วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2557

รับผิดชอบต่อการเทศน์สอน

รับผิดชอบต่อการเทศน์สอน.....เรื่องนี้ดูจะมีความสำคัญอยู่ไม่น้อย ไม่นานมานี้ เพื่อนรักคนหนึ่งส่งจดหมายมาเตือนเรื่องการเทศน์สอนคน ซึ่งเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อพระทั้งหลายเป็นอย่างมาก อาจรวมถึงอาจารย์ฆราวาสที่สอนธรรม หรือกระทั่งครูในโรงเรียนที่อบรมให้แนวคิดเด็กด้วย

เพื่อนคนนี้ต้องการบอกว่า การทำหน้าที่เทศน์สอนให้คนเชื่อและปฏิบัติตาม ผู้สอนจะได้รับผล 2 ประการคือ
1.หากสอนไปในทางที่ถูกต้อง เป็นสัมมาทิฎฐิ ผู้สอนก็จะได้รับบุญมหาศาลเหมือนพระพุทธเจ้าหรือเหล่าสาวก ซึ่งถือเป็นการให้ธรรมะที่จะนำพาชีวิตเขาไปสู่สิ่งดีงามได้
2. หากสอนไปในทางผิด มิจฉาทิฏฐิ ก็ทำให้ชีวิตผู้ฟังตกต่ำ ตัดสินใจในทางที่ผิด และตัวผู้สอนก็ต้องได้รับผลกรรม ตกอบาย ทุคติเป็นต้น

การกล่าวเตือนครั้งนี้เป็นเรื่องดีมาก เพราะกระผมก็เคยเห็นพระบางท่านที่กลับใจได้ เทศน์มาเป็น 20 ปี แล้วเพิ่งมาศึกษาพระไตรปิฎกอย่างจริงจังเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา ท่านถึงกับสารภาพด้วยความบริสุทธิ์ ใจเลยว่า ท่านขอโทษจริงๆ เมื่อก่อนเทศน์ไปตามอารมณ์ หวังลาภ ปัจจัย ไม่เคยคิดจะช่วยให้ใครถึงธรรม .. ปัจจุบันนี้สมาทานจะเทศน์สอนเฉพาะเรื่องที่พระพุทธเจ้าสอนเท่านั้น

กระผมอยากกลับไปประเด็นความหวังดีของเพื่อนอีกนิดหนึ่ง นั่นคือคนปัจจุบันกลับมองว่า ศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อเท่านั้น ผู้สอนก็มีหน้าที่โน้มน้าวผู้ฟังให้ เชื่อตามตัวเอง (หรือสิ่งที่ตนเชื่อ...เช่น พุทธวจนะ พุทธทาส พระไตรปิฎก หลวงพ่อชา หลวงตามหาบัว ฯลฯลฯล ตลอดจนอีก 108 ลัทธิ) ไม่มีคนมองว่า ศาสนาเป็นการเสนอแนวทางอีกอย่างหนึ่งเพื่อให้คนเลือกรับ และมีเสรีภาพเต็มที่ที่จะใช้วิจาณญาณตัดสินใจสมาทานเอาไปปฏิบัติตามกำลังความสามารถของตนเอง (มิใช่การหลอกให้เชื่อหรือสอนไปอย่างไรต้องเชื่ออย่างนั้น)

กระผมจึงขอปัดความรับผิดชอบที่เกิดจากการสอนแบบสองประเภทข้างต้นนี้ เพราะเชื่อว่าตนสอนเพื่อให้คนคิด ให้คนเติบโตทางปัญญาและเลือกสิ่งที่เขาเห็นว่ามีสาระด้วยตัวเขาเอง กระผมไม่เคยสอนให้ใครเชื่อพระพุทธเจ้า เชื่อพระไตรปิฎก หรือพุทธวจนะ กระทั่งอาจารย์ทั้งหลาย และในทางตรงกันข้ามก็ไม่เคยสอนว่าให้ปฏิเสธคนเหล่านี้ตั้งแต่ต้น อย่าไปรับฟังเพราะไม่ใช่ของจริง

ขอยกตัวอย่างอาจารย์ชื่อดังสายมหายานคนหนึ่ง คือ นาคารชุน (Nagarajuna) ท่านใช้วิธีการสอนคล้ายโสเกรตีส ที่ซักให้คนตั้งคำถามกับความเชื่อตัวเอง เช่น มีภาษิตว่า “ปัจจุบันเท่านั้นที่มีจริง อดีตผ่านไปแล้วก็หายไปแล้ว อนาคตก็ยังไม่มา..ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะมีจริงหรือไม่” นาคารชุนก็จะซักให้คิดว่า .... ปัจจุบันมีได้เพราะเราเอาอดีตกับอนาคตมาวัด หากปฏิเสธทั้งสองทิ้งไป ก็จะไม่มีปัจจุบันเหมือนกัน การถกเถียงของท่านไม่ได้เป็นไปเพื่อเอาชนะ แต่เพื่อช่วยไม่ให้คนยึดติดกับแนวคิดใดจนมองไม่เห็นข้อเท็จจริงอื่น ยิ่งกว่านั้นจะสังเกตได้ว่า แนวคิดแบบนาคารชุนวางอยู่บนกฏปฏิจจสมุปบาทตลอด คือสรรพสิ่งอาศัยเหตุปัจจัยในการก่อให้เกิด (แนวคิดท่านจึงเรียกว่า สุญญตา ไม่ได้หมายความว่าไม่มีอะไรเลยแบบอุจเฉททิฏฐิ แต่เพราะเมื่อมองลึกๆแล้ว สรรพสิ่งล้วนไม่มีตัวตนให้ยึด เห็นแต่เหตุปัจจัยที่มาประกอบกันเท่านั้น ... Dependent co-arising)

ท่านได้เดินทางไปโต้วาทีกับหลายคน จนเป็นที่ยอมรับ แต่ก็มีคนตั้งคำถามว่า เขาพูดอย่างนี้ก็ผิด ตอบอย่างโน้นก็ผิด .... (เพราะเขายึดติดกับแนวคิดที่เป็นอัตตา) แล้วทำไมท่านนาคารชุนไม่ตั้งสำนักตัวเองขึ้นมาเพื่อตอบคำถามแบบ Absolute truth ? .... คำตอบคือ หากท่านให้คำตอบที่ตายตัวโดยการตั้งสำนักขึ้นมา วันหนึ่งก็จะมีคนยึดถือคำสอนท่านเป็นสรณะ บ้างก็จะมาเชื่อคำตอบท่านอีกตามเคยเพราะถือว่าท่านเป็นอาจารย์ (การปฏิเสธ/เถียงอาจารย์เป็นบาป?) แนวคิดของท่านเพิ่งได้รับการจัดประเภทช่วงหลังเมื่อท่านตายแล้ว กระทั่งเรื่องนิกายก็ถูกจัดให้เป็นมหายานโดยที่ท่านก็ไม่เคยบอกว่าตัวเองเป็นมหายานหรือเถรวาท .... อันนี้เป็นตัวอย่างการสอนที่ไม่ได้ปลูกฝังความเชื่อครับ...เพื่อยืนยันว่า การสอนโดยไม่ปลูกศรัทธามีอยู่จริง

อย่างไรก็ตาม คำเตือนให้ผู้สอนรู้จักรับผิดชอบต่อการเทศน์สอนของตนเองนี้ถือว่ามีประโยชน์มาก คนที่เป็นพระทั้งหลายอาจถือไปพิจารณาให้ได้ว่าตนเองควรมีความรับผิดชอบในด้านใดบ้าง อาจส่งผลในการตัดสินใจสอนธรรมะครั้งต่อไปของตนได้ หากจะให้กระผมหาความรับผิดชอบจากคำเตือนนี้ ก็พอมองได้ว่า ต้องรับผิดชอบตรงที่สอนให้คนเสียเวลาคิด/ศึกษา ซึ่งบางทีการที่เขาฟังแล้วเชื่อไปเลย ปฏิบัติด้วยศรัทธาแรงกล้าอาจพ้นทุกข์เร็วกว่าด้วยซ้ำโดยไม่ต้องเสียเวลานั่งวิเคราะห์หรือเปรียบเทียบแนวคิด เหตุที่กระผมยังสมาทานแนวคิดเช่นนี้อยู่ เพราะเชื่อลึกๆว่า คนไม่สามารถพ้นทุกข์ได้หากเขายังงมงาย เชื่อเรื่องไม่เป็นเหตุเป็นผล ไม่รู้จักมองปรากฎการณ์ให้แตก ยังไม่ทราบว่าจะปฏิบัติอย่างไรต่อเทวดา/สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ทราบว่าการทำบุญคืออะไร ทำบุญให้ผู้ตายจะมีผลหรือไม่ เป็นต้น

1 ความคิดเห็น: