วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับกฐิน



กฐิน

กิจกรรมเพื่อความสามัคคี


     กฐิน แปลตามตัวว่า ไม้สะดึง หลายคนงงมากเพราะไม่คุ้นชื่อนี้ จะทำงัยได้ อาตมาเองก้ไม่เคยเห็น! (คือยังเด็กงัย เกิดไม่ทัน)แต่เอาเป็นว่า ไม้ชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับขึงเย็บผ้าหรือจีวรฯ ประเพณีกฐินเริ่มจัดให้มีขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาล แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดนะว่าพระพุทธเจ้าก็ชอบหาเงินเข้าวัดเหมือนกันหรอ? เปล่าเลย กฐินสมัยนั้นกับสมัยนี้แตกต่างกันลิบลับ(หน้ามือเป็นหลัง....)     พระพุทธเจ้าทรงให้มีกิจกรรมนี้ขึ้นเพื่อก่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่พระสงฆ์ เพราะกฐินหรือผ้าจีวรตอนนั้นพระต้องช่วยกันเย็บนะ ไม่ใช่เอาบัตรเครดิตไปรูดมาฯ พระที่อยู่ในวัดทุกรูปซึ่งได้ผ่านการเข้าพรรษาร่วมกันจะต้องช่วยกันทำจีวรขึ้นมาผืนหนึ่งเพื่อจะยกให้กับคนที่มีคุณสมบัติมากที่สุด (แต่เดี๋ยวนี้มักโยนไปให้เจ้าอาวาส เพราะท่านมีอิทธิพลมาก เอ้ยไม่ใช่ เพราะเคารพท่านต่างหาก..เกือบไปแล้วนะเรา) เมื่อจำพรรษาด้วยกันมานาน พระหลายรูปอาจมีเรื่องหมางใจกันบ้าง (ไม่ว่าจะแบ่งมาม่ากันไม่ลงตัว รูปนั้นมีสาวมาหามากกว่ารูปนี้เป็นต้น พูดเล่นนะ เรื่องอย่างนี้คงไม่มีหรอก รับรองลบภาพจากกล้องทิ้งหมดแล้ว) ก็จะได้ใช้โอกาสนี้ทำงานร่วมกัน เช่น ช่วยกันหยิบโน่นหยิบนี่ (ไม่ใช่ขโมยนะ!) หลวงพ่อครับ..หยิบกรรไกรให้หน่อย เณรเอ้ย..ไปเอาสีมาต้มรอย้อมจีวรซิ เป็นต้น การได้อยู่ใกล้ชิดกันอย่างนี้จะทำให้หลายคนคืนดีกันได้ เห็นด้วยป่าว? (แต่ก็มีบางทีที่มาต่อยกันเนื่องในงานนี้ก็มีนะ ใช้ให้หยิบเข็ม แต่ดันไปเอาค้อนมาตีหัว) อันนี้เป็นความฉลาดและกลอุบายในการสร้างสามัคคีเล็กๆน้อยๆให้เกิดในวงการเสื้อเหลือง เอ้ยพูดผิด! ผ้าเหลือง..!

     อีกอย่างเมื่อทำเสร็จก็ตกลงกันยกให้พระรูปใดรูปหนึ่ง น่าภาคภูมิใจมากเพราะเกิดจากน้ำพักน้ำของมิตรสหาย (ทำนาบนหลังคนป่าว?) ที่ช่วยกันทำจากความสามัคคีแล้วยกให้เพราะเห็นว่าท่านเป็นคนน่าเคารพนับถือที่สุด (ใช้ระบอบเผด็จการเนี่ยนะ?) ซึ่งทุกคนต่างทำด้วยความสมัครสมาน เป็นใครก็อยากได้จีวรผืนนั้นใช่ป่าว? ราคามันก็ไม่แพงนะ แต่มันน่าประทับใจและมีค่ามากกว่าเงินทองเสียอีกฯ (แต่ไม่ทราบว่าคนใจดำ เป็นหิดทั้งหลายจะเห็นคุณค่าตรงนี้บ่?)

     ช่วงของกฐินมีระยะเวลาตั้งแต่ แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ คือตั้งแต่ออกพรรษาจนถึง ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒(ซอล ซอล ลา มี ซอล ลา โด้...บุญจะส่งให้เราสุขใจ บุญจะส่งให้เราสุขใจ...บุญอะไรว่ะ?)  บางวัดเลือกทอดตั้งแต่ต้นเลย ด้วยเหตุผลที่ว่า คนยังมีตังค์อยู่ วัดอื่นเขายังไม่ได้เรี่ยไร ตัวเองเลยชิงเอาเสียก่อน (น่าเกลียดมาก) หลายวัดก็เลือกช่วงปลายๆโดยอาศัยการโปรโมทที่ว่า ใกล้จะหมดฤดูกฐินแล้วโยยยยยม! เอ้า มาช่วยกันหน่อย ไม่ทำตอนนี้ต้องรอปีหน้านะ” (อันนี้ก็น่าเกลียดไปอีกแบบหนึ่ง) ตกลงเดี๋ยวนี้ทอดตอนไหนก็น่าเกลียดไปหมด เพราะเจตนาในการกระทำส่อถึงความเห็นแก่ตัวงัย (พอแล้วๆ เริ่มพูดแรงเข้าแล้วนะเราเนี่ย?)

     เอาเป็นว่ากฐินในปัจจุบันกับอดีตนั้นตรงกันข้ามกันอย่างเห็นได้ชัด (โยมอย่าเพิ่งท้อใจไม่มาร่วมนะ เดี๋ยวอาตมาอดได้ตังค์เลย) ใครจะทำอย่างไรให้เขาทำไปสิ อย่างน้อยเราก็มาสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นได้ เอาปิ่นโตมานั่งกินด้วยกัน พูดคุยนินทาคนอื่นไปพลางๆ สบายใจจะตาย (แหมทำเป็นผู้ดีรับไม่ได้นะ ตัวเองนะแกนนำเลย) จากกฐินที่เคยร่วมกันเย็บจีวรก็เปลี่ยนมาเป็นการหาเงินฯ ก็ไม่แปลกนะ เพราะเดี๋ยวนี้ยายบอกว่าโลกเขาพัฒนาไปมากแล้ว (Globalization อ่านว่า ก่อบรรลัยใส่ฉัน) เราต้องก้าวให้ทัน ขืนไปนั่งเย็บจีวรอยู่เชยตายเลย สู้มาช่วยกันนั่งนับเงินไม่ดีกว่าหรอ? (แบ็งค์ ๒๐ ทั้งนั้นเลยคู้ณณณ)

     แม้จะมีการเปลี่ยนเป้าหมายหลักจากจีวรไปเป็นเงิน แต่อย่างน้อยเขาก็ยังเอาจีวรมาประกอบพิธี(บังหน้า)ด้วยนะ คำเตือนถ้าไม่อยากเจ็บใจกรุณาอย่าอ่านในวงเล็บ และดูเหมือนจะสร้างความครื้นเครงให้กับทั้งสองฝ่ายได้ คือทั้งพวกอาตมาเอง (วงการดงขมิ้น) กับโยมทั้งหลายที่อยากได้หน้าได้ตา เมื่อก่อนการจะเป็นเจ้าภาพกฐินแค่มีเงินสักร้อยบาทพอจะซื้อเศษผ้ามาเย็บจีวรก็โอเคแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ต้องถามก่อนว่าจะให้เท่าไร? โชคดีจริงๆที่อาตมาอยู่วัดนี้เลยไม่ค่อยได้พบเจอคนเห็นแก่ตัวอย่างนั้นเท่าไร (ไม่ต้องมาลูบหลังเลย...แก)

     สรุปสั้นๆนะครับว่ากฐิน เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมความสามัคคีของพระสงฆ์รวมทั้งฆราวาสที่มาร่วมงานด้วย ในงานกฐินเนื่องจากปัจจุบันไม่มีการลงมือเย็บจีวรกันแล้วก็ควรจะมีการแสดงพระธรรมเทศนาแทน อาจเป็นเรื่องความสามัคคีก็ได้ เพื่อให้ชาวบ้านพร้อมทั้งพระสงฆ์เองได้เกิดกำลังใจ มีกำลังกาย(และกำลังทรัยพ์)ในการแสวงหาโมกขธรรมคือการหลุดพ้นต่อไป ซึ่งจะมีประโยชน์อีกต่อหนึ่งคือการได้มาสั่งสอนญาติโยมให้เข้าใจธรรมะมากขึ้น ตกลงกฐินปีนี้จะได้สักเท่าไหร่เนี่ย เดี๋ยวคำนวนดูก่อน!!!! ไม่เอา นอนก่อนดีกว่า เพิ่งฉันเสร็จ Z Z Z

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น