วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

บิณฑบาต กับ การเป็นกิ๊ก



บิณฑบาต กับ การเป็นกิ๊ก ..... อิอิ อันนี้เป็นการแสดงความรู้สึกในฐานะพระจริงๆนะครับ (ไม่ใช่พระปลอม?) ที่ผ่านประสบการณ์ด้าน การบิณฑ์มากว่า ๑๐ ปี อิอิอิ เห็นว่าเป็นเรื่องน่าบอกเล่า เพราะบางทีอาจทำให้ชาวบ้านได้รู้ถึงความสัมพันธ์ที่ตนมีต่อพระสงฆ์ทุกๆเช้าก็เป็นได้

อาตมาไม่แน่ใจว่าตัวเองเคยมีกิ๊ก หรือ เคยเป็นกิ๊กกับใครหรือไม่ (กรณีที่เคย ก็ไม่มีทางยอมรับเด็ดขาด จนกว่าสื่อมวลชนจะจับได้คาหนังคาเขา อิอิ) จึงอาจไม่เข้าใจความหมายหรือความรู้สึกที่แท้จริงของการเป็นกิ๊กผ่านประสบการทางโลก แต่ปัจจุบันมีความรู้สึกบางอย่าง ลักษณะคล้ายการตกเป็นตัวสำรอง มีความสำคัญแค่บางช่วงเวลา นั่นคือ ขณะออกบิณฑบาต และโยมไม่มีตัวจริงให้ใส่ อิอิ.....

คนทั่วไปจะนิยมใส่พระขาประจำ ที่ตนเองรู้จักและได้สนทนากันบ่อย ส่งผลให้พระใหม่ๆ (อาจมาอยู่ใหม่) ไม่มีเจ้าภาพใส่ประจำ บิณฑบาตได้บ้าง อดบ้าง ซึ่งตรงข้ามกับพระที่มีโยมรู้จักดี ท่านได้ในระดับที่เท่ากันเกือบทุกวัน ให้นึกภาพง่ายๆว่า หากท่านเดินนำหน้าเราไป โยมใส่บาตรท่านแล้วก็ขนของกลับเข้าบ้าน โดยแหล่ตาหันมามองเราแวบหนึ่งที่กำลังเดินตามหลังมา หรือถ้าเราเดินไปก่อน ก็ปล่อยให้เราผ่านไปโดยไม่รั้งรอ ไม่มีแม้แต่เสียงทักทาย ครั้งผ่านไปสักระยะ กะได้ว่าพระรูปที่โยมรู้จักคงมาถึงหน้าบ้านเขาพอดี ก็ได้ยินเสียงกล่าวขึ้นว่า.....นิมนต์เจ้าค่ะอิอิอิอิ

ถ้าเราอยู่ในบรรยากาศเช่นนี้ จะรู้ได้เลยว่า ชีวิตเราช่างไม่มีความหมายอะไรเสียเลย เราน่าจะเดินออกไปกลางถนนให้รถชนเสียก็ดีนะ....แต่อย่ากระนั้นเลย เดินต่อไปดีกว่า เราอาจมีรักแท้กับเขาบ้างสักวันหนึ่ง อิอิอิอิ (ฝันตอนเช้า?)

ที่เจ็บปวดกว่านั้น โยมที่เคยมองข้ามเราไป ทำเฉยเวลาเราผ่านหน้าบ้าน กลับให้ความสำคัญกับเรา เมื่อพระขาประจำที่ตนใส่อยู่ไม่มาบิณฑบาต อาจเป็นเพราะกลัวของจะเหลือ หรือจะเสีย เลยนิมนต์เราไปรับแทน......นี่ถ้าไม่เรียกว่าตัวสำรอง หรือ กิ๊ก แล้วจะเรียกว่าอะไรว่ะ...อุ้ย โทษที ขอลบคำว่า ว่ะ อิอิ

โยมหลายคนก็นิยมพระดังที่มีชื่อเสียง ต้องเป็นพระครู พระมหา หรือพระนักเทศน์ ถ้าพระเหล่านี้มาก็แสดงความหน้าชื่นตาบาน (ส่วนเรานี่ หน้าชื่น อกตรม อิอิ) แห่กับไปใส่บาตร กระซิกกันว่า ท่านพระครูมาแล้ว พระมหามาแล้ว..... แล้วอาตมาล่ะ???? ม..ม้า กับ ห...หีบ สลับกันใช่ใหม??(พระหมา) อาตมาไม่อยากจะโม้ว่าตัวเองเป็นใครหรอก อิอิอิ เรื่องนี้นึกถึงสมัยพุทธกาล ที่พระพุทธเจ้าบัญญัติเรื่องการอวดอุตตริมนุสธรรม (สิ่งวิเศษที่คนทั่วไปไม่มี เช่น อวดว่าตัวเองขลัง ศักดิ์สิทธิ์....หรือไม่อวดเอง ให้คนอื่นช่วยโปรโมทให้ก็ได้) ต้องขาดจากความเป็นพระ คือ อาบัติปาราชิก เหตุที่ต้องบัญญัติ เพราะไม่ให้พระใช้คุณลักษณะพิเศษของตนไปใช้เป็นเครื่องมือในการหากิน ทำให้พระธรรมดาที่กำลังปฏิบัติอยู่แต่ยังไม่สำเร็จ หรือพระอรหันต์ที่ท่านไม่มีฤทธิ์ก็ต้องอด เพราะคนจะเข้าใจว่า พระแท้ต้องขลังเท่านั้น อีกอย่าง จะทำให้คนเลือกพระในการทำบุญ พระบางกลุ่มจะอ้วนพี บางกลุ่มจะอดอยาก (ซึ่งชี้ไม่ได้ว่า ท่านที่อ้วนพีเป็นคนดี หรือที่อดอยากเป็นคนชั่ว) จึงเป็นเรื่องไม่สมควร....ถ้าดูตามวัตถุประสงค์นี้ การโปรโมทความเป็นพระครู หรือ มหา.....(โดยมีจุดประสงค์ให้คนศรัทธา) จะเป็นอาบัติปาราชิกด้วยไหมหนอ?

ไม่ใช่ทุกวันที่พระธรรมดาจะได้น้อยนะครับ อย่างน้อยวันพระ เราก็ได้จนถือไม่ไหว เพราะคนมีความเชื่อเรื่องวันศักดิ์สิทธิ์บางอย่าง.... ที่จริงอาตมาเคยพูดเรื่องที่มาและความสำคัญของวันพระไว้แล้วนะครับ....ไม่อยากพูดซ้ำให้เสียเวลา ว่างๆลองเข้าไปดูในยูทูบ แทนการดูข่าวดารา หรือเต้นท่าม้าซะบ้าง อิอิ เพราะอันนี้มีผลกับชีวิตโยม และพระที่เป็นเพื่อนมนุษย์ของโยมโดยตรง วันที่เราต้องถือหนัก ชาวบ้านก็คิดแต่จะใส่เพราะต้องการบุญ ไม่เคยคิดถึงความรู้สึกของเราเลยว่าลำบากแค่ไหน มือหนึ่งถือราวเกือบ ๑๐ กิโล นิ้วอาตมายาวขึ้นทุกวัน อิอิ จะบอกปฏิเสธก็ไม่ได้ เพราะโยมใส่ตังค์ด้วย อิอิอิ พูดเล่นครับ เพราะถ้าจะปฏิเสธ ก็จะต้องมีพระรูปอื่นที่โยมพอจะใส่แทนได้ ไหนๆอุตส่าห์ขับรถมาจากบ้าน ที่จริงก็ปฏิเสธได้อยู่นะ ถ้าโยมเข้าใจเรื่องการทำบุญ ว่ามีหลายแบบ โยมยังเลือกทำบุญอย่างอื่นได้ หรือ ทำวันอื่น (ที่เราอดอยาก) ได้ .... แต่นี่ เราไม่เคยได้ตกลง ทำความเข้าใจ และให้ความรู้เรื่องนี้กัน พระที่เทศน์สอนโยม ก็พูดเรื่องอะไรไม่รู้ จะเอาแต่เงิน อิอิ(อย่าไปบอกพระนะ) มองข้ามเรื่องการใช้ชีวิตขั้นพื้นฐานไปหมดฯ เกิดพูดปฏิเสธไปตรงๆ โยมอาจโกรธ เลิกใส่บาตรไปตลอดชีวิตเพราะหาว่าพระเรื่องมาก แล้วคนที่อดก็คือ อาตมาอีกนี่แหละ เพราะพระท่านอื่นเขามีโยมขาประจำ อิอิอิอิ ยิ่งพูดยิ่งเจ็บใจ

การถวายสังฆทาน เป็นการให้ชาวพุทธรู้จักแบ่งปันสิ่งของที่ตนมี แก่ผู้ที่ขาด หนึ่งในนั้นคือพระ เนื่องจากท่านไม่ได้ประกอบอาชีพอย่างอื่น เป็นผู้ไม่มีเรือน หมายถึงไม่ต้องมารับผิดชอบเรื่องแบบชาวบ้าน เช่น ทำไร่ ไถนา หรือ กระทั่งหุงข้าว ท่านจึงมีเวลาในการศึกษา ปฏิบัติ และสั่งสอนธรรมะมากกว่าคนปกติ เพราะเราเล็งเห็นคุณค่าอันนี้ เลยแบ่งปันอาหารเป็นต้นให้(เพื่อท่านจะได้ไม่มาเสีเวลาเหมือนเรา) ฉะนั้น การถวายทาน จึงต้องตระหนักเสมอว่า เพื่อช่วยให้ท่านทำกิจทั้ง ๓ อย่างนั้นง่ายขึ้น แต่ปัจจุบัน เราไม่เข้าใจเป้าหมายนี้ ถวายน้อยเกินไป หรือมากเกินไป จนบางครั้งทำให้ท่านไม่มีเวลาในการทำกิจส่วนตัว ต้องเอาเวลามาสนองความต้องการของชาวบ้าน เพียงเพราะความเชื่อบางอย่างที่งมงาย หมอดูบอกมา รู้สึกว่าดวงไม่ดี พระจึงต้องนั่งรับสังฆทาน สะเดาะเคราะห์ให้โยมจนไม่มีเวลาทำกิจของศาสนาคือการพัฒนาตนเองที่แท้จริงได้ (แต่พระหลายรูปก็เต็มใจทำนะ อิอิ....)

อาตมาขอบอกตามจริงเลย...และโยมควรจำไว้ให้ดี เพราะอาจไม่มีใครบอกโยมอีก....อิอิ นั่นคือ การทำบุญที่มาเพราะหวังอยากได้บางอย่างตอบแทน เช่น ความโชคดี หรือ ทำเพราะความกลัว (ชะตาจะขาด รีบต่ออายุ) แม้กระทั่งเลือกทำกับคนที่ตนรักจนมองไม่เห็นคนอื่น สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นบุญในทางพุทธศาสนาเลย เพราะถ้าจะทำอย่างนั้น ศาสนาไหนก็สอนได้ แต่บุญของพุทธศาสนา ต้องทำเพื่อชำระกิเลส อย่างน้อยที่สุดคือ ความโลภ เราทำเพราะอยากให้คนอื่นได้มีกินมีใช้ ไม่ใช่ทำเพื่อแลกกับโชคชะตาตัวเอง ใช้คนอื่นเป็นเครื่องมือในการสำเร็จความใคร่ในการทำบุญของตัวเอง ใครจะเป็นอย่างไรฉันไม่สน แค่ให้ฉันได้ทำบุญก็เป็นพอ การทำอย่างนี้อย่าว่าจะเกิดบุญเลย แม้ความเสียสละก็ไม่มี....ส่วนเรื่องประโยชน์ก็ได้อยู่แล้ว นั่นคือ คนที่รับทาน ก็ได้ใช้สอย หรือ เอาไปขายต่อได้ อิอิอิ

ถ้าเราศึกษาทางจริยศาสตร์ มีนักปรัชาคนหนึ่งชื่อ Immanuel Kant ซึ่งการอธิบายของแกสอดคล้องกับพุทธศาสนามาก นั่นคือ เราต้องทำความดี เพราะเห็นว่ามันเป็นความดี (หรือหน้าที่) ไม่ใช่ทำเพราะแลกกับอะไรบางอย่าง ถ้าเราทำอย่างนั้น ก็เท่ากับเราใช้คนหรือวัตถุนั้นเป็นเครื่องมือให้สมประสงค์ของเรา และนั่นจึงไม่ได้มาจากเจตนาที่บริสุทธิ์ (Pure reason) เช่น เราปล่อยปลา เพราะเรากลัวตาย กลัวเจ้ากรรมนายเวร เราไม่ได้สงสารชีวิตปลานั้นจริงๆ Kant มองว่า การกระทำเช่นนั้นเป็นสิ่งไม่มีความหมาย(ในแง่จริยธรรม) ทางพุทธศาสนาก็ถือว่าไม่ได้เป็นบุญ เพราะเราไม่ได้ชำระกิเลส แต่ทำเพื่อส่งเสริมกิเลส (ต่อให้การกระทำนั้นดีก็ตาม...ซึ่งความดี เป็นเรื่องของประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอีกต่อหนึ่ง)

คำถามจึงมีอยู่นิดเดียวว่า...ฐานะที่เราเป็นมนุษย์ เราไม่สามารถทำความดีด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ได้เลยหรือ ไฉนต้องเอาเรื่องอื่น ความเชื่ออื่น มาบีบให้เราต้องทำความดีอยู่เสมอ...???

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้มีเจตนาที่จะให้โยมมาช่วยใส่บาตรอาตมานะครับ อิอิ เพียงแต่อนาคตหากเป็นได้ ก่อนทำบุญ ลองสังเกตดูพระสักนิดหนึ่ง ว่าท่านมีมากหรือยัง? มีใครที่เราควรช่วยเหลืออีกบ้าง ? ทุกวันมีความสำคัญต่อปากท้องของพระหมด ไม่เฉพาะวันพระเท่านั้น เราควรช่วยกันทำในวันอื่นบ้าง (เพราะบุญอยู่ที่มีเจตนาบริสุทธิ์หรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่วัน) และความจริง การทำบุญมีหลายแบบ ฐานะที่เป็นชาวพุทธ เราลองหันไปหาบุญแบบอื่นบ้างดูสิครับ เช่น ทราบว่าวันนี้เป็นวันพระ อย่างไรเสียพระก็มีอาหารมากพอแล้ว แทนที่จะไปถวายอีก เราก็อาบน้ำให้สบาย นั่งสมาธิสักครึ่งชั่วโมงเพื่อตามรู้อารมณ์ ความคิดตัวเอง จะเป็นประโยชน์กว่าหรือไม่? หรือเอาพระไตรปิฎกมาอ่าน รู้จักตั้งคำถาม หาแนวทางประยุตก์ใช้ในชีวิตจริง จะทำให้ชีวิตเราดีงามกว่าการขับมอเตอร์ไซด์ใส่บาตรวันพระหรือไม่? ชาวพุทธคือ คนที่ดำเนินชีวิตด้วยความรู้นะครับ ไม่ใช่ความเชื่อหรือประเพณี..... หรือให้ง่ายที่สุด ลองเอาศีลมาทบทวน ไม่เบียดเบียนผู้อื่นฯ มีความเมตตา ช่วยเหลือกัน เอาอันนี้มาทำ ดีกว่าจะรอไปทำบุญ แต่ชีวิตประจำวันคลุกอยู่กับการเบียนเบียน ฉ้อโกง โกหก นินทาฯลฯ

ถ้าทำเช่นนี้ได้ เราจะไม่เห็นภาพพระรูปหนึ่งถือของจนล้นมือ อีกรูปไม่ได้อะไรเลย....การเป็นกิ๊กที่โยมเห็นความสำคัญของอาตมาต่อเมื่อไม่มีพระท่านอื่นสนองความต้องการของโยมก็จะหมดไป...ด้วความปรารถนาดีจาก....พระ ที่ไม่อยากเป็นกิ๊ก อิอิอิอิ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น