วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

พระจูฬปันถกเถระ...พระโง่ในสายตาของคนโง่

พระจูฬปันถกเถระ...พระโง่ในสายตาของคนโง่
พระมหาเจษฎา กันตเมธี ๘/๑๑/๒๕๕๔
 ท่านจูฬปันถกเป็นหนึ่งในพระเถระจำนวน ๘๐ รูปที่ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าเรื่องเอตทัคคะคือมีความสามารถพิเศษที่ควรเอาแบบอย่าง ประเทศไทยได้ใช้เรื่องราวของพระเถระจำนวน ๘๐ รูปนี้เป็นหลักสูตรในการศึกษาระดับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อให้พุทธบริษัทโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระภิกษุสามเณรได้เรียนรู้แบบอย่างพระเถระในอดีตผู้สละเย้าเรือนออกบวชเพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์และกลวิธีในการปฏิบัติของท่านนั้นๆเพื่อค้นพบคนที่มีจริต(นิสัย)เดียวกันมาประยุกต์อันจะเอื้อกับการกำจัดกิเลสของตน แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่นักศึกษาส่วนใหญ่จับเอาหลักวิชานี้เป็นแค่เครื่องมือในการเลื่อนวิทยะฐานะ ได้รับประกาศนียบัตรและสร้างฐานอำนาจ(คุณสมบัติ)เพื่อก้าวสู่การขอยศตำแหน่งเป็นเพลาถัดไป...รวมทั้งผู้เขียนเองด้วย(เพื่อเป็นการลดความกดดันและร่วมกันรับผิดชอบต่อหมู่คณะ)
     จะเห็นว่าเรื่องราวบุคคลแต่ละคนล้วนน่าศึกษาทั้งสิ้น เราอาจแยกความสำคัญของพระเหล่านี้กับบุคคลสำคัญในปัจจุบันง่ายๆและสั้นๆคือ การเรียนรู้ประวัติบุคคลในปัจจุบัน เช่น อิตเลอร์ เหมาเจ๋อตุง อเลกซานเดอร์ อองซานซูจี หรือกระทั้งตัวท่านผู้อ่านเองที่คิดว่าจะเขียนประกาศชีวิตตน(เฉพาะแง่มุมที่ดี)ให้ผู้อื่นทราบฯ เป็นการศึกษาเพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ มองให้เห็นผลดีและผลเสียจากปรากฎการณ์เหล่านั้นและมุ่งประโยชน์เพื่อการดำเนินชีวิตในทางโลกเป็นหลัก ส่วนการศึกษาประวัติพระเถระทั้งหลายนั้นล้วนมุ่งคุณค่าในการสลัดตนเองให้พ้นจากทุกข์(โลก)เป็นการสิ้นเชิง แต่อย่างไรก็ตามดังที่ได้กล่าวแต่ต้นแล้วว่าเจตนาผู้ศึกษาเองเป็นตัวแปรสำคัญ นักปราชญ์หลายคนศึกษาพุทธศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติของพระอรหันต์ทั้งหลายเพื่อจารึกเป็นหนังสือ เสนอเข้าโรงพิมพ์แลกปัจจัยมายาใส้ตนเองและลูกเมียมามากนับไม่ถ้วน(ซึ่งท่านนิยมให้เหตุผลที่ว่าทำเพื่อสืบทอดพระศาสนา) เรามองในแง่ลบมากไปป่าวเนี่ย? ทำนองเดียวกันหลายคนที่ศึกษาประวัติบุคคลสำคัญทั่วไปอาจประสงค์เอามาเป็นแบบแผนการปฏิบัติ เช่นท่านมหาตมคานธี ในแง่การไม่ยึดติดโลกิยสุข มุ่งประโยชน์เพื่อผู้อื่นเป็นหลัก การกระทำเช่นนี้เมื่อถึงที่สุดแล้วจะสามารถถอนตนขึ้นจากโลกหรือความทุกข์ได้
     โดยเราจะสังเกตง่ายๆจากบรรดาปัญญาชนที่ต่อสู้เรื่องการเมืองมาในอดีต ครั้งแก่ตัวลงล้วนหันเข้าหาพระศาสนาทั้งสิ้นโดยมิใช่แค่ถวายถังเหลืองหรือจุดธูปเทียนรมจมูกตนเอง แต่ก้าวไปถึงขั้นศึกษาพระไตรปิฎก พูดเรื่องปฏิจจสมุปบาท และปฎิบัติธรรมเป็นประจำ ตรงกันข้ามกับอีกขั้วหนึ่งซึ่งใช้ชีวิตในดงขมิ้น(อย่าลืมว่า...รวมผู้เขียนด้วย) ศึกษาพระศาสนามาแต่เยาว์ แต่ลึกๆแล้วไม่ได้เข้าใจธรรมะอะไรเลย อริยสัจ ๔ ก็อธิบายไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงปฏิจจสมุปบาท สิ่งที่เราชำนาญมากคือการเรี่ยไรเงินทำบุญนั่นเอง เราสามารถสร้างโน่นสร้างนี่ได้ตลอดทั้งปีโดยที่นายช่างแทบไม่ได้ออกจากวัดเลย บางที่ถึงขนาดต้องพูดออกมาเลยว่าเงินพร้อมแล้วแต่ไม่มีช่าง? เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าชีวิตของนักบวชต้องพลิกผันมาจนขั้นนี้โดยที่หลายมหาวิทยาลัยชอบยกย่องท่านแล้วมอบปริญญาให้ฟรีซึ่งส่วนใหญ่เป็นสาขา พุทธศาสตร์ จริยศาสตร์ สังคมสงเคราะห์ รัฐศาสตร์ฯ ข้าพเจ้าจึงอยากเสนอให้ว่าต่อไปเราน่าจะเปลี่ยนมาให้พวกสาขา สื่อสารมวลชน บริหารธุรกิจ วิศวกรรมศาตร์ หรือให้รางวัลตุ๊กตาทองบ้าง(ในฐานะที่ท่านแสดงละครได้ยอดเยี่ยมมาหลายร้อยปีแล้ว)
     กลับมาเรื่องพระจูฬปันถก ความจริงที่เกริ่นมาก็มิใช่ออกนอกเรื่องแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า พระเถระรูปนี้(อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าท่านเป็นคนประเภทนั้นนะ) ก็เป็นผู้หนึ่งซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือในการให้ตัวอย่าง “คนโง่ที่บรรลุธรรมได้” โล้นทั้งหลาย(รวมถึงผู้เขียนด้วยอีก...จะพูดเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว คราวหน้าถือว่าละไว้ในฐานที่เข้าใจ)จึงเอาประวัติของท่านมาเล่าให้ประชาชนตัวดำๆฟังว่าทำบุญอย่างเดียวก็พอ ปัญญา(การศึกษา/ฟังธรรม)นั้นไม่จำเป็นเลย ดูประวัติท่านจูฬปันถกสิ อันนี้ส่งผลระยะยาวทำให้โล้นทั้งหลายสามารถกุมอำนาจไปได้นานเพราะตัดอาหารสมองของผู้คนไปแล้วฯ ช่างไม่ต่างกับวรรณะพราหมณ์สมัยพุทธกาลเลยที่ห้ามผู้อื่นศึกษาคัมภีร์พระเวท ให้เราลองไปศึกษาดูหนังสือคู่มือพระสังฆาธิการ จะมีคำสั่งมหาเถระสมาคม เรื่องห้ามภิกษุสามเณรเรียนวิชาชีพหรือสอบแข่งขันหรรือสอบคัดเลือกอย่างคฤหัสถ์ พ.ศ. ๒๕๓๘

ข้อ ๔ ห้ามภิกษุสามเณรเรียนวิชาชีพอย่างคฤหัสถ์ในโรงเรียนหรือสถานที่ต่างๆปะปนกับคฤหัสถ์ชายหญิง เช่น พิมพ์ดีด ชวเลข คอมพิวเตอร์ การบัญชี ช่างวิทยุ-โทรทัศน์ ช่างไฟฟ้า ช่างเครื่องยนต์ และวิชาชีพอย่างอื่นที่นับว่าเป็นวิชาชีพอย่างคฤหัสถ์

ข้อ ๖ ห้ามภิกษุสามเณรสอบแข่งขันเพื่อรับทุนรัฐบาล ทุนต่างประเทศและทุนอื่นๆซึ่งอยู่ในลักษณะเดียวกัน (ลักษณะไหน?)

     ผู้อ่านอย่าเพิ่งเข้าใจว่าทำไมท่านจึงออกแต่กฎประเภทนี้ เพราะความจริงกฎดีๆอีกหลายประกาศท่านก็ประกาศใช้เหมือนกันเพียงแต่มิได้นำมากล่าวไว้ในที่นี้ (เช่นเรื่องการควบคุมเรี่ยไรเงินทำบุญ ห้ามปลุกเสกเลขยันต์ของขลัง ทำเสน่ห์ยาแฝด การโฆษณาพระพุทธรูป/พระเครื่องและวัตถุมงคลในสื่อหนังสือพิมพ์ สิ่งตีพิมพ์และสื่อวิทยุโทรทัศน์ ขอย้ำว่าประกาศใช้หลายปีแล้ว...? ที่ไหน? กับใคร? เคยออกภาคสนามไปประเมิณผลบ้างไหมครับ? หรือลงไปก็พร้อมกับที่ร่วมนั่งปลุกเสกเลย?)
     สำหรับประกาศที่ยกมาเรื่องการห้ามพระภิกษุสามเณรเรียนวิชาชีพฯข้าพเจ้าเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งเช่น หากเป็นพระจะไปเรียนช่างยนต์ เดินกลับวัดด้วยสภาพที่น้ำมันเครื่องทาหน้าคล้ายหนวดแมวมาก็ดูกระไรอยู่ แต่ข้อที่ ๖ คือห้ามสอบแข่งขันเพื่อรับทุนฯนั้น หากท่านประสงค์จะเรียนพุทธศาสนาในต่างประเทศล่ะ? (ด้วยเหตุผลที่ว่าเมืองไทยสอนว่าห้ามคิดนอกเหนือจากครู มิเช่นนั้นจะติด I)ท่านไม่มีสิทธิ์สอบทุนหรือ? หรือให้เลือกแนวทางการขายนาและไร่มันสัมปะหลังไปเรียนเอง? ในทำนองที่ครอบครัวยากจน(และซ้ำร้ายกว่านั้นไม่มีเส้น)จะขอทุนคณะสงฆ์ไปเรียนได้หรือไม่? ความจริงอย่ามองไปไกลถึงขั้นนั้นเลย แค่หนังสือเดินทางก็ต้องเดินทางกลับไปกลับมาล่ารายชื่อพระราชาคณะกันหัวปั่นกว่าจะผ่านได้...อันนี้เพื่อนเล่าให้ฟังครับ เออ..แล้วหนังเดินทางท่านธีรพงศ์ผ่านยัง?
     เรื่องการเล่าเรียน(โดยเฉพาะอย่างยิ่งนอกระบบที่ครูผู้สอนฝึกให้ผู้เรียนรู้จักคิดวิเคราะห์มากกว่าเชื่อแบบงมงาย)หากถูกตัดทอนไป สอนให้เชื่อว่าระบบเดิมดีที่สุดแล้วนะจ๊ะ เพราะเป็นเรื่องน่าเสี่ยงอยู่หากอนุญาตให้ผู้อื่นมีความรู้หรือกลับมาเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้ ช่างไม่ต่างอะไรกับประชาธิปไตยบ้านเราในปัจจุบันเลย ส่งผลให้นักปราชญ์หลายคนระเหเร่ร่อน ไม่มีที่อยู่ ว่างงาน ที่ดีหน่อยก็กลับหลังเข้าป่าไปเลย หลายคนก็เลือกกลับไปสนองเจตนารมของคุณยายชาวจีนด้วยประโยคที่ว่า “มีลูกมีหลานเต็มบ้านเต็มเมืองนะตี๋”
     ทีนี้ขอเข้าเรื่องจริงๆแล้ว...สาบาน! เดิมท่านจูฬปันถกเป็นเด็กหนุ่มอยู่กับตายาย มีพี่ชายหนึ่งคนชื่อมหาปันถก ไม่ใช่แกสอบได้เปรียญ ๓ นะ แต่เพราะเป็นคนโตจึงได้ชื่ออย่างนั้น ทำนองเดียวกันคนเล็กเกิดทีหลังก็ได้ชื่อเป็น จูฬ เพิ่มนำหน้าเข้าไป (ที่ภาษาอังกฤษใชคำว่า Junior นั่นเอง) ส่วนคำว่า ปันถก แปลว่า หนทาง คือทั้งสองล้วนคลอดก่อนมารดาไปถึงโรงพยาบาลทุกที แต่การเกิดระหว่างทางของสองพี่น้องก็มิได้สร้างปมด้อยแต่อย่างใด อีกอย่างยังสะท้อนถึงความรักที่มารดามีแก่ท่านที่ถนอมเลี้ยงดูไม่ขว้างทิ้งในพงหญ้าไปเสียฯ บิดาของทั้งสองเป็นทาส(ไพร่) มารดาเป็นเศรษฐี(อำมาตย์) นี่สะท้อนว่าความรักมิได้จำกัดชนชั้นหรือสอนคนไทยว่า “เรายังรักกันได้อยู่ ปรองดองเหอะพี่น้อง” เมื่อเป็นเช่นนี้ทั้งสองจึงมีฐานะเป็นคนจัณฑาลซึ่งต่ำที่สุด (หมายถึงฐานะทางสังคมนะไม่เกี่ยวกับส่วนสูง) โตขึ้นมหาปันถกไปบวชก่อน และปฏิบัติธรรมจนบรรลุอรหันต์ ซึ่งเป็นเหมือนแรงจูงใจที่ทำให้น้องชายคือ จูฬปันถกมาบวชด้วย...ตรงนี้น่าจะเตือนใจโล้นทั้งหลายนะว่าจุดประสงค์ในการบวชคืออะไร หรือเราจะเขียนพระไตรปิฎกใหม่เพื่อให้ตรงกับสถานการณ์ปัจจุบันว่า “เมื่อบวชได้ระยะหนึ่งก็ได้รับพระราชทานเลื่อนตำแหน่งเป็นพระราชาคณะชั้น สามัญ!!
     สุดท้ายจูฬปันถกก็ได้เข้าสู่ดงขมิ้นตามความปรารถนาด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์หวังการบรรลุธรรมเป็นเป้าหมาย ท่านศึกษาปฏิบัติอยู่กับพี่ชายแต่ก็มิได้บรรลุธรรมสักที ท่านได้รับการขนานนามจนอาจเปรียบเทียบกับปัจจุบันว่า Buffalo ด้วยเหตุที่ว่าให้ไปท่องหนังสือซึ่งเป็นบทสั้นๆก็ท่องไม่ได้ พี่ชายจึงไล่ออกไปจากสำนัก(ไม่ใช่เพราะกลัวส่งสอบแล้วทำสถิติตก ขอเจ้าคุณฯไม่ได้นะ แต่)ด้วยเห็นว่าบอดเกินจะเยียวยาแล้ว เป็นบัวขั้นสุดท้าย...เราลองมาฟังจากปากท่านเองดีกว่า

จุลลปันถกเถราปทานที่ ๔ เล่ม ๓๒ หน้า ๕๖(ฉบับสยามรัฐ)
ว่าด้วยพระจุลลปันถกปัญญาเขลา
     [๑๖] “เวลานั้น พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตระ ...(ทรงพยากรณ์ว่า)... เราจักมีพี่น้องชายสองคนมีชื่อว่าปันถก แม้ทั้งสองคนเสวยประโยชน์อันสูงสุดแล้วจักยังพระศาสนาให้รุ่งเรือง เรานั้นมีอายุ ๑๘ ปี ออกบวชเป็นบรรพชิตเรายังไม่ได้คุณวิเศษในศาสนาของพระศากยบุตร เรามีปัญญาเขลา เพราะเราอบรมอยู่ในบุรี (ทนฺธา มยฺหํ คติ อาสิ ปริภูโต ปุเร อหํ...ฉบับมหาจุฬาแปลว่า เพราะเราเคยดูหมิ่นผู้อื่น หน้า ๑๐๙ ข้อ ๔๘ เล่ม ๓๒) พระพี่ชายจึงขับไล่เราว่า จงกลับไปสู่เรือนเดี๋ยวนี้ เราถูกพระพี่ชายขับไล่แล้วน้อยใจ ได้ยืนอยู่ที่ซุ้มประตูสังฆาราม ไม่หวังในความเป็นสมณะ ลำดับนั้น พระศาสดาเสด็จมา ณ ที่นั้น ทรงลูบศีรษะเรา ทรงจับเราที่แขน พาเข้าไปในสังฆาราม พระศาสดาได้ทรงอนุเคราะห์ประทานผ้าเช็ดพระบาทให้แก่เราว่า จงอธิษฐานผ้าอันสะอาดอย่างนี้วางไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่ง เราจับผ้านั้นด้วยมือทั้งสองแล้วจึงระลึกถึงดอกบัวได้ จิตของเราปล่อยไปในดอกบัวนั้น เราจึงได้บรรลุอรหัต เราถึงที่สุดในฌานทั้งปวง ในกายอันบังเกิดแล้วแต่ใจ กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว ไม่มีอาสวะอยู่ คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมปภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้วฉะนี้แล.”

อ้าว...ดูอีกอันหนึ่งแล้วค่อยอธิบายกันทีเดียว(แต่ห้ามงงนะ)
จูฬปันถกเถรคาถาเล่ม ๒๖ เถรคาถา (คาถาสุภาษิตของพระจูฬปันถกเถระ)
     [๓๗๓] “เมื่อก่อน ญาณคติเกิดแก่เราช้า เราจึงถูกดูหมิ่น และพี่ชายจึงขับไล่เราว่า จงกลับไปเรือนเดี๋ยวนี้เถิด เราถูกพี่ชายขับไล่แล้วไปยืนร้องไห้อยู่ที่ใกล้ซุ้มประตูสังฆาราม เพราะยังมีความอาลัยในศาสนา พระผู้มีพระภาคได้เสด็จมา ณ ที่นั้น ทรงลูบศีรษะเรา ทรงจับแขนเรา พาเข้าไปสู่สังฆาราม พระศาสดาทรงอนุเคราะห์ ประทานผ้าเช็ดพระบาทให้แก่เรา ตรัสว่า จงอธิษฐานผ้าสะอาดผืนนี้ให้ตั้งมั่นดีโดยมนสิการว่า รโชหรณํๆ ผ้าสำหรับเช็ดธุลีๆ จงตั้งจิตให้มั่น นั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง เราฟังพระดำรัสของพระองค์แล้ว เกิดความยินดีในศาสนา ได้บำเพ็ญสมาธิให้เกิดขึ้นเพื่อบรรลุประโยชน์อันสูงสุด....”
     คิดว่าเมื่ออ่านเองก็ไม่น่าจะมีอะไรอธิบายแล้ว ก็สรุปก่อนว่าเมื่อท่านถูกพี่ชายไล่ออกจากสำนักให้สึกกลับบ้านไปเสีย ก็ไปพบพระพุทธเจ้าที่ประตูวัด พระพุทธเจ้าจึงลากแขนกลับมาสอนเอง โดยให้ผ้าขี้ริ้ว(รโชหรณํ)ไปผืนหนึ่ง แต่คัมภีร์ก็ยังบอกว่าเป็นผ้าขาวสะอาด(งงเหมือนกัน) เมื่อลูบไปมาก็ผ้าขาวก็เริ่มเปลี่ยนสีเพราะโดนขี้ไคลและเหงื่อเป็นต้น สุดท้ายจึงเกิดความเข้าใจว่าสรรพสิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามเหตุปัจจัย แม้ผ้าขาวก็ยังเปลี่ยนสี เหมือนใจคนที่โดยปกติก็สะอาด แต่ต้องมาเศร้าหมองเพราะกิเลสมีความรัก โลภ โกรธ หลงเป็นต้นมาครอบงำใจไว้ เมื่อพิจารณาได้ดังนี้ใจก็สงบยกอารมณ์สู่วิปัสสนาและบรรลุธรรมไปในที่สุด
     ที่เป็นจุดน่าวิเคราะห์กันนิดหนึ่งคือการแปลศัพท์ ทนฺธา มยฺหํ คติ อาสิ ปริภูโต ปุเร อหํ เพราะมีการแปลแตกต่างกันอยู่ของสองสำนักคือมหาจุฬาและมหามกุฏคือฉบับสยามรัฐ คำว่า ปริภูโต ปุเร อหํ ที่หนึ่งแปลว่า “ที่โง่เพราะเราดูถูกผู้อื่นในอดีต” กับอีกที่หนึ่งแปลว่า “เพราะเราอบรมตนในบุรี” ถ้ามุ่งเอาความหมายที่สองก็น่าจะเป็นไปได้หากมองเทียบกับปัจจุบันคือ “การเกิดและใช้ชีวิตอยู่ในเมืองทำให้คนเป็นคนโง่”? ทำไม..ไถนาไม่เป็น ติดแต่เกมส์ เดินแต่ห้างหรอ? หรือเพราะการบวชเป็นพระอยู่ในเมืองกิเลสยั่วยวนเยอะ? ส่วนการแปลของมหาจุฬาค่อนข้างสอดคล้องกับหลักสูตรนักธรรมที่เรียนคือ เพราะผลกรรมจากการดูถูกคนอื่นว่าโง่เขลา ตนเองจึงต้องเกิดมาเป็นเช่นนั้นบ้าง ฉะนั้นพวกเราเลิกพูดเถอะนะว่า “ควายเหลืองหรือควายแดง...เขาอุตส่าห์มาเรียกร้องปะจาธิปไทย” ส่วนผู้อ่านประทับใจความหมายอันไหน เทียบดูไวยากรณ์และความถูกต้องของการแปลด้วยตนเองแล้วก็จงเลือกเอาประการนั้นเถิดฯ
     เรื่องตรงนี้เองที่พระทั้งหลายนำเอามาเป็นประเด็นในการชี้ว่า “การจะบรรลุธรรมไม่ต้องมีความรู้ ขนาดพระจูฬปันถกถูกไล่ออกจากโรงเรียนยังบรรลุธรรมได้เลย หมั่นบริจาคเงินทำบุญต่อไปเถอะ ไม่ต้องไปสนใจเรื่องปริยัติฯ” ตกลงข้อความตรงนี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนต้องมาศึกษาเรื่องของท่าน(แม้ไม่ละเอียด)และใช้โอกาสอธิบายเพื่อสร้างความเข้าใจใหม่
     เริ่มแรก เราอาจไม่ต้องสนใจความหมายที่แปลกันทั้งสองอย่างนั้นก็ได้ เพียงแต่ให้ทราบว่าท่านบรรลุธรรมช้า และถูกกล่าวหาว่าโง่เขลาเพราะท่องจำตำราไม่ได้ การที่จะตัดสินว่าคนโง่หรือฉลาดคือการให้หนังสือไปท่องกระนั้นหรือ? อาจใช่...(ถามเองตอบเอง...ก็นั่งเขียนอยู่คนเดียวนิ!) แต่นั่นมันเป็นการวัดทักษะแบบ IQ คือเรื่องความแม่นยำด้านข้อมูลข่าวสาร ส่วนอีกตัวที่ผู้เขียนมั่นใจว่าพระจูฬปันถกมีมากคือ EQ  (ไม่ใช่ตัวปรับแต่งเครื่องเสียงนะ แต่มันเป็น) ความสามารถด้านอารมณ์ จินตนาการ ความรู้สึกนึกคิด ซึ่งเรื่องนี้มีความสำคัญมากในการควบคุมฝึกฝนจิตใจ มองสภาวะทุกอย่างตามความเป็นจริงอันจะเอื้อแก่การบรรลุธรรม ตกลงท่านยังโง่อยู่ไหม?...เดี๋ยวมีเหตุผลอื่นอีก ประเด็นหนึ่งที่น่าพิจารณาคือการชอบยกกรรมเก่าแล้วบอกว่าคนนั้นคนนี้โงเพราะกรรมเก่า อันนี้เราไม่ควรปฏิเสธเสียทีเดียว เพราะจะถูกกล่าวหาว่าไม่เชื่อเรื่องกรรม ความจริงพุทธศาสนาแม้จะสอนเรื่องกรรมเก่า แต่เราก็ยังมีปัจจุบัน(หรือที่เรียกว่าปัจจุปันธรรม)มาให้พิจารณาด้วย หมายความว่าแม้กรรมเก่าจะเป็นอย่างไร แต่หากเรารู้จักควบคุมกรรมใหม่ อาศัยความพยายามในการสร้างเหตุปัจจัยของปัจจุบัน เราก็สามารถฝึกฝนตนเอง ควบคุมปัจจุบันและสร้างอนาคตได้ ทีนี้เรื่องของพระจูฬปันถกผู้เขียนมองว่า (อาจมองผิด) ท่านเองไม่มีความรัก/ประสงค์ที่จะท่องจำตำราโดยอาจมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระและเสียเวลา แต่มุ่งการศึกษาเข้าใจความหมายเป็นสำคัญ ผู้เขียนมีตัวอย่างของตนเอง(ไม่ใช่ชีวประวัติฉบับส่วนดีนะ)ซึ่งเป็นความโง่พอๆกับท่านจูฬปันถก นั่นคือผู้เขียนเคยจำพรรษา ณ วัดแห่งหนึ่ง พูดอย่างนี้เหมือนพยายามสร้างปมอีกแล้ว...พูดตรงๆเลยดีกว่า วัดสาริการาม ที่นั่นมีการสวดสะเดาะพระเคราะห์ทุกวันขณะอนุโมทนาโดยเราต้องร่วมแก็งค์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องยอมรับว่าการสวดเช่นนั้นไร้สาระและมอมเมาประชาชนที่สุด (ญาติใครไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใดก็ช่วยอธิบายต่อกันด้วย) ผู้เขียนจึงเลือกวิธีสันติอหิงสาคือนั่งนิ่ง ไม่สวด (เพราะสวดไม่ได้) และไม่เคยมีความพยายามในการจะสวดให้ได้ หรือแม้แต่ตั้งใจจะรับฟัง(เพื่อสำเหนียก/ศึกษา) ผลปรากฎว่าเวลาผ่านไป ๓ เดือน พระรูปอื่นสามารถสวดบทนั้นกันได้ แต่ผู้เขียนก็ยังสวดไม่ได้มาจนบัดนี้ทั้งที่บทไม่ยาวเลย ถามว่าเป็นเพราะความโง่หรือเปล่าที่ท่องจำไม่ได้....อาจจะใช่(ผู้อ่านที่กำลังหมั่นไส้คิด) แต่พอมาดูอีกเรื่องเช่นตอนผู้เขียนเริ่มสนใจภาษาอังกฤษอย่างเอาจริงเอาจัง ราว ๓ ปีมาแล้ว ผู้เขียนสามารถท่องศัพท์ภาษาอังกฤษใช้เวลา ๑ ชั่วโมงต่อวันได้วันละ ๕๐ ศัพท์...ทำไมจึงต่างกับบทสวดสะเดาะเคราะห์? จึงขอสรุปเอาเองโดยโยงกับเรื่องพระจูฬปันถกว่า ท่านมิได้เป็นคนโง่แต่เพราะท่านไม่มีความตั้งใจ/ฉันทะในการท่องจำต่างหาก
     อีกประการหนึ่งพระจูฬปันถกสามารถมองสัจจธรรมเรื่องความไม่เที่ยง แปรเปลี่ยนของสังขารได้ การมองทะลุเช่นนี้เป็นการมองของคนโง่ที่ไม่เข้าใจอะไรเลยหรือ? เพราะเนื้อความตรงนี้เองที่สนับสนุนความคิดของผู้เขียนที่ว่า ท่านมีความสามารถระดับหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง EQ รู้จักสังเกต วิเคราะห์ธรรมชาติหรือบทเรียนจนมองข้ามเรื่องการท่องจำไป เพราะคนโง่เขลาไม่สนใจธรรมชาติหรือความเป็นจริงเลยจะเข้าถึงสังธรรมไม่ได้เด็ดขาด สรุปสั้นๆว่าท่านเป็นคนฉลาดครับ (ถ้าไม่เห็นด้วยเจอกันหลังเมรุ!)
     อยากอธิบายเรื่องการศึกษาเพิ่มอันเป็นประเด็นต่อเนื่องจากเรื่องที่พูดมานี้ว่า การศึกษาที่ดีไม่ใช่ว่าต้องเน้นเรื่องการท่องจำ หรือเน้นเรื่องความเข้าใจอย่างใดอย่างหนึ่งแบบสุดขั้ว เพราะหากจำได้อย่างเดียวก็เป็นเต่าแบบคัมภีร์ เข้าใจอย่างเดียวจะอธิบายอะไรให้ใครฟังได้ เช่นจะพูดว่ามรรคมีองค์ ๘ ก็จำหัวข้อไม่ได้ฯ ดังนั้นการเรียนที่ดีควรมีการท่องจำส่วนสำคัญ(ที่ไม่ใช่ พ.ศ., ชื่อคนหรือเมืองในหลายกรณี)และมีการอธิบายเนื้อหาที่ชัดเจน สอนให้รู้จักผลดี ผลเสียรวมทั้งวิธีแก้ปัญหาอันจะเกิดประโยชน์กับตัวผู้เรียนด้านการดำรงชีวิตและถ่ายทอดแก่ผู้อื่นได้จริงฯ
     เมื่อทราบเช่นนี้แล้วอาจทำให้เราไม่มองข้ามการศึกษา แม้จะไม่ใช่ในหลักสูตรแต่ก็ไม่ควรปล่อยปละละเลยเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไป เอามาเป็นบทเรียนในการสอนตนเองให้รู้จักความจริงของธรรมชาติให้ได้เพื่อจะได้เปิดทางสู่การพ้นทุกข์ในที่สุด ญาติโยมเองก็จะได้ไม่เป็นเหยื่อโล้น(รวมทั้งผู้เขียนด้วย...ระบุเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจาก)ขยับตนจากการให้ทาน เสียเงินมาเป็นการรักษาศีล สำรวมกายวาจาและเจริญภาวนาฝึกสติให้แข็งแกร่งเพื่อสู้กับกิเลสขั้นละเอียดต่อไป สุดท้ายขอจบด้วยเทศนาของพระจูฬปันถกที่สอนนางภิกษุณีที่ว่า

     "ความโศก ย่อมไม่มีแก่มุนีผู้มีจิตตั้งมั่น ไม่ประมาท ศึกษาอยู่ในโมเนยยปฏิปทา(ตามแนวทางการปฏิบัติเพื่อก้าวสู่ความเป็นมุนี เช่นสติปัฏฐาน๔ มรรคมีองค์ ๘ เป็นต้น) ผู้คงที่ ผู้สงบระงับ มีสติทุกเมื่อ" (วินัยปิฎก เล่ม ๒ มหาวิภังค์ โอวาทวรรค)

………………………………………………………………………………………

2 ความคิดเห็น: