วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปัญหาภิกษุณีในยุคสิทธิเสรีภาพสู่ทางเลือกใหม่เป็นแม่ชีไทย เจษฏา กันตเมธี

ปัญหาภิกษุณีในยุคสิทธิเสรีภาพสู่ทางเลือกใหม่เป็นแม่ชีไทย
เจษฎา กันตเมธี ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๕
บทนำ
การบวชถือเป็นการเปลี่ยนแปลงขั้นยิ่งใหญ่ในชีวิตมนุษย์ จนหลายท่านได้คิดคำขึ้นมาใช้กันว่า “เกิดใหม่” ก็มี นั่นคือเช่นเมื่อเข้าไปบวช พระก็จะบอกว่า “เกิดใหม่ครั้งที่สอง” โดยมีพระอุปัชฌาย์เป็นผู้ให้กำเนิด แม้ในพุทธกาล อริยสาวกซ้ายขวาก็ถูกยกเปรียบเทียบกับมารดาผู้ให้กำเนิดบุตรและนางนมผู้เลี้ยงดูทารกให้เติบใหญ่ว่า “ภิกษุทั้งหลายพวกเธอจงคบพระสารีบุตร  และพระโมคคัลลานะเถิด  ภิกษุผู้เป็นบัณฑิตอนุเคราะห์เพื่อนสพรหมจารี  ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ยังทารกให้เกิด  โมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกซึ่งเกิดแล้ว ภิกษุทั้งหลายสารีบุตรย่อมแนะนำในโสดาปัตติผล  โมคคัลลานะย่อมแนะนำในประโยชน์อันสูงสุด”[1] จะเห็นได้ว่าพุทธศาสนายกย่องการบวชมากเพราะถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชีวิต แต่ต้องเข้าใจว่าการบวชในที่นี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อเข้ามาหาผลประโยชน์ อำนาจ ยศ ตำแหน่งฯลฯ แต่มีเป้าหมายเพื่อการบรรลุธรรมหรือพ้นทุกข์เท่านั้นฯ เมื่อสรุปเข้าหลักการใหญ่นี้ก็เป็นอันครอบคลุมหมดไม่เฉพาะแต่แม่ชีเท่านั้น แต่รวมเอาการบวชเป็นพระภิกษุ สามเณร กระทั่งภิกษุณีที่กำลังมีปัญหากันอยู่ด้วย เมื่อความทุกข์เข้าครอบงำมนุษย์โดยไม่เลือกเพศ การจะพ้นจากทุกข์ทางพุทธศาสนาโดยการเอาทุกข์มาพิจารณาให้เห็นโทษและเร่งฝึกฝนตนเองให้บรรลุธรรมจึงไม่จำกัดเรื่องเพศเช่นเดียวกัน บทความนี้ต้องการอธิบายเรื่องราวความเป็นมา การขาดสูญของภิกษุณีตลอดจนการเรียกร้องเสรีภาพในการบวชภิกษุณีขึ้นใหม่ โยงถึงทางออกของสังคมคือลดความขัดแย้งทดแทนด้วยการบวชชีฯ โดยจะแสดงที่มาตามคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถาฯ และประเด็นข้อถกเถียงที่สำคัญซึ่งใช้อ้างกันทั่วไปฯ
ที่มาของภิกษุณี
การบวชสตรีในพุทธศาสนาเริ่มตั้งแต่สมัยพุทธกาล กล่าวคือการอนุญาตให้อุปสมบทภิกษุณีนั่นเอง สันนิษฐานว่าจะเป็นช่วงที่พุทธศาสนามีความตั้งมั่นแล้ว[2] ด้วยเหตุว่าพุทธศาสนาเองตั้งขึ้นมาเพื่อความพ้นทุกข์ของสรรพสัตว์ จึงไม่มีข้อยกเว้นในเรื่องเพศและวรรณะ ผู้ใดปฏิบัติอย่างถูกต้องก็สามารถพ้นทุกข์ได้ ด้วยว่าศาสนายืนอยู่บนพื้นความสามารถของมนุษย์เองไม่ได้อาศัยอำนาจเทวดาหรือสิ่งใดบันดาล สตรีจึงเป็นกลุ่มหนึ่งที่สามารถเข้ามาบวชและฝึกฝนตนเองในพุทธศาสนาได้ ความจริงสตรีหรือภิกษุณีก็มีบทบาทสำคัญมากในพุทธศาสนา หลายองค์เป็นพระอรหันต์ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าด้านเอตทัคคะ(ความสามารถพิเศษ)เหมือนภิกษุ คำสอนของภิกษุณีได้ถูกบันทึกในคัมภีร์ขุททกนิกาย เถรีคาถา ซึ่งมีความลึ้งซึ้งและเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ประสงค์จะบวชชีหรือภิกษุณีได้เป็นอย่างดี โดยจะขอยกมาแสดงในที่นี้เล็กน้อย
       [นางปฏาจาราเถรี ๔๕๙] มาณพทั้งหลายพากันถือสากซ้อมข้าวอยู่ ย่อมหาทรัพย์มาเลี้ยงดูบุตรภรรยาฉันใด ท่านทั้งหลายก็ฉันนั้น จงบำเพ็ญเพียรในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่เป็นเหตุให้ผู้ทำไม่เดือดร้อนในภายหลัง ท่านทั้งหลายจงรีบล้างเท้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง จงเข้าไปตั้งจิตไว้ให้มีอารมณ์เดียวตั้งมั่นด้วยดีแล้ว พิจารณาสังขารทั้งหลายโดยความเป็นของแปรปรวน และโดยความเป็นของไม่ใช่ตนฯ
          [นางกีสาโคตมีเถรี ๔๖๔] นักปราชญ์กล่าวสรรเสริญ ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตรไว้เฉพาะในโลกว่าบุคคลผู้คบกัลยาณมิตร ถึงแม้จะเป็นพาลก็พึงเป็นบัณฑิตได้บ้าง ควรคบสัตบุรุษ เพราะปัญญาย่อมเจริญแก่บุคคลผู้คบสัตบุรุษโดยแท้ คนทุกคนมีกษัตริย์เป็นต้น เมื่อคบสัตบุรุษทั้งหลาย พึงพ้นจากทุกข์แม้ทั้งปวงได้ และพึงรู้แจ้งอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ ๑ เหตุให้เกิดทุกข์ ๑ ความดับทุกข์ ๑ อัฏฐังคิกมรรค ๑ พระพุทธเจ้าผู้เป็นสารถี ฝึกบุรุษผู้ควรฝึก ได้ตรัสไว้ว่า ความเป็นหญิง เป็นเหตุนำมาซึ่งทุกข์ เพราะว่าการอยู่ร่วมกับหญิงร่วมสามีกันก็ดี การคลอดบุตรก็มี เป็นทุกข์ทั้งนั้น หญิงบางพวกคลอดบุตรครั้งแรก อดกลั้นทุกข์อันเกิดขึ้นเพราะการคลอดบุตรไม่ไหวจึงตัดคอตนเองเสียก็มี พวกหญิงที่เจริญด้วยความสุขพากันกินยาพิษก็มี เด็กตายในครรภ์ก็มี คนทั้งสองคือเด็กอยู่ในครรภ์และมารดาผู้มีครรภ์ ย่อมได้รับความพินาศ เราเดินทางในเวลาจวนคลอด ได้เห็นสามีตายแล้ว ยังไม่ทันถึงเรือนของตน ก็คลอดบุตรกลางทางบุตรทั้งสองคนก็ตาย และสามีก็ตายในหนทาง มารดาบิดาและพี่ชายของเราผู้กำพร้า อันเขาเผาอยู่บนเชิงตะกอนเดียวกัน เมื่อสิ้นสกุลแล้ว เป็นคนกำพร้า ท่านเสวยทุกข์ หาประมาณมิได้ ก็น้ำตาของท่านไหลออกแล้ว หลายพันชาติ เราเห็นท่านและเนื้อบุตรของท่าน อันสัตว์มีสุนัขเป็นต้นกัดกินแล้ว ที่กลางป่าช้า เรามีวงศ์สกุลอันฉิบหายแล้ว เป็นผู้อันชนทั้งปวงติเตียน สามีตายแล้ว ได้บรรลุอมตธรรม อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นที่ให้ถึงอมตธรรม เราได้เจริญแล้ว แม้นิพพานเราก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว เราได้เห็นแว่นธรรมแล้ว เราเป็นผู้มีลูกศรอันตัดแล้ว ปรงภาระลงแล้ว กิจที่ควรทำเราได้ทำเสร็จแล้ว พระกีสาโคตมีเถรีเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว ได้กล่าวเนื้อความนี้ ดังนี้แล.
                    [นางอัมพปาลีเถรี ๔๖๗] เมื่อก่อน ผมของเรามีสีดำ คล้ายกับสีปีกแมลงภู่ มีปลายงอน เดี๋ยวนี้กลายเป็นเช่นปอเพราะชรา พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสจริง เป็นคำแท้ไม่กลับกลายเป็นอย่างอื่น เมื่อก่อนมวยผมของเรามีกลิ่นหอม ดุจอบด้วยดอกมะลิเป็นต้น เต็มด้วยดอกไม้ เดี๋ยวนี้มีกลิ่นเหมือนขนกระต่ายเพราะชรา...เมื่อก่อน ผมของเรามีปลายอันงาม วิจิตรด้วยหวีและเครื่องปักผมเหมือนป่าไม้อันปลูกเป็นแถวงามสะพรั่ง เดี๋ยวนี้กลายเป็นผมโกร๋นในที่นั้นๆ ...เมื่อก่อน ผมของเราประดับด้วยมวยผมอันงดงาม ดังประดับด้วยทองคำอันละเอียด มีกลิ่นหอม เดี๋ยวนี้ ล้านตลอดหัวเพราะชรา...เมื่อก่อนคิ้วของเรางดงามคล้ายรอยเขียนอันนายช่างเขียนดีแล้ว เดี๋ยวนี้ กลายเป็นคิ้วคดเคี้ยวเหมือนเถาวัลย์เพราะชรา...เมื่อก่อนนัยน์ตาของเราดำขลับ เหมือนนิลมณีรุ่งเรืองงาม เดี๋ยวนี้ถูกชราขจัดแล้วไม่งามเลย...เมื่อเวลาเรายังรุ่นสาวจมูกของเราโด่งงาม เหมือนเกลียวหรดาล เดี๋ยวนี้ กลับห่อเหี่ยวไปเหมือนจมหายเข้าไปในศีรษะเพราะชรา...เมื่อก่อนใบหูของเรางดงามเหมือนตุ้มหูที่ทำเสร็จเรียบร้อยดี เดี๋ยวนี้กลับหย่อนยานเหมือนเอาเถาวัลย์ห้อยไว้เพราะชรา...เมื่อก่อน ฟันของเราขาวงามดีเหมือนสีดอกมะลิตูม เดี๋ยวนี้กลายเป็นฟันหักและมีสีเหลืองเพราะชรา...เมื่อก่อน เราพูดเสียงไพเราะเหมือนเสียงนกดุเหว่า อันมีปกติเที่ยวไปในไพรสณฑ์ร่ำร้องอยู่ในป่าใหญ่ฉะนั้น เดี๋ยวนี้คำพูดของเราพลาดไปทุกๆ คำเพราะชรา...คอของเรางดงามกลมเกลี้ยงเหมือนสังข์ที่ขัดดีแล้ว เดี๋ยวนี้ย่นเพราะชรา...เมื่อก่อนแขนทั้งสองของเรางดงามเปรียบดังกลอนเหล็กอันกลมฉะนั้น เดี๋ยวนี้ลีบคดดุจฝักแคฝอยเพราะชรา...เมื่อก่อน มือทั้งสองของเราประดับด้วยแหวนทองคำงดงาม เดี๋ยวนี้เป็นเหมือนเหง้ามันเพราะชรา...เมื่อก่อน ถันทั้งคู่ของเราเต่งตั่งกลมกลึงชิดสนิทกัน และมีปลายงอนขึ้นงดงาม เดี๋ยวนี้กลับหย่อนเหมือนผลน้ำเต้าเพราะชรา ...เมื่อก่อน กายของเราเกลี้ยงเกลา งดงาม เหมือนแผ่นทองที่ขัดดีแล้ว เดี๋ยวนี้สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็นอันละเอียดเพราะชรา...เมื่อก่อนขาอ่อนทั้งสองของเรางดงามเปรียบเหมือนงวงช้าง เดี๋ยวนี้เป็นปุ่มเป็นปมเหมือนข้อไม้ไผ่เพราะชรา...เมื่อก่อนแข้งทั้งสองของเรา ประดับด้วยกำไลทองคำอันเกลี้ยงเกลางดงาม เดี๋ยวนี้กลับเหี่ยวแห้งเหมือนต้นงาเพราะชรา...เมื่อก่อน เท้าทั้งสองของเรางดงามอุปมาเช่นกับปุยนุ่นเพราะความที่เท้าอ่อนนุ่ม เดี๋ยวนี้กลับแตกเป็นริ้วรอยงองุ้มดังเถาวัลย์เพราะชรา...ร่างกายของเรานี้เนื่องด้วยความหย่อน เป็นที่อยู่แห่งทุกข์มาก เป็นสภาพตกไปจากเครื่องลูบไล้ เป็นดุจเรือนอันคร่ำคร่าพระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสจริง เป็นคำจริงแท้ไม่กลับกลายเป็นอย่างอื่น.
เหตุที่ภิกษุณีขาดสูญได้เร็ว
หลายคนถกเรื่องประเด็นภิกษุณีโดยมักอ้างเรื่องสิทธิ เสรีภาพขึ้นเป็นประเด็นใหญ่และมักมองพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์เองว่าเป็นตัวปิดกั้นไม่ให้มีภิกษุณีสงฆ์ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปของระเบียบวินัยที่มากล้น ขั้นตอนในการบวชและครุธรรม ๘ ประการที่ทำการบวชให้ลำบากขึ้น(คือต้องบวชจากสงฆ์สองฝ่ายทั้งภิกษุและภิกษุณี หรือบวชฝ่ายภิกษุณีอย่างเดียวจากนั้นก็ต้องส่งทูตไปแจ้งแก่ภิกษุ อีกทั้งภิกษุณียังต้องทำความเคารพภิกษุ...ความจริงประเด็นนี้มองในแง่สังคมก็ชัดอยู่แล้ว เพราะคนที่มีความรู้เรื่องธรรมวินัยคือภิกษุซึ่งมีครูอาจารย์และอยู่ใกล้ชิดฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า หากภิกษุณีบวชโดยไม่มีผู้ทรงความรู้ดูแล การบวชก็ไม่มีความหมายเพราะไม่เป็นการฝึกไตรสิกขา อีกข้อคือพระพุทธเจ้าไม่ทรงให้ภิกษุไหว้สตรีเพราะเป็นที่ติเตียนของสังคมอินเดีย) อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าการเป็นอยู่ของภิกษณีสมัยพุทธกาลมีปัญหามากกว่าภิกษุ มิใช่เพราะความประพฤติหรือนิสัยของสตรี แต่เป็นเพราะสังคมยุคนั้นมิได้ให้เกียรติแก่สตรีเท่าปัจจุบัน คนที่มีโอกาสได้ศึกษาในสำนักต่างๆเช่นตักกสิลาก็เป็นบุรุษ คนที่ทำหน้าที่ปกครองหรือเป็นผู้นำจึงต้องเป็นบุรุษไปโดยปริยาย เรื่องการยอมรับของสังคมถือเป็นใจความหลักอย่างหนึ่งของการบัญญัติพระวินัยเช่นกัน สังเกตว่าพระวินัยหลายข้อทั้งของภิกษุและภิกษุณีเกิดจากข้อตำหนิของชาวบ้าน(ทั้งที่ความเป็นจริงมิได้ขัดแย้งกับพระธรรมโดยตรง) เช่นเมื่อให้ภิกษุณีเดินทางไปไหนก็ถูกข่มขืน พระพุทธเจ้าจึงอนุญาตให้เดินทางไปกับภิกษุ ครั้นไปกับภิกษุก็ถูกชาวบ้านโพนทนาว่าผัวเมียเดินทางร่วมกันฯ ต่อมาก็ทรงอนุญาตไม่ให้เดินทางแบบสองต่อสองฯ ประเด็นนี้พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต)มองว่าเป็นเหมือนการที่พระต้องพะว้าพะวัง แบกภาระมากกว่าเดิม นั่นคือจากที่พระภิกษุสามารถทุ่มกำลังเต็มที่ในการปฏิบัติหรือออกสั่งสอนธรรม ก็ต้องมาคอยดูแลนักบวชสตรีฯ[3]   จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าเหตุที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงประสงค์ให้มีภิกษุณี เป็นเพราะความอ่อนแอของพระสงฆ์เองในการปฏิบัติศาสนากิจ(เผยแผ่คำสอนและทุ่มเวลาแก่การปฏิบัติธรรมส่วนตน) มิใช่ต้องการลดสิทธิสตรีตามที่หลายคนเข้าใจแต่อย่างใดและการที่พระสัทธรรมจะตั้งอยู่ไม่นานก็เพราะเหตุนี้นั่นเองฯ
       ประเด็นเรื่องการบัญญัติพระวินัยที่มีจำนวนมาก(๓๑๑ข้อ)ก็มิได้หมายความว่าต้องการให้ขาดสูญไปโดยเร็ว อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพอธิบายว่าเป็นเพราะสตรีต้องมีคุณบัติและพฤติกรรมที่เรียบร้อยดีงามกว่าบุรุษ ระเบียบวินัยจึงต้องมากกว่าเป็นเรื่องธรรมดา นั่นคือหากมีความตั้งใจจริงในการบวชหรือปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ระเบียบวินัยย่อมจะไม่เป็นอุปสรรคในการดำรงอยู่ของผู้นั้น(วินัยที่มากกลับเสริมเรื่องการปฏิบัติให้ดีและเร็วขึ้นเพราะเป็นตัวปิดทางกิเลสฯ) ฉะนั้นการขาดสูญของภิกษุณีสงฆ์จึงไม่น่าจะเกิดจากการกลั่นแกล้งของผู้ใด(รวมถึงพระพุทธเจ้า) แต่เป็นเพราะสังคมที่เจริญขึ้น ผู้ประสงค์จะบวชก็น้อยลง[4] กอปรกับการเป็นอยู่ที่ลำบากกว่าเรื่องความปลอดภัยและแง่สังคมที่คนให้การเคารพนับถือน้อยกว่าบุรุษ คนที่ประสงค์จะบวชเป็นภิกษุณีจึงต้องเข้มแข็งและตั้งใจอย่างจริงจังซึ่งก็สันนิษฐานว่ามีน้อยกว่าบุรุษจริงๆและไม่ยากที่จะขาดหายไปฯ
ไม่ยอมเปลี่ยนหลักการเพื่อรักษาพระศาสนาหรือเพื่อผลประโยชน์ตน?
เป็นที่ทราบกันดีและยกมาอ้างกันทั่วไปว่าพุทธศาสนาในเมืองไทยเป็นนิกายเถรวาท ซึ่งเป้าหมายหลักคือการรักษาหลักการเดิม(พระไตรปิฎก)โดยไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแม้สังคมจะพัฒนาไปไกลและดูเหมือนพระวินัยบางข้อจะล้าสมัย(ผู้เขียนไม่ได้เห็นด้วยกับคำพูดนี้ ดังจะอธิบายต่อไป) ซึ่งต่างจากนิกายมหายานอย่างชัดเจน ตรงที่ยอมแก้ไขหลักการบางอย่างเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ส่งผลให้มหายานแตกออกเป็นหลายนิกายโดยปฏิบัติกันตามครูอาจารย์ของตน(บ้างเรียกว่า อาจาริยวาท) ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือการห่มจีวร เถรวาทยังรักษาของเดิม ผืนจีวรเป็นรูปคันนา สี่เหลี่ยมฯลฯ แต่มหายานเปลี่ยนไปจนกลายเป็นเสื้อผ้า กางเกงฯลฯ ซึ่งความจริงก็มิได้ขัดกับพระธรรมแต่อย่างใด เพราะการปฏิบัติไม่ได้อยู่ที่เสื้อผ้า อย่างไรก็ตามมหายานให้เหตุผลเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับภูมิประเทศและสภาพอากาศ ความสะดวกต่อการทำงานฯลฯและยังโยงถึงเรื่องพุทธานุญาติที่พระพุทธเจ้าให้ไว้ว่า “เมื่อพระองค์ปรินิพพานไป สงห์เห็นร่วมกันจะยกเลิก(หรือเปลี่ยนแปลง)อาบัติข้อเล็กน้อยเสียก็ได้”[5] ซึ่งข้อนี้เถรวาทเองเลือกที่จะไม่ทำ ความจริงการอนุญาติเป็นเสมือนการใช้สิทธิ นั่นคือจะทำหรือไม่ทำก็ได้เช่นเรื่องการจำพรรษา ๓ เดือน หากภิกษุใดมีกิจจำเป็นสามารถลาไปทำธุระและต้องกลับมาภายใน ๗ วันได้(เรียกว่า สัตตาหะ) เมื่ออนุญาตดังนี้ก็มิได้หมายความว่าทุกคนจะต้องใช้สิทธิให้ได้ คือหากใครมีธุระจำเป็นก็ใช้ ไม่มีก็ไม่เป็นไร ซึ่งพระฝ่ายเถรวาทยืนยันที่จะไม่ใช้เพื่อต้องการรักษาความคงเดิมไว้ เพราะหากใช้สิทธิเรื่อยไปนานวันก็จะเปลี่ยนแปลงมากขึ้นจนอาจไม่เหลือของเก่าให้เห็นฯ[6]
          ประเด็นเรื่องการรักษาหลักการนี้มีหลายอย่างที่ต้องทำความเข้าใจ นั่นคือหากกล่าวว่าพระสงฆ์ไทยเป็นเถรวาท ก็ต้องย้อนดูรายละเอียดก่อนว่าเถรวาทคืออะไร? ความหมายทั่วไปดังได้กล่าวไปแล้วคือผู้ที่รักษาหลักการเดิม(ยึดพระไตร อรรถกถาฯลฯ)เป็นหลัก การคล้อยตามประเพณีหรือท้องถิ่นถือเป็นประเด็นรอง เมื่อยึดแนวทางของพระไตรปิฎก คำถามที่ตามมาคือพระพุทธเจ้าส่งเสริมการประกอบพิธีกรรมเช่นการปลุกเสก สะเดาเคราะห์ ต่อชะตา รดน้ำมนต์ฯลฯ หรือไม่? หรือพระไตรปิฎกเห็นด้วยและ/หรือเอื้อกับการปกครองคณะสงฆ์ในรูปของยศอำนาจ ตำแหน่ง เงินเดือนหรือ? ผู้เขียนใคร่จะอธิบายสิ่งเหล่านี้ไปตามลำดับฯ
(ก) ยึดพระไตรปิฎกแต่ส่งเสริมพิธีกรรมที่งมงาย
คงไม่มีใครเห็นด้วยและยอมรับว่าสิ่งที่พระสงฆ์ไทยส่วนใหญ่ทำกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างวัตถุมงคล พิธีพุทธาภิเษก การสะเดาะเคราะห์ รดน้ำมนต์เป็นต้นเป็นเรื่องที่ได้จากพระไตรปิฎก ความจริงเรื่องเหล่านี้ปรากฎในพระไตรปิฎกจริงแต่เป็นแง่ที่พระพุทธเจ้าทรงตำหนิ(ศีลทั้ง ๓ ระดับ ในพรหมชาลสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค) และส่งเสริมให้แสวงหามงคลจากการปฏิบัติ(กิริยวาที) ไม่สอนให้หวังผลจากการอ้อนวอนหรือประกอบพิธีกรรม แต่เน้นเรื่องไตรสิกขาคือการเปลี่ยนแปลงตนเองทั้งด้านศีล สมาธิและปัญญา(ดูรายละเอียดในบทความเรื่อง สวดมนต์ข้ามปี ต่อชะตา สะเดาะเคราห์ ได้บุญมากแค่ไหน? เจษฎา กันตเมธี) แต่ก็ปรากฎชัดว่าพระสงฆ์ส่วนใหญ่ยังคงเดินตามทางนี้ แม้หลายรูปจะไม่ประกอบพิธีเช่นนี้ แต่ด้วยอำนาจความเป็นใหญ่(มีสิทธิที่จะตักเตือน)ก็มิได้ทักท้วง กล่าวสอนหรือชี้แจงธรรมะที่ถูกต้องแก่ประชาชนในวงกว้างได้ (ความจริงผู้เขียนไม่เคยเห็นคนที่ทักท้วงเรื่องนี้เลยในปัจจุบัน อดีตยังมีท่านพุทธทาสและท่านปัญญานันทะ ส่วนนักปราชญ์สมัยใหม่มักค่อนไปทางปรองดอง คือพยายามชี้ให้เห็นข้อดีของพระเครื่องเรื่องข้อเรียกร้องทางศีลธรรมเป็นต้น อาจเป็นเพราะไม่ต้องการขัดผลประโยชน์ใคร จึงไม่ยอมพูดไปตรงๆได้แต่แฝงแนวคิดไว้ โดยลืมไปว่าคนไทยส่วนใหญ่คิดไม่ได้และไม่เคยมีเวลาพิจารณาหาเหตุผล) เมื่อทั้งฆราวาสและพระสงฆ์ส่วนใหญ่ฝากที่พึ่งไว้กับของขลังหรือพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์(คือฆราวาสต้องการความสบายใจพ้นจากเคราะห์กรรมฯ ส่วนพระต้องการผลประโยชน์) โดยมิได้ยึดคำสอนของพระพุทธเจ้าจริง ไฉนจึงเรียกว่าเป็นผู้ยึดพระไตรปิฎกไม่ยอมเปลี่ยนแปลงหลักการหรือเป็นเมืองพุทธเถรวาทได้ฯ
(ข) ยึดพระไตรปิฎกแต่ส่งเสริมการปกครองแบบยศอำนาจ
       ประเด็นนี้ผู้เขียนได้อธิบายไปแล้วในบทความเรื่อง “จะเอาอย่างไรดีกับระบอบสมณศักดิ์” แต่จะขอสรุปในตอนนี้สั้นๆ นั่นคือพระพุทธเจ้าเผยแผ่พระพุทธศาสนานอกเหนือจากการสอนให้คนบรรลุธรรมพ้นทุกข์ขั้นโลกุตตระไปแล้ว พระวินัยยังมีลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งคือปฏิเสธชนชั้นวรรณะ ซึ่งอินเดียในอดีตมีการแบ่งชนนั้นกันอย่างชัดเจน(วรรณ ๔) คนในชนชั้นล่างต้องอยู่ภายใต้อำนาจและการปกครองของชนนั้นบน(กษัตริย์และพราหมณ์)อย่างไม่มีทางออกและข้อโต้แย้ง พระพุทธเจ้าจึงทำให้คณะสงฆ์ที่พระองค์ตั้งขึ้นยกเรื่องวรรณะออกไปเสีย ให้เคารพกันตามพรรษาคือผู้บวชทีหลังย่อมเคารพผู้บวชก่อน[7] แต่ต้องเข้าใจว่าพระองค์ไม่ได้ผูกขาดการเคารพขึ้นมาอีกประเภทหนึ่ง นั่นคือเป็นธรรมดาที่ผู้อยู่นาน(เป็นเจ้าถิ่น)ควรจะได้รับการเคารพและยำเกรงจากผู้ใหม่ นี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ยอมรับกันทั่วไปและถือเป็นสัมมาคารวะ อย่างไรก็ตามพุทธศาสนาที่เน้นเรื่องสาระประโยชน์แม้จะให้เคารพผู้ที่แก่กว่าแต่ก็มิได้หมายความว่าผู้นั้นจะต้องถูกหรือดีเสมอไป เมื่อถึงคราวเกิดอธิกรณ์(คดีความหรือการต้องตัดสินถูกผิด)ก็ให้ตัดสินตามพระธรรมวินัย(Rule of Law) ส่วนผู้มีสิทธิตัดสินชี้ถูกผิดก็ต้องเป็นผู้ทรงความรู้(มิใช่เป็นเถระหรืออายุมากอย่างเดียว) ความจริงพระพุทธเจ้าตรัสไว้หลายที่ในเรื่องการยกย่องพระที่มีความสามารถโดยชี้ให้เห็นโทษของคนอายุมากที่ไม่มีความรู้หรือไม่สนใจปฏิบัติธรรมเช่น
“บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นพระเถระเพราะมีผมหงอกบนศีรษะ วัยของบุคคลนั้นแก่หง่อมแล้ว บุคคลนั้นเรากล่าวว่าเป็นผู้แก่เปล่าฯ”(ภาษิตที่ ๒๖๐)
“ส่วนผู้ใดมีสัจจะ ธรรมะ อหึงสา ความสำรวมและการฝึกฝนตน ผู้นั้นสลัดมลทินทิ้งเสียแล้ว เป็นนักปราชญ์ เราจึงเรียกว่าเป็นพระเถระฯ”(ภาษิตที่ ๒๖๑)
และเมื่อพระองค์จะปรินิพพานก็มิได้แต่งตั้งใครให้เป็นหัวหน้าปกครอง โดยตรัสว่าให้ดูแลกันตามพระธรรมวินัยที่พระองค์ได้แสดงและบัญญัติไว้แล้ว[8]
หลายท่าน(ที่เห็นด้วยกับการปกครองคณะสงฆ์ในปัจจุบัน)มีข้อโต้แย้งว่า พุทธศาสนาได้มีความเจริญตามบ้านเมืองไปแล้ว นั่นคือเมื่อประเทศเจริญขึ้น เป็นประชาธิปไตยมีการปกครองที่เป็นรูปแบบ พุทธศาสนาก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้ แม้พระพุทธเจ้าเองก็ทรงอนุญาตให้พระภิกษุคล้อยตามบ้านเมือง(อนุชานามิ ภิกฺขเว ราชูนํ อนุวตฺติตุí วินัยปิฎก มหาวรรค ข้อ ๒๐๙) เมื่อถึงประเด็นนี้ ก่อนอื่นใคร่ถามว่า เมื่อยอมปรับตัวได้เรื่องการปกครอง ไฉนจึงไม่ยอมปรับตัวรับเรื่องการบวชภิกษุณี? ทั้งที่ความจริงการปรับตัวนี้พระพุทธเจ้าอนุญาตในกรณีที่ส่งเสริมพระธรรมวินัย(ทำให้คนพ้นทุกข์)เท่านั้น มิใช่ยอมให้เปลี่ยนทุกเรื่อง ซึ่งเรื่องยศอำนาจในการปกครองของคณะสงฆ์(ต้องแย่งชิง ส่งผลงานเข้าประกวดเพื่อรับการเลื่อนตำแหน่งในการปกครอง พึงทราบว่าการได้ยศในการปกครองต่างจากยศที่ยกย่องพระทั่วไปฯ)ปัจจุบันหากพิจารณาแล้วน่าจะเป็นสิ่งร้ายแรงและไม่น่าให้อภัยกว่าการบวชภิกษุณีด้วยซ้ำ(หากเชื่อว่าการเปิดโอกาสให้บวชจะช่วยให้คนพ้นทุกข์ได้) ผู้เขียนใคร่จะเสนอว่า ความจริงหากมองว่าถ้าพุทธศาสนาไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตามบ้านเมือง จะยังดูแลกันด้วยธรรมวินัยก็จะเป็นการล้าสมัย ความคิดเช่นนี้ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะลักษณะของพุทธศาสนาโดยเฉพาะในส่วนของพระธรรมถือเป็นอกาลิโก ส่วนพระวินัยแม้จะเป็นสมมติแต่ก็ยังครอบคลุมได้ทุกยุคเพราะไม่ใช่บัญญัติมาเพื่อปกครองสงฆ์อย่างเดียว แต่เพื่อเอื้อกับการปฏิบัติธรรมให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดคือการบรรลุธรรมด้วย นั่นคือยิ่งพยายามรักษาวินัยมากเท่าใดก็จะยิ่งปฏิบัติสะดวกหรือเข้าใกล้พระธรรมมากเท่านั้นฯ  หรืออาจเปลี่ยนแปลงบ้างก็ไม่ถึงกับต้องสนองกิเลส(มัวเมาในยศตำแหน่ง)หรือตั้งกฏการปกครองแบบใหม่ขึ้นจนพระต้องมีภาระหน้าที่อย่างใหม่ที่ไม่เอื้อต่อการบำเพ็ญไตรสิกขาซึ่งขัดกับคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างชัดเจนฯ อย่างไรก็ตามอย่าพึงเข้าใจว่า “เมื่อผู้เขียนปฏิเสธเรื่องนี้แล้วก็เป็นอันต้องปล่อยให้พระอยู่กันอย่างเหลวแหลก ใครจะทำอะไรก็ไม่มีผู้ดูแล”  นั่นคือผู้เขียนยอมรับการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ใช้กฎหมายหรือความถูกต้องปกครอง ดังนั้นพระภิกษุรูปใดประพฤติไม่ดี มีการเรี่ยไรหลอกลวงชาวบ้านให้หลงเชื่อเพื่อหาผลประโยชน์ ท่านก็ต้องถูกจัดการโดยข้อกฎหมายของบ้านเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อไม่มีการปกครองแบบกลุ่มอำนาจที่มีอิทธิพลเหมือนแต่ก่อน(พระที่มีสมณศักดิ์) กลายเป็นว่าพระสงฆ์ต้องเคารพกันตามพรรษาหรือผู้ทรงความรู้ ตัดสินทุกอย่างตามพระธรรมวินัย เมื่อเป็นเช่นนี้ภิกษุที่จะถูกยกย่องจะต้องเป็นผู้ประพฤติดีและเป็นนักปราชญ์ มิใช่ผู้มีสมณศักดิ์สูงส่ง เมื่อภิกษุรูปใดทำผิดก็สามารถจัดการกับท่านได้เลยโดยไม่ต้องกลัวตอทั้งหลายฯ สังคมสงฆ์โดยมีพระอุปัชฌาย์เป็นผู้สอดส่องดูแลก็สามารถสร้างบรรยากาศของความเป็นพระ ปฏิบัติหน้าที่ทั้งฝ่ายการศึกษาและปฏิบัติธรรม ใช้เวลาสั่งสอนธรรมะที่ถูกต้องแก่ผู้คนให้กลายเป็นคนมีเหตุผล รู้แนวทางการดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าการจะล่อพระด้วยยศตำแหน่ง แข่งกันหาเงินสร้างวัดเพื่อก้าวสู่ความเป็นคนมีหน้ามีตาโดยมิได้สนใจพระธรรมวินัยเลยฯ
       อาจยังมีผู้สงสัยว่า การตัดสินถูกผิดตามพระธรรมวินัยเป็นเรื่องยาก ชาวบ้านทั่วไปอาจไม่ทราบ ดังนั้นเมื่อปล่อยให้จัดการกันตามพระธรรมวินัยแล้ว จะทราบได้อย่างไรว่าฝ่ายไหนถูกผิด ดำเนินตามพระไตรปิฎก เพราะต่างฝ่ายต่างอ้างความชอบธรรมของตน เมื่อเป็นเช่นนี้สันติอโศก ธรรมกายก็จะเป็นฝ่ายถูก มหาเถระสมาคมก็จะต้องผิด? คำตอบคือหากเชื่อว่าสังคมนี้เป็นประชาธิปไตยจริงก็ให้โอกาสกับทุกฝ่ายในการอธิบาย  เพราะคนไทยมีการศึกษามากขึ้น สามารถรับฟังและแยกแยะได้ด้วยตนเอง ที่สำคัญเรามิได้ตัดสินกันแค่วาทศิลป์ แต่ยังมีพระไตรปิฎก อรรถกถาฯลฯ ในการอ้างอิง(ตามที่ชอบอ้างกันว่าเป็นเถรวาท) นั่นคือผู้ใดแสดงหลักการตรงกับพุทธศาสนา(เช่น หลักการพัฒนาตนเอง ไม่พึ่งอำนาจดลบันดาล บุญทำได้หลายทางมิใช่แต่บริจาคเงิน การยึดมั่นในศีลพรตเป็นมิจฉาทิฏฐิ สมาธิที่เป็นวิปัสสนาต้องเข้าใจสภาพความจริงที่เกิดขึ้นแต่ละขณะมิใช่จินตนาการหลอกตัวเองหรือเพ่งอยู่กับวัตถุใดอย่างเดียว กระทั่งพระวินัยมีไว้เพื่อช่วยให้คนพ้นทุกข์มิใช่แสวงหายศตำแหน่งฯลฯ) ก็จะถูกต้องและน่าเชื่อถือ ส่วนผู้ใดแสดงหลักการผิดไปสังคมก็จะลงโทษผู้นั้นโดยการคว่ำบาตรไม่สนับสนุนไปเอง  อีกอย่างหนึ่งที่สอดรับกับประชาธิปไตยคือฆราวาสทั้งหลายมิใช่เป็นเพียงผู้รับความเชื่อเหมือนแต่ก่อนที่ไม่ยอมคิดอะไรเลย แต่จะต้องช่วยกันส่งเสริมให้ศึกษาหาความรู้จากหนังสือเป็นต้นเพื่อจะได้เป็นคนมีความรู้/ข้อมูลมากขึ้น(มิใช่เชื่อหรือรู้แค่ด้านเดียว) สิ่งเหล่านี้ทำได้ไม่ยาก ผู้เขียนเสนอเล่นๆ(อย่างไม่ได้ตริตรอง)ว่าให้นำเงินในการถวายเป็นเงินเดือนพระปกครองทั่วประเทศซึ่งน่าจะไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ล้านบาทต่อปีมาพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับประชาชนแจกทุกครอบครัว เมื่อครบแล้ว(ปีต่อๆไป)ก็นำเงินจำนวนนี้ไปเป็นทุนการศึกษาส่งเสริมผู้ต้องการศึกษาพุทธศาสนาระดับปริญญาตรี โท เอกในต่างประเทศทั้งฆราวาสและบรรพชิตรับทุนการศึกษาฟรีฯสิ่งนี้น่าจะเป็นการส่งเสริมพุทธศาสนาได้ดีกว่าที่เคยทำกันมาฯ
(ค) ยึดพระไตรปิฎกแต่ไม่ปฏิเสธการรับเงิน
       เงินอาจเป็นประเด็นที่ลึกซึ้ง เพราะมองว่าเป็นปัจจัยที่จำเป็นในปัจจุบัน(พระจึงนิยมเรียกเงินว่า “ปัจจัย” ทั้งที่ ปัจจัยสี่อย่างไม่มีเงินประกอบด้วย) ตามพระวินัยพระภิกษุต้องออกมาจากการใช้สอยแลกเปลี่ยนหรือรับเงินทองที่ชาวบ้านถวาย(แม้แต่เรื่องการรับบริจาคก็กลายเป็นประเด็นใหญ่กันมาแล้วในสมัยสังคายนาครั้งที่ ๒) เหตุผลที่ไม่ให้ยุ่งเรื่องเงินนี้คือเพื่ออยู่แบบเสียสละไม่ยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางโลกจริงๆ ฆราวาสอาจต้องลำบากหากไม่มีเงินแต่พระกลับไม่มีปัญหา เพราะทุกอย่างตั้งแต่อาหาร ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล เสื้อผ้าฯล้วนไม่ต้องจ่ายเงินทั้งสิ้น ในพระวินัยจึงกำหนดอาบัติสำหรับผู้รับเงินไว้ว่า “ภิกษุใดรับเงิน(ด้วยตนเอง)หรือใช้ให้ผู้อื่นรับไว้ หรือยินดีในเงินที่เขาเก็บไว้ให้ ต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์”[9] ข้อนี้จะอธิบายถึงที่มาของคำว่า “เลี่ยงบาลี” ให้ดูคือ หลายคนไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงเพราะจำกันมาแค่ “ห้ามรับเงินหรือปัจจัย” จึงไม่พยายามรับเงินด้วยตัวเอง แต่บอกให้ลูกศิษย์รับไว้(กลับมาถึงวัดค่อยเอาเพื่อไม่ให้น่าเกลียด)ก็ไม่พ้นอาบัติข้อนี้ หรือคณะธรรมยุติที่เปลี่ยนเป็นการใช้ใบปวารณาหรือฝากใว้กับไวยาวัจกร ก็ไม่พ้นอาบัติ เพราะยังยินดีในเงินที่เขาฝากเก็บไว้ให้ เมื่อมีความจำเป็นก็ไปเบิกใช้หรือไม่ยอมจับกระทั่งต้องพาตัวไวยาวัจกรไปร้านค้าฯอาจมีข้อสงสัยว่าพระพุทธเจ้าอนุญาตให้มีไวยาวัจกรเก็บของสงฆ์ได้มิใช่หรือ? ตอบว่าใช่ แต่ของในที่นี้หมายเอาปัจจัย ๔ ที่ถูกต้องตามพระวินัยเท่านั้น เช่นชาวบ้านฝากถวายจีวรหรือยาไว้ เมื่อพระสงฆ์มีความจำเป็นก็ไปขอเบิกใช้ได้ฯ  สิ่งที่พระพุทธเจ้าประสงค์มิใช่ว่าห้ามไม่ให้จับเงินเพราะเงินเป็นพิษ ถูกตัวเข้าแล้วจะคันหรือตายไป แต่พระองค์ไม่ต้องการให้พระต้องมายุ่งเกี่ยว มีความหวังหรือครอบครองเงินเลย อันจะเป็นวิสัยของนักบวชที่แท้  พระทั้งหลายที่ไม่ยอมศึกษาให้ละเอียดก็ดีใจว่าตนพบช่องว่าของวินัย จึงถือโอกาสเลี่ยงบาลีกันโดยไม่ทราบว่าพระพุทธเจ้าท่านรอบคอบพอที่จะบัญญัติกฎหมายให้ครอบคลุมอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ความจริงคำว่า ชาตรูปรชตํ นั้นไม่ได้แปลว่าเงินอย่างเดียว แต่รวมถึง “ทุกอย่างที่สมมติกันว่ามีค่า สามารถใช้แลกเปลี่ยนตามกฎหมายได้” ดังนั้นต่อให้เป็นเช็คธนาคาร บัตรเอทีเอ็ม หรือกระทั่งเปลือกหอย(หากสมมติกันว่ามีค่าใช้แทนเงินได้)ก็ต้องเป็นอาบัติทั้งสิ้นฯ
เมื่อไม่รับเงินแล้วพระจะอยู่อย่างไร?
       ที่ยกมานี้เป็นเพียงหลักการของเถรวาทตามพระไตรปิฎกเท่านั้นซึ่งพระมักอ้างกันว่าตนเป็นเถรวาทและเลือกรักษาหลักการ ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่า แม้ผู้เขียนเองก็ยังรับเงินและต้องอาบัติในข้อนี้เพราะไม่มีตัวเลือก นั่นคือเราไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องการรับเงินนี้ได้เพียงเพราะออกกฎห้ามชาวบ้านถวายเงินพระ เพราะเงินมีความจำเป็นต้องใช้จริงๆ เช่นหากประสงค์จะเดินทางไปไหนก็ต้องจ่ายค่าพาหนะฯ ผู้เขียนจึงเห็นว่าทางออกมีอยู่คือเริ่มจากการสอนชาวบ้านให้เข้าใจข้อ ก และ ข ด้านบนนั่นเอง เมื่อพระไม่นำพาชาวบ้านประกอบพิธีกรรมงมงาย ไม่แย่งชิงยศตำแหน่งหรือแสวงหาอำนาจเพื่อตนและพวกพ้อง แต่กลับมาปกครองด้วยระบอบพระธรรมวินัย ส่งเสริมการศึกษาและปฏิบัติธรรมแบบจริงจัง สั่งสอนธรรมะที่ถูกต้องแก่ประชาชนได้ เมื่อนั้นพระสงฆ์จะเป็นที่เคารพของทุกคน เป็นผู้ควรแก่การทัศนา(เห็นแล้วสบายใจในความรู้และเจตนาที่บริสุทธิ์) ไม่มีการแสวงหาลาภยศ อย่างแรกคือพระที่ต้องการเงินทั้งหลายเมื่อหมดหนทางแสวงหารายได้จากการทำของขลังเป็นต้นก็ต้องลาสึกขาไปโดยอัตโนมัติ(เพราะไม่มีรายได้ ทั้งยังถูกบังคับให้ปฏิบัติธรรม) จำนวนพระอาจลดลงมากกว่าครึ่ง(ไม่ต้องกลัวว่าจำนวนพระน้อยพุทธศาสนาจะเสื่อม เพราะการที่คนชั่วต้องออกไป จะเป็นการเปิดโอกาสให้คนดีได้เข้ามาศึกษาและปฏิบัติต่อ) เมื่อพระมีเป้าหมายในการบวชที่ชัดเจน(คือศึกษาและปฏิบัติธรรม) ถึงจุดนั้น ท่านก็จะกลายเป็นที่เคารพรักของคนทั่วไป และหากท่านประสงค์สิ่งใดเช่นหนังสือหรือเดินทางไปไหน ก็จะมีผู้ยินดีรับส่งท่านให้ได้รับความสะดวกสบายตามสมควร (ต่อให้ไม่มีรถรับส่ง แต่หากพระปรากฎแก่สายตาชาวบ้านในแง่บุคคลที่ไม่หลงลาภ ยศ แสวงหาแต่ความรู้และสอนให้ชาวบ้านมีศีลธรรม/สติปัญญา เชื่อว่าหากท่านเดินอยู่ข้างถนนก็จะมีรถจอดรับไต่ถามท่านและให้บริการท่านตามสมควรอยู่แล้ว นั่นคือเหตุที่ฆราวาสปัจจุบันไม่สนใจพระที่เดินข้างถนนเช่นนี้เป็นเพราะทราบกันดีว่าพระมีเงินอยู่แล้ว บ้างก็ไม่ศรัทธาในพฤติกรรมของพระและบ้างก็ไม่ไว้ใจในความปลอดภัยของตนหากต้องรับขึ้นรถตนเองไปฯลฯ) สรุปคือทางออกในข้อนี้ไม่สามารถทำได้เลยหากไม่ยอมแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง ๒ ข้อแรก คือการหยุดพิธีกรรมที่เหลวไหลเพื่อหาเงินและการมัวเมาแย่งชิงยศตำแหน่งฯ การหยุดพฤติกรรมที่เลวร้ายในสองข้อแรกจะทำให้พระเป็นคนดีขึ้นจริง พุทธศาสนาเจริญขึ้นจริง และประชาชนมีความรู้เรื่องสาระธรรมมากขึ้นจริง นั่นคือเราไม่ต้องกลัวว่าหากสอนธรรมะอย่างเดียว(ไม่หลอกเอาเงินเขา)ก็จะอยู่ลำบาก เพราะคนที่เขาซึ้งในบุญคุณครูบาอาจารย์ที่แนะนำเขาในทางที่ถูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระเองซึ่งเป็นผู้มีศีล ย่อมจะไม่ถูกทอดทิ้งให้ลำบากเป็นแน่ ในทางตรงกันข้ามหากทำเช่นนั้นได้จริง พระสงฆ์อาจมีความสะดวกสบาย ได้รับการอุดหนุนจากฆราวาสมากกว่าเดิมด้วยซ้ำฯ
       นี้เป็นอีกข้อหนึ่งซึ่งถือเป็นหลักการของเถรวาท คือการไม่รับเงินทอง โดยพระไทยไม่ปฏิเสธข้อนี้ นั่นคือเรายอมปรับตัวให้เข้ากับสังคม(พูดแบบให้ดูดี นั่นคือหากพูดให้ตรงคือเพื่อจะได้กอบโกยผลประโยชน์) ความจริงวินัยข้อนี้พระสงฆ์ไทยมิได้แก้หรือเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด เรายอมรับกันทั่วไปว่าเป็นอาบัติ(แม้ฟังปาติโมกข์ก็ยังสวดข้อนี้โดยพระที่เข้าไปร่วมฟังก็มีเงินในย่ามฯ) แต่ก็ยอมรับให้ทำกันตามปกติ ข้อนี้ผู้เขียนไม่ได้ต้องการวิจารณ์ เพียงแต่อยากเสนอว่า เมื่อไม่ยอมแก้กฎหมายเพื่อรักษาหลักการ(อ้างความเป็นเถรวาท) แต่เพื่อความอยู่รอดของพระเอง เราก็ยอมรับให้ทำกันอย่างเสรี แล้วไฉนจะยอมรับการบวชภิกษุณีอย่างประเด็นนี้บ้างไม่ได้ ทั้งที่การบวชสตรีจะเป็นการอยู่รอดของอีกหลายคนผู้หวังการปฏิบัติธรรมในรูปของนักบวช?
เมืองไทยคือพุทธเถรวาทจริงหรือ?
ผู้เขียนจึงขอสรุปสั้นๆเรื่องเถรวาทตรงนี้ก่อนว่า ความจริงพุทธศาสนาในเมืองไทยมิได้เป็นเถรวาทแท้ตามที่อ้าง (สังเกตจากข้อ ก ข และ ค ที่อธิบายไปแล้ว) นั่นคือเรายอมปรับเปลี่ยนบางอย่างเพื่อความอยู่รอดของพระสงฆ์เอง ซึ่งต่างจากมหายานตรงที่เราไม่ยอมเขียนคำภีร์ทางพระศาสนาขึ้นมาใหม่เท่านั้น คือสิ่งใดผิดก็ยอมรับว่าผิด(ในกรณีมีผู้รู้ถาม หากไม่มีใครถามก็ตีหน้าซื่อและไม่เคยคิดจะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น?) แต่จะไม่ยอมแก้ต้นฉบับคือพระไตรปิฎกด้วยเหตุผลว่าต้องการสืบความดั้งเดิมเอาไว้ ด้วยว่าบางทีคนรุ่นหลังสามารถทำตามพระวินัยนั้นได้ เช่นเรื่องการรับเงินตามคำอธิบายของผู้เขียน หากอนาคตสามารถทำให้พระเป็นพระแท้ได้จริง ภิกษุทั้งหลายก็สามารถรักษาสิกขาบทข้อรับเงินนั้นได้โดยอัตโนมัติ ความจริงเรามิได้เป็นเถรวาท(เพราะยังไม่ยอมทำตามหลักการบางอย่างเหมือนมหายานนั่นเอง) เราพยายามที่จะเป็นเถรวาทเท่านั้น ซึ่งความพยายามนี้ดูคล้ายจะถดถอยไปทุกที เพราะสิ่งแปลกปลอมเช่นพิธีกรรมและผลประโยชน์เข้ามาครอบงำมากขึ้นเรื่อยๆ กอปรกับเป้าหมายในการบวชเพื่อความพ้นทุกข์ก็จางคลายไปมีแต่บวชเพราะประเพณีเป็นส่วนใหญ่ เราจึงไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็น เถรวาท(Theravada Buddhism) แต่เราเป็นพุทธศาสนาไทย (Thai Buddhism) คือพุทธศาสนารูปแบบใหม่ที่คล้อยตามประเพณีไทยและทำทุกอย่างเพื่อคนไทยฯ
เมื่ออ้างสิทธิในการบรรลุธรรม ไฉนการบวชจะสำคัญอีก?
       ผู้เขียนได้อธิบายข้อโต้แย้งของผู้ปฏิเสธการบวชภิกษุณีไปแล้ว ต่อไปจะกล่าวถึงจุดอ่อนของผู้ส่งเสริมหรือเรียกร้องการบวชภิกษุณีเองเช่นกัน เรื่องพระวินัยอาจไม่ต้องกล่าวถึงอีกแล้วเพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ตามหลักของเถรวาท เมื่อไม่มีการสืบเชื้อสายพระอุปัชฌาย์มา การบวชก็เป็นอันสิ้นสุด นี้เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องยอมรับโดยไม่จำต้องไปอ้างเรื่องสิทธิสตรีหรือรัฐธรรมนูญ เพราะการเป็นนักบวชในพุทธเถรวาทต้องยึดพระธรรมวินัยฯ (หากทุกคนสามารถอ้างเสรีภาพได้ พระสงฆ์เองก็จะอ้างเสรีภาพการมีลูกมีเมียได้เช่นกัน แต่ที่ท่านไม่ทำเพราะเมื่อเข้ามาบวช ยอมรับกฎเกณฑ์ของพุทธศาสนาแล้ว ถือว่าพระธรรมวินัยต้องเป็นเรื่องหลัก) ผู้เขียนได้อ่านเหตุผลของภิกษุณีธรรมนันทาเรื่องการบวชโดยอ้างถึงความประสงค์ในการบรรลุธรรมมิใช่อำนาจความเป็นใหญ่ฯลฯ สิ่งนี้เป็นเรื่องน่าอนุโมทนา แต่จากคำพูดนั้นเราสามารถตั้งคำถามต่อได้ว่า การบรรลุธรรมต้องผ่านการบวชหรือ? เรื่องนี้ตอบได้ง่ายหากเข้าใจพุทธศาสนา ก็ในเมื่อยอมรับว่าการพ้นทุกข์ไม่จำกัดเพศหญิงชาย ฐานะร่ำรวยหรือยากจน อีกอย่างต้องไม่ลืมว่าไม่จำกัดสถานะภาพ นั่นคือเป็นฆราวาสหรือพระก็สามารถบรรลุธรรมได้ เพราะการบรรลุธรรมไม่ได้อยู่ที่เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มหรือการยอมรับของสังคม หากเชื่อว่าการบวชผ่านพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ทำให้บรรลุธรรมก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะพิธีกรรมไม่สามารถทำให้คนบริสุทธิ์ได้(ซึ่งคนจะบริสุทธิ์ด้วยปัญญาเท่านั้น) ปัจจัยหลักที่เอื้อแก่การบรรลุธรรมคือความรู้ที่ถูกต้อง(เรื่องรูปนามฯ)และความตั้งใจจริงในการปฏิบัตินั่นเอง เรื่องอื่นอาจถือเป็นรองเช่น ที่อยู่อาศัย อาหารการกินฯลฯ ดังนั้นประเด็นเรื่องการบวชโดยอ้างสิทธิในการบรรลุธรรมจึงใช้ไม่ได้ฯ ผู้เขียนเห็นด้วยหากจะอ้างเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ เช่นการเป็นฆราวาสต้องมีภาระหน้าที่มาก ไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม แต่ถ้าได้บวชก็มีเวลาว่างมากขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาแม้แต่จัดเตรียม/หุงหาอาหาร สามารถปฏิบัติธรรมได้เต็มที่เป็นต้น นี่เป็นเรื่องที่น่ายอมรับและควรได้รับความเห็นใจ(แต่ก็นำมาเป็นประเด็นในการอ้างไม่ได้อีก เพราะสังคมจะมองว่าหลีกหนีหรือขี้เกียจทำงาน)
ข้อเสนอสำหรับผู้มีฐานะดี
ผู้เขียนใคร่เสนอต่อผู้ประสงค์จะบวชทั้งภิกษุณีและแม่ชีว่า อย่าได้เข้าใจว่าการบวชในปัจจุบันเอื้อต่อการบรรลุธรรม เป็นความจริงว่าพระพุทธเจ้าเองก็เลือกออกบวชด้วยทรงปรารภว่าชีวิตฆราวาสลำบากต่อการปฏิบัติธรรม ไม่มีเวลาว่าง ถูกภาระผูกมัดมากมายฯลฯ[10] ส่วนการออกบวชเป็นการมุ่งภาระอย่างเดียวคือพระนิพพาน จึงทำให้ง่ายและรวดเร็วไม่มีอุปสรรค ส่วนปัจจุบันถือเป็นสิ่งตรงกันข้าม คนที่เข้ามาบวชกลับมีภาระมากมาย(สังเกตพระสงฆ์ที่อยู่ในวัด แทบไม่มีเวลาศึกษาพระไตรปิฎกหรือปฏิบัติธรรมเลย) ต้องเป็นธุระทั้งในเรื่องวัดและเรื่องชาวบ้าน จะหาวัดที่สอนธรรมะหรือพาผู้คนปฏิบัติจริงๆมีน้อย แต่หากท่านใดมีฐานะดี แม้ไม่ต้องทำงานก็มีเงินใช้สามารถปฏิบัติธรรมที่บ้านได้เลย(กรณีที่มีความรู้อยู่แล้ว แต่ถึงไม่มีความรู้ การเข้าไปบวชก็มิได้รับรองว่าจะได้ความรู้ที่ถูกต้อง จึงควรศึกษาเองจากพระไตรปิฎกหรืออาจารย์ผู้เป็นปราชญ์) นั่นคือการปฏิบัติธรรมที่บ้านจะมีความคล่องตัวและสงบกว่าในวัดที่มีผู้คนมาติดต่อ ท่องเที่ยวหรือทำธุระอยู่ตลอดเวลา(รวมถึงการไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปโต้วาที เรียกร้องเสรีภาพหรือเขียนบทความแพร่กระจายความคิดเพื่อปลุกระดมฯ)
ที่มาของการบวชชี
เมื่อปัญหาของคนฐานะดีจบไปก็อาจอ้างต่อได้อีกว่า สตรีจำนวนไม่น้อยที่ยากจนไม่สามารถปฏิบัติธรรมได้สะดวกเพราะต้องทำงานเลี้ยงชีพฯ เรื่องนี้เป็นสิ่งน่าเห็นใจและไม่ควรเพิกเฉยจริงๆ หลายคนมองว่าเพราะประเด็นนี้เองคือเรื่องความตั้งใจในการบวชของสตรีกอปรกับอุปสรรคเรื่องพระธรรมวินัย ปราชญ์ในอดีตจึงเลือกวิธีรักษาทั้งสองอย่างคือน้ำใจและวินัย ส่งผลให้ “คิดหาทางออกโดยการให้บวชเป็นแม่ชี” แต่ก็ยังน่าเสียดายที่สถานภาพนี้ต่ำเกินไป ไม่ได้รวมเข้าในภิกษุณีบริษัทตามที่มักกล่าวอ้างกัน คือจัดเป็นอุบาสิกาผู้รักษาศีล ๘ เท่านั้น(ความจริงผู้เขียนเองกลับไม่เห็นความสำคัญในเรื่องสถานะภาพนี้) เป็นไปได้ว่าสิ่งที่ทำให้เกิดความน้อยใจคือการที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงการตั้งมั่นและผู้จะรักษาพุทธศาสนาโดยฝากเป็นหน้าที่ของพุทธบริษัททั้ง ๔ ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกและอุบาสิกา คนส่วนใหญ่จะมองภิกษุและภิกษุณีผู้เป็นนักบวชว่าสูงส่ง และมองอุบาสกอุบาสิกาว่าต่ำต้อย ดังนั้นการได้เป็นแค่อุบาสิกาจึงด้อยเกินไป ความจริงหากพิจารณาเรื่องสามเณรก็คงไม่ต่างกัน คือสามเณรก็มิได้รวมอยู่ในการเป็นภิกษุและไม่มีให้สังกัดประเภทใดเลยใน ๔ ประการนั้น(แย่กว่าแม่ชีเสียอีกที่ยังสังกัดได้ในกลุ่มอุบาสิกา) แต่บริษัทในที่นี้ที่พระพุทธเจ้าหมายถึงคือทุกคนที่นับถือพุทธศาสนานั่นเองจะมีส่วนในการทำนุบำรุงและเผยแพร่คำสอนของพระองค์ฯ(รวมถึงการได้รับประโยชน์คือการบรรลุธรรม) ประเด็นสำคัญจึงเป็นว่าไม่น่าจะเกี่ยวด้วยเรื่องสถานะภาพ แต่กลายเป็นการยอมรับของคนไทยส่วนใหญ่นั่นเอง ผู้เขียนสันนิษฐานว่าการเรียกร้องให้มีการบวชภิกษุณีนี้มีจุดประสงค์เพื่อยกสถานภาพของสตรีให้กลายเป็นที่ยอมรับมากกว่าการเรียกร้องเพื่อบรรลุธรรม นั่นคือความเป็นแม่ชีต้องกลายเป็นเสมือนคนรับใช้พระ คอยจัดแจงอาหารถวายพระสงฆ์และที่สำคัญถูกสังคมมองว่าเป็นสถานภาพที่ต่ำ คล้ายคนไม่มีทางออกให้ชีวิตหวังพึ่งพาวัดฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้สำหรับความคิดคน แต่ก็ขึ้นอยู่กับแม่ชีเองที่เลือกที่จะเป็นอย่างนั้น เพราะแม่ชีจำนวนไม่น้อยเมื่อบวชมาแล้วตั้งใจศึกษาและปฏิบัติจนเป็นที่ยอมรับของสังคมก็มี กล่าวคือหากบวชมาแล้วตั้งใจศึกษาปฏิบัติจริงก็จะได้รับการยกย่องจากสังคมไปเองโดยไม่ต้องร้องขอฯ
จุดยืนของผู้เขียนเรื่องการบวชภิกษุณีและแม่ชี
(๑)ผู้เขียนไม่ได้ปฏิเสธหากจะมีการเรียกร้องให้สามารถบวชภิกษุณีได้ตามเหตุผลที่ยกอ้างแล้วข้างต้นว่าการจะรักษาคำสอนแบบเถรวาทนั้นก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน เพราะเรายอมเปลี่ยนแปลงหลักการหลายอย่างตามสังคม แต่ประเด็นภิกษุณีกลับยืนยันไม่เปลี่ยนแบบหัวชนฝา ซึ่งหากการบวชภิกษุณีสามารถยกสถานภาพของสตรีให้ดีขึ้นได้และเป็นช่องทางเปิดโอกาสให้กว้างมากขึ้นกับการศึกษาและปฏิบัติธรรม การบวชภิกษุณีก็น่าให้การสนับสนุน (ไม่ได้หมายถึงแก้พระไตรปิฎก แต่ยอมให้มีการบวชเหมือนประเด็นการรับเงินของภิกษุ)
(๒)หากคณะสงฆ์หรือคนส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับที่จะเปลี่ยนหลักการก็ให้ใช้วิธีปัจจุบันคือสังกัดเป็นนิกายของมหายาน แต่ทั้งฆราวาสและพระสงฆ์ที่มีอิทธิพลในสังคมควรให้การยอมรับและช่วยกันให้ความรู้แก่ชาวบ้านว่าแม้จะเป็นมหายานแต่ก็เป็นภิกษุณีสงฆ์และควรให้ความสำคัญเช่นกันฯ ประเด็นก็จะตามมาว่า นิกายอื่นจะไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมไทยอีกฯ (เรื่องนี้ชี้เจตนาของผู้เรียกร้องจะบวชได้ชัดเจนว่ามิได้ต้องการบรรลุธรรมเป็นหลัก เพราะนิกายไหนก็บรรลุธรรมได้ แต่ต้องการเป็นเถรวาทเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคมไทยจริงๆ บางท่านถึงกับอ้างว่าให้ทุกคนกลับไปหาพระพุทธเจ้าคือไม่มีนิกาย มีแต่พุทธศาสนาแท้ตามพระไตรปิฎก ก็จะเป็นการขัดกับการเรียกร้องที่จะเป็นภิกษุณีเถรวาทอยู่ดี ไฉนเมื่อไม่อยากมีนิกายจึงยังไม่พอใจกับมหายานแล้วอยากเป็นเถรวาทอีกเล่า? อีกประการหนึ่งหากจะกลับไปหาพระพุทธเจ้าจริงคือยึดพระไตรปิฎก การโต้เถียงเรื่องภิกษุณีก็จบไปเพราะต้องเอาตามพระวินัยฯ) ฉะนั้นถ้ายังจะยืนยันเป็นภิกษุณีเถรวาทจริงๆ ทางเลือกเดียวคือต้องยอมให้บวชโดยยอมรับว่าเราเลือกที่จะไม่ปฏิบัติตามหลักการของเถรวาทนั่นเอง เรื่องนี้มิใช่สิ่งที่เป็นอุปสรรคหากทุกคนยอมรับได้และจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุธรรม เพราะการเข้าถึงธรรมอยู่ที่ความตั้งใจจริงในการปฏิบัติฯ
(๓)หากไม่สามารถยอมรับสิ่งที่เสนอไปแล้วทั้ง ๒ ข้อต้นได้เลยก็ควรมีการส่งเสริมให้บวชเป็นแม่ชี แต่ปัจจัยสำคัญคือการยกสถานะภาพแม่ชีให้เป็นอิสระมากขึ้นไม่เป็นเพียงคนรับใช้พระ นั่นคืออาจให้มีการตั้งวัดขึ้นมา(เหมือน เสถียรธรรมสถาน) แยกแม่ชีออกจากวัดที่มีพระ แม่ชีทั้งหลายบริหารปกครองกันเองตามธรรม ส่งเสริมเรื่องการศึกษาและปฏิบัติธรรม ทำวัดให้เป็นศูนย์ให้ความรู้ธรรมะแก่ผู้คนในชุมชน เพราะบ้านเมืองเจริญขึ้น จึงไม่ต้องห่วงเรื่องความปลอดภัยเหมือนพุทธกาล ประเด็นสำคัญคือต้องแสดงให้ผู้คนเห็นถึงเจตนาที่บริสุทธิ์ของตนในการบวชและความตั้งใจจริงในการศึกษาปฏิบัติ พระสงฆ์ก็พยายามให้ความรู้พุทธศาสนาที่แท้จริงแก่ประชาชน เช่นเรื่องการหาความรู้ การเสียสละ ฯลฯ โดยให้ผู้คนไม่เลือกที่จะเคารพเฉพาะตนด้วยความเชื่อว่าเป็นผู้สูงส่งหรือบุญเขต(คือทำบุญแล้วได้รับผลมากที่สุด) แต่ควรแนะนำให้ผู้คนรู้จักแบ่งปัน ช่วยเหลือทุกคน(โดยเฉพาะแม่ชีที่ออกบวชจากเรือน) สื่อมวลชนก็นำเสนอสาระที่ดีและเป็นประโยชน์ของทุกฝ่ายเสมอกัน คือมีทั้งพระทั้งแม่ชี(ที่มีความรู้)ในการสั่งสอนธรรมทางโทรทัศน์เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้สังคมไทยก็จะยอมรับนับถือสตรีมากขึ้นเอง
กล่าวโดยสรุปผู้เขียนไม่เห็นว่าการอนุญาตให้บวชภิกษุณีเป็นเรื่องที่เลวร้ายจนไม่สามารถทำได้ อีกอย่างหนึ่งการบวชภิกษุณีก็ไม่ได้มีความจะเป็นหากต้องการบรรลุธรรม นั่นคือผู้เขียนไม่มีอะไรต้องถกกับสองประเด็นข้างต้นเพราะเห็นว่ามิใช่ปัจจัยสำคัญ เรื่องที่ควรพิจารณาคือรูปแบบของพุทธศาสนาไทยในปัจจุบันเองต่างหากที่ควรได้รับการแก้ไขก่อน นั่นคือทำให้เป็นพุทธศาสนาแท้หรือเถรวาทแท้โดยการใช้มาตการทางพระธรรมวินัยเป็นวิถีการดำเนินชีวิตของพระสงฆ์ให้ได้ เมื่อพระสละลาภ ยศ อำนาจ ตำแหน่งเป็นต้นได้แล้วหันมาศึกษาพระศาสนาและปฏิบัติกันอย่างจริงจัง สามารถสอนธรรมะที่ถูกต้องแก่ประชาชนเพื่อความสุขในการดำรงชีวิตปัจจุบันตลอดจนการพ้นทุกข์ จากนั้นจะให้มีการบวชภิกษุณี บวชชี หรือแม้แต่บวชพระเองก็จะน่าอนุโมทนา แต่หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ถึงบวชเข้ามาได้(แม้แต่พระ)ก็จะยิ่งพากันหลงทาง ใช้เวลาอยู่กับการต้อนรับผู้คนที่มาท่องเที่ยวหรือเอาผ้าป่ามาถวาย นั่งสะแกนกรรมดูอดีตชาติคนอื่น สร้างกันแต่วัตถุอาคารหรือเทศน์สอนเอาใจคนเพื่อตนจะได้โด่งดัง ซึ่งจะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยแก่พุทธศาสนาแถมยังเป็นการปิดทางบรรลุธรรมของตนเองเสียอีกเพราะดำรงชีพแบบมิจฉาอาชีวะฯ
ความอ่อนแอเดิมของสังคมไทยที่ไม่มีตัวเลือก
ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยทั้งในแง่ประชาธิปไตยหรือพุทธศาสนาเองก็ตามคือ คนไทยส่วนใหญ่มิได้เป็นคนมีความรู้และขาดแคลนปัญญาชนที่จะนำเสนอข้อมูลหรือความถูกต้องแก่ผู้คนได้ คนส่วนใหญ่เองก็เหมือนจะใช้ชีวิตไปวันๆโดยไม่ยอมพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นสาระไม่เป็นสาระ ความจริงพุทธศาสนาก็คล้ายกับประชาธิปไตย คือเราไม่สามารถทำให้เกิดประชาธิปไตยได้เพียงเพราะแก้รัฐธรรมนูญหรือระบุไว้ว่าประเทศเป็นประชาธิปไตย เพราะมิเช่นนั้นก็จะสามารถทำให้ทุกประเทศมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้เลยเพียงก็อบรัฐธรรมนูญของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยไปมอบให้ฯ  แต่ประชาธิปไตยจะเกิดจากการที่คนในประเทศนั้นรู้ความจริง เข้าถึงข้อมูล สามารถตัดสินใจเลือกสิ่งที่ถูกต้องได้ด้วยตนเอง(โดยไม่ต้องมีผู้ใดมาชักจูง)และเปิดใจอภิปรายรับฟังความเห็นของกันและกัน พุทธศาสนาก็เช่นกัน มิใช่เพียงอ้างว่าเป็นเถรวาทแล้วจะเป็นเถรวาทแท้ แต่ผู้คนจะต้องรู้จักพระไตรปิฎก เข้าใจหลักการแท้ของพุทธศาสนา กลายเป็นคนมีเหตุผลพร้อมจะรักษาหลักการเดิมเพื่อป้องกันการบิดเบือนคำสอนที่ถูกต้องฯลฯ
นับแต่อดีตมา คนไทยรู้จักเฉพาะพุทธศาสนาเถรวาท(ที่กล่าวอ้างชื่อนี้กัน) ไม่มีนิกายอื่น(ถึงมีก็น้อยและมักไม่ค่อยให้ความสำคัญที่จะศึกษาเรียนรู้)ให้เปรียบเทียบ หากเทียบกับประชาธิปไตยคือมีนักการเมืองพรรคเดียวหรือสองพรรคฯ ซึ่งต่างจากตะวันตกเช่นอเมริกา ถนนสายหนึ่งประกอบด้วยวัดไทย ทิเบต พม่า กัมพูชา อินเดีย ศรีลังกา ญี่ปุ่นฯลฯ และยังไม่รวมศาสนาอื่นอีก ทำให้ฝรั่งมีตัวเลือกมาก นั่นคือวัดใดที่ตนเข้าไปสัมผัสแล้วสอนไม่เป็นเหตุเป็นผล งมงาย หลอกลวงด้วยวัตถุมงคล หรือพิธีกรรมฯลฯ ก็จะถูกทอดทิ้งหรือคว่ำบาตรไปเอง ส่วนวัดที่สอนธรรมะได้ดี มีการปฏิบัติวิปัสสนาซึ่งเห็นผลจริงฯ วัดนั้นก็จะดำรงอยู่ได้อย่างผาสุข เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับผลักดันหรือบังคับให้แต่ละฝ่ายต่างเสนอหลักการ(สาระธรรม)ที่ดีของตนสู่ชาวโลก ซึ่งน่าเสียดายที่คนไทยไม่มีโอกาสเช่นนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อสังคมเจริญขึ้น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารก็มากขึ้น กอปรกับเมืองไทยคล้ายจะมีนิกายใหม่เพิ่มขึ้น(เช่น สันติอโศก ธรรมกาย หรือพุทธวจนะ)สิ่งเหล่านี้สามารถทำให้คนไทยเปิดใจได้กว้างมากขึ้นได้ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดไม่ใช่การที่ยอมให้มีภิกษุณีหรือยกย่องสถานะของแม่ชี แต่อยู่ที่การไม่ยอมรับฟังหรือเปรียบเทียบสาระจากผู้อื่นเลย เพราะจะทำให้ติดที่ไม่สามารถพัฒนาตนเองได้ เราไม่จำต้องกลัวว่าเมื่อรับพิจารณาแล้วต้องเปลี่ยนแปลงเสมอไป สิ่งใดเห็นว่าเป็นประโยชน์ก็รับเอา สิ่งใดมีโทษก็ทิ้งไปเสียฯ
จุดประสงค์ วัดที่เหมาะสมและข้อปฏิบัติในการบวชชี
เพื่อให้บทความนี้มีประโยชน์แก่ผู้ที่ประสงค์จะบวชชี จึงขอชี้แจงรายละเอียดเรื่องแม่ชีบ้าง วัตถุประสงค์ในการบวชชีอาจมีหลายอย่างตามผู้ที่ประสงค์จะบวช เช่น แก้บน สะเดาะเคราะห์(หมอดูแนะนำมา) หรือเป็นประเพณีของบางท้องที่ที่เด็กผู้หญิงทุกคนต้องบวชชีอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต(ผู้เขียนไม่มีเวลาอธิบายเรื่องเหล่านี้ว่าไม่ดีและไร้สาระอย่างไร แต่อยากให้ถามตัวเองกันว่า ไฉนการทำความดีสักอย่าง เราจะต้องรอให้มีคนมาทักหรือบีบบังคับ บ้างก็เพราะกลัวภัยอันตรายมีความตายเป็นต้น เราไม่สามารถทำความดีด้วยความตั้งใจและความบริสุทธิ์ใจของเราเองได้เลยหรือ?) เป้าหมายเหล่านี้ไม่ได้เลวร้ายแต่ก็ไม่ทำให้ผู้บวชได้ปัญญาเหมือนกัน นั่นคือบวชเพราะความเชื่อ(เป็นมิจฉาสัทธา) พุทธศาสนาสอนเรื่องศรัทธาเช่นกัน แต่เป็นสัมมาสัทธาคือทำให้ผู้นั้นเกิดแรงบันดาลใจในการอยากเรียนและปฏิบัติฯ ดังนั้นแรงบันดาลใจในการบวชที่ดีที่สุดคือการอยากศึกษาพุทธศาสนาและปฏิบัติธรรม(ดังเรื่องราวของภิกษุณีด้านบน) แต่หากไม่สามารถทำให้เกิดแรงบันดาลใจเช่นนี้ได้เพราะมีจุดประสงค์คือการแก้บนเป็นต้นก็ไม่เป็นไร เพียงแต่เมื่อบวชมาแล้วให้ดำเนินชีวิตตามนี้คือใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับการศึกษาและปฏิบัติ (พึงทราบว่าการบวชมาอยู่เฉยๆ นั่งพูดคุยสนทนากัน หรือทำงานวัดทั้งวันเช่นถักด้ายข้อมือ ทำตะกรุดฯลฯ ล้วนไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยกับการเข้ามาบวช) การที่จะมีโอกาสศึกษาและปฏิบัติธรรมได้นั้นผู้บวชต้องพิจารณาปัจจัยอีกข้อหนึ่งคือ
วัดที่เหมาะสม  วัดนั้นจะต้องมีพระที่มีการศึกษาทำหน้าที่เผยแผ่พุทธศาสนาและมีความรู้ด้านการปฏิบัติ(สังเกตได้ว่าพระปฏิบัติจะมีจริยวัตรที่งดงาม และไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของขลังฯ)หากยังหาไม่ได้ก็ไม่ควรตัดสินใจบวชมั่วเพียงเพราะอยากแก้บนให้สำเร็จ เพราะจะทำให้เสียเวลาเปล่า ในกรณีที่เป็นวัดของพระสงฆ์ก็ควรมีการแบ่งเขตพระสงฆ์และแม่ชีให้ชัดเจน(ไม่อยู่คลุกคลีกัน)ฯ
ข้อปฏิบัติในการบวชชี ต้องทราบว่าความเป็นจริงแม่ชีมิได้เป็นนักบวชที่ผ่านอุโบสถทำสังฆกรรมเหมือนพระสงฆ์ (สามเณรก็ใช้วิธีบวชเช่นเดียวกับแม่ชี เพียงแต่เคร่งครัดเรื่องพระอุปัชฌาย์มากกว่า) กล่าวคือเป็นการบวชที่ง่าย เรียกว่าเป็นติสรณคมณูปสัมปทาก็ได้ คือการกล่าวรับเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งหรือที่ระลึก(หมายความว่าจะเชื่อและทำตามพระรัตนตรัยเท่านั้น ไม่ใช่ของขลัง หมอดูหรือคนทรงเป็นต้น) เมื่อกล่าวคำรับเอาพระรัตนตรัย(พุทธํ สรณํ คจฺฉามิฯ)แล้ว บางที่อาจให้มีการท่องคำขอบวชชี (สาระของบทสรุปว่าเป็นการขอรับเอาพระรัตนตรัยและให้พระสงฆ์จำไว้ว่าผู้นั้นได้บวชในพระธรรมวินัย) จากนั้นก็มีการสมาทานเอาศีล ๘ ไปปฏิบัติ มักมีคำถามว่าควรจะโกนผมดีหรือไม่? คำตอบคือควรโกนทิ้งเสีย(มิใช่เพราะบรรลุธรรมง่าย) เนื่องจากการบวชเป็นการเสียสละที่ต้องวัดใจผู้บวช นี้เป็นข้อดีคือทำให้การบวชชีไม่เป็นของง่ายเกินไปที่ใครจะทำก็ได้ จนไม่เห็นคุณค่า เราต้องยอมรับว่าสตรีเป็นเพศที่รักสวยรักงาม ส่วนใหญ่ไม่สามารถตัดสินใจโกนผมตนเองได้ (ไม่ต้องพูดถึงภิกษุณีว่าไฉนมีจำนวนน้อย) ความจริงการโกนผมทิ้งยังเอื้อต่อการดำรงชีพของแม่ชีเองด้วย นั่นคือลดความหน้าตาดีลง ทำให้ตนไม่เย่อหยิ่งและไม่เป็นที่ดึงดูดใจของผู้พบเห็นมีพระสงฆ์เป็นต้นฯ  การบวชแบบติสรณคมณูปสัมปทานี้ไม่จะเป็นต้องบวชกับพระด้วยซ้ำ(แต่ก็นิยมกันจนเข้าใจผิดกันว่าหากไม่บวชในวัดหรือบวชกับพระก็จะไม่เป็นแม่ชี) แน่นอนว่าหากจะดำรงชีวิตเป็นแม่ชีแบบยาวนานหรืออยากได้รับการรับรองว่าเป็นแม่ชีเพื่อใช้อ้าง/แสดงแก่สังคมก็ต้องยอมรับข้อนี้คือควรหาพระที่โด่งดังหรือวัดที่ใหญ่โตในการบวช แต่หากประสงค์เพียงรักษาศีล ๘ และตั้งใจปฏิบัติธรรม จะบวชที่ไหนก็ได้ รวมถึงบวชเองที่บ้านและปฏิบัติธรรมที่บ้าน (ภาคใต้หลายวัดมีการอนุญาตให้บวชในวัด แต่เมื่อบวชเสร็จก็ให้ไปอยู่ที่บ้าน อาจเป็นเพราะต้องการตัดข้อครหาเรื่องพระอยู่ร่วมกับแม่ชีในวัด) เหตุที่กล่าวว่าบวชที่ไหนหรือกับใครก็ได้ เพราะการบวชประเภทนี้เป็นแต่การสมาทานรักษาศีลเท่านั้นเองซึ่งจะทำที่ไหนกับใครก็ได้ เพราะคนที่ต้องรักษาศีลหรือปฏิบัติธรรมคือผู้บวชเอง มิใช่คนที่ตนไปขอบวช กล่าวคือต่อให้มีพระอุปัชฌาย์เป็นถึงเจ้าคุณก็ไม่ได้มีส่วนอะไรกับผู้บวช เพราะเรื่องปฏิบัติเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล  เช่นเดียวกันเมื่อต้องการลาสิกขา(สึก) หากบวชกับพระสงฆ์ก็สามารถเข้าไปลาและขอลาสิกขากับท่านได้ ส่วนผู้ที่สมาทานเอาเองที่บ้านก็ให้เปลี่ยนเป็นสมาทานศีล ๕ ตามเดิมโดยไม่จำต้องมีพิธีกรรม จัดดอกไม้ธูปเทียนอะไรเลย สำหรับผู้ประสงค์จะบวชระยะสั้น ผู้เขียนแนะนำให้ใช้วิธีบวชที่บ้านอันจะได้ประโยชน์และเป็นการบวชที่เสียสละมากกว่า(อาจไม่ต้องโกนผมก็ได้เพราะไม่เป็นที่ต้องตาใครฯ) การบวชที่บ้านไม่ได้เป็นการอวดผู้อื่นและหากตั้งใจปฏิบัติจริงก็ได้ผลเช่นกัน ส่วนผู้ประสงค์จะอยู่นานเช่นเป็นปีหรือตลอดชีวิต เพื่อความอุ่นใจเรื่องเอกสารรับรองเป็นต้นหากต้องเดินทางไกล ก็ควรเข้าไปหาวัดที่ดีซึ่งมีคุณสมบัติตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นการบวชที่ไหน แบบไหน ผู้บวชต้องไม่ลืมอุดมการณ์ตนเองคือการศึกษาและปฏิบัติธรรม ส่วนสิกขาบทหรือศีลแม้จะมีเพียงเล็กน้อย แต่ก็ไม่ง่ายสำหรับการรักษา ดังนั้นต้องตระหนักเรื่องศีลให้ดี หากเห็นว่าไม่สามารถรักษาศีลให้บริสุทธิ์อยู่ได้(ซึ่งข้อที่ล่วงละเมิดนั้นมีความสำคัญต่อการเป็นนักบวช เช่น เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ การลักขโมย ก็ไม่ควรดำรงตนเป็นแม่ชีอีก แต่ให้ลาสิกขาเสียเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพระศาสนาฯ
..............................................................................



[1] อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (หมายความว่าพระสารีบุตรแนะนำให้บวช/ให้โอวาทผู้บวชนั้นให้เป็นพระโสดาบัน ส่วนพระโมคคัลลานะสามารถรับผู้นั้นไปฝึกฝนต่อจนสำเร็จอรหันต์)
[2] เรื่องเวลานี้ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอน นั่นคือบางที่(อรรถกถา อังคุตตรนิกาย๑/๒๓๕/๓๐๒)ระบุว่าเกิดราวพรรษาที่ ๕ แห่งพุทธกิจเมื่อพระบิดาคือพระเจ้าสุทโธทนะสวรรคตฯ เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับพระอานนท์ด้วย(ถือเป็นพุทธอุปัฏฐาก)ที่ทูลขอให้พระพุทธเจ้าอนุญาตการบวชภิกษุณี ซึ่งตอนพรรษาที่ ๕ นั้นพระอานนท์ยังมิได้เป็นพุทธอุปัฏฐากฯ ส่วนในอรรถกถาพระวินัย (๑/๒๐๒) กล่าวถึงเหตุการณ์เมืองเวรัญชาที่พระอานนท์เป็นอุปัฏฐากและมีบทบาทสำคัญ ซึ่งตอนนั้นอยู่ในช่วงพรรษา ที่ ๑๒ แห่งพุทธกิจ, ในอรรถกถา ทีฆนิกาย(๒/๑๑/๑๓)พระอานนท์ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเนื่องจากปรารภเหตุที่พระพุทธองค์ทรงเริ่มชราภาพแล้วและไม่มีอุปัฏฐากตัวจริง ได้แต่ผลัดเปลี่ยนกันเรื่อย จนบางครั้งมีผู้ดูแลพระพุทธเจ้าไม่ดีฯ พรรษาที่แต่งตั้งนั้นคือ ๒๐ฯ ตัวอย่างที่ยกมานี้สื่อให้เห็นว่า หากเชื่อว่าการบวชภิกษุณีสำเร็จเพราะการทูลขอของพระอานนท์ซึ่งเป็นพระอุปัฏฐากก็น่าจะไม่ใช่ในพรรษาที่ ๕ ตามที่เข้าใจกัน แต่เป็นไปได้มากว่าพระอานนท์อาจไม่จำเป็นต้องเป็นอุปัฏฐากก็ทำหน้าที่ขอได้ด้วยความสนิทสนมกันเพราะเป็นญาติกันทั้งสองฝ่าย นั่นคือกับพระพุทธเจ้าเองและฝ่ายพระนางมหาปชาบดีฯ พระพุทธเจ้าเองที่ทรงอนุญาตก็มิใช่เพราะแพ้แก่เหตุผลพระอานนท์(ด้วยไม่ใช่เป็นวิสัยของพระพุทธเจ้า)แต่อาจเป็นเพราะทรงต้องการทำให้การบวชภิกษุณีเป็นของยากเพื่อภิกษุณีเองจะได้มีความตั้งใจปฏิบัติรักษาวินัยให้ดีที่สุด หากจะตีความไปช่วงพรรษาที่ ๒๐ ของพระองค์(พระพุทธเจ้ามีอายุได้ ๕๖) พระนางมหาปชาบดีก็ทรงชราภาพมากแล้ว(น่าจะราว ๗๐ พรรษาเป็นอย่างน้อย)เช่นนั้นก็อาจมีปัญหาเรื่องความทุพพลภาพในการบวชอีกฯ
[3] “จนกลายเป็นว่า แทนที่จะก้าวต่อไปทำงานเพื่อสนองวัตถุประสงค์ขั้นที่ ๒ ในการจัดการกับสังคมใหญ่ภายนอก ก็ต้องสาละวนกับการประคับประคองตัวว่าจะดำรงอยู่ให้ดีได้อย่างไร ยิ่งกว่านั้นเมื่อภิกษุณีสงฆ์หย่อนความมั่นคงปลอดภัย ไม่ค่อยคล่องตัวถึงกับมีพุทธบัญญัติให้อยู่ด้วยกันกับภิกษุสงฆ์ อยู่ใกล้ชิดเหมือนคอยช่วยคุ้มกันเป็นการช่วยโอบอุ้มหรือให้อบอุ่น แทนที่จะเป็นสองกำลังร่วมเพิ่มความแข็งแรง กลายเป็นว่ารวมกันแล้วสังฆะกลับอุ้ยอ้ายอืดอาด ภิกษุสงฆ์เกิดมีภาระใหม่ ที่จะต้องมาช่วยปกป้องคุ้มครองภิกษุณีสงฆ์ เลยพะวักพะวง ห่วงหน้าห่วงหลัง พลอยเสียความคล่องตัวไปด้วย” พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), ตอบ ดร.มาร์ติน พุทธวินัยถึงภิกษุณี, หน้า ๕๘, พิมพ์ครั้งที่ ๓, สหมิตรพริ้นติ้งแอนพับลิสซิ่ง จำกัด. ๒๕๕๔
[4] แม้เป็นภิกษุเองก็ตาม เพราะภิกษุสงฆ์ไทยเองก็เคยขาดสูญไปแล้ว โชคดีที่ยังมีเหลืออยู่ในประเทศอื่นจึงสามารถนิมนต์มาเผยแผ่พระศาสนา/บวชได้ใหม่ ส่วนภิกษุณีเป็นที่ทราบและยอมรับกันว่าขาดสูญไปแล้ว การสืบสายของภิกษุณีในศรีลังกาที่ได้รับจากจีนก็ยอมรับกันว่ามิใช่เถรวาทฯ
[5] ทีฆนิกาย มหาวรรค ข้อ ๑๔๑ “ดูกรอานนท์   โดยกาลล่วงไปแห่งเรา สงฆ์จำนงอยู่ ก็จงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างได้”
[6] ในมิลินทปัญหาอธิบายว่า “การที่ทรงอนุญาตให้สงฆ์ถอนสิกขาบทเล็กน้อยนั้น ก็ด้วยมีพระพุทธประสงค์จะตรัสลองใจพระภิกษุสงฆ์ดู เปรียบเหมือนพระเจ้าจักรพรรดิ์ตรัสกะพระราชโอรสในเวลาจวนจะสวรรคตว่า เขตพระราชอาณาจักรกว้างขวางมากนักยากแก่การปกครอง เมื่อลูกจะทอดทิ้งเสียบ้างก็ตามใจเถิด แล้วก็เสด็จสวรรคต ขอถวายพระพร พระราชกุมารนั้นจะพึงทอดทิ้งเขตแดนซึ่งพระชนกปราบไว้ได้นั้นๆ ทีเดียวหรือ? พระยามิลินท์ตอบว่า “หามิได้ ด้วยว่าธรรมดาพระมหากษัตรย์ย่อมมีความประสงค์อย่างยิ่งในการที่จะขยายพระราชอาราเขต” นาคเสนกล่าวต่อไปว่า “ขอถวายพระพร นั้นแลฉันใด นี่ก็ฉันนั้นเหมือนกัน การที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้สงฆ์ถอนสิกขาบทเล็กน้อยนั้น  ก็ด้วยมีพระพุทธประสงค์จะตรัสลองใจพระภิกษุสงฆ์   แต่พระหฤทัยทรงมุ่งจะให้สงฆ์คุ้มครองรักษาสิกขาบทเล็กน้อยนั้นๆ  ไว้ด้วยความปรารถนาในข้อวัตตปฏิบัติ เพื่อขยายการบำเพ็ญออกไปเช่นเดียวกัน ...(ขุททานุขุททกปัญหา) ส่วนในวินัยปิฎก จุลวรรค ข้อ ๖๒๑ พระมหากัสสปะอธิบายว่า “สิกขาบทของพวกเราที่ปรากฏแก่คฤหัสถ์มีอยู่ แม้พวกคฤหัสถ์ก็รู้ว่า สิ่งนี้ควรแก่พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร สิ่งนี้ไม่ควร  ถ้าพวกเราจักถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียจักมีผู้กล่าวว่า พระสมณโคดมบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลายเป็นกาลชั่วคราว พระศาสดาของพระสมณะเหล่านี้ยังดำรงอยู่ตราบใด สาวกเหล่านี้ยังศึกษาในสิกขาบททั้งหลายตราบนั้น เพราะเหตุที่พระศาสดาของพระสมณะเหล่านี้ปรินิพพานแล้ว พระสมณะเหล่านี้จึงไม่ศึกษาในสิกขาบททั้งหลายใน บัดนี้...สงฆ์ไม่พึงบัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ ไม่พึงถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว พึงสมาทานประพฤติ ในสิกขาบททั้งหลายตามที่ทรงบัญญัติแล้ว” (หมายความว่า หากจะยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงอาบัติข้อเล็กน้อยเสีย จะทำให้ชาวบ้านมองว่าพระพุทธเจ้าเพิ่งปรินิพพาน สาวกก็พากันเพิกถอน/เปลี่ยนแปลงวินัยกันเสียแล้วฯ)
[7] ภิกษุผู้แก่กว่า พึงเรียกภิกษุผู้อ่อนกว่า โดยชื่อหรือโคตร หรือโดยวาทะว่า  อาวุโส แต่ภิกษุผู้อ่อนกว่าพึงเรียกภิกษุผู้แก่กว่าว่า ภันเต หรืออายัสมา (ทีฆนิกาย มหาวรรค ข้อ ๑๔๑)
[8] ธรรมและวินัยอันใด เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา (ทีฆนิกาย มหาวรรค ข้อ ๑๔๑)
[9] โย ปน  ภิกฺขุ  ชาตรูปรชตํ  อุคฺคเณฺหยฺย  วา  อุคฺคณฺหาเปยฺย  วา อุปนิกฺขิตฺตํ  วา  สาทิเยยฺย  นิสฺสคฺคิยํ  ปาจิตฺติยํฯ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ข้อ ๑๐๕
[10] [๗๓๘] ดูกรภารทวาชะ ในโลกนี้ ก่อนแต่การตรัสรู้ เรายังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ได้มีความคิดเห็นว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด (มัชฌิมนิกาย มัชฌมปัณณาสก์)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น