วันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เรื่องน่ารู้เนื่องในวัน วิสาขบูชา


เรื่องน่ารู้เนื่องในวัน วิสาขบูชา
วิสาขบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาอันถือเป็นวันที่ประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า โดยเหตุการณ์ทั้ง ๓ อย่างเกิดขึ้นในวันเดียวกันคือ ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ การจัดงานเพื่อระลึกถึงความสำคัญของวันนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองไทยอาจเริ่มมาตั้งแต่ยุคสุโขทัยฯ อันเป็นสมัยที่พุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามาจากศรีลังกา[1] (ประเทศไทยจึงยึดเอาธรรมเนียมของศรีลังกามาปฏิบัติด้วย)  และเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2542 ที่ประชุมใหญ่สมัชชาแห่งสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันนี้เป็นวันสำคัญสากลของโลกตามข้อเสนอของหลายประเทศเช่น ศรีลังกา ไทย สิงคโปร์ บังคลาเทศ ภูฐาน สเปน พม่าฯลฯ โดยข้อเสนอมีใจความสรุปได้ว่า
"วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ทรงตรัสรู้ เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้มวลมนุษย์มีเมตตาธรรมและขันติธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อให้เกิดสันติสุขในสังคม อันเป็นแนวทางของสหประชาชาติ จึงขอให้ที่ประชุมรับรองข้อมตินี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรองความสำคัญของพุทธศาสนาในองค์การสหประชาชาติ โดยถือว่าวันดังกล่าวเป็นที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติและที่ทำการสมัชชาจะจัดให้มีการระลึกถึง (Observance) ตามความเหมาะสม"[2]
เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์
ความจริงคำว่า “วิสาขบูชา” มีความหมายเพียงแค่ การบูชาในวันวิสาขะ หรือวันที่พระจันทร์มาเสวยฤกษ์(เต็มดวง)วิสาขะเท่านั้น ชาวพุทธทั้งหลายได้กำหนดวันนี้ให้เป็นวันสำคัญเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์อันเป็นจุดกำเนิดของพุทธศาสนา(อาจกล่าวได้ว่า วิสาขบูชานี้เป็นวันครบรอบวันเกิดของพุทธศาสนานั่นเอง) โดยเหตุการณ์ทั้ง ๓ นั้นคือ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานฯ
      การประสูติ(เกิด) ของพระพุทธเจ้า (ชื่อเดิมคือ เจ้าชายสิทธัตถะ)ได้มีขึ้น ณ สวนลุมพินีวัน ปัจจุบันคือประเทศเนปาล นักปราชญ์มีความเห็นต่างกันในแง่สถานที่เกิดของเจ้าชายซึ่งไม่เกิดในพระราชวังแต่กลับต้องมาเกิดในป่า(สวน)ด้วยเหตุผลว่า เพราะเป็นช่วงที่มารดาประสงค์จะกลับเมืองเดิม แต่ยังไม่ถึงก็คลอดระหว่างทางฯ บ้างก็สันนิษฐานว่าประสงค์จะชมสวนอันรื่นรมณ์ฯ อย่างไรก็ตาม สถานที่ประสูติตามหลักการของพุทธศาสนาแล้วมิได้มีความสำคัญนัก พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนใจคนทั้งหลายว่าอย่ามองคนเพียงชาติกำเนิด หมายความว่า เราไม่สามารถกล่าวได้ว่าคนดีคือคนรวย เป็นตระกูลมีชื่อเสียง หรือมีการศึกษาดีฯลฯ แต่คนดีต้องเป็นผู้ดำรงชีวิตอย่างถูกต้อง ดีงาม พัฒนาชีวิตตนเองและช่วยเหลือผู้อื่น[3] เมื่อเป็นเช่นนี้สิ่งที่ชาวพุทธควรทำคือไม่ใช่กระหยิ่มพอใจหากตนเป็นคนรวยและไม่ท้อแท้หากเป็นคนยากจน สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายต้องทำคือเร่งพัฒนาตนเองให้มีความสามารถและช่วยเหลืออนุเคราะห์ผู้อื่นตามกำลังของตนไม่เห็นแก่ตัวฯ
การตรัสรู้ โดยศัพท์หมายถึงการเข้าใจความจริงของโลกโดยไม่มีกิเลส(ความโลภ โกรธ หลง) มาครองงำจิตใจ หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ ได้รับการศึกษา ครองชีวิตจนมีพระโอรสฯ เมื่อพระองค์มีพระชนมายุ ๒๙ พรรษาได้ตระหนักถึงคุณค่าชีวิตว่าหากจะใช้ชีวิตไปวันๆก็จะตายเปล่า ต่อให้มีฐานะดีก็ตามฯ พระองค์ได้ดำริว่า “มนุษย์ทั้งหลายมีความทุกข์เกิดขึ้นครอบงำอยู่ตลอดเวลาก็จริง เกลียดความทุกข์อยู่ตลอดเวลาก็จริง แต่ทำไมมนุษย์ทั้งหลายยังมัวแสวงหาทุกข์ร้อนใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา แล้วทำไม เราต้องมามัวนั่งแสวงหาทุกข์ใส่ตัว (ให้โง่) อยู่อีกเล่า!”[4]  สังเกตได้ว่าพระองค์มิใช่คิดเหมือนคนทั่วไป นั่นคือเราทั้งหลายหากยากจนก็คิดอยากจะเป็นคนมั่งมี หรือคนที่มั่งมีแล้วก็คิดแต่จะเสพสุขอย่างนั้นไปเรื่อยๆโดยมิได้คำนึงถึงอนาคตว่าเมื่อแก่จะทำอย่างไร หรือเมื่อตายจะเป็นอย่างไรฯ พระองค์กลับมองเห็นว่าเมื่อชีวิตมีการเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นธรรมดา(ซึ่งคนทั้งหลายมัวแต่ประมาทหรือหลงชื่นชมความสบายในชีวิตอยู่) พระองค์น่าจะต้องหาทางออกจากความทุกข์เหล่านี้ให้ได้จึงตัดสินพระทัยออกบวชซึ่งเห็นว่าการดำเนินชีวิตแบบฆราวาสมีภาระธุระต้องดูแลมาก อีกทั้งยังต้องคลุกคลีด้วยครอบครัว ญาติพี่น้องไม่สามารถปลีกเวลาอยู่ผู้เดียวปฏิบัติธรรมได้ ดังมีพระดำรัสว่า “ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี ส่วนบรรพชาเป็นโอกาสแสงสว่าง ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว เหมือนสังข์ที่เขาขัดดีแล้วโดยง่ายนั้นไม่ได้ ถ้าไฉนเราพึงปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมน้ำฝาด(จีวร)ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีประโยชน์เกี่ยวข้องด้วยเรือนเถิด”[5] ประโยคนี้อาจเตือนใจพระทั้งหลายที่ออกบวชตามพระพุทธเจ้าได้ว่าปัจจุบันเรามีจุดประสงค์เดียวกับพระพุทธเจ้าอยู่หรือไม่? หรือบางทีอาจตรงกันข้ามคือเพื่อแสวงหาลาภ ยศ เงินทองในการเลี้ยงชีพ เพราะเหตุว่าการอยู่แบบฆราวาสมีความลำบากฯ สุดท้ายพระองค์ก็ทิ้งสมบัติและความสบายทั้งหลาย(ที่ไม่เที่ยงคือวันหนึ่งต้องพลัดพรากจากสิ่งนั้นอยู่ดี)ออกบวชเพื่อหาทางพ้นทุกข์หรือตรัสรู้ และเมื่ออายุ ๓๕ พรรษา(บวชได้ ๖ ปี) ก็ค้นพบพระธรรมคือ อริยสัจ ๔ ประการ อริยสัจหมายถึงความจริงอันประเสริฐ แปลอีกอย่างได้ว่า ความจริงที่ทราบเข้าแล้วทำให้คนกลายเป็นผู้ประเสริฐ นั่นคือเป็นความจริงที่แสดงหลักของเหตุและผล ไม่มีปัญหาใดจะเกิดได้หากไม่มีเหตุ ขณะเดียวกันคือไม่มีปัญหาใดเกิดมาแล้วไม่มีทางจะดับ ประกอบด้วย
๑. ทุกข์ สภาพปัญหาที่ต้องประสบ เป็นความทุกข์ที่ทำให้เศร้าโศก เสียใจ เช่นเพราะลูกตายฯ
๒. สมุทัย เหตุที่ทำให้ปัญหาหรือความทุกข์เกิดขึ้น กล่าวคือกิเลสที่ยึดความเป็นตัวตนว่า เขาเป็นลูกเรา เป็นคนที่เรารัก (กามตัณหา, ภวตัณหา และ วิภวตัณหา) ให้สังเกตว่า หากเราได้ข่าวว่าคนที่เราไม่รู้จักตายเช่นในทีวี เราจะไม่รู้สึกเศร้าใจ(หรือหากเศร้าก็ไม่เท่ากับคนที่ตนรัก) นี่เป็นความยึดมั่นโดยไม่เข้าใจหลักของธรรมชาติคือ ทุกอย่างล้วนเป็นไปตามเหตุปัจจัย เกิดมาก็ตายฯ
๓. นิโรธ สภาพที่ปัญหาหรือความทุกข์หมดสิ้นไป ไม่มีความยึดมั่น ความรัก ความเกลียด (อย่าพึงเข้าใจว่าคนที่ได้สภาวะนี้เป็นคนที่เห็นแก่ตัวหรือใจร้าย เพราะแม้ความเห็นแก่ตัวก็ไม่มี นั่นคือเขาจะทำหน้าที่หรือประโยชน์เหมือนเดิม เช่นมีลูกก็เลี้ยงลูกให้เป็นคนดี ลูกตายก็ไม่เสียใจ เพราะได้เข้าใจความจริงของธรรมชาติ หมดความยึดมั่นอาลัยในชีวิตว่าเขาจะต้องเป็นลูกเราตลอดไป เขาจะต้องไม่ตายเป็นต้น)
  ๔. มรรค หนทางหรือวิธีปฏิบัติเพื่อให้ก้าวถึงนิโรธ (ข้อที่ ๓) นั่นคือ ปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ แต่ที่สำคัญคือต้องเริ่มด้วยความรู้ พุทธศาสนาเรียกว่า สัมมาทิฎฐิ (แปลว่าความเห็น/เข้าใจถูกต้อง) และโยงไปถึงข้ออื่นๆซึ่งมีทั้งหมด ๘ ประการดังที่เรียกว่า มรรคมีองค์ ๘ ตัวอย่างเช่นการจะก้าวไปสู่การไม่ทุกข์เพราะลูกตายเป็นต้นนั้นเพราะมีปัญญา(สัมมาทิฏฐิ)มองเห็นความจริงของธรรมชาติแล้วจนสามารถปล่อยวางได้ฯ
 ให้สังเกตว่าพุทธศาสนาสอนให้มนุษย์รู้จักดูสภาพปัญหา หาสาเหตุของปัญหาตลอดจนแนะวิธีแก้ที่ตรงจุดของปัญหานั้น เพราะเหตุนี้นี่เองพุทธศาสนาจึงไม่ใช่ศาสนาที่งมงาย ไม่ได้สอนให้คนมัวแต่เชื่อแล้วพากันบูชาสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ความเป็นชาวพุทธต้องเริ่มจากการรู้จักพระพุทธศาสนาด้วยการศึกษาให้เข้าใจและดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับหลักคำสอน(อันเป็นความจริง เป็นเหตุและผล)นั้นฯ เมื่อพระพุทธเจ้ารู้อริยสัจเข้า การประกาศศาสนาของพระองค์จึงเป็นการปฏิเสธและลบล้างความเชื่อเรื่องปาฏิหาริย์หรือเทวดาเป็นต้นไปในตัว ไม่ใช่พระพุทธเจ้าปฏิเสธว่าไม่มีเทวดา แต่พระองค์ชี้ให้เห็นว่าปัญหาหรือความทุกข์เกิดจากตัวมนุษย์เองซึ่งไม่เข้าใจความจริงของธรรมชาติ ดังนั้นวิธีแก้คือต้องแก้ที่พฤติกรรมหรือวิธีปฏิบัติ โดยอาศัยความรู้และความพยายามด้วยตนเอง มิใช่รอให้อำนาจศักดิ์สิทธิ์มาดลบันดาลฯ
การปรินิพพาน (ตาย) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อพระองค์มีอายุ ๘๐ พรรษา สิ่งนี้ก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ตามหลักคำสอนของพระองค์ นั่นคือเมื่อเกิดแล้วต้องตาย พระพุทธเจ้าในฐานะผู้สอนเรื่องนี้ก็ต้องตายเหมือนกัน พระองค์ก็ทรงเป็นไปตามกฏของธรรมชาติ สิ่งนี้เป็นเรื่องเตือนใจมนุษย์ให้รู้จักความไม่ประมาท พระองค์ไม่เคยสอนว่าคนที่เกิดมาแล้วจะมียาวิเศษกินเพื่อหนีความตาย(ถ้าไม่อยากตายต้องอย่าเกิด คือดับกิเลสให้หมดฯ ซึ่งพระองค์ก็ทำให้ดูเป็นแบบอย่าง) และไม่ต้องการให้เรามัวแต่เสาะหาเรื่องเหล่านั้น แต่พระองค์กลับเน้นชีวิตที่มีคุณค่า หมายความว่าสิ่งที่พระองค์ยกย่องคือผู้ที่เกิดมาแล้ว แสวงหาความรู้จนมีปัญญา กำจัดความโลภ โกรธหลงได้และทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น คนเหล่านี้แม้ตายก็น่ายกย่องที่เกิดมาไม่เสียทีฯ ส่วนผู้ที่เกิดมาแล้วมัวแต่เล่าเรียนเพื่อใช้เป็นเครื่องมือหาเงินเลี้ยงชีวิตตนเองให้สบายโดยไม่สนใจพัฒนาปัญญา(ที่กำจัดกิเลส) ตกเป็นทาสของวัตถุ(บริโภคนิยม) ไม่สร้างสรรค์ประโยชน์แก่สังคม คนเช่นนี้พระองค์ตรัสว่าต่อให้อยู่ได้ ๑๐๐ ปีก็ไร้ความหมายฯ ดังนั้นการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าจึงมีความหมายมาก นั่นคือนอกจากจะสอนเรื่องสัจธรรมแล้ว ประวัติชีวิต/การทำงานของพระองค์เป็นเรื่องที่น่าเอาแบบอย่าง ไม่สนใจความสุขส่วนตนแต่มุ่งหาประโยชน์สูงสุดคือวิธีการกำจัดกิเลสซึ่งเป็นรากเหง้าของความอยากหรือความทุกข์ทั้งปวงฯ
สิ่งที่ชาวพุทธควรทำในวันวิสาขบูชา โดยทั่วไปทางวัดจะจัดให้มีการทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรมและเวียนเทียน การทำบุญเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นตัวช่วยกำจัดกิเลสความโลภ นั่นคือเราสามารถแบ่งสิ่งของที่มีอยู่ให้ผู้อื่นได้ไม่เก็บไว้ใช้สอย/บริโภคคนเดียว อย่างไรก็ตามการทำบุญที่ถูกต้องไม่ทำเฉพาะวันนี้และไม่ทำเพราะมีข้อแลกเปลี่ยนเช่น ทำเพราะอยากรวย อยากได้โน่นนี่ตอบแทนฯลฯ เพราะจะเป็นการทำที่ไม่บริสุทธิ์คือหวังผลกลับเข้าหาตนเอง การทำทานที่ดีจึงต้องทำเพื่อผู้อื่น ซึ่งอาจเป็นพระสงฆ์หรือผู้คนทั่วไป เพื่อนบ้านฯลฯ ด้วยว่าต้องไม่ลืมจุดประสงค์ของทานคือกำจัดความโลภ มิใช่เพิ่มความโลภให้มากขึ้นฯ การเวียนเทียนให้ระลึกเสมอว่าเป็นแต่การระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเท่านั้น เพื่อให้เราทั้งหลายได้มีโอกาสตระหนักถึงความเสียสละของพระองค์และเอาพระองค์เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตฯ นั่นคืออย่าให้ทุกอย่างจบลงที่การเวียนเทียน แต่ทุกวันเราต้องรู้จักหาความรู้ เป็นคนมีเหตุมีผลไม่งมงาย มีจิตใจเอื้อเฟื้อแบ่งปัน (กับคนทุกคนไม่เฉพาะแต่พระสงฆ์)และทำประโยชน์แก่ส่วนรวมให้มากตามสติกำลังของตน  ความจริงพระพุทธเจ้ามิได้ส่งเสริมให้ชาวพุทธบูชาพระองค์ด้วยวัตถุสิ่งของหรืออามิส(เช่นดอกไม้ ธูปเทียนฯ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆในการดำเนินชีวิต) แต่ประสงค์ให้บูชาด้วยการปฏิบัติตามคำสอน เว้นจากการทำชั่ว รักษาศีลและหมั่นปฏิบัติธรรมฝึกฝนใจให้บริสุทธิ์คือไม่ตกเป็นทาสกิเลสฯ


[1] เอกรัตน์ อุดมพร. วรรณคดีสมัยสุโขทัย. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์พัฒนาศึกษา, ไม่ทราบปีที่พิมพ์.
[2] Request for inclusion of an additional item in the agenda of the fifty-fourth session in United Nations (12 November 1999). International recognition of the Day of Vesak. Retrieved on May 7, 2009 (อังกฤษ)
[3]  น ชจฺจา วสโล โหติ น ชจฺจา โหติ พฺราหฺมโณ  กมฺมุนา  วสโล โหติ  กมฺมุนา โหติ พฺราหฺมโณ (มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ๗๐๗)
[4] ปาสราสิสูตร โอปัททมวรรค  มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ๑๒/๓๑๖/๓๑๖
[5] สคารวสูตร พราหมณวรรค มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๑๓/๖๖๙/๗๓๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น