วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พิธีกรรม ใครว่าสำคัญนัก?


พิธีกรรม สัญลักษณ์ที่สะท้อนความอ่อนแอของพุทธศาสนา
เจษฎา กันตเมธี ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๕
ศาสนาทั้งหลายเมื่อมีการแพร่ขยายไปสู่ถิ่นอื่นอันมิใช่แหล่งกำเนิดดั้งเดิม มักถูกผสมผสานกับความชื่อท้องถิ่นของพื้นที่นั้นๆ ขณะเดียวกันก็มีพัฒนาการขึ้นเรื่อยๆตามความเจริญของยุคสมัย นี้เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้แม้ศาสนาพุทธเองก็ตาม อย่างไรก็ดี การปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยก็มิใช่จะมีผลเสียอย่างเดียว หากแต่ต้องระวังไม่ให้หลักการสำคัญของพระศาสนาหายไปด้วย เช่นศาสนาที่นับถือพระเจ้า สามารถปรับปรุงการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ให้ทันสมัยได้โดยมีการศึกษาเรื่อง DNA, Cloning กระทั่งทฤษฎีสัมพัทธภาพฯลฯ แต่ท้ายที่สุดศาสนาเหล่านี้ก็ไม่สามารถจะยอมปรับตัวจนขั้นปฏิเสธพระผู้เป็นเจ้าผู้สร้างโลกและบอกว่าสรรพสิ่งล้วนเกิดจากวิวัฒนาการได้ฯ เพราะเป็นการปฏิเสธอัตลักษณ์ในศาสนาของตนและส่งผลให้คำสอนอื่นๆ(ซึ่งมาจากพระผู้เป็นเจ้า)พลอยเป็นโมฆะไปด้วยฯ
แน่นอนศาสนาพุทธไม่ได้มีการปฏิเสธวิทยาศาสตร์ในลักษณะดังกล่าว เพราะเป็นศาสนาที่เน้นสาระธรรมมากกว่าตัวผู้สร้าง พระพุทธเจ้าเองก็สารภาพว่าพระองค์เป็นแต่เพียงผู้ค้นพบ(Discover)[1] ธรรมะซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติแล้วเท่านั้น เสร็จแล้วก็นำความจริงที่ได้มาเปิดเผยให้เพื่อนมนุษย์รับทราบ ในเมื่อธรรมะของพุทธศาสนามีพื้นมาจากการค้นพบความจริงของธรรมชาติ ก็เป็นการสอดรับกับวิทยาศาสตร์ไปในตัว(ซึ่งทำการสืบหาความจริง/ความเป็นไปของธรรมชาติอยู่แล้ว) ทั้งพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์จึงไม่ได้มีความขัดแย้งถึงขั้นปฏิเสธคำสอนหรือความจริงของกันและกัน ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนประสงค์จะกล่าวในที่นี้คือปัญหาเรื่องการยอมปรับตัวด้านพิธีกรรม (คล้อยตามประเพณี/ความเชื่อดั้งเดิม) เพียงเพื่อสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่โดยไม่สนใจสาระธรรมว่าจะบิดเบือนไปหรือไม่ สิ่งนี้ได้ส่งผลให้พุทธศาสนาในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปมากจนภาพของพุทธศาสนา(รวมทั้งบุคคลกรคือพระสงฆ์เอง)ส่วนใหญ่ไม่ได้สะท้อนถึงลักษณะมีเหตุมีผล เป็นสัจธรรมหรือสร้างเสริมปัญญาเพื่อพาคนให้พ้นทุกข์ได้ฯ
 หลายคนมองว่าสิ่งที่พระใช้เป็นเครื่องมือในการสนองความต้องการของผู้คน(หรือสนองผลกำไรของตนเอง)อันเป็นการสนับสนุนความงมงายเช่น การสะเดาะเคราะห์  ต่อชะตา รดน้ำมนต์ หรือปลุกเสกวัตถุมงคลเป็นต้นคือการประกอบพิธีกรรมนั่นเอง ท่านจึงสรุปว่าพิธีกรรมเป็นตัวสะท้อนถึงความเสื่อมโทรมของพุทธศาสนาได้ชัดตัวหนึ่งฯ ขณะที่พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) ได้พยายามชี้ให้เห็นภาพอีกแง่หนึ่งของพิธีกรรม คือเมื่อปฏิเสธพิธีกรรมไม่ได้ก็ควรใช้สิ่งที่ทำกันอยู่ให้คุ้มค่า(สื่อให้เห็นสาระธรรมผ่านทางพิธีกรรม)[2] ความจริงพระพรหมคุณาภรณ์ได้พยายามอธิบายและให้ความหมายใหม่ของพิธีกรรมจนกลายเป็นเรื่องดีไป นั่นคือโดยภาพรวมหมายถึงการกระทำที่เป็นรูปแบบ มีระเบียบวินัยฯลฯ และอธิบายให้เห็นโทษของการปฏิเสธพิธีกรรม ซึ่งบทความนี้ผู้เขียนมิได้ต้องการโต้แย้งกับสองความเห็นข้างต้น(ที่ไม่เห็นด้วยกับพิธีกรรมและส่งเสริมพิธีกรรมในทำนองประนีประนอม)เพียงแต่ต้องการให้ชาวพุทธทั้งหลายได้กลับมาพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งเพื่อหาข้อเท็จจริงและแสดงหลักการที่ชัดเจนของพุทธศาสนาต่อไป
 อย่างแรกที่ต้องพิจาณาคือความหมายที่แท้ของพิธีกรรม เพราะหากถกเถียงหรือแสดงเหตุผลกันไปเฉยๆ โดยยังไม่ทราบว่าอีกฝ่ายหมายถึงอะไรจะทำให้ตกลงและยอมรับความเห็นกันไม่ได้  ที่ต้องทราบก่อนคือในที่นี้กำลังพูดถึงพระพุทธศาสนา ดังนั้นแง่ของการให้ความหมายหรือการสื่อความที่จะใช้ในการถกประเด็นนี้จะเกี่ยวกับพิธีกรรมในทางศาสนาเป็นสำคัญ(เรียกอีกอย่างว่า ศาสนพิธี) “พิธีกรรม” มีการให้ความหมายที่แตกต่างกันดังนี้
๑. พิธี: น งานที่จัดขึ้นตามลัทธิหรือความเชื่อถือตามขนบธรรมเนียมประเพณีเพื่อความขลังหรือความเป็นสิริมงคล เช่นพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พิธีมงคลสมรส พิธีประสาทปริญญา; แบบอย่าง, ธรรมเนียม, เช่นทำให้ถูกพิธี....(ราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๔๒)[3]
๒. พิธีกรรม: น.การบูชา, แบบอย่างหรือแบบแผนต่างๆที่ปฏิบัติในศาสนา (ราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๔๒)[4]
๓. พิธีกรรม แปลว่า การกระทำที่เป็นพิธี คือวิธีที่จะให้สำเร็จผลที่ต้องการหรือการกระทำที่เป็นวิธีการเพื่อผลที่ต้องการหรือการนำไปสู่ผลที่ต้องการ (หน้า ๔)... (มีเป้าหมายคือ) ๑ เป็นจุดนัดพบให้ทุกคนที่ตอนแรกยังกระจัดกระจายอยู่มารวมเป็นจุดเดียวกัน ๒. เป็นจุดนัดหมายว่าจะเริ่มเรื่องนั้นแล้ว[5] (ป.อ.ปยุตฺโต ๒๕๕๑)
๔. พิธีกรรมยังมีความหมายมากกว่านั้นคือ เป็นเครื่องฝึกวินัยหรือเป็นพื้นฐานที่จะฝึกฝนพัฒนาคนในด้านศีล (หน้า ๗)
สังเกตได้ว่าความหมายที่ให้โดยพระพรหมคุณาภรณ์ มีความถูกต้องที่สามารถแปลตามศัพท์ได้อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา แต่ดังที่ผู้เขียนระบุแต่ต้นแล้วว่า ในที่นี้มุ่งเอาความหมายที่แท้ของพิธีกรรมในแง่ที่เกี่ยวโยงกับศาสนาเท่านั้น นั่นคือเมื่อพูดเรื่องศาสนาและพาดพิงถึงพิธีกรรม คนทั้งหลายจะเข้าใจพิธีกรรมไปทำนองการทำพิธีเพื่อความขลัง ศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นสิริมงคลตามนิยามของราชบัณฑิตจริงๆ การที่เด็กมีระเบียบวินัย ยืนเข้าแถวหน้าเสาธงทำกิจกรรม ยืนต่อแถวเพื่อรอรับอาหารกลางวันหรือการกล่าวคำเคารพคุณครูก่อนเริ่มบทเรียนฯลฯ แม้จะเป็นการทำตามระเบียบ เป็นความพร้อมเพรียง ฝึกวินัยเด็กแต่จะไม่มีใครมองว่าเด็กเหล่านั้นกำลังทำพิธีกรรม ฯ พิธีกรรมในสามัญสำนึกของคนทั่วไปจึงเจาะจงเฉพาะเรื่องการทำพิธีทางศาสนาเพื่อมุ่งความขลัง ศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นสิริมงคลเท่านั้น นั่นคือคำนิยามที่หมายเอาความพร้อมเพรียงหรือระเบียบวินัยของพระพรหมคุณาภรณ์ไม่ได้ผิด เพราะตัวพิธีกรรมเองก็มีลักษณะเช่นนั้นแฝงอยู่ แต่หากยึดเอาความหมายของท่านก็จะกลายเป็นว่าทุกอย่างที่ทำในชีวิตแทบจะเป็นพิธีกรรมหมดเลย ตั้งแต่ตื่น ทำกับข้าว รับประทานอาหารตลอดจนเข้านอน ซึ่งหากกล่าวถึงพิธีกรรมฐานะเป็นตัวระเบียบวินัยก็คงไม่มีปัญหาให้ผู้ใดโต้เถียงอยู่แล้ว เพราะทุกคนยอมรับระเบียบวินัย แต่ประเด็นสำคัญคือปัญหาที่เกิดในปัจจุบันพิธีกรรมมีความหมายที่สื่อไปในทางลบมากกว่าที่พระพรหมคุณาภรณ์ให้ไว้ อย่างไรก็ตามท่านได้แบ่งพิธีกรรมที่ท่านกำลังกล่าวถึงออกจากศาสนาพิธีได้ชัดเจน(เมื่อดูอ้างอิงอธิบายเป้าหมายข้อที่ ๒ )ฯ ดังนั้นเมื่อมาถึงขั้นนี้ทำให้เราตัดปัญหาเรื่องความขัดแย้งไปได้ นั่นคือสิ่งที่ท่านกล่าวถึงไม่ได้หมายเอาพิธีกรรมทางศาสนาซึ่งเป็นประเด็นที่หลายคนเข้าใจ กล่าวคือทั้งสองฝ่ายมุ่งเอาความหมายคนละอย่าง ฝ่ายแรกหมายเอาการทำพิธีของพระสงฆ์หรือชาวพุทธเพื่อความขลังศักดิ์สิทธิ์อาศัยอำนาจดลบันดาล ส่วนพระพรหมคุณาภรณ์หมายเอาการกระทำที่เป็นรูปแบบ หรือพร้อมเพรียงเพื่อทำกิจอย่างหนึ่งอย่างใดให้สำเร็จฯ แม้ในบทความนี้ก็พึงทราบว่าประสงค์เอาความหมายข้อแรก คือพิธีที่มุ่งหวังความศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นสิริมงคลฯ
ดร.คุณหญิงสุริยา รัตนกุล ได้อธิบายความหมายนี้โดยแบ่งตามอรรถลักษณ์คือให้ความหมายเป็นหน่วยโดยนำความหมายของราชบัณฑิตยสถานมาจำแนกใหม่ให้สอดคล้องกับความหมายในแง่ของศาสนาได้ดังนี้
        พิธี   (ก) เป็นการจัดงาน
                (ข) จัดขึ้นตามลัทธิความเชื่อ
                (ค) จัดตามขนบธรรมเนียมประเพณี
                (ง) เป็นการจัดขึ้นเพื่อความขลัง
                (จ) เป็นความจัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคล
ประเด็นที่ท่านเน้นคือเรื่องความความศักดิ์สิทธิ์และสูงส่ง นั่นคือท่านให้เหตุผลว่า “หากพิธีกรรมใดมิได้ทำเพื่อความศักดิ์สิทธิ์และสูงส่งก็ไม่ใช่พิธีกรรมทางศาสนา”[6] และได้แบ่งองค์ประกอบของพิธีกรรมออกเป็น ๒ ส่วนคือ (๑) ความสูงส่ง (Holy) และ (๒) ความศักดิ์สิทธิ์ (Sacred) นั่นคือผู้ประกอบพิธีต้องมีความเชื่อเรื่องสิ่งเหลือธรรมชาติบางอย่างก่อนว่ามีอยู่จริง(สิ่งนั้นรวมเอาวัตถุเข้าด้วย) จากนั้นจึงส่งผลไปยังความเชื่อข้อที่สองว่า เมื่อเป็นผู้สูงส่งเหนือธรรมชาติก็จะต้องมีความขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ในตัวสามารถประสาทพรบางอย่างให้แก่ตนเอง(ผู้ประกอบพิธีกรรม)ได้
เมื่อการทำพิธีกรรมดำเนินไปตามหลักความเชื่อหรือแบบแผนของศาสนานั้นๆ การจะกล่าวถึงพิธีกรรมในพุทธศาสนาจึงจำเป็นต้องทราบหลักการหรือแบบแผนของพุทธศาสนาเสียก่อน ในแง่ของพิธีกรรม พุทธศาสนามุ่งเน้นเรื่องการใช้ปัญญาความสามารถที่ได้จากการฝึกฝนตน[7] มาเป็นเครื่องมือจัดการกับปัญหาโดยไม่ต้องอาศัยศรัทธา(ที่มองไม่เห็น)หรืออ้อนวอนผู้ใดให้ดลบันดาล การสอนอริยสัจ ๔ เป็นเนื้อหาที่ชัดเจนพอกับการแก้ปัญหาแบบชาวพุทธ นั่นคือ ๑.ให้รู้จักสภาพความทุกข์ ๒. ให้พยายามละเหตุที่จะทำให้เกิดทุกข์ ๓. มั่นใจว่าปัญหาทุกอย่างมีทางออก และ ๔. ไม่นิ่งเฉย/เศร้าโศกแต่กลับดำเนินชีวิตตามทางที่ถูกต้องเพื่อแก้ปัญหานั้น[8]
การเกิดขึ้นของพุทธศาสนาเป็นการปฏิเสธความเชื่อและพิธีกรรมในยุคนั้น กล่าวคือผู้คนในศาสนาพราหมณ์ตั้งแต่ครั้นที่พระองค์ยังพระชนม์อยู่ต่างมุ่งการประกอบพิธีกรรมเป็นสำคัญ เมื่อผู้คนประสบทุกข์ก็มีการฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ ทำความผิดก็ลงไปอาบน้ำลอยบาปในแม่น้ำ แม้นักบวชผู้หวังความพ้นทุกข์ก็พากันค้นหาวิธีบูชาเทพเจ้าหรือบ้างก็บูชาไฟเช่นชฎิล ๓ พี่น้อง ส่วนที่ทรมานร่างกายตนเองก็ทำโดยขาดสติปัญญาฯลฯ พระองค์เองบ้างก็เคยปฏิบัติเช่นนั้น แต่ครั้นเปลี่ยนแนวทางการฝึกฝนจิตใจ รู้ทันสภาพความจริงที่เกิดขึ้น(วิปัสสนา) จึงได้สรุปว่าไม่มีทางใดเลยจะพ้นจากปัญหาหากไม่มีปัญญามองเห็นเหตุการณ์ตามความเป็นจริงและแก้ปัญหาตรงต้นเหตุนั้น(อริยสัจ) พุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยการประกอบพิธีกรรม ไม่มุ่งแสวงหาสิ่งเหนือธรรมชาติเช่นอิทธิปาฏิหาริย์[9] แต่เป็นการสอนให้ผู้คนรู้ความจริงของธรรมชาติและดำรงชีวิตด้วยความฉลาดรอบคอบ(มีสติ สัมปชัญญะ) ส่วนวิธีล้างบาป/แก้กรรมนั้นจะลงไปอาบน้ำล้างหรือจัดพิธีกรรมให้ใหญ่โตอย่างไรก็ไม่หาย ต้องอาศัยวิธีของมรรค ๘ เป็นเครื่องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเองเท่านั้น[10] พระองค์จึงสอนให้ทุกคนไม่ประมาทและพึ่งตนเองไม่หวังให้อำนาจใดมาชำระล้างความชั่วและเสริมความเป็นสิริมงคลจากภายนอกฯ
เรื่องความเป็นสิริมงคลก็เป็นเป้าหมายอันหนึ่งในการประกอบพิธีกรรมที่นิยมกัน มงคลในทางพุทธศาสนาเป็นมงคลที่ได้จากกระประพฤติเช่นเดียวกับหลักการเรื่องอื่นๆ นั่นคือไม่เคยมีมงคลใดใน ๓๘ ประการที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เกียจคร้าน อยู่เฉย หรือไปทำพิธีกรรมเพื่อรับอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ ทุกอย่างจะเริ่มจากการลงมือทำเช่น หลีกเลี่ยงคนพาล คบหาบัณฑิต ยกย่องคนดี(บูชาผู้ควรบูชา)ฯลฯ ข้อนี้พระพุทธองค์ตรัสเปรียบไว้อย่างน่าฟังในธรรมบทว่า การจะบูชายัญประกอบพิธีใหญ่เป็นร้อยปี ยังสู้การบูชา(ยกย่อง เข้ารับใช้ และประพฤติตามคำแนะนำของ)ท่านผู้ควรบูชาครั้งเดียวก็ไม่ได้[11] เหตุผลเพราะการบูชา/จัดพิธีด้วยอามิสมากมายกลับไม่ช่วยอะไรเลยในการเสริมสร้างปัญญา เรื่องมงคลนี้จึงสรุปว่าต้องเกิดจากการลงมือทำด้วยตนเองเท่านั้น ดังกล่าวมาพอจะแสดงให้เห็นหลักการสั้นๆของพุทธศาสนาที่มีต่อเรื่องการประกอบพิธีกรรมโดยมีจุดประสงค์เพื่อความขลัง ศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นสิริมงคลได้ชัดเจน
ส่วนพิธีกรรมที่จัดในเมืองไทยเช่น การสะเดาะห์เคราะห์ ต่อชะตา สืบอายุ เข้านอนในโลงศพ ถอนคำสาบ[12] แม้กระทั่งถวายสังฆทานอุทิศเจ้ากรรมนายเวรหรือลูกที่ไปทำแท้งมาเป็นต้น[13] สิ่งเหล่านี้ล้วนมีจุดหมายเพื่อความสบายใจและหวังอย่างงมงายทั้งสิ้น(คงไม่มีใครกล่าวว่าประกอบพิธีเหล่านี้เพื่อเสริมสร้างปัญญาหรือยังจะบอกว่าพิธีกรรมเหล่านี้สำคัญต่อพุทธศาสนา?) ประเด็นที่น่าสนใจคือพระสงฆ์ส่วนใหญ่ต่างพากันสนับสนุน ที่ไม่เห็นด้วยมีบ้างก็เก็บตัวเงียบไม่กล้าชี้แจงหลักการที่ถูกต้องอย่างเปิดเผย พิธีกรรมเหล่านี้ยิ่งนานวันกลับกลายเป็นเรื่องธรรมดาเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนาไทยไปแล้วฯ
อาจกล่าวได้ว่าตัวพุทธศาสนาที่แท้มิได้มีพิธีกรรม การบวชเริ่มแรกพระพุทธองค์ก็ทรงตรัสเพียงว่า เธอได้เป็นภิกษุแล้ว[14] ต่อไปเมื่ออนุญาตให้สาวกบวชกันได้ก็อาศัยการกล่าวถึงพระรัตนตรัย(พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิฯลฯ) ครั้นปัจจุบันก็เป็นแบบอาศัยสงฆ์ตกลงกัน มีการสวดญัตติ ซึ่งความจริงการบวชประเภทหลังนี้ก็มิได้เป็นพิธีที่ขลังหรือศักดิ์สิทธิ์แต่อย่างใด เป็นแต่เพียงการขอความเห็นสงฆ์และอนุมัติให้ผู้นั้นเป็นพระเท่านั้นเอง แม้ประเด็นนี้ชาวพุทธส่วนใหญ่ก็ยังไม่ทราบ บ้างก็คิดว่ามีการยัดความเป็นพระให้ บ้างก็แอบเอาของขลังเข้าไปปลุกเสกฯ ความจริงให้นึกภาพส.ส. อภิปรายเพื่อขอมติส่วนใหญ่ในสภาเท่านั้นเอง[15] อาจมีผู้สงสัยอีกว่า ก็การประกอบพิธีนี้จะไม่เรียกว่าพิธีกรรมหรือ? ตอบว่าหากมุ่งเอาความหมายในทางศักดิ์สิทธิ์หรือขลัง การบวชก็มิได้เป็นพิธีกรรม เพราะเป็นแต่เพียงการทำกิจกรรมของพระเท่านั้นเอง รวมไปถึงกิจกรรมกรานกฐิน อธิษฐานเข้าพรรษา ปวารณาออกพรรษาฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่มีเรื่องความขลังหรือศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวข้องเลย แต่เมื่อมีญาติโยมเข้ามามีส่วนร่วม หลายวัดจึงถือเป็นการเปิดโอกาสจัดพิธีใหญ่เพื่อแสวงหาลาภโดยจัดพิธีเน้นไปในทำนองขลังหรือสร้างความสบายใจให้แก่ผู้ร่วมงาน ความจริงการต้อนรับผู้คนสามารถทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ จัดให้มีการฟังธรรมหรือปฏิบัติธรรมก็ได้(ธรรมปฏิสันถาร)ฯลฯ แต่เมื่อทางวัดขาดคนมีความรู้ ขาดเจตนาที่ดีและหวังผลประโยชน์จากผู้มาเยือน กิจกรรมส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงผูกพันธ์กับเรื่องขลังศักดิ์สิทธิ์อย่างแยกกันไม่ออกฯ
กล่าวโดยสรุปคือพิธีกรรมในทัศนะของคนทั่วไปกลายเป็นแง่ลบไปเสียแล้ว เป็นพิธีที่ขัดกับหลักการของพุทธศาสนาคือไม่ส่งเสริมปัญญาแก่ผู้เข้าร่วม เมื่อหมายเอาความหมายเช่นนี้การจะบอกว่า “พุทธศาสนาเสื่อมแล้ว พระเอาแต่ทำพิธีกรรมแสวงหาลาภ” ก็ไม่ใช่เรื่องที่เกินความจริง ส่วนกิจกรรมที่พระควรทำทั้งหลายเช่นการบวชเป็นต้นหากไม่ใช้คำว่าพิธีกรรม(ซึ่งเป็นคำใหม่) เราสามารถใช้คำเก่าคือ สังฆกรรมแทนได้(The monk’s duty) แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะใช้คำไหน สิ่งที่ต้องยอมรับตรงกันคือหากพระสงฆ์ยังจะประกอบพิธีเช่นนี้ต่อไป (อาจเพื่อปลอบโยนพุทธบริษัทหรือผลประโยชน์ตนก็แล้วแต่) โดยไม่ยอมศึกษาและสอนผู้คนตามหลักของพระศาสนา แม้จะชื่อว่าเป็นชาวพุทธก็จะได้ประโยชน์จากศาสนาน้อยเต็มที ความจริงพุทธศาสนาจะเสื่อมนั้นไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เพราะโดยเนื้อหาแล้ว พุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ถูกต้องและมีเหตุผล การจะฟื้นฟูพุทธศาสนาในยุคที่สังคมเจริญ ผู้คนมีการศึกษานั้นไม่ใช่เรื่องยากเพราะไม่ต้องกล่อมใครให้หลงเชื่อ(ในสิ่งที่มองไม่เห็น) ปัจจัยเดียวเท่านั้นซึ่งสำคัญคือจะต้องส่งเสริมให้พุทธบริษัททั้ง ๔ สนใจศึกษาพระศาสนาให้เข้าใจจนสามารถปฏิบัติตามได้และเมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ประกอบพิธีกรรมที่ไร้สาระ หลอกลวงให้งมงายอีกต่อไปฯ
เมื่อถือเอาความหมายของพระพรหมคุณาภรณ์ (โดยมิได้ศึกษาความหมายของท่านให้ชัดเจน)สมัยปัจจุบันอาจเสี่ยงมากนั่นคือพระสงฆ์และฆราวาสที่หวังกอบโกยผลประโยชน์จากความเชื่อแบบงมงายของชาวบ้านสามารถนำมาใช้เป็นประโยคในการกล่าวอ้างว่า  “พิธีกรรม ใครว่าไม่สำคัญ” จากนั้นก็พากันประกอบพิธีซึ่งไม่มีสาระธรรมแฝงอยู่เลย(และไม่เคยคิดจะสอนธรรมะจริงๆ) แต่เมื่อใดสามารถทำความงมงายทั้งหลายให้หายไปได้ พระสงฆ์ทั้งหลายทำหน้าที่สั่งสอนธรรมอย่างถูกต้อง การจัดกิจกรรมต่างๆของชาวพุทธและแม้ของพระเองจะใช้คำว่า กิจกรรมหรือพิธีกรรมก็ไม่สำคัญแล้ว เพราะเป็นการมุ่งเน้นความพร้อมเพรียงและฝึกฝนวินัย อีกทั้งยังทำกิจนั้นให้สำเร็จเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและส่วนรวมฯ
.......................................................................................................


[1]   อุปปาทสูตร อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต  [๕๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่อุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุนั้น คือความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดาก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเอง ตถาคตตรัสรู้ บรรลุธาตุนั้นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง...สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์...ธรรมทั้งปวง(สรรพสิ่ง)เป็นอนัตตา ครั้นแล้วจึงบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้เข้าใจง่าย [๕๗๖]  ๑๓๗  อุปฺปาทา  วา  ภิกฺขเว  ตถาคตาน  อนุปฺปาทา วา ตถาคตาน  ิตาว  สา  ธาตุ  ธมฺมฏฺิตตา  ธมฺมนิยามตา สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ....สพฺเพ  สงฺขารา  ทุกฺขาติ....สพฺเพ  ธมฺมา  อนตฺตาติ ตํ  ตถาคโต อภิสมฺพุชฺฌติ อภิสเมติ   อภิสมฺพุชฺฌิตฺวา   อภิสเมตฺวา   อาจิกฺขติ  เทเสติ  ปฺาเปติ ปฏฺเปติ   วิวรติ   วิภชติ  อุตฺตานีกโรติ....ฯ
[2] “หลายคนบอกว่า มันเสื่อมจนเหลือแต่พิธีกรรม แย่แล้วพุทธศาสนา...ทีนี้เรามองพลิกกลับเสียใหม่ว่า พระพุทธศาสนายังเหลือพิธีกรรมอยู่ ก็แสดงว่ายังไม่หมดไปทีเดียว ยังคงเหลือพิธีกรรมเป็นรูปแบบอยู่ ตามธรรมดานั้นรูปแบบต้องมีเนื้อหาสาระจึงจะถูกต้อง แม้เหลือแต่รูปแบบ ไม่มีเนื้อหาสาระก็ไม่มีความหมายอะไร” พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), พิธีกรรม ใครว่าไม่สำคัญ, หน้า ๘. พิมพ์ครั้งที่ ๖. บริษัทพิมพ์สวยจำกัด, กรุงเทพฯ ๒๕๕๑
[3] ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ Oxford ให้ความหมายคล้ายกันว่า Rite: n. a ceremony performed by a particular group of people, often for religious purpose; funeral rites / initiation rites ( = performed when a new member joins a secret society) Oxford Advanced Learner’s Dictionary, p.1278, New 8th edition, Oxford University Press’2010
[4] Ritual: 1 n. a series of actions that are always performed in the same way, especially a part of a religious ceremony: religious ritual. 2 Something that is done regularly and always in the same way. สังเกตว่าพิธีกรรมในความหมายที่ ๒ นี้มุ่งเอาการกระทำทั่วไปซึ่งไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาซึ่งตรงกับนิยามของพระพรหมคุณาภรณ์ฯ อีกศัพท์หนึ่งที่ควรทราบคือ Ceremony: n. a public or religious occasion that includes a series of formal or traditional actions: an awards/opening ceremony, a wedding/marriage ceremony. P.228  
[5] ได้อธิบายต่อว่า...๒. เป็นจุดนัดพบเพื่อจะเริ่มเรื่องนั้นแล้ว “ก่อนถึงพิธียังพูดจา ยังหันไปทางโน้นทางนี้ ยังเคลื่อนไหววุ่นวายกันอยู่ ยังคุยกันเรื่องโน้นเรื่องนี้ แต่พอบอกว่าเริ่มพิธีทุกคนก็หยุดหมด ต้องหันกลับมาสนใจ เตรียมทำสิ่งเดียวกัน....ว่าที่จริงการทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นเรื่องของชุมชนหรือเรื่องของส่วนรวมก็ต้องมีพิธีกรรม มันอาจจะไม่ใช่พิธีกรรมตามแบบอย่างที่เราเข้าใจ ที่เป็นของโบราณ เป็นศาสนพิธี (หน้า ๖)
[6] ศ.ดร.คุณหญิง สุริยา รัตนกุล, พิธีกรรมในศาสนา ภาค ๑, หน้า ๑ . เพชรรุ่งเรืองการพิมพ์, นนทบุรี, ๒๕๔๙
[7] ทั้ง ๓ ด้าน คือพฤติกรรม(ศีล) จิตใจ(สมาธิ)และปัญญา รวมเรียกว่า ไตรสิกขา (ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค หมวดที่ ๓ สังคีติสูตร)
[8] อริยสัจคือการสอนให้คนทราบความจริง ๔ ข้อได้แก่ ทุกข์ สภาพความลำบาก ไม่สบายกาย/ใจ จะเรียกว่าปัญหาก็ได้ วิธีจัดการหรือท่าทีต่อความทุกข์นี้คือพยายามรับรู้ เรียนรู้เท่านั้น ไม่ใช่ให้เป็นทุกข์, สมุทัย สาเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ พุทธศาสนาสอนว่าทุกอย่างล้วนมีเหตุ และที่สำคัญมนุษย์เองเป็นคนทำเหตุนั้น(เมื่อทำเหตุเองแล้วจะรอให้ใครมาแก้ให้) วิธีจัดการกับสมุทัยคือต้องพยายามละเหตุที่จะทำให้เกิดทุกข์เสีย, นิโรธ สภาพที่พ้นจากทุกข์ ข้อนี้จะประสบได้ก็ต่อเมื่อดำเนินชีวิตได้ถูกต้องตามมรรค ท่าทีต่อนิโรธคือต้องมองให้ออกว่าชีวิตสามารถพ้นจากทุกข์หรือปัญหาทั้งปวงได้, มรรค เป็นวิธีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง มีปัญญาฯลฯ เมื่อดำเนินชีวิตตามนี้ก็จะไม่พาชีวิตให้ต้องประสบทุกข์หรือปัญหาอีกฯ (วินัยปิฎก มหาวรรค เรื่องโปรดปัญจวัคคีย์แสดงธรรมจักรฯ ข้อ ๑๒)  
[9] ปาฏิหาริย์นี้เป็นประเด็นใหญ่ นั่นคือมิใช่พุทธศาสนาปฏิเสธว่าไม่มีปาฏิหาริย์อะไรเลย หรือว่าไม่มีสิ่งเหนือธรรมชาติ(ทุกอย่างย่อมเป็นไปตามกฎธรรมชาติอยู่แล้ว เพียงแต่มนุษย์จะเข้าใจกฎนั้นแล้วเอากฎนั้นมาใชประโยชน์หรือไม่ เช่นฝนตก มนุษย์ยุคก่อนอาจเข้าใจว่าเป็นอำนาจของเทวดาที่ประทานให้แก่ตน เมื่อต้องการฝนก็พากันสวดอ้อนวอนท่าน แต่เมื่อมีคนมาเข้าใจความจริงเห็นว่าต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างในการก่อให้เกิดฝน เขาก็สามารถเตรียมปัจจัยเหล่านั้นให้พร้อมและทำให้ฝน(เทียม)ตกได้โดยไม่ต้องไปขอร้องใคร) นั่นคือทุกอย่างเป็นธรรมชาติหมด แต่เพราะมนุษย์ไม่เข้าใจจึงโยนให้เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ อีกอย่างพุทธศาสนาเน้นเรื่องอนุสาสนีปาฏิหาริย์คือความสามารถในการสอนให้คนปรับปรุง/เปลี่ยนแปลงตนเองเป็นสำคัญ พระพุทธเจ้าทรงรังเกียจปาฏิหาริย์ ๒ ประเภทแรกคือการแสดงฤทธิ์และการทายใจผู้อื่น ด้วยเห็นว่าทั้งสองข้อนั้นไม่ได้ช่วยให้คนฉลาดขึ้น พึ่งตนเองและออกจากทุกข์ได้(เกวัฏฏสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ข้อ ๓๓๘)ฯ
[10] คยากัสสปเถรคาถา [๓๔๑] เราลงไปลอยบาปในแม่น้ำคยา ที่ท่าคยาผัคคุ วันละ ๓ ครั้ง คือ เวลาเช้า เวลาเที่ยง เวลาเย็น เพราะคิดเห็นว่า บาปใดที่เราทำไว้ในชาติก่อน บัดนี้ เราจะลอยบาปนั้นในที่นี้ ความเห็นอย่างนี้ได้มีแก่เราในกาลก่อน บัดนี้เราได้ฟังวาจาอันเป็นสุภาษิต เป็นบทอันประกอบด้วยเหตุผลแล้วพิจารณาเห็นเนื้อความได้ถ่องแท้ตามความเป็นจริงโดยอุบายอันชอบ จึงได้ล้างบาปทั้งปวง เป็นผู้ไม่มีมลทิน หมดจด สะอาด เป็นทายาทผู้บริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า เป็นบุตรผู้เกิดแต่พระอุทรของพระพุทธเจ้า เราได้หยั่งลงสู่กระแสน้ำ คือ มรรคอันมีองค์ ๘ ลอยบาปทั้งปวง แล้วเราได้บรรลุวิชชา ๓ และได้ทำกิจพระพุทธศาสนาเสร็จแล้ว (ขุททกนิกาย เถรคาถา)
[11]  มาเส มาเส สหสฺเสน   โย ยเชถ สตํ สมํ  เอกฺจ ภาวิตตฺตานํ   มุหุตฺตมปิ ปูชเย  สา เยว ปูชนา เสยฺโย   ยฺเจ วสฺสสตํ หุตํ ฯ การบูชาของผู้ที่บูชาท่านผู้มีตนอันอบรมแล้วคนหนึ่ง แม้เพียงครู่หนึ่ง ประเสริฐกว่าการบูชาของผู้ที่บูชาด้วยทรัพย์พันหนึ่งตลอดร้อยปีเสมอทุกเดือนๆ การบูชาตั้งร้อยปีนั้นจะประเสริฐอะไร (ขุททกนิกาย ธรรมบท สหัสวรรค)
[12] พิธีถอนคำสาบนี้ ผู้เขียนได้พบด้วยตนเองครั้งแรกที่กรุงเทพฯ เจ้าอาวาสเป็นถึงกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งก็สงสัยว่าไฉนยังจัดพิธีเช่นนี้ อีกอย่างที่น่าตั้งข้อสังเกตคือคำสาบในที่นี้หมายถึงอะไร? หากเชื่อว่ามีผู้ศักดิ์สิทธิ์ทรงพลานุภาพสาบไว้ ทำให้คนต้องตกทุกข์ได้ยาก ก็ถือเป็นมิจฉาทิฏฐิขัดกับหลักการของพุทธศาสนาอย่างมาก นั่นคือเวรกรรมเป็นของส่วนตัว ไม่มีใครสามารถสาบให้ผู้อื่นดีหรือชั่วตามความปรารถนาของตนได้ฯ แม้การบรรลุธรรรม พระพุทธเจ้าจะเสกให้สาวกบรรลุก็ไม่ได้ฯ หากเชื่อว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับคำสาบหรือคำอวยพร มนุษย์ทุกคนคงมีความสุข ร่ำรวยกันถ้วนหน้าโดยไม่ต้องดิ้นรนขวนวายแต่อย่างใดฯ
[13] ไม่ใช่ว่าการถวายสังฆทานไม่มีประโยชน์เลย เป็นแต่เพียงการทำทานธรรมดาเท่านั้นเอง เพราะความชั่วที่ทำแล้วไม่สามารถลบล้างได้ด้วยอามิสหรือสิ่งของ(หากเป็นเช่นนั้นจริงคนรวยก็ถวายสังฆทานครั้งเดียว ๑๐๐ ล้านบาทและคงจะทำแท้งไปตลอดชีวิตได้) การทำเช่นนี้จึงเป็นเพียงการปลอบใจเบื้องต้น และมีโอกาสสงเคราะห์ผู้มีศีลด้วยปัจจัยคืออาหารเป็นต้นเท่านั้น แต่ผู้ที่ทำความผิดมาแล้วต้องรู้สึกสำนึกในโทษและไม่ทำสิ่งนั้นอีกต่อไป กอปรกับต้องทำความดีอยู่เรื่อยๆ(ความจริงทุกคนต้องทำความดีเช่นนี้อยู่แล้วไม่เฉพาะแต่คนที่ทำผิดมา) ทั้งให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา(ปฏิบัติธรรม) เพิ่มพูนปัญญาให้เกิดแก่ตนอยู่เสมอฯลฯ จึงจะช่วยคนทำผิดได้ ส่วนเจ้ากรรมนายเวรก็ยังเชื่อผิดๆกันว่าต้องเป็นดวงวิญญาณตามมาทำร้าย เช่นหักพวกมาลัยรถให้ชนเสาไฟฟ้าเป็นต้น ที่ว่าความเชื่อเช่นนี้ผิดเพราะหากเป็นเช่นนั้นจริงฆาตกรทั้งหลายก็คงไม่ต้องรอให้ตำรวจมาจับ เดี๋ยวเขาก็จะถูกดวงวิญญาณเจ้ากรรมนายเวรบีบคอตายไปเองฯ เรื่องกฎแห่งกรรมนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่สามารถตีความตามตัวได้ กฎแห่งกรรมของมนุษย์เขาจะทำงานเองเหมือนศาลยุติธรรม(ที่ยุติธรรมจริงๆ) เช่นเรื่องฆาตกรรม คนร้ายที่ถูกจับได้และประหารชีวิตเป็นเพียงโทษในปัจจุบันเท่านั้นและโทษนี้ก็เป็นกฎที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเอง จึงไม่แน่นอน นั่นคือเขาอาจรอดชีวิตอย่างลอยนวนก็ได้(ทั้งไม่มีเจ้ากรรมนายเวรมาทำร้าย) แต่กฎแห่งกรรม(ไม่ต้องอาศัยนายสุวรรณมาบันทึก) ซึ่งเขาเป็นคนทราบและเจตนาทำด้วยตนเองจะให้ผลแก่เขาโดยทางใดทางหนึ่ง หรือบางทีอาจไม่ใช่ชาตินี้(กรณีที่มีบุญค้ำชูอยู่มาก) กฎนี้จึงเป็นเหมือนศาลยุติธรรมดังกล่าวแล้วแต่ต้น นั่นคือศาลจะเป็นผู้ลงโทษเอง มิใช่คู่อริ เพราะหากเป็นคู่อริตอบสนองกัน เวร(โทษ)ก็จะไม่สิ้นสุด ผลัดกันทำ ถือเป็นการสร้างความชั่วเพิ่มขึ้นอีกฯ จึงให้สบายใจได้ว่าไม่มีดวงวิญญาณที่ไหนจะมาคอยหลอกหลอนหรือทำร้ายมนุษย์ ส่วนเจ้ากรรมนายเวรที่มีจริงคือคนในชาตินี้ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ เพราะเราอาจเคยทะเลาะสร้างศรัตรูกับผู้ใดไว้ วิธีการจะทำให้เขารักเราจึงไม่ใช่การถวายสังฆทาน แต่เป็นการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และให้อภัยกัน พุทธศาสนามีการแผ่เมตตา สิ่งนี้มิใช่มีไว้เพื่อเป็นคาถามหาเสน่ห์ แต่เพื่อกล่อมเกลาใจเราเองให้เป็นคนมีเมตตากรุณา ไม่ทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่นฯ หากไม่เข้าใจแม้แต่เรื่องเหล่านี้ พิธีกรรมง่ายๆเช่นถวายสังฆทานก็จะเป็นไปเพื่อสนองมิจฉาทิฏฐิอีกตามเคย
[14] “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้.....ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” เอหิ  ภิกฺขูติ  ภควา  อโวจ  สฺวากฺขาโต  ธมฺโม จร พฺรหฺมจริยํ สมฺมา  ทุกฺขสฺส  อนฺตกิริยายาติ ฯ วินัยปิฎก มหาวรรค ข้อ ๑๘
[15] แน่นอนว่าพุทธศาสนามิใช่อาศัยเสียงส่วนใหญ่เสียทีเดียว แต่อาศัยความถูกต้องเป็นหลัก เช่นการอุปสมบท แม้ภิกษุส่วนใหญ่เห็นด้วย เพียงรูปเดียวเท่านั้นเห็นแย้งแต่สามารถอธิบายเหตุผลที่ตรงตามธรรมวินัยได้เป็นต้นว่า ท่านทราบว่าผู้กำลังจะบวชเป็นคนชั่ว เคยทำอาบัติปาราชิกมาแล้วสมัยบวชครั้งก่อน ที่ประชุมก็ต้องเชื่อผู้นั้นฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น