เซ็กส์ กับ พุทธ พระไพศาล วิสาโล
OCTOBER 11 Sex issue
สำนักพิมพ์ openbooks
มองในแง่ของการแพร่พันธุ์ การมีเซ็กส์ของมนุษย์แต่ไหนแต่ไรมานับว่าเป็นความพยายามที่สิ้นเปลืองเป็นอย่างยิ่ง ส่วนใหญ่เป็นการกระทำที่สูญเปล่า เพราะมนุษย์มีเซ็กส์โดยไม่ล่วงรู้หรือสนใจเลยว่าฝ่ายหญิงนั้นอยู่ในภาวะที่พร้อมจะมีลูกหรือไม่ จะว่าไปแล้วการมีเซ็กส์ของมนุษย์ทั้งชายและหญิงเกิดขึ้นได้ทุกวันแม้ว่าจะเป็นช่วงที่ฝ่ายหลังไม่ได้อยู่ในระยะตกไข่ ซึ่งต่างจากสัตว์ส่วนใหญ่ในโลกนี้ที่การมีเซ็กส์จะเกิดขึ้นต่อเมื่อตัวเมียพร้อมจะให้การปฏิสนธิเท่านั้น โดยฝ่ายหลังนอกจากจะรู้ด้วยตัวเองแล้ว ยังมีอาการหรือพฤติกรรมที่ตัวผู้ทั้งหลายสามารถรับรู้ได้ เช่น มีอาการบวมแดงที่อวัยวะเพศ หรือส่งกลิ่นให้รู้ รวมทั้งหันอวัยวะเพศให้ ดังกรณีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเมื่ออยู่ในช่วงเป็นสัด ดังนั้นการมีเซ็กส์แต่ละครั้งจึงมีโอกาสที่จะก่อให้เกิดการปฏิสนธิมาก ซึ่งนำไปสู่การเกิดชีวิตใหม่และการแพร่พันธุ์ต่อไป
แต่มองในอีกแง่หนึ่งถึงแม้ว่าการมีเซ็กส์ส่วนใหญ่ของมนุษย์จะไม่ก่อให้เกิดชีวิตใหม่ แต่การที่ร่างกายของทั้งฝ่ายหญิงและชายพร้อมจะมีเซ็กส์ได้ไม่ว่าวันไหนของปี ก็มีส่วนทำให้เกิดการผูกพันกันเป็นคู่และอยู่ด้วยกันอย่างน้อยก็ช่วงระยะเวลาหนึ่ง แทนที่จะมีเซ็กส์เฉพาะในฤดูติดสัดแล้วก็แยกย้ายกันไปคนละทิศละทางหลังจากหมดสัดแล้ว ซึ่งเท่ากับปล่อยให้ตัวเมียเป็นฝ่ายดูแลลูกที่เกิดมาหลังจากนั้นฝ่ายเดียว การอยู่ด้วยกันเป็นคู่ในช่วงเวลาหนึ่งนั้นมีความสำคัญสำหรับการดูแลลูกน้อยที่เกิดมาเพื่อให้เติบใหญ่จนพึ่งตนเองได้ เพราะมนุษย์นั้นต่างจากสัตว์ชนิดอื่นที่ต้องการการดูแลอย่างมากและเป็นระยะเวลานานหลังจากคลอดออกมาแล้ว หากปราศจากการดูแลอย่างครอบครัวแล้ว การแพร่พันธุ์ของมนุษย์คงเป็นไปได้ยาก
อย่างไรก็ตามยังเป็นที่ถกเถียงว่าเซ็กส์จำเป็นแค่ไหนสำหรับการสร้างความผูกพันให้อยู่เป็นคู่ เพราะชะนีก็อยู่เป็นคู่แบบผัวเดียวเมียเดียวนานเป็นปี ๆโดยไม่มีเซ็กส์เลย ตรงกันข้ามกับชิมแปนซีกับโบโนโบ ญาติที่ใกล้ชิดของมนุษย์ แม้มีเซ็กส์บ่อยกว่ามนุษย์แต่ก็ไม่ได้ผูกพันกันเป็นคู่เลย ประเด็นนี้เห็นจะต้องปล่อยให้นักวิทยาศาสตร์หาคำตอบต่อไป[1]
แต่ถึงแม้ยังหาคำตอบได้ไม่แน่ชัดว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้เซ็กส์ของมนุษย์แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่น และมันมีบทบาทอย่างไรในกระบวนการสืบเผ่าพันธุ์มนุษย์นอกเหนือจากการเป็นเงื่อนไขให้เกิดการปฏิสนธิขึ้นมา แต่ที่แน่ ๆ ก็คือเซ็กส์เป็นที่มาแห่งความสุขอย่างหนึ่งของมนุษย์ นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าเหตุใดผู้คนจำนวนไม่น้อยจึงมีเซ็กส์ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไม่ได้ก่อให้เกิดชีวิตใหม่แต่อย่างใด เช่น การมีเซ็กส์ขณะตั้งครรภ์ หรือหลังจากหมดประจำเดือนแล้ว ยังไม่ต้องพูดถึงการมีเซ็กส์กับเพศเดียวกัน จะว่าไปแล้วการมีเซ็กส์ส่วนใหญ่ในเวลานี้ไม่ได้ต้องการให้เกิดลูกด้วยซ้ำ เพราะเหตุนี้ถุงยางหรือการคุมกำเนิดด้วยวิธีต่าง ๆจึงเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้กระทั่งในหมู่ผู้ที่สัมพันธ์กันฉันคู่รัก
เซ็กส์มิใช่สิ่งที่จำเป็นต่อการอยู่รอดของบุคคลก็จริง แต่มันเป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วทั้งโลกโหยหา เพราะมันมีเสน่ห์ดึงดูดใจในฐานะที่เป็นความสุขอย่างหนึ่ง เป็นธรรมดาของมนุษย์ที่ว่า เราไม่ได้ต้องการแค่อยู่รอดเท่านั้น หากยังต้องการความสุขด้วย สำหรับคนทั่วไป หากเพียงแค่อยู่รอด แต่ไร้ความสุข ชีวิตจะมีประโยชน์อะไร แม้แต่นักโทษในเรือนจำ ทั้ง ๆ ที่มีปัจจัยสี่ครบถ้วน ก็ยังต้องดิ้นรนแสวงหาความสุข และความสุขอย่างหนึ่งที่เขาดิ้นรนไขว่คว้า รองลงมาจากอิสรภาพก็เห็นจะได้แก่เซ็กส์นั่นเอง
ความสุขที่คนส่วนใหญ่รู้จักและคุ้นเคย คือความสุขที่เกิดจากการเสพทางประสาททั้งห้า ซึ่งพุทธศาสนาเรียกรวม ๆ ว่า กามสุข เทียบกับกามสุขชนิดต่าง ๆ แล้ว เซ็กส์เป็นความสุขที่สิ้นเปลืองและอันตรายอย่างมาก อาจจะถึงมากที่สุด(หากไม่นับสิ่งเสพติดทั้งหลาย) นี้อาจเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่สัตว์ส่วนใหญ่ในโลกมีเซ็กส์เท่าที่จำเป็น คือมีเซ็กส์เพื่อการแพร่พันธุ์หรือเมื่อตัวเมียเป็นสัดเท่านั้น ทั้งนี้เพราะการผลิตน้ำเชื้อนั้นใช้พลังงานของตัวผู้ไปไม่น้อย (หนอนที่มีการกลายพันธุ์จนลดการผลิตน้ำเชื้อจะมีชีวิตยืนยาวกว่าหนอนทั่วไป) นอกจากนั้นเซ็กส์นั้นทำให้เสียเวลาหากิน และอาจเป็นเป้านิ่งให้ศัตรูทำร้ายได้ขณะที่กำลังมีเซ็กส์ ยังไม่ต้องพูดถึงการแก่งแย่งตัวเมียหรือผู้หญิงซึ่งอาจทำให้เกิดการต่อสู้จนพิกลพิการ สำหรับมนุษย์เซ็กส์มีอันตรายมากกว่านั้น เพราะสามารถทำให้ช็อคหรือหัวใจวายตายคาเตียงได้ ยิ่งกว่านั้นยังอาจผลักดันให้ทำผิดทำนองคลองธรรมหรือกฎเกณฑ์ (เช่น มีชู้กับคู่ครองของคนอื่น มีเซ็กส์ต้องห้าม หรือข่มขืนใจผู้อื่น) หรือไม่ก็เป็นเหตุให้มีการทำร้ายกันเมื่ออีกฝ่ายนอกใจ ซึ่งอาจหมายถึงความตายของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้
จริงอยู่เซ็กส์เป็นบ่อเกิดหรืออยู่เบื้องหลังแรงบันดาลใจทางศิลปวิทยาของมนุษย์มากมายหลายประการ โดยเฉพาะวรรณกรรม ดนตรี ศิลปกรรม ซึ่งให้ความเพลิดเพลินแก่มนุษย์ ยังไม่ต้องพูดถึงความสุขใจเมื่อได้มีเซ็กส์สมปรารถนา แต่ในเวลาเดียวกันก็สามารถสร้างความทุกข์แก่ผู้คนได้มากมาย ไม่เพียงความทุกข์ทางกายดังได้กล่าวมาเท่านั้น หากยังรวมถึงความทุกข์ทางใจ เริ่มตั้งแต่ความรุ่มร้อนกระวนกระวายเมื่อเกิดความปรารถนาทางเพศ การดิ้นรนไขว่คว้าเพื่อสนองความปรารถนาให้สมอยาก พยายามทำทุกอย่างเพื่อแย่งชิงหรือหว่านล้อมชักชวนให้มาเป็นของตน ขณะที่ยังไม่ได้มาก็กระสับกระส่าย เคร่งเครียด หากผิดหวังก็ทุกข์ระทม โกรธแค้น อาจถึงขั้นทำร้ายตัวเองและผู้อื่น แต่ถึงแม้จะสมปรารถนาก็ใช่ว่าจะไม่มีทุกข์ เพราะเมื่อได้มาแล้วก็ต้องรักษาด้วยความหวงแหน พยายามป้องกันกีดขวางมิให้คนอื่นแย่งชิงไป ขณะเดียวกันก็มีความวิตกกังวลว่าจะต้องสูญเสียไป ไม่มั่นใจหรือถึงกับหวาดระแวงว่าอีกฝ่ายจะทิ้งตนไปเมื่อใด ต้องเหนื่อยกับการรักษาความผูกพันเอาไว้
ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงการพยายามให้มีสุขสมอยากจากเซ็กส์อย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อได้เสพสัมผัสนาน ๆ รสชาติแห่งเพศรสที่เคยเร้าใจก็เริ่มจางคลาย ทำให้ต้องดิ้นรนเพื่อรักษารสชาตินั้นเอาไว้ มีการคิดค้นวิธีการใหม่ ๆ ไม่ซ้ำเดิม จนอาจถึงขั้นวิปริตพิสดาร เพื่อให้เกิดความตื่นเต้นเร้าใจอยู่เสมอ แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไร ส่วนใหญ่ก็หนีความเบื่อหน่ายไม่พ้น ในที่สุดก็รู้สึกไม่พอใจในคู่ของตน อยากหาคนใหม่มาตอบสนองความต้องการ แต่ความพอใจนั้นก็มักจะไม่ยั่งยืน ไม่ช้าไม่นานก็สอดส่ายมองหาคนใหม่อีก เป็นเช่นนี้ไม่จบสิ้น ยิ่งมีข้อจำกัดด้านกฎเกณฑ์ เช่น กฎหมาย ศีลธรรม ประเพณี เศรษฐกิจ ทำให้ไม่สามารถสนองความต้องการอย่างสมอยาก ก็ยิ่งทุกข์ใจมากขึ้น อาจถึงขั้นระบายความทุกข์ใส่คนอื่น หรือแสวงหาทางออกที่ผิดเช่นเข้าหาอบายมุขสิ่งเสพติด แต่หากสามารถแก้ปัญหาได้ ก็สุขเพียงชั่วคราวเพื่อกลับมาทุกข์ใหม่ เป็นวัฏจักรแห่งสุขและทุกข์ที่หมุนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เซ็กส์มีคุณก็จริงแต่มีโทษไม่น้อย เช่นเดียวกับกามสุขอื่น ๆ พระพุทธเจ้าอุปมากามสุข (ซึ่งรวมถึงเซ็กส์)ว่า เหมือนกับ การจุดไฟโดยใช้หญ้าและไม้เป็นเชื้อ แม้มันจะให้แสงสว่าง แต่ก็ไม่เจิดจ้า เพราะมีควัน ซึ่งไม่เพียงบดบัดแสงให้หมองมัว หากยังทำให้ระคายเคืองด้วย ในบางที่ยังทรงเปรียบว่า เหมือนกับคบเพลิงทำด้วยหญ้าที่บุคคลถือทวนลม แม้จะให้แสงสว่าง แต่หากถือไว้นาน ๆ มันก็จะไหม้มือไหม้แขนและอวัยวะต่าง ๆ อาจทำให้ถึงตายได้
จะว่าไปแล้วปัญหาสำคัญไม่ได้อยู่ที่เซ็กส์มากเท่ากับท่าทีหรือการปฏิบัติของเราต่อมัน เช่นเดียวกับคบเพลิงที่ทำด้วยหญ้า หากเราถือไว้ไม่ยอมปล่อย มันย่อมเป็นอันตรายต่อเราฉันใด เซ็กส์ก็ฉันนั้น หากเราหมกมุ่นหลงใหลมัน ไม่รู้จักปล่อยวาง มันก็ย่อมก่อโทษแก่ชีวิตเราทั้งกายและใจ พุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธเซ็กส์ เพราะเห็นว่ามันเป็นที่มาแห่งความสุขซึ่งปุถุชนย่อมมีใจใฝ่ปรารถนา และยากจะหลีกหนีพ้นจากมันได้ แต่เมื่อจะเกี่ยวข้องกับมันแล้ว ก็ควรเกี่ยวข้องอย่างถูกต้อง คือไม่ให้มันเป็นโทษทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น อาทิเช่น มีเซ็กส์กับคู่ครองของตนเท่านั้น ไม่ล่วงละเมิดคู่ครองของคนอื่น ตลอดจนรู้ประมาณในการมีเซ็กส์ ไม่หมกมุ่นมัวเมาแม้กระทั่งกับคู่ครองของตนจนไม่เป็นทำกิจการงาน
แนวทางดังกล่าวเรียกว่าศีล ซึ่งเน้นการควบคุมหรือกำกับพฤติกรรม แต่ศีลนั้นไม่อาจทำให้เราเกี่ยวข้องกับเซ็กส์ในขอบเขตที่ควรได้อย่างแท้จริง หากว่าใจของเรานั้นยังโหยหาหรือหลงใหลครุ่นคิดถึงมันเป็นนิจ ดังนั้นนอกจากศีลแล้ว การฝึกฝนทางจิตจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่การฝึกใจให้มีแรงกดข่มราคะหรืออดกลั้นต่ออารมณ์ปรารถนาเท่านั้น อันที่จริงหากทำเพียงแค่นั้นก็มีแต่ส่งเสริมให้มันก่อกวนจิตใจไม่หยุดหย่อน เพราะอะไรก็ตามที่ถูกกดข่ม มันย่อมผุดโผล่รบกวน เหมือนลูกยางบนผิวน้ำ ยิ่งเรากดให้จมน้ำ มันก็ยิ่งมีกำลังพุ่งขึ้นมาจากน้ำ จริงอยู่เมื่อกดข่มอารมณ์ทางเพศอาจหายไปชั่วขณะ แต่ก็จะกลับมารังควานใหม่ในยามเผลอ หาไม่ก็ทดเทิดระบายออกในทางอื่นซึ่งมักเป็นโทษไม่น้อยกว่ากัน
แทนที่จะมุ่งกดข่มมันอย่างเดียว สิ่งที่ควรทำมากกว่าก็คือ ทำให้จิตโหยหาความสุขจากเซ็กส์น้อยลง นั่นคือ การเข้าถึงความสุขที่ประณีตกว่า เช่น ความสุขที่เกิดจากความสงบ เกิดจากจิตที่เป็นสมาธิ ปลอดโปร่ง แจ่มใส เป็นอิสระ ซึ่งต่างจากความสุขทางเพศ ที่ต้องอาศัยการเร้าจิตกระตุ้นกาย แฝงด้วยความเครียดและความร่านรน รวมทั้งความยึดติดใฝ่ครอบครอง เป็นธรรมชาติของคนเราที่ต้องการความสุขหล่อเลี้ยงใจ ตราบใดที่ไม่พบความสุขที่ดีกว่า เราย่อมหลงใหลติดพันความสุขจากกามคุณรวมทั้งจากเซ็กส์ แต่เมื่อได้สัมผัสกับความสุขที่ประณีต ซึ่งเป็นความสงบ รำงับ ผ่อนคลายทั้งกายและใจ การพึ่งพิงความสุขจากเซ็กส์ก็จะน้อยลง ส่วนหนึ่งเพราะได้พบสิ่งที่ดีกว่า อีกส่วนหนึ่งเพราะเห็นโทษของมันชัดขึ้น ที่สำคัญก็คือจิตใจเป็นทุกข์หรือถูกบีบคั้นน้อยลง เหมือนคนที่เคยกระหายน้ำ เมื่อได้ดื่มน้ำสะอาด ก็จะถวิลหาน้ำสีจัดจ้านน้อยลง โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่ามันมีโทษต่อร่างกาย ตรงกันข้ามกับคนที่หิวน้ำ และไม่เคยมีน้ำสะอาดมาดับกระหายเลย ย่อมหลงใหลในน้ำสีชวนมอง แม้จะรู้หรือมีคนบอกว่าน้ำนั้นมีโทษต่อร่างกาย แต่ก็ยากจะหักห้ามใจได้ เพราะกำลังทุกข์เพราะความหิวกระหาย ที่จริงอย่าว่าแต่น้ำสีเลย แม้น้ำขุ่นข้นในปลัก ก็พร้อมจะเข้าไปวักดื่มโดยไม่สนใจอันตรายที่จะเกิดขึ้นตามมา
ความสุขที่ประณีตมีหลายระดับ อย่างพื้น ๆ ที่เข้าถึงง่าย คือความสุขจากความสงบเมื่ออยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่สงัด ความสุขเพราะอิ่มเอิบที่ได้ทำความดี ความสุขจากมิตรภาพอันอบอุ่นสูงขึ้นไปกว่านั้นก็คือความสุขจากสมาธิภาวนา เมื่อจิตสงบรำงับ ไร้ความว้าวุ่นฟุ้งซ่าน มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ไปจนถึงความสุขจากฌานหรือสมาธิขั้นสูง ซึ่งเรียกว่าฌานสุข ซึ่งเป็นสุขที่ไม่ต้องพึ่งพิงสิ่งภายนอก เป็นสุขที่ให้ความอิสระอย่างยิ่ง
ความสุขประณีตดังกล่าวปุถุชนคนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ แม้ยังมีชีวิตคู่และมีความสุขจากเซ็กส์อยู่ แต่ใจก็ไม่ลุ่มหลงติดพันจนเป็นทาสของมัน ไม่ดิ้นรนแส่ส่ายเพื่อเสพมันไม่หยุดหย่อน หากแต่เกี่ยวข้องกับมันอย่างรู้จักประมาณและอยู่ในขอบเขตของศีลธรรม ไม่ก่อปัญหาแก่ตนเองและผู้อื่น ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องกดข่มหรือฝืนทนด้วยความทุกข์ กล่าวอีกนัยหนึ่งความสุขจากเซ็กส์จะมีเสน่ห์น้อยลงเมื่อเราได้สัมผัสกับความสุขประณีต พระพุทธองค์เปรียบบุคคลที่บริโภคกามคุณโดยไม่หลงใหลว่า เป็นเสมือนเนื้อป่าที่นอนทับบ่วงที่พรานวางเอาไว้ แต่ตัวไม่ติดบ่วง
อุปมาดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าในทัศนะของพุทธศาสนา คนที่เกี่ยวข้องกับกามคุณ(และเซ็กส์)โดยไม่ติดพันหรือเป็นทาสของมันนั้น มีอยู่ เป็นไปได้ และเป็นสิ่งที่ควรทำ อย่างไรก็ตามพุทธศาสนามองว่า มนุษย์เราสามารถทำได้มากกว่านั้น คือสามารถเข้าถึงความสุขประณีตอย่างสมบูรณ์จนจิตไม่ปรารถนาความสุขจากกามอีกต่อไป รวมทั้งไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาเพศรสเลยแม้แต่น้อย ทำให้ปลอดพ้นจากโทษภัยของมันอย่างสิ้นเชิง จึงเป็นอิสระอย่างเต็มที่ อุปมาเหมือนเนื้อป่าที่เที่ยวไปในป่าใหญ่อย่างอิสระ ปลอดโปร่งโล่งใจ ไม่ต้องระวังภัย เพราะอยู่ไกลจากนายพราน
บุคคลกลุ่มหลังนี้แหละที่พระองค์ทรงดำริถึงเมื่อทรงตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมา กล่าวคือเพื่อเปิดโอกาสให้คนที่ต้องการเข้าถึงความสุขอันสงบเย็นเป็นอิสระได้มาฝึกฝนอบรมตนโดยมีวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อจุดมุ่งหมายดังกล่าว ชุมชนที่พระองค์ทรงตั้งขึ้นนั้นมีเงื่อนไขประการหนึ่งก็คือการละเว้นจากการมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงการแสวงหาความสุขจากเพศรสด้วยสัมผัสทางกาย เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้สมาชิกในชุมชนนี้ใช้ความเพียรพยายามอย่างเต็มที่ในการเข้าถึงความสุขประณีตมาทดแทน หาไม่แล้วหากเปิดโอกาสให้มีความสุขจากเพศรสอย่างฆราวาส ก็อาจจะจะข้องแวะกับมันจนติดเพลินและละเลยการฝึกตนเพื่อเข้าถึงความสุขอันประณีต อันเป็นจุดหมายสำคัญของคณะสงฆ์ ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงปัญหาอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา เช่น ความขัดแย้งในชุมชนสงฆ์เพราะแย่งชิงคู่ครอง ความไม่สามารถทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมอย่างเต็มที่เพราะมีภาระด้านครอบครัว รวมไปถึงความไม่พอใจของญาติโยมเมื่อเห็นปัจจัยสี่ที่ตนถวายถูกนำไปใช้ในทางส่วนตัว เช่น เลี้ยงดูคู่รักหรือลูกที่เกิดมา ฯลฯ
อย่างไรก็ตามเป็นธรรมดาอยู่เองที่ในชุมชนที่มีเงื่อนไขแบบนี้ หากละเลยหรือไม่ประสบความสำเร็จในการฝึกฝนจิตใจให้เข้าถึงความสุขอันประณีต เช่น สุขจากสมาธิ หรือความสงบเย็นจิตใจก็จะยิ่งเป็นทุกข์เพราะสุขจากเพศรสก็ไม่ได้ประสบสัมผัส จิตใจที่เหี่ยวแห้งและเคร่งเครียดเช่นนี้ย่อมโหยหาความสุขจากเพศรสหนักขึ้น อาจจะยิ่งกว่าฆราวาสซึ่งยังมีความสุขจากเพศรสมาหล่อเลี้ยงใจด้วยซ้ำ ผลที่ตามมาก็คือการหวนไปหาเซ็กส์ หากหวนด้วยการสึกไปเป็นฆราวาส ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร แต่ถ้ากลับไปเสพเพศรสขณะที่เป็นภิกษุ ก็จะเกิดผลเสียตามมาทั้งต่อตนเองและคณะสงฆ์ รวมทั้งศรัทธาของญาติโยมที่มุ่งหวังให้ท่านเป็นแบบอย่างของผู้พากเพียรเพื่อจิตที่เป็นอิสระเหนือโลก หรืออย่างน้อย ๆ ก็เป็นแบบอย่างในทางชีวิตพรหมจรรย์
อันที่จริงแม้จะไม่ยอมหวนไปหาเซ็กส์ แต่หากไม่สนใจหรือไม่สามารถเข้าถึงความสุขประณีตในระหว่างที่เป็นพระเลย พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงสรรเสริญ ทรงถือว่าตกต่ำย่ำแย่กว่าฆราวาส ซึ่งอย่างน้อยก็ยังมีความสุขอย่างหยาบ ๆ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ทรงอุปมาภิกษุเช่นนี้เหมือนดุ้นฟืนเผาผี ที่ถูกไฟไหม้ปลายทั้งสองจนดำเป็นถ่าน ส่วนตรงกลางก็เปื้อนคูถ ใช้ประโยชน์ไม่ได้เลยไม่ว่าในบ้านหรือในป่า
ควรกล่าวด้วยว่าสำหรับบุคคลประเภทหลังนี้ไม่ว่าเป็นพระหรือฆราวาส สิ่งเดียวที่จะช่วยให้ไม่กลับไปหาเซ็กส์ ก็คือการกดข่มความรู้สึกทางเพศจนถึงกับรู้สึกรังเกียจต่อต้านอย่างรุนแรง ซึ่งอาจนำไปสู่การกดดันบีบคั้นร่างกายของตน (ที่ถึงกับตัดอวัยวะเพศก็มีอยู่) วิธีการดังกล่าวพุทธศาสนาถือว่าเป็นการเบียดเบียนตน อีกทั้งยังสร้างปมทางจิตใจที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงความสุขอันประณีต[2]
สรุปก็คือ สำหรับฆราวาสที่ยังเกี่ยวข้องกับเซ็กส์อยู่ ก็ควรเข้าถึงความสุขประณีตด้วย เพื่อไม่ให้ลุ่มหลงในเซ็กส์จนเป็นทาสของมัน ส่วนพระก็ควรฝึกฝนตนจนมีความสุขประณีตมาทดแทนความสุขจากเซ็กส์ แม้ไม่เกี่ยวข้องกับมัน จิตใจก็แจ่มใส แช่มชื่น เบิกบาน อันเป็นผลจากสุขประณีตนั้น อันที่จริงแม้แต่ฆราวาส พระพุทธองค์ก็ทรงแนะนำให้ลองว่างเว้นจากการมีเซ็กส์บ้าง เพื่อเปิดโอกาสให้ตนได้พบกับความสุขที่ไม่ต้องอิงเซ็กส์ ด้วยเหตุนี้จึงมีบัญญัติเกี่ยวกับอุโบสถศีลหรือศีล ๘ โดยงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์สัปดาห์ละครั้ง(ทุกวันพระ) หรือไม่ก็ถือปฏิบัติทุกวันในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ในกระบวนการฝึกฝนจิตเพื่อให้เข้าถึงความสุขประณีตนั้น สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากก็คือ การฝึกจิตเพื่อรับมือกับอารมณ์ทางเพศที่แวะเวียนเข้ามา นอกจากการมีสติรู้ทันมัน ไม่กดข่มมันด้วยความรู้สึกรังเกียจต่อต้านผลักไสแล้ว วิธีหนึ่งที่นิยมก็คือการพิจารณาให้เห็นถึงความไม่งามของร่างกาย ทั้งด้วยการนึกภาพถึงอวัยวะต่าง ๆ ที่อยู่ใต้ผิวอันดูสวยงาม หรือพิจารณาถึงร่างกายที่เน่าเปื่อยเมื่อเป็นซากศพ วิธีการดังกล่าวอาจทำให้รู้สึกว่าร่างกายนั้นน่าเกลียดจนไม่รู้สึกหวงแหนหรืออยากครอบครองใกล้ชิด แต่พึงตระหนักว่านั่นเป็นอุบายเพื่อระงับหรือบรรเทาราคะชั่วขณะ มิใช่เป็นการรื้อถอนราคะออกไปจากใจอย่างสิ้นเชิง การทำเช่นนั้นเรียกว่าวิธีสมถะ คือทำให้ใจสงบจากกิเลสเป็นครั้งคราว
การปลดเปลื้องใจให้เป็นอิสระจากราคะอย่างสิ้นเชิงนั้น มิได้เกิดจากการเห็นร่างกายนั้นน่าเกลียด แต่เกิดจากการเห็นว่าร่างกายนั้นไม่เที่ยง เต็มไปด้วยทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน ที่จะยึดถือได้ ไม่อาจหวังความสุขจากร่างกายนี้อย่างแท้จริง เช่นเดียวกับจิตซึ่งตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)เช่นเดียวกัน การเห็นดังกล่าวมิได้เกิดจากการคิดเอา แต่เกิดจากการมีปัญญาแจ่มแจ้งถึงใจ ไม่ใช่รู้จำ แต่รู้แจ้ง เกิดขึ้นจากวิธีที่เรียกว่าวิปัสสนา ปัญญาเช่นนี้ทำให้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ อย่างที่มันเป็น คือเห็นมันเป็นธรรมดา ไม่มีบวกไม่มีลบ เพราะบวกหรือลบ สวยหรืองามนั้น เกิดจากการตีค่าหรือให้ความหมายของมนุษย์เอง ธรรมชาติไม่รับรู้ด้วย เพราะธรรมชาติเป็นกลาง ๆ ปัญญาดังกล่าวทำให้ใจเป็นกลางต่อทุกสิ่ง ไม่รู้สึกยินดียินร้าย ชอบหรือชัง ไม่ผลักไสหรือไขว่คว้า ด้วยเหตุนี้จึงรู้สึกต่อกามหรือเซ็กส์ว่าเป็นธรรมดา ไม่รู้สึกหลงใหลหรือรังเกียจ แม้แต่สุขหรือทุกข์ ก็เห็นว่าเท่ากัน ไม่ได้ปรารถนาสิ่งหนึ่งและปฏิเสธอีกสิ่งหนึ่ง เพราะทั้งสองอย่างก็ล้วนไม่เที่ยงเสมอกัน
ปัญญาเช่นนี้ทำให้จิตไม่ยึดติดถือมั่นในสิ่งใด หลุดพ้นจากความสำคัญผิดว่ามีตัวตน จิตเป็นอิสระอย่างสิ้นเชิง จึงเข้าถึงความสุขประณีตอย่างสมบูรณ์ เป็นสุขที่จิตไม่ได้ยึดติด หวงแหน หรือดิ้นรนไขว่คว้าสิ่งใด ๆ มาเป็นของตน เพราะมีปัญญาเห็นชัดว่าไม่มีอะไรที่ยึดถือหรือครอบครองได้เลย ผู้ที่เข้าถึงปัญญาดังกล่าวแม้ไม่ได้รังเกียจเซ็กส์ แต่ก็ไม่ได้ถวิลหาเพราะใจไม่มีความต้องการแต่อย่างใด ไม่ได้รังเกียจกายว่าไม่งาม เพราะรู้เท่าทันสมมติและเห็นชัดว่ากายนั้นก็เป็นสักแต่ว่าธาตุที่มาประกอบกัน ที่ว่างามหรือไม่งามนั้นก็เป็นเพียงสมมติเท่านั้น
ที่ว่ามานี้เป็นการกล่าวอย่างรวม ๆ โดยมีพุทธศาสนาแบบเถรวาทเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ส่วนพุทธศาสนาแบบมหายานและวัชรยานมีรายละเอียดที่แตกต่างไปบ้าง เพราะบางนิกายหรือบางสำนักไม่ได้เคร่งครัดกับการที่นักบวชจะต้องมีระยะห่างจากเซ็กส์ ในอดีตพระเซนในญี่ปุ่นถือว่าการไปเยี่ยมเยือนสำนักเกอิชาเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกจิต นั่นคือเพื่อทดสอบว่ามีสติตั้งมั่นพอที่จะเอาชนะสิ่งยั่วยวนได้หรือไม่ ถือเป็นเรื่องท้าทายว่าจะสามารถทำใจให้สงบได้หรือไม่ท่ามกลางบรรยากาศที่กระตุ้นเร้าอารมณ์ แต่ก็มีหลายคนที่เห็นว่าหากต้องการจะเป็นอิสระจากเซ็กส์ ก็ต้องเข้าไปมีประสบการณ์กับมันอย่างเต็มที่จนรู้จักมันอย่างทะลุปรุงโปร่ง ถึงจะวางมันได้ ยิ่งวัชรยานบางสำนัก เช่น ตันตระ ถึงกับเชื่อว่าเซ็กส์เป็นหนทางสู่การรู้แจ้งเลยทีเดียว และอนุญาตให้พระฝึกปฏิบัติด้วยวิธีดังกล่าว[3] อย่างไรก็ตามแนวทางเหล่านี้ไม่เป็นที่ยอมรับของวงการพุทธศาสนากระแสหลักไม่ว่ามหายานหรือวัชรยานเอง (แม้กระนั้นผู้ที่ปฏิบัติถึงขั้นมีเซ็กส์ในบางสำนักของนิกายดังกล่าวยังอาจเป็นพระอยู่ได้ ไม่ถึงขั้นต้องสึกหาลาเพศ ซึ่งต่างจากเถรวาทที่มีข้อกำหนดอย่างชัดเจนว่าถ้าทำเช่นนั้นก็ต้องคืนกลับสู่เพศฆราวาสสถานเดียว) แต่ในบางประเทศ การกำหนดให้พระต้องถือพรหมจรรย์นั้นทำได้ยากจนต้องอนุญาตให้พระมีครอบครัวได้ ดังประเทศญี่ปุ่น เพราะหาไม่แล้วก็คงจะหาผู้ประกอบพิธีทางศาสนา (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพิธีเกี่ยวกับคนตาย)ไม่ได้เลย ไม่ต้องพูดถึงการมีคนเฝ้าวัด
ทุกวันนี้พระมีจำนวนน้อยลงทั่วโลก ยกเว้นในประเทศที่พุทธศาสนากำลังขยายตัว เช่น ในยุโรปและอเมริกา แต่จำนวนพระที่เพิ่มขึ้นก็ไม่มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนฆราวาสที่หันมาสมาทานพุทธศาสนา การที่จำนวนพระมีแนวโน้มลดลงโดยเฉพาะในประเทศที่พุทธศาสนาหยั่งรากลึกมานาน สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของบริโภคนิยมที่แพร่ขยายอย่างกว้างขวาง อิทธิพลดังกล่าว (ซึ่งเน้นความสุขทางกามรวมทั้งจากเซ็กส์)ไม่เพียงทำให้ฆราวาสเห็นว่าการถือเพศพรหมจรรย์อย่างพระเป็นเรื่องยากลำบาก ไร้ความสุข หรือถึงกับเป็นการทรมานตนด้วยซ้ำ จึงไม่สนใจจะมาบวชพระ ขณะเดียวกันบริโภคนิยมที่แพร่เข้าไปถึงในวัดก็ทำให้พระจำนวนไม่น้อยโหยหาชีวิตอย่างฆราวาสเพื่อจะได้เสพกามสุขอย่างไม่มีข้อจำกัด จึงสึกหาลาเพศกันเป็นจำนวนมาก หาไม่ก็อยู่ด้วยความเครียด สภาพดังกล่าวยังชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของคณะสงฆ์ส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถเกื้อกูลให้พระได้เข้าถึงความสุขอันประณีต ทั้งนี้ก็เพราะละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญกับสมาธิภาวนานั่นเอง
อย่างไรก็ตามในหมู่ฆราวาสมีจำนวนไม่น้อยที่เห็นคุณค่าของความสุขประณีต และตระหนักถึงโทษหรือข้อจำกัดของความสุขจากเซ็กส์ คนเหล่านี้แม้จะไม่บวชเป็นพระ แต่ก็หันมาถือพรหมจรรย์กันมากขึ้น ขณะที่อีกส่วนหนึ่งแม้ยังละทิ้งเซ็กส์ไม่ได้ แต่ก็เข้าหาสมาธิภาวนามากขึ้น และได้รับความสุขประณีตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้พึ่งพาความสุขจากเซ็กส์น้อยลงเป็นลำดับ จนมีจำนวนไม่น้อยที่ถือพรหมจรรย์(หรือศีล ๘)เป็นช่วง ๆ
ในขณะที่พระจำนวนไม่น้อยเข้าหาความสุขจากเซ็กส์ ฆราวาสจำนวนมากกลับหันมาหาสมาธิภาวนาและประพฤติพรหมจรรย์ ช่องว่างระหว่างพระกับฆราวาสในยุคนี้จึงแคบลง ขณะเดียวกันการครองชีวิตแบบฆราวาสในส่วนที่สัมพันธ์กับชีวิตพรหมจรรย์ ก็มีความหลากหลายมากขึ้น อาจพูดได้ว่า วิถีสู่ความสุขประณีตในสังคมสมัยใหม่มีความหลากหลายมากขึ้น แต่ก็เทียบไม่ได้กับหนทางสู่ความสุขจากเซ็กส์ในยุคปัจจุบันซึ่งเปิดกว้างและมีความหลากหลายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
[1] อ่านประเด็นนี้รวมทั้งประเด็นที่ว่าเซ็กส์ของมนุษย์แตกต่างจากสัตว์ส่วนใหญ่ในโลกใน Jared Diamond Why is sex fun? Chapter 4 (Basic Books,1997)
[2] ประเด็นเรื่องกามสุขและสุขประณีต อ่านเพิ่มเติมใน พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตโต) พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ บทที่ ๑๕ (มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย,๒๕๕๒)
[3] อ่านประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติมใน John Stevens Lust for Englightenment Chapters 3,4 (Shambhala,1990)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น