วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เราต้องการครูที่เป็นคนดี หรือ มีความเป็นวิชาการ



ครู.....ความหมายในทางศาสนาหมายเอา “คนที่ควรคบเป็นมิตร หรือ กัลยาณมิตร” พึงสังเกตว่า ไม่ได้เจาะจงอยู่ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีอาชีพสอนเหมือนในความเข้าใจตามบริบทของสังคมไทย เพราะทางพุทธศาสนาไม่มีระบบหรือคำสอนใดที่จะผูกขาดว่า คนเป็นครูจะต้องเป็นคนดี และต้องได้รับการยกย่อง(ทำให้หนัก ตามความหมายของ ครุ) อยู่เสมอ แต่ให้ดูถึงคุณสมบัติหรือความประพฤติของแต่ละคนเอง เมื่อเห็นว่าใครมีคุณสมบัติดี (ที่จะกล่าวถึงด้านล่าง) ก็ให้เอาพฤติกรรมนั้นเป็นแบบอย่าง และเข้าไปศึกษาหาความรู้กับท่าน

อีกอย่างหนึ่ง พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เชื่ออะไรอย่างงมงาย ดังปรากฎใน เกสปุตตสูตร ว่า....” อย่าเพิ่งเชื่อ เพียงเพราะเห็นว่า ผู้พูดเป็นครูของเรา” อันนี้ยังรวมถึงพระพุทธเจ้าเองที่เป็นศาสดาในการสอนธรรมะ เพราะการใช้ศรัทธานำหน้า ทำให้คนขาดสติ ปัญญาในการคิดไตร่ตรองให้รอบด้านเสียก่อน อีกอย่างหนึ่ง ต่อให้ครูที่เป็นพูดความจริง การเชื่อของศิษย์ที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการไตร่ตรองเสียก่อน จะทำให้ศิษย์ไม่เจริญเติบโตทางปัญญา ไม่สามารถแยกแยะอะไรได้ด้วยตนเอง มีปัญหาอะไรก็ต้องกลับไปถามครูอยู่ทุกครั้ง ศาสนาพุทธจึงเน้นให้คนพัฒนาความสามารถของตนเอง เติบโตทางสติปัญญาให้เต็มที่ (เชื่อว่า มนุษย์สามารถบรรลุธรรมได้ โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง โดยไม่หวังพึ่งอำนาจศักดิ์สิทธิ์จากใคร) โดยไม่ต้องไปพึ่ง/ยึดอยู่กับใครคนหนึ่งรวมถึงพระพุทธเจ้าเอง พระองค์เปรียบตัวเองเหมือนเพื่อนหรือ กัลยาณมิตร ที่คอยแนะนำ ตักเตือน หรือสอนให้เราพัฒนาตนเองในเบื้องต้น เพื่อจะได้พึ่งตนเองได้และเป็นที่พึ่งให้กับคนรุ่นต่อไป(ในการแนะนำให้เขามีปัญญา)ได้ในที่สุด มิใช่ประสงค์ให้เรากราบเท้า สมาทานเอาพระองค์เป็นสรณะไปตลอดชีวิตจนไม่ได้พัฒนาปัญญาขึ้นมาได้เลย.... เรื่องนี้ชาวพุทธที่คิดว่า ศาสนาพุทธเหมือนกับศาสนาอื่นๆ (ต้องเคารพเชื่อฟังศาสดาตนเองอย่างศรัทธาไม่หวั่นไหว) ต้องเตือนตนเองให้ดี เพราะความเชื่อเช่นนั้น ผิดหลักการของพุทธศาสนาฯ

 โดยอังคุตตระนิกาย สัตตกะนิบาต ๓๔ สตฺตหิ   ภิกฺขเว   ธมฺเมหิ   สมนฺนาคโต   ภิกฺขุ  มิตฺโต เสวิตพฺโพ   ภชิตพฺโพ   ปยิรุปาสิตพฺโพ  อปิ  ปนุชฺชมาเนนปิ    กตเมหิ สตฺตหิ   ปิโย      โหติ   มนาโป    ครุ    ภาวนีโย    วตฺตา    วจนกฺขโม      คมฺภีรญฺจ   กถํ  กตฺตา  โหติ  โน    อฏฺฐาเน นิโยเชติ    อิเมหิ  โข  ภิกฺขเว  สตฺตหิ  ธมฺเมหิ  สมนฺนาคโต  ภิกฺขุ มิตฺโต เสวิตพฺโพ ภชิตพฺโพ ปยิรุปาสิตพฺโพ อปิ ปนุชฺชมาเนนปีติ ฯ   

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการควรเสพ ควรคบเป็นมิตรควรเข้าไปนั่งใกล้(เพื่อฟังคำสอน) แม้ถูกขับไล่ ธรรม ๗ ประการเป็นไฉน คือ
๑. ภิกษุเป็นที่น่ารักใคร่พอใจ (เห็นแล้วอยากเข้าไปหา)
๒. เป็นที่เคารพ  (มีความประพฤติสมควรแก่การทำหน้าที่นั้นๆ)
๓. เป็นผู้ควรสรรเสริญ (มีความสามารถ หมั่นหาความรู้อยู่เสมอ)
๔. เป็นผู้ฉลาดในการพูด (รู้ว่าควรพูดอะไร ในเวลาไหน และ ไม่เบื่อที่จะอธิบายอีก)
๕. เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ (แม้ถูกซักถาม วิพากษ์วิจารณ์ก็เปิดใจรับฟังเหตุผลได้)
๖. พูดถ้อยคำที่ยากให้ง่ายได้ (มิใช่สอนเรื่องง่าย ให้เข้าใจยาก???)
๗. ไม่ชักนำในทางที่ไม่ดี (ชี้แนะให้ผู้อื่นรู้จักสิ่งที่เป็นประโยชน์)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้แล ควรเสพ ควรคบเป็นมิตร ควรเข้าไปนั่งใกล้ แม้ถูกขับไล่ ฯ

ครู...อยู่ในความหมายของข้อที่ ๒ คือเป็นที่น่าเคารพ เพราะทำหน้าที่ของตนได้ดี ข้าพเจ้าจะไม่ขอกล่าวถึงหน้าที่อีก เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว เพียงแต่อยากเพิ่มเติมเรื่องการสอนสักเล็กน้อย สิ่งที่เคยประสพมาคือ เราจะไม่ค่อยพบเจอครูที่มีคุณสมบัติในเรื่องการสอนที่ได้มาตรฐานจริงๆ (คุณสมบัติเรื่องอื่นอาจพอหาได้บ้าง เช่น กิริยามารยาทเรียบร้อย แต่งกายเหมาะสม รักลูกศิษย์เหมือนลูกตัวเอง มีความจริงใจ) สิ่งที่อยากเห็นมากกว่านั้นคือ ครูที่มีความรู้ในเรื่องที่สอนกระจ่างชัดจริงๆ จนสามารถอธิบายเรื่องที่ยากให้ง่ายได้ ยกตัวอย่างเรื่องการเรียนวิทยาศาสตร์ ตอนเรียนมัธยมข้าพเจ้ารู้สึกยากมาก ไม่เข้าใจ มองไม่เห็นหลักการโดยรวม ไม่ทราบแม้แต่จุดประสงค์ของการเรียน แต่พอเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย อาจารย์ที่สอนเป็นนักวิทยาศาสตร์แนวหน้าของไทย สามารถพูดและอธิบายทุกอย่างให้ง่ายได้ แม้แต่นักศึกษาที่ไม่มีพื้น(ไม่ได้จบสายวิทย์มา) ยังเข้าใจบทเรียนได้ และเห็นเป็นเรื่องน่าสนุกฯ นี่เป็นสิ่งที่น่าตั้งคำถาม ว่าทำไมครูมัธยมไม่สามารถทำเช่นนี้ได้???? (ซึ่งอาจารย์ท่านบอกว่า.... คนที่ไม่สามารถสอนให้ง่ายได้ คือคนที่ไม่ได้เข้าใจเรื่องนั้นลึกจริงๆ หรือ คนที่พูดภาษาอังกฤษเก่งมาก จนคนอื่นไม่เข้าใจ แท้จริงแล้ว เขานั่นแหละที่ไม่เข้าใจภาษาอังกฤษโดยรอบด้าน และไม่เข้าใจแม้เป้าหมายของการสื่อสาร... แต่อันนี้เป็นเพียงความเห็นของอาจารย์ท่านนะครับ ข้าพเจ้าไม่ขออกความเห็น อิอิ)

สิ่งที่เราไม่ค่อยเจอจากครูอาจารย์ในปัจจุบัน นอกเหนือจากเรื่องความรู้ที่ครูชำนาญจริงๆแล้ว (ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมี ไม่สามารถลงลึกได้) ยังเป็นเรื่องของอุดมการณ์ ที่ไม่สามารถปลูกฝังให้ผู้เรียนมีความใฝ่ฝันที่จะทำประโยชน์ให้ส่วนรวมได้ เช่น
สอนให้เป็นหมอ....แต่น้อยคน ที่คิดว่าจะหาความรู้ไปช่วยเหลือผู้อื่น มากกว่าการหาเงินสร้างฐานะให้ตนเอง....ซึ่งคนที่มีเจตนาบริสุทธิ์จริงๆคงจะมี แต่ปัจจุบันนี้ เขาก็จะถูกมองเป็นคนบ้า อิอิ

สอนให้รู้เรื่องการเมือง การปกครอง (เรียนรัฐศาสตร์) แต่น้อยคนที่จะเข้าใจเรื่องการปกครองจริงๆ ต่อให้เข้าใจมาแล้ว ก็มีน้อยคนอีก ที่จะมีอุดมคติ ยืนอยู่กับความถูกต้อง กล้าชี้ถูกผิดโดยไม่มีอคติ ไม่ตกเป็นเครื่องมือในการจับกลุ่มกันแสวงหาอำนาจ กรณีที่เป็นครูสอน ก็กล้าตั้งคำถามให้นักเรียนพิจารณาถึงความยุติธรรม เสรีภาพ การถูกกดขี่ฯลฯ โดยมากก็สอนไปตามระบบ ที่สุดแล้วมีคนจบรัฐศาสตร์เต็มไปหมด แต่ไม่มีคนมองปัญหาบ้านเมืองออกฯ

เพื่อไม่เป็นอคติ...ขอยกตัวอย่าง การสอนให้เป็นพระ เป็นคนดี ในทางพุทธศาสนา นี่ก็เป็นองค์กรหนึ่ง ที่มีครู ส่วนใหญ่พระสงฆ์รับหน้าที่เป็นผู้สอนเอง ครู....ในองค์กรนี้แม้จะเป็นทายาทโดยตรงกับพุทธศาสนา ที่สอนให้คนพัฒนาปัญญา แต่ขบวนการสอน(แม้ในมหาวิทยาลัย) ก็ยังเป็นระบบศรัทธา สอนเพื่อให้คนเชื่อ พูดอย่างไรเพื่อให้โน้มน้าวใจคนได้มากที่สุด เพื่อให้ได้มาซึ่งชื่อเสียงและลาภยศ มีครูอาจารย์น้อยคนมาก ที่จะสอนพุทธศาสนาไปในทางวิชาการ คือ สอนให้คนคิดเป็น กล้าตั้งคำถาม และหาคำตอบโดยมีเหตุผล ตัวอย่างเช่น เรามีการสอนพุทธศาสนามาหลายปี  เน้นเรื่องอริยสัจ ๔ ศีล ๕ ฯลฯ แต่ยังไม่ค่อยมีใครตั้งคำถามเลยว่า การหาเงินสร้างวัดเป็นเรื่องถูกต้องสมควรหรือไม่ การที่หมดดูบอกว่าชีวิตตกต่ำแล้วต้องมาบวช ขัดกับหลักการพึ่งตนเองหรือไม่  หรือให้ลึกไปกว่านั้น การจะเป็นชาวพุทธได้ต้องเชื่อพระไตรปิฎกหรือพุทธวจนะเท่านั้น เป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่ตามหลักการพัฒนาปัญญา? ฯลฯ การไม่ยอมสอนเรื่องที่ใกล้ตัวเหล่านี้ “ส่งผลให้ตัวความรู้ และ คนที่ศึกษาเล่าเรียนแยกออกจากกัน” ไม่สามารถแม้แต่จะคิดตั้งคำถามสิ่งที่ตนได้ประสพอยู่ต่อหน้าได้ (เช่น ซื้อรถแล้วเอาไปเจิม แม้ผู้สอนเองที่เป็นพระ ก็ทำหน้าที่เจิมโดยไม่คำนึงว่า ตนเองสอนเรื่องอะไรไปฯ)

ฉะนั้น ครูที่เรา(น่าจะ) ต้องการมากที่สุดในสมัยใหม่ หรือ ปัจจุบันนี้ คือ คนที่สามารถเปิดใจ มีอุดมการณ์ มีความเป็นวิชาการที่เพียงพอ มุ่งสอนให้ผู้เรียนเติบโตทางปัญญา มากกว่าสอนให้เขาเชื่อ เพื่อสืบทอดระบบความรู้นั้นต่อไปอีก และการสอนในทางวิชาการจะเป็นไปไม่ได้เลย หากเราไม่มีครูที่มีความรู้จริงๆ สามารถให้ข้อมูลเราทั้งสองด้าน ชักชวนให้เราคิดแยกแยะ รู้จักการวิพากษ์วิจารณ์ฯลฯ  ข้าพเจ้าอยากเห็นครูที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ให้มากครับ ไม่จำเป็นต้องไปอ้างเรื่องคุณธรรม เพราะเป็นสิ่งมองไม่เห็น และหากนำมาอ้างกันจริงๆ คนดีที่สุดก็น่าจะเป็นพระอีก อิอิอิ นั่นคือ ครูจะมีคุณธรรม เป็นคนดีหรือไม่ยังไม่สำคัญครับ แต่ขอให้สอนด้วยอุดมการณ์ที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดปัญญาจริงๆ เมื่อทำได้เช่นนั้น ต่อให้ครูสูบบุหรี่ แต่เด็กเขาจะเลือกและตัดสินใจเองได้ ดีกว่าการมาเน้นเรื่องคุณธรรม(ที่อยู่ที่ไหนไม่รู้???) มองข้ามด้านปัญญาในทางวิชาการ ต่อให้ครูมีพฤติกรรมดี แต่ก็รับรองไม่ได้ว่าเด็กจะไม่สูบบุหรี่ หรือ หนีเรียนฯ ข้าพเจ้าไม่ได้ปฏิเสธคุณธรรมนะครับ เพียงแต่เห็นว่า เราควรแก้ปัญหาโดยอาศัยสิ่งที่เป็นรูปธรรม ส่วน คุณธรรม ยิ่งมีมากยิ่งดีฯ เพราะสิ่งที่พูดมาก็มิได้ขัดกับหลักพุทธศาสนาอยู่แล้ว นั่นคือ เราไม่ได้สอนให้เชื่อครู มีพฤติกรรมตามครู แต่การสอนมุ่งเพื่อให้เราเติบโตทางสติปัญญา เอาครูเป็นเหมือนมิตรที่คอยชี้ทาง ให้ความรู้เพียงเท่านั้น ถ้าเรายอมเปิดใจยอมรับข้อเท็จจริงนี้ได้ ไม่หลอกตัวเองโดยมองครู และพระเป็นเทวดาที่ต้องกราบเท้า หรือ ยึดเป็นสรณะเรื่องไป พฤติกรรมท่านจะเป็นอย่างไรก็ไม่มีผลต่อเราอยู่แล้ว เพราะเราหวังเพียงอย่างเดียว คือ อาศัยท่าน ช่วยให้เราเป็นคนฉลาด มีเหตุมีผล เพื่อตัดสินใจ/พึ่งตนเองได้ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น