วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พิจารณาร่างกายเป็นไตรลักษณ์ ตามวิสุทธมรรค




พิจารณาร่างกายเพื่อเห็นความไม่หลง/ยึดติด ตามลักษณะไตรลักษณ์ จากคัมภีร์ “วิสุทธิมรรค”(พระพุทธโฆษาจารย์)...สำนวนการเขียนและการแปลอาจดูแปลกไปหน่อย แต่ก็ยังพออ่านได้อรรถรส และใช้เป็นแนวทางที่ดีได้สำหรับการศึกษาและปฏิบัติฯ

ติลัก์ขณํ อาโรเปตวา พระโยคาพจรเจ้านั้นจึงยกปัญญาขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ พิจารณาสังขารธรรมทั้งหลายนั้น ด้วยปฏิสังขานุปัสสนาญาณ กำหนดกฎหมายโดยอาการเป็นอันมาก ในพิธี(วิธี)ที่พิจารณาอนิจจลักษณนั้น พิจารณาโดยอาการเป็นอาทิ คือ
อนิจ์จัน์ติกโต พิจารณาโดยอาการอันบมิได้เที่ยงนั้นประการ ๑
ตาวกาลิกโต พิจารณาโดยอาการเหมือนด้วยของยืมเขามาประการ ๑
อุป์ปาทวยปริจ์ฉิน์นโต พิจารณาโดยกำหนดซึ่งกิริยาอันบังเกิดแล้วแลฉิบหายประการ ๑
ปโลกโต พิจารณาให้เห็นว่าสังขารธรรมนั้น มีสภาวขาดเด็จกระเด็นออกด้วยอำนาจพยาธิทุกข์ แลชราทุกข์ แลมรณทุกข์ประการ ๑
จลโต พิจารณาให้เห็นว่าสังขารธรรมนั้นไหวอยู่ด้วยพยาธิ แลชราแลมรณธรรมนั้นประการ ๑
ปภังคโต พิจารณาให้เห็นว่าสังขารนั้น บางคาบมีสภาวทำลายเองบางคาบทำลายด้วยความเพียรแห่งผู้อื่นประการ ๑
อธุวโต พิจารณาให้เห็นว่าสังขารธรรมบมิได้ตั้งอยู่เป็นนิจ ย่อมทอดทิ้งกลิ้งอยู่ในสถานประเทศต่าง ๆ ไม่มีที่กำหนดประการ ๑
วิปริณามธัม์มโต พิจารณาให้เห็นว่าสังขารธรรมมีสภาววิปริตแปรปรวนประการ ๑
อัส์สารกโต พิจารณาให้เห็น สังขารธรรมหาแก่นสารบมิได้ประการ ๑
วิภวโต พิจารณาให้เห็นว่าสังขารธรรมมีแต่ความฉิบหายเป็นเบื้องน่าบมิได้พ้นจากความฉิบหายประการ ๑
สังขตโต พิจารณาให้เห็นว่าสังขารธรรมแล้วด้วยกุสลากุศลประชุมแต่งประการ ๑
มรณธัม์มโต พิจารณาให้เห็นว่าสังขารมีแต่ความตายเป็นที่สุดประการ ๑

ให้พระโยคาพจรเจ้ายกปัญญาขึ้นสู่อนิจจลักษณพิจารณาด้วยอาการเป็นต้นดังนี้ในพิธีพิจารณาทุกขลักษณนั้น ให้พระโยคาพจรเจ้าพิจารณาด้วยอาการเป็นอาทิ คือ
อภิณ์หปฏิปีฬนโต พิจารณาโดยอาการอันทุกข์เบียดเบียนสังขารธรรมอยู่เนือง ๆ บมิรู้แล้วประการ ๑
ทุก์ขขมโต พิจารณาให้เห็นว่ากองทุกข์ทั้งปวงมีชาติทุกข์เป็นต้น ซึ่งครอบงำย่ำยีสังขารธรรมนั้นยากนักที่จะอดกลั้นทนทานได้ประการ ๑
ทุวัต์ถุโต พิจารณาให้เห็นว่าสังขารธรรมเป็นวัตถุอันชั่ว เป็นของชั่วยิ่งกว่าของทั้งปวงประการ ๑
โรคโต พิจารณาให้เห็นว่า สังขารธรรมเป็นโรคอยู่เป็นนิจ เป็นไข้อยู่เป็นนิจประการ ๑
คัณ์ฑโต พิจารณาให้เห็นว่า สังขารธรรมเป็นที่ไหลออกแห่งกิเลศแลอสุจิโสโครกต่าง ๆ เหมือนด้วยฝีปากเน่าที่แตกเป็นปุพโพโลหิตหวะเปื่อยออกไปนั้นประการ ๑
สัล์ลโต พิจารณาให้เห็นว่า สังขารธรรมเหมือนด้วยลูกปืนอันยอกเสียดเสียบแทง ยากนักที่จะชักจะถอนได้ประการ ๑
อฆโต พิจารณาให้เห็นว่า สังขารธรรมนั้นประกอบด้วยลามกมากกว่ามากพ้นวิไสย เป็นที่ติฉินนินทาแห่งพระอริยเจ้า ๆ เกลียดอายเบื่อหน่ายประการ ๑
อาพาธโต พิจารณาให้เห็นว่า สังขารธรรมประกอบด้วยอาพาธเป็นนิจนิรันดร์ สิ่งใดที่ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ปราถนานั้น สังขารธรรมชักนำเอาสิ่งนั้นมาให้สิ่งนั้นบังเกิดขึ้นจนได้ พิจารณาดังนี้ประการ ๑
อีติโต พิจารณาให้เห็นว่าสังขารธรรมนั้นเป็นตัวจัญไร นำมาซึ่งความร้ายความฉิบหายเป็นอันมากประการ ๑
อุปัท์ทวโต พิจารณาให้เห็นว่าสังขารธรรมเป็นตัวอุปัททวะสิ่งที่ชั่วที่ไม่เคยพบนั้น สังขารธรรมขืนเอามาส่ำสมลงประการ ๑
ภยโต พิจารณาให้เห็น สังขารธรรมเป็นบ่อเกิดแห่งภัยทั้งปวงประการ ๑
อุปลัค์คโต พิจารณาให้เห็นว่าสังขารธรรมนี้คือตัวอันตรายติดตามย่ำยีบีฑาประการ ๑
อตาณโต พิจารณาให้เห็นว่า สังขารธรรมทั้งปวงนี้บมิอาจคุ้มครองรักษาสัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งได้ประการ ๑
อเลณโต พิจารณาให้เห็นว่าสังขารธรรมปราศจากที่เร้นที่ซ่อน ถึงคราวจะป่วยจะไข้ ถึงคราวจะแก่จะตายแล้ว จะหาที่เร้นที่ซ่อนให้พ้นป่วยพ้นไข้ให้พ้นแก่พ้นตายนั้นหาไม่ได้เลยเป็นอันขาด พิจารณาดังนี้ประการ ๑
อสรณโต พิจารณาให้เห็นว่า สังขารธรรมมิอาจเป็นที่พึ่งคุ้มครองป้องกันชาติแลชราพยาธิแลมรณได้นั้นประการ ๑
อาทีนวโต พิจารณาให้เห็นว่าสังขารธรรมมากไปด้วยโทษประการ ๑
อฆมูลโต พิจารณาให้เห็นว่า สังขารธรรมเป็นค้าเป็นมูลแห่งทุกข์ประการ ๑
วธกโต พิจารณาให้เห็นว่าสังขารธรรมมีปรกติเบียดเบียนบีฑาเหมือนดังนายเพชฆาฏประการ ๑
สาสวโต พิจารณาให้เห็นว่า สังขารธรรมประกอบด้วยอาสวะกิเลศประการ ๑
มารามิส์สโต พิจารณาให้เห็นว่า สังขารธรรมเป็นเหยื่อแห่งมารประการ ๑
ชาติธัม์มโต พิจารณาให้เห็นว่าสังขารธรรมอากูลมูลมองไปด้วยชาติทุกข์ประการ ๑
ชราธัม์มโต พิจารณาให้เห็นว่าสังขารธรรมอาเกียรณ์ไปด้วยชราทุกข์ติดตามรัดรึงประการ ๑
พยาธิธัม์มโต พิจารณาให้เห็นว่าสังขารธรรมมากไปด้วยพยาธิทุกข์ครอบงำย่ำยีประการ ๑
มรณธัม์มโต พิจารณาให้เห็นว่าสังขารธรรมมีความมรณอันแตกดับทำลายเป็นที่สุด
โสกธัม์มโต พิจารณาให้เห็นว่าสังขารธรรมประกอบไปด้วยโสกทุกข์คือ มากไปด้วยความเดือดร้อนระส่ำระสายประการ ๑
ปริเทวธัม์มโต พิจารณาให้เห็นว่าสังขารธรรมมากไปด้วยปริเทวทุกข์ คือร้องไห้ร่ำไรน้ำตาไหลนั้นประการ ๑
อุปายาสธัม์มโต พิจารณาให้เห็นว่าสังขารธรรมมากไปด้วยอุปายาสทุกข์ คือสอื้นอาไลยประการ ๑
สํกิเลสิกธัม์มโต พิจารณาให้เห็นว่าสังขารธรรมมากไปด้วยเศร้าด้วยหมองภายในแลภายนอกประการ ๑
ให้พระโยคาพจรเจ้ายกปัญญาขึ้นสู่ทุกขลักขณ พิจารณาด้วยอาการเป็นต้นดังนี้ นัยหนึ่งให้พระโยคาพจรพิจารณาโดยอสุภลักษณ อันบังเกิดเป็นบริวารแห่งทุกขลักขณนั้น ด้วยอาการเป็นอาทิ
         
อชัญ์ญโต คือ พิจารณาให้เห็นว่า สังขารธรรมนี้จะได้เป็นที่ชอบเนื้อ เจริญใจแห่งนักปราชญ์ผู้เห็นโทษด้วยปัญญาจักษุนั้นหาบมิได้ประการ ๑
ทุค์คัน์ธโต พิจารณาให้เห็นว่า สังขารธรรมนี้อากูลไปด้วยกลิ่นเหม็นกลิ่นเหน้าประการ ๑
เชคุจ์ฉโต พิจารณาให้เห็นว่า สังขารธรรมนี้เป็นของพึงเกลียดอยู่เองเป็นปรกติธรรมดาประการ ๑
ปฏิกุลโต พิจารณาให้เห็นว่า สังขารธรรมโสโครกอยู่เองแล้ว ไม่หนำซ้ำพาเอาสิ่งของอื่น ๆ โสโครกไปด้วยประการ ๑
อมัณ์ฑนหตโต พิจารณาให้เห็นว่า สังขารธรรมนี้ถ้าไม่ประดับแล้วก็ปราศจากงาม มีงามอันขจัดจากเพราะเหตุที่ไม่ประดับ เมื่อไม่ตกแต่งขัดเกลาไม่ประดับเครื่องประดับแล้ว อย่าว่าถึงจะงามแก่ปัญญาจักษุแห่งนักปราชญ์เลย แต่จะงามแก่ตาอันธพาลปุถุชนก็หางามไม่ พิจารณาให้เห็นดังนี้ประการ ๑
วิรูปโต พิจารณาให้เห็นว่า สังขารธรรมนี้ไม่มีดีเลยแต่สักสิ่งสักอันพิจารณาให้เห็นแต่ล้วนไม่ดีอย่างนี้ประการ ๑
วิภัจ์ฉโต พิจารณาให้เห็นว่า สังขารธรรมนี้พึงเกลียดตลอดภายในภายนอก พึงเกลียดทั้งพื้นต่ำแลพื้นบน พึงเกลียดแก่ตน พึงเกลียดแก่บุทคลผู้อื่น พิจารณาอย่างนี้ประการ ๑
ให้พระโยคาพจรยกปัญญาขึ้นพิจารณาอสุภลักษณ อันเป็นบริวารแห่งทุกขลักษณด้วยประการฉะนี้
         
ในพิธีพิจารณาอนัตตลักษณนั้น ให้พระโยคาพจรเจ้าพิจารณาด้วยอาการเป็นอาทิ คือ
ปรโต พิจารณาให้เห็นว่า สังขารธรรมมีสภาวปรวนแปรเป็นอื่น ไม่ยั่งไม่ยืนไม่มั่นไม่คงประการ ๑
ริต์ตโต พิจารณาให้เห็นว่า สังขารธรรมเป็นริตตธรรม เพราะเหตุเปล่าจากสภาวเที่ยงแท้แลงาม เปล่าจากสภาวเป็นศุขแลเป็นอาตมา บมิได้เหมือนดังใจที่จะกำหนดกฎหมายนั้นประการ ๑
ตุจ์ฉโต พิจารณาให้เห็นว่า สังขารธรรมนั้นควรจะร้องเรียกชื่อว่าตุจฉธรรม เพราะเหตุว่าสังขารธรรมนี้ที่จะงามจะดีเป็นศุขอยู่นั้นน้อยนักน้อยหนาให้พิจารณาดังนี้ประการ ๑
สุญ์ญโต พิจารณาให้เห็นว่า สังขารธรรมนี้เป็นเครื่องดับเครื่องสูญประการ ๑
อสามิกโต พิจารณาให้เห็นว่า สังขารธรรมนี้หาเจ้าของบมิได้ เพราะเหตุประพฤติตามวิไสยแห่งตน ตามถนัดแห่งตน หาผู้จะบังคับบัญชาว่ากล่าวบมิได้ประการ ๑
อนิส์สรโต พิจารณาให้เห็นว่า สังขารธรรมนี้หาผู้จะเป็นใหญ่ขู่เข็นข่มขี่บมิได้เลยเป็นอันขาด ถึงท่านที่มีอาชญาอานุภาพปราบปรามปัจจามิตรได้ทั่วไปในพื้นปถพีนั้นก็ดี ก็บมิอาจปราบปรามสังขารธรรมได้ สังขารธรรมนี้เป็นอิสสรอยู่แก่ตน ประพฤติตามวิสัยแห่งตน ถึงที่จะเจ็บก็เจ็บถึงทีจะปวดก็ปวด ถึงทีจะเมื่อยก็เมื่อย ถึงทีจะมึนก็มึน ถึงทีจะแก่ก็แก่ ถึงทีจะตายก็ตาย ใครจะห้ามก็ไม่ฟังเหตุฉะนี้ จึงว่าหาผู้ใดจะเป็นใหญ่ขู่เข็นข่มขี่บมิได้ พิจารณาให้เห็นชัดดังนี้ประการ ๑
อวสวัต์ติโต พิจารณาให้เห็นว่า สังขารธรรมบมิใช่ตนมิใช่ของแห่งตน เพราะเหตุไม่ประพฤติตามอำนาจแต่งตนนั้นประการ ๑
ให้พระโยคาพจรเจ้ายกปัญญาขึ้นสู่อนัตตลักษณ พิจารณาให้เห็นด้วยอาการเป็นต้นดังนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น