วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556

กัลยาณมิตร ในทัศนะพระอานนท์และพระพุทธเจ้า



เรื่องความสำคัญของกัลยาณมิตรในพุทธศาสนา หลายคนคงคุ้นกับพระสูตรนี้แล้ว เพียงแต่อยากให้อ่านใหม่แบบใช้วิจารณญาณดีๆนะครับ กระผมจะลองตัดชื่อผู้พูดประโยคนั้นๆออก เพื่อให้เราอ่านด้วยความเป็นกลาง (เพราะหากเห็นชื่อ อคติที่ซ่อนเร้นอยู่ลึกๆจะทำให้เราเข้าข้างเพราะรัก หรือ ไม่เห็นด้วยเพราะเกลียดชังได้) เป็นบทสนทนาของพระ ๒ ท่าน ขอแทนท่านหนึ่งด้วยอักษร A และอีกท่านเป็น B ครับ


สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ข้อ ๓๘๒ ครั้งนั้น A  เข้าไปหา B แล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง

ภิกษุ A กล่าวว่า ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี “เป็นคุณกึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์” (หมายถึง การมีเพื่อนดี เป็นครึ่งหนึ่งที่จะทำให้เราเข้าถึงจุดสูงสุดของพุทธศาสนา/มีปัญญาละกิเลสได้หมด)

ภิกษุ B ได้กล่าวว่า เธออย่ากล่าวอย่างนั้น  ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดีนี้ “เป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ทีเดียว”

ขออธิบายสั้นๆก่อนว่า A เห็นว่าการบรรลุธรรมจะเกิดได้ ต้องอาศัย ๒ ส่วน คือ มีเพื่อนดีคอยชี้ทาง (ได้ไปครึ่งหนึ่ง หรือ ๕๐ เปอร์เซน) และอีก ๕๐ ที่เหลือ อยู่ที่เราจะใช้ปัญญาพิจารณาและนำไปปฏิบัติด้วยกำลังของเราเอง ข้อนี้ใครก็ทำแทนไม่ได้ กัลยาณมิตรก็เป็นเพียงผู้คอนแนะนำเท่านั้น..............เราเห็นว่า ท่าน A พูดถูกหรือผิด?

ส่วน B ไม่เห็นด้วยกับความเห็นของ A บอกว่า แค่มีเพื่อนดี(กัลยาณมิตร) ก็เป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์เลย (สกลเมว....บาลี) คำกล่าวตรงนี้ ถ้าเอาอีกพระสูตรหนึ่งมาจับ ก็จะเห็นความไม่ลงรอยกันคือ

อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ข้อ ๓๗๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฐิ ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน คือ การโฆษณาแต่บุคคลอื่น (การรับฟังมาจากผู้อื่น...ปรโตโฆษะ) ๑และโยนิโสมนสิการ  (การพิจารณาโดยแยบคายด้วยตัวเราเอง) ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสัมมาทิฐิ ๒ อย่างนี้แล ฯ

มาถึงตรงนี้พอจะเห็นได้ชัดขึ้นว่า ใครพูดตรงกับความเป็นจริงมากกว่ากัน ซึ่ง A เป็นสัญลักษณ์แทนพระอานนท์ (Ananda) และ B แทนพระพุทธเจ้า(Buddha)

ที่พระอานนท์พูดก็ไม่ได้ผิดและยังตรงกับพระสูตรที่ยกมาเพิ่มเติมด้วยซ้ำ ส่วนจะว่า พระพุทธเจ้าผิดก็ยังไม่ได้ เพราะพระองค์ยังอธิบายเหตุผลต่อว่า “ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี จักเจริญอริยมรรคมีองค์แปด จักกระทำซึ่งอริยมรรคมีองค์แปดให้มากได้ ฯ” นั่นหมายถึง พระองค์บอกว่า เมื่อได้มิตรดี จะเป็นเหตุให้ดำเนินตามมรรคมีองค์แปดได้ฯ

ทั้งสองไม่มีใครพูดผิดเลย เพียงแต่พูดกันคนละประเด็น พระอานนท์พูดในแง่ที่มองเหตุปัจจัยเป็น ๒ ส่วน คือ ปัจจัยภายนอก(สภาพแวดล้อม) และปัจจัยภายใน(การปฏิบัติของตัวเราเอง) ซึ่งการพูดอย่างนี้ก็ตรงกับความเป็นจริง และพระพุทธเจ้าเองก็เคยสอน ส่วนพระพุทธเจ้า ถ้าดูที่พระองค์ตรัสก็ไม่ได้ต่างไปจากพระอานนท์เลย คือเริ่มจากการมีคนแนะนำในทางที่ดี และนำไปสู่การปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘  แต่พระองค์ก็ยังปฏิเสธสิ่งที่พระอานนท์พูด(เมื่อปฏิเสธเสร็จก็พูดเหมือนกับพระอานนท์?) อาจมองได้ว่า พระองค์ทราบดีอยู่แล้วว่าการจะพ้นทุกข์ได้ก็หนีไม่พ้นการปฏิบัติ(หรือ โยนิโสมนสิการ)ด้วยตนเอง เมื่อเป็นที่รู้กันก็ไม่จำเป็นต้องเน้นอีก จึงมาเน้นปัจจัยตัวแรก คือ การมีมิตรดีแบบเต็มร้อยไปเลย เพราะอย่างไรเสีย เมื่อมีมิตรดี การจะดำเนินไปสู่มรรคมีองค์แปดก็เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ(มีมิตรดีเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์).... อันนี้กระผมคิดและอธิบายเองนะครับ อาจผิดพลาด แต่ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็ยังตั้งคำถามได้อีกว่า คนที่มีมิตรดีแล้ว ชีวิตเขาจะพุ่งไปสู่อริยมรรคมีองค์ ๘ โดยอัตโนมัติทุกคนหรือไม่? การกล่าวเช่นนี้กับการแยกให้เห็นปัจจัยทั้งสองตัวให้ชัดเหมือนพระอานนท์อันไหนจะรอบคอบ หรือ ถูกต้องมากกว่า?

กระผมไม่ได้ชวนให้เราไม่เชื่อพระพุทธเจ้านะครับ เพราะฐานะที่เป็นชาวพุทธ เราไม่ควรเชื่อใครง่ายอยู่แล้ว(กาลามสูตร) ทุกอย่างต้องสอดรับกับความเป็นจริงและมีเหตุผลก่อนเสมอ และตัวพระสูตรนี้ “หากพูดตามนักปฏิบัติก็ต้องบอกว่า ไม่มีปัญหาอะไรเลย” เพราะพระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ชัดเจนว่า การพ้นทุกข์ อยู่ที่เจริญมรรคมีองค์แปด .... จึงไม่ได้ขัดกับหลักพุทธศาสนา

เพียงแต่เคยเห็นว่า หลายคนที่เชื่อพระพุทธเจ้าแบบสุดใจ เคยเอาพระสูตรนี้มาโจมตีพระอานนท์ และสาวก ว่าไม่มีความสามารถ เข้าใจหลักธรรมคลาดเคลื่อน จนพระพุทธเจ้าต้องปฏิเสธและสอนใหม่ฯลฯ ซึ่งหากเราอ่านพระสูตรนี้ให้กระจ่างก็จะไม่เห็นความขัดแย้ง(ในแง่สาระธรรม)ของทั้ง ๒ ท่านเลย เพียงแต่เหมือนจะเน้นให้เราเชื่อคนมากกว่ามองสาระของความจริง นั่นคือ คำพูดนั้นมาจากไหน ใครเป็นคนพูดฯ ซึ่งก็เห็นชัดว่า การที่เราเชื่อเช่นนั้น จะทำให้เรามองคนอื่น(ที่ไม่ใช่ศาสดาเรา) ผิดเสมอ......ลองพิจารณาดูและแสดงความเห็นได้นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น