เจษฎา กันตเมธี ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๕
ศาสนาทั้งหลายเมื่อมีการแพร่ขยายไปสู่ถิ่นอื่นอันมิใช่แหล่งกำเนิดดั้งเดิม มักถูกผสมผสานกับความชื่อท้องถิ่นของพื้นที่นั้นๆ ขณะเดียวกันก็มีพัฒนาการขึ้นเรื่อยๆตามความเจริญของยุคสมัย นี้เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้แม้ศาสนาพุทธเองก็ตาม อย่างไรก็ดี การปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยก็มิใช่จะมีผลเสียอย่างเดียว หากแต่ต้องระวังไม่ให้หลักการสำคัญของพระศาสนาหายไปด้วย เช่นศาสนาที่นับถือพระเจ้า สามารถปรับปรุงการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ให้ทันสมัยได้โดยมีการศึกษาเรื่อง DNA, Cloning กระทั่งทฤษฎีสัมพัทธภาพฯลฯ แต่ท้ายที่สุดศาสนาเหล่านี้ก็ไม่สามารถจะยอมปรับตัวจนขั้นปฏิเสธพระผู้เป็นเจ้าผู้สร้างโลกและบอกว่าสรรพสิ่งล้วนเกิดจากวิวัฒนาการได้ฯ เพราะเป็นการปฏิเสธอัตลักษณ์ในศาสนาของตนและส่งผลให้คำสอนอื่นๆ(ซึ่งมาจากพระผู้เป็นเจ้า)พลอยเป็นโมฆะไปด้วยฯ
แน่นอนศาสนาพุทธไม่ได้มีการปฏิเสธวิทยาศาสตร์ในลักษณะดังกล่าว เพราะเป็นศาสนาที่เน้นสาระธรรมมากกว่าตัวผู้สร้าง พระพุทธเจ้าเองก็สารภาพว่าพระองค์เป็นแต่เพียงผู้ค้นพบ(Discover)[1] ธรรมะซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติแล้วเท่านั้น เสร็จแล้วก็นำความจริงที่ได้มาเปิดเผยให้เพื่อนมนุษย์รับทราบ ในเมื่อธรรมะของพุทธศาสนามีพื้นมาจากการค้นพบความจริงของธรรมชาติ ก็เป็นการสอดรับกับวิทยาศาสตร์ไปในตัว(ซึ่งทำการสืบหาความจริง/ความเป็นไปของธรรมชาติอยู่แล้ว) ทั้งพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์จึงไม่ได้มีความขัดแย้งถึงขั้นปฏิเสธคำสอนหรือความจริงของกันและกัน ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนประสงค์จะกล่าวในที่นี้คือปัญหาเรื่องการยอมปรับตัวด้านพิธีกรรม (คล้อยตามประเพณี/ความเชื่อดั้งเดิม) เพียงเพื่อสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่โดยไม่สนใจสาระธรรมว่าจะบิดเบือนไปหรือไม่ สิ่งนี้ได้ส่งผลให้พุทธศาสนาในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปมากจนภาพของพุทธศาสนา(รวมทั้งบุคคลกรคือพระสงฆ์เอง)ส่วนใหญ่ไม่ได้สะท้อนถึงลักษณะมีเหตุมีผล เป็นสัจธรรมหรือสร้างเสริมปัญญาเพื่อพาคนให้พ้นทุกข์ได้ฯ
หลายคนมองว่าสิ่งที่พระใช้เป็นเครื่องมือในการสนองความต้องการของผู้คน(หรือสนองผลกำไรของตนเอง)อันเป็นการสนับสนุนความงมงายเช่น การสะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา รดน้ำมนต์ หรือปลุกเสกวัตถุมงคลเป็นต้นคือการประกอบพิธีกรรมนั่นเอง ท่านจึงสรุปว่าพิธีกรรมเป็นตัวสะท้อนถึงความเสื่อมโทรมของพุทธศาสนาได้ชัดตัวหนึ่งฯ ขณะที่พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) ได้พยายามชี้ให้เห็นภาพอีกแง่หนึ่งของพิธีกรรม คือเมื่อปฏิเสธพิธีกรรมไม่ได้ก็ควรใช้สิ่งที่ทำกันอยู่ให้คุ้มค่า(สื่อให้เห็นสาระธรรมผ่านทางพิธีกรรม)[2] ความจริงพระพรหมคุณาภรณ์ได้พยายามอธิบายและให้ความหมายใหม่ของพิธีกรรมจนกลายเป็นเรื่องดีไป นั่นคือโดยภาพรวมหมายถึงการกระทำที่เป็นรูปแบบ มีระเบียบวินัยฯลฯ และอธิบายให้เห็นโทษของการปฏิเสธพิธีกรรม ซึ่งบทความนี้ผู้เขียนมิได้ต้องการโต้แย้งกับสองความเห็นข้างต้น(ที่ไม่เห็นด้วยกับพิธีกรรมและส่งเสริมพิธีกรรมในทำนองประนีประนอม)เพียงแต่ต้องการให้ชาวพุทธทั้งหลายได้กลับมาพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งเพื่อหาข้อเท็จจริงและแสดงหลักการที่ชัดเจนของพุทธศาสนาต่อไป
อย่างแรกที่ต้องพิจาณาคือความหมายที่แท้ของพิธีกรรม เพราะหากถกเถียงหรือแสดงเหตุผลกันไปเฉยๆ โดยยังไม่ทราบว่าอีกฝ่ายหมายถึงอะไรจะทำให้ตกลงและยอมรับความเห็นกันไม่ได้ ที่ต้องทราบก่อนคือในที่นี้กำลังพูดถึงพระพุทธศาสนา ดังนั้นแง่ของการให้ความหมายหรือการสื่อความที่จะใช้ในการถกประเด็นนี้จะเกี่ยวกับพิธีกรรมในทางศาสนาเป็นสำคัญ(เรียกอีกอย่างว่า ศาสนพิธี) “พิธีกรรม” มีการให้ความหมายที่แตกต่างกันดังนี้
๑. พิธี: น งานที่จัดขึ้นตามลัทธิหรือความเชื่อถือตามขนบธรรมเนียมประเพณีเพื่อความขลังหรือความเป็นสิริมงคล เช่นพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พิธีมงคลสมรส พิธีประสาทปริญญา; แบบอย่าง, ธรรมเนียม, เช่นทำให้ถูกพิธี....(ราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๔๒)[3]
๒. พิธีกรรม: น.การบูชา, แบบอย่างหรือแบบแผนต่างๆที่ปฏิบัติในศาสนา (ราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๔๒)[4]
๓. พิธีกรรม แปลว่า การกระทำที่เป็นพิธี คือวิธีที่จะให้สำเร็จผลที่ต้องการหรือการกระทำที่เป็นวิธีการเพื่อผลที่ต้องการหรือการนำไปสู่ผลที่ต้องการ (หน้า ๔)... (มีเป้าหมายคือ) ๑ เป็นจุดนัดพบให้ทุกคนที่ตอนแรกยังกระจัดกระจายอยู่มารวมเป็นจุดเดียวกัน ๒. เป็นจุดนัดหมายว่าจะเริ่มเรื่องนั้นแล้ว[5] (ป.อ.ปยุตฺโต ๒๕๕๑)
๔. พิธีกรรมยังมีความหมายมากกว่านั้นคือ เป็นเครื่องฝึกวินัยหรือเป็นพื้นฐานที่จะฝึกฝนพัฒนาคนในด้านศีล (หน้า ๗)
สังเกตได้ว่าความหมายที่ให้โดยพระพรหมคุณาภรณ์ มีความถูกต้องที่สามารถแปลตามศัพท์ได้อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา แต่ดังที่ผู้เขียนระบุแต่ต้นแล้วว่า ในที่นี้มุ่งเอาความหมายที่แท้ของพิธีกรรมในแง่ที่เกี่ยวโยงกับศาสนาเท่านั้น นั่นคือเมื่อพูดเรื่องศาสนาและพาดพิงถึงพิธีกรรม คนทั้งหลายจะเข้าใจพิธีกรรมไปทำนองการทำพิธีเพื่อความขลัง ศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นสิริมงคลตามนิยามของราชบัณฑิตจริงๆ การที่เด็กมีระเบียบวินัย ยืนเข้าแถวหน้าเสาธงทำกิจกรรม ยืนต่อแถวเพื่อรอรับอาหารกลางวันหรือการกล่าวคำเคารพคุณครูก่อนเริ่มบทเรียนฯลฯ แม้จะเป็นการทำตามระเบียบ เป็นความพร้อมเพรียง ฝึกวินัยเด็กแต่จะไม่มีใครมองว่าเด็กเหล่านั้นกำลังทำพิธีกรรม ฯ พิธีกรรมในสามัญสำนึกของคนทั่วไปจึงเจาะจงเฉพาะเรื่องการทำพิธีทางศาสนาเพื่อมุ่งความขลัง ศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นสิริมงคลเท่านั้น นั่นคือคำนิยามที่หมายเอาความพร้อมเพรียงหรือระเบียบวินัยของพระพรหมคุณาภรณ์ไม่ได้ผิด เพราะตัวพิธีกรรมเองก็มีลักษณะเช่นนั้นแฝงอยู่ แต่หากยึดเอาความหมายของท่านก็จะกลายเป็นว่าทุกอย่างที่ทำในชีวิตแทบจะเป็นพิธีกรรมหมดเลย ตั้งแต่ตื่น ทำกับข้าว รับประทานอาหารตลอดจนเข้านอน ซึ่งหากกล่าวถึงพิธีกรรมฐานะเป็นตัวระเบียบวินัยก็คงไม่มีปัญหาให้ผู้ใดโต้เถียงอยู่แล้ว เพราะทุกคนยอมรับระเบียบวินัย แต่ประเด็นสำคัญคือปัญหาที่เกิดในปัจจุบันพิธีกรรมมีความหมายที่สื่อไปในทางลบมากกว่าที่พระพรหมคุณาภรณ์ให้ไว้ อย่างไรก็ตามท่านได้แบ่งพิธีกรรมที่ท่านกำลังกล่าวถึงออกจากศาสนาพิธีได้ชัดเจน(เมื่อดูอ้างอิงอธิบายเป้าหมายข้อที่ ๒ )ฯ ดังนั้นเมื่อมาถึงขั้นนี้ทำให้เราตัดปัญหาเรื่องความขัดแย้งไปได้ นั่นคือสิ่งที่ท่านกล่าวถึงไม่ได้หมายเอาพิธีกรรมทางศาสนาซึ่งเป็นประเด็นที่หลายคนเข้าใจ กล่าวคือทั้งสองฝ่ายมุ่งเอาความหมายคนละอย่าง ฝ่ายแรกหมายเอาการทำพิธีของพระสงฆ์หรือชาวพุทธเพื่อความขลังศักดิ์สิทธิ์อาศัยอำนาจดลบันดาล ส่วนพระพรหมคุณาภรณ์หมายเอาการกระทำที่เป็นรูปแบบ หรือพร้อมเพรียงเพื่อทำกิจอย่างหนึ่งอย่างใดให้สำเร็จฯ แม้ในบทความนี้ก็พึงทราบว่าประสงค์เอาความหมายข้อแรก คือพิธีที่มุ่งหวังความศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นสิริมงคลฯ
ดร.คุณหญิงสุริยา รัตนกุล ได้อธิบายความหมายนี้โดยแบ่งตามอรรถลักษณ์คือให้ความหมายเป็นหน่วยโดยนำความหมายของราชบัณฑิตยสถานมาจำแนกใหม่ให้สอดคล้องกับความหมายในแง่ของศาสนาได้ดังนี้
พิธี (ก) เป็นการจัดงาน
(ข) จัดขึ้นตามลัทธิความเชื่อ
(ค) จัดตามขนบธรรมเนียมประเพณี
(ง) เป็นการจัดขึ้นเพื่อความขลัง
(จ) เป็นความจัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคล
ประเด็นที่ท่านเน้นคือเรื่องความความศักดิ์สิทธิ์และสูงส่ง นั่นคือท่านให้เหตุผลว่า “หากพิธีกรรมใดมิได้ทำเพื่อความศักดิ์สิทธิ์และสูงส่งก็ไม่ใช่พิธีกรรมทางศาสนา”[6] และได้แบ่งองค์ประกอบของพิธีกรรมออกเป็น ๒ ส่วนคือ (๑) ความสูงส่ง (Holy) และ (๒) ความศักดิ์สิทธิ์ (Sacred) นั่นคือผู้ประกอบพิธีต้องมีความเชื่อเรื่องสิ่งเหลือธรรมชาติบางอย่างก่อนว่ามีอยู่จริง(สิ่งนั้นรวมเอาวัตถุเข้าด้วย) จากนั้นจึงส่งผลไปยังความเชื่อข้อที่สองว่า เมื่อเป็นผู้สูงส่งเหนือธรรมชาติก็จะต้องมีความขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ในตัวสามารถประสาทพรบางอย่างให้แก่ตนเอง(ผู้ประกอบพิธีกรรม)ได้
เมื่อการทำพิธีกรรมดำเนินไปตามหลักความเชื่อหรือแบบแผนของศาสนานั้นๆ การจะกล่าวถึงพิธีกรรมในพุทธศาสนาจึงจำเป็นต้องทราบหลักการหรือแบบแผนของพุทธศาสนาเสียก่อน ในแง่ของพิธีกรรม พุทธศาสนามุ่งเน้นเรื่องการใช้ปัญญาความสามารถที่ได้จากการฝึกฝนตน[7] มาเป็นเครื่องมือจัดการกับปัญหาโดยไม่ต้องอาศัยศรัทธา(ที่มองไม่เห็น)หรืออ้อนวอนผู้ใดให้ดลบันดาล การสอนอริยสัจ ๔ เป็นเนื้อหาที่ชัดเจนพอกับการแก้ปัญหาแบบชาวพุทธ นั่นคือ ๑.ให้รู้จักสภาพความทุกข์ ๒. ให้พยายามละเหตุที่จะทำให้เกิดทุกข์ ๓. มั่นใจว่าปัญหาทุกอย่างมีทางออก และ ๔. ไม่นิ่งเฉย/เศร้าโศกแต่กลับดำเนินชีวิตตามทางที่ถูกต้องเพื่อแก้ปัญหานั้น[8]ฯ
การเกิดขึ้นของพุทธศาสนาเป็นการปฏิเสธความเชื่อและพิธีกรรมในยุคนั้น กล่าวคือผู้คนในศาสนาพราหมณ์ตั้งแต่ครั้นที่พระองค์ยังพระชนม์อยู่ต่างมุ่งการประกอบพิธีกรรมเป็นสำคัญ เมื่อผู้คนประสบทุกข์ก็มีการฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ ทำความผิดก็ลงไปอาบน้ำลอยบาปในแม่น้ำ แม้นักบวชผู้หวังความพ้นทุกข์ก็พากันค้นหาวิธีบูชาเทพเจ้าหรือบ้างก็บูชาไฟเช่นชฎิล ๓ พี่น้อง ส่วนที่ทรมานร่างกายตนเองก็ทำโดยขาดสติปัญญาฯลฯ พระองค์เองบ้างก็เคยปฏิบัติเช่นนั้น แต่ครั้นเปลี่ยนแนวทางการฝึกฝนจิตใจ รู้ทันสภาพความจริงที่เกิดขึ้น(วิปัสสนา) จึงได้สรุปว่าไม่มีทางใดเลยจะพ้นจากปัญหาหากไม่มีปัญญามองเห็นเหตุการณ์ตามความเป็นจริงและแก้ปัญหาตรงต้นเหตุนั้น(อริยสัจ) พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยการประกอบพิธีกรรม ไม่มุ่งแสวงหาสิ่งเหนือธรรมชาติเช่นอิทธิปาฏิหาริย์[9] แต่เป็นการสอนให้ผู้คนรู้ความจริงของธรรมชาติและดำรงชีวิตด้วยความฉลาดรอบคอบ(มีสติ สัมปชัญญะ) ส่วนวิธีล้างบาป/แก้กรรมนั้นจะลงไปอาบน้ำล้างหรือจัดพิธีกรรมให้ใหญ่โตอย่างไรก็ไม่หาย ต้องอาศัยวิธีของมรรค ๘ เป็นเครื่องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเองเท่านั้น[10] พระองค์จึงสอนให้ทุกคนไม่ประมาทและพึ่งตนเองไม่หวังให้อำนาจใดมาชำระล้างความชั่วและเสริมความเป็นสิริมงคลจากภายนอกฯ
เรื่องความเป็นสิริมงคลก็เป็นเป้าหมายอันหนึ่งในการประกอบพิธีกรรมที่นิยมกัน มงคลในทางพุทธศาสนาเป็นมงคลที่ได้จากกระประพฤติเช่นเดียวกับหลักการเรื่องอื่นๆ นั่นคือไม่เคยมีมงคลใดใน ๓๘ ประการที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เกียจคร้าน อยู่เฉย หรือไปทำพิธีกรรมเพื่อรับอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ ทุกอย่างจะเริ่มจากการลงมือทำเช่น หลีกเลี่ยงคนพาล คบหาบัณฑิต ยกย่องคนดี(บูชาผู้ควรบูชา)ฯลฯ ข้อนี้พระพุทธองค์ตรัสเปรียบไว้อย่างน่าฟังในธรรมบทว่า การจะบูชายัญประกอบพิธีใหญ่เป็นร้อยปี ยังสู้การบูชา(ยกย่อง เข้ารับใช้ และประพฤติตามคำแนะนำของ)ท่านผู้ควรบูชาครั้งเดียวก็ไม่ได้[11] เหตุผลเพราะการบูชา/จัดพิธีด้วยอามิสมากมายกลับไม่ช่วยอะไรเลยในการเสริมสร้างปัญญา เรื่องมงคลนี้จึงสรุปว่าต้องเกิดจากการลงมือทำด้วยตนเองเท่านั้น ดังกล่าวมาพอจะแสดงให้เห็นหลักการสั้นๆของพุทธศาสนาที่มีต่อเรื่องการประกอบพิธีกรรมโดยมีจุดประสงค์เพื่อความขลัง ศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นสิริมงคลได้ชัดเจน
ส่วนพิธีกรรมที่จัดในเมืองไทยเช่น การสะเดาะห์เคราะห์ ต่อชะตา สืบอายุ เข้านอนในโลงศพ ถอนคำสาบ[12] แม้กระทั่งถวายสังฆทานอุทิศเจ้ากรรมนายเวรหรือลูกที่ไปทำแท้งมาเป็นต้น[13] สิ่งเหล่านี้ล้วนมีจุดหมายเพื่อความสบายใจและหวังอย่างงมงายทั้งสิ้น(คงไม่มีใครกล่าวว่าประกอบพิธีเหล่านี้เพื่อเสริมสร้างปัญญาหรือยังจะบอกว่าพิธีกรรมเหล่านี้สำคัญต่อพุทธศาสนา?) ประเด็นที่น่าสนใจคือพระสงฆ์ส่วนใหญ่ต่างพากันสนับสนุน ที่ไม่เห็นด้วยมีบ้างก็เก็บตัวเงียบไม่กล้าชี้แจงหลักการที่ถูกต้องอย่างเปิดเผย พิธีกรรมเหล่านี้ยิ่งนานวันกลับกลายเป็นเรื่องธรรมดาเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนาไทยไปแล้วฯ
อาจกล่าวได้ว่าตัวพุทธศาสนาที่แท้มิได้มีพิธีกรรม การบวชเริ่มแรกพระพุทธองค์ก็ทรงตรัสเพียงว่า เธอได้เป็นภิกษุแล้ว[14] ต่อไปเมื่ออนุญาตให้สาวกบวชกันได้ก็อาศัยการกล่าวถึงพระรัตนตรัย(พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิฯลฯ) ครั้นปัจจุบันก็เป็นแบบอาศัยสงฆ์ตกลงกัน มีการสวดญัตติ ซึ่งความจริงการบวชประเภทหลังนี้ก็มิได้เป็นพิธีที่ขลังหรือศักดิ์สิทธิ์แต่อย่างใด เป็นแต่เพียงการขอความเห็นสงฆ์และอนุมัติให้ผู้นั้นเป็นพระเท่านั้นเอง แม้ประเด็นนี้ชาวพุทธส่วนใหญ่ก็ยังไม่ทราบ บ้างก็คิดว่ามีการยัดความเป็นพระให้ บ้างก็แอบเอาของขลังเข้าไปปลุกเสกฯ ความจริงให้นึกภาพส.ส. อภิปรายเพื่อขอมติส่วนใหญ่ในสภาเท่านั้นเอง[15] อาจมีผู้สงสัยอีกว่า ก็การประกอบพิธีนี้จะไม่เรียกว่าพิธีกรรมหรือ? ตอบว่าหากมุ่งเอาความหมายในทางศักดิ์สิทธิ์หรือขลัง การบวชก็มิได้เป็นพิธีกรรม เพราะเป็นแต่เพียงการทำกิจกรรมของพระเท่านั้นเอง รวมไปถึงกิจกรรมกรานกฐิน อธิษฐานเข้าพรรษา ปวารณาออกพรรษาฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่มีเรื่องความขลังหรือศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวข้องเลย แต่เมื่อมีญาติโยมเข้ามามีส่วนร่วม หลายวัดจึงถือเป็นการเปิดโอกาสจัดพิธีใหญ่เพื่อแสวงหาลาภโดยจัดพิธีเน้นไปในทำนองขลังหรือสร้างความสบายใจให้แก่ผู้ร่วมงาน ความจริงการต้อนรับผู้คนสามารถทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ จัดให้มีการฟังธรรมหรือปฏิบัติธรรมก็ได้(ธรรมปฏิสันถาร)ฯลฯ แต่เมื่อทางวัดขาดคนมีความรู้ ขาดเจตนาที่ดีและหวังผลประโยชน์จากผู้มาเยือน กิจกรรมส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงผูกพันธ์กับเรื่องขลังศักดิ์สิทธิ์อย่างแยกกันไม่ออกฯ
กล่าวโดยสรุปคือพิธีกรรมในทัศนะของคนทั่วไปกลายเป็นแง่ลบไปเสียแล้ว เป็นพิธีที่ขัดกับหลักการของพุทธศาสนาคือไม่ส่งเสริมปัญญาแก่ผู้เข้าร่วม เมื่อหมายเอาความหมายเช่นนี้การจะบอกว่า “พุทธศาสนาเสื่อมแล้ว พระเอาแต่ทำพิธีกรรมแสวงหาลาภ” ก็ไม่ใช่เรื่องที่เกินความจริง ส่วนกิจกรรมที่พระควรทำทั้งหลายเช่นการบวชเป็นต้นหากไม่ใช้คำว่าพิธีกรรม(ซึ่งเป็นคำใหม่) เราสามารถใช้คำเก่าคือ สังฆกรรมแทนได้(The monk’s duty) แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะใช้คำไหน สิ่งที่ต้องยอมรับตรงกันคือหากพระสงฆ์ยังจะประกอบพิธีเช่นนี้ต่อไป (อาจเพื่อปลอบโยนพุทธบริษัทหรือผลประโยชน์ตนก็แล้วแต่) โดยไม่ยอมศึกษาและสอนผู้คนตามหลักของพระศาสนา แม้จะชื่อว่าเป็นชาวพุทธก็จะได้ประโยชน์จากศาสนาน้อยเต็มที ความจริงพุทธศาสนาจะเสื่อมนั้นไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เพราะโดยเนื้อหาแล้ว พุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ถูกต้องและมีเหตุผล การจะฟื้นฟูพุทธศาสนาในยุคที่สังคมเจริญ ผู้คนมีการศึกษานั้นไม่ใช่เรื่องยากเพราะไม่ต้องกล่อมใครให้หลงเชื่อ(ในสิ่งที่มองไม่เห็น) ปัจจัยเดียวเท่านั้นซึ่งสำคัญคือจะต้องส่งเสริมให้พุทธบริษัททั้ง ๔ สนใจศึกษาพระศาสนาให้เข้าใจจนสามารถปฏิบัติตามได้และเมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ประกอบพิธีกรรมที่ไร้สาระ หลอกลวงให้งมงายอีกต่อไปฯ
เมื่อถือเอาความหมายของพระพรหมคุณาภรณ์ (โดยมิได้ศึกษาความหมายของท่านให้ชัดเจน)สมัยปัจจุบันอาจเสี่ยงมากนั่นคือพระสงฆ์และฆราวาสที่หวังกอบโกยผลประโยชน์จากความเชื่อแบบงมงายของชาวบ้านสามารถนำมาใช้เป็นประโยคในการกล่าวอ้างว่า “พิธีกรรม ใครว่าไม่สำคัญ” จากนั้นก็พากันประกอบพิธีซึ่งไม่มีสาระธรรมแฝงอยู่เลย(และไม่เคยคิดจะสอนธรรมะจริงๆ) แต่เมื่อใดสามารถทำความงมงายทั้งหลายให้หายไปได้ พระสงฆ์ทั้งหลายทำหน้าที่สั่งสอนธรรมอย่างถูกต้อง การจัดกิจกรรมต่างๆของชาวพุทธและแม้ของพระเองจะใช้คำว่า กิจกรรมหรือพิธีกรรมก็ไม่สำคัญแล้ว เพราะเป็นการมุ่งเน้นความพร้อมเพรียงและฝึกฝนวินัย อีกทั้งยังทำกิจนั้นให้สำเร็จเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและส่วนรวมฯ
.......................................................................................................
[1] อุปปาทสูตร อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต [๕๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่อุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุนั้น คือความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดาก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเอง ตถาคตตรัสรู้ บรรลุธาตุนั้นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง...สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์...ธรรมทั้งปวง(สรรพสิ่ง)เป็นอนัตตา ครั้นแล้วจึงบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้เข้าใจง่าย [๕๗๖] ๑๓๗ อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตาน อนุปฺปาทา วา ตถาคตาน ิตาว สา ธาตุ ธมฺมฏฺิตตา ธมฺมนิยามตา สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ....สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขาติ....สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ ตํ ตถาคโต อภิสมฺพุชฺฌติ อภิสเมติ อภิสมฺพุชฺฌิตฺวา อภิสเมตฺวา อาจิกฺขติ เทเสติ ปฺาเปติ ปฏฺเปติ วิวรติ วิภชติ อุตฺตานีกโรติ....ฯ
[2] “หลายคนบอกว่า มันเสื่อมจนเหลือแต่พิธีกรรม แย่แล้วพุทธศาสนา...ทีนี้เรามองพลิกกลับเสียใหม่ว่า พระพุทธศาสนายังเหลือพิธีกรรมอยู่ ก็แสดงว่ายังไม่หมดไปทีเดียว ยังคงเหลือพิธีกรรมเป็นรูปแบบอยู่ ตามธรรมดานั้นรูปแบบต้องมีเนื้อหาสาระจึงจะถูกต้อง แม้เหลือแต่รูปแบบ ไม่มีเนื้อหาสาระก็ไม่มีความหมายอะไร” พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), พิธีกรรม ใครว่าไม่สำคัญ, หน้า ๘. พิมพ์ครั้งที่ ๖. บริษัทพิมพ์สวยจำกัด, กรุงเทพฯ ๒๕๕๑
[3] ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ Oxford ให้ความหมายคล้ายกันว่า Rite: n. a ceremony performed by a particular group of people, often for religious purpose; funeral rites / initiation rites ( = performed when a new member joins a secret society) Oxford Advanced Learner’s Dictionary, p.1278, New 8th edition, Oxford University Press’2010
[4] Ritual: 1 n. a series of actions that are always performed in the same way, especially a part of a religious ceremony: religious ritual. 2 Something that is done regularly and always in the same way. สังเกตว่าพิธีกรรมในความหมายที่ ๒ นี้มุ่งเอาการกระทำทั่วไปซึ่งไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาซึ่งตรงกับนิยามของพระพรหมคุณาภรณ์ฯ อีกศัพท์หนึ่งที่ควรทราบคือ Ceremony: n. a public or religious occasion that includes a series of formal or traditional actions: an awards/opening ceremony, a wedding/marriage ceremony. P.228
[5] ได้อธิบายต่อว่า...๒. เป็นจุดนัดพบเพื่อจะเริ่มเรื่องนั้นแล้ว “ก่อนถึงพิธียังพูดจา ยังหันไปทางโน้นทางนี้ ยังเคลื่อนไหววุ่นวายกันอยู่ ยังคุยกันเรื่องโน้นเรื่องนี้ แต่พอบอกว่าเริ่มพิธีทุกคนก็หยุดหมด ต้องหันกลับมาสนใจ เตรียมทำสิ่งเดียวกัน....ว่าที่จริงการทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นเรื่องของชุมชนหรือเรื่องของส่วนรวมก็ต้องมีพิธีกรรม มันอาจจะไม่ใช่พิธีกรรมตามแบบอย่างที่เราเข้าใจ ที่เป็นของโบราณ เป็นศาสนพิธี (หน้า ๖)
[6] ศ.ดร.คุณหญิง สุริยา รัตนกุล, พิธีกรรมในศาสนา ภาค ๑, หน้า ๑ . เพชรรุ่งเรืองการพิมพ์, นนทบุรี, ๒๕๔๙
[7] ทั้ง ๓ ด้าน คือพฤติกรรม(ศีล) จิตใจ(สมาธิ)และปัญญา รวมเรียกว่า ไตรสิกขา (ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค หมวดที่ ๓ สังคีติสูตร)
[8] อริยสัจคือการสอนให้คนทราบความจริง ๔ ข้อได้แก่ ทุกข์ สภาพความลำบาก ไม่สบายกาย/ใจ จะเรียกว่าปัญหาก็ได้ วิธีจัดการหรือท่าทีต่อความทุกข์นี้คือพยายามรับรู้ เรียนรู้เท่านั้น ไม่ใช่ให้เป็นทุกข์, สมุทัย สาเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ พุทธศาสนาสอนว่าทุกอย่างล้วนมีเหตุ และที่สำคัญมนุษย์เองเป็นคนทำเหตุนั้น(เมื่อทำเหตุเองแล้วจะรอให้ใครมาแก้ให้) วิธีจัดการกับสมุทัยคือต้องพยายามละเหตุที่จะทำให้เกิดทุกข์เสีย, นิโรธ สภาพที่พ้นจากทุกข์ ข้อนี้จะประสบได้ก็ต่อเมื่อดำเนินชีวิตได้ถูกต้องตามมรรค ท่าทีต่อนิโรธคือต้องมองให้ออกว่าชีวิตสามารถพ้นจากทุกข์หรือปัญหาทั้งปวงได้, มรรค เป็นวิธีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง มีปัญญาฯลฯ เมื่อดำเนินชีวิตตามนี้ก็จะไม่พาชีวิตให้ต้องประสบทุกข์หรือปัญหาอีกฯ (วินัยปิฎก มหาวรรค เรื่องโปรดปัญจวัคคีย์แสดงธรรมจักรฯ ข้อ ๑๒)
[9] ปาฏิหาริย์นี้เป็นประเด็นใหญ่ นั่นคือมิใช่พุทธศาสนาปฏิเสธว่าไม่มีปาฏิหาริย์อะไรเลย หรือว่าไม่มีสิ่งเหนือธรรมชาติ(ทุกอย่างย่อมเป็นไปตามกฎธรรมชาติอยู่แล้ว เพียงแต่มนุษย์จะเข้าใจกฎนั้นแล้วเอากฎนั้นมาใชประโยชน์หรือไม่ เช่นฝนตก มนุษย์ยุคก่อนอาจเข้าใจว่าเป็นอำนาจของเทวดาที่ประทานให้แก่ตน เมื่อต้องการฝนก็พากันสวดอ้อนวอนท่าน แต่เมื่อมีคนมาเข้าใจความจริงเห็นว่าต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างในการก่อให้เกิดฝน เขาก็สามารถเตรียมปัจจัยเหล่านั้นให้พร้อมและทำให้ฝน(เทียม)ตกได้โดยไม่ต้องไปขอร้องใคร) นั่นคือทุกอย่างเป็นธรรมชาติหมด แต่เพราะมนุษย์ไม่เข้าใจจึงโยนให้เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ อีกอย่างพุทธศาสนาเน้นเรื่องอนุสาสนีปาฏิหาริย์คือความสามารถในการสอนให้คนปรับปรุง/เปลี่ยนแปลงตนเองเป็นสำคัญ พระพุทธเจ้าทรงรังเกียจปาฏิหาริย์ ๒ ประเภทแรกคือการแสดงฤทธิ์และการทายใจผู้อื่น ด้วยเห็นว่าทั้งสองข้อนั้นไม่ได้ช่วยให้คนฉลาดขึ้น พึ่งตนเองและออกจากทุกข์ได้(เกวัฏฏสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ข้อ ๓๓๘)ฯ
[10] คยากัสสปเถรคาถา [๓๔๑] เราลงไปลอยบาปในแม่น้ำคยา ที่ท่าคยาผัคคุ วันละ ๓ ครั้ง คือ เวลาเช้า เวลาเที่ยง เวลาเย็น เพราะคิดเห็นว่า บาปใดที่เราทำไว้ในชาติก่อน บัดนี้ เราจะลอยบาปนั้นในที่นี้ ความเห็นอย่างนี้ได้มีแก่เราในกาลก่อน บัดนี้เราได้ฟังวาจาอันเป็นสุภาษิต เป็นบทอันประกอบด้วยเหตุผลแล้วพิจารณาเห็นเนื้อความได้ถ่องแท้ตามความเป็นจริงโดยอุบายอันชอบ จึงได้ล้างบาปทั้งปวง เป็นผู้ไม่มีมลทิน หมดจด สะอาด เป็นทายาทผู้บริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า เป็นบุตรผู้เกิดแต่พระอุทรของพระพุทธเจ้า เราได้หยั่งลงสู่กระแสน้ำ คือ มรรคอันมีองค์ ๘ ลอยบาปทั้งปวง แล้วเราได้บรรลุวิชชา ๓ และได้ทำกิจพระพุทธศาสนาเสร็จแล้ว (ขุททกนิกาย เถรคาถา)
[11] มาเส มาเส สหสฺเสน โย ยเชถ สตํ สมํ เอกฺจ ภาวิตตฺตานํ มุหุตฺตมปิ ปูชเย สา เยว ปูชนา เสยฺโย ยฺเจ วสฺสสตํ หุตํ ฯ การบูชาของผู้ที่บูชาท่านผู้มีตนอันอบรมแล้วคนหนึ่ง แม้เพียงครู่หนึ่ง ประเสริฐกว่าการบูชาของผู้ที่บูชาด้วยทรัพย์พันหนึ่งตลอดร้อยปีเสมอทุกเดือนๆ การบูชาตั้งร้อยปีนั้นจะประเสริฐอะไร (ขุททกนิกาย ธรรมบท สหัสวรรค)
[12] พิธีถอนคำสาบนี้ ผู้เขียนได้พบด้วยตนเองครั้งแรกที่กรุงเทพฯ เจ้าอาวาสเป็นถึงกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งก็สงสัยว่าไฉนยังจัดพิธีเช่นนี้ อีกอย่างที่น่าตั้งข้อสังเกตคือคำสาบในที่นี้หมายถึงอะไร? หากเชื่อว่ามีผู้ศักดิ์สิทธิ์ทรงพลานุภาพสาบไว้ ทำให้คนต้องตกทุกข์ได้ยาก ก็ถือเป็นมิจฉาทิฏฐิขัดกับหลักการของพุทธศาสนาอย่างมาก นั่นคือเวรกรรมเป็นของส่วนตัว ไม่มีใครสามารถสาบให้ผู้อื่นดีหรือชั่วตามความปรารถนาของตนได้ฯ แม้การบรรลุธรรรม พระพุทธเจ้าจะเสกให้สาวกบรรลุก็ไม่ได้ฯ หากเชื่อว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับคำสาบหรือคำอวยพร มนุษย์ทุกคนคงมีความสุข ร่ำรวยกันถ้วนหน้าโดยไม่ต้องดิ้นรนขวนวายแต่อย่างใดฯ
[13] ไม่ใช่ว่าการถวายสังฆทานไม่มีประโยชน์เลย เป็นแต่เพียงการทำทานธรรมดาเท่านั้นเอง เพราะความชั่วที่ทำแล้วไม่สามารถลบล้างได้ด้วยอามิสหรือสิ่งของ(หากเป็นเช่นนั้นจริงคนรวยก็ถวายสังฆทานครั้งเดียว ๑๐๐ ล้านบาทและคงจะทำแท้งไปตลอดชีวิตได้) การทำเช่นนี้จึงเป็นเพียงการปลอบใจเบื้องต้น และมีโอกาสสงเคราะห์ผู้มีศีลด้วยปัจจัยคืออาหารเป็นต้นเท่านั้น แต่ผู้ที่ทำความผิดมาแล้วต้องรู้สึกสำนึกในโทษและไม่ทำสิ่งนั้นอีกต่อไป กอปรกับต้องทำความดีอยู่เรื่อยๆ(ความจริงทุกคนต้องทำความดีเช่นนี้อยู่แล้วไม่เฉพาะแต่คนที่ทำผิดมา) ทั้งให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา(ปฏิบัติธรรม) เพิ่มพูนปัญญาให้เกิดแก่ตนอยู่เสมอฯลฯ จึงจะช่วยคนทำผิดได้ ส่วนเจ้ากรรมนายเวรก็ยังเชื่อผิดๆกันว่าต้องเป็นดวงวิญญาณตามมาทำร้าย เช่นหักพวกมาลัยรถให้ชนเสาไฟฟ้าเป็นต้น ที่ว่าความเชื่อเช่นนี้ผิดเพราะหากเป็นเช่นนั้นจริงฆาตกรทั้งหลายก็คงไม่ต้องรอให้ตำรวจมาจับ เดี๋ยวเขาก็จะถูกดวงวิญญาณเจ้ากรรมนายเวรบีบคอตายไปเองฯ เรื่องกฎแห่งกรรมนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่สามารถตีความตามตัวได้ กฎแห่งกรรมของมนุษย์เขาจะทำงานเองเหมือนศาลยุติธรรม(ที่ยุติธรรมจริงๆ) เช่นเรื่องฆาตกรรม คนร้ายที่ถูกจับได้และประหารชีวิตเป็นเพียงโทษในปัจจุบันเท่านั้นและโทษนี้ก็เป็นกฎที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเอง จึงไม่แน่นอน นั่นคือเขาอาจรอดชีวิตอย่างลอยนวนก็ได้(ทั้งไม่มีเจ้ากรรมนายเวรมาทำร้าย) แต่กฎแห่งกรรม(ไม่ต้องอาศัยนายสุวรรณมาบันทึก) ซึ่งเขาเป็นคนทราบและเจตนาทำด้วยตนเองจะให้ผลแก่เขาโดยทางใดทางหนึ่ง หรือบางทีอาจไม่ใช่ชาตินี้(กรณีที่มีบุญค้ำชูอยู่มาก) กฎนี้จึงเป็นเหมือนศาลยุติธรรมดังกล่าวแล้วแต่ต้น นั่นคือศาลจะเป็นผู้ลงโทษเอง มิใช่คู่อริ เพราะหากเป็นคู่อริตอบสนองกัน เวร(โทษ)ก็จะไม่สิ้นสุด ผลัดกันทำ ถือเป็นการสร้างความชั่วเพิ่มขึ้นอีกฯ จึงให้สบายใจได้ว่าไม่มีดวงวิญญาณที่ไหนจะมาคอยหลอกหลอนหรือทำร้ายมนุษย์ ส่วนเจ้ากรรมนายเวรที่มีจริงคือคนในชาตินี้ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ เพราะเราอาจเคยทะเลาะสร้างศรัตรูกับผู้ใดไว้ วิธีการจะทำให้เขารักเราจึงไม่ใช่การถวายสังฆทาน แต่เป็นการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และให้อภัยกัน พุทธศาสนามีการแผ่เมตตา สิ่งนี้มิใช่มีไว้เพื่อเป็นคาถามหาเสน่ห์ แต่เพื่อกล่อมเกลาใจเราเองให้เป็นคนมีเมตตากรุณา ไม่ทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่นฯ หากไม่เข้าใจแม้แต่เรื่องเหล่านี้ พิธีกรรมง่ายๆเช่นถวายสังฆทานก็จะเป็นไปเพื่อสนองมิจฉาทิฏฐิอีกตามเคย
[14] “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้.....ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” เอหิ ภิกฺขูติ ภควา อโวจ สฺวากฺขาโต ธมฺโม จร พฺรหฺมจริยํ สมฺมา ทุกฺขสฺส อนฺตกิริยายาติ ฯ วินัยปิฎก มหาวรรค ข้อ ๑๘
[15] แน่นอนว่าพุทธศาสนามิใช่อาศัยเสียงส่วนใหญ่เสียทีเดียว แต่อาศัยความถูกต้องเป็นหลัก เช่นการอุปสมบท แม้ภิกษุส่วนใหญ่เห็นด้วย เพียงรูปเดียวเท่านั้นเห็นแย้งแต่สามารถอธิบายเหตุผลที่ตรงตามธรรมวินัยได้เป็นต้นว่า ท่านทราบว่าผู้กำลังจะบวชเป็นคนชั่ว เคยทำอาบัติปาราชิกมาแล้วสมัยบวชครั้งก่อน ที่ประชุมก็ต้องเชื่อผู้นั้นฯ