วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2555

มหาสาโรปมสูตร ว่าด้วยเป้าหมายสูงสุดของชีวิต





มหาสาโรปมสูตร ว่าด้วยเป้าหมายสูงสุดของชีวิต[1]
มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ข้อ ๓๔๗-๓๕๒
(เจษฎา กันตเมธี ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๕)
......................................................................................................................................................
บทนำ
เป้าหมายชีวิตเป็นสิ่งที่มนุษย์ผู้ประสงค์จะพัฒนาตนเองต้องตั้งไว้เป็นอุดมคติแล้วแสวงหาตามสถานะและความสามารถของตน ความจริงเป้าหมายในชีวิตคนสามารถเกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไปตลอดได้ตามสภาพแวดล้อม สติปัญญาหรือความคิดในช่วงนั้นๆ เช่นครั้นเป็นเด็ก เป้าหมายชีวิตอาจเป็นอย่างหนึ่ง โตเป็นผู้ใหญ่ก็เปลี่ยนเป็นอีกอย่าง กระทั่งแก่ชราก็มีเป้าหมายสูงสุดเป็นอีกอย่างฯ เป้าหมายอาจแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทหลักคือ
๑. เป้าหมายระยะใกล้ (หรือระดับโลกิยะ) เป็นเป้าหมายที่ต้องการทำให้สำเร็จไปแต่ละช่วงของชีวิต ครั้นได้ตามประสงค์แล้ว ก็รู้สึกอิ่มประทับใจ หรือเฉยๆ แล้วอยากได้อย่างอื่นอีกเรื่อยๆ จนไม่มีที่สิ้นสุด เป็นเหตุให้ชีวิตต้องดำเนินตามเป้าหมายนั้นไปจนยากที่จะรับรองได้ว่า ชีวิตตนมีค่าแล้วเพียงเพราะประสบสิ่งนั้นฯ เรื่องนี้อาจโยงโดยตรงไปที่ตัววัตถุหรือลาภยศเป็นสำคัญ ธรรมดาสิ่งเหล่านี้ (โลกธรรม) เป็นของเติมให้เต็มได้ยาก ผู้จะพ้นจากสิ่งเหล่านี้ไปได้ต้องมีปัญญามองเห็นความไร้สาระ ไม่คงทนถาวรแล้วระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงมนุษย์ในปัจจุบัน กลับถอนตัวไม่ขึ้นแม้แต่ในโลกของวัตถุ พุทธศาสนาจึงเน้นเรื่องปัจจัย ๔[2] ขึ้นมาเพื่อเตือนใจให้ตระหนักอยู่เสมอว่า การใช้ปัจจัย ๔ เป็นสิ่งสำคัญตรงที่ทำให้มนุษย์ดำรงชีพด้วยความไม่ลำบากเท่านั้น ทำนองเดียวกัน เมื่อเพียงต้องการดำรงชีพทางกายภาพอยู่ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องมี/ครอบครองวัตถุมากเกินจนทำให้หลง หรือเสียเวลาในการสร้างประโยชน์อย่างอื่น กล่าวโดยสรุปคือพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธวัตถุเสียเลยจนทำให้ตนต้องลำบาก แต่ก็ให้วัตถุเป็นฐานในการดำรงชีพแบบพอเพียงและพัฒนาตนไปถึงขั้นเพิ่มพูนคามรู้ คุณธรรม อันจะทำให้ได้รับสุขที่ประณีตและยั่งยืนยิ่งขึ้นฯ ปกติมนุษย์ที่สับสนและ/หรือไม่ชัดเจนในเรื่องเป้าหมายชีวิตของตนเองล้วนเป็นผลมาจากการหลงยึดปัจจัย ๔ นี้เป็นอุดมคติทั้งสิ้น โดยมองข้ามไปว่า เป็นสิ่งที่ช่วยให้ชีวิตดำรงอยู่ได้เท่านั้น ทำให้ติดอยู่กับการหาปัจจัย ๔ อย่างเดียวอันเป็นเป้าหมายระยะใกล้ ซึ่งความเป็นจริง ปัจจัย ๔ (รวมทั้ง โลกธรรมกล่าวคือ ลาภ ยศ สรรเสริญและสุขแบบอิงอาศัยวัตถุ) หาใช่เป้าหมายโดยตัวมันเองไม่ แต่เป็นเพียงปัจจัยหรือเครื่องมือ(Means) ในการพัฒนาคนเท่านั้นฯ อย่างไรก็ตาม การทำเป้าหมายระยะใกล้ให้ประสบความสำเร็จแล้วไม่ติดอยู่กับที่(ต่อให้เรียกว่าเป็นเป้าหมายหรือเครื่องมือก็ตาม) ก็มิได้เป็นผลเสียจนพุทธศาสนาต้องปฏิเสธ เพียงแต่พุทธศาสนายังสอนให้ก้าวไปสู่เป้าหมายที่ ๒ คือ
๒. เป้าหมายระยะไกล หรืออุดมคติสูงสุด(โลกุตตระ) อันหมายถึงเป้าหมายทางศาสนา เมื่อกล่าวถึงศาสนา หลายคนอาจมีอคติหรือทัศนะในแง่ลบเกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติ[3] อย่างไรก็ตาม พึงเข้าใจว่าการกล่าวเช่นนี้เพียงเพื่อให้สอดรับกับพระสูตรในพุทธศาสนาเท่านั้น ความจริงเป้าหมายระยะไกลหรืออุดมคติข้อนี้หาจำกัดอยู่แต่วงการของชาวพุทธไม่ หากแต่เป็นมนุษย์ทุกคนที่ต้องการความสุขแบบยั่งยืน การกล่าวถึงเป้าหมายชีวิตย่อมต้องรับกับความสุขไปในตัว เพราะมนุษย์มีเป้าหมาย โดยหลักแล้ว(ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายระยะใกล้หรือไกล) ก็เพราะต้องการความสุขเป็นผลทั้งสิ้นฯ พุทธศาสนาจึงเป็นคำสอนหนึ่ง(ในบรรดาศาสนาทั้งหลาย)ที่เสนอทางออกเรื่องความสุขอย่างสมบูรณ์ และเน้นที่ตัวมนุษย์เองว่าสามารถพัฒนาความสุขนี้ให้เกิดขึ้นได้โดยใช้สติปัญญามองเห็นความจริง มิพักต้องพึ่งพาหรือร้องขอความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้า[4] เป้าหมายข้อหลัง ตามพระสูตรนี้จึงกล่าวถึงการพัฒนาตนเองไปทีละขั้นอันเริ่มจาก การพ้นจากลาภสักการะ กระทั่งการที่จิตหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง(เจโตวิมุตติ)
การตรัสพระสูตรนี้ เสมือนเป็นการเตือนใจที่พระพุทธเจ้าต้องการให้มนุษย์(โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระภิกษุที่ตั้งใจบวชอุทิศเรื่องการหาความสุขขั้นสูงสุดโดยตรง) ได้เข้าใจเป้าหมายที่ถูกต้องตรงกัน เพื่อจะได้ไม่ไปหลงยึดอยู่กับอันใดอันหนึ่ง(ซึ่งต่ำกว่า/สุขน้อยกว่า) โดยเข้าใจผิดไปว่า ตนได้รับสิ่งที่พึงประสงค์แล้วด้วยการนำไปเปรียบเทียบกับแก่นไม้ฯ  
เนื้อความพระสูตร(ตัดส่วนที่ซ้ำออก)
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์. เมื่อพระเทวทัตต์หลีกไปไม่นาน ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระเทวทัตต์ ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้ว ตรัสว่า
(๓๔๗) ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ท่วมทับแล้ว ถูกความทุกข์ท่วมทับแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ไฉนหนอ ความกระทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้จะพึงปรากฏ. เขาบวชอย่างนั้นแล้ว ยังลาภสักการะ และความสรรเสริญให้บังเกิดขึ้น. เขามีความยินดี มีความดำริเต็มเปี่ยมด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น. เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญอันนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นว่า เรามีลาภสักการะและความสรรเสริญ ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ไม่ปรากฏ มีศักดาน้อย. เขาย่อมมัวเมา ถึงความประมาท เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เมื่อเป็นผู้ประมาทแล้ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นอยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลยกระพี้ ละเลยเปลือก ละเลยสะเก็ดไปเสีย ตัดเอากิ่งและใบถือไป สำคัญว่าแก่น. บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาผู้นั้นแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้ไม่รู้จักแก่นไม้ ไม่รู้จักกระพี้ ไม่รู้จักเปลือก ไม่รู้จักสะเก็ด ไม่รู้จักกิ่งและใบ จริงอย่างนั้น บุรุษผู้เจริญนี้ มีความต้องการแก่นไม้แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่ มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลยกระพี้ ละเลยเปลือก ละเลยสะเก็ดไปเสีย ตัดเอากิ่งและใบถือไป สำคัญว่าแก่นและกิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขาจักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขาฉันใด กุลบุตรบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน....เขามีความยินดี มีความดำริเต็มเปี่ยม ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญอันนั้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญอันนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นว่า เรามีลาภสักการะและความสรรเสริญ ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ ไม่ปรากฏ (หรือมีคนรู้จักน้อย) มีศักดาน้อย เขาย่อมมัวเมา ถึงความประมาทเพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เมื่อเป็นผู้ประมาทแล้วย่อมอยู่เป็นทุกข์. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เราเรียกว่า ได้ถือเอากิ่งและใบของพรหมจรรย์และถึงที่สุดแค่กิ่งและใบนั้น.
       (๓๔๘) ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธาออกจากเรือนบวช....เขาบวชอย่างนั้นแล้ว ยังลาภสักการะและความสรรเสริญให้บังเกิดขึ้น. เขาไม่มีความยินดี....ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น. เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญอันนั้น. เขาย่อมไม่มัวเมา ไม่ถึงความประมาท เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังความถึงพร้อมแห่งศีลให้สำเร็จ. เขามีความยินดี มีความดำริเต็มเปี่ยม ด้วยความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น. เพราะความถึงพร้อมแห่งศีลอันนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นว่า เรามีศีล มีกัลยาณธรรม ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม. เขาย่อมมัวเมา ถึงความประมาท....เปรียบเหมือน บุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลยกระพี้ ละเลยเปลือกไปเสีย ถากเอาสะเก็ดถือไป สำคัญว่าแก่น..... เมื่อเป็นผู้ประมาทแล้วย่อมอยู่เป็นทุกข์. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ถือเอาสะเก็ดของพรหมจรรย์และถึงที่สุดแค่สะเก็ดนั้น.
(๓๔๙) ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธา ออกจากเรือนบวช...เขาบวชอย่างนั้นแล้วยังลาภสักการะและความสรรเสริญให้บังเกิดขึ้น. เขาไม่มีความยินดี....ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาไม่ยกตนไม่ข่มผู้อื่นเพราะลาภสักการะและความสรรเสริญอันนั้น. เขาย่อมไม่มัวเมา ไม่ถึงความประมาทเพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังความถึงพร้อมแห่งศีลให้สำเร็จ. เขามีความยินดีด้วยความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น แต่มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม. เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความถึงพร้อมแห่งศีลอันนั้น. เขาย่อมไม่มัวเมา ไม่ถึงความประมาทเพราะความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังความถึงพร้อมแห่งสมาธิให้สำเร็จ. เขามีความยินดี มีความดำริเต็มเปี่ยม ด้วยความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น เพราะความถึงพร้อมแห่งสมาธิอันนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่น.....เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลยกระพี้ไปเสีย ถากเอาเปลือกถือไป สำคัญว่าแก่น.....เมื่อเป็นผู้ประมาทแล้ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เราเรียกว่า ได้ถือเอาเปลือกแห่งพรหมจรรย์ และถึงที่สุดแค่เปลือกนั้น.
 (๓๕๐) ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธา ออกจากเรือนบวช...เขาบวชอย่างนั้นแล้ว ยังลาภสักการะ และความสรรเสริญให้บังเกิดขึ้น. เขาไม่มีความยินดี มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น. เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น.เขาย่อมไม่มัวเมา ไม่ถึงความประมาท เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังความถึงพร้อมแห่งศีลให้สำเร็จ. เขามีความยินดี ด้วยความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น แต่มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น เขาย่อมไม่มัวเมา ไม่ถึงความประมาท เพราะเพราะความถึงพร้อมแห่งศีลนั้นเมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังความถึงพร้อมแห่งสมาธิให้สำเร็จ. เขามีความยินดีด้วยความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น แต่มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม. เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น. เขาย่อมไม่มัวเมา ไม่ถึงความประมาท เพราะความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังญาณทัสสนะให้สำเร็จ. เขามีความยินดี มีความดำริเต็มเปี่ยมแล้วด้วยญาณทัสสนะนั้น. เพราะญาณทัสสนะนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่น....เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่นไปเสีย ถากเอากระพี้ถือไป สำคัญว่าแก่น. ....เมื่อเป็นผู้ประมาทแล้ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เราเรียกว่า ได้ถือเอากระพี้แห่งพรหมจรรย์ และถึงที่สุดแค่กระพี้นั้นแล.
 (๓๕๑) ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธา ออกจากเรือนบวช...เขาบวชอย่างนั้นแล้ว ยังลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้น. เขาไม่มีความยินดี มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยมด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น. เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญอันนั้น. เขาย่อมไม่มัวเมา ไม่ถึงความประมาท เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังความถึงพร้อมแห่งศีลให้สำเร็จ.เขามีความยินดีด้วยความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น แต่มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม. เขาไม่ยกตนไม่ข่มผู้อื่น เพราะความถึงพร้อมแห่งศีลอันนั้น. เขาย่อมไม่มัวเมา ไม่ถึงความประมาทเพราะความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังความถึงพร้อมแห่งสมาธิให้สำเร็จ. เขามีความยินดีด้วยความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น แต่มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม.เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความถึงพร้อมแห่งสมาธิอันนั้น เขาย่อมไม่มัวเมา ไม่ถึงความประมาท เพราะความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังญาณทัสสนะให้สำเร็จ. เขามีความยินดีด้วยญาณทัสสนะนั้น แต่มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม. เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะญาณทัสสนะนั้น. เขาย่อมไม่มัวเมา ไม่ถึงความประมาทเพราะญาณทัสสนะนั้น เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังอสมยวิโมกข์ให้สำเร็จ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุนั้นจะพึงเสื่อมจากอสมยวิมุตินั้น ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้[5]....เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ถากเอาแก่นถือไป รู้จักว่าแก่น.....ไม่ถึงความประมาท เพราะญาณทัสสนะนั้น เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังอสมยวิโมกข์ให้สำเร็จ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุนั้นจะพึงเสื่อมจากอสมยวิมุตินั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้.
 [๓๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ดังพรรณนามาฉะนั้น พรหมจรรย์นี้ จึงมิใช่มีลาภ มิใช่มีความถึงพร้อมแห่งสมาธิเป็นอานิสงส์ สักการะและความสรรเสริญเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความถึงพร้อมแห่งศีลเป็นอานิสงส์ มิใช่มีญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ แต่พรหมจรรย์นี้มีเจโตวิมุติอันไม่กำเริบ เป็นประโยชน์ เป็นแก่น เป็นที่สุด.
ตารางอธิบายพระสูตรเพื่อความไม่สับสน
ลำดับภิกษุ
สิ่งสูงสุดที่ได้จากการบวช
ของภิกษุแต่ละรูป
เปรียบกับส่วนของต้นไม้
รูปที่ ๑
ลาภ สักการะ
กิ่งและใบ
รูปที่ ๒
ศีล
สะเก็ดไม้
รูปที่ ๓
สมาธิ
เปลือกไม้
รูปที่ ๔
ญาณทัศนะ (อภิญญา ๕)
กระพี้ไม้
รูปที่ ๕
อสมยวิมุตติ (อรหันต์)
แก่นไม้
ความหมายของ พรหมจรรย์
(๑. พรหมจรรย์คือ ศาสนา)
        โดยศัพท์ พรหมจรรย์ แปลว่า “การประพฤติที่ประเสร็ฐ”[6] กล่าวคือการกระทำที่ดีงาม เมื่อกล่าวเช่นนี้ ทุกศาสดา(ทีสอนให้คนเป็นคนดี)ล้วนแต่ประกาศพรหมจรรย์ทั้งสิ้นฯ ตัวอย่างพรหมจรรย์หมายเอาความหมายง่ายๆคือ ศาสนา นั้นมีปรากฎในหลายที่เช่น “ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์บริสุทธิ์”[7] ในที่นี้สามารถกล่าวได้ตรงตัวเลยว่า ทรงประกาศพระศาสนาอันประเสริฐ บริสุทธิ บริบูรณ์ฯ อีกที่หนึ่งซึ่งสะท้อนความหมายของพรหมจรรย์อันได้แก่ศาสนาได้ชัดเจนคือ ภิกษุ....จักยังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ประพฤติตามธรรมเรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว ยังบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ข่มขี่ปรับปวาทที่บังเกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยสหธรรมไม่ได้เพียงใด เราจักยังไม่ปรินิพพานเพียงนั้น ฯ........ ภิกษุผู้เป็นสาวกของเราจักยังไม่เฉียบแหลม... เพียงใด พรหมจรรย์ของเรานี้จักยังไม่สมบูรณ์ กว้างขวาง แพร่หลาย รู้กันโดยมาก เป็นปึกแผ่น จนกระทั่งเทวดาและมนุษย์ประกาศได้ดีแล้วเพียงใด เราจักยังไม่ปรินิพพานเพียงนั้น[8]
อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์ให้ลึกลงไปในศัพท์ของ “ศาสนา” แง่ของชาวพุทธก็ต้องยอมรับว่า เรามิได้แปลศาสนาว่าคำสอนหรือความเชื่อเท่านั้น แต่ยังลงลึกไปถึงขั้นความจริงตามธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ ซึ่งครั้นทราบความจริงนั้นแล้วได้นำมาเผยแผ่แก่ชาวโลก มีจุดประสงค์เพื่อให้ (๑). มนุษย์รู้จักความจริงของธรรมชาติ และ (๒).ครั้นทราบแล้วก็เร่งทำตนให้เข้าถึงความจริงของธรรมชาตินั้น(พ้นจากความทุกข์) อาจกล่าวอ้างตามการแบ่งตามหลักเกณฑ์ของ พุทธธรรมได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่คือ[9]
๑. หลักมัชเฌนธรรม     กฎความจริงของธรรมชาติ
๒. หลักมัชฌิมาปฏิปทา แนวทางการปฏิบัติเพื่อก้าวถึงความจริงนั้น
โดยสรุปคือ พุทธศาสนามิใช่แค่หลักคำสอนของศาสดาองค์ใดองค์หนึ่ง ตลอดจนเป็นการอ้างสิทธิ์จากสวรรค์หรือพระผู้เป็นเจ้า แต่เป็นการเปิดเผยความจริงของมนุษย์ธรรมดาที่ได้ค้นพบความจริงด้วยความพยายามและสติปัญญาของตนแก่เพื่อนมนุษย์ โดนคำสอนเองก็มีลักษณะปรากฎชัด เข้าใจได้โดยสามัญสำนึก(สนฺทิฏฺฐิโก) เพราะเป็นเรื่องของเหตุปัจจัยที่ส่งผลสืบเนื่องกัน(ปฏิจจสมมุปบาท) หาใช่ความเร้นลับหรืออิทธิฤทธิ์เหนือธรรมชาติไม่[10]
จึงสรุปได้ว่า พุทธศาสนาต่างจากศาสนาทั้งหลายตรงที่ความจริงเป็นของมีอยู่ตามธรรมชาติแล้ว ศาสดาคือพระพุทธเจ้าก็มิได้มีอำนาจเหนือมนุษย์ทั่วไปที่ถูกส่งมาจากไหน หากแต่เป็นผู้ที่มีความสามารถจนค้นพบความจริงเรื่องการเกิดและดับทุกข์ได้ ธรรมะที่สั่งสอนก็ให้ผลในตัวมันเอง(เช่น ทำดีได้ดี) ผู้ใดทำได้ก็รับผลไปตามการกระทำ มิใช่ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจหรืออำนาจดลบันดาลของพระพุทธเจ้าฯ ฉะนั้นพรหมจรรย์หรือศาสนาในทัศนะของชาวพุทธจึงมิใช่ความเชื่อที่ผูกติดกับผู้ใดผู้หนึ่ง แต่เป็นกฎความจริงที่ครั้นทราบแล้วสามารถทำให้คนพัฒนาตนเองสู่ระดับที่สูงขึ้นไปได้ ซึ่งแนวทางการเปลี่ยนแปลงตนนั่นแหละ เรียกว่า “พรหมจรรย์”
(๒. พรหมจรรย์หมายถึงการเจริญมรรคมีองค์ ๘)
       ความหมายของพรหมจรรย์ในแง่นี้ก็มิได้ต่างจาก ศาสนา ดังข้อแรกมากเป็นแต่เพียงลงรายละเอียดมากขึ้นเท่านั้น เพราะตามที่กล่าวแล้วว่า หากเจาะลึกความหมายของคำว่า ศาสนา ก็จะพบว่า รวมเอาหลักปฏิบัติทุกอย่างที่พัฒนาชีวิตมนุษย์อยู่แล้ว[11] อย่างไรก็ตามในขุททกนิกาย จูฬนิเทศ ได้แสดงพรหมจรรย์โยงถึง มรรคมีองค์ ๘ ดังปรากฎว่า  
         (๑๐๘) โดยอุทานว่า กามา ในอุเทศว่า "กาเมสุพฺรหฺมจริยวา" ดังนี้ กามมี ๒ อย่างคือ วัตถุกาม ๑ กิเลสกาม ๑[12] ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่าวัตถุกาม เหล่านี้เรียกว่ากิเลสกาม, คำว่า มีพรหมจรรย์ ความว่า ความงด ความเว้น ความเว้นขาด ความขับไล่เวร กิริยาที่ไม่กระทำ ความไม่ทำ ความไม่ต้อง ความไม่ล่วงแดน ซึ่งความถึงพร้อมด้วยอสัทธรรม(กามหรือการร่วมเพศ)เรียกว่า พรหมจรรย์.
อีกอย่างหนึ่ง โดยตรงท่านเรียก อริยมรรคมีองค์ ๘ คือสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ ว่าพรหมจรรย์. ภิกษุใดเข้าไป เข้าไปพร้อม เข้ามา เข้ามาพร้อม เข้าถึง เข้าถึงพร้อม ประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘[13] นี้ ภิกษุนั้น ท่านเรียกว่า มีพรหมจรรย์ เขาเรียกบุคคลว่า มีทรัพย์เพราะทรัพย์ เรียกกันว่า มีโภคะ เพราะโภคะ เรียกกันว่ามียศ เพราะยศ เรียกกันว่า มีศิลปเพราะศิลป เรียกกันว่ามีศีล เพราะศีล เรียกกันว่า มีความเพียร เพราะความเพียร เรียกกันว่า มีปัญญา เพราะปัญญา เรียกกันว่ามีวิชชา เพราะวิชชา ฉันใด ภิกษุใดเข้าไป เข้าไปพร้อม เข้ามา เข้ามาพร้อม เข้าถึง เข้าถึงพร้อม ประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ ภิกษุนั้นท่านก็เรียกว่า มีพรหมจรรย์ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีพรหมจรรย์ในเพราะกามทั้งหลาย.
(๓. การรู้จักวิปัสสนาเป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์)
การเจริญวิปัสสนายังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันมาก หลายคนเข้าไปหาครูอาจารย์แล้วได้วิธีปฏิบัติเล็กน้อยมาก็เข้าใจ(ตู่)เอาเองว่าเป็นวิปัสสนาแล้ว เช่น การเดินจงกรมแบบอาศัยคำบริกรรมเข้าช่วย (คือขณะเคลื่อนไหว ก็มีคำสำหรับท่องในใจเพื่อระบุเรียกอาการนั้นๆ) ว่าเป็นการฝึกวิปัสสนา ความจริงเป็นเพียงสมถะเท่านั้น มีผลเพื่อให้จิตนิ่งเตรียมสติให้พร้อมในการเห็นความจริง(คือวิปัสสนา) ต่อไป เป็นความจริงว่าผู้ฝึกไม่จำต้องรอให้เก่งสมถะก่อนจึงก้าวสู่วิปัสสนาได้ แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า ผู้ที่จิตใจฟุ่งซ่านย่อมยากที่จะเห็นการเกิดดับของรูปนาม หลายสำนักจึงเน้นให้ฝึกสมถะเป็นพื้นเสียก่อน การปฏิบัติวิปัสสนาเป็นการตามดูลักษณะหรืออารมณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นตามความเป็นจริง (ไม่ปกปิดด้วยคำบริกรรมหรือกระทั่งธรรมะที่ลึกซึ้ง เช่น เห็นอะไรก็บอกตัวเองว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา บ้างก็มีการเอาอย่างอื่นมาพิจารณาแทนก็มีเช่น เมื่อเกิดความยินดีในกาม ก็เอาการพิจารณาซากศพมาช่วยฯ สิ่งเหล่านี้ใช่จะไม่ได้ผล แต่เป็นเพียงวิถีของสมถะเท่านั้น อาจทำให้ระงับอารมณ์ไม่ดีไปได้ชั่วขณะ แต่หากใช้แต่วิธีการนี้ ย่อมไม่เห็นความเป็นจริงของจิตที่กำลังเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา) วิปัสสนาจึงเป็นการกล้าเผชิญกับความเป็นจริง อะไรเกิดขึ้นก็รับทราบอันนั้นโดยไม่หลอกตนเอง แต่เป็นการเผชิญหน้าด้วยสติที่ทำหน้าที่รับทราบเท่านั้น การฝึกวิปัสสนาจึงมีการสอนให้ผู้ปฏิบัติทราบเรื่องอายตนะภายใน (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) และอายตนะภายนอก (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย และ อารมณ์ทางใจ) เมื่อทั้งสองอย่างนี้มากระทบกัน ก็เกิดเป็นความรู้ เรียกว่า วิญญาณ (วิญญาณ/ความรู้ที่เกิดทางตา เกิดทางหูฯลฯ) เพื่อให้ผู้ปฏิบัติทราบว่า มิได้มีอัตตาตัวตนอะไรที่ทำหน้าที่รับรู้อยู่ในตัวคนเลย เป็นแต่เพียงรูปและนาม อายตนะภายในภายนอก มากระทบกันแล้วเกิดความรู้เท่านั้น พื้นฐานความรู้อันนี้จะเป็นตัวกันไม่ใช่ผู้ปฏิบัติเกิดมิฉาทิฏฐิ(ความเห็นผิดในเรื่องตัวตน) ซึ่งมีความสำคัญมาก จนพระพุทธเจ้าตรัสว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ดังญาติกสูตร[14] ว่า
(๑๖๖) ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่คิญชกาวาส (มหาปราสาทที่สร้างด้วยอิฐ) ใกล้บ้านพระญาติ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในที่ลับทรงเร้นอยู่ ได้ตรัสธรรมปริยายนี้ว่า
เพราะอาศัยจักษุและรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ ความประชุมแห่งธรรม ๓ ประการ(อายตนะภายใน ภายนอก และความรู้)เป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงเกิดอุปาทาน ฯลฯความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ เพราะอาศัยหูและเสียง... เพราะอาศัยจมูกและกลิ่น... เพราะอาศัยลิ้นและรส... เพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพะ... เพราะอาศัยใจและธรรม จึงเกิดมโนวิญญาณ ความประชุมแห่งธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ เพราะผัสสะ เป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงเกิดอุปาทาน ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
(๑๖๗) เพราะอาศัยจักษุและรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ ความประชุมแห่งธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา เพราะตัณหานั้นเทียวดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ ฯลฯความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ เพราะอาศัยหูและเสียง ฯลฯ เพราะอาศัยใจและธรรมจึงเกิดมโนวิญญาณ ความประชุมแห่งธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา เพราะตัณหานั้นเทียวดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ ฯลฯความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ
(๑๖๘) ก็สมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งยืนแอบฟังอยู่ใกล้พระผู้มีพระภาคพระผู้มีพระภาคทรงเห็นภิกษุนั้นแล้วได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุ เธอได้ฟังธรรมปริยายนี้หรือ? ภิกษุนั้นทูลรับว่าพระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์ได้ฟังอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุเธอจงศึกษาเล่าเรียน ทรงจำธรรมปริยายนี้ ธรรมปริยายนี้ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ฯ
ผู้ปฏิบัติธรรมจึงไม่ควรมองข้ามปริยัติ(คำสอนในพระไตรปิฎก) เสียทั้งหมด แต่หากมีเวลาน้อยก็ควรศึกษาให้ทราบถึงเรื่องเหตุปัจจัย การทำให้เกิดกิเลส และขั้นตอนการดับของกิเลสให้ชัดเสียก่อน มิฉะนั้นก็จะเข้าใจผิดไปอีกว่า การได้เห็นนิมิตต่างๆ มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น เป็นตัวรับรองว่าตนถึงที่สุดในพระศาสนาแล้วฯ
(๔. พรหมจรรย์หมายถึง การศึกษา)
ข้อนี้เป็นควาหมายที่ปรากฎชัดเจนในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเจริญรุ่งเรืองมากก่อนการเกิดขึ้นของพุทธศาสนา ตามคัมภีร์มนูสมฤติ (Manu Smrti) ได้แบ่งหลักการดำเนินชีวิตคนเป็น ๔ ช่วงใหญ่เรียกว่า หลักอาศรม(Ashrama) คือ
๑. พรหมจารี(Brahmacharya) เป็นช่วงอายุของเด็กที่ต้องศึกษาหาความรู้(คำภีร์พระเวท์) รวมถึงกิริยามารยาทอื่นๆ นับเป็นช่วงอายุ ๕-๒๗ ปี[15]
๒. คฤหัสถ์ (Grihastha) เป็นช่วงเวลาที่ต้องมีครอบครับ ทำการงาน เลี้ยงดูลูก เป็นช่วงอายุ ๒๗-๕๔ ปี, Llyod Ridgeon(2003) ได้อธิบายไว้ว่า จะต้องอยู่ในขั้นลำดับนี้ไปจนกระทั่งมีหลาน(when his sons have sons, p.46)
๓. วนปรัสถ์ (Vanaprastha) เป็นช่วงเวลาที่ต้องออกจากเรือน ออกจากการเกี่ยวข้องด้วยญาติมิตร ไปอยู่ปฏิบัติธรรมในป่า หรือออกบวช ซึ่งเป็นช่วงอายุ ๕๕-๘๑ ปี
๔. สันยาสี (Sannyasa/Sanyasi) ตรงนี้หลายที่มีการอธิบายไม่ค่อยตรงกัน ตามวีกิพีเดียที่อ้างมาข้างต้น ระบุว่า ช่วง วนปรัสถ์ เป็นการออกจากเรือน ฝึกฝนตนเองด้วยการปฏิบัติธรรม(เพื่อเตรียมสู่ขั้นที่ ๔ คือ การปฏิบัติแบบจริงจัง แสวงหาความหลุดพ้นหรือ โมกษะ, ส่วน Llyod Ridgeon ระบุว่าเป็นการออกเผยแผ่ธรรม และนักบวชหลายคนก็มาตั้งสำนักรับศิษย์ สอนธรรมตาม เนื่องจากตนได้ปฏิบัติธรรมมาได้นานระยะหนึ่งแล้ว ก็มิได้ทิ้งสังคมเสียทีเดียว เป็นการกลับมาเพื่อช่วยเหลือหรือตอบแทนผู้คนทั่วไปนั่นเอง) เป็นช่วงอายุ ๘๒-๑๐๘ ปี[16]
ความจริงที่ยกมาทั้งหมดนี้เพียงแต่ต้องการเปรียบเทียบให้เห็นศัพท์ พรหมจรรย์ หรือพรหมจารี(อันได้แก่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์) ในความหมายนี้ว่า ผู้อยู่ในช่วงของการศึกษา พุทธศาสนาที่มีรากฐานมาจากศาสนาพราหมณ์ก็ได้นำศัพท์ในศาสนาเก่ามาใช้จำนวนมากเช่นกัน เพียงแต่บางคำพระพุทธเจ้าได้ใช้ความหมายใหม่ฯ อย่างไรก็ตาม พรหมจรรย์ หรือพรหมจารี แม้ในความหมายของศาสนาพราหมณ์เองก็มิได้หมายถึงการศึกษาเล่าเรียนอย่างเดียว แต่เป็นการอบรบนิสัย คุณธรรมจริยธรรม ซึ่งก็ตรงกับความหมายของพุทธศาสนาที่ พรหมจรรย์ คือการศึกษาเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเอง ตามหลัก ไตรสิกขา อันได้แก่ ศีล (การอบรมพฤติกรรม) สมาธิ(การอบรมจิต) และปัญญา(การอบรมปัญญาเพื่อให้รู้เท่าทันความจริงที่เกิดขึ้นปัจจุบันโดยไม่ยึดติด) เพียงแต่ความหมายของพุทธศาสนามิได้ไปจำกัดช่วงอายุให้ชัดเจนว่าจะต้องเป็นตอนไหน เนื่องจากชีวิตเป็นสิ่งไม่เที่ยง จึงต้องรีบขวนขวายเสียตั้งแต่ตนมีโอกาส/ความสามารถฯ หรือหากจะจัดความหมายของพรหมจรรย์คือ การประพฤติตนเพื่อให้พ้นทุกข์ตามหลักการของพุทธศาสนา ก็จะเข้ากันได้ดีกับช่วง ที่ ๓ และ ๔ ในหลัก อาศรมของศาสนาพราหมณ์
 (๔. พรหมจรรย์คือ การเว้นจากกาม หรือ sex )
การรักษาศีล ๘ ในพุทธศาสนาสามารถยืนยันความหมายของพรหมจรรย์ในแง่การเว้นจากการมีเพศสัมพันธ์หรือ sex ได้ดี สังเกตว่ามีการเปลี่ยนสิกขาบทในศีล ๘ จาก กาเมสุ มิจฉาจารา อันได้แก่การเว้นจากการประพฤติผิดในคู้ครองของผู้อื่น มาเป็น อพรหมจริยา หมายถึง แม้คู่ครองตนเองก็งดเว้นไว้ก่อน ไม่ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องทางกาม(เป็นการชั่วคราวหรือถาวรสำหรับบางคน) แม้ว่า กาม จะมีความหมายกว้างคือรวมเอาความอยากทุกประเภท แต่โดยความเข้าใจพื้นฐานของคนทั่วไป หากกล่าวคำว่ากามขึ้นมาอย่างเดียว มักจะหมายถึงเรื่องทางเพศไปเสียส่วนใหญ่ ดังใน ขุททกนิกาย เถรคาถา โคตมเถรคาถาว่า....          
 (๒๖๖) มุนีเหล่าใด ย่อมไม่พัวพันในหญิงทั้งหลาย มุนีเหล่านั้นย่อมนอนหลับเป็นสุข สัจจะที่ได้ยากแสนยากในหญิงเหล่าใด หญิงเหล่านั้นอันบุคคลต้องรักษาทุกเมื่อแท้ ดูกรกาม เราประพฤติพรหมจรรย์เพื่อฆ่าท่าน บัดนี้เราไม่เป็นหนี้ท่านอีก บัดนี้ เราไปถึงนิพพานอันเป็นที่บุคคลไปแล้วไม่เศร้าโศก.
เป็นธรรมดาว่า ผู้ติดอยู่(มักมาก)ในกามแม้เป็นฆราวาสก็ยากจะประสบความสำเร็จในชีวิต เนื่องจากต้องเสียเวลาส่วนใหญ่ทุ่มให้กับกาม ส่งผลร้ายมากมายเช่นทำให้ตนเองเสียหน้าที่การงาน ครอบครัวแตกแยก แม้สมณะเองซึ่งออกบวชแล้ว แต่ยังมีใจยินดีในกาม ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จด้านการพัฒนาไตรสิกขา ได้ เปรียบเหมือนไม้ที่มียางเหนียว ไม่ว่าจะวางอยู่บนบกหรือแช่อยู่ในน้ำ ก็ยากที่จะทำนำมาสีให้เกิดไฟได้ฉะนั้นฯ
พรหมจรรย์ในพุทธศาสนา จึงรวบรวมเอาคุณความดีที่ใช้สำหรับขัดเกลาชีวิตมนุษย์ทุกอย่างให้เจริญขึ้นตามลำดับ การจะแปลพรหมจรรย์ว่าเป็นศาสนาก็ไม่ผิด ในทางกลับกัน ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ต่อให้ไม่นับถือพุทธศาสนา หรือศาสนาอื่นเลย ก็ล้วนต้องทำหน้าที่ความเป็นมนุษย์ คือเข้าใจและยอมรับความสามารถของมนุษย์อันเป็นสัตว์ที่ฝึกได้(tamable) มิใช่เกิดมาเพื่อปล่อยชีวิตไปตามยถากรรมเท่านั้น ครั้นมนุษย์มีความสามารถไม่จำกัดในการฝึก จึงเป็นที่น่าเสียดายยิ่งหากไม่ฉวยโอกาส/คุณสมบัติของตนในการเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้น เมื่อเล็งถึงคุณสมบัติข้อนี้แล้ว แม้จะไม่เอาศาสนามาอ้าง/บังหน้า ทุกคนต่างต้องตระหนักถึงหน้าที่ความเป็นมนุษย์อยู่แล้วเพื่อจะยกระดับชีวิตตนให้สูงขึ้น พุทธศาสนาเป็นเพียงแนวทางที่เสนอวิธีการในการพัฒนาตนเองตามระบบเหตุปัจจัยของธรรมชาติ คำสอนในพุทธศาสนาจึงมิได้จำกัด หรือแสดงความเป็นเจ้าของว่าเหมาะแก่ชาวพุทธเท่านั้น หากแต่เหมาะกับคนทุกคน ที่ไม่ต้องใช้แม้กระทั่งความเชื่อมาปฏิบัติตาม เพียงต้องกล้ายอมรับความจริง(ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ) เล็งเห็นความไร้สาระของชีวิตที่ไม่พัฒนาฯ นี้จึงเป็นเหตุผลหลักที่ข้าพเจ้าพยายามไม่แปลพรหมจรรย์ว่า พุทธศาสนา (เป็นชื่อสื่อความของพระสูตรนี้ แต่ใช้คำสากลคือ เป้าหมายของชีวิต) อันจะสร้างความเป็นเจ้าของหรือเป็นอุปสรรคขั้นต้นแก่ศาสนิกอื่นที่จะเข้ามาศึกษาพุทธศาสนาได้ ความจริงหาใช่แต่ศาสนิกอื่นเท่านั้น แม้ชาวพุทธเองก็มักเข้าใจพุทธศาสนาเป็นระบบความเชื่อตามที่ได้กล่าวไปแต่ต้นแล้ว จนมองข้ามกฎความเป็นจริงที่พระพุทธเจ้าต้องการสอนเพื่อมนุษย์ทุกคนจะเข้าใจสัจธรรมโดยไม่ติดอยู่กับรูปแบบหรืออัตลักษณ์ภายนอกฯ
เหตุของการบวช คือการเห็นทุกข์ (ถูกชาติ ชราฯครอบงำ)
        (ก.ให้อยู่กับอุปัชฌาย์ ๕ ปีเพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ในการอยากพ้นทุกข์)
        เป้าหมาย(หรือสาเหตุ)ของการบวชมีหลายประการ ขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละบุคคลหรือยุคสมัย ในพระสูตรนี้กล่าวถึงแรงบันดาลใจที่สำคัญที่สุดซึ่งตรงกับพระพุทธเจ้า(หรือเจ้าชายสิทธัตถะ) คือการเห็นโทษภัยของสังสารวัฏหรือทุกข์ และหาทางพ้นจากความทุกข์เหล่านั้น ดังพระสูตรว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ท่วมทับแล้ว ถูกความทุกข์ท่วมทับแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ไฉนหนอ ความกระทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้จะพึงปรากฏ. หลายคนแสดงความเห็นว่า เหตุของการบวชอาจไม่สำคัญมาก เพราะต่อให้บวชด้วยเจตนาอื่น เช่นต้องการตอบแทนบุญคุณพ่อแม่(ตามประเพณีไทย) แต่หากเข้ามาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี เขาย่อมถูกเปลี่ยนให้เป็นคนดีได้จริง และหลายคนก็เลือกที่จะอยู่ไปตลอดชีวิต สร้างประโยชน์แก่สังคมมากมาย ข้าพเจ้ามิต้องการถกเถียงประเด็นนี้ เพราะตามที่กล่าวอ้างมาก็เห็นตัวอย่างจริงอยู่บ้าง แต่หากต้องยอมรับเหตุผลการบวชอื่นๆ เช่นตามประเพณี หรือกระทั่งยากจน ไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ ก็ต้องเสริมพระวินัยเข้าไปอีกตัว(ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว) เรื่องการอยู่ดูแลพระอุปัชฌาย์เป็นเวลา ๕ ปี ซึ่งมิใช่อยู่ปรนนิบัติเท่านั้น แต่ต้องได้รับการอบรมความรู้ทางพุทธศาสนารวมถึงการปฏิบัติเป็นอย่างดีเพื่อขัดเกลาพฤติกรรมตนเอง ทำนองเดียวกันพระอุปัฌาย์ก็จะต้องทำหน้าที่ตนเองอย่างดีที่สุด ความจริงปัญหาทุกอย่าง(ที่ทำให้คนเสื่อมความศรัทธาในศาสนา) สามารถแก้ไขได้ง่าย หากพระอุปัชฌาย์ทำหน้าที่สอดส่อง ดูแลศิษย์ตน ไม่ยอมบวชให้เพียงเพราะหวังลาภสักการะเท่านั้นฯ
         (ข. คนอินเดียบรรลุธรรมง่ายเพราะความยากจนหรือ?)
        หลายคนอ้างว่ามองไม่เห็นทุกข์และคล้ายจะยืนยันว่า “ชิวิตนี้ตนไม่มีทางจะเห็นทุกข์ได้ เพราะตนมีฐานะดีและมีความสุขดีอยู่แล้ว คนที่จะเห็นทุกข์ต้องเป็นคนจนหรือได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสเท่านั้น” มีการยกเหตุผลเรื่องการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้าในประเทศอินเดีย ว่าเป็นที่ที่คนมีความทุกข์มากที่สุดในโลก ผู้คนมีความอดอยาก ต้องขอทานเลี้ยงชีพ บ้างก็หนาวตาย ร้อนตาย มีการกดขี่เรื่องชนชั้นวรรณะฯลฯ ข้อนี้ข้าพเจ้าได้ตั้งข้อโต้แย้งมาตลอด แม้ตัวอย่างที่ยกมาหลายข้อจะเป็นความจริง แต่ก็มิได้เป็นปัจจัยโดยตรงที่ทำให้คนเห็นทุกข์ หากเป็นเช่นนั้น ไฉนคนในประเทศที่อดอยากเช่น เอธิโอเปีย หรือ ต้องทุกข์กับภัยสงครามในตะวันออกกลางไม่พากันเห็นทุกข์บรรลุธรรมให้หมดเล่า? คำตอบคือ การเห็นทุกข์มิใช่มาจากการต้องประสบความทุกข์อย่างรุนแรง หากแต่ต้องมีปัญญามองเห็นไตรลักษณ์ของโลกเท่านั้น พระพุทธเจ้าเองก็มิได้มีความลำบาก(เพราะเกิดในวรรณกษัตริย์) แต่เพราะมีสติปัญญา จึงมองเห็นความไม่ยั่งยืน/ไร้แก่นสารของชีวิต ซึ่งก็สะท้อนว่า ต่อให้จนเจียนตายขนาดไหน หากไม่มีปัญญามองเห็นสัจธรรมข้อนี้ ก็ไม่มีทางบรรลุธรรมได้ ขณะเดียวกัน คนที่มีเงินทองมาก มีการศึกษาดี ฐานะทางสังคมสูง มีความสุขในสายตาคนทั่วไป แต่หากมีสติปัญญามองเห็นความไร้แก่นสารของชีวิตเข้า(ว่าต่อให้อยู่ดีอย่างไรก็พ้นไปจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ได้) คนเหล่านี้ต่างหาก จึงจะบวชหรือปรารถนาความพ้นทุกข์ ตลอดจนมีความพยายามในการฝึกตนเพื่อให้พ้นทุกข์จริงฯ
        อีกประการหนึ่ง การที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายต้องไปเกิดในอินเดีย หาใช่เพราะเป็นมนต์ขลัง(ที่ถูกสาบไว้แล้วโดยพระเจ้า) หรือกฎของศาสนาแต่อย่างใด หากเป็นเพราะอินเดีย(ที่ทราบจากประวัติศาสตร์ในชาตินี้....และจากชาดกในหลายชาติก่อนๆ)มีปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทั่วโลกไม่เหมือน คือผู้คนไม่ได้ต้องการความสะดวกสบายทางโลก คิดแต่จะพัฒนาเทคโนโลยี(ลัทธิ กามสุขัลลิกานุโยค)อย่างเดียว หากแต่ยังมีปัญญาระดับหนึ่ง มองเห็นความไม่เที่ยงของชีวิต คิดหาทางออกบวชหวังให้ตนพ้นจากสังสารวัฏได้(พัฒนาไปไกลจนถึงขั้นทำฌานให้ตนกลายเป็นพรหมหรือพระเจ้าได้) โดยอาศัยวิธีการฝึกตบะ สมาธิ ทรมานตนเอง(อัตตกิลมถานุโยค) เพราะความที่คนอินเดียให้ความสนใจเรื่องจิตวิญญาณ(หมายถึงการฝึกฝนจิตใจ)มากนี่เอง คนส่วยใหญ่(สมัยพุทธกาล)จึงมีความพร้อมเรื่องข้อบัญญัติทางศาสนา ศีลธรรม และการฝึกสมาธิทำจิตให้นิ่ง อันสามารถใช้เป็นพื้นฐานในการต่อยอดสู่วิปัสสนาของพุทธศาสนาได้ง่ายดายฯ นี่ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่พระพุทธเจ้า(หรือคนจะค้นพบความสุขด้วยการเอาสมาธิมาต่อยอด แบบเพิ่มปัญญาความรู้จริงเข้าไป) ต้องเกิดขึ้นในพื้นที่หรือประเทศที่มีปัจจัยเอื้อเช่นนี้ หากไปอยู่ในประเทศอื่น ซึ่งต่อให้คนอดอยากมาก แต่ไม่มีนักบวชที่ออกแสวงหาความพ้นทุกข์ ไม่มีการฝึกจิตจนเก่งกล้า แม้เจ้าชายสิทธัตถะจะไปเกิดก็ย่อมจะไม่มีแรงจูงใจ(จากการเห็นนักบวช) หรือต่อให้มีแรงจูงใจที่จะออกบวช แต่เมื่อไม่มีการฝึกสมาธิเป็นพื้น การบรรลุธรรมก็เป็นไปได้ยากเช่นกัน จึงขอสรุปว่า เหตุที่พระพุทธเจ้าต้องเกิด(ปรากฎตัว)ขึ้นที่อินเดีย เพราะพื้นฐานชีวิตความเป็นอยู่ของคนสอดรับกับการให้ออกบวช ปฏิบัติธรรม และมีหลักการฝึกฝนจิตใจรองรับไว้ขั้นหนึ่งแล้ว พระองค์เพียงแต่เอาความรู้ไปต่อยอดเท่านั้น เทียบง่ายกับนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกสักคนหนึ่ง(อาจได้รับรางวัลโนเบล) ที่ยากจะเกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อ ๕๐ ปีที่ผ่านมา(หรือกระทั่งปัจจุบัน) เป็นความจริงว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ย่อมเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้ และคิดประดิษฐ์อะไรๆได้โดยไม่จำกัดเวลาหรือสถานที่ แต่การอยู่เมืองไทยไม่มีสัปปายะที่เอื้อแก่การคิดค้นเรื่องนั้น เช่น ไม่มีอุปกรณ์ที่ทันสมัย ไม่มีนักคิดที่สนใจเรื่องเดียวกันให้ปรึกษา ไม่มีการสนับสนุนจากฝ่ายใด สังคมไม่ได้เรียกร้องให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งตรงกันข้ามกับพระพุทธเจ้า ที่มีปัจจัยเหล่านี้(การแสวงหาทางพ้นทุกข์)พร้อมอยู่แล้วในอินเดียฯ
        จึงสรุปได้ว่า ผู้ที่จะบรรลุธรรมได้(เห็นทุกข์) มิใช่วัดกันแค่เป็นผู้ตกทุกข์ได้ยากหรือร่ำรวยเท่านั้น ปัจจัยสำคัญคือ การมีสติปัญญามองเห็นความไม่เที่ยงของชีวิตที่ตนประสบอยู่ทุกเมื่อ เช่น เห็นร่างกายแก่ หรือเจ็บป่วย ซึ่งคนรวยก็สามารถเห็นสิ่งเหล่านี้ได้ไม่แพ้คนจน อยู่ที่ใครจะน้อมมาพิจารณาให้เห็นโทษของขันธ์และหาทางพ้นจากสิ่งเหล่านี้แบบถาวรกันได้ สมัยพุทธกาลผู้ที่ออกบวชจำนวนมากได้เล็งเห็นสัจธรรมเหล่านี้(ดังตัวพระสูตรที่ยกมา) ทำให้การบวชมีเจตนาที่บริสุทธิ์ในเบื้องต้น และเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้มีกำลังใจในการศึกษาและปฏิบัติต่อไป ซึ่งต่างกับปัจจุบันอย่างชัดเจนที่การบวช(ส่วนใหญ่)เป็นแค่ประเพณีหรือความต้องการเลี้ยงชีวิตเป็นอาชีพหนึ่งเท่านั้น ครั้นมีเป้าหมายดังนี้ก็ไม่จำเป็นต้องศึกษาหรือปฏิบัติเพื่อความก้าวหน้าทางพระศาสนาแต่ประการใด ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือการดึงเอาการศึกษาและปฏิบัติเป็นเครื่องมือหากินและสร้างความมั่นคงให้แก่ตนเองไปเสียฯ
ลาภสักการะฆ่าคนพาล
        อุปสรรค(สิ่งล่อลวงให้ยึดติด)ขั้นแรกของคนที่ก้าวสู่ความสำเร็จคือ ลาภสักการะหรือความต้องการด้านวัตถุ ข้อนี้ไม่นับเฉพาะบรรชิตเท่านั้น แม้ฆราวาสเอง การหวังได้เป็นใหญ่หรือการต้องการให้ผู้อื่นยอมรับในสังคมก็เพื่อจุดประสงค์นี้ เช่น การได้มีบ้าน รถ เงินทอง ของอำนวยความสะดวกฯลฯ ในพุทธศาสนาได้อธิบายความต้องการของคนผ่านโลกธรรม ๘ ประการ (ในแง่ที่พึงปรารถนา)คือเริ่มจากการมีลาภ มียศ สรรเสริญ และสุข ตามลำดับฯ
        การปรารถนาลาภเป็นเรื่องพื้นฐาน เพราะเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมที่สุด ว่าจะทำให้ชีวิตตนอยู่อย่างสบายมากขึ้น เช่น บ้าน รถเป็นต้นดังกล่าวแล้ว ด้วยความที่กิเลสคนเป็นสิ่งที่เติมไม่เต็มดังทะเล(ที่ไม่เต็มด้วยแม่น้ำแม้มาจากหลายสาย) ต่อให้บริบูรณ์ด้วยลาภอย่างไร ก็ยังปรารถาอย่างอื่นต่ออีก นั่นคือ ยศ มาถึงขั้นนี้อาจรู้สึกว่าการมีลาภ(วัตถุใช้สอย)อย่างเดียวยังไม่พอ จึงต้องการบริวารผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาหรืออำนาจในการเป็นผู้นำ/ตัดสินใจบางอย่างอีกฯ เรื่องยศนี้มิได้เป็นผลเสียหากอยู่กับมันอย่างรู้เท่าทัน หมายความว่ามียศเพื่อเป็นตัวเปิดโอกาสให้ตนได้ปกครองคนอื่น ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่สังคมได้ (มากกว่าตอนที่ตนไม่มียศหรือตอนที่คนไร้สมรรถภาพเป็นใหญ่) คนฉลาด(มีปัญญาดี)จึงใช้ยศเป็นบันได/เครื่องมือในการทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นได้ ในทางกลับกัน หากไม่เข้าใจประเด็นนี้ ก็ย่อมตกเป็นเหยื่อของยศที่ได้มาอีก คิดไปว่ายศทำให้ตนมีหน้ามีตา เป็นใหญ่กว่าคนอื่นฯลฯ จึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ยศมาครอบครองแม้ต้องอาศัยวิธีทุจริตก็ตามฯ ประการถัดมาคือ สรรเสริญ เป็นธรรมดาของกิเลสมนุษย์อีกเช่นกันว่า สิ่งที่ได้มาครอบครองนั้นล้วนไม่สามารถเติมเต็มความต้องการได้ แม้ตนจะมียศอำนาจปานใดแล้ว สิ่งที่ตามมาคือรู้สึกอยากให้คนเคารพ เชื่อฟัง หรือตนเองมีอิทธิพลทางพฤติกรรมหรือทางความคิดต่อคนอื่นๆ ข้อนี้เป็นกิเลสที่ละเอียดขึ้นไปอีก หลายคนอาจไม่จำเป็นต้องได้ลาภ ได้ยศ แต่ขอให้ผู้คนสรรเสริญเป็นที่ยอมรับของสังคมเท่านั้น เช่นหลายคนทำประโยชน์โดยไม่ต้องการเงินทองหรือยศตำแหน่งตอบแทนเลย เพียงแต่อยากให้ผู้คนรู้กันว่าตนเป็นคนดีที่น่ายกย่องเท่านั้นก็เป็นพอ(มิได้หมายความว่าคนที่ทำประโยชน์โดยไม่รับอะไรตอบแทนเลยจะเป็นคนชั่วหมด หากแต่ขึ้นอยู่กับเจตนาที่ซ่อนเร้นของเขาฯ)
        อย่างไรก็ตาม ทั้ง ลาภ ยศ สรรเสริญ ที่กล่าวมาสามารถส่งผลกระทบในทางลบ คือ การทำให้จิตใจเคลิบเคล้มอยู่กัยความสุขจอมปลอม และยกตนข่มผู้อื่น(แม้ในความคิด) แก่คนพาลเท่านั้นฯ ดังพระพุทธเจ้าตรัสเปรียบเทียบว่า ผลกล้วยย่อมฆ่าต้นกล้วย ขุยไผ่ย่อมฆ่าต้นไผ่ ขุยอ้อย่อมฆ่าต้นอ้อ สักการะย่อมฆ่าคนชั่ว เหมือนม้าอัสดรซึ่งเกิดในครรภ์ ย่อมฆ่าแม่ม้าอัสดรฉะนั้นฯ[17]
ญาณทัสสนะในพระสูตรนี้
ภิกษุที่ได้ญาณทัสสนะในพระสูตรนี้ทรงเปรียบเทียบกับการได้กระพี้ของต้นไม้เท่านั้น (แล้วเข้าใจว่าเป็นแก่น) หลายคนอ่านข้อความนี้แล้วเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับ วิสุทธิ ๗ อันพูดถึงขั้นตอนของการบรรลุธรรมในพุทธศาสนาที่อุปมาดังรถ ๗ ผลัด(ตอน) ที่ส่งทอดกันไปเรื่อยๆจนถึง การพ้นทุกข์ก็จะไปหยุดอยู่ตรง ญาณทัสนวิสุทธิ(ความบริสุทธิแห่งญาณทัสสนะความรู้[18]) เป็นตัวสุดท้าย จะสร้างความสับสนมากว่า ก็ในเมื่อก้าวมาถึงตัวสุดท้ายแล้ว ไฉน ญาณทัสสนะ จึงยังเป็นแค่กระพี้เท่านั้น มิใช่แก่นของพระศาสนาอีกหรือ?
ในอรรถกถา มหาสาโรปมสูตร ได้อธิบายญาณทัสสนะว่าเป็น อภิญญา ๕[19]  คือความรู้ขั้นแสดงฤทธิ์เท่านั้น ได้แก่ ๑.การแสดงฤทธิ์ได้(อิทธิวิธี), ๒.หูทิพย์(ทิพพโสตะ), ๓.รู้ใจผู้อื่น(เจโตปริยญาณ), ๔.ระลึกชาติได้(ปุพเพนิวาสานุสสติ) และ ๕.ตาทิพย์(ทิพพจักขุ) เมื่อถือเอาตามคำอธิบายนี้ก็เป็นอันเข้าใจง่าย เพราะขั้นของสมาธิยังมิใช่เป้าหมายสูงสุดคือการบรรลุธรรมหรือพ้นจากความทุกข์จริงฯ กล่าวคือ ต่อให้แสดงฤทธิ์ได้ แต่หากยังมีกิเลส ความต้องการ การอยากสลัดหนี ก็ยังต้องประสบทุกข์อยู่ดี เทียบกับปัจจุบันคือการมีเครื่องบินนั่ง มีกล้องชนิดพิเศษที่มองเห็นวัตถุบางอย่างที่ตาเปล่ามองไม่เห็น แต่ก็มิได้ทำให้คนมีความสุขได้จริงฯ   
ข้ออ้างเรื่องกิ่งใบ เปลือกเป็นตัวรักษาต้นไม้?
        หลายท่านเมื่อศึกษาพระสูตรนี้แล้ว เห็นการเปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้จากการศึกษา(ปฏิบัติธรรม)ในพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าใช้ต้นไม้เป็นสื่อ จึงมีการคิดคำคมขึ้นมาเป็นต้นว่า “พุทธศาสนาเปรียบเหมือนต้นไม้ ที่ประกอบด้วยกิ่งก้าน สาขา สะเก็ด เปลือก กระพี้ และแก่น” จึงสรุปเอาว่า “หากต้นไม้ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งก็ย่อมต้องตายไป เช่นไม่มีเปลือก(แม้จะดูไร้สาระเมื่อเทียบกับแก่น) ก็ต้องตายอยู่ดีเนื่องจาก เปลือกทำหน้าที่รักษาแก่นไว้ ฉะนั้นพุทธศาสนาจึงไม่ควรปฏิเสธเรื่องของขลังหรือวัตถุมงคลอันเปรียบได้กับเปลือกของศาสนา สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการดึงคนไม่ให้ออกห่างจากศาสนาหรือตั้งข้อเรียกร้องทางจริยธรรมบางอย่างได้ เช่น เมื่อรับพระเครื่องไปแล้วก็ต้องรักษาศีล ๕ ชีวิตเขาก็ย่อมดีขึ้นได้ เพราะแต่ละคนต่างมีพื้นความรู้ที่ต่างกัน หลายคนไม่สามารถเข้าใจธรรมะที่ลึกซึ้งได้ หากปฏิเสธวัตถุมงคลหรือพิธีกรรมที่งมงายเสียแต่ตอนแรก ก็เท่ากับไม่ยอมปรับตัวเพื่อรับคนเหล่านั้นหรือ? ครั้นเขาโตพอ(มีความพร้อมมากขึ้น) จึงค่อยสอนธรรมะให้ดำเนินตามจนถึงขั้นพ้นทุกข์ได้อันเป็นแก่นของศาสนาได้”  
        ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับบางตอนของการอ้างเช่นว่านี้ นั่นคือหากคนไม่พร้อมก็สามารถให้สิ่งเล็กน้อยตามความสามารถไปก่อนได้ แต่จะขออธิบายโต้แย้งความเห็นอันส่งผลเสียของการกล่าวอ้างเช่นนี้คือ การเอาวัตถุมงคลเป็นต้นมาเป็นตัวล่อให้คนสนใจพระศาสนานั้นอาจไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง ให้สังเกตว่าผู้ที่ชอบสะสมวัตถุมงคลหรือเชื่อเรื่องของขลัง ย่อมไม่สามารถพัฒนาตนเองไปสู่ขั้นที่สูงขึ้นไปได้เลย(อาจมีบ้าง แต่คงน้อยมาก) ให้สังเกตดูตัวอย่างที่เห็นกันทั่วไปว่ามีใครบ้างที่รับของขลังไปแล้ว จากนั้นหนึ่งเดือนต่อมาต้องการรักษาศีล และ ๒ เดือนต่อมาต้องการศึกษาพระไตรปิฎกฯลฯ ความเป็นจริงกลับเป็นไปในทางตรงกันข้ามคือ หลงเชื่อสิ่งไร้สาระมากขึ้นทุกวัน เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะวัตถุมงคล หรือของขลังอันเป็นเรื่องศรัทธา(งมงาย) เป็นสิ่งตรงกันข้ามกับพุทธศาสนาอันเป็นเหตุเป็นผลที่ต้องใช้ปัญญาในการเข้าถึงฯ เมื่อคนมีเป้าหมายและแนวทางคนละอย่าง ย่อมไม่สามารถจะไปรวมอยู่ตรงจุดเดียวกันได้ ความจริงข้าพเจ้าได้เคยอธิบายเรื่องนี้แล้วในบทความชื่อ “ใช้ของขลังมาปลอบใจ แล้วเมื่อไหร่หนูจะโต หน้า ๑๒-๒๐” โดยอธิบายว่า หากต้องการจะพัฒนาคนด้วยการเลื่อนระดับเขา พระพุทธเจ้าเองก็ใช้วิธีของ อนุปุพพีกถา อันเริ่มด้วย ทาน เป็นต้นไป ซึ่งไม่มีเรื่องความงมงายมาปะปนเลย จึงจะสามารถพัฒนาคนได้ มิใช่เริ่มด้วยของขลังฯ
        การใช้วัตถุมงคลหรือของขลังจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อ ผู้ให้(เช่นพระที่ได้รับการยอมรับนับถือ)สามารถอบรมคนที่รับไปอย่างต่อเนื่องและได้ผลจริง ในแง่หนึ่ง วัตถุมงคลเช่นพระเครื่องเป็นต้น มีจุดประสงค์เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจคนให้ตั้งอยู่ในความดีเท่านั้น การแจกของเหล่านี้ไปแล้วตั้งข้อเรียกร้องทางจริยธรรมจึงมีผลในระดับหนึ่ง เช่น “เมื่อได้พระไปก็ต้องไม่มีชู้กับลูกเมียผู้อื่น ต้องเป็นคนมีเมตตากรุณาฯลฯ” แต่หากไม่สามารถสอนเรื่องเหล่านี้ได้ ตรงกันข้าม ผู้แจกก็ประสงค์ความศักดิ์สิทธิ์ อำนาจดลบันดาล การแจกวัตถุมงคลไปก็กลายเป็นตัวทำลายสติปัญญาของผู้นั้นในการพัฒนาตนเอง เพราะหวัง(เชื่ออย่างสนิทใจ) อยู่แล้วว่าจะมีอำนาจพิเศษจะทำให้ตนฯ เมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้ว จะเห็นว่าการมีเรื่องเหล่านี้อยู่ ดูจะเสี่ยงกว่าการสอนธรรมะหรือการไม่มีอะไรให้ไปเชื่อเลยด้วยซ้ำฯ
หากจำแนกตามหลักความเชื่อทางศาสนา มนุษย์มี ๒ ประเภทใหญ่คือ
๑. ผู้ที่ไม่มีศาสนาเป็นที่พึ่ง ที่ยึดเหนี่ยวอะไรเลย ในสายตาคนทั่วไปเป็นคนชั่ว (ไม่มีความเชื่อ)
๒. ผู้ที่มีศาสนาเป็นที่พึ่ง ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ กล่าวได้ว่าในสายตาคนทั่วไปเป็นคนดี (มีความเชื่อ)
ครั้นนำมาจับกับหลักของการพัฒนาชีวิต หลายคนอาจเชื่อว่า คนประเภทที่ ๒ ย่อมดีกว่า เพราะเป็นคนดี มีศาสนาเป็นพื้นอยู่แล้ว และดูถูกคนประเภทแรกว่า ไม่มีกระทั่งที่พึ่งทางจิตใจฯ คนประเภทแรก ครั้นไม่มีความเชื่อ เมื่อเกิดปัญหาใดขึ้นก็ไม่สามารถหวังพึ่งพาให้พอสุขใจได้เหมือนคนประเภทที่ ๒ ซึ่งหลายครั้งแม้ชีวิตจะล้มลุกคลุกคลาน แต่เมื่อได้นึกถึงสิ่งที่ตนเคารพ เช่นพระเจ้าหรือพระพุทธรูป ก็ทำให้จิตใจเยือกเย็นขึ้นได้ มีความสุขมากขึ้น อาจด้วยวิธีปลอบใจตนว่า “ปัญหาครั้งนี้เป็นแต่เพียงการทดสอบของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น หรือเป็นเวรกรรมที่ได้สั่งสมมาแต่อดีต ปัญหาย่อมไม่ตั้งอยู่นาน มีเข้ามาก็ออกไป สักพักทุกอย่างจะดีเอง” เมื่อมีความเชื่อเช่นนี้ สิ่งที่ตนสามารถทำได้คือขอความเห็นใจ/เมตตาจากสิ่งนั้น และอาจพ้นความทุกข์ไปได้อีกช่วงหนึ่งฯ ด้วยเหตุผลเช่นนี้เอง การเป็นคนมีศาสนาจึงมีความสำคัญและมีคนส่วนใหญ่จึงเห็นพ้องต้องกันว่าจะดีกว่าผู้ที่ไม่มีศาสนาหรือไม่มีความเชื่ออะไรเลยฯ
        หากพิจารณาให้ลึกไปอีกขั้น การมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจนี้เป็นหนทางที่เสี่ยงเหมือนกัน หากผู้นั้นหมกตัวอยู่กับความเชื่อเรื่อยไปโดยมิก้าวไปสู่ปัญญาหรือการพัฒนาตนเองฯ เพราะการมีที่พึ่งอยู่แล้วมักทำให้คนตายใจและอยู่แบบประมาทฯ ในทางกลับกัน คนที่ไม่เชื่ออะไรเลย ครั้นต้องประสบปัญหาในชีวิตก็ไม่สามารถหวังพึ่งอำนาจพิเศษจากที่ไหนได้(เพราะตนไม่เชื่อ) การหาทางออกของเขาจึงเหลือเพียงทางเดียว นั่นคือแก้ปัญหาให้ได้ด้วยตัวเอง การต้องพึ่งตนเองทุกครั้งนี้เป็นการพัฒนาศักยภาพคนไปในตัวซึ่งสอดคล้องกับพุทธศาสนาอันเป็นคำสอนของการสร้างที่พึ่งให้ตนเองอยู่แล้วฯ คนประเภทหลังนี้ยิ่งประสบความลำบากมากก็จะยิ่งมีความแข็งแกร่ง และหากพัฒนาไปขั้นสูงสุดก็ถึงเป้าหมายของชีวิตคือการพ้นทุกข์ก่อนผู้ที่ติดอยู่กับความเชื่อดังบุคคลประเภทมีศาสนา(เป็นความเชื่อ)
        หากย้อนดูพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นในท่ามกลางอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ ความแตกต่างอันหนึ่งที่ทำให้เกิดมีพุทธศาสนาขึ้นมาคือการปฏิเสธความเชื่อเรื่องอำนาจดลบันดาลนั่นเอง เพราะพราหมณ์ทั้งหลายต่างเชื่อในพระเจ้า(พรหม) ว่าเป็นผู้กำหนดทุกสิ่ง แม้บ้านเมืองประสบปัญหาก็ต้องแก้ด้วยการบูชายัญฯ ชีวิตคนจึงต้องพึ่งอยู่กับอำนาจเหนือธรรมชาติอยู่ตลอด ส่วนพุทธศาสนาเป็นการปฏิเสธอำนาจเหล่านั้น[20]มุ่งให้คนพัฒนาตนเอง เพราะปัญหาทุกอย่างล้วนมีสาเหตุ ฉะนั้นหากมีสติปัญญาพอก็สามารถหาสาเหตุเหล่านั้นและแก้อย่างตรงจุดได้ฯ
สรุปว่า บุคคลประเภทที่ ๒ (มีศาสนา) นั้นได้เปรียบตรงที่มีคำสอนวางเป็นหลักไว้ให้ก่อนแล้ว ไม่ต้องดิ้นรนคิดค้นด้วยตนเองทุกอย่าง สามารถปฏิบัติตามหลักศาสนาแล้วพัฒนาตนเองไปได้เลย แต่มีตัวแปรหลักอยู่ตรงที่ศาสนานั้นต้องเป็นศาสนาที่ถูกต้อง มุ่งเพื่อการออกจากความงมงายและพัฒนาตนเองที่แท้จริง เพราะหากต่อให้ปฏิบัติตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด แต่ศาสนาส่งเสริมไปในทางตรงกันข้ามคือมอบอำนาจ ความสามารถให้กับผู้อื่นไปเสีย การพัฒนาตนก็เดินหน้าไปในทางที่ถูกต้องไม่ได้ฯ ส่วนคนประเภทแรก (ที่ไม่มีความศรัทธาในศาสนา) อาจต้องทนทุกข์ในช่วงแรกเพราะไม่มีที่พึ่งให้คลายใจ/ปลอบใจ กลับต้องพึ่งตนเองไปตลอด แต่การฝึกแก้ปัญหาด้วยตนเองนั้นเป็นการพัฒนาคนโดยตรงซึ่งต่อให้ไม่มีความเชื่อ ชีวิตที่มีสติปัญญาก็อยู่ได้อย่างผาสุก เพราะคนที่มีความเชื่อกลับขาดอิสระภาพบางอย่างไป อย่างน้อยก็ต้องพึ่งผู้อื่นไปตลอดชีวิต ส่วนบุคคลประเภทแรกหากพัฒนาตนสูงเข้าก็ตรงกับหลักการของพุทธศาสนา ซึ่งในที่สุดจะต้องพึ่งตนเองได้และไม่จำต้องเชื่ออะไรเลย (แม้แต่พระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าเองก่อนการตรัสรู้ก็มิได้ดำเนินชีวิตตามใคร กล่าวคือไม่มีศาสดา ความจริงการพึ่งพระรัตนตรัยของชาวพุทธก็มีเป้าหมายเช่นนั้น ได้แก่ใช้พระรัตนตรัยเป็นเครื่องมือช่วยในเบื้องต้น แต่สุดท้ายต้องพึ่งตนเองให้ได้ โดยไม่ติดอยู่กับสิ่งใด)
ข้าพเจ้ามองว่าการที่พระพุทธเจ้าตรัสพระสูตรนี้เพื่อต้องการแสดงเป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนานั่งเอง มิใช่ต้องการบอกว่า ศาสนาเป็นเหมือนต้นไม้ ทุกส่วนล้วนมีความสำคัญ ดังนั้นต้องช่วยกันรักษาให้ดี แม้แต่กิ่งและใบ(ซึ่งเทียบกับการติดลาภสักการะ) เพราะพระองค์ตรัสตำหนิผู้ติดลาภสักการะมาตลอดฯ อีกอย่างหนึ่งหากจะเอาตามตัวพระสูตรจริงเปลือกของพุทธศาสนาเป็น สมาธิ มิใช่วัตถุมงคลหรือของขลัง หมายความว่า ผู้ที่จะมาติดขั้นเปลือกของพุทธศาสนานั้นผ่านขั้น ลาภ ยศ สรรเสริญและการรักษาศีลมาแล้ว มิใช่ยังไม่ผ่านอะไรเลย มีแต่ความเชื่องมงายหรือต้องการที่พึ่งจากอำนาจเร้นลับฯ ความจริงหากจะกล่าวเปรียบเทียบของขลัง ลาภ ยศ สรรเสริญตามความรู้สึกของคนทั่วไป(ให้สมกับนักปราชญ์หลายท่านอ้างกันดังยกมาแต่ต้น) บรรดาของขลังหรือวัตถุมงคลทั้งหลายน่าจะเป็นกาฝากของต้นไม้ มากกว่าการจะมาเป็นกิ่งก้านสาขา ที่จะช่วยบำรุงหาอาหารให้ต้นไม้หรือศาสนานี้ฯ
        พึงเข้าใจว่า ข้าพเจ้ามิได้ต้องการปฏิเสธคำสอนทางพุทธศาสนาและบอกให้ทุกคนเลิกเชื่อทุกอย่าง โดยเริ่มนับศูนย์ใหม่ในการแก้ปัญหาชีวิตด้วยแนวทางของตนเอง การศึกษาพุทธศาสนาที่ถูกต้องควรมุ่งไปสู่ความเข้าใจเสียทีเดียว อันจะสามารถนำไปปฏิบัติได้[21] ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า การใช้ของขลังหรือวัตถุมงคลมายั่ว จะสามารถทำให้คนเข้าถึงความรู้และการพัฒนาตนเองนี้ได้หรือไม่? หากสามารถทำได้ การเอาวัตถุมงคลมาใช้จึงเป็นเรื่องที่รับได้ในพุทธศาสนาฯ แต่ที่ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับการใช้วัตถุมงคลเป็นต้นนี้มาเป็นสื่อเพราะเห็นว่าพระสงฆ์ทั่วไป(ส่วนใหญ่)ไม่สามารถพาคนไปสู่ทางของปัญญาได้จริงดังกล่าวแล้ว และหากยอมอนุโลมเพื่อปรองดองกับสิ่งเหล่านี้ เพื่อให้ตนได้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุขก็เสมือนเป็นข้ออ้างในการไม่ยอมสอนธรรมเสียมากกว่า ครั้นเป็นเช่นนี้(หมายถึงจะรอจนกว่าคนจะพร้อมด้วยตัวเขาเอง) ก็จะต้องรอเรื่อยไปแบบไม่มีกำหนด และที่สำคัญผู้ต้องการหาผลประโยชน์จากการค้าขาย(วัตถุมงคลฯลฯ)สามารถใช้สิ่งเหล่านี้มาเป็นเครื่องมือหาประโยชน์ส่วนตนได้อีก (โดยใช้เหตุผลว่า เป็นเครื่องมือดึงเขาให้พัฒนาไปทีละขั้น ตามหลักมหาสาโรปมสูตร) อีกประการหนึ่ง หากเชื่อว่าท่าน(พระขลังที่ชาวบ้านเคารพนับถือ)สามารถใช้วัตถุมงคลเป็นต้นในการตั้งข้อเรียกร้องทางจริยธรรมได้ ท่านก็อาจสามารถสอนธรรมะด้วยความเป็นเหตุเป็นผลให้เขาเอาไปปฏิบัติในชีวิตจริงไปได้เลย เพราะที่เขายอมปฏิบัติตามเนื่องด้วยมีความเคารพศรัทธาในตัวท่านอยู่แล้ว โดยไม่ต้องไปเสี่ยงกับการสร้างวัตถุมาให้เป็นตัวดึงคนติดกับความเชื่องมงาย ที่สำคัญหากท่านเป็นที่เคารพอย่างถ้วนหน้าจริง ก็ควรเป็นแกนนำในการพาคนออกจากความเชื่อเหลวไหลให้ได้ มิใช่เอาแต่ส่งเสริมสิ่งเหล่านี้ฯ
ชีวิตนี้ ควรก้าวให้ถึงเป้าหมายสูงสุด
ที่กล่าวมาเป็นเรื่องของศาสนาหรือการปฏิบัติตนเพื่อการพ้นทุกข์เสียส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ดังที่ได้อธิบายแต่ต้นแล้วว่า ชีวิตจริงทุกคนล้วนประสบกับปัญหาเหมือนกัน การแก้ปัญหาที่ตรงจุดจึงไม่ควรจะมาแบ่งสถานภาพ  เพศ หรืออายุ ออกจากกัน หากแต่ต้องดูสภาพปัญหาแล้วแก้ไปตามปมที่เป็นอยู่ ในเมื่อทุกคนต่างมีความต้องการเป็นอันเดียวกัน คือความสุข(ที่แท้จริง) หรือการพ้นจากปัญหาทั้งปวง เป้าหมายอันสูงสุดของทุกคนจึงตรงกันโดยปริยายฯ ต้องยอมรับความจริงว่าเพศฆราวาสที่ต้องครองเรือน ทำงาน เลี้ยงดูครอบครัวฯลฯ ย่อมต้องพัวพันอยู่ในบ่วงพันธะที่รัดคอมากกว่าพระ มีเวลาในการศึกษาธรรมะ(เพื่อให้เข้าใจความจริงของธรรมชาติ)น้อยกว่าฯ ส่วนพระเป็นเพศที่พระพุทธเจ้าตั้งขึ้นมาเพื่อให้พุ่งเป้าหมายไปที่การพบสุขแบบถาวรนี้โดยเฉพาะ จึงตัดภาระทางบ้านออกไป เหลือแต่การศึกษาและปฏิบัติเป็นหลัก จริงอยู่ว่าพุทธศาสนาเกิดขึ้นมาเพื่อมนุษย์ทุกคน แต่พระพุทธเจ้าเองกลับมิได้ไปปฏิวัติหรือเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองทางโลกแต่อย่างใด ได้แต่ให้คำแนะนำผู้ปกครองหรือประชาชนให้ตั้งอยู่ในหลักธรรมที่ดีงามเท่านั้น เหตุผลประการสำคัญคือเพราะอาจทราบดีว่า พระองค์ไม่มีอำนาจ(แม้แต่ความศักดิ์สิทธิ์)ในการบังคับ ควบคุมสังคมทั้งหมดได้ จึงเลือกตั้งสังคมสงฆ์ขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทาง(ทางเลือก)ใหม่ แก่ผู้ต้องการพ้นทุกข์โดยเฉพาะ และการตั้งสังคมใหม่ขึ้นโดยอาศัยพระธรรมวินัยในการดูแลกันนี้จึงเหมาะแก่ผู้ที่มีความพร้อมและเต็มใจที่จะพัฒนาตนเสียมากกว่าฯ อีกประการหนึ่ง ฆราวาส หากมีความพร้อมที่จะพัฒนาตนเองก็สามารถทำได้โดยไม่จำต้องมาบวชเป็นบรรพชิต เพราะพุทธศาสนาเป็นหลักความจริงที่ใครก็ตามหากเข้าถึงก็เป็นอันพ้นทุกข์ไปได้โดยไม่จำกัดสถานภาพ (สถานภาพเป็นเสมือนโอกาสที่เปิดให้มากกว่าเท่านั้น เช่นหากเป็นคนจนก็ต้องทำงานหนัก ไม่มีเวลาปฏิบัติ แต่ถ้ามาบวชก็มีเวลามากขึ้น ทำนองเดียวกัน หากมีเวลามากอยู่แล้วก็สามารถปฏิบัติไปได้เลย และหากการเป็นฆราวาสมีเวลามากกว่า ส่วนการบวชเป็นบรรชิตกลับต้องทำงาน มีธุระมาก ก็ควรเลือกการเป็นฆราวาสฯ)
 เป้าหมายประเภทแรก อันได้แก่เป้าหมายในระยะใกล้หรือโลกิยะ เป็นเป้าหมายที่ต้องมีเพื่อความอยู่รอดในปัจจุบันและช่วยเหลือสังคมตามฐานะ แต่ต้องทราบว่ามิใช่เป้าหมายสูงสุดในชิวิตมนุษย์(ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม) เพราะยังเนื่องด้วยความทุกข์ตลอดเวลา การมีวัตถุครอบครองอย่างเดียวไม่สามารถเติมเต็มความสุขได้ เพราะวัตถุเป็นสิ่งไม่คงทนถาวร อีกทั้งกิเลสคนมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลง(รสนิยมตนเอง)อยู่ตลอดเวลาฯ ทุกคนต่างยอมรับว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐเพราะสามารถฝึกฝนตนเองได้ การฝึกฝนในที่นี้มิใช่ฝึกฝนเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น แต่มนุษย์ยังสามารถฝึกฝนเพื่อให้ตนมีความสุขโดยการพึ่งวัตถุให้น้อยลงได้ด้วย(ตามวัตถุประสงค์ของการรักษาศีล ๘) ที่ยิ่งกว่านั้น สติปัญญาของมนุษย์หากได้รับการพัฒนาเต็มที่แล้วจะทำให้พึ่งตนเองได้ แก้ปัญหาทุกอย่างได้ กระทั่งหมดความกลัว ความอยาก(หาความสุขแบบผิวเผิน) เพราะตนได้เข้าใจกฎความจริงของธรรมชาติและอยู่กับทุกสิ่งได้อย่างมีความสุขและรู้เท่าทันฯ พระพุทธเจ้ามิใช่ผู้ประเสริฐที่ถูกสร้างมาจากไหน หากแต่เป็นมนุษย์ธรรมดาที่ไม่ประมาท ไม่ยอมปล่อยเวลาให่ล่วงไปตามกำลังความอยาก การวิ่งหาสิ่งเสพบำเรอฯลฯ กลับใช้เวลาที่มีในการพัฒนาปัญญาตนเองจนเข้าใจกฎของธรรมชาติ[22] พระองค์จึงไม่ใช่สิ่งที่ชาวพุทธต้องกราบไหว้บูชาหรือเอามาเป็นที่พึ่งทางใจเท่านั้น หากแต่ต้องเอาเป็นแบบอย่างเพื่อดำเนินตามรอยจนสามารถพัฒนาตนเองถึงขั้นเข้าใจกฎความจริงนั้นเช่นกันจนพ้นทุกข์เหมือนพระองค์ฯ สิ่งนี้ต่างหากเป็นที่ประสงค์ในการสอนธรรมของพระพุทธเจ้า และควรถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต ที่มนุษย์ทุกคนต้องถือเอาเป็นอุดมคติฯ
ดังกล่าวแล้วว่า แม้ฆราวาสเองก็ต้องมีเป้าหมายหลักอันสูงสุดอยู่ที่การพัฒนาตนเองจนถึงขั้นพ้นทุกข์ ฉะนั้นทุกคนไม่ควรประมาทรอเวลาหรือผลัดวันไปเรื่อยๆที่จะทำความดี(หรือพัฒนาตนเอง) หากแต่ต้องรู้จักตั้งเป้าหมายและวางแผนไว้แต่ตอนนี้เพื่อตนจะมีเวลาในการศึกษาและปฏิบัติมากขึ้น อย่างน้อยในชีวิตประจำวันต้องรู้จักออกห่างจากการบริโภควัตถุที่มากเกินไป(เกินความพอดีจนฟุ่มเฟือย) มีเวลาศึกษาและปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในทุกวันหรือสัปดาห์ฯ ความจริงการมีวันพระหรือวันธรรมะสวนะพอจะเป็นเครื่องเตือนใจคนทั่งหลาย โดยเฉพาะชาวพุทธให้นึกถึงการพัฒนาตนเองได้ดีระดับหนึ่งฯ เพราะชีวิตจะมีค่ามิใช่แค่มีเงินทอง เป็นใหญ่ หรือกระทั่งช่วยเหลือผู้อื่นให้อยู่รอดเท่านั้น แต่ยังต้องพัฒนาความเป็นมนุษย์ให้สูงขึ้น โดยวัดความสำเร็จจากการมีความสุขง่ายขึ้น อาศัยวัตถุน้อยลง ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสเตือนสาวกให้นึกถึงเป้าหมายนี้อยู่ตลอดว่า พรหมจรรย์(ชีวิตที่ประเสริฐ)นี้ จึงมิใช่มีลาภ(วัตถุ) มิใช่มีความถึงพร้อมแห่งสมาธิ สักการะและความสรรเสริญ มิใช่มีความถึงพร้อมแห่งศีล มิใช่มีญาณทัสสนะ แต่พรหมจรรย์นี้มีเจโตวิมุติอันไม่กำเริบ(การบรรลุอรหันต์ ไม่กลับมาเป็นทุกข์เพราะกิเลสอีก) เป็นประโยชน์ เป็นแก่น เป็นที่สุดฯ

..................................................................


[1] ให้ถูกตามบริบทควรแปลเป็น “เป้าหมายหรือสาระสูงสุดของพุทธศาสนา” ตามพระสูตร ท่านยกเฉพาะศัพท์ว่า สาโร มาเท่านั้น (ส่วน มหา ในที่นี้อาจต้องการแยก ๒ พระสูตรออกจากกัน จึงเรียกที่หนึ่งซึ่งมาก่อนว่า มหาสาโรปมสูตร และพระสูตรถัดไปว่า จูฬสาโรปมสูตร) และในเนื้อความพระสูตรก็กล่าวถึงเป้าหมายการบวช(ของพระ/กุลบุตร)ในพุทธศาสนาที่ต่างกัน เมื่อนำมาแปลเป็นไทย ชื่อพระสูตรนี้จึงถูกเรียกว่า “พระสูตร ที่อุปมาพรหมจรรย์กับแก่นไม้” (พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ...ไทย) ซึ่งเป็นการแปลที่กระชับและถูกต้อง เนื่องจาก สาโร ที่แปลว่าแก่นไม้และศัพท์ว่าพรหมจรรย์หรือศาสนา ที่นำมาตั้งชื่อพระสูตรก็สอดรับกับที่พระพุทธเจ้าตรัสสรุปไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย.....ฉะนั้น พรหมจรรย์นี้ จึงมิใช่มีลาภ มิใช่มีความถึงพร้อมแห่งสมาธิเป็นอานิสงส์ สักการะและความสรรเสริญเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความถึงพร้อมแห่งศีลเป็นอานิสงส์ มิใช่มีญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ แต่พรหมจรรย์นี้มีเจโตวิมุติอันไม่กำเริบ เป็นประโยชน์ เป็นแก่น เป็นที่สุดฯ ข้อ ๓๕๒” เหตุที่ข้าพเจ้าแปลให้ครอบคลุมไว้ (คือไม่แปลพรหมจรรย์ว่าพุทธศาสนา) แต่ให้เป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต เพื่อชื่อพระสูตรเองจะได้เปิดกว้างและไม่เป็นอุปสรรคขั้นต้นสำหรับผู้ที่มิใช่พุทธศาสนิกชน เนื่องจากสาระธรรมของพุทธศาสนาเป็นสัจธรรม ผู้ใดปฏิบัติถูก ก็ย่อมส่งผลดีงามแก่ผู้นั้นโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม ศัพท์ “พรหมจรรย์” นี้ จะมีการอธิบายในบทความนี้ต่อไปฯ
[2] ปัจจัย ๔ ได้แก่ เสื้อผ้าสำหรับปกปิดร่างกาย/ความละอายและป้องการภัยอันตรายจากอากาศ สัตว์ร้ายฯ, อาหาร เครื่องเยียวยาชีวิตเพื่อเสริมกำลังในการสร้างสรรประโยชน์, ที่อยู่อาศัย สถานพักผ่อน หลบภัย ปฏิบัติธรรมพัฒนาตนเองฯ และ ยารักษาโรค ในยามเจ็บไข้ไม่สบายฯ ช่วงหลังมีการนำศัพท์ว่า ปัจจัย นี้มาสื่อความหมายผิด โดยกล่าวถึง เงิน เพื่อใช้เป็นเครื่องไทยธรรมถวายแด่พระสงฆ์(ซึ่งผิดพระวินัย.....วิ.มหา ๑๐๕) ปัจจุบันมีการเสริมคำว่า ปัจจัยที่ ๕ หรือที่ ๖ มาด้วย เป็นรูปของเงินทอง หรือเทคโนโลยีฯลฯ ความจริงสิ่งเหล่านี้ยังไม่จัดเป็นปัจจัยจริงๆ เนื่องจากปัจจัยที่พุทธศาสนากล่าวถึงนี้เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้เสียจริง ครั้นขาดแล้วส่งผลให้มนุษย์ต้องลำบากทางกาย แต่เทคโนโลยี เช่น โทรศัพท์หรืออินเตอร์เน็ตเป็นต้น ยังไม่ได้ส่งผลร้ายแรงจนถึงขั้นทำให้มนุษย์ต้องอยู่ไม่ได้ เพราะถือเป็นส่วนเสริม/อำนวยความสะดวกแก่ชีวิตเท่านั้นฯ ครั้นที่ยังไม่มีสิ่งเหล่านี้ มนุษย์ยังสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างผาสุก(อาจมากกว่าการตกเป็นทาสของสิ่งเหล่านี้ดังปัจจุบันเสียด้วยซ้ำ) 
[3] เป็นเหตุผลที่ข้าพเจ้าจึงต้องแปลชื่อพระสูตรโดยไม่พยายามเอาเรื่องศาสนามาเกี่ยวข้อง เพราะคนหลายกลุ่มมองศาสนาเป็นเพียงระบอบความเชื่อเท่านั้น(System of faith) ซึ่งก็เป็นความจริง แต่มิใช่พุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนาเป็นระบอบที่เน้นเรื่องการพัฒนาตนเอง(System of education) ตามหลักไตรสิกขา โดยยืนบนพื้นของสัจธรรมที่เป็นความจริงตามธรรมชาติฯ  การมองศาสนาเป็นระบอบความเชื่อจะทำให้คนแบ่งความเป็นศาสนิกกันโดยมองข้ามความเป็นจริงหรือถือเอาประโยชน์สูงสุดของศาสนาไป ซึ่งต่อให้เป็นพุทธศาสนาก็ตาม หลักความจริงที่ประกาศโดยพระพุทธเจ้า(มนุษย์คนหนึ่งซึ่งพัฒนาตนเองจนถึงขั้นสูงสุด) ผู้พบความจริงของธรรมชาติแล้วนำมากล่าวสอน เพื่อให้ทุกคนเข้าถึง(เข้าใจ) ความจริงเหล่านั้นเหมือนพระองค์ฯ สิ่งนี้ก็ต้องถูกยกเลิกไป หากชาวพุทธไม่เข้าใจพุทธศาสนาและใช้ระบอบความเชื่อ(ที่อิงพระพุทธเจ้า หรือ พระไตรปิฎก) มาจำกัดความถูกต้องจนชาวพุทธเองต้องปฏิเสธความจริงอย่างอื่น(ที่มิได้ตรัสโดยพระพุทธเจ้า) และที่ยิ่งกว่านั้น การลดทอนพุทธศาสนาให้กลายเป็นเพียงระบอบความเชื่อ จะให้ให้ชาวพุทธเองหลงติดอยู่กับการศึกษาหลักธรรมเพียงเพราะต้องเชื่อหรือไม่กล้าปฏิเสธ(ด้วยกลัวบาปกรรมในการโต้แย้งฯ ชาวพุทธก็จะมองพุทธศาสนาไม่ต่างไปจากศาสนาอื่น เพียงแต่ยึดคัมภีร์คนละเล่มและเชื่อศาสดาคนละคนเท่านั้น) จนเป็นตัวขัดขวางสติปัญญาอันจะเกิดขึ้นจากการวิจารณ์เพื่อหาความถูกต้อง (จินตามยปัญญา) อันจะเป็นอุปสรรคขั้นถัดไปคือการพัฒนาตนเอง(ปฏิบัติ)ที่ได้ผลฯ
[4] ส่วนผู้ใดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง(ที่ระลึก เพื่อพัฒนาตนเอง) ย่อมเห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์ และอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อันให้ถึงความพ้นทุกข์ ด้วยปัญญาอันชอบ ที่พึ่งนั้นแล เป็นที่พึ่งอันเกษม ที่พึ่งนั้นอุดม เพราะบุคคลอาศัยที่พึ่งนั้น ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ (ขุ.ธ. พุทธวรรค ข้อ ๒๔)
[5] ตรงนี้พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี (สยามรัฐ) ปรากฎข้อความว่า “อปฺปมตฺโต สมาโน  สมยวิโมกฺขí  อาราเธติฯ านí โข  ปเนตí ภิกฺขเว วิชฺชติ  ย โส ภิกฺขุ  ตาย  สมยวิมุตฺติยา  ปริหาเยถาติ  เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังสมยวิโมกข์ให้สำเร็จ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุนั้นจะพึงเสื่อมจากสมยวิมุตินั้น(สมยวิมุติ คือ โลกิยสมาธิ...อรรถกถา) เป็นฐานะที่จะมีได้” ซึ่งเป็นการแปลตรงตัวที่ถูกต้อง และการได้สมาธิขั้นโลกิยะ ก็สามารถเสื่อมได้จริง เพราะมิใช่ความหลุดพ้นแบบตัดขาดฯ แต่ขัดกับความเป็นจริงตรงที่ว่า ผู้เข้าถึงแก่นพระศาสนาแล้ว ยังได้แค่สมยวิมุติหรือ และการบรรลุขั้นนั้นก็ยังเสื่อมได้? ถ้าเช่นนั้น อะไรคือแก่นของพระศาสนากันแน่ ข้อความนี้แปลตรงกันทั้งฉบับมหามกุฏฯ และสยามรัฐแปลไทย(เพราะอาจต้องการแปลตามตัวรักษาพระบาลี) สุดท้ายพบพระไตรปิฎกมหาจุฬาแปลต่างออกมา คือทำ สมยวิโมกข์ ให้เป็น อสมยวิโมกข์ และ สมยวิมุติ ให้เป็น อสมยวิมุติ ทั้งสองประการนี้หมายถึงโลกุตตรธรรมเก้าหรือการพ้นกิเลสแบบสิ้นเชิง จึงเอาศัพท์ตัวท้ายมาปิดว่า มิใช่ฐานะที่จะเป็นได้ หมายถึง ไม่มีทางเสื่อมอีกฯ และสอดรับกับการกล่าวย้ำอีกครั้งในตอนท้ายของข้อเดียวกันนี้(ข้อ ๓๕๑) ซึ่งในบทความนี้ข้าพเจ้าก็ได้แปลตามแบบของมหาจุฬาฯ ในภาษาอังกฤษ ท่าน Bhikkhu Bodhi และ Nyanamoli ได้แปลไว้ตรงกัน(กับฉบับมหาจุฬาฯ) ว่า He attains perpetual liberation. And it is impossible for that bhikkhu to fall away from that perpetual liberation. (The Middle Length Discourses of the Buddha, p.290. Wisdom publication. 2009)
[6] (พรฺหมฺ = ประเสริฐ, จริยา = ความประพฤติ) ศัพท์นี้แปลได้หลายแบบ จะแปลเป็น “ประพฤติเหมือนพรหม” ก็ได้ หมายถึงพรหม(ไม่มีเพศ ด้วยข่มและ/หรือตัดขาดกามกาคะได้) จึงไม่มีการประพฤติผิดในกาม รวมถึงการประพฤติธรรมก็จัดเป็นพรหมจรรย์ฯ
[7] วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ข้อ ๑ สาตฺถí  สพฺยฺชนí เกวลปริปุณฺณí  ปริสุทฺธí  พฺรหฺมจริยí  ปกาเสติ
[8] ทีฆนิกาย มหาวรรค ข้อ ๑๐๒  ยาว เม อิทí พฺรหฺมจริยí อิทฺธฺเจว ภวิสฺสติ  ผีตฺจ วิตฺถาริกí พหุชฺí   ปุถุภูตí ยาวเทวมนุสฺเสหิ  สุปฺปกาสิตนฺติ ฯ
[9] ดูรายละเอียดในหนังสือ พุทธธรรม, พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), พิมพ์ครั้งที่ ๑๑, ๒๕๔๙
[10] หลายคนมักกล่าวว่าปาฏิหาริย์เป็นต้น เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ (หรือ อจินไตย) ความจริงไม่มีสิ่งอื่นใดเหนือกฎธรรมชาติเลย แต่ที่มนุษย์ยกให้เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติเพราะตนมองไม่เห็นกฎของเหตุปัจจัยนั่นเอง เช่น เครื่องบินถือเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติสำหรับเด็ก แต่เป็นของธรรมดาสำหรับนักวิทยาศาสตร์ฯ
[11] ดังปรากฎในหนังสือ มงฺคลตฺถทีปนี เป็นการสรุปข้อปฏิบัติ/คำสอนทุกอย่าง เรียกรวมว่า พรหมจรรย์ “ข้อวัตรที่เรียกว่า พรหมจรรย์นั้น มี ๑๐ อย่าง คือ ทาน เวยยาวัจจะ เบญจศีล เมตตาอัปปมัญญา เมถุนวิรัติ สทารสันโดษ วิริยะ อุโบสถ อริยมรรค ศาสนา” พรฺหมฺจริยํ นาม ทานเวยฺยาวจฺจปญฺจสีลอปฺปมญฺญาเมถุนวิรติทารสนฺโตสวิริยอุโปสถงฺค-    อริยมคฺคสาสนวเสน ทสวิธํ โหติฯ มงฺคลตฺถทีปนี ทุติโย ภาโค หน้า ๓๔๐, มหามกุฏราชวิทยาลัย. ๒๕๓๙
[12] กิเลสกาม หมายถึงความรู้สึกปรารถนาที่อยู่ข้างในตัวมนุษย์(และสัตว์) ส่วนวัตถุกาม หมายถึงสิ่งที่มนุษย์ปรารถนาจะครอบครอง(มีหรือเป็น) กามจะเกิดได้ก็ต่อเมื่ออาศัยปัจจัย ๒ ตัวนี้ ขาดตัวใดเป็นก็ไม่มีค่า เช่น คนอยากได้รถ ใจคนเป็นกิเลสกาม รถเป็นวัตถุกาม ถ้าไม่มีรถ คนก็ไม่อยากได้ หรือหากต่อให้มีรถ แต่คนไม่มีกิเลส รถนั้นก็ไม่มีความหมายในแง่ของกามอยู่ดี
[13] ต้องการทราบรายละเอียดเรื่อง อริยมรรคมีองค์ ๘ ดูตัวอย่างพุทธพจน์ที่รวบรวมโดยท่านพุทธทาสในหนังสือ อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคปลาย พิมพ์ครั้งที่ ๘ (๒๕๕๔) โดยธรรมทานมูลนิธิ, และการอธิบายประยุกต์เข้ากับการปฏิบัติธรรมแบบเดินจงกรม จากบทความเรื่อง อธิบายธัมมจักกัปวัตตนสูตร, เจษฎา กันตเมธี, หน้า ๒๕ (สิงหาคม ๒๕๕๕)
[14] สังยุตนิกาย นิทานวรรค
[15] ที่มาจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Ashrama_(stage) ข้อมูลวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๕, ส่วนอีกที่ระบุช่วงเวลาของพรหมจารีเป็น ๔-๒๔ ปี (Edited by Lloyd Ridgeon, Major world religions, From their origins to the present, p.46. Routledge, London. 2003)
[16] เนื่องจากคัมภีร์มนูสมฤติ (Manu Smrti) นี้เป็นของเก่าแก่ ซึ่งเป็นไปได้ว่าการแบ่งช่วงอายุไปจนถึง ๑๐๘ ปี เป็นการจัดให้เข้ากับอายุเฉลี่ยของคนในสมัยนั้นฯ
[17] วินัยปิฎก จุลลวรรค  ข้อ ๓๖๐ ผลí เว กทลึ หนฺติ  ผลí เวฬฬุí ผลí นฬí สกฺกาโร กาปุริสí หนฺติ คพฺโภ อสฺสตรึ ยถาฯ เป็นการตรัสถึงพระเทวทัตที่สามารถทำสมาธิขั้นสูงถึงขั้นแสดงฤทธิ์ได้ แต่ก็กลับใช้สมาธิที่ได้มาหาลาภสักการะฯ อรรถกถาอธิบายถึงเหตุของการตัสพระสูตรนี้ว่า พระพุทธเจ้าต้องการยกเรื่องพระเทวทัตซึ่งออกบวชและต่อมาได้ทำกายแบ่งสงฆ์(สังฆเภท) มาสอนพระ(ในตัวพระสูตรปรากฎแค่ หลังจากพระเทวทัตจากไปไม่นานฯ) เพื่อให้เห็นถึงเป้าหมายในการบวชของพระในพุทธศาสนาฯ  
[18] ภาษาอังกฤษแปลศัพท์ ญาณทัสสนะไว้ว่า knowledge and vision, p.289 และอธิบายโดยอ้างถึงอรรถกถามัชฌิมนิกายว่า หมายเอาทิพพจักษุ หรือตาทิพย์ p,1224 (The Middle Length Discourses of the Buddha,. Wisdom publication. 2009)
[19] บทว่า   ญาณทสฺสนí  อภินิพฺพตฺเตติ  ความว่า  พระเทวทัตได้อภิญญา ๕   ก็ทิพยจักษุอยู่สุดท้ายของอภิญญา ๕ ฯ  ทิพยจักษุนั้น  ท่านกล่าวว่าญาณทัสสนะในพระสูตรนี้. ตรงนี้ต่างกับการแปลในภาษาอังกฤษที่เพิ่งอ้างไปนิดหนึ่ง คือ ภาษาอังกฤษแปลตรงตัวไปเลยว่า ญาณทัสสนะได้แก่ ตาทิพย์, แต่ในที่นี้กล่าวถึงอภิญญาทั้ง ๕ มีตาทิพย์เป็นที่สุด หมายความว่า รวมเอาอภิญญาข้อ ๑-๔ ด้วย ได้แก่การแสดงฤทธิ์ได้(อิทธิวิธี), หูทิพย์(ทิพพโสตะ), รู้ใจผู้อื่น(เจโตปริยญาณ), และ ระลึกชาติได้(ปุพเพนิวาสานุสสติ) ความจริง อภิญญามีทั้งหมด ๖ ประการ ได้แก่ทั้ง ๔ ที่เพิ่งกล่าวมา ตาทิพย์(ทิพพจักขุ) และ การทำกิเลสให้หมดไป(อาสวักขยญาณ)....อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ข้อ ๒๗๓ แต่ที่ไม่กล่าวถึงข้อ ๖ ในที่นี้เพราะเป็นเพียงขั้นของสมาธิ(สมถะ)ที่ใช้ในการแสดงฤทธิ์ มิได้ถึงขั้นพ้นทุกข์แต่ประการใดฯ 
[20] มิใช่ว่าพุทธศาสนาไม่เชื่อเรื่อง เทวดา เป็นต้น แต่พระพุทธเจ้าให้เห็นเป็นเพียงภพภูมิหนึ่งอันเป็นผลจากการทำความดี ต่อให้มีอำนาจบ้าง ท่านก็มิได้ลิขิตชีวิตใคร ที่สำคัญมนุษย์สามารถพัฒนาศักยภาพเหล่านั้นให้เกิดขึ้นเองได้ด้วยความเพียรโดยไม่ต้องอ้อนวอน ขอร้องต่อสิ่งเหล่านั้นฯ
[21] ความเข้าใจกับความเชื่อนั้นต่างกัน เช่น เชื่อว่าบนดาวอังคารมีมนุษย์ต่างดาว นั้นเป็นความเชื่อ(เพราะตนไม่รู้อะไรเลย เพียงแต่รับทราบมาจากแหล่งอื่นและไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้) แต่การทราบว่า ๕ + ๒ เท่ากับ ๗ นี้มิใช่ความเชื่อ หากแต่เป็นความเข้าใจ ที่ตนได้วิธีคิดมาแล้ว ตรวจสอบความถูกต้องได้ และสามารถประยุกต์ใช้สิ่งนั้นในชิวิตจริงได้
[22] กฎความจริงของธรรมชาติ ดูรายละเอียด เรื่องอริยสัจ ในบทความ “อธิบาย ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น