มีคนเคยนำทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ล ดารวิน (Charles
Darwin) มาอธิบายศาสตร์ทางวัฒนธรรมและศาสนา
โดยกล่าวถึงการวิวัฒนาการตั้งแต่ความความเรียบง่าย เป็นความซับซ้อนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
(ทำนองเดียวกับสัตว์เซลล์เดียวเป็นต้นมาจนกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีกลไกซับซ้อน)
ตัวอย่างเช่น ศาสนาสอนเรื่องการแบ่งปัน โดยเน้นให้ใจเกิดเมตตากรุณา
เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ (Generosity) จัดเข้าในหลักการทำบุญของพุทธศาสนาคือ
ทาน (เพื่อชำระความตระหนี่)
เมื่อพูดถึงทานตามหลักการข้างต้น
ทานจึงเกิดได้ในทุกที่ ทุกเวลา และกับทุกคนที่เขาควรได้รับการช่วยเหลือ
การพิจารณาเช่นนี้ จะทำให้ผู้ให้ทานเกิดความฉลาดในการแจกจ่ายทานด้วย
เพราะไม่ไปกระจุกอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ต่อมา การให้ทาน
ได้ถูกทำให้ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น (ตามทฤษฎีวิวัฒนาการ?)
เมื่อความเชื่อทางศาสนาเข้ามา คนก็มุ่งแบ่งปันเฉพาะหมู่พวกที่มีความเชื่อเดียวกับตน
พัฒนาไปเรื่อยจนมีเรื่องอานุภาพของทานแทรกเข้ามา (เช่นสามารถล้างกรรมเก่าได้,
เป็นที่โปรดปรานของพระผู้เป็นเจ้าฯลฯ) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
พุทธศาสนาเองมีผู้แทนคือพระสงฆ์ (ซึ่งถูกมองเป็นคนคอยรับส่งทานให้ผู้ล่วงลับ) การให้ทานก็พัฒนามาผูกขาดกับสังคมสงฆ์มากขึ้น
(ถ้านึกจะแบ่งปันหรือถวายทาน คนจะนึกถึงพระสงฆ์ก่อน....ไม่เชื่อลองถามตัวเอง อิอิ)
ต่อมาก็ก่อเกิดเป็นพิธีกรรม การให้จะดูธรรมดาไป
ก็ต้องมีการทำพิธีถวายแบบเป็นทางการกันสักเล็กน้อย
หรือกล่าวคำอธิษฐานเพื่อให้สมความปรารถนา แล้วพัฒนามาจนต่อเติมพิธีการรับศีล
การกรวดน้ำฯลฯ... สังเกตว่า ปัจจุบันถ้ามีผู้ไปถวายสังฆทาน
แล้วไม่ได้ทำตามพิธีดังกล่าวนี้ จะรู้สึกถึงความไม่สมบูรณ์(เพราะถูกปลูกฝังมา) จนกลายเป็นว่า
หลายคน(รวมทั้งพระสงฆ์เอง)อาจลืมเป้าหมายของการให้ทาน หรือ แบ่งปันข้างต้นไปแล้ว
มิใช่การให้ด้วยเจตนาบริสุทธิ์เพื่ออนุเคราะห์เพื่อนมนุษย์ แต่เป็นการทำเพื่อแลกเปลี่ยนกับอะไรบางอย่าง
เช่น สวรรค์ ความร่ำรวย โชคชะตาฯลฯ
ทฤษฎีวิวัฒนาการนี้ยังอธิบายได้ถึงอะไรอีกหลายอย่าง เช่น การสวดมนต์
แม้กระทั่ง นะโม..... สามารถแบ่งประเภทออกได้อย่างน้อย ๔ แบบ นั่นคือ
ชาวบ้านสวดเพื่อเป็นบทเริ่มต้น (ปุพพภาคนมการํ) ใช้นะโม “สาม” คือหยุดสามครั้ง
สวดจบหนึ่งรอบก็หยุดหนึ่งครั้ง, พระสวดในงานศพ ใช้นะโม “หนึ่ง”
คือสวดรวดเดียวจบโดยไม่ได้หยุด (ให้ไปลองสังเกตดูเวลาร่วมพิธีกรรม)
พระเทศน์/แสดงธรรม ใช้นะโม “ห้า” ในสามรอบนั้นหยุดห้าครั้ง และ
เจริญพระพุทธมนต์เช่นทำบุญบ้านใช้นะโม “เก้า”
เป็นการยากที่จะบอกว่า ดั้งเดิมจริงๆ
ใครเป็นคนแบ่งประเภทของนะโมเหล่านี้ แต่ตอบง่ายๆตามทฤษฎีวิวัฒนาการ
คือเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ พระสงฆ์เองอาจเห็นว่าการสวดแต่ละงาน(ใช้คนละบริบท)ควรหาสัญลักษณ์ที่แสดงความแตกต่าง
หรือ มองในแง่ลบก็คือ การต้องการผูกขาดความรู้ ทำให้เกิดความซับซ้อนมากขึ้น
ทั้งที่นะโมกี่แบบก็มีความหมายเหมือนกัน และเป็นแต่เพียงสิ่งที่ใช้ประกอบพิธีกรรม
มิใช่หลักการ หรือ คำสอนทางพุทธศาสนาเลย การพัฒนาสิ่งเหล่านี้ให้ซับซ้อนขึ้น
เป็นเหตุให้ผู้ทำพิธีจำกัดวงแคบลง (เช่น พระบวชใหม่ไม่สามารถสวดนะโม “เก้า” ได้
หรือ พระที่มีความรู้ในเรื่องธรรมะ หากสวดนะโม “ห้า”
ก่อนเทศน์ไม่ได้ก็จะถูกวิจารณ์)
ทฤษฎีวิวัฒนาการยังกล่าวถึง ผู้ที่จะอยู่รอดต่อไป
คือผู้ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับเหตุการณ์ในยุคนั้นๆได้ เช่นเสือชีต้าร์ที่วิ่งเร็วเท่านั้นจึงล่าเหยื่อได้
ตัวที่วิ่งช้าจะสูญพันธุ์ไป กวางที่เป็นผู้ถุกล่าก็เช่นเดียวกัน...
เมื่อมาเทียบกับศาสนาในปัจจุบัน จะเป็นไปได้หมายว่า คนที่จะอยู่อย่างปกติสุขได้
ก็จะต้องปรับตัวเองให้เข้ากับสังคม (โดยไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรม....หรือเหมือนที่บางคนบอกว่า
อยู่ในสังคมที่เลวร้าย แต่จิตใจไม่แปดเปื้อน อิอิ ทำได้จริงหรือ?) แต่อย่างไรก็ตาม
แม้จะยึดตามทฤษฎีนี้ ก็ยังไม่หมดความหวัง
เพราะทุกอย่างไม่ได้ผูกขาดที่พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งมนุษย์จะต้องก้มหน้ารับเท่านั้น
แต่มนุษย์ยังสามารถใช้ความรู้และความพยายามในการช่วยกันให้ความรู้และเปลี่ยนแปลง....วิวัฒนาการสังคมไปในทางที่ดีได้
นั่นคือ เมื่อเหตุผล หรือความถูกต้องขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ความเข้าใจผิดหรือการเอาเปรียบกันก็จะลดน้อยลงหรือทำให้สูญพันธุ์ไปได้เช่นกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น