วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

บิณฑบาต กับ การเป็นกิ๊ก



บิณฑบาต กับ การเป็นกิ๊ก ..... อิอิ อันนี้เป็นการแสดงความรู้สึกในฐานะพระจริงๆนะครับ (ไม่ใช่พระปลอม?) ที่ผ่านประสบการณ์ด้าน การบิณฑ์มากว่า ๑๐ ปี อิอิอิ เห็นว่าเป็นเรื่องน่าบอกเล่า เพราะบางทีอาจทำให้ชาวบ้านได้รู้ถึงความสัมพันธ์ที่ตนมีต่อพระสงฆ์ทุกๆเช้าก็เป็นได้

อาตมาไม่แน่ใจว่าตัวเองเคยมีกิ๊ก หรือ เคยเป็นกิ๊กกับใครหรือไม่ (กรณีที่เคย ก็ไม่มีทางยอมรับเด็ดขาด จนกว่าสื่อมวลชนจะจับได้คาหนังคาเขา อิอิ) จึงอาจไม่เข้าใจความหมายหรือความรู้สึกที่แท้จริงของการเป็นกิ๊กผ่านประสบการทางโลก แต่ปัจจุบันมีความรู้สึกบางอย่าง ลักษณะคล้ายการตกเป็นตัวสำรอง มีความสำคัญแค่บางช่วงเวลา นั่นคือ ขณะออกบิณฑบาต และโยมไม่มีตัวจริงให้ใส่ อิอิ.....

คนทั่วไปจะนิยมใส่พระขาประจำ ที่ตนเองรู้จักและได้สนทนากันบ่อย ส่งผลให้พระใหม่ๆ (อาจมาอยู่ใหม่) ไม่มีเจ้าภาพใส่ประจำ บิณฑบาตได้บ้าง อดบ้าง ซึ่งตรงข้ามกับพระที่มีโยมรู้จักดี ท่านได้ในระดับที่เท่ากันเกือบทุกวัน ให้นึกภาพง่ายๆว่า หากท่านเดินนำหน้าเราไป โยมใส่บาตรท่านแล้วก็ขนของกลับเข้าบ้าน โดยแหล่ตาหันมามองเราแวบหนึ่งที่กำลังเดินตามหลังมา หรือถ้าเราเดินไปก่อน ก็ปล่อยให้เราผ่านไปโดยไม่รั้งรอ ไม่มีแม้แต่เสียงทักทาย ครั้งผ่านไปสักระยะ กะได้ว่าพระรูปที่โยมรู้จักคงมาถึงหน้าบ้านเขาพอดี ก็ได้ยินเสียงกล่าวขึ้นว่า.....นิมนต์เจ้าค่ะอิอิอิอิ

ถ้าเราอยู่ในบรรยากาศเช่นนี้ จะรู้ได้เลยว่า ชีวิตเราช่างไม่มีความหมายอะไรเสียเลย เราน่าจะเดินออกไปกลางถนนให้รถชนเสียก็ดีนะ....แต่อย่ากระนั้นเลย เดินต่อไปดีกว่า เราอาจมีรักแท้กับเขาบ้างสักวันหนึ่ง อิอิอิอิ (ฝันตอนเช้า?)

ที่เจ็บปวดกว่านั้น โยมที่เคยมองข้ามเราไป ทำเฉยเวลาเราผ่านหน้าบ้าน กลับให้ความสำคัญกับเรา เมื่อพระขาประจำที่ตนใส่อยู่ไม่มาบิณฑบาต อาจเป็นเพราะกลัวของจะเหลือ หรือจะเสีย เลยนิมนต์เราไปรับแทน......นี่ถ้าไม่เรียกว่าตัวสำรอง หรือ กิ๊ก แล้วจะเรียกว่าอะไรว่ะ...อุ้ย โทษที ขอลบคำว่า ว่ะ อิอิ

โยมหลายคนก็นิยมพระดังที่มีชื่อเสียง ต้องเป็นพระครู พระมหา หรือพระนักเทศน์ ถ้าพระเหล่านี้มาก็แสดงความหน้าชื่นตาบาน (ส่วนเรานี่ หน้าชื่น อกตรม อิอิ) แห่กับไปใส่บาตร กระซิกกันว่า ท่านพระครูมาแล้ว พระมหามาแล้ว..... แล้วอาตมาล่ะ???? ม..ม้า กับ ห...หีบ สลับกันใช่ใหม??(พระหมา) อาตมาไม่อยากจะโม้ว่าตัวเองเป็นใครหรอก อิอิอิ เรื่องนี้นึกถึงสมัยพุทธกาล ที่พระพุทธเจ้าบัญญัติเรื่องการอวดอุตตริมนุสธรรม (สิ่งวิเศษที่คนทั่วไปไม่มี เช่น อวดว่าตัวเองขลัง ศักดิ์สิทธิ์....หรือไม่อวดเอง ให้คนอื่นช่วยโปรโมทให้ก็ได้) ต้องขาดจากความเป็นพระ คือ อาบัติปาราชิก เหตุที่ต้องบัญญัติ เพราะไม่ให้พระใช้คุณลักษณะพิเศษของตนไปใช้เป็นเครื่องมือในการหากิน ทำให้พระธรรมดาที่กำลังปฏิบัติอยู่แต่ยังไม่สำเร็จ หรือพระอรหันต์ที่ท่านไม่มีฤทธิ์ก็ต้องอด เพราะคนจะเข้าใจว่า พระแท้ต้องขลังเท่านั้น อีกอย่าง จะทำให้คนเลือกพระในการทำบุญ พระบางกลุ่มจะอ้วนพี บางกลุ่มจะอดอยาก (ซึ่งชี้ไม่ได้ว่า ท่านที่อ้วนพีเป็นคนดี หรือที่อดอยากเป็นคนชั่ว) จึงเป็นเรื่องไม่สมควร....ถ้าดูตามวัตถุประสงค์นี้ การโปรโมทความเป็นพระครู หรือ มหา.....(โดยมีจุดประสงค์ให้คนศรัทธา) จะเป็นอาบัติปาราชิกด้วยไหมหนอ?

ไม่ใช่ทุกวันที่พระธรรมดาจะได้น้อยนะครับ อย่างน้อยวันพระ เราก็ได้จนถือไม่ไหว เพราะคนมีความเชื่อเรื่องวันศักดิ์สิทธิ์บางอย่าง.... ที่จริงอาตมาเคยพูดเรื่องที่มาและความสำคัญของวันพระไว้แล้วนะครับ....ไม่อยากพูดซ้ำให้เสียเวลา ว่างๆลองเข้าไปดูในยูทูบ แทนการดูข่าวดารา หรือเต้นท่าม้าซะบ้าง อิอิ เพราะอันนี้มีผลกับชีวิตโยม และพระที่เป็นเพื่อนมนุษย์ของโยมโดยตรง วันที่เราต้องถือหนัก ชาวบ้านก็คิดแต่จะใส่เพราะต้องการบุญ ไม่เคยคิดถึงความรู้สึกของเราเลยว่าลำบากแค่ไหน มือหนึ่งถือราวเกือบ ๑๐ กิโล นิ้วอาตมายาวขึ้นทุกวัน อิอิ จะบอกปฏิเสธก็ไม่ได้ เพราะโยมใส่ตังค์ด้วย อิอิอิ พูดเล่นครับ เพราะถ้าจะปฏิเสธ ก็จะต้องมีพระรูปอื่นที่โยมพอจะใส่แทนได้ ไหนๆอุตส่าห์ขับรถมาจากบ้าน ที่จริงก็ปฏิเสธได้อยู่นะ ถ้าโยมเข้าใจเรื่องการทำบุญ ว่ามีหลายแบบ โยมยังเลือกทำบุญอย่างอื่นได้ หรือ ทำวันอื่น (ที่เราอดอยาก) ได้ .... แต่นี่ เราไม่เคยได้ตกลง ทำความเข้าใจ และให้ความรู้เรื่องนี้กัน พระที่เทศน์สอนโยม ก็พูดเรื่องอะไรไม่รู้ จะเอาแต่เงิน อิอิ(อย่าไปบอกพระนะ) มองข้ามเรื่องการใช้ชีวิตขั้นพื้นฐานไปหมดฯ เกิดพูดปฏิเสธไปตรงๆ โยมอาจโกรธ เลิกใส่บาตรไปตลอดชีวิตเพราะหาว่าพระเรื่องมาก แล้วคนที่อดก็คือ อาตมาอีกนี่แหละ เพราะพระท่านอื่นเขามีโยมขาประจำ อิอิอิอิ ยิ่งพูดยิ่งเจ็บใจ

การถวายสังฆทาน เป็นการให้ชาวพุทธรู้จักแบ่งปันสิ่งของที่ตนมี แก่ผู้ที่ขาด หนึ่งในนั้นคือพระ เนื่องจากท่านไม่ได้ประกอบอาชีพอย่างอื่น เป็นผู้ไม่มีเรือน หมายถึงไม่ต้องมารับผิดชอบเรื่องแบบชาวบ้าน เช่น ทำไร่ ไถนา หรือ กระทั่งหุงข้าว ท่านจึงมีเวลาในการศึกษา ปฏิบัติ และสั่งสอนธรรมะมากกว่าคนปกติ เพราะเราเล็งเห็นคุณค่าอันนี้ เลยแบ่งปันอาหารเป็นต้นให้(เพื่อท่านจะได้ไม่มาเสีเวลาเหมือนเรา) ฉะนั้น การถวายทาน จึงต้องตระหนักเสมอว่า เพื่อช่วยให้ท่านทำกิจทั้ง ๓ อย่างนั้นง่ายขึ้น แต่ปัจจุบัน เราไม่เข้าใจเป้าหมายนี้ ถวายน้อยเกินไป หรือมากเกินไป จนบางครั้งทำให้ท่านไม่มีเวลาในการทำกิจส่วนตัว ต้องเอาเวลามาสนองความต้องการของชาวบ้าน เพียงเพราะความเชื่อบางอย่างที่งมงาย หมอดูบอกมา รู้สึกว่าดวงไม่ดี พระจึงต้องนั่งรับสังฆทาน สะเดาะเคราะห์ให้โยมจนไม่มีเวลาทำกิจของศาสนาคือการพัฒนาตนเองที่แท้จริงได้ (แต่พระหลายรูปก็เต็มใจทำนะ อิอิ....)

อาตมาขอบอกตามจริงเลย...และโยมควรจำไว้ให้ดี เพราะอาจไม่มีใครบอกโยมอีก....อิอิ นั่นคือ การทำบุญที่มาเพราะหวังอยากได้บางอย่างตอบแทน เช่น ความโชคดี หรือ ทำเพราะความกลัว (ชะตาจะขาด รีบต่ออายุ) แม้กระทั่งเลือกทำกับคนที่ตนรักจนมองไม่เห็นคนอื่น สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นบุญในทางพุทธศาสนาเลย เพราะถ้าจะทำอย่างนั้น ศาสนาไหนก็สอนได้ แต่บุญของพุทธศาสนา ต้องทำเพื่อชำระกิเลส อย่างน้อยที่สุดคือ ความโลภ เราทำเพราะอยากให้คนอื่นได้มีกินมีใช้ ไม่ใช่ทำเพื่อแลกกับโชคชะตาตัวเอง ใช้คนอื่นเป็นเครื่องมือในการสำเร็จความใคร่ในการทำบุญของตัวเอง ใครจะเป็นอย่างไรฉันไม่สน แค่ให้ฉันได้ทำบุญก็เป็นพอ การทำอย่างนี้อย่าว่าจะเกิดบุญเลย แม้ความเสียสละก็ไม่มี....ส่วนเรื่องประโยชน์ก็ได้อยู่แล้ว นั่นคือ คนที่รับทาน ก็ได้ใช้สอย หรือ เอาไปขายต่อได้ อิอิอิ

ถ้าเราศึกษาทางจริยศาสตร์ มีนักปรัชาคนหนึ่งชื่อ Immanuel Kant ซึ่งการอธิบายของแกสอดคล้องกับพุทธศาสนามาก นั่นคือ เราต้องทำความดี เพราะเห็นว่ามันเป็นความดี (หรือหน้าที่) ไม่ใช่ทำเพราะแลกกับอะไรบางอย่าง ถ้าเราทำอย่างนั้น ก็เท่ากับเราใช้คนหรือวัตถุนั้นเป็นเครื่องมือให้สมประสงค์ของเรา และนั่นจึงไม่ได้มาจากเจตนาที่บริสุทธิ์ (Pure reason) เช่น เราปล่อยปลา เพราะเรากลัวตาย กลัวเจ้ากรรมนายเวร เราไม่ได้สงสารชีวิตปลานั้นจริงๆ Kant มองว่า การกระทำเช่นนั้นเป็นสิ่งไม่มีความหมาย(ในแง่จริยธรรม) ทางพุทธศาสนาก็ถือว่าไม่ได้เป็นบุญ เพราะเราไม่ได้ชำระกิเลส แต่ทำเพื่อส่งเสริมกิเลส (ต่อให้การกระทำนั้นดีก็ตาม...ซึ่งความดี เป็นเรื่องของประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอีกต่อหนึ่ง)

คำถามจึงมีอยู่นิดเดียวว่า...ฐานะที่เราเป็นมนุษย์ เราไม่สามารถทำความดีด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ได้เลยหรือ ไฉนต้องเอาเรื่องอื่น ความเชื่ออื่น มาบีบให้เราต้องทำความดีอยู่เสมอ...???

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้มีเจตนาที่จะให้โยมมาช่วยใส่บาตรอาตมานะครับ อิอิ เพียงแต่อนาคตหากเป็นได้ ก่อนทำบุญ ลองสังเกตดูพระสักนิดหนึ่ง ว่าท่านมีมากหรือยัง? มีใครที่เราควรช่วยเหลืออีกบ้าง ? ทุกวันมีความสำคัญต่อปากท้องของพระหมด ไม่เฉพาะวันพระเท่านั้น เราควรช่วยกันทำในวันอื่นบ้าง (เพราะบุญอยู่ที่มีเจตนาบริสุทธิ์หรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่วัน) และความจริง การทำบุญมีหลายแบบ ฐานะที่เป็นชาวพุทธ เราลองหันไปหาบุญแบบอื่นบ้างดูสิครับ เช่น ทราบว่าวันนี้เป็นวันพระ อย่างไรเสียพระก็มีอาหารมากพอแล้ว แทนที่จะไปถวายอีก เราก็อาบน้ำให้สบาย นั่งสมาธิสักครึ่งชั่วโมงเพื่อตามรู้อารมณ์ ความคิดตัวเอง จะเป็นประโยชน์กว่าหรือไม่? หรือเอาพระไตรปิฎกมาอ่าน รู้จักตั้งคำถาม หาแนวทางประยุตก์ใช้ในชีวิตจริง จะทำให้ชีวิตเราดีงามกว่าการขับมอเตอร์ไซด์ใส่บาตรวันพระหรือไม่? ชาวพุทธคือ คนที่ดำเนินชีวิตด้วยความรู้นะครับ ไม่ใช่ความเชื่อหรือประเพณี..... หรือให้ง่ายที่สุด ลองเอาศีลมาทบทวน ไม่เบียดเบียนผู้อื่นฯ มีความเมตตา ช่วยเหลือกัน เอาอันนี้มาทำ ดีกว่าจะรอไปทำบุญ แต่ชีวิตประจำวันคลุกอยู่กับการเบียนเบียน ฉ้อโกง โกหก นินทาฯลฯ

ถ้าทำเช่นนี้ได้ เราจะไม่เห็นภาพพระรูปหนึ่งถือของจนล้นมือ อีกรูปไม่ได้อะไรเลย....การเป็นกิ๊กที่โยมเห็นความสำคัญของอาตมาต่อเมื่อไม่มีพระท่านอื่นสนองความต้องการของโยมก็จะหมดไป...ด้วความปรารถนาดีจาก....พระ ที่ไม่อยากเป็นกิ๊ก อิอิอิอิ

การศึกษาพระไตรปิฎก กับ การคิดเชิงวิพากษ์



การศึกษาพระไตรปิฎก กับ การคิดเชิงวิพากษ์.......เรื่องนี้อาจทราบดีกันอยู่แล้วนะครับ เพียงแต่อยากนำมาแบ่ง สามารถแสดงความไม่เห็นด้วยครับ เพราะบางทีผมอาจนำเสนอผิด อิอิ

วิชาการ...ไม่ใช่การอ้างอิงหนังสือ หรือพูดให้คนอื่นฟังไม่รู้เรื่องนะครับ แต่เป็นการนำเสนอข้อมูลที่ฉลาด มีเหตุมีผล ทำให้ผู้ฟังสามารถเลือกที่จะเชื่อหรือรับเอาสิ่งที่มีเหตุผลและตรงกับจริตของตัวเองได้ การศึกษาในแง่วิชาการ(ที่เป็นวิชาการจริงๆ ไม่ใช่ของปลอมที่อยู่ในเมืองไทยนะครับ)มีลักษณะการคิดในเชิงวิพากษ์    ปัจจุบันมหาวิทยาลัย(ที่อาจไม่ใช่มหาวิทยาลัยสงฆ์หรือโรงเรียนสอนศาสนาอื่นๆ)นำมาใช้อย่างแพร่หลาย ที่เห็นชัดคือ สาขา ปรัชญา หรือ การเมือง... ที่ไม่สอนให้คนเชื่อ แต่เสนอแนวทางให้คนเลือกสิ่งที่มีสาระมากที่สุด โดยใช้วิจารณาญาณของตัวเอง เช่นการเมือง..... ก็ไม่สอนว่า ประชาธิปไตยดีที่สุด เพราะอำนาจอยู่กับประชาชน ไม่มีผู้อยู่เหนือกฎหมาย อย่างอื่นเลว ..... คอมมิวนิสต์ดีที่สุด ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ช่วยกันทำงาน อย่างอื่นเลว เพราะทำให้คนเอาเปรียบกัน เห็นแก่ตัว เป็นต้น

การศึกษาเชิงวิพากษ์ ที่มุ่งให้ผู้เรียนเติบโตทางความคิด จะไม่ป้อนข้อมูลด้านเดียว หรือ สอนให้เชื่อโดยศิโรราบ (ใครไม่เชื่อก็กลายเป็นคนไม่ดี หรือผิดตลอดกาลฯ) เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาสนาหลายศาสนาเมื่อถูกสอนในแง่เชิงวิพากษ์จึงมีการสั่นครอน เพราะเน้นแต่ศรัทธาอย่างเดียว มุ่งให้เชื่อในสิ่งที่คนมองไม่เห็น

 เรื่องนี้ในอดีตไม่เคยมีปัญหากับพุทธศาสนา ที่ธรรมะเป็นประเภท...สันทิฏฐิโก” (Understandable) คนสามารถเข้าใจได้โดยไม่ต้องฝากความเชื่อไว้กับสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น พลัดพรากจากของรักของชอบใจก็เป็นทุกข์ มีความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ฯลฯ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ฟังแล้วสามารถเข้าใจได้เลย โดยไม่ต้องใช้ความเชื่อในตัวศาสดาหรือพระเจ้ามากำหนด พุทธศาสนาที่เป็นสัจธรรมความจริงจึงไปกันได้กับการตรวจสอบเหตุผลในการศึกษาเชิงวิพากษ์

วิธีการง่ายๆในการเรียนเชิงวิพากษ์...(อาจประยุกต์ใช้กับการศึกษาพระไตรปิฎก หรือ ชมรม พระไตรปิฎกศึกษาของเราได้???) เขาจะไม่เพียงแต่นำเสนอข้อมูลที่ก็อบมาจากนั่น จากนี่เท่านั้น เพราะการก็อบข้อมูลมาวาง อาจมีประโยชน์ที่ทำให้คนได้รับรู้ แต่ไม่เป็นไปในทางให้เกิดปัญญา (เรื่องนี้อาจไม่เสมอไปนะครับ เพราะบางคนต่อให้นำเสนอเฉยๆ ก็มีช่องว่างที่เปิดโอกาสให้คนได้คิดตามได้) แต่การนำเสนอต้องประกอบด้วย

๑. บทความ ที่มา หรือ พระสูตร..... อาจเป็นทั้งหมด หรือตัดมาเฉพาะที่ต้องการนำเสนอให้พอเข้าใจได้
๒. ต้องถามตัวเอง...โดยการอธิบายว่า ตนเองเห็นด้วยกับบทความหรือ พระสูตรนั้นหรือไม่อย่างไร มีความถูกต้อง สมเหตุสมผลหรือไม่? เรื่องนี้ก็อย่ายกให้เป็นเรื่องของพระอรหันต์เท่านั้น ปุถุชนอย่างเราไม่สามารถเข้าใจได้ เพราะถ้าเป็นเช่นนี้ เราก็ไม่ต้องศึกษาอะไรเลย ได้แต่ฟังแล้วเชื่อฯลฯ อย่างที่ยกไปแล้วข้างต้นว่า ธรรมะที่มีเหตุมีผล จะมีความชัดเจนอยู่ในตัว ขอแค่เราเป็นคนมีเหตุมีผลหน่อย ไม่เชื่ออะไรงมงาย(รวมถึงพระพุทธเจ้า) เราก็จะเห็นว่า สิ่งนั้นถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ถ้าเราไม่สามารถสรุปได้ว่า สิ่งนี้ถูกหรือผิด เราเห็นด้วยหรือไม่ แค่นำมาวาง...การศึกษาก็ไม่มีความหมายเลยในทางปัญญา นอกจากจะทำให้เราศรัทธามากขึ้นเท่านั้นเอง

เมื่อก่อนฝรั่งเขาอ่านกาลามสูตร แล้วรู้สึกทึ่งกับหลักคำสอนของพุทธศาสนา ที่เน้นไปที่ตัวความจริงเลย ไม่ให้มามัวยึดคน หรือเชื่อศาสดาตนเองอยู่(เพราะการยึดคน จะทำให้เราเชื่อแบบสุดใจ และมองคนอื่นผิดไปหมด....) ศาสนาพุทธจึงเป็นศาสนาที่เน้นเรื่องศักยภาพคนจริงๆ ทุกคนสามารถพัฒนาตนเองให้ประเสริฐได้ (ไม่เหมือนกับศาสนาอื่นที่เป็นแต่สิ่งที่พระเจ้ากำหนด เดินตามทางที่พระเจ้าชี้นำ มนุษย์ไม่สามารถมีปัญญาหรือพัฒนาถึงขั้นสูงได้) และสมัยที่กระผมเรียนป.ตรี กับอาจารย์ฝรั่ง(ซึ่งสอนด้วยวิธีความคิดเชิงวิพากษ์) ทำให้รู้สึกว่า พุทธศาสนาเป็นสิ่งน่าสนใจ แม้อาจารย์เองก็สนใจ เพราะเรากันสอนด้วยเหตุผล ให้ฝึกตั้งคำถาม อันนี้คุณเชื่อหรือไม่ ฯ

 แต่พอออกมาจากมหาวิทยาลัย(ย้ำว่า ไม่ใช่มหาวิทยาลัยสงฆ์ อิอิ) เจอคนหลายกลุ่ม  กลับรู้สึกว่าสิ่งที่ได้เรียนมานำมาใช้ไม่ได้เลย กลุ่มหนึ่งมีความเชื่องมงาย พระจะหลอกให้ทำอะไรก็ทำ เสียเงินเท่าไหร่ก็ยอม โดยไม่เคยตั้งคำถามว่า ที่ทำไปมีความถูกต้องสมเหตุสมผลหรือไม่....(คงเป็นเพราะไม่ได้เรียน การคิดเชิงวิพากษ์มา อิอิ)

อีกกลุ่มมีความซับซ้อนขึ้นมาก เลิกเชื่อแบบไม่มีเป้าหมาย ใครพูดอะไร ทำอะไรก็ไม่เชื่ออีกแล้ว ขอเชื่อพระพุทธเจ้าเพียงคนเดียวเท่านั้น กระผมไม่ได้มีปัญหาอะไรกับกลุ่มนี้นะครับ (เพราะที่เขาทำอาจถูก และที่ผมกำลังพูด อาจผิด...เพราะไม่เป็นพุทธวจนะ อิอิ) ถ้าเทียบกับกลุ่มแรก กลุ่มนี้ถือว่าดีกว่ามาก อย่างน้อยก็ไม่ต้องไปเสียเวลากับเรื่องไร้สาระ ประกอบพิธีกรรมงมงาย ไม่ตกเป็นเหยื่อโจรโพกผ้าเหลือง อิอิ แต่ที่รู้สึกกลัวคือ หลายคนพัฒนาไปจนถึงขั้น ไม่ยอมพิจารณาคำพูดใครอีกแล้ว หากสิ่งนั้นไม่ใช่พุทธพจน์ ใครจะอธิบายธรรมะให้ง่ายอย่างไรก็รับไม่ได้(ถือเป็นการบิดเบือนคำสอนของพระพุทธเจ้า) หรือกระทั่ง กาลามสูตร ที่ไม่สอนให้เชื่อเพียงเพราะผู้พูดเป็นครูเรา แต่ให้ดูความเป็นจริง มีประโยชน์หรือไม่.....ก็ตีความเป็นว่า พระพุทธเจ้าให้เชื่อท่านคนเดียวเท่านั้น ห้ามไม่ให้เชื่อคนอื่น คำว่าครู ในพระสูตรนี้ หมายถึงครูทั้ง ๖ (สมัยพุทธกาล) หรือใครก็ตามที่ไม่ใช่พระพุทธเจ้า... (ซึ่งสิ่งที่กระผมจะพูดต่อไปนี้อาจผิดก็ได้นะครับ....นั่นคือ หากพระพุทธเจ้าสอนให้พวกเราเชื่อท่านแบบสนิทใจ  แล้วปฏิเสธทุกคนที่ไม่ใช่ท่าน กระผมมองว่า นี่ไม่ใช่การสอนแบบนักปราชญ์ผู้มีปัญญา หรือ ธรรมะจะมีความเป็นจริงเลย เมื่อกล้าพูดให้เราไม่เชื่อคนอื่น ไฉนจึงไม่รวมตัวเองเข้าไปด้วย ให้เราพิสูจน์....ความจริงก็ไม่เชิงพิสูจน์ แต่ให้ปฏิเสธไปเลย ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งใจฟังด้วยดี ไม่แม่แต่จะตั้งใจเพื่อศึกษา.....) ที่ยกอันนี้มา เพียงเพื่อชี้ให้เห็นว่า...สิ่งที่ได้รับรู้มาถึงหลักการของพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัย และเรื่องที่ฝรั่งสนใจพุทธศาสนาเพราะกาลามสูตร กลับใช้ไม่ได้กับคนกลุ่มนี้ เพราะตีความกาลามสูตรต่างกัน สิ่งที่คนกลุ่มนี้ทำคือ ทำให้พุทธศาสนากลายเป็นศาสนาที่เน้นความเชื่อในตัวศาสดาและตัวพระคัมภีร์ ไม่ต่างจากศาสนาอื่น ... ส่วนเหตุผล ความเหมาะสม เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาภายหลัง หรือต้องทิ้งไปหากไม่ตรงกับพุทธพจน์ฯ อย่างไรก็ตาม อันนี้เป็นเพียงบางส่วน พระไตรปิฎกอีกหลาที่ก็ยังย้ำถึงหลักการของพุทธศาสนาได้ชัดเจนครับ

ความจริง สิ่งที่เราน่าจะร่วมกันพิจารณาอีกครั้งคือ การศึกษาในพุทธศาสนาคืออะไรกันแน่?  การศึกษาพระไตรปิฎก ต่างกับการศึกษาทั่วไปอย่างไร? เราสามารถนำการคิดเชิงวิพากษ์มาใช้กับพุทธศาสนาได้หรือไม่? หรือ เราต้องใช้ศรัทธามากำหนด ไม่รับสิ่งที่ไม่ใช่พุทธพจน์?

กรณีที่เราเห็นว่า การศึกษาควรต้องมีการเปิดใจ รับฟังเพื่อพิจารณาหาความจริง ) ไม่รีบรับ ไม่รีบปฏิเสธ ไม่ว่าคำพูดนั้นเป็นของใคร อะไรก็ตามจะรับก็ต้องมีความสมเหตุสมผล การศึกษาประเภทนี้ก็จะทำให้เราเติบโตทางปัญญา(อันเป็นจินตามยปัญญาในเบื้องต้น และเมื่อปฏิบัติจนเกิดผลก็กลายเป็นภาวนามยปัญญา)



หรือหากเราเห็นว่า การศึกษาที่มีการถกเถียงกัน แสดงเหตุผลกันเป็นเรื่องเสียเวลาในการปฏิบัติ เราควรนำพุทธวจนะมาเผยแพร่ และเน้นให้เชื่อพุทธวจนะไปเลย จะได้ไม่ยุ่งยาก เพราะอย่างไรเสีย การเชื่อพระพุทธเจ้าก็มีแต่ดีโดยส่วนเดียว ไม่มีเลวเลยการศึกษาของพุทธศาสนาก็เปลี่ยนวิธีการเสียใหม่ โดยไม่ต้องยอมรับแนวการสอนแบบตะวันตกให้คนคิดตั้งคำถาม (เพราะคัมภีร์ของเราจริงอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์) นำเสนอสิ่งที่มีในพระไตรปิฎก เชื่อ และนำไปปฏิบัติ หากมีการถกเถียง ก็ต้องอ้างเฉพาะสิ่งที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกเท่านั้น (ไม่รับเหตุผลอย่างอื่น เพราะปุถุชนสามารถผิดพลาดได้ ไม่เหมือนสัพพัญญู) ซึ่งการศึกษาโดยการมุ่งให้เชื่อพระคัมภีร์ มีข้อดีง่ายๆคือ ทำให้คนมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะหากมีข้อขัดแย้งก็กลับไปหาพระคัมภีร์ และเมื่อนำไปปฏิบัติ...ที่สุดก็อาจเข้าถึงภาวนามยปัญญาได้ฯ

ข้อเสนอใหม่เรื่อง....หรีดงานศพ



หรีดงานศพ...เห็นชื่อเรื่องแล้วลองอ่านก่อนนะครับ อย่ากลัวผีจนรีบปิดไป อิอิ เรื่องมีอยู่ว่า วันนี้ไปกวาดขยะที่ลานวัด (เฉพาะวันนี้??) ได้รับประสบการณ์ใหม่และความคิดใหม่อยากนำมาแบ่งครับ...รับรอง ไม่เกี่ยวกับเรื่องโดนผีหลอกแน่ๆ อิอิ

๒ สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ชักชวนพระใหม่รูปหนึ่งที่กำลังกวาดขยะอยู่ เข็นรถไปโกยขยะที่ข้างเมรุเผาศพด้วยกัน (รับรอง...ไม่ใช่เรื่องผี และไม่ใช่เรื่องคู่เกย์ด้วย อิอิ) ปรากฎว่า เฉพาะพวงหรีดที่โยมนำมาทิ้งไว้ข้างเมรุวันเผาศพซึ่งเป็นทั้งแบบดอกไม้สด แห้ง บรรดาโอเอซิสปักดอกไม้ และดอกไม้กระดาษ ต้องขนทิ้งกัน ๒ รอบ (ด้วยรถเข็นใหญ่) ... ที่เล่าเรื่องนี้ให้ฟังไม่ใช่เพราะโกรธ หรือ เกลียดโยมที่ทิ้งขยะไว้ให้พวกเราเก็บหรอกครับ ไม่เคยคิดโกรธโยมเลย ต่อให้ไม่มีความรับผิดชอบ เหมือนเด็กที่ยังไม่โต ทิ้งขยะไม่เป็นที่สักแค่ไหนฯลฯลฯลฯ อิอิ เพียงแต่เห็นว่า เราเอาเงินมาทิ้งกับขยะโดยเปล่าประโยชน์....

ให้ทายแบบไม่ต้องไปเปิดพจนานุกรม...คิดว่า ความหมายและเป้าหมายของ “พวงหรีด” น่าจะอยู่ตรง การนำของบางอย่างไปให้เป็นลักษณะกำนัล หรือ เพื่อปลอบใจแก่ญาติผู้ตาย อันนี้เป็นเป้าหมายที่แท้จริง ซึ่งถ้ายึดเอาวัตถุประสงค์นี้ เราจะเอาอะไรที่คิดว่า มีค่าไปก็ได้ เช่น อาจเป็นชุดแก้วกาแฟพร้อมจานรอง หรือชุดเรื่องนอนสวยๆ เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศในการพักผ่อน(ลืมเศร้าโสก ที่เป็นบรรยากาศเก่า เนื่องจากเห็นผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่มอันเก่าแล้วทำให้นึกถึงคนที่เคยนอนข้างๆ อิอิ.....ระวังเขาจะมานอนจริงๆนะ อิอิอิ) ส่วนเป้าหมายของหรีดอีกอย่าง...สันนิษฐานว่า มีคนบางกลุ่ม ที่อยากสร้างชื่อเสียง (ว่าตัวเองมีคุณธรรม) ไปด้วยกับการให้ของบางอย่าง จึงต้องเขียนชื่อตนกำกับไว้ด้วย และดูเหมือนเจ้าภาพก็ชอบ เพราะสะท้อนให้เห็นถึงการมีเพื่อนฝูงที่เพียบพร้อมด้วยยศศักดิ์มาร่วมแสดงความเห็นใจด้วย....(เหตุที่ไม่ยอมไปเปิด พจนานุกรม เพราะ ๑. เราอยู่ในสังคมจริง เข้าใจความรู้สึกของคนภายใน ทั้งผู้ให้และผู้รับ จึงน่าจะเอาสิ่งนี่มาอ้างได้เลยโดยไม่ต้องไปหาคำตอบจากที่อื่นอีก ๒. เพราะกลัวคำนิยามของตัวเองจะผิด อิอิอิ)

งานศพปัจจุบัน....เฉพาะค่าดอกไม้อย่างเดียว  ที่ตกแต่งรอบหีบศพ (รวมทั้งหรีดที่นิยมจัดเป็นพวงดอกไม้แห้ง และสดกันมากขึ้น) ต้องใช้เงินเยอะมาก ทราบมาว่าราว ๕,๐๐๐ ถึง ๑๐,๐๐๐ บาท ส่วนงานที่พิเศษหน่อยเช่นพระราชทานเพลิงฯ หรือเป็นบุคคลสำคัญ อาจใช้ราว ๓๐,๐๐๐ ถึง ๕๐,๐๐๐ บาท แต่สุดท้าย ถ้าเป็นดอกไม้แห้ง เจ้าของก็มาเก็บกลับไป....เป็นดอกไม้สด ก็นำไปทิ้งโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ต่อ (ที่อาตมากับเพื่อนต้องขนไปทิ้งนั่นแหละครับ อิอิ)

จึงอยากให้เรามาร่วมคิดกันใหม่ครับ และรับรองว่า  ไม่ใช่แค่อุดมคติ แต่เป็นความจริงที่ครั้งหนึ่งมีงานหนึ่งทำได้แล้ว....(ขอไม่ระบุชื่อ เพราะคนเสื้อแดงอาจไม่ชอบ เป็นงานศพแม่ของอดีตนายก......ตรัง อิอิอิ) อาตมาเองไม่ได้ไปร่วมงานด้วย และไม่ทราบว่า การจัดดอกไม้รอบหีบศพเป็นอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เล่ากล้ายืนยันกับอาตมาคือ พวกหรีดในงานนี้..ออกมาในรูปต้นไม้ใส่ถุง ที่พร้อมจะนำไปปลูกได้แค่ฉีกถุงดำออก...อิอิอิ ผู้คนนำมาแทนหรีด มีจำนวนมากมาย ขณะวางอยู่ในงาน ก็เป็นเหมือนดอกไม้ประดับไปในตัว เสร็จงานแล้ว ก็ถวายพระตามวัดเพื่อนำไปปลูกต่อได้.....นี่แหละ นักอนุรักษ์นิยม..อุ้ย! อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตัวจริง อิอิ (แต่ต่อให้เพื่อนที่เล่าโกหกอาตมา...เราก็ยังสามารถทำเรื่องนี้ให้เป็นจริงได้อยู่ดี)

วิธีการง่ายมากๆ นั่นคือ กรณีที่เราเป็นเจ้าภาพงานศพเอง (ไม่ใช่เป็นศพนะ อิอิ) เมื่อญาติเสีย แทนที่จะติดต่อสั่งดอกไม้สด หรือ แห้งมาตกแต่งด้วยราคาที่แพง (หรือต่อให้ไม่แพงมาก แต่ลองเปรียบเทียบกับสิ่งที่กำลังจะกล่าวต่อไปดู) เปลี่ยนเป็น ไปซื้อต้นไม้จากร้านข้างถนน อาจกล้วยไม้ก็ได้ ๓ ต้น ๑๐๐ บาท (โดยเฉลี่ยเมื่อสามารถต่อรอง หรือ ลดบ้างแล้ว) เราอาจได้กล้วยไม้ราว ๑๐๐ ต้น ในราคา ๓,๐๐๐ บาท แค่นี้ก็ถมหีบศพได้แล้วครับ อิอิ หรืออาจตั้งงบไว้ที่ราว ๕,๐๐๐ เราก็สามารถซื้อไม้ประดับอย่างอื่นเพิ่มได้ เช่น โมกข์ แก้ว มะลิ สัปรดสี มาเสริมได้ เพียงเท่านี้ เราก็จะได้งานจัดแสดงหีบศพที่งดงาม เป็นธรรมชาติ(ที่จริงอาตมาไม่ได้ส่งเสริมนะ ไม่ต้องตกแต่งอะไรเลยก็ดี แต่เห็นโยมชอบกันจัง เลยเสนอแนวทางใหม่) เสร็จงาน ก็ช่วยกันหาที่แขวนกล้วยไม้ ช่วยกันปลูกโมกข์ฯลฯ น่าจะเป็นนันทนาการที่ไม่เลวนะครับ อิอิ หรือหากโยมกลัวผีเอามากๆ คิดว่า ต้นไม้นั้นจัดตกแต่งในงานศพ น่าจะมีผีสิงอยู่แน่ ก็เอามาถวายพระ หรือทิ้งไว้ตามข้างเมรุนั่นแหละครับ อาตมาจะชวนพระใหม่ไปเก็บด้วยความเต็มใจเอง อิอิ

ส่วนญาติห่างๆ หรือคนรู้จักที่ชอบซื้อหรีด ไปงานคนอื่น แทนที่จะจ่ายเงินราว ๓๐๐-๕๐๐ บาท กับหรีดที่ต้องทิ้งในวันเผา ก็เปลี่ยนเป็นต้นไม้ที่จะนำไปปลูกต่อได้ เช่น ถือโมกข์ไปวางโชว์แทน รับรองไม่น่าเกลียด และไม่คิดว่า เจ้าภาพจะไม่ยินดีหรอก......หากเราชอบโชว์ตัวเองเหมือนที่กล่าวข้างบน ก็อาจเขียนชื่อใส่กระดาษเล็กๆหนีบกับกิ่งไปก็ได้ (นึกภาพตอนเราไปเลือกซื้อต้นไม้ จะมีป้ายเล็กๆบอกชื่อ/ประเภทต้นไม้นั้นไว้ เราก็แค่บอกให้เจ้าของร้านต้นไม้เปลี่ยนเป็นชื่อเราแทน อิอิ....ดูน่ารักมากนะ....แต่จะมีปัญหาหน่อย ถ้าเราชื่อ นางจำปี นายสนฯลฯ อิอิ)  ๓๐๐ บาท ได้โมกข์ต้นใหญ่ หรือ ๕๐๐ ก็จะได้หูกระจงเล็กๆ ซึ่งเหมาะแก่การนำไปประดับมาก ๑,๐๐๐ บาทก็ได้ไม้ใหญ่ แม้กระทั่ง ๒๐ บาท ก็ได้พวกผลไม้กินได้ เช่น ต้นมังคุดมะม่วง ทุเรียน ลองกอง เงาะ....ถ้าเจ้าภาพเพิ่งปลูกยางพาราใหม่ ก็อาจเอายางพาราไปเสริมก็ได้ เพราะจะมีบางต้นที่ปลูกแล้ว ตายอยู่เรื่อยๆ โยมฟังแล้วอย่าหัวเราะนะ อาตมาเป็นพระเลยไม่มีโอกาสได้ทำอย่างนี้ แต่ถ้าเป็นฆราวาส สาบานว่าจะทำจริงๆ และหากเป็นเจ้าภาพ (ไม่ตายก่อนญาติพี่น้อง) ก็จะยินดีมากหากเห็นคนทำเช่นนี้กับตนฯ ถ้าทุกคนช่วยกันทำอย่างนี้แทนการนำพวงหรีดไป บริเวณเต้นท์ก็ไม่ต้องผูกผ้าระบายขาวดำ (ใช้เงินเยอะอีกเช่นเคย) แต่วางต้นไม้ที่ญาติๆ หรือเพื่อนร่วมงานที่นำไปมอบนี่แหละ อาจจัดเป็นสวนหย่อมเล็กๆได้ หรือวางตรงเสาเต้นท์ให้ความร่มรื่น เบิกบานตาได้ครับ...

เสร็จงานแล้ว หากเจ้าภาพเห็นว่ามากเกินไป ก็สามารถแจกจ่ายแก่เพื่อนบ้านรอบข้าง ถวายวัด โรงเรียน หรือ สถานที่สาธารณะ เมื่อเป็นเช่นนี้ บ้านไหนที่ผ่านการจัดงานศพมา จะมีไม้ประดับเต็มบ้าน (ซึ่งเมื่อก่อนส่วนใหญ่มีแต่บ้านคนรวย...ถือเป็นการลดชนชั้นเชิงรัฐศาสตร์ได้ด้วย อิอิ) มีต้นไม้สวยงามรอบบ้าน ช่วยเปลี่ยนให้อารามณ์สดใสขึ้น หรือหากต้นไม้ที่คนนำมาเป็นพวกไม้ใหญ่ เช่น ขี้เหล็ก จามจุรี สัก ยางนาฯลฯ อนาคต บ้านเมืองเราจะเต็มไปด้วยต้นไม้ครับ เป็นการปลูกป่าโดยไม่ได้คาดฝันจากการจัดงานศพ อิอิอิ และคิดว่า นี่เป็นสิ่งที่ควรทำ และเราต้องลงมือทำกันแต่วันนี้ครับ อย่าไปอายใครกับการนำต้นไม้ไปมอบแทนหรีด....คนที่มีความรู้ ครู อาจารย์ สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีได้ (เพราะคนมีความรู้ทำอะไรก็ไม่น่าเกลียด อิอิ...รวมทั้งคนรวยด้วย) หลายคนทำเข้าก็จะกลายเป็นธรรมเนียมใหม่ที่ดีงามของเราครับ...อ่อ คนที่อ่านอันนี้แล้ว ยังจะเที่ยวไปสั่งดอกไม้สด/แห้งเป็นพวงหรีดอยู่อีก โปรดช่วยนึกภาพ อาตมากับพระใหม่ กำลังขนขยะโยมไปทิ้งนะครับ