอบใจกันเองว่า “เราเป็นพี่น้องกัน” ปัญหาจะไม่รู้จักจบเพราะไม่รู้ต้นตอ อย่างน้อยก็จะถามต่อในใจว่า “ใครเป็นพี่ ใครเป็นน้องว่ะ?”


ความหมายที่แท้ของพระธรรม
     คราวนี้เราอาจกลับมาดูคำแปล “พระธรรม” ใหม่เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับพุทธศาสนานั่นคือ “สภาพที่ทรงไว้” มาจาก ธา ธาตุ(หรือ Root ในภาษาบาลี)หลายคนงงกับความหมายนี้ นั่นคือสภาวะที่มีคุณสมบัติในตัวเองนั่นคือเป็นไปตามกฎของธรรมชาติเช่น ชีวิตคือธรรมะ หมายความว่า ชีวิตจะต้องเป็นไปตามลักษณะของธรรมชาติ คือสภาพไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและไม่ขึ้นกับอำนาจความอยากของเรา...อาจยังงงอยู่ สภาพทั้งสามที่กล่าวถึงคือ กฎไตรลักษณ์นั่นเอง แล้วมาดูตัวอย่างง่ายๆคือ ชีวิตเป็นของไม่เที่ยงเพราะต้องเปลี่ยนแปลง เกิดดับอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น เซลล์ในร่างกายมีการเกิด-ดับอยู่ตลอดเวลา เพราะเหตุนี้เองที่ทำให้ร่างกายต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือล้มป่วย ความหนุ่มสาวเกิดเพราะเซลล์เกิดมากกว่าตาย ส่วนการแก่และตายเป็นเพราะเซลล์ตายมากกว่าเซลล์เกิด เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะทุกอย่างเป็นไปตามกฎธรรมชาติ (คือ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป)[1] และเหตุปัจจัย ไม่ได้เป็นไปตามใจปรารถนาของตนเช่น ไม่อยากให้แก่ก็ต้องแก่ ไม่อยากให้ตายก็ตาย ในทำนองที่ใกล้ตัวมากๆเช่น มีหูแต่ไม่อยากได้ยินเสียงก็ไม่ได้ มีตาไม่อยากเห็นก็ไม่ได้(หมายถึงที่ยังไม่หนวกและบอด) เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดโดยอาศัยเหตุ-ปัจจัยทั้งสิ้น สภาวะเช่นนี้เองที่เรียกว่า “ธรรม”


เข้าใจกฎอย่างเดียว ก็ควบคุมผลที่จะให้เกิดได้
     อธิบายเพิ่มนิดหนึ่ง เผื่อมีคนแอบเถียงในใจ(โดยไม่กล้าแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตยดังที่กล่าว) นั่นคือทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามใจปรารถนา แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เรียกว่า อนัตตาฯ เราอาจถามว่า ก็เราบังคับได้มิใช่หรือว่า จะไม่ให้ป่วยโดยการสร้างสุภาพที่ดีออกกำลังกาย หรือไม่ให้ตาย(เร็วเกินไป) โดยความไม่ประมาท? นี่เป็นความจริงมาก แต่การรู้จักระวังเหตุ ควบคุมปัจจัยแวดล้อมคือสภาพภายนอกนั่นแหละเป็นการจัดสรรกฎของธรรมชาติ โดยกฎนั้นจะส่งผลดีต่อเราฯ คือเราไม่สามารถบังคับหรือดลบันดาลให้เราสุขภาพดีได้ด้วยวาจาอันศักดิ์สิทธิ์ แต่เมื่อเราเข้าใจกฎ (เช่นกลากเกลื้อนเกิดจากเสื้อผ้า/ร่างกายที่สกปรก)เราก็สามารถใช้ความรู้นั้นมากำหนดชีวิตของเราไม่ให้เป็นกลากหรือเกลื้อนได้ด้วยการหมั่นอาบน้ำและซักเสื้อผ้าฯ สรุปก็คือทุกอย่างมิได้เป็นไปตามใจนึก แต่เป็นไปตามกฎของเหตุและปัจจัย สิ่งที่เราทำได้มากที่สุดคือการทำเหตุให้ดีเพื่อจะได้รับผลที่ต้องการ(ซึ่งผลก็ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติอยู่นั่นเอง มิได้เป็นไปตามความอยากของเรา) คือหากเราต้องการในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือขัดกับหลักธรรมชาติ เช่นอยากเกิดแต่ไม่อยากตาย อยากได้แต่ไม่อยากพรากฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นไปไม่ได้เลยเพระแย้งต่อสภาพความเป็นจริง ดังตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าสอนเรื่องสิ่งที่ปรารถนาแล้วย่อมไม่ประสบดังหวังว่า
    ความปรารถนา ย่อมบังเกิดแก่สัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดาอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความเกิดเป็นธรรมดา ขอความเกิดอย่ามีมาถึงเราเลย ข้อนั้น สัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้อันนั้นก็เป็นทุกข์...ทำนองเดียวกับความแก่ เจ็บ ตายฯ[2]


อีพ่อกับอีแม่...ใครมีบุญคุณมากกว่า?
เราอาจย้อนกลับมาดูพี่น้องเราเองที่ต้องทนทุกข์กับเรื่องเหล่านี้มาทั้งชีวิต ไม่อยากประสบกับความแก่ เจ็บ ตาย เราอาจนึกว่าทุกคนล้วนไม่ปฏิเสธการเกิด อาจเพราะไม่เห็นว่าการเกิดจะทรมาน(ตนเอง)ตรงไหน แน่นอนว่าการเกิดทรมารผู้อื่นอยู่แล้วคืออย่างน้อยก็มารดา เหมือนตัวอย่างที่ชอบยกกันจนซ้ำซากที่ว่า “วันเกิดลูก นั้นคล้าย วันตายแม่” แม้กระผมเองก็เคยซึ่งใจกับบทนี้มาก่อน แต่พอนานเข้า ฟังแล้วรู้สึกน้ำเน่า มิใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์เลย อย่างน้อยก็พอจะทำให้เด็กที่เข้าอบรมคุณธรรมในวัด หรือจัดงานวันแม่ในโรงเรียนร้องไห้ได้ จะได้เป็นตัวยืนยันว่าท่านวิทยากรมีความสามารถ(ในการโน้มน้าวใจเด็ก ซึ่งครูไม่เคยทำได้)โดยมิได้ตามไปดูเลยว่าหลังจากเสร็จกิจกรรมนั้นแล้ว เด็กบางกลุ่มก็ไปเสพยา ซดน้ำกระท่อมบ้านเพื่อนต่อ บ้างก็มีนัดไปบ้านแฟน(เพื่อประกอบกิจในการสร้างลูก...ซึ่งจะได้ใช้เป็นเหตุผลอ้างกับอนุชนรุ่นต่อไปว่า “วันเกิดลูก นั้นคล้าย วันตายแม่” เหมือนกันนะจ๊ะ) ผู้อ่านอย่าเพิ่งคิดว่ากระผมมองโลกในแง่ลบเกินไปนะ จริงว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ไม่มีเซ็กซ์เพราะกามารมณ์ก็มีอยู่(แม้จะไม่เคยพบเห็นก็ตาม) แต่มีเซ็กซ์เพราะต้องการสร้างมนุษย์และอบรมเขาให้บริบูรณ์ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญาเพื่อข้ามพ้นสังสารวัฏและพาสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์ด้วย...พูดให้เว่อไปกว่านั้นคือจะอบรมคุณธรรมในจิตใจเขาเพื่อจะได้เป็นพระโพธิสัตว์ รอเข้านิรวาณเป็นคนสุดท้ายฯ อยากอ้วกแตก! เพราะเรื่องราวเหล่านี้กระผมได้พบเจอมาโดยตรง(ไม่ได้หมายความว่าเป็นหนึ่งในนักเรียนพวกนั้นนะ แต่เพราะนักเรียนวัยรุ่นติดยาเล่าให้ฟังกันเกลื่อนในวัด)  ฝรั่งบางพวกถึงกับปฏิเสธแนวคิดนี้จนบอกว่า “พ่อแม่ไม่ได้มีบุญคุณอะไร ที่เราเกิดมาเป็นเพราะกามารมณ์ของท่านเท่านั้นเอง และการที่ท่านต้องมาทรมานกับการอุ้มท้องหรือคลอดก็เป็นผลที่ได้จากการแสวงหาความสุขส่วนตัวของท่านฯ” มองผิวเผินประโยคข้างต้นทั้งสองนี้มีมูลความจริงอยู่และมีความเป็นเหตุเป็นผลมาก แต่กระผมอยากให้ทราบ/คิดต่อไปว่า ความจริงการมองทั้งในด้านบวกและลบทั้งสองนั้นเป็นเรื่องสุดโต่งทั้งคู่
เราอาจพูดให้ตลก(หรือตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด)คือ ถ้าเราเป็นพ่อแม่คน เราก็อยากให้ลูกคิดกับเราตามหลักการข้อแรก คือเห็นว่าเป็นบุญคุณที่ยิ่งใหญ่มหาศาล แม้จะเอาโลกเป็นปากกา เอานภาเป็นกระดาษฯก็ไม่สามารถจะบรรยายพระคุณของเราได้หมด...อะไรบ้าง? เช่น พ่อติดเหล้า ขี้เกียจไปทำงาน ไปก็กลับค่ำ ใช้เงินฟุ่มเฟือย พอเปิดประตูบ้านก็ต้องเตะแม่ฯลฯลฯ...ส่วนแม่ชอบซื้อหวย ไปบ่อนการพนัน นั่งนินทาชาวบ้านที่ผ่านไปผ่านมา งานบ้านไม่สนใจ(บังคับให้หนูทำคนเดียว) และเริ่มบ่นตั้งแต่วินาทีแรกที่พ่อข้ามพ้นประตูเข้ามาฯลฯลฯ อันนี้เป็นแง่ลบนะครับ ความจริงน่าจะเขียนคำเตือนไว้ด้วยว่า บทความนี้ไม่เหมาะสำหรับเด็กที่มีอายุน้อยเกินไป(ปัญญาอ่อน ชอบหลอกตัวเอง) เพราะอาจมีการใช้ภาษาในทางทำลายคุณธรรมจริยธรรมที่บ่มเพาะมาอย่างดีงามได้...ให้ดีควรจะได้รับคำแนะนำ(แก้ตัว)จากผู้ใหญ่อย่างใกล้ชิดฯ เหตุที่เราอยากให้ลูกคิดถึงบุญคุณเพราะเขาจะรักและเคารพเรา อันจะเอื้อกับการอบรมสั่งสอนอีกทีหนึ่งและจะได้ไม่แย่งกันดูแลเราเมื่อแก่ นั่นคือคนพี่ก็แย่งกับคนน้องว่า “แกนั่นแหละต้องเลี้ยงดูพ่อแม่เพราะเป็นคนสุดท้อง” คนน้องก็แย่งกับคนพี่ว่า “พี่นั่นแหละต้องเลี้ยงดูท่านเพราะเป็นคนโต มีอาชีพมั่นคงแล้วฯ” อันนี้ค่อนข้างเป็นแง่ลบของหลักการข้อแรก ทีนี้มาดูแง่ลบของหลักการอันที่สองกันบ้าง
     หากเราเป็นลูก เรามักจะอ้างเหตุผล/หลักการข้อที่สอง(ของฝรั่ง) เพราะต้องการจะปฏิเสธความรับผิดชอบ ไม่อยากอยู่ในโอวาทใคร แต่หลักการนี้จะเปลี่ยนเป็นข้อแรกทันทีเมื่อเรามีลูกฯ อาจไม่ใช่เพราะความรักเสมอไป แต่เพราะความคิดเห็นแก่ตัว เอาความสนุกหรือความสบายตนเองเป็นหลัก อยากให้ผู้อื่นเชิดชูตนเองโดยที่ตนไม่ต้องการเชิดชูใครคือพยายามคิดในใจอยู่ตลอดว่าตนเป็นบุพการี ลูกที่ดีต้องเป็น “กตัญญูกตเวที” สิฯ การยึดตามหลักการข้อสองนี้ จริงอยู่ว่าเป็นการมองโลกตามเป็นจริงแล้วส่วนหนึ่งคือเราเกิดได้เพราะกามารมณ์ แต่ปฏิเสธคุณูปการอย่างอื่นที่ตามมา เช่นหากท่านไม่รักเราจริงไฉนไม่ไปทำแท้ง?(เพราะเงินทำแท้งไม่กี่หมื่นเทียบแล้วน้อยมากกับเงินที่เลี้ยงเราจนโตและมีการศึกษา) แม่ต้องระวังตัวมากกว่าเดิมเพื่อให้เราที่อยู่ในครรภ์โดยไม่เจ็บปวดหรือได้รับอันตราย พ่อซึ่งขณะแม่ตั้งท้องและหลังคลอดก็ต้องทำงานหนักมากกว่าเดิมเพื่อแม่จะได้พักผ่อนและดูแลเราอย่างเต็มที่ ทั้งคู่ต่างคิดชื่อเราไว้แต่ยังไม่เกิดและบ้างก็ทำงานหาเงินฝากในบัญชีให้เรา ซื้อเครื่องอำนวยความสะดวกไว้รอเช่น ปูพรมที่พื้นเพื่อลูกล้มจะได้ไม่เจ็บ ซื้อกรงใส่หมาตัวดุเพราะมันจะได้ไม่มาทำร้ายลูกเป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากความรักทั้งสิ้น เดี๋ยว...พูดไปพูดมา ขอหยุดเช็ดน้ำตาก่อนฯ ตกลงแกก็เป็นหนึ่งในพวกวิทยากรนั้นแน่เลย!
     เรามาวิเคราะห์ข้อเท็จจริงกันดู กระผมไม่ได้เห็นด้วยกับความคิดแบบใดแบบหนึ่งที่สุดโต่งเพียงอย่างเดียว นั่นคือการหลอกลูกให้ซาบซึ้งบุญคุณพ่อแม่จนตาบอดมองไม่เห็นข้อเสียเลยก็ไม่ดี เพราะลูกจะกลายเป็นทาสที่ต้องฟังทุกอย่างโดยมิอาจจะโต้แย้งได้เลยแม้บิดามารดาเป็นคนโง่เขลา นิสัยเสีย (ด้วยความเชื่อที่ว่า ถกเถียงบุพการีหรือทำให้ท่านน้ำตาร่วงเป็นบาป...ศาสนาไหนเนี่ย?) อีกหลักการหนึ่งก็มองไม่เห็นคุณค่าของบิดามารดาหรือผู้ที่เลี้ยงดูเลย คิดแต่ว่าเมื่อเอาตัวรอดได้แล้วก็บินจากไปไม่ใยดี เราเกิดมาเพราะท่านหน้ามืดฯ การคิดเช่นนี้เป็นความเห็นแก่ตัว ผลักภาระหน้าที่ในการเลี้ยงดูญาติมิตรผู้มีอุปการะคุณ เราอาจใช้คำอาจารย์ส.ศิวรักษ์ให้คำนิยามพฤติกรรมคนประเภทนี้ว่า “บัดซบที่สุด”....ปล.ของอาจารย์ ส.นะครับ กระผมไม่เกี่ยวฯ สรุปก็คือบุญคุณไม่ได้เกิดเพราะเขาเป็นบิดาเราหรือมารดาเรา (ถ้าเช่นนั้นก็จะต้องมาเถียงกันต่ออีกว่า ท่านทั้งสองใครมีคุณมากกว่ากัน?)แต่ในทางพุทธศาสนา(หลักความเป็นจริง) บุญคุณอยู่ที่ว่าใครทำให้เราและทำมากทำน้อยต่างหาก เช่น ขณะที่ถุงยางอนามัยรั่วหรือไม่นั้นยังไม่เกี่ยวกับเรื่องบุญคุณโดยตรงต่อเรา พูดตามหลักอภิธรรมคือจิตของมารดาบิดาในตอนนั้นไม่ได้สหรคตด้วยเมตตาหรือกรุณา แต่เป็นราคะ(ความใคร่ในกาม)ฯ บุญคุณจึงเกิดเมื่อท่านทราบ(ภายหลัง)ว่าเราปฏิสนธิในครรภ์แล้วและเริ่มเกิดความรักในเรา ปรารถนาให้เรามีความสุขสบายไม่ทุกข์ทรมานและที่ชัดเจนกว่านั้นคือการเลี้ยงดูเราเมื่อคลอดออกมาด้วยความกระตือรือร้น หาอาหารให้เรากิน พาเราวิ่งออกกำลังกายและให้ความรู้ด้วยการส่งเข้าโรงเรียนเป็นต้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นบุญคุณโดยตรงที่ปฏิเสธไม่ได้(ต่อให้เป็นฝรั่งก็ตาม) ส่วนการแบ่งว่าใครมีคุณมากกว่ากัน พุทธศาสนาไม่ได้เอาความเชื่อว่าต้องเป็นเจ้าของอสุจิ หรือโรงงานไข่ แต่เป็นคนที่สละแรงกายและใจดูแลรักษาเราต่างหาก (กรรมวาที) เมื่อเป็นเช่นนี้ หากพ่อดูแลเรามากกว่า ท่านก็มีบุญคุณมากกว่า หรือหากแม่ดูแลเรามากกว่า ท่านก็มีคุณมากกว่า หรือพูดให้ตรงกว่านั้นหากท่านสักแต่ว่าคลอดทิ้งไว้แล้วให้เราอยู่กับยาย(เหมือนชีวิตของวัลลี)โดยที่ไม่ได้ส่งเงินหรือนมผงมาช่วยเลย ทุกอย่างเป็นภาระของยายหมด ยายก็จะมีบุญคุณกับเรามากกว่าพ่อแม่...ซัดบ่อีหล่า?
   เอาเป็นว่ากลับมาเรื่องพระธรรมต่อฯ สิ่งที่ปรารถนาแล้วไม่มีทางสำเร็จได้คือสิ่งที่ขัดกับกฎของธรรมชาติคือเหตุปัจจัยนั่นเอง กระผมอยากนำเสนอเรื่องหนึ่งของท่านมัฏฐกุณฑลี ก่อนตายเป็นลูกเศรษฐีขี้เหนียว ไม่ยอมทำประกันหรือสละเงินแม้จะรักษาพยาบาลลูก สุดท้ายเมื่อลูกตายก็มัวแต่ร้องไห้คร่ำครวญ มัฏฐกุณฑลีตายไปก็เกิดเป็นเทพบุตรและแปลงร่างเป็นชายหนุ่ม(มาณพ)กลับมาปลอบบิดาโดยแกล้งทำเป็นยืนร้องไห้อยู่ไม่ใกลจากบิดา(แต่เสียงอาจดังกว่า) บิดาจึงมาดูและถามเพื่อทราบความต้องการของเด็กหนุ่มนั้น เมื่อทราบว่าเด็กนั้นต้องการพระจันทร์และพระอาทิตย์มาทำล้อแม็กซ์รถส่วนตัวจึงตอบกลับไปเป็นบทสนทนาดังนี้
“ดูกรมาณพ ท่านเป็นคนโง่ ที่ท่านมาปรารถนาสิ่งที่ไม่ควรปรารถนา ข้าพเจ้าเข้าใจว่าแม้ท่านจักตาย ก็จักไม่ได้พระจันทร์และพระอาทิตย์ทั้งสองเลย”
มาณพกล่าวว่า “แม้การไปและการมาของพระจันทร์และพระอาทิตย์ยังปรากฏอยู่ รัศมีของพระจันทร์และพระอาทิตย์นั้น ยังปรากฏอยู่ในวิถีทั้งสอง ส่วนคนที่ตายล่วงลับไปแล้วย่อมไม่ปรากฏ เราทั้งสองคร่ำครวญอยู่ในที่นี้ ใครจะโง่กว่ากัน”
พราหมณ์กล่าวว่า “ดูกรมาณพ ท่านพูดจริง เราทั้งสองคนผู้คร่ำครวญอยู่ ข้าพเจ้าเองเป็นคนโง่กว่า เพราะข้าพเจ้าอยากได้บุตรที่ตายไปแล้ว...”[3]
     อธิบายเพิ่มนิดหนึ่งเพราะภาษาพระไตรปิฎกเข้าใจยาก นั่นคือเด็กหนุ่มต้องการบอกว่า จริงอยู่ที่ตัวเองโง่เพราะอยากได้พระจันทร์และพระอาทิตย์ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย ส่วนการร้องไห้ของพราหมณ์บิดานั้นโง่คือร้องเพราะลูกตาย เมื่อตายแล้ว เผาทิ้งไปแล้ว การร้องไห้ก็เป็นไปไม่ได้เหมือนกันที่จะทำให้ลูกตื่นขึ้นมา  สรุปคือทั้งสองนี้โง่พอกันกับเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่เด็กหนุ่มต้องการบอกว่าบิดาโง่กว่า เพราะการร้องไห้อยากได้พระอาทิตย์พระจันทร์ของตนนั้นแม้จะได้ยาก(หรือไม่ได้เลย) แต่อย่างน้อยก็ยังเห็นอยู่คือมีพระจันทร์และพระอาทิตย์อยู่จริง แต่การร้องไห้ของบิดาที่อาลัยถึงคนตาย แม้ร่างกายของลูกที่ตายไปแล้วก็ไม่มีให้เห็น เมื่อเป็นเช่นนี้จะเอากลับมาได้อย่างไร?


ธรรมะในทัศนะท่านพุทธทาส
     พระธรรมโกศาจารย์หรือพุทธทาสภิกขุ(ที่ยกชื่อเต็มเพราะเกรงว่านานไปเราจะไม่มีใครทราบสมณศักดิ์ที่แท้จริงของท่านเลย ได้แต่เรียกว่า พุท-ธะ-ทาส หรือบางคนเรียกสั้นกว่านั้นว่า พุด-ทาด แต่ไม่คิดว่าจะเรียกให้สั้นไปกว่านี้ได้อีกแล้ว!)ได้ให้ความหมายของพระธรรมออกเป็น ๔ ประการหลักคือ
๑. พระธรรมคือ(ความเป็นจริงของ)ธรรมชาติ
๒. พระธรรมคือเหตุปัจจัยของธรรมชาติ
๓. พระธรรมคือหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติ
๔. พระธรรมคือผลที่ได้จากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ
ต้องยอมรับความจริงว่า อดีตกระผมเองมีความสับสนกับคำพูดประโยคเหล่านี้มาก และได้ยินคนส่วนใหญ่ชอบพูดกันว่า “พระธรรมคือธรรมชาติ” ทำให้นึกไปถึงขั้นว่า พระธรรมคือน้ำตกหรือ? หรือว่าคือต้นไม้ฯลฯ ที่ยาวไปกว่านั้นคือ “ธรรมะคือหน้าที่-การปฏิบัติธรรมะ คือการปฏิบัติหน้าที่” ก็ทำให้คิดว่า การที่ตำรวจเฝ้าแต่จับหมวกกันน็อกนั้นคือการปฏิบัติธรรมหรือ? พ่อแม่ไปกรีดยางตอนเช้า ท่านกำลังไปปฏิบัติธรรมหรือ? ถ้าให้น่าเกลียดกว่านั้นคือ เห็นหญิงขายบริการใส่ชุดเซ็กนั่งซี่อยู่หน้าร้านนวดฯ พวกหล่อนกำลังเตรียมตัวปฏิบัติธรรมหรือ? ปรากฎว่าความสงสัยเหล่านี้เพิ่งมาหายไป(ไม่ใช่เพราะเป็นอรหันต์นะ แต่เพราะ)เมื่อได้ศึกษาธรรมมากขึ้นฯ กระผมจะเปรียบเทียบให้เห็นง่ายๆนั่นคือธรรมะในความหมายของท่านพุทธทาสทั้ง ๔ ข้อคือ อริยสัจ ๔ นั่นเอง
๑. พระธรรมคือ(ความเป็นจริงของ)ธรรมชาติ............ทุกข์
๒. พระธรรมคือเหตุปัจจัยของธรรมชาติ........สมุทัย
๓. พระธรรมคือหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติ......มรรค
๔. พระธรรมคือผลที่ได้จากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ..นิโรธ
อริยสัจ ๔ มีดีอะไร?
     เพื่ออธิบายหลักธรรมของท่านพุทธทาสเทียบกับอริยสัจ ๔ ก็จะขออธิบายควบคู่กันไปเลย อริยสัจ ๔ มีความสำคัญมากจนถึงขั้นต้องพูดว่า หากไม่มีอริยสัจ ๔ ก็ไม่มีศาสนาพุทธ เพราะพุทธศาสนาเกิดขึ้นเพื่อทำให้คนพ้นทุกข์โดยเฉพาะด้วยวิธีการรู้ความจริงของธรรมชาติ มิใช่ด้วยอำนาจพระผู้เป็นเจ้า การรู้อริยสัจ ๔ จึงเป็นเพียงการรู้ความจริงของธรรมชาติและสามารถปฏิบัติกับธรรมชาติได้ถูกต้อง ซึ่งเราอาจเทียบกับคนทั่วไปที่ไม่สามารถเข้าใจอริยสัจ ๔ นี้ได้(รวมตัวกระผมด้วย)ทำให้การดำเนินชีวิตเต็มไปด้วยความสุข ทุกข์ สมหวัง ผิดหวัง เพราะตั่งแต่การตั้งความปรารถนาก็ตั้งผิดจากหลักการของธรรมชาติแล้ว (หากไม่อยากให้ผิดหวังมาก ลองตั้งความปรารถนาใหม่ว่า “อยากให้ตัวเอง อกหักโดนแฟนทิ้งแล้วมันไปคบไอ้เกลอเพื่อนสนิทของเรา เมื่อแก่ก็ไม่มีลูกหลานดูแลแถมถูกไล่ให้ไปนอนข้างเจดีย์ในวัด เจ็บป่วยไปโรงพยาบาลก็ถูกปฏิบัติไม่ต่างจากโรงฆ่าสัตว์ที่หากรอดกลับมานับว่าโชคดียิ่งกว่าถูกหวย ตายแล้วคนมางานก็ไม่ได้ต้องการทำบุญอุทิศฯแต่จัดงานเพื่อเอาหน้า รับแขก เลี้ยงฉลองกินเหล้า เล่นการพนันกันเป็นต้นสิ แล้วจะทราบว่าตนเองจะสมหวังในอีกไม่ช้าเป็นแน่) ตลอดจนการไม่รู้จักวิธีแก้ปัญหาตรงต้นเงื่อน เช่นอยากได้ความสุขก็มัวแต่วิ่งหาความสุขจากการเสพ ได้วัตถุมาบำรุงบำเรอ จนมองไม่ออกว่าความจริงการรู้จักกิเลสหรือความอยากของตัวเองให้ชัดรวมถึงการพิจารณาวัตถุ/ปัจจัยเป็นแค่สิ่งยังชีพ มิใช่เป้าหมายสูงสุดของชีวิตฯ จะเป็นทางออกของการแก้ปัญหาได้ เมื่อมีปัญญามองอะไรให้ทะลุดังนี้แล้วจะสามารถพ้นทุกข์ไปได้เรื่อยๆ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่าการพ้นทุกข์ก็คือการเข้าใจอริยสัจ ๔ นั่น แล้วอย่ามาพูดว่าตนเองบรรลุแล้วทั้งที่ยังไม่รู้จักอริยสัจหรือไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดเองตามภาษิตด้านล่างนี้ว่า
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราไม่ตรัสรู้ทุกขอริยสัจตามความเป็นจริงแล้ว ฯลฯ ไม่ตรัสรู้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจตามความเป็นจริงแล้ว จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบ ดังนี้ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เปรียบเหมือนผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราไม่ได้กระทำเรือนชั้นล่าง แล้วจักยกเรือนชั้นบนแห่งเรือนยอด ดังนี้ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ฉันใด ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราไม่ได้ตรัสรู้ทุกขอริยสัจตามความเป็นจริงแล้ว ฯลฯ ไม่ตรัสรู้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาตามความเป็นจริงแล้ว จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบ ดังนี้ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ฉันนั้นเหมือนกัน.[4]
ดังที่กล่าวว่า อริยสัจ ๔ เป็นหลักการใหญ่ของศาสนาพุทธ เราจะเห็นว่าแม้ธรรมะข้อนี้ข้อเดียวยังสามารถปฏิเสธความเห็นผิดของหลายศาสนาได้เช่น พระเจ้า! (เป็นคำนามนะ ไม่ใช่คำอุทาน) พุทธศาสนามิได้บอกว่า ความสุขและทุกข์ขึ้นอยู่กับพระเจ้า (ความทุกข์เกิดจากการที่พระเจ้าทรงทดลอง....ขอจงอย่านำข้าพเจ้าไปสู่การทดลองฯ...อาเมน[5] และความสุขเกิดจากการตบรางวัลของพระเจ้า) ในทางตรงกันข้าม พุทธศาสนาชี้ว่าความทุกข์หลักเกิดจากความอยากหรือความยึดมั่น เราอาจตั้งคำถามต่อว่า ถ้าเช่นนั้น พุทธศาสนาก็บอกว่าความทุกข์เกิดจากภายในเท่านั้นสิ ไม่เกี่ยวกับโลกภายนอก แล้วการที่เราถูกคนอื่นรุมตี รุมด่า หรือรุมกระทำชำเรา(อย่างเต็มใจ)ละ? คำตอบคือพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธเรื่องทางโลก เช่นพระองค์ตรัสว่า การเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บเป็นทุกข์ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องภายนอกทั้งสิ้น แต่ปัจจัยภายนอกมีผลน้อยมากนั่นคือจะส่งผลไปยังจิตใจอีกทีหนึ่งคือหากคนไม่รู้จักควบคุมจิตก็จะตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จากเหตุการณ์ภายนอกนั้นก็จะส่งผลไปภายในคือเกิดความทุกข์ ตัวอย่างที่ชัดเจนเช่นต้องเดินกลับบ้านกลางสายฝน(มิใช่กลัวคนเห็นน้ำตานะ แต่เพราะลืมพกร่ม) คนหนึ่งอาจมีความทุกข์มากและบ่นในใจหรือเอ่ยปากไปตลอดทางว่า “ซวยจริงๆ ไอ้ฝนเองซวยเอ้ย...วันหนึ่งมีให้ตกตั้งหลายชั่วโมงไม่ยอมตก มาตกเอาเวลาเราเดินกลับบ้านฯลฯ” บางทีถึงขนาดกลับไปถึงบ้านแล้วยังบ่นให้ลูกเมียฟังอีก จนทุกคนทุกข์กันหมด สร้างความรู้สึกราวกะว่าทั้งครอบครัวเดินผ่าฝนมาด้วยกันมิปาน อันนี้เป็นความทุกข์ของนาย ก ครับ ส่งนาย ข ต้องเดินกลับบ้านในสถานการณ์เดียวกัน(อาจถูกนาย ก เดินแซงไปอย่างรีบเร่ง) ก็เดินต่อไปด้วยรอยยิ้ม คิดในใจว่า “ตนเองปลูกต้นไม้ไว้ไม่ค่อยมีเวลารดน้ำ โชคดีจริงๆที่ฝนตกมาห่าใหญ่” จะเห็นว่าทั้งสองต่างอยู่ในสถานการณ์เดียวกันแต่มีความสุขทุกข์ต่างกัน เพราะเหตุนี้เองพุทธศาสนาจึงเน้นไปที่ใจเป็นหลัก ดังคาถาธรรมบทข้อแรก(ความจริงไม่อยากยกเลย เพราะโล้นท่านชอบยกหากินเวลาเทศน์จนเราคุ้นหูกันแล้ว แต่ก็ทำงัยได้ ในเมื่อตัวเองก็เป็นโล้นคนหนึ่งและถูกโล้นรุ่นพี่ฝังหัวมาแล้วว่าให้คิดแบบนี้เท่านั้น Paradigm)ว่า
สิ่งทั้งหลายล้วนมีใจเป็นหัวหน้า สำเร็จได้เพราะใจฯลฯ หากคนมีใจร้าย การกระทำ คำพูดและความคิดล้วนแสดงออกด้วยความร้าย(ทำให้เกิดความทุกข์/เดือนร้อน) เสมือนล้อเกวียนที่เคลื่อนไปตามรอยเท้าโคผู้กำลังลากแอกอยู่....ทำนองตรงกันข้าม หากมีใจดี(มีปัญญา)ทั้งการกระทำ การพูด การคิดจะส่งผลดีเสมอ เปรียบได้กับเงาที่(เกิด)ติดตามตัวไปฉะนั้นฯ[6]
ขอเสริมนิดหนึ่ง มหายานนิกายหนึ่งคือ โยคาจาร (Yogacara) หรือที่นิยมเรียกกันว่า จิตตมาตรา มีการเน้นเรื่องจิตเป็นสำคัญ กระผมไม่ได้ต้องการเอานิกายหรือหลักปรัชญาของนิกายนี้มาประณาม เพราะความจริงนิกายนี้แม้จะเน้นเรื่องจิต ก็คือจิตเท่านั้นที่เป็นจริง อย่างอื่นไม่มีอยู่นี้(อย่าเพิ่งงงนะครับ) เป็นเรื่องที่ถูกต้องอยู่ แต่การศึกษาหลายที่โดยเฉพาะในบ้านของเถรวาท มีไทย พม่า ศรีลังกาเป็นต้นจะเข้าใจหลักการของนิกายนี้ผิดคือโยงไปว่า หากจิตมีตัวตนอยู่จริงจะจัดเข้าในลัทธิอาตมันของพราหมณ์ไปเสีย ทีนี้ก็พากันรุมด่าราวกับจะให้ตกนรกอเวจีไปเลย แล้วเราก็มานั่งเพ่งดวงแก้ว ยกย่องพระหลวงปู่หลวงตาทั้งหลายที่บอกว่า “นิพพานเป็นอัตตา” (มันต่างอะไรกับนิกายนั้นเนี่ย?) กลับมาเรื่องโยคาจารนะครับ นิกายนี้ถือว่าใจสำคัญมากตามภาษิตที่พี่โล้นบอกให้ผมยกไปแล้ว นั่นคือจะสุขหรือทุกข์เกิดที่จิตอย่างเดียวเลย คำสอนจึงสรุปลงมาว่าให้มองทุกอย่างเป็นเพียงมายา (ภาพสะท้อนของจิต เช่นที่เราเห็นสาวงาม...หมายถึงคนนะ ไม่ใช่โรคคางทูม! ที่เราทราบว่าเธอคือสาวงามนั้นเนื่องจากเรามีสัญญาหรือความจำบางอย่างถูกบันทึกไว้แล้วในจิตหรือที่เรียกว่า อาลยวิญญาณ) เพราะฉะนั้นภาพจึงเป็นผลสะท้อนของจิตเท่านั้นเอง ไม่ได้มีอยู่จริง...ผู้อ่านอย่าถามต่อนะ เพราะกระผมเองก็เริ่มจับประเด็นไม่ค่อยถูกแล้ว...ดังนั้นให้เห็นว่าจิตเท่านั้นที่มีอยู่จริงฯลฯ เมื่อพูดมาถึงขั้นนี้พี่โล้นก็ออกมาสาดกันเลยว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ สอนเรื่องความเป็นตัวตน สัสสตทิฏฐิ โดยมิได้ศึกษาให้ละเอียดต่อไปว่า ความจริงนิกายนี้มุ่งให้คนเห็นความสำคัญของจิตเป็นสำคัญ อาจเทียบกับเถรวาทตรงเรื่องของจิตตานุปัสสนาหรือการตามสังเกตจิตนั่นเอง เขาไม่ได้บอกว่าจิตเที่ยง แต่เป็นขั้นตอนการดึงคนออกจากโลกของวัตถุ นั่นคือจากที่คนเห็นว่าความทุกข์อยู่ภายนอก การแสวงหาทางดับทุกข์ก็ต้องดับข้างนอกเช่น ออกเดทกับแฟน ไปสยามพาร์ฯ ดูเจ็ดสีคอนเสริต เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่อายตนะนิพพานฯลฯก็จะย้อนกลับมาสังเกตต้นตอของปัญหาที่แท้คือความอยากในใจนั่นเอง เมื่อเขาดึงมาถึงจุดนี้แล้ว ผู้ปฏิบัติสามารถสละอารมณ์ความใคร่ภายนอกได้ เขาก็จะบอกเช่นกันว่าแม้ใจเองก็ไม่เที่ยงเพราะที่ใจสามารถรับรู้เรื่องต่างๆได้ก็ต้องอาศัยโลกภายนอกเช่น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มาเป็นตัวล่อก่อน เช่นเสื้อเหลืองเกิดความทุกข์เพราะมีความรู้สึกเกลียดท่านอดีตนายกทักษิณขึ้นมา ให้ทราบว่าความรู้สึกเช่นนั้นมิได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่อาจเป็นเพราะเขาเห็นกล่องลังสี่เหลี่ยม...ทำให้นึกถึงเค้าหน้า หรือได้ยินเสียงเด็กท่องภาษิตว่า “คนรวยแล้วจะไม่โกง” เป็นต้นหรือแม้แต่ความคิดเองซึ่งทุกอย่างนี้เริ่มแรกต้องมีร่างกายหรือขันธ์มารองรับก่อน หากไม่มีร่างกาย ตาก็ไม่มีเป็นต้น แต่น่าเสียดายที่กว่าจะอธิบายถึงขั้นนี้ได้ผู้เข้ามาศึกษาก็รีบปฏิเสธและลาออกไปนานแล้ว แม้กระผมเองสมัยเรียนเรื่องนี้ ยังไม่ทันได้ทราบถึงขั้นอธิบายจิตว่าไม่เที่ยงเลย อาจารย์สอนก็เปลี่ยนไปเรียนเรื่องอื่นโดยทิ้งให้กระผมแอบด่าโยคาจารในใจอยู่หลายปีฯลฯ
     สรุปว่าความทุกข์ที่ยิ่งใหญ่อยู่ที่ความโง่ ไม่เข้าใจความจริงตามธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดความอยากและยึดมั่นถือมั่นตามมา (ภาษาอริยสัจเรียกว่า ตัณหา) ความอยากนี้แบ่งเป็น ๓ ประเภทใหญ่คือ
๑. อยากในกาม(กามตัณหา) ไม่ได้หมายถึง sex อย่างเดียวแต่รวมเอาการสนองอารมณ์ทั้ง ๖ คือทางตา อยากเห็นรูปที่ชอบ หู อยากฟังเพลงที่ไพเราะเป็นต้น สำหรับการโยงเรื่องภพชาติก็จะบอกว่า ผู้ตาย(หมายถึงกำลังจะ...เพราะถ้าตายก็คิดไม่ได้แล้ว)มีความอยากเกิดในภพที่สามารถสนองกิเลสตัณหาหรือกามเหล่านี้ได้ (ขอย้ำ...ไม่ใช่ sex อย่างเดียวนะ คนสมัยนี้ชอบคิดแต่แง่ลบ!)
๒. อยากในภพหรืออยากเป็น(ภวตัณหา) เช่น อยากเป็นคนสวย ดาวมหาวิทยาลัย เป็นนายก อบต. หรือถ้าเป็นพี่โล้นก็จะเป็นเจ้าคุณ เจ้าคณะตำบล...จนถึงสังฆราช กระผมไม่ได้หมายความว่าการเป็นสิ่งเหล่านี้ไม่ดีนะครับ แต่ท่านต้องเข้าใจว่ามันเป็นขั้นสมมติหรือที่เขาเรียกว่า สวมหัวโขนให้ เพื่อให้ท่านสละเวลาและความสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์เพื่อสังคมเท่านั้นเอง แต่หากท่านคิดว่าเป็นเพื่อเกียรติยศ ชื่อเสียง เงิน ไฟแช็คพระราชทานเอาไว้จุดตอนเผาศพหรือผลประโยชน์ที่จะตามมาอีกหลายอย่าง โดยอยากเป็นจนประคตเอวสั่น ยอมได้แม้แต่เอาเงิน(ที่ได้จากบังสุกุลศพ)ไปแลก มันเป็นภวตัณหานะครับท่านประธาน และหากมีความปรารถนาเช่นนั้นจริงก็ต้องขออัญเชิญคำพูดของอาจารย์ ส.ศิวรักษ์ ที่กระผมอธิบายไว้แล้วเรื่อง อีพ่อกับอีแม่...ใครมีบุญคุณมากกว่า? มาสรุปอีกครั้งฯ ความจริงเราสามารถอธิบายเรื่อง ภวตัณหา ในแง่การปฏิบัติได้ด้วยนั่นคือเป็นคนที่ได้สมาธิขั้นสูง ติดในรูปฌาน คือคนประเภทนี้สามารถเข้าสมาธิจนมีความสุขได้โดยไม่ต้องไปกิน KFC หรือเข้า Cineplex ที่ใกล้ตัวกว่านั้นคือไม่มีความสุขกับการนินทาเจ้านาย คณะบดีหรือลงทุนเจาะฝาผนังแอบดูชาวบ้านฯ เขาออกมาได้จากการเสพกาม(ขอย้ำอีกครั้ง...ไม่ใช่แค่ sex) แต่มาติดกับสมาธิที่เอารูปเป็นอารมณ์แทน
๓. ความอยากปฏิเสธที่จะไม่เป็น (วิภวตัณหา) ดูแล้วอาจงงนิดหนึ่ง นั่นคือข้อนี้จะตรงกันข้ามกับข้อที่สอง มิได้หมายความว่าไม่มีความอยาก แต่ข้อที่สองเป็นความอยากที่จะโน้มเข้าหาตัว ข้อนี้เป็นความอยากที่จะผลักไสให้ออกไปจากตัว เช่นไม่อยากให้ร่างกายต้องแก่ รับไม่ได้กับสภาวะที่กำลังจะเกิดขึ้น จนต้องไปทาเล็บ ย้อมผม ดึงหน้าเป็นต้น เพื่อหนีภาวะธรรมชาติ หรือตัวเองเป็นชาวเขา หน้าตาไม่ดี ตัวดำ เมื่อเข้าเมืองก็ไม่อยากให้ผู้อื่นทราบพื้นเพของตน ซื้อครีมมาทา(เพราะเชื่อโฆษณา...รวมทั้งกระผมด้วย!) ใส่ชุดสวยเพื่อเปลี่ยนความสนใจของผู้คนจากหน้าตาไปเป็นเสื้อผ้าหรือสรีระ (บางทีเว่อเกินจนจับได้ว่าบ้านนอกแต้ๆ)หรือหากเป็นคนใต้ พูดทองแดง ก็จะพยายามดัดจนแสบคอ เปลี่ยนคำพูดบางคำจนจากถูกเป็นผิด (เช่นคำว่า นอนหลับแล้วฝัน คนใต้จะออกเสียงเป็น ขวัญ หนูนุ้ยที่เข้าเรียนกรุงเทพฯใหม่ๆมักพยายามเปลี่ยนสำเนียงคำนี้จนสำเร็จ แต่ก็ลืมไปว่ามันมีข้อจำกัด เช่นเมื่อเขาอยากพูดว่า วันเกิดต้องให้ของขวัญ...ซึ่งปกติ สำเนียงทองแดงเขาออกถูกอยู่แล้วก็ยังดัดจริตเป็น ต้องให้ของฝัน) โดยสรุปก็คือตัณหาประเภทนี้เป็นการปฏิเสธบางอย่างที่ตนไม่ประสงค์และใคร่จะหนีให้ห่างไกล เราสามารถอธิบายในแง่ปฏิบัติได้คือคนที่ติดสมาธิขั้นสูงไปอีก นั่นคือไม่เอาทั้งกามและรูปเป็นอารมณ์ คนประเภทนี้หากตายไปขณะจิตเป็นสมาธิก็จะเกิดเป็นอรูปพรหมฯ เรื่องเล่าที่น่าสนใจเกี่ยวกับเหตุที่ให้ได้สมาธิขั้นนี้คือ ผู้ปฏิบัติเริ่มเห็นโทษของร่างกายหรือขันธ์(ในระดับของภวตัณหาหรือรูปฌาน) เพราะเห็นว่าร่างกายมีความทุกข์ เป็นรังของโรคเป็นต้น หากไม่มีร่างกายเสีย ทุกอย่างก็จบ นั่นคือเมื่อไม่มีตา ก็ไม่ต้องเห็นรูป จะได้ไม่เกิดทุกข์ตามมาฯลฯ เขาจึงปฏิเสธรูปหรือขันธ์ทุกอย่าง ซึ่งก็มีแต่จิตอย่างเดียว โดยความเชื่อที่ว่าจะพ้นทุกข์ได้ ความจริงก็คือยังพลาดอยู่ตรงที่ไม่รู้จักวิธีทำลายกิเลสให้หมดจด แต่หากเกิดเป็นอรูปพรหมแม้ไม่ต้องรับทุกข์ชั่วเวลาหนึ่งก็จริง แต่เมื่อหมดบุญก็ต้องกลับมาเกิดเป็นอย่างอื่นตามสังสารวัฏอีก เพราะกิเลส(ตัวนำไปเกิด)ยังไม่ถูกทำลาย เพียงแต่กดไว้ด้วยอำนาจสมาธิเท่านั้นเองฯ


อยากพ้นทุกข์เป็นตัณหา?
     มีคำถามเกิดขึ้นบ่อยครั้งว่า การอยากปฏิบัติธรรมให้บรรลุพ้นจากสังสารวัฏไปเสีย ไม่อยากกลับมาเกิดเป็นนั่นเป็นนี่อีก นี้จัดเป็นตัณหาหรือความอยากหรือไม่? คำตอบมีสองอย่างคือ สมัยข้าพเจ้าเรียนปริญญาตรี อาจารย์จะตอบว่าเป็น...เพราะเราอยากจะสลัดตน/ผลักไสให้พ้นจากอันใดอันหนึ่งและอยู่เป็น/อยู่อีกภาวะหนึ่ง สังเกตง่ายๆก็คือภวตัณหาและวิภวตัณหานั่นเอง แต่ความอยากนี้มิใช่ไม่มีประโยชน์เลย เราสามารถใช้ความอยากมาละความอยากได้ เช่นพระนันทะที่อยากได้นางฟ้าควงแขนก็ยอมปฏิบัติธรรมจนบรรลุและไม่อยากได้นางฟ้าอีก...บางคนโหดร้ายมาก ใส่ร้ายว่าท่านปฏิบัติไปปฏิบัติมาเกิดกามตายด้าน...ความจริงคือท่านเห็นสุขอย่างอื่น(การพ้นจากกิเลส)ดีกว่ากามเท่านั้นเอง ลึกๆแล้วมิได้มีแต่อาศัยตัณหาเพื่อละตัณหา ยังมีอาศัยความโกรธละความโกรธได้ด้วยเช่น โดนคนอื่นดูถูกว่าโง่ พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ก็พยายามท่องศัพท์ ไปฝึกภาษาต่างประเทศ กลับมาสามารถพูดอังกฤษได้เลย เช่น no need, I talk you tomorrow, I sick not work today, two cola (เป็นสำเนียงมาเลเซีย ต้องการบอกว่า too cool)ฯลฯ เมื่อเก่งอังกฤษตามที่คนไทยยกย่องแล้วก็ไม่มีใครมาดูถูกอีก ความโกรธก็จะหายไปฯ และกระผมก็เชื่อคำตอบนี้มาตลอดจนได้ไปเรียนต่อ ศาสตราจารย์ชาวศรีลังกาอธิบายว่า การอยากปฏิบัติธรรมเพื่อมุ่งความพ้นทุกข์มิได้จัดเป็นตัณหาเพราะเหตุผล ๒ ประการคือ
๑. ตัณหาจะต้องเกิดจากอวิชชา(ความโง่เขลา)แต่การอยากพ้นทุกข์เป็นปัญญา (Craving is motivated by ignorance but the need to be enlightened is motivated by wisdom) เพราะความอยากของตัณหาเป็นการหามาใส่ตัวหรืออยากวิ่งหนีให้ไกลเพราะความไม่ชอบเป็นส่วนตัว แต่การอยากพ้นทุกข์มิใช่การจะหาอะไรมาใส่ตัว(สนองอารมณ์ทางอายตนะ)และไม่ใช่ความไม่ชอบส่วนตัวจึงคิดหนี แต่เพราะเห็นประโยชน์และโทษของสิ่งนั้นตามความเป็นจริง ตัดสินใจตามข้อเท็จจริง มิใช่อารมณ์ความอยากส่วนตัวฯ
๒. ตัณหาเป็นเหตุนำไปสู่ทุกข์(สมุทัย) แต่การอยากปฏิบัติธรรมนำไปสู่ทางพ้นทุกข์(เป็นมรรค/สัมมาทิฏฐิฯ) เราต้องไม่ลืมว่าพระพุทธเจ้าตรัสตัณหาเพื่อให้เห็นต้นตอของการเกิดทุกข์ และบอกให้ละเสียคือออกให้ห่างไกลจากตัณหาทั้ง ๓ หากจัดการอยากปฏิบัติธรรมเป็นตัณหาด้วย ก็จะต้องละทิ้งการปฏิบัติธรรมไปด้วย (ขอร้อง...อย่าอ้างว่าปฏิบัติโดยไม่ปฏิบัติหรือเรามีโพธิจิตบรรลุธรรรมแล้ว เพียงแต่ปล่อยวางความอยากฯลฯ คำพูดนี้เกลื่อนในนิกายเซน แต่เป็นเพราะคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ ขี้เกียจปฏิบัติเลยเอามาเป็นข้ออ้าง...นิกายเซนที่แท้เขานั่งสมาธิกันตัวเป็นเกลียวเลย) เมื่อไม่มีการปฏิบัติหรือลงมือทำ ผลก็ไม่เกิด แม้พระพุทธเจ้าเองก็ทรงสนับสนุนให้พระเร่งความเพียร เข้าไปสู่ป่า โคนไม้หรือเรือนว่าง ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นมรรควิธีสู่ความพ้นทุกข์ครับ มิใช่ตัณหา สรุปว่ากระผมก็เปลี่ยนมายึดคำตอบข้อนี้แล้วครับ อยากให้อาจารย์ปริญญาตรีอ่านตรงนี้จังฯ
ทีนี้เราอาจจะย้อนถามว่า แล้วเรื่องพระนันทะละ การอยากปฏิบัติธรรมของท่านมิใช่ตัณหาหรือ ก็เห็นกันอยู่ซัดๆว่าท่านอยากได้นางฟ้า? ตอบว่าไม่เป็นตัณหาครับ เพราะแรงบันดาลใจในการปฏิบัติของท่านตอนแรกเป็นความอยากได้นางฟ้าจริงๆ แต่หากเป็นเช่นนั้น(ดำรงความอยาก)ตลอดไป ท่านก็จะบรรลุธรรมไม่ได้ ความจริงเราชอบเล่าเรื่องของท่านข้ามไปตอนหนึ่ง นั่นคือท่านจะโดนพระทั้งหลายแซว(ประณาม)ว่าโลภจัด หน้าหม้อ หื่นกาม ปฏิบัติเพื่อให้ได้นางฟ้าฯลฯ เมื่อฟังดังนี้แล้วท่านก็คิดได้ ละอายใจขึ้นมา ปล่อยวางการอยากได้นางฟ้าและมุ่งปฏิบัติเพื่อความบรรลุธรรมเพียวๆต่อไปจนสำเร็จฯ จะเห็นว่าที่สำเร็จมิใช่เพราะความโลภอีกต่อไปแต่เป็นเพราะการเห็นโทษและปล่อยวางได้ฯ จึงสรุปคำตอบนี้ว่า ที่ท่านอยากได้นางฟ้าเป็นตัณหา แต่เมื่อท่านถูกแซวและเปลี่ยนใจมุ่งการปฏิบัติภายหลังจนบรรลุธรรมนั้นมิใช่ตัณหาครับ
     ทั้ง ๓ ประการนี้เป็นต้นเหตุของความทุกข์ที่พระพุทธเจ้าเน้นมาก หากเราเข้าใจภาวะเหล่านี้แล้วจะสามารถสรุปด้วยตนเองได้เลยว่า มิได้มีพระเจ้ามากำหนด หรือเจ้ากรรมนายเวรที่มีปีกคอยบินประกบตลอดเวลาเหมือนที่โล้นซ่าทั้งหลายสอนให้ไปสเดาะเคราะห์ (เอาถ่านหุงข้าว, ปืนสั้น ๑๑ มม. หรือชาวกาน่าไปบูชาราหูได้ไหมครับ?) นั่นก็คือความทุกข์ที่ตามมามิใช่เพราะเจ้ากรรมนายเวรไม่ยอม พาขโมยมาขึ้นบ้าน หักพวงมาลัยรถให้ชนเสาไฟ ทำให้เกิดภาวะ IMFฯลฯ แต่เป็นเพราะเราโง่ ขาดสติ ปล่อยตัวเองตามใจกิเลส แสวงหาแต่ความสุขภายนอก(หรือหากภายในก็ขั้นสมาธิ) ไม่ยอมพัฒนาปัญญาให้ดำเนินชีวิตตามหลักความถูกต้องต่างหากฯ (ขอทรงอย่านำข้าพระองค์ไปสู่การทดลอง...อาเมน)
ต่อไปจะขออธิบายแบบรวบรัดแล้ว มิเช่นนั้นหนังสือจะหนาเกินไปและยิ่งยกตัวอย่างมาก ยิ่งเสี่ยงกับการดำรงชีพและจะนำไปสู่คดีการขอให้ยุบพรรคได้อีกฯ อริยสัจประการที่ ๓ คือ
นิโรธ เป็นความสุขหรือที่นิยมใช้คำว่าสภาวะปราศจากทุกข์ ข้อนี้มีความสำคัญมากเพราะหากมิเช่นนั้นชีวิตนี้ก็จะหาความสุขไม่ได้เลย อาจเรียกว่าเป็นทางออกของชีวิต พุทธศาสนาจึงบอกว่าเมื่อชีวิตพัฒนาไปถึงขั้นหนึ่ง ผู้ปฏิบัติจะพ้นจากทุกข์ไปทีละขั้น หลายคนโดยเฉพาะฝรั่ง(โง่)ชอบอ้างว่า ศาสนาพุทธสอนให้คนมีความทุกข์ แม้ชีวิตก็บอกว่าเป็นทุกข์ อริยสัจก็ขึ้นต้นด้วยทุกข์ ไม่เหมือนกับศาสนาคริสต์ที่บอกว่าชีวิตมีความสุข พระเยซูสอนเรื่องความรัก การแบ่งปันฯลฯ ล้วนเป็นความสุขทั้งสิ้นฯ ความจริงกระผมไม่อยากมาเสียเวลากับหลักคิดตื้นๆเช่นนี้อีก(เพราะเสียมามากแล้ว) แต่ใจหนึ่งก็เกรงผู้อ่านจะค้างคา จึงขออธิบายสั้นๆว่า พุทธฯสอนเรื่องทุกข์ก็จริง แต่ไม่ได้บอกให้เราเป็นทุกข์ เพราะทุกข์เป็นความจริงตามธรรมชาติ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าต้องบังคับหรือเป็นคนพุทธเล้วเราจะเป็นทุกข์ ลองดูฝรั่งสิ หากถูกเราเตะ จะเป็นทุกข์หรือไม่? ถูกสาวไทยหลอกที่พัทยา ไฟไหม้บ้านเขา ธุระกิจล้มละลาย พ่อแม่เสียฯลฯ เขาไม่ทุกข์หรือ หรือฝรั่งไม่เคยมีน้ำตากลับมีแต่รอยยิ้ม? สิ่งเหล่านี้ครองงำมนุษย์ทุกคนมิใช่แค่ชาวพุทธฯ แต่พระพุทธเจ้าสอนความจริงข้อนี้เพื่อให้เรารู้จักและทำความเข้าใจกับมันเสียเพื่อจะได้มีสติรู้เท่าทันไม่เป็นทุกข์อีกฯ หรือง่ายๆเรื่องนิโรธที่กำลังจะอธิบายก็เป็นความสุข หนึ่งในอริยสัจ ๔ ฝรั่งก็ได้แต่อ่านตัวแรกแล้ววางหนังสือลงโดยไม่ดูตัวถัดไปฯลฯ การกระทำเช่นนี้ต้องเรียกว่า สะเพร่ามาก หรือหากอ่านจนจบแล้วยังไม่เข้าใจก็น่าจะโยงเข้าในพวกปทปรมะ นะครับ! ท่าน K.Sri.Dhammananda โยงเรื่องนี้ไว้ว่า ฝรั่งพยายามบอกว่าเขาไม่มีความทุกข์ แล้วไฉนจึงต้องมีพระผู้มาโปรด(พระเยซูมาช่วยชี้ทางถูกให้) มีการสารภาพบาป ล้างบาปฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นความทุกข์หรือ? ที่ยิ่งกว่านั้น สิ่งที่ชาวคริสต์ต้องการมากที่สุดคือ  Salvation หรือภาวะที่พ้นจากโลกและอุปสรรคทั้งหลาย เป็นการได้อยู่ร่วมกับพระเจ้าบนสวรรค์อย่างถาวร พ้นจากความลำบากทั้งหลาย...การต้องการเป้าหมายประเภทนี้มิใช่เพราะชีวิตปัจจุบันเป็นทุกข์หรือ? อธิบายแค่นี้น่าจะพอนะครับ กระผมใคร่จะเป็นศรัตรูกับโล้นซ่าอย่างเดียว ไม่อยากเป็นกับบาทหรือโต๊ะซ่าด้วยฯ แต่ขอปวารณานะครับ หากท่านเห็นว่ากระผมเข้าใจหลักการอะไรผิด จะเชิญโต้วาทีก็ขอรับด้วยความยินดีเป็นยิ่ง (เพียงอย่าส่งกระสุนมาเจรจาก็เป็นพอ!) ของเริ่มลงแล้ว...อธิบายธรรมะเราต่อดีกว่า      นิโรธหรือความสุขในทางพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่มิใช่ได้จากการอ้อนวอนหรือกราบไหว้ใครให้มาดลบันดาล ความโปรดปรานของพระผู้เป็นเจ้าไม่สามารถกำหนดชะตาความสุขหรือทุกข์ของเราได้ แต่นิโรธนี้ผู้ต้องการได้จะต้องลงมือทำอะไรบางอย่าง ซึ่งไม่ใช่การไปร้องเพลงหรือลอยกระทง แต่เป็นการทำเหตุให้ตรงกับผลที่ต้องการ เช่น อยากให้ไฟที่กำลังไหม้บ้านดับ ก็มิใช่ไปกราบพระพุทธรูป แต่ต้องโทรแจ้งสถานีดับเพลิงคือมือปราบอัคคีมาช่วยและในขณะที่รอตนต้องทำทุกอย่างเช่นใช้ถังรดน้ำไปตามความสามารถ เมื่อแก้ปัญหาดังนี้ ไฟจึงจะดับ(พ้นจากสภาวะทุกข์)หรือคนที่ปวดขา เดินลำบาก สิ่งที่จะทำให้หายมิใช่หวังการอวยพระพรหรือไปหาพระเพื่อรดน้ำมนต์ แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของโรค จากนั้นก็ดำเนินไปตามมาตรการขั้นต่อไป เช่น ผ่าตัด ฝึกการเดินแบบนุ่มนวล พบนักกายภาพบำบัด นวดทุกสัปดาห์เป็นต้น  สิ่งเหล่านี้หลายคนคิดว่ากระผมพูดเอาเอง พระพุทธเจ้าต้องไม่ตรัสเรื่องนักกายภาพฯเช่นนี้แน่ อันนี้เป็นความจริงครับ แต่พระพุทธเจ้าก็ต้องการชี้ให้เห็นถึงสาเหตุและแก้ไปตามสาเหตุของโรคแหละครับ เพราะมิเช่นนั้นนิโรธจะเกิดไม่ได้ พระพุทธเจ้าอธิบายวิธีการแก้ปัญหาออกเป็น ๘ ขั้นตอนที่เรียกว่า มรรค ดังนี้


มรรค หรือมรรคมีองค์ ๘ เป็นแนวทางการปฏิบัติตนเพื่อก้าวสู่ความพ้นทุกข์หรือได้รับสภาวะสุขตามที่อธิบายในข้อนิโรธนั่นเอง มี ๘ ประการคือ
๑. มีความเห็นตรง(สัมมาทิฏฐิ) เช่นทราบชัดว่าเบาหวานเป็นภาวะของน้ำตาลมาก
๒. มีความคิดตรง (สัมมาสังกัปปะ) เช่น คิดว่าที่ตนเป็นเบาหวานเพราะไม่ควบคุมการทานอาหารฯ
๓. มีวาจาถูกต้อง (สัมมาวาจา) คือพูดตามความจริงเกี่ยวกับโรคและสาเหตุของโรค ไม่ไปกล่าวหาคนอื่นเช่น ตนเป็นเบาหวานเพราะแฟนกลับบ้านดึกหรือโดนของฯ
๔. มีการกระทำถูกต้อง (สัมมากัมมันตะ) หมั่นพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
๕. มีชีวิตความเป็นอยู่ถูกต้อง (สัมมาอาชีวะ) เมื่อกลับบ้านก็ต้องรู้จักดูแลตัวเอง เลือกรับประทานอาหารตามที่หมอแนะนำฯลฯ
๖. มีความพยายามในทางที่ถูกต้อง (สัมมาวายามะ) การรักษาสุขภาพหรือควบคุมอาหารต้องอาศัยเวลาหรือความพยายามในการกระทำ ไม่ยอมปล่อยให้ตนตกเป็นทาสความอยากในรสอาหารฯ
๗. ระลึก/เตือนตนเองในทางที่ถูกต้อง (สัมมาสติ) พิจารณาเห็นร่างกายว่าเป็นแหล่งของโรค เห็นความเจ็บปวดว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัย สิ่งเหล่านี้เป็นกฎธรรมชาติ ไม่ไปทุกข์ร้อนเศร้าใจจนทำให้การงานอย่างอื่นเสีย
๘. ตั่งใจแน่วแน่ในทางที่ชอบ (สัมมาสมาธิ) เมื่อพิจารณาข้อที่ ๗ ได้แล้วจะสามารถดำรงรักษาความสุขต่อไปได้ อารมณ์ไม่ปรวนแปรหวั่นไหวง่ายฯลฯ
     (คำอธิบายนี้เป็น มรรค ๘ ในทางโลกิยะนะครับซึ่งพระพุทธเจ้าเน้นจริงๆคือโลกุตตระเพื่อให้พ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิงไปเลย การอธิบายแบบโลกิยะนี้จะเข้าใจชัดกว่าแม้ว่าบางตัวอย่างอาจยกมาเปรียบเทียบยาก เช่นสัมมาสติซึ่งโลกุตตระหมายเอาสติปัฏฐาน ๔ และสัมมาสมาธิที่หมายเอาฌาน ๔)


จะเห็นว่าทั้งหมดที่ยกมานี้แม้เป็นการกล่าวถึงความสามารถของมนุษย์ในการแก้ปัญหาด้วยปัญญาแต่ก็ยังสะท้อนถึงการปฏิเสธลัทธิพระเจ้าไปด้วยในตัว ซึ่งตามที่ได้เกริ่นแล้วแต่ต้นว่า ศาสนาพุทธมิได้บอกว่าไม่มีเทพเจ้าหรือเทวดา หลายครั้งที่พระพุทธเจ้ามีโอกาสแสดงธรรมกับท่านเหล่านั้น แต่พระพุทธเจ้าต้องการให้เราทราบว่า การเกิดเป็นเทวดาเป็นสิ่งที่เรากำหนดได้ เกิดเป็นพระพรหมหรือพระเจ้าเราก็กำหนดเองได้ด้วยพฤติกรรมการกระทำในปัจจุบัน เช่นผู้ได้ฌานขั้นสูงก็ไปเกิดเป็นพระพรหม คนดีทั่วไปที่ชอบช่วยเหลือคนอื่นก็เป็นเทวดาได้ แต่พระองค์ตรัสว่าสิ่งเหล่านั้นยังมิได้พ้นจากความทุกข์อย่างถาวร เพราะเราต้องยอมรับว่าความทุกข์มิได้เกิดจากปัจจัยภายนอกเท่านั้นเช่น สึนามิ น้ำท่วม โลกร้อนหรือรัฐบาลโกงเป็นต้น แม้เกิดเป็นเทพเจ้าก็ยังต้องเป็นทาสกิเลส อยู่ภายใต้ความอยาก เห็นสิ่งที่ตนชอบก็เป็นสุข พบสิ่งที่ตนไม่ชอบใจก็เป็นทุกข์ (จึงต้องมาเที่ยวขู่มนุษย์ว่า ท่านไม่พอพระทัย จะลงโทษอย่างนั้นอย่างนี้...นี่เป็นวิสัยของผู้พ้นทุกข์หรือครับ?)


เราต้องพบกันครึ่งทาง (ตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา?)
คำว่า “พบกันครึ่งทาง” นี้เราอาจได้ยินจนชาหูที่นักวิชาการหรือผู้อาวุโสออกมาแสดงความเห็นและเสนอทางออกให้ผู้ชุมนุมในช่วงต่างๆ โดยเฉพาะสมัยพันธมิตรฯจำพรรษาอยู่ทำเนียบฯเพื่อใช้เป็นตัวเลือกทางออกเรื่องการเมือง กระผมเองได้ฟังแกนนำแต่ละคนพูดเรื่องการปรองดองหรือเจอกันคนละครึ่งทาง หรือแม้กระทั่งเริ่มต้นใหม่ นิรโทษกรรม(ผู้บริสุทธิ์...ถ้าเขาบริสุทธิ์อยู่แล้ว จะนิรโทษกรรมทำไมว่ะ?)ทำให้พบว่า แกนนำพันธมิตรฯพูดตรงกับหลักการของพุทธศาสนาเรื่องพบกันครึ่งทางนี้มาก...อย่าเพิ่งยัดความเป็นเหลืองให้อีกนะครับ ไม่ได้หมายความว่าเห็นด้วยทุกเรื่อง แต่เรื่องนี้เขาพูดถูก โปรดฟังคำอธิบายก่อน พี่น้องที่รักทั้งหลายฯ
     พันธมิตรฯบอกว่าการพบกันครึ่งทางมิใช่ยกเลิกทุกอย่างแล้วเริ่มต้นใหม่ หรือนิรโทษกรรม(แม้จะนิรโทษกรรมให้พันธมิตรฯเอง) เพราะมิเช่นนั้นความผิดก็ยังคงอยู่ คนผิดก็ยังลอยนวนและพร้อมจะทำความผิดใหม่ได้ตลอดเวลาเพราะทำแล้วไม่ต้องได้รับโทษแต่อย่างใด แม้การบอกว่าให้มาพบกันครึ่งทาง คือต่างฝ่ายต่างยอมถ่อมตัวเข้าหากัน ละทิ้งอุดมการณ์(แม้จะถูกต้อง)เพื่อให้เข้ากับผู้อื่นได้ ความคิดเช่นนี้เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะบรรทัดฐานของสังคมจะเสื่อมลงเรื่อยๆเช่น “นายกโกงเป็นเรื่องธรรมดา ขอให้ประเทศอยู่ได้ก็เป็นพอ” เมื่อเชื่อกันเช่นนี้การคดโกงจะกลายเป็นเรื่องโจ่งแจ้ง ไม่ต้องละอายใครอีกต่อไป และคนที่ไม่โกงจะถูกกล่าวหาว่าโง่ฯ
     สิ่งที่ควรทำคือการยึดความถูกต้อง ตัดสินไปตามข้อเท็จจริง ฝ่ายไหนถูกต้องบอกว่าถูก ผิดต้องบอกว่าผิด (แต่ไม่ใช่ตัดสินเฉพาะคดีเสื้อแดงนะ) และฝ่ายที่ผิดจะต้องได้รับโทษ คนส่วนใหญ่ซึ่งร่วมชุมนุมเรียกว่าผู้บริสุทธิ์ (เพราะถูกหลอกมา)ก็ต้องเข้าใจความจริงและยอมรับการตัดสินไปตามกฎหมาย(ที่ถูกต้องและเป็นธรรม) นี่ต่างหากคือการพบกันครึ่งทาง โดยที่ฝ่ายถูกไม่จำเป็นต้องลดคุณธรรมตัวเองไปหาคนผิดแต่อย่างใดฯ อันนี้เป็นใจความสำคัญเรื่องทางสายกลายหรือพบกันครึ่งทางที่พันธมิตรฯพูดถึง เราจะเห็นว่าคำพูดนี้ถูกต้องมาก(ในแง่ของความเป็นจริงหรือทฤษฎี) ส่วนการจะกล่าวว่าเสื้อแดงหรือเหลืองผิดนั้นให้ดูที่การกระทำอีกทีหนึ่ง...(ได้ข่าวว่ากำลังตรวจสอบอยู่...อดใจรอนิดหนึ่งคงไม่กี่ร้อยปีเป็นแน่)


     ยึดทางสายกลางหรือพบกันครึ่งทางนี้ กระผมได้เข้าใจชัดในแง่ปฏิบัติเมื่อตอนได้ประสบกับตัวเองเมื่อพรรษาล่าสุด นั่นคือกระผมจะแสดงธรรมโดยเน้นให้คนเข้าใจธรรมะเป็นหลัก ไม่สนับสนุนการเรี่ยไรเงินทำบุญหรือยกยอเจ้าภาพเพื่อให้ติดวัดอีกต่อไป แต่ให้พยายามขยับตนจากทานเป็นการรักษาศีลและหาปัญญาเจริญภาวนาออกจากความงมงายฯ สิ่งนี้ส่งผลให้หลายครั้งถูกตัดสิทธิ์ในการเทศน์ ปิดทางทุกอย่างในการพูดในที่สาธารณะ (บางคนแซวว่าหากไม่มีการศึกษาหรือยศเปรียญธรรมค้ำไว้เขาตะเพิดสึกไปแล้ว) แต่ก็ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง นั่นคือคนที่พอจะมีการศึกษา (ไม่ใช่แค่มานั่งเคี้ยวหมากในวัด เอาหมาแมวมาปล่อยหรือเอาขวดมาตักน้ำมนต์)สามารถเข้าใจสิ่งที่กระผมสื่อและหันมาสนใจพุทธศาสนาจริงๆในทางที่ถูกได้จำนวนหนึ่งฯอาจเรียกได้ว่าเริ่มมีอิทธิพลคนหนึ่ง จนมีอาจารย์เป็นฆราวาสท่านหนึ่งเข้ามาหาถึงที่(คิดว่าพวกโล้นส่งมาเจรจาแน่เลย)แสดงความเคารพนอบน้อมและนั่งพูดอย่างปัญญาชนว่า
“ผมเห็นด้วยกับการกระทำของท่านมหา (มหาหมายถึงตัวกระผม) เพราะท่านพูดในสิ่งที่ถูกและทำในสิ่งที่พระพุทธเจ้าต้องการให้เราทำจริงๆ พุทธศาสนาเกิดมาก็เพื่อปฏิเสธความงมงาย ชี้ให้ชาวบ้านดำเนินชีวิตถูกทางฯลฯ ปัจจุบันพระท่านไม่ค่อยได้สนใจเรื่องเหล่านี้ ท่านมหาทำต่อไปนะ ส่วนผมเอง(หมายถึงอาจารย์ฆราวาส) ต้องทำหน้าที่เหมือนเป็นกรรมการวัดไปด้วย ผมก็ต้องปรับตัวให้อยู่ตรงกลาง คือธรรมะผมก็สนใจ ส่วนเรื่องการหาเงินเรี่ยไรผมก็ต้องทำเพราะวัดกำลังพัฒนา สิ่งที่เราทำมิใช่เพื่อตัวเราเอง ผมไม่เคยได้อะไรจากการสร้างวัด เจ้าอาวาสก็ไม่ได้เป็นเจ้าของวัดที่แท้จริง เราช่วยกันทำเพื่อชุมชน เพื่อศาสนา สมมติเจ้าอาวาสอยากสึกไปท่านก็เอาอะไรไปไม่ได้ฯ ผมจึงอยากให้ท่านมหาเห็นความสำคัญข้อนี้และคิดว่าเราน่าจะมาพบกันครึ่งทางได้ฯลฯ”
     อย่าเพิ่งเคลิบเคล้มหรือหัวเราะกับคำพูดนี้นะครับ ความจริงตอนนั้นกระผมไม่อยากโต้แย้งใดๆเพราะท่านเป็นที่เคารพรักของประชาชนทั่วไป อายุย่างหกสิบนับถือเสมือนปู่คนหนึ่ง จึงพูดกับท่านไปว่า “ครับๆ” แต่แม้กระผมเอง ทุกครั้งที่มานั่งนึกถึงคำพูดนี้ก็อดหัวเราะไม่ได้(ในกรณีที่อยู่คนเดียว แม้ในขณะที่นั่งพิมพ์อยู่ก็ตาม) ส่วนเวลาที่นึกออกในที่ชุมชนก็จะแค่อมยิ้ม เพราะเดี๋ยวจะโดนกล่าวหาว่าสังกัดวัดศรีธัญญาฯ เอาเป็นว่ากระผมจะอธิบายให้ฟังเป็นข้อๆนะครับ ที่สำคัญอย่าคิดว่าชอบนำเรื่องส่วนตัวมาพูด เพียงแต่ต้องการยกตัวอย่างเรื่องทางสายกลางของพุทธศาสนาหรือเจอกันครึ่งทางในทางการเมืองเท่านั้นเองฯ อีกอย่าง...หวังว่าอาจารย์คงได้อ่านนะครับ


     ๑. หน้าที่ของความเป็นพระ พระพุทธเจ้าตั้งสังคมสงฆ์ขึ้นมาเพื่อเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต เพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่า “ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาของธุลี (คือชีวิตเปื้อนฝุ่น)ฯ”[7] ต้องหมกมุ่นกับภาระหน้าที่มากมาย ไม่มีเวลาในการแสวงหาปัญญาหรืออบรมคุณธรรม ส่วนใหญ่เกิดมาเพื่อใช้ชีวิตให้สบายหรือลำบากน้อยที่สุดและรอวันตายเท่านั้นเอง ชีวิตจึงไม่มีสาระ พระองค์จึงให้มีพระสงฆ์เป็นแบบอย่างในการดำรงชีพ ตัดภาระที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น อาหารเย็น ลูกเมีย ชุดโอมเธียเตอร์คาราโอเกะ บ้านหลังใหญ่ รถยนต์ฯลฯ โดยใช้เวลาส่วนใหญ่ในการศึกษาธรรมะและฝึกฝนจิตใจให้รู้ทันกิเลส เพื่อจะได้พ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงและสามารถนำพาชาวบ้านที่โง่เขลาไปสู่ทางของปัญญาและช่วยเขาพัฒนาชีวิตในแง่จริยธรรมหรือกระทั่งการปฏิบัติธรรมได้ กระผมไม่ได้หมายความพระจะต้องทำตัวเหมือนสมัยพุทธกาลทุกอย่าง ห้ามมีเครื่องมือที่ทันสมัยเช่น โทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ (เพราะกระผมก็มี...ที่โยมได้รู้ธรรมะบ้างและโล้นซ่าต้องนอนสะดุ้งด้วยเกรงจะถูกกระชากหน้ากากก็เพราะคอมฯเก่าเครื่องนี้แหละ) คือไม่ว่าเราจะมีอะไรก็ตาม ทุกอย่างควรมีเพื่อการพัฒนาตนเองและสร้างประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยสรุปก็คือแม้สังคมจะเปลี่ยนไป วิถีชีวิตพระสงฆ์ก็เปลี่ยนไป แต่เราไม่ควรทิ้งอุดมการณ์เดิม นั่นคือเป็นสังคมตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าตั้งขึ้นเพื่อหาความรู้สาระธรรมใส่ตนเองและนำพาสังคมไปในทางที่ถูกต้อง ไม่งมงาย มิใช่ใช้จุดอ่อนของชาวบ้านคือความโง่หรืออยากได้หน้าได้ตามาเป็นเจ้าภาพกฐินฯลฯ โดยมุ่งเนื้อแท้ของธรรมะเป็นหลักมิใช่สร้างวัตถุฯ 


     ๒. ที่บอกว่าธรรมะสำคัญกว่าวัตถุหรืออาคารนั้น มิได้หมายความว่ากระผมปฏิเสธการสร้างวัตถุแบบหัวชนฝา แต่วัตถุควรมีแค่ยังชีพเท่านั้น (พุทธศาสนาเรียกว่า ปัจจัย ๔ ให้สังเกตว่าเป็นแค่ปัจจัย มิใช่เป้าหมาย) เมื่อเป็นเช่นนี้วัดหนึ่งจะมีแค่กุฏิพระหลังเล็กๆ ห้องน้ำและศาลาการเปรียญที่พอจะกันฝนได้ก็น่าจะพอแล้ว เราอาจถามต่อว่าแล้วโบสถ์ละ? ความจริงโบสถ์เราสามารถใช้ศาลาการเปรียญเป็นโบสถ์ก็ได้ หรือเอาตามพระพุทธเจ้าก็หมายถึงที่ที่พระร่วมกันสมมติขึ้นเพื่อทำสังฆกรรมเท่านั้นเอง เช่นเราสามารถเอาก้อนหินไปวางเป็นรูปสี่เหลี่ยมแล้วสมมติลานวัดตรงนั้นเป็นโบสถ์ก็ได้ ให้ดูสวนโมกข์เป็นตัวอย่าง เพราะพระพุทธเจ้าท่านมุ่งประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก มิใช่มุ่งราคาหรือความสวยหรู การบวชหรือการฟังปาฎิโมกข์ที่ใช้เวลาราว ๑ ชั่วโมงสามารถทำได้ในที่ทั่วไปแค่มีการสมมติไม่จำเป็นต้องราคา ๑๐ ล้าน ซึ่งสร้างเสร็จแล้วมิได้ใช้ประโยชน์เลย ปาฏิโมกข์ก็ไม่ลงฟังฯลฯ แล้วยังหลอกชาวบ้านว่า บุญใหญ่ มหากุศลฯลฯ ที่กล่าวมานี้เหมือนจะตึงเกินไปนะครับ นั่นก็คือวัดที่มีโบสถ์อยู่แล้วก็ไม่ต้องทุบทิ้งหรือที่กำลังจะสร้างก็ดำเนินการต่อไปได้ แต่ให้พอประมาณคือพอใช้สอยได้เท่านั้นเองไม่จำต้องราคาสูง หากท่านคิดว่าก็เรามีเงินเยอะ ชาวบ้านบริจาคไว้หลายร้อยล้านฯ เราก็เอาเงินนี้ไปเป็นทุนการศึกษาเด็กยากจน พิมพ์พระไตรปิฎกให้ชาวบ้านบ้างเพราะเขาเป็นคนพุทธฯที่ไม่เคยเห็นพระไตรปิฎกเลย ทีนี้หากจะกล่าวว่าหน้าที่พระคือการต้องพัฒนาวัดหรือวัดเรากำลังพัฒนา กระผมว่าหากมุ่งเรื่องวัตถุอย่างเดียวถือเป็นการกล่าวผิดหลักการของพุทธศาสนามาก ซึ่งสะท้อนว่าทั้งพระทั้งฆราวาส(รวมถึงอาจารย์ท่านนั้น)มิได้เข้าใจพุทธศาสนาเลย และหากเราเลือกยกย่องพระที่วาดแปลนศาลาเก่ง หาเงินเก่ง เร่ร่อนแสดงธรรมที่นั่นที่นี่ได้เงินมากมายว่าเป็นคนมีความสามารถ(โดยไม่ทำให้คนเข้าใจพุทธธรรมได้) การยกย่องประเภทนี้เป็นเรื่องน่าเวทนามาก จริงอยู่ว่าเรายกย่องท่านเพราะท่านเก่งจริง เช่นท่านเก่งบัญชี จบบริหาร หาเงินได้มากๆ แต่เราต้องไม่ลืมว่าสถานะภาพหรือภาวะของท่านมิใช่นักธุระกิจแต่เป็นพระซึ่งมีหน้าที่อีกอย่างหนึ่ง (ตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง) หากเราจำไม่ได้ให้กลับไปอ่านข้อ ๑ สรุปก็คือกระผมไม่ได้บอกว่าให้ท่านสึกไปเสีย แต่ท่านน่าจะเตือนใจตัวเองถึงหน้าที่เหล่านี้บ้างและที่สำคัญไม่ควรทำตัวเป็นศรัตรูต่อผู้ที่ตั้งใจสอนธรรมะจริงๆ


     ๓. สร้างวัดไม่ใช่ผลปะโยชน์ของตนเอง? ข้อนี้อาจกล่าวในแง่ลบนะครับ(น่าจะแง่ความเป็นจริงมากกว่า) จริงอยู่ว่าเจ้าอาวาสเมื่อสึกไป จะแบกโบสถ์หรือซุ้มประตูไปก็ไม่ได้ แต่ต้องถามว่าขณะกำลังสร้าง/หาเงินละ ท่านได้ประโยชน์บ้างหรือไม่? ทำไมหลายรูปมีเงินสร้างบ้านใหม่ให้พ่อแม่(แม้จะแสดงถึงความกตัญญู แต่ท่านเอาเงินมาจากไหน? คุณหญิงจารุวรรณจะตรวจสอบบัญชีพระ โล้นก็ออกมาโวยวายกันใหญ่..ในตัวแทนผู้นำทางจิตวิญญาณ...กระผมว่าผู้นำไร้วิญญาณมากกว่า) เอาเป็นว่าที่ยกมาอาจเป็นส่วนน้อย เราจะมองในแง่อนุโลมกันขั้นสูงสุดว่า ท่านมีความบริสุทธิ์ใจจริงๆ ไม่เคยเอาเงินวัดเลยแม้แต่สลึงเดียว(เพราะไม่มีเหรียญประเภทนั้น) แต่สิ่งที่ตามมาคือ ท่านได้ผลงานอันจะเอื้อกับการขอเลื่อนยศตำแหน่งได้อีก (พรบ.สงฆ์เรียกว่า ด้านสาธารณูปการ) เพราะหากท่านมาเป็นเจ้าอาวาสแล้วสร้างอะไรไม่ได้เลย การขอขึ้นตำแหน่งก็เป็นอุปสรรคฯ เราลองดู พรบ.สงฆ์อย่างผิวเผินว่าท่านเน้นในเรื่องใด...เพื่อนกระผมหลายคนเสนอว่าควรใช้การสัมภาษณ์ในการเลื่อนยศด้วย เช่นดูว่าท่านสอนชาวบ้านให้เข้าใจธรรมะได้หรือไม่ โดยการสุ่มเลือกชาวบ้านที่สนิทหรือเป็นโยมอุปัฏฐากท่าน มาถามคำถามเช่น ชาวพุทธควรไหว้เทวดาหรือไม่? ศีลมีจุดประสงค์เพื่ออะไร?เป็นต้น หากเขาตอบได้ถูกต้อง ตรงตามหลักการของพุทธศาสนาก็ควรให้เลื่อนตำแหน่ง แต่หากตอบไม่ถูกเลยและสะท้อนความเป็นมิจฉาทิฏฐิอีกก็ไม่ควรให้ ที่ยิ่งกว่านั้นหากทราบว่าท่านเองก็เป็นมิจฉาทิฏฐิเที่ยวพาญาติโยมปลุกเสกพระ บ้าของขลังฯลฯ ก็ควรสึกท่านเสียด้วยและไม่ต้องให้บวชอีกฯลฯ นี่ต่างหากคือการรักษาพระศาสนา เราอาจมองว่าเป็นแง่ลบเกินไป เพราะท่านที่สร้างเพื่อสอนธรรมะก็มี ประเด็นนั้นยกไว้ครับในกรณีที่เจตนาท่านดีและได้ประโยชน์จริง แต่ก็ต้องไม่ลืมนะครับว่าหลายที่แม้จะสร้างได้ใหญ่โต รับคนได้เป็นพันหรือหมื่นก็ใช้เป็นอุบายหาเงินและหลอกให้ติดอยู่กับการทำบุญหรือมิจฉาทิฏฐิอีกนั่นแหละ กระผมจึงขอยืนยันว่าตั้งแต่พบเจอมา วัดที่ใหญ่โต หรูหรา เป็นแหล่งท่องเที่ยว จะสอนธรรมะอย่างเป็นจริงเป็นจังนั้นยังไม่มี (หมายถึงมีอยู่บ้างเช่นวัดกว้าง ๓๐ ไร่มีพระ ๑๐๐ รูป แต่ก็มีเพียงคณะเดียวคือราว ๕ รูปที่สอนธรรมะได้และไม่ค่อยมีคนรู้จัก)    
     ๔. พบกันครึ่งทาง มาสรุปคำพูดของอาจารย์สักทีนะครับ นั่นคือที่อาจารย์บอกให้เรามาพบกันครึ่งทาง หมายถึง ให้กระผมกลับเข้าไปอยู่ในวัดตามปกติ(อย่ามาเปิดที่ปฏิบัติธรรมและสอนธรรมะอยู่ข้างนอก) เลิกพูดเรื่องธรรมะแต่มาช่วยกันหาเงินบ้างเพราะวัดกำลังพัฒนา เมื่อได้เงินมาแล้วเราก็มาแบ่งสรรปันส่วนให้ตามฐานะมากบ้างน้อยบ้างฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเป็นที่รักของญาติโยม มีผู้ดูแลอุปัฏฐาก และในฐานะที่มีวุฒิการศึกษาอยู่แล้วก็จะหายศตำแหน่งให้และรอเป็นเจ้าอาวาสรูปถัดไป...จะได้สร้างวัดให้เข้มแข็งเป็นที่ยึดเหนี่ยวของประชาชนไปตราบชั่วลูกชั่วหลานฯ ฮ่ะๆๆๆๆๆ ไม่ขออธิบายแล้วนะครับ คิดว่าน่าจะตาสว่างกันพอควรฯ  
     สรุปก็คือ ทางสายกลางหรือพบกันครึ่งทางตามหลักพุทธศาสนาเป็นการยึดความถูกต้องเป็นหลัก ไม่ใช่ตามภาวะของสังคม มิเช่นนั้นก็จะเป็นไปตามที่พันธมิตรฯพูดคือมาตรฐานทางจริยธรรมจะเสื่อมลงเรื่อยๆ ทางสายกลางหรือความถูกต้องนี้ต้องเป็นไปตาม มรรค ๘ นั่นคือมีความถูกต้องชอบธรรม และเน้นเรื่องความพยายามในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปสู่ทางที่ดีขึ้นฯ ตกลงอาจารย์เห็นว่ากระผมถูก พวกโล้นผิด แต่ปัจจุบันนี้อาจารย์ก็ยังอยู่กับพวกโล้นเพราะเหตุผลที่ว่าทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ได้หวังอะไรเลย ผมจะทำอย่างไรกับอาจารย์ดีครับ จะเอาสากไปควงเล่นไหมครับ?
     พระพรหมคุณาภรณ์ (ปยุตฺโต) เปรียบเทียบไว้ว่า หากเรากล่าวว่า ทางสายกลางคือการปรับตัวตามสังคมก็หมายความว่า คนหนึ่งกินเหล้า ๑๐ แก้ว อีกคนกิน ๑ แก้ว เราก็จะมองว่าคนแรกเป็นคนชั่ว คนที่สองเป็นคนดีเกินไปแบบสุดโต่ง ให้ดีเราต้องกินเหล้า ๕ แก้วอย่างนั้นหรือ? คำตอบคือแนวคิดเช่นนี้ผิด เพราะเราต้องยึดคนอื่นเป็นตัวแปรอยู่ตลอดเวลา เช่น เขาดื่ม ๒๐ แก้ว เราก็ต้องปรับไปเป็น ๑๐ แก้วเพื่อให้อยู่ตรงกลาง การกระทำเช่นนี้เป็นการกระทำที่ไม่มีหลัก พุทธศาสนาให้ยืนอยู่บนความถูกต้อง นั่นคือต้องไม่กินเหล้า(เพราะทำลายสติปัญญาตนเอง) ส่วนคนที่คิดจะมาปรองดองหรือพบกันครึ่งทางก็ต้องเลิกกินเหล้าด้วย ไม่ใช่พากันไปกินคนละครึ่ง
     เอาเป็นว่าเรื่องของพระธรรมน่าจะยุติไว้ได้แค่นี้ สิ่งสุดท้ายที่ควรระลึกถึงก็คือพระธรรมมีความสำคัญมากทั้งแก่ชีวิตพระสงฆ์และฆราวาสเอง เป็นเสมือนตัวแทนพระพุทธเจ้า พระองค์เพียงแต่แสดงไว้เท่านั้น ส่วนจะสำเร็จมากน้อยล้วนขึ้นอยู่กับความสนใจและเรี่ยวแรงในการปฏิบัติของเราเองโดยไม่พึงประมาทในชีวิตการเป็นอยู่ ผลัดวันไปเรื่อยๆเพื่อหนีการปฏิบัติธรรม เพราะชีวิตวางอยู่บนฐานของความไม่แน่นอน ดังนั้นควรเร่งรีบตั้งแต่ปัจจุบันขณะ ตามภาษิตข้างล่างนี้
    เราทราบชัดธรรมเป็นที่สลัดกิเลสเพียงดังลูกศรออก บอกทางแก่ท่านทั้งหลายแล้ว ท่านทั้งหลายพึงทำความเพียรเครื่องยังกิเลสให้เร่าร้อนพระตถาคตทั้งหลายเป็นแต่ผู้บอกชนทั้งหลาย ดำเนินไปแล้วผู้เพ่งพินิจ จะพ้นจากเครื่องผูกแห่งมารได้[8] 
    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า ดูกรอานนท์บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์(ศาสนานี้)มีพระศาสดาล่วงแล้ว  พระศาสดาของพวกเราไม่มี ก็ข้อนี้ พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมและวินัยอันใด เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา[9] 
    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา  พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ฯ[10]
     เรื่องราวของหนังสือนี้ผ่านไปแบบเรียบๆเพื่อเป็นการปูพื้นฐานความรู้ทางพุทธศาสนาเท่านั้น ยังมิได้เปิดโปงกระบวนการโล้นซ่าอย่างเผ็ดมัน แต่อย่างไรก็ตามเรื่องถัดๆไปจะเริ่มกล่วงถึงไปเรื่อยๆเพื่อจะได้ทราบข้อเท็จจริง(หมายถึงทางธรรมะนะครับ ไม่ได้ต้องการพูดถึงลูกพี่หรอก เพราะเสียเวลา) ทั้งสองตอนจึงเป็นแค่การเกริ่นนำเพื่อเข้าเรื่อง ต่อไปจึงขอออกโรงตามแบบอย่างของหนังดังทั่วไปว่า
Buffalo University ภูมิใจเสนอ
โล้นซ่าหลอกลวงประชาชน
ให้เสียงภาษาไทยโดย....อีกาเหล็ก





[1] ภาษาอภิธรรมเรียกว่า ขณะ มี ๓ ประการคือ อุปปาทะขณะ ฐิติขณะและภังคะขณะ
[2] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ข้อ ๑๔๖ ชาติธมฺมาน™ ภิกฺขเว สตฺตาน™ เอว™ อิจฺฉา อุปฺปชฺชติ...พฺยาธิธมฺมาน™ ภิกฺขเว สตฺตาน™...ฯ 
[3] ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ  มัฏฐกุณฑลีวิมาน ข้อ ๘๓ พาโล โข ตฺวมสิ มาณว โย ตฺว™ ปตฺถยสิ อปตฺถิยฯ
[4] สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ข้อ ๑๗๓๕ โย จ โข ภิกฺขเว เอววเทยฺย อหทุกฺขอริยสจฺจยถาภูตอนภิสเมจฺจฯ
[5] Matthew 6:13 (NKJV) And do not lead us into temptation, But deliver us from the evil one.
[6] ขุทฺทกนิกายสฺส ธมฺมปทคาถา ข้อ ๑๑  มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา  มโนเสฏฺา มโนมยา มนสา เจ ปทุฏฺเน  ภาสติ วา กโรติ วาฯ
[7] ทีฆนิกาย สีลขันธกวรรค ข้อ ๑๐๒ อิติ ปฏิสญฺจิกฺขติ สมฺพาโธ ฆราวาโส รชาปโถ อพฺโภกาโส ปพฺพชฺชา นยิท̊ สุกร̊ อคาร̊ อชฺฌาวสตา เอกนฺตปริปุณฺณ̊
[8] ขุททกนิกาย ธรรมบท มรรควรรค ข้อ ๓๐ อกฺขาโต โว มยา มคฺโค อญฺญาย สลฺลสตฺถน̊ ตุเมฺหหิ กิจฺจ̊ อาตปฺป̊  อกฺขาตาโร ตถาคตาฯลฯ
[9] ทีฆนิกาย มหาวรรค ข้อ ๑๔๑ อถโข ภควา อายสฺมนฺต̊ อานนฺท̊ อามนฺเตสิ สิยาฯ
[10] ทีฆนิกาย มหาวรรค ข้อ ๑๔๓ หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว วยธมฺมา สงฺขารา   อปฺปมาเทน สมฺปาเทถฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น