บทนำ
แม้หนังสือเล่มนี้จะเป็นไปในทำนองนำข้อเท็จจริงมาพูดเล่นหรือประชดประชันสังคมสงฆ์ แต่บางที่ซึ่งเป็นจุดสำคัญในการหักล้างข้อเท็จจริงหรือชี้แจงเพื่อความกระจ่างจึงต้องนำอ้างอิง(Footnote) มาใส่กำกับไว้เช่นกันเพื่อจะได้ไม่ถูกมองว่าเป็นการกล่าวร้ายผู้อื่นด้านเดียว(ทั้งที่ความดีก็พูดถึงบ้างในกรณีที่จำเป็นแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้) หรือกลายเป็นนักเขียนจอมมั่ว นั่งเทียนเดาเอาเองในกะลา(แม้จะเป็นฝั่งที่มีรูก็ตาม)
ขอย้ำก่อนเข้าเรื่องนิดหนึ่ง(และควรจะเตือนใจตนเองก่อนอ่านทุกๆตอน)ว่า จุดประสงค์ในการเขียนบทความนี้มิใช่ต้องการประณานโล้นแต่อย่างใด เพียงแต่ใคร่จะเสนอข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นร้อนทางสังคมหรือประเด็นที่พระทั้งหลายล้วนเข้าใจคลาดเคลื่อน พาให้การสอนธรรมะเป็นไปด้วยความคลาดเคลื่อนด้วย โดยการเอาเนื้อความในพระไตรปิฎกมาเป็นหลัก ซึ่งกระผมมั่นใจว่าผู้ที่ได้อ่านบทความนี้แล้วใช่จะรังเกียจพระสงฆ์ตามหัวข้อที่ตั้งไว้ แต่หากกลับทำความเห็นตนเองให้ถูกต้อง เพิ่มความเป็นคนมีเหตุผลและอาจรู้สึกสงสารโล้นซ่าได้ในที่สุด เมื่อเป็นเช่นนั้นผลที่ได้จากการเรื่องราวของโล้นซ่าเหล่านี้กลับจะทำให้คนรักและภาคภูมิใจกับพระพุทธศาสนาและความเป็นชาวพุทธของตนมากขึ้นด้วยเพราะเห็นว่าพุทธศาสนา ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และหลักธรรมล้วนไม่ได้มีอะไรย่อหย่อนไปกว่าศาสนาอื่นเลยฯ
๑.พระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าเองในฐานะศาสดาของศาสนาพุทธซึ่งไม่น่าเชื่อว่าเป็นประเด็นหนึ่งที่ใช้ในการบิดเบือนข้อเท็จจริงได้เหมือนกัน ตั้งแต่เรื่องสัญชาติหรือเชื้อชาติ พูดง่ายๆคือท่านชื่อ สิทธัตถะ เป็นแขกโดยกำเนิด เป็นโอรสของกษัตริย์สุทโธทนะและพระมเหสีสิริมหามายา บ้างก็เรียกว่า “พิมพา” ซึ่งอาจจะสับสนกับชื่อของพระชายาของเจ้าชายสิทธัตถะเองที่ชื่อว่า ยโสธราหรือมีชื่อเล่นว่า พิมพา เหมือนกัน
คำว่า (สิริ)มหามายา เป็นคำที่มีการให้ความหมายและถกเถียงกันอย่างลับๆ จากนักวิชาการหลายคนแต่ที่รู้จักมีคนเดียวคือ ดร.พินิจ รัตนกุล[1] ได้อธิบายศัพท์นี้ว่า “มหา แปลว่ายิ่งใหญ่ มากมาย เลิอเลิศฯ ส่วน มายา แปลแบบตรงตัวคือมารยา หรือการหลอกลวง” เมื่อนำศัพท์มารวมกันจึงมีใจความว่า ผู้มีมารยาเป็นเลิศฯ ฟังดูคำแปลนี้แล้วชาวพุทธหลายคนอาจไม่ยอมรับแต่อยากให้ดูคำอธิบายของท่านก่อนคือ ท่านอธิบายว่า “พระพุทธเจ้าเป็นคนที่เกิดอยู่ในโลก เสมือนเต็มไปด้วยมารยา เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ หรือแม้กระทั้งร่างกายมนุษย์เองก็เป็นมารยา นั่นคือสิ่งที่หลอกลวงให้เราหลงยึดติดว่านั่นเป็นของเรา นี่เป็นของเรา (อัตตา/อัตตนียา) แต่ความเป็นจริงล้วนเป็นส่วนประกอบของเหตุปัจจัยทั้งสิ้น หามีเจ้าของที่จะบังคับควบคุมให้เป็นไปตามใจอยากของตนได้ไม่[2] พระองค์จึงเป็นเหมือนเกิดมาจากมารยา(ที่ยิ่งใหญ่)หลอกลวงทุกคนให้หลง แต่ที่สุดพระองค์ก็ใช้ปัญญาฝ่าวงล้อมของมารยานี้ออกไปสู่โลกของความเป็นจริงได้ฯ”[3]
เมืองกบิลพัสดุ์อยู่ติดเชิงเขาหิมาลัยซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศเนปาล แคว้น/ตระกูลของพระองค์คือ ศากยะ[4] สมัยนั้นเรียกบริเวณนั้นว่าชมพูทวีป[5] คนไทยหลายคนโดยเฉพาะรุ่นปู่ย่าตายาย(และนักวิชาการบางคน)กลับยืนยันหัวชนฝาว่าพระพุทธเจ้าเป็นคนไทย ไม่เชื่อเราลองเดินผ่านยายแล้วพูดเป็นทำนองอุทานให้ท่านได้ยินว่า “พระพุทธเจ้าเป็นคนอินเดีย” ในกรณีที่ท่านอยากพูดด้วย ท่านก็บ่นออกมาทันทีว่า “ที่ไหน? เป็นคนไทยต่างหาก” เรื่องของคนแก่เราอาจสันนิษฐานได้ว่าเพราะเราเป็นคนอนุรักษ์นิยมเหมือนกัน การจะยกย่องเชิดชูคนอื่น(โดยเฉพาะที่ไม่ใช่เชื่อสายเรา)ค่อนข้างทำลำบาก(ให้ดูไทเกอวูดเป็นตัวอย่าง) แต่ก็น่าจะให้อภัยได้พอๆกับนักวิชาการที่อุตส่าห์หาข้อมูลมาทั้งชีวิต ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอนก็ล้วนวิเคราะห์และพยายามแสดงเหตุผลให้ได้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นคนไทย มีการยกเหตุผลเรื่องพุทธศาสนารุ่งเรืองในประเทศไทย(โดยใช้ศัพท์ว่า ทวารวดี)และร่องรอยพระพุทธบาทสระบุรีเป็นต้น (ถามจริง พุทธศาสนาเคยเจริญในเมืองไทยหรอ?)ฯ ทำเอาราชบัณฑิตต้องออกแก้กันยกใหญ่[6] ซึ่งก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่ท่านได้ออกมาทำงานเพื่อมวลชนบ้าง(ภาษาในพระไตรปิฎกเรียกการทำเช่นนี้ว่าเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของพุทธบริษัทคือการ ปรับวาทะ) แต่อย่างไรก็ตามเหตุผลดังกล่าวที่ว่าพระพุทธเจ้าเป็นคนไทยนั้นจะไม่เอามาเขียนไว้ในที่นี้เพราะเท่าที่อ่านดูไร้สาระมาก บางทีอาจมีการอ้างถึงครูอาจารย์สายกรรมฐานบางท่านโดยไม่ทราบว่าเป็นเจตนาดีหรือร้ายที่จะประกาศศักดาหรือลดทอนกิตติศัพท์ท่านเหล่านั้นกันแน่[7] อย่างไรเสียเมื่อพูดถึงแล้วก็ขอชี้แจงนิดหน่อยและจะพูดต่อไปว่า พระพุทธเจ้าท่านเป็นแขกร้อยเปอร์เซ็นจากหลักฐานง่ายๆต่อไปนี้
๑. พระไตรปิฎกที่น่าเชื่อถือมากที่สุดในปัจจุบัน คือพระไตรปิฎกบาลีของเถรวาทด้วยเหตุที่ว่ารักษาคำสอนไว้ได้ครบถ้วนหรือมากที่สุดโดยไม่มีการตัดออก(แม้อ่านแล้วจะไม่เข้าใจก็ตาม) ซึ่งมีการบันทึกเป็นภาษาบาลีเพราะเอาตามภาษาของชนพื้นเมืองหรือแคว้นมคธ อาจเทียบกับปัจจุบันได้กับภาษาอังกฤษ แน่นอนว่าภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาที่ดูมีระดับที่สุด อย่างน้อยก็ด้อยกว่าภาษาฝรั่งเศส(ในทัศนะของคนหัวสูงทั้งหลาย) คนพูดภาษาฝรั่งเศสจึงมีน้อยกว่าคนพูดอังกฤษ เหตุที่พระพุทธเจ้าเลือกภาษาบาลีแทนสันสกฤตเพราะเป็นภาษาที่คนส่วนใหญ่เข้าใจเพื่อได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากคำสอนของพระองค์[8] อย่างไรก็ตามพระองค์ก็ทรงอนุญาติ(สนับสนุน)ให้เผยแผ่ธรรมะได้ตามภาษาของท้องถิ่นนั้นๆได้ฯ เมื่อพระไตรปิฎกที่มีความน่าเชื่อถือที่สุดมีการบันทึกเป็นภาษามคธ อาจยืนยันได้ส่วนหนึ่งว่าพระพุทธเจ้าและช่วงชีวิตการเผยแผ่ธรรมะจึงเป็นอินเดีย แต่หากท่านเห็นว่าหลักฐานยังอ่อน ก็ต้องดูเรื่องของพุทธพจน์ที่พระองค์ตรัสด้วยพระองค์เองแก่โพธิราชกุมารเป็นต้นว่า เช่นตอนออกหาที่สงบเพื่อบำเพ็ญทุกกรกิริยา(ทรมานร่างกาย) พระองค์ก็เสด็จไปพบตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมืองพาราณสี
“ราชกุมาร เรานั้นเมื่อหลีกไปจากสำนักอุทกผู้รามบุตรแล้ว แสวงหาอยู่ว่าอะไรเป็นกุศล ค้นหาแต่สิ่งที่ประเสริฐฝ่ายสันติอันไม่มีอย่างอื่นยิ่งกว่า เที่ยวจาริกไปตามลำดับหลายตำบลในมคธรัฐ จนบรรลุถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม พักแรมอยู่ ณ ตำบลนั้น ณ ที่นั้นเราได้พบภาคพื้นรมณียสถาน มีไพรสณฑ์น่าเลื่อมใส แม่น้ำไหลใสเย็นจืดสนิท....”[9]
ข้อความนี้พอจะยืนยันสถานที่ในอินเดียได้ชัดเจนแล้ว (หากไม่มีใครไปตีความอีกว่ามคธรัฐคือสุพรรณบุรี อุรุเวลาเสนานิคมคือหนองคาย) กล่าวตามคนที่ยึดพุทธวจนะเป็นอุดมคติก็ต้องบอกว่า ถ้ายังไม่เชื่ออีกก็แสดงว่าไม่ใช่ชาวพุทธฯ แต่เราสามารถอนุโลมกันได้ เพราะท่านอาจคิดว่านี่เป็นแต่เพียงหลักฐานยังไม่มีเหตุผลพอฯ
๒.ในกรณีที่ต้องการเหตุผลไม่เอาพุทธพจน์ก็ขอพูดกันตรงๆเลยว่า พระพุทธเจ้าท่านเป็นคนฉลาด ออกบวชแสวงหาความพ้นทุกข์ เพราะเหตุนี้เองที่ท่านต้องไปเกิดแถวอินเดียเพราะมีนักบวชมากมายหลายนิกาย เป็นสถานที่ที่คนคร่ำเคร่งกับการหาทางพ้นทุกข์จริงๆ เกิดมาก็เห็นนักบวชเลยเช่น อสิตดาบสเป็นต้น ต้นแบบการครองชีวิตเพื่อแสวงหาทางหลุดพ้นจึงมีให้เห็นทั่วไป แต่เทียบกับเมืองไทย ย้อนไปสองพันห้าร้อยปีก่อนบริเวณนี้ยังมีผู้คนหรือยังก็ไม่ทราบชัด เราอาจดูได้ง่ายๆแค่สักห้าร้อยปีที่แล้ว บ้านเมืองเราคิดแต่จะทำสงคราม เช่นหากพม่าบุกมาจะเอาตัวรอดอย่างไร วิ่งไปทางไหน? เราจะทำอย่างไรกับลาว กัมพูชาหรือมาเลเซียให้เขาเอาดินแดนเราน้อยที่สุด ถึงเวลาว่างสงครามก็ทำมาหากิน เล่นไพ่ กินเหล้า ชนไก่ฯ นิสัยที่ยังติดมาจนตอนนี้คือการใช้เวลาว่างพูดเรื่องชาวบ้าน(ไม่เว้นกระทั้งพระ) เราจึงไม่เคยเอาจริงเอาจังกับการสนใจธรรมะหรือหาทางพ้นทุกข์ เราไม่เคยฝึกสมาธิ พื้นฐานที่จะรับเอาพระพุทธศาสนาเราจึงไม่มี ถามตรงๆแม้ปัจจุบันมีคนที่เข้าใจพุทธศาสนาและปฏิบัติตามนั้นกี่คน อาจไม่ถึงห้าเปอร์เซ็นของชาวพุทธไทยด้วยซ้ำ กระผมจึงมองไม่ออกว่าประเทศไทยเป็นเมืองพุทธตรงไหน แต่เอาเถอะ เราสามารถกล่าวอนุโลมให้ได้อีกว่า สมมติพระพุทธเจ้าเกิดที่เมืองไทยจริง แต่เราต้องไม่ลืมนะว่าท่านสามารถพูดได้และเดินได้เลยฯ ดังนั้นกระผมจึงเชื่อว่าเมื่อท่านเห็นหน้าตาของคนไทยแล้ว รู้จักนิสัยและสติปัญญาของเราแล้ว ท่านคงจะเดินไปอินเดียและหวังที่จะเติบโตที่โน้นเป็นแน่ เพื่อว่าเมื่อสอนธรรมะจะได้มีคนเข้าใจท่านบ้างฯ
เมื่อประสูติท่านก็ถูกตั้งชื่อว่า เจ้าชายสิทธัตถะ แปลว่าผู้สำเร็จตามสิ่งที่ปรารถนาหรือสำเร็จประโยชน์ (สิทธะ แปลว่า สำเร็จ ส่วน อัตถะ แปลว่าประโยชน์) หากจะแปลให้สมกับฐานะของการเป็นพระพุทธเจ้าเราอาจใช้คำว่า ผู้เกิดมาเพื่อทำประโยชน์ให้สำเร็จ(แก่มวลมนุษย์)คือพาสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์
ธรรมดาของหนังสือพุทธประวัติทั้งหลายจะพูดเรื่องการทำนายลักษณะของท่าน(เจ้าชายสิทธัตถะ) เริ่มตั้งแต่สามวันหลังคลอด อสิตดาบสผู้เป็นนักบวชคนสนิท(ขาประจำ)ของพระเจ้าสุทโธทนะบิดาเข้าเยี่ยมเด็กน้อย บังเอิญท่านเคยศึกษาตำราดูลักษณะมหาบุรุษมาก่อน หรือบ้างก็ว่าเพราะท่านมีญาณที่สามารถล่วงรู้อนาคตได้(ขอออกตัวก่อนว่ากระผมไม่เห็นด้วยทั้งสองข้อเลย) ครั้นเห็นลักษณะเด็กแล้วก็หัวเราะสลับกับร้องไห้ (ฟังดูเหมือนจะเป็นคนมีปัญหาทางจิต) แต่มีนัยยะที่อธิบายกันได้ลึกซึ้งกินใจว่า ที่หัวเราะแสดงความดีใจเนื่องจากเห็นว่าในอนาคตเด็กคนนี้จะออกบวชและฝึกตนจนเป็นพระพุทธเจ้าในที่สุด สามารถแสดงธรรมโปรดหลายต่อหลายคนให้พ้นทุกข์ตามได้(แต่น่าจะยกเว้นคนไทย..ผู้เขียนคิดเอง) ส่วนที่แสดงอาการร้องไห้เพราะเห็นว่าตนเองแก่หง่อมจะเข้าโลงอยู่อีกไม่กี่ปีแล้ว กว่าเด็กคนนี้จะรู้จักเที่ยวเล่น เล่าเรียน จีบสาว โคลนิ่งมนุษย์คนใหม่เป็นตัวแทนของตนขึ้นได้และเบื่อชีวิตฆราวาสคงนานมาก ตนเองคงรอไม่ไหว(ต่อให้ใจรักมากก็ตาม) จึงหลั่งน้ำตาออกมาแสดงความโชคร้ายที่พลาดโอกาสดีเช่นนั้นไป (คล้ายจะอุทานเป็นนัยว่า...ผิดที่เราเจอกันช้าไปฯ) สรุปว่าเมื่อเห็นลักษณะเช่นนั้นแล้ว จากเดิมพระเจ้าสุทโธทนะที่มีความประสงค์จะให้นำพระโอรสมาไหว้พระดาบสกลับกลายเป็นพระดาบสแสดงความเคารพทารกน้อยแทนฯ
เวลาผ่านไป ๕ วันทางราชสำนักได้จัดให้มีการเลี้ยงภัตตาหารพราหมณ์ทั้งหมด ๑๐๘ คน จากนั้นก็คัดเอาหัวกะทิเพียง ๘ คนที่มีชื่อเสียงลือเลื่องและเต็มไปด้วยความสามารถซึ่งเราอาจเทียบกับปัจจุบันว่า “ศาสตราจารย์” หนึ่งในนั้นมีท่าน โกณทัญญะ ซึ่งมีอายุน้อยที่สุดเข้าทำนายลักษณะเจ้าชาย ทั้ง ๗ คนทำนายออกเป็นสองทางคือ หากดำรงชีพเป็นฆราวาส จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ(พอๆกับ อเลกซานเดอร์ หรือ เจนกิสข่าน) แต่หากประสงค์จะออกบวชก็สามารถค้นพบสัจธรรมเป็นพระพุทธเจ้าฯ การทำนายสองทางเช่นนี้เสมือนการกันเอาไว้เผื่อไม่ออกทางหนึ่งจะได้ออกอีกทางหนึ่ง(เหมือนการซื้อหวยแบบ T) ปรากฎว่ามีท่านโกณทัญญะคนเดียวเท่านั้นที่ยืนเสียงข้างน้อย เห็นว่าต้องออกบวชอย่างเดียว(ชัว)
การทำนายของท่านโกณทัญญะแม้จะเป็นเสียงข้างน้อยกว่าแต่ก็ทำเอาพระเจ้าสุทโธทนะไม่สบายพระทัยอย่างยิ่ง(ซึ่งอาจเป็นได้ว่าพระองค์เชื่อคำของอสิตดาบสที่ทำนายไว้อย่างเดียวกันนั้นไว้ก่อนแล้ว) พระองค์จึงทรงทำทุกวิถีทางเพื่อให้เจ้าชายติดใจชีวิตฆราวาส โดยส่งไปศึกษาในโรงเรียนชื่อดังและเมื่อสำเร็จก็ให้แต่งงานกับเจ้าหญิง ยโสธราเมื่ออายุได้ ๑๖ ปี ทำนองเดียวกันพระนางเองก็อายุได้ ๑๖ ปี ที่ทราบกันเช่นนี้เพราะยึดเอาสหชาติ คือสิ่งที่เกิดมาพร้อมเจ้าชายสิทธัตถะ ๗ ประการคือ
๑.พระนางยโสธราหรือพิมพา (น้องสาวพระเทวทัต ผู้ที่ต่อมาเล่ากันว่าถูกทรายดูด)
๒.พระอานนท์ (ผู้เป็นอุปัฏฐากซึ่งตอนเกิดเป็นเจ้าชายเหมือนกันยังไม่ได้เป็นพระ)
๓.ม้ากัณฐกะ (พาหนะส่วนพระองค์ที่ภาพวาดเห็นเป็นเหาะข้ามน้ำและถูกฉันนะดึงหาง)
๔.ฉันนะ (คนรับใช้ใกล้ชิด...ต้องขออภัยด้วยที่เรียงลำดับม้าไว้ก่อนคน มิใช้เพราะต้องการเหยียดสีผิวหรือชั้นวรรณะ แต่เพราะนึกได้ก่อน)
๕. ต้นโพธิ์ (ที่สำหรับบำเพ็ญเพียรและบรรลุธรรม)
๖. กาฬุทายีอำมาตย์ (ทำหน้าที่ทูตผู้นิมนต์พระองค์ไปโปรดพระบิดาได้สำเร็จ)
๗. ขุมทรัพย์ทั้งสี่มุมเมือง (เทียบกับปัจจุบันคือหุ้นตามบริษัทต่างๆมีชินคอร์ป เป็นต้น)
หลายที่แม้แต่ในหลักสูตรนักธรรมก็อธิบายว่าทั้ง ๗ อย่างที่ยกมานี้เกิดพร้อมกับเจ้าชายสิทธัตถะเลย จึงได้ชื่อว่า สหชาติ ส่วนอาจารย์บางท่านเปิดใจออกนิดหนึ่งแปลคำว่าสหชาติใหม่คือไม่ได้เกิดพร้อม/เวลาเดียวกัน แต่เกิดมาเพื่อคู่กันหรือเกิดมาเพื่อเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่การดำเนินชีวิตของเจ้าชายสิทธัตถะ เช่น ม้ากัณฐกะ อาจมิได้เกิดพร้อมเจ้าชาย แต่เกิดมา(หลัง)เพื่อเป็นพาหนะของพระองค์เท่านั้น เราอาจดูตัวอย่างง่ายๆเช่น ตอนเจ้าชายออกบวช(อายุ ๒๙)ได้ขี่ม้าไปริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ลองนึกภาพง่ายๆว่าม้าตัวนั้นแก่มากแล้ว อายุ ๒๙ ปี คงไม่แปลกเลยที่ว่าไปถึงแล้วม้าตาย ขากลับฉันนะต้องเดินเอง แต่นั่นเป็นการพูดให้ตลกเท่านั้น เพราะม้าที่ตายไม่ใช่เพราะเหนื่อยหรือแก่ แต่เป็นเพราะอาลัยรักในเจ้าชายเพราะอยู่ด้วยกันมาหลายปีต่างหาก หรืออีกอย่างคือขุมทรัพย์ ถ้าจะเอาความหมายสหชาติแบบที่ถือกันก็คือพอเจ้าชายเกิดก็มีขุมทรัพย์เกิดงอกขึ้นในดินทันที ฟังดูก็น่าพิศวงอยู่ เพราะเหตุผลนี้เองที่ความหมายของสหชาติอันนี้จึงใช้ไม่ได้ แต่ชาวพุทธ(ที่เคร่งจัดเพราะไม่ยอมศึกษาให้ละเอียด)กลับบอกว่า มันเป็นพุทธวิสัย เป็นเรื่องบุญบารมี ไม่เชื่ออย่าลบหลู่(พูดอย่างนี้อีกแล้ว??เถียงไม่ได้เลย)
เมื่อพระองค์แต่งงานแล้วใช้ชีวิตอยู่ในวัง มีสระบัว ๓ สระ ปราสาท ๓ หลังที่พระเจ้าสุทโธทนะสร้างให้อยู่ใน ๓ ฤดู ดังปรากฎในพระสูตรว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรามีปราสาท ๓ หลัง ปราสาทหนึ่งเป็นที่อยู่ ในฤดูหนาวปราสาทหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูร้อน ปราสาทหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูฝน เรานั้นแลถูกบำเรอด้วยดนตรีซึ่งไม่มีบุรุษปนตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน บนปราสาทอันเป็นที่อยู่ในฤดูฝน มิได้ลงมาข้างล่างปราสาทเลย”[10]
ข้อความที่ต่อกันเป็นเสมือนชนวนของการเบื่อหน่ายชีวิตและออกบวช
“ภิกษุทั้งหลายเรานั้นประกอบด้วยความสำเร็จเห็นปานดังนี้ เป็นสุขุมาลชาติอย่างยิ่ง ก็ยังคิดเห็นดังนี้ว่า ปุถุชนผู้ยังไม่ได้สดับ เมื่อตนเป็นผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้เห็นคนอื่นแก่ ก็ล่วงตนเองเสียแล้วอึดอัด ระอา รังเกียจไม่คิดว่า แม้เราก็เป็นผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้...ทำนองเดียวกันกับ ความเจ็บและความตาย”[11]
เผื่อยังไม่เข้าใจ ขออธิบายเพิ่มอีกนิดคือแม้พระองค์จะอยู่ในปราสาท ๓ หลัง มีความสะดวกสบายเป็นอย่างมาก ถูกบำเรอด้วยสตรีและเสียงเพลงจากวงดนตรีและนักร้องค่ายดังแต่ก็ยังทำให้คิดถึงธรรมชาติของชีวิตที่ยังตกอยู่ภายใต้ความแก่ เจ็บ ตาย ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ได้พิจารณา แม้จะเห็นผู้อื่นเช่นญาติพี่น้องตนเองแก่ เจ็บ ตายก็ยังรังเกียจ(หรือเศร้าเสียใจ)โดยไม่ได้มองย้อนกลับเข้าหาตนเองว่า ตนเองก็จะเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้การออกบวชในทางเถรวาทจึงตีความไปเพราะพิจารณาเห็นนิมิต ทั้ง ๔ คือ แก่ เจ็บ ตายและสมณะ แต่ทางมหายานบางแห่งมีการยกเรื่องแย่งน้ำในสภามาโดยบอกว่าเจ้าชายสิทธัตถะแพ้คะแนนโหวตจึงต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือเนรเทศไปจากเมือง ดังมีข้อความที่ปรากฎในหนังสือพุทธประวัติมหายาน[12]และอ้างอิง(เชื่ออย่างสนิทใจ)โดย ศาสตราจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก/ราชบัณฑิต ว่า
“ขอพูดถึงการหนีบวชไม่หนีบวชกันดีกว่า ถ้าตามพระดำรัสนี้ แสดงว่าเจ้าชายสิทธัตถะมิได้เสด็จหนีบวชในเวลากลางคืนแน่ แต่บวชขณะที่พระราชบิดา (และพระราชมารดา) รู้เห็นอยู่ แต่ไม่อยู่ในฐานะจะทัดทานได้
ถ้าถามต่อไปว่า ทำไมจึงทัดทานไม่ได้ ทั้งๆ ที่ไม่อยากให้โอรสบวช
ก็ต้องตอบตามสมมติฐานข้อสองนั่นคือ เจ้าชายสิทธัตถะถูกผลักดันให้ออกไปจากประเทศ พระเจ้าสุทโธทนะถึงจะเป็นกษัตริย์ประมุขชาวศากยะในขณะนั้น ก็ไม่อยู่ในฐานะจะช่วยโอรสตนเองได้ ในเมื่อเป็นมติของสภาตัดสินออกมา
ถามต่อไปว่า เรื่องอะไรล่ะ ที่ทำให้ชาวศากยะถึงต้องลงมติผลักดันให้เจ้าชายสิทธัตถะออกจากเมือง ก็ต้องโยงถึงเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของศากยวงศ์เรื่องหนึ่งคือ "ศึกชิงน้ำ"
เชื้อสายของพระพุทธเจ้าแบ่งเป็นสองกลุ่มตั้งเมืองอยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำเล็กๆ สายหนึ่งชื่อ "โรหิณี" ศากยะแห่งกบิลพัสดุ์อยู่ฟากหนึ่ง โกลิยะแห่งเทวทหะอยู่อีกฟากหนึ่ง ทั้งสองตระกูลเป็นพวกที่หยิ่งในสายเลือดของตัวเองมาก จึงแต่งงานในระหว่างญาติพี่น้องกันเอง (ซึ่งผิดกฎเมนเดลเป็นอย่างมาก อาจเพราะเหตุนี้ก็ได้ที่ทำให้ชาติพันธุ์ของพระพุทธเจ้าสูญไปจากหน้าประวัติศาสตร์เร็วกว่ากำหนด นอกเหนือไปจากทำสงครามล้างผลาญกันเอง ซึ่งจะกล่าวข้างหน้า)
ทั้งสองตระกูลนี้มีอาชีพหลักคือกสิกรรม อาศัยน้ำในแม่น้ำโรหิณีทำนา มีการกระทบกระทั่งกันเกี่ยวกับการแย่งกันทดน้ำไปทำนาบ่อยครั้ง เป็นปัญหาเรื้อรังมานมนาน จนกระทั่งถึงสมัยที่เจ้าชายสิทธัตถะอยู่ในวัยฉกรรจ์ ความวิวาทบาดหมางได้ทวีความรุนแรงขึ้น ถึงขั้นศากยะแห่งกบิลพัสดุ์เรียกประชุมตัดสินชี้ขาดกันในสภา
เสียงส่วนมากในที่ประชุมเสนอว่า สมควรจะใช้มาตรการขั้นสุดท้าย คือยกทัพไปรบกับโกลิยะแห่งเทวทหะให้รู้แล้วรู้รอดกันเสียที แต่เจ้าชายสิทธัตถะ (อาจมีสมาชิกอื่นด้วย) ไม่เห็นด้วยกับที่พี่น้องกันเองจะล้างผลาญกัน
เมื่อโหวตเสียงปรากฏว่าแพ้มติที่ประชุม ทั้งๆ ที่แพ้มติที่ประชุมเจ้าชายท่านไม่ยอมเลิกละยืนขึ้นคัดค้านกระต่ายขาเดียวอยู่นั่นแล้ว นับว่าปฏิบัติผิดระเบียบข้อบังคับของสภาอย่างร้ายแรงจึงถูกขับออกไปในที่สุด
แต่การให้เจ้าชายสิทธัตถะออกจากเมืองมิใช่เรื่องเล็กน้อย พวกศากยะเป็นประเทศราชขึ้นอยู่กับพระเจ้า ปเสนทิโกศลแห่งรัฐโกศลอีกต่อหนึ่ง (มิได้เป็นประเทศอิสระใหญ่โตอย่างที่ชาวพุทธไทยเราเชื่อกัน) พวกเขากลัวว่า ถ้า ปเสนทิโกศลเจ้านายเหนือหัวทราบเรื่องเข้า อาจยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้องก็ได้ จึงตกลงกันให้ระงับศึกชิงน้ำไว้สักพักหนึ่งก่อน และขอคำมั่นจากเจ้าชายสิทธัตถะว่าจะต้องไม่ให้ปเสนทิโกสลรู้เรื่องนี้เป็นอันขาด สิทธัตถะรับปาก และเพื่อให้พวกศากยะวางใจยิ่งขึ้น จึงถือเพศบรรพชิตออกไปให้เห็นประจักษ์กับตาเลยทีเดียว (ไม่ว่าสมัยนั้น หรือสมัยไหน เพศบรรพชิตถือว่าไม่มีพิษไม่มีภัยกับใคร ในประวัติศาสตร์ไทยผู้ที่หนีราชภัยออกบวชย่อมไม่ได้รับการรบกวนจากกษัตริย์ผู้มีอำนาจ นี่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาแต่โบราณกาล)”[13]
เรื่องราวที่ยกมานี้กระผมมีความไม่เห็นด้วยอยู่หลายประเด็น(แต่เพื่อความสบายใจให้ผู้อ่านทราบว่าไม่ใช่เพราะกระผมเป็นเถรวาทจึงรับความคิดของมหายานไม่ได้ แต่ด้วยการอ้างอิงที่ไม่มีตรรกะ) ดังจะชี้ให้เห็นเป็นลำดับไป
ประการแรก การโหวตเสียงแล้วแพ้ในสภาส่งผลให้ผู้แพ้ต้องออกจากเมืองไป เทียบกับปัจจุบันถ้า ส.ส.เข้าสภาไปอภิปรายเรื่องโครงการหรืองบประมาณ หากผู้ใดไม่เห็นด้วยและแพ้คะแนนโหวต(เป็นเสียงข้างน้อย)ผู้นั้นต้องพ้นจากการเป็น ส.ส.เลยหรือ? หรือดังที่ท่านอาจารย์บอกว่า เป็นเพราะเจ้าชายสิทธัตถะยังรั้น ไม่ยอมเห็นด้วย ยืนกระต่ายขาเดียวที่จะคัดค้านนั้นผิดกฎอย่างร้ายแรงฯ ก็ในเมื่อความเป็นจริงหากมีการไม่เห็นด้วยกันในสภาก็ต้องเป็นธรรมดาที่มีคนยืนกระต่ายขาเดียวคัดค้านอยู่แล้ว(กรุณานั่งลงก่อน...ผมยังไม่นั่ง) แม้จะเป็นเสียงข้างน้อยก็ตาม แต่นั่นไม่ใช่สาระ เพราะโครงการ/งบประมาณทั้งหลายหากได้เสียงข้างมากก็ถือว่าผ่านอยู่ดีแม้เจ้าตัวแสบที่ไม่เห็นด้วยจะยังคงอยู่ในสภาหรือคัดค้านให้หัวเด็ดตีนขาดอย่างไรก็ตามฯ ดังนั้นประเด็นนี้กระผมจึงมองไม่ออกว่าการโหวตแพ้ของเจ้าชายสิทธัตถะจะต้องถึงกับออกจากเมืองแต่อย่างใดฯ
ประการที่สอง การที่เจ้าชายสิทธัตถะต้องออกจากวังและบวชเพื่อเป็นการแสดงให้บรรดาพวกศากยวงศ์เบาใจว่าจะไม่นำเรื่องไปบอกแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล เพราะเกรงว่าหากทราบเข้าจะเข้ามามีส่วนในการทำสงครามของทั้งสองฯ พูดง่ายๆถ้าเทียบกับปัจจุบันคือหากไทยจะทำสงครามกับเขมรก็กลัวฝรั่งเศสจะเข้ามาช่วยเขมร(หรือแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน)นั่นเอง ข้อนี้ฟังดูเหมือนค่อนข้างมีเหตุมีผล แต่เราต้องแยกแยะว่าสิ่งที่พวกศากยวงศ์จะทำคือสงคราม ไม่ใช่การเจรจา(หรือใช้ข้อมูลต่อสู้กันในศาลโลก) ดังนั้นผู้ที่อยากจะทำสงครามจริงๆ(โดยเฉพาะผู้ที่มั่นใจว่าตนต้องชนะ) แทนที่จะหยุดไว้ก่อนแล้วค่อยทำ กลับต้องรีบเร่งเพราะกลัวว่ายิ่งรอนานนั่นแหละ พระเจ้าปเสนทิโกศลจะทราบแล้วเข้าช่วยเหลืออีกฝ่ายทันเวลาฯ เพราะการทำสงครามฆ่าล้างกัน ย่อมเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะปกปิดเรื่องเหล่านี้แก่สาธารณะชน(แม้สมัยอดีตก็ตาม) การรอเวลาเพื่อปกปิดความลับกลับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการรู้ข้อมูลข่าวสารและการตั้งรับของอีกฝ่ายอย่างชัดเจน ดังนั้นประเด็นนี้กระผมก็ยังมองไม่ออกอยู่ดีว่าเจ้าชายสิทธัตถะต้องออกบวชไปเพราะเพื่อแสดงความรับผิดชอบและปกปิดเรื่องการทำสงครามใหญ่ของสองเมืองแต่อย่างใดฯ
ประการสุดท้าย ซึ่งสำคัญมากและมิได้เป็นข้อถกเถียงโดยตรงกับข้อความนี้ นั่นคือหากเชื่อว่าเจ้าชายสิทธัตถะออกบวชเพราะจำใจ ไม่ได้มีศรัทธาแต่เพราะถูกบีบเพียงเพื่อให้พ้นไปจากวังและการเมืองฯ จะเป็นการปฏิเสธความตั้งใจของพระโพธิสัตว์เองในการออกบวชเพื่อแสวงหาโมกขธรรมและปลดปล่อยตนเองพร้อมทั้งสรรพสัตว์จากสังสารวัฏฯ ดังนั้นแม้การออกบวชก็มิได้เป็นไปเพราะความเบื่อหน่ายกามคุณ มิได้เป็นไปเพราะความเมตตากรุณา เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเรียกว่า “มหาภิเนษกรมณ์” ไม่ได้ เพราะมิได้มีจุดประสงค์เพื่อคุณอันยิ่งใหญ่กล่าวคือการสลัดตน(และช่วยผู้อื่น)ให้พ้นจากทุกข์ และหากออกบวชด้วยเหตุผลนั้นจริงก็จะไม่ทรงมีความอุตสาหะในการศึกษาเรื่องการพ้นทุกข์จากครูอาจารย์ บำเพ็ญเพียร ฝึกฌาน ทรมานตนเองด้วยทุกรกิริยาจนเจียนตาย และประการสำคัญเป็นการปฏิเสธการบำเพ็ญบารมีและการเกิดมาเป็นชาติสุดท้ายเพื่อโพธิญาณฯ แต่อย่างไรก็ตาม หลายคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เป็นปราชญ์ทางพุทธศาสนา ด้วยเหตุที่ท่านศึกษาพุทธศาสนามามาก มักคุ้นเคยกับคำพูดของพระพุทธเจ้าจนอาจไม่มีความเชื่อแม้จะนำเอาพุทธพจน์มายืนยันก็ตาม ดังนั้นกระผมจะขอนำคำพูดของม้า(กัณฐกะเทพบุตร)มาประกอบไว้แทนเผื่อในสายตาท่านทั้งหลายจะมีน้ำหนัก/ความน่าเชื่อถือกว่าพระพุทธเจ้า
“ข้าพเจ้าเป็นพญาม้าชื่อกัณฐกะ เป็นสหชาติของพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้เป็นใหญ่กว่าเจ้าศากยะทั้งหลายในกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อพระราชโอรสนั้น เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ในมัชฌิมยามเพื่อความตรัสรู้ เอาฝ่าพระหัตถ์อันอ่อนเล็บแดงจางสุกใส ตบอกข้าพเจ้าเบาๆ แล้วตรัสกะข้าพเจ้าว่า จงพาฉันไปเถิดสหาย ฉันได้บรรลุพระโพธิญาณอันอุดมแล้ว จักยังโลกให้ข้ามพ้นจากห้วงน้ำใหญ่คือสงสาร(การเวียนว่ายตายเกิด) เมื่อข้าพเจ้าฟังพระดำรัสนั้นแล้ว ได้มีความร่าเริงยินดีเบิกบาน บันเทิงใจเป็นอันมาก ข้าพเจ้าจึงได้รับคำของท่านโดยความเคารพ ครั้นข้าพเจ้ารู้ว่า พระมหาบุรุษผู้เป็นพระโอรสแห่งศากยราชผู้เรืองยศ ประทับนั่งบนหลังของข้าพเจ้าแล้ว มีจิตเบิกบานบันเทิงใจ นำพระมหาบุรุษออกไปจากพระนคร ไปจนถึงแว่นแคว้นของกษัตริย์เหล่าอื่น เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว พระมหาบุรุษมิได้มีความอาลัยละทิ้งข้าพเจ้ากับฉันนะอำมาตย์ไว้ ทรงหลีกไป ข้าพเจ้าได้เลียพระบาททั้ง ๒ ของพระองค์ ซึ่งมีเล็บอันแดง ด้วยลิ้น ร้องไห้ แลดูพระลูกเจ้าผู้มีความเพียรอันยิ่งใหญ่เสด็จไปอยู่ ข้าพเจ้าป่วยอย่างหนักเพราะมิได้เห็นพระมหาบุรุษศากโยรส ผู้มีศิริพระองค์นั้น ข้าพเจ้าได้ตายลงอย่างรวดเร็ว(ช๊อก) ด้วยอานุภาพแห่งปีติและโสมนัสนั้น ข้าพเจ้าจึงได้มาอยู่ยังวิมานนี้”[14]
เอาเป็นว่าเรื่องการออกบวชน่าจะหยุดไว้แค่นี้ หลายคนอาจมองว่าไม่จำเป็นต้องมาถกเถียงกันเรื่องมูลเหตุของการออกบวช เพราะอย่างไรเสียก็ไม่อาจทราบชัดได้ และอีกอย่าง ผลก็ออกมาแล้วว่าเจ้าชายสิทธัตถะออกบวชแล้วและบรรลุธรรมแล้ว เรื่องสาระธรรมนั่นแหละเป็นเรื่องที่น่าประทับใจและน่าถกกันมากกว่าฯ เอาเป็นว่ากระผมก็เห็นด้วยตามนั้นเลิกก็เลิก(เพราะฟันศอกเขาไว้แล้ว)
หลังจากที่เจ้าชายออกบวชก็ได้เข้าหาครูอาจารย์ที่มีชื่อเสียงคือ อาฬารดาบสและอุทกดาบทเป็นระยะเวลาหนึ่งจนชำนาญในการเข้าฌานสมาธิ แต่ด้วยเห็นว่าสมาธิแม้จะทำให้มีความสุขจริง แต่มันก็เป็นเหมือนอีกโลกหนึ่งคือการปิดตัวเองไม่ให้รับรู้ปัญหาภายนอก เมื่อออกมาจากสมาธิ พบปะผู้คน ได้รับคำสรรเสริญและนินทา พบเห็นภาพที่ประทับใจและรังเกียจก็ต้องเป็นสุขเป็นทุกข์คล้อยตามสภาวะทางโลกอยู่ดี(เรามักได้ยินการเปรียบเทียบกับ ก้อนหินทับหญ้า) ท่านจึงเห็นว่านี่ยังไม่ใช่วิธีสู่การพ้นทุกข์ที่แท้จริง จึงขอลาอาจารย์ทั้งสองไปแสวงหาวิธีด้วยตนเอง
จากเรื่องสั้นๆนี้หลายคนบวชแล้วแบกย่าม แบกกรดเข้าป่าไปเลยโดยไม่ได้ศึกษาวิธีการเสียก่อน เพราะถูกบอกว่าเจ้าชายสิทธัตถะไม่มีใครเป็นอาจารย์ ไม่เคยศึกษากับใครซึ่งเป็นเรื่องไม่จริงเลยพระองค์ยังต้องเข้าหาครูอาจารย์ เราอาจกล่าวว่าการบรรลุธรรมของท่านไม่เกี่ยวกับครูอาจารย์ก็จริง เพราะท่านค้นพบวิปัสสนาด้วยตนเอง แต่ต้องไม่ลืมว่าพื้นฐานที่ได้จากการทำใจให้สงบ(สมถะ)นั้นเกิดจากการฝึกในสำนักอาจารย์มาก่อนและการปฏิเสธครูอาจารย์ของท่านเนื่องจากเหตุผลที่ว่าท่านมีความรู้เทียบเท่าครูอาจารย์แล้ว แต่สำหรับผู้บวชใหม่ยังไม่มีความรู้อะไรเลยจะใช้หลักการเดียวคือดิ่งเข้าป่าไปเลยนั้นไม่ได้ ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงตั้งกฎเกณฑ์ไว้ให้พระอยู่ศึกษาธรรมะรับใช้พระอุปัชฌาย์(หรืออาจารย์)ก่อนอย่างน้อย ๕ ปี แต่ก็น่าเสียดายที่ปัจจุบันการอยู่กับพระอุปัชฌาย์เหมือนไม่ค่อยได้ประโยชน์เท่าใดนัก คือแทนที่จะสอนวินัยหรือสมาธิกลับพาลูกศิษย์เที่ยวแจกซองกฐิน ผ้าป่า ลอยกระทง หากิจนิมนต์ สวดอภิธรรม ว่างๆก็นั่งบีบนวดกัน ทำงานเอกสารทีหนึ่งก็ตอนที่ตนจะขอเลื่อนสมณศักดิ์ พระลูกศิษย์ก็ต้องมานั่งพิมพ์ผลงาน ถ่ายรูปโบสถ์ ศาลาฯลฯ หรือบางท่านที่ยิ่งกว่านั้นพระลูกศิษย์ก็ไม่ต้องทำอะไรเลย เนื่องจากตนเองมีสตรีคอยปัดกวาดกุฏิ ซักจีวร จัดเตรียมภัตตาหาร เป็นเพื่อนยามเหงาซึ่งมีอำนาจพอที่จะสั่งให้ใครอยู่หรือไปจากวัดนั้นก็ได้(รวมทั้งตัวเจ้าอาวาสเอง)ด้วยคำพูดที่เกริ่นขึ้นเพียงสั้นๆว่า “อย่าให้ฉันต้องพูดออกมานะ” โล้นทั้งหลายทั้งหัวหน้าและลูกน้องต่างพากันขวัญหาย แยกย้ายกันเดินกลับกุฏิเอนหลังบนเตียงเข้าฌานต่อฯ พอดีกว่า เหมือนจะมากไปแล้ว เดี๋ยวเจ๊ไม่สบายใจ(อันนี้เป็นเรื่องสมมตินะครับ เดี๋ยวโยมคิดว่าจริงไปอีก) สรุปก็คือพระอุปัชฌาย์เริ่มทอดทิ้งศิษย์ตนเองจากการส่งเสริมให้ศึกษาและปฏิบัติ เห็นภาระกิจทางโลกคือการหามวลชนมาทำบุญ การสร้างวัตถุมากกว่าการให้ปัญญาคน(รวมทั้งตนเอง) ดังนั้นการออกบวชของพระพุทธเจ้าและการฝึกฝนเร่งความเพียรที่จะเป็นแบบอย่างแก่พุทธบริษัทจึงไม่มีความหมายเนื่องจากไม่มีใครกระตุ้นให้เดินตามรอยนั้นฯ
อีกอย่างครูอาจารย์สายกรรมฐานหรือแม้สายการศึกษา(ไม่ใช่ทั้งหมดแต่เกือบ...อันนี้เป็นประสบการณ์ที่ได้พบเห็นมาเองในหลายโอกาส)พยายามดึงลูกศิษย์ไว้ไม่ให้ออกไปไหน แม้ศิษย์จะเห็นว่าการปฏิบัติอยู่กับอาจารย์จะไม่ก้าวหน้าก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องที่คล้ายกับสมัยพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าหรือพระอัครสาวกคือพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะต่างก็ถูกฉุดรั้งไม่ให้ออกไปนอกสำนัก แต่คนเหล่านั้นก็หนีไปจนได้ เหตุผลที่ครูอาจารย์ชอบยกมาอ้างคือ “ตอนนี้อาจไม่ได้ผล แต่สักพักจะดีเอง, เจ้าเป็นคนมีความสามารถ หากได้อยู่ด้วยกันที่นี่จะสามารถสร้างความยิ่งใหญ่(เกียรติยศให้กับสำนัก)ได้ในอนาคต, บางท่านถึงกับสาบแช่งเลยหากจะไปจากตนเช่น ท่านไม่มีวันประสบความสำเร็จหากไม่มีข้า” เป็นต้น ทำให้กระผมต้องมานั่งคิดถึงคำเหล่านี้...เอ้ หรือจะเป็นไปได้ที่เรายังไม่บรรลุสักที เพราะออกมาจากสำนักอาจารย์ผู้เลิอเลิศเช่นนี้นี่เองฯ ความจริงเหตุผลที่ยกมานี้ล้วนส่อเจตนาอยู่ในตัวก็ไม่น่าจะอธิบายกันอีก หากไปศึกษาเรื่องสัญชัยปริพาชก อาจารย์ของพระสารีบุตรและโมคคัลลานะจะเข้าใจชัดเจนขึ้นฯ อย่างไรก็ตามมิได้หมายความว่าครูอาจารย์ที่ห้ามจะไม่ดีเลย หากศิษย์จะไปทำสิ่งไม่ดีหรือล้มเลิกการปฏิบัติแล้วห้ามนั้นดีมาก แต่สำหรับคนที่ตนเองก็ปฏิบัติไม่ได้ผล แล้วยังรั้งผู้อื่นไว้ให้อยู่กับตนเพื่อสร้างกระแส สถาปนาตนเป็นเกจิอาจารย์ เอาสถิติพระและญาติโยมไปแข่งกับสำนักอื่นฯลฯ อย่างนี้พึงทราบว่าควรหนีเสียให้ไกลร้อยโยชน์
เมื่อพระโพธิสัตว์(เจ้าชายสิทธัตถะ)ออกจากสำนักอาจารย์ทั้งสอง ได้ตัดสินใจบำเพ็ญทุกกรกิริยาโดยมีปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ติดตามเฝ้ารับใช้ ประกอบด้วย ท่านโกณทัญญะ (อดีตศาสตราจารย์ที่เคยเข้าร่วมทำนายอนาคตของกุมาร) วัปปะ ภัททิยะ มหานามะและอัสสชิ เหตุที่ท่านโกณทัญญะต้องถึงกับลาออกจากมหาวิทยาลัย สละตำแหน่งทั้งหลายลงด้วยเชื่อมั่นว่าพระโพธิสัตว์จะสามารถบรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้าแน่ จึงได้ชักชวนลูกหลานพราหมณ์แก่ที่เหลือมาร่วมอุดมการณ์ด้วย ที่สำคัญหากตนได้ดูแลใกล้ชิดเมื่อพระองค์สำเร็จเข้าจริงจะสามารถแสดงธรรมโปรดพวกตนได้ก่อนฯ เป็นที่ตั้งข้อสงสัยกันว่า ในเมื่อท่านโกณทัญญะมีความรู้มากมายขนาดนั้น ไฉนต้องมาคอยติดตามรับใช้พระโพธิสัตว์อยู่ ไม่เร่งรีบบำเพ็ญเพียรด้วยตนเองเล่า? แม้แต่ช่วงที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญทุกกรกิริยาพวกดาบสทั้ง ๕ ก็ได้แต่นั่งชมการแสดงและปรบมือเป็นกำลังใจ ไม่ยอมลงมือทำไปพร้อมๆกัน?
ประเด็นนี้คงตอบได้ยาก ได้แต่สันนิษฐานเอาว่า ปัญจวัคคีย์ทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านโกณทัญญะน่าจะทราบดีหรือมีความเชื่ออยู่ว่า คนที่จะบรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้าได้โดยการแสวงหาหนทางด้วยตนเองนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทุกคนทำได้ แต่เป็นเรื่องของบางคนที่เกิดมาเพื่อสิ่งนี้เท่านั้นและคงเห็นว่าน่าจะเป็นกิจของท่านสิทธัตถะมากกว่าไม่ใช่ของพวกตนฯ การกล่าวเช่นนี้ให้เข้าใจว่ามิใช่ความเชื่อเรื่องพระเจ้ากำหนดหรือพรหมลิขิต แต่เป็นการสร้างบารมีหรือพยายามขวนขวายด้วยตนเองซึ่งเป็นของปัจเจก ยกตัวอย่างง่ายๆคือทุกคนมีสิทธิเป็นนายก แต่ก็มิใช่ทุกคนจะได้เป็นนายก (เพราะขึ้นอยู่กับการขวนขวายส่วนตัวและการใช้เวลาปั้นตนเอง)
แนวทางของการบำเพ็ญทุกกรกิริยานิยมสรุปกันเป็น ๓ ขั้นตอนใหญ่คือ การกัดฟันจนสุดแรง การกลั้นลมหายใจและการลดจำนวนอาหารจนถึงขั้นเหลือเพียงเมล็ดพืชฯ เหตุที่ต้องทำเช่นนั้นเพราะในชมพูทวีปหรืออินเดียโบราณมีความเชื่อว่าคนจะพ้นทุกข์ได้ด้วยทุกกรกิริยาเท่านั้น ความจริงอินเดียสมัยพุทธกาลมีการแสวงหาทางพ้นทุกข์อยู่ ๒ วิธีหลักซึ่งต่อมาพระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ในธรรมจักกัปปวัตนสูตรนั้นคือ
๑.การปล่อยตัวไปตามอารมณ์ความอยาก หรือที่เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค นั่นคือเมื่อชีวิตมีความทุกข์มาก[15] วิธีที่ดีที่สุดคือหาความสุขมาเติมเต็ม กลบเกลื่อนให้ลืมความทุกข์เหล่านั้นเสีย เราอาจคิดว่าความเชื่อประเภทนี้ไม่มีแล้วในปัจจุบัน ความจริงยังมีอยู่เกลื่อน นั่นคือลัทธิ บริโภคนิยม(Consumerism)นั้นเอง คนส่วนใหญ่ไร้สติปัญญา ไม่ว่าจะเรียนหรือทำงานก็ลืมจุดประสงค์หลักในการพัฒนาตนให้พ้นกิเลสไปเสีย แต่กลับใช้การเรียนและการทำงานเป็นเครื่องมือในการสนองกิเลสตนเองระยะยาว นั่นคือเมื่อประสบความสำเร็จ มีเงินทองก็ใช้ในทางมุ่งหาวัตถุ บ้าน รถ เครื่องใช้ต่างๆจนลืมไปว่าสุขอีกแบบคือสุขทางใจ เราอาจคิดว่าเมื่อแนวทางนี้น่าจะสะดวกสบายกว่า เหตุใดพระโพธิสัตว์ไม่เลือกทางนี้ในการหาทางพ้นทุกข์แทนการทรมานตนเอง? คำตอบก็คือเพราะพระองค์เคยบำเพ็ญทางนี้มาแล้วถึง ๒๙ ปี ขณะอยู่ในวังนั่นเองและทรงเห็นว่าเป็นการหนีความทุกข์ได้ชั่วคราวและยิ่งนานเข้ากลับเกิดความชินชาเบื่อหน่ายไม่น่ายินดี เราอาจเรียกจุดนี้ว่าเป็นจุดอิ่มตัว ตัวอย่างเช่นคนหน้าหม้อทั้งหลายที่เห็นกามเป็นเรื่องน่าพิสมัย หลายคนใช้เวลาหลายปีหมกมุ่นอยู่ในกามจนถึงจุดหนึ่งรู้สึกว่าเบื่อหน่าย ไม่มีอารมณ์อีก(ตายด้าน) มองสิ่งนั้นเป็นเรื่องธรรมดาหรือน่ารังเกียจถึงขั้นหายใจออกอย่างดังและอุทานมาว่า “พอกันที” แต่อย่างไรก็ตามการจะทำให้ตนเองรู้สึกพอกับสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องยากเช่นกัน ดังนั้นหากผู้ใดคิดจะเดินตามแนวทางนี้(ยิ่งไม่มีปัญญา)อาจเสี่ยงเกินไปจนถึงขั้นกลับหลังไม่ได้ ทางที่ดีคือพิจารณาให้เห็นโทษเสียแล้วกลับเข้าสู่ทางที่ถูกต้องจะดีกว่า ความจริงการบำเพ็ญตนหรือการดำเนินชีวิตตามหลักนี้สะท้อนถึงความเชื่อเรื่องภพชาติประการหนึ่งคือคนประเภทนี้ไม่เชื่อเรื่องโลกหน้า นรกสวรรค์ ชีวิตนี้มีหนเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องสนใจความดีความชั่ว ใช้ชีวิตให้มีความสุขไปวันๆก็พอแล้วฯ
๒. การทรมานตนเองให้ลำบาก เรียกอีกอย่างว่า อัตตกิลมถานุโยค เกิดจากความเชื่อที่ว่าเมื่อชีวิตมีความทุกข์มาก เป็นความเชื่อเรื่องภพชาติว่าชีวิตมีหลายชาติ ดังนั้นอดีตอาจทำสิ่งไม่ดีมาจึงต้องประสบทุกข์เช่นนี้ก็ทำให้ชีวิตทุกข์แบบเต็มที่ไปเลย เมื่อถึงจุดหนึ่งความทุกข์จะได้หมดไปและจะมีแต่ความสุข จึงเกิดวิธีการทรมานตนเองขึ้น ความจริงเรื่องนี้มีบทสนทนาที่น่าสนใจอยู่ที่เป็นการปฏิเสธการบำเพ็ญทุกกรกิริยาของพวกนิครนถ์นักบวชนอกศาสนาซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสเล่าแก่เจ้าศากยะมหานามะว่า
ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านทราบละหรือว่า เราทั้งหลายได้มี(เกิดมา)แล้วในกาลก่อนมิใช่ไม่ได้มีแล้ว? ดูกรท่านผู้มีอายุ หามิได้เลย (หมายถึงไม่ทราบเลย) นิครนถ์ตอบ.
พระพุทธเจ้า. ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านทราบละหรือว่า เราทั้งหลายได้ทำบาปกรรมไว้ในกาลก่อน มิใช่ไม่ได้ทำไว้? ดูกรท่านผู้มีอายุ หามิได้เลย นิครนถ์ตอบ
พระพุทธเจ้า. ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านทราบละหรือว่า เราทั้งหลายได้ทำบาปกรรมอย่างนี้บ้างๆ? ดูกรท่านผู้มีอายุ หามิได้เลย นิครนถ์ตอบ
พระพุทธเจ้า. ดูกรนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านทราบละหรือว่า ทุกข์เท่านี้เราสลัดได้แล้ว หรือว่าทุกข์เท่านี้เรายังต้องสลัดเสีย หรือว่าเมื่อทุกข์เท่านี้เราสลัดได้แล้ว จักเป็นอันสลัดทุกข์ได้ทั้งหมด? ดูกรท่านผู้มีอายุ หามิได้เลย นิครนถ์ตอบ[16]
บทสนทนานี้พระพุทธเจ้าต้องการชี้ให้เห็นว่าความเชื่อที่จะต้องทำตนเองให้ลดจำนวนของทุกข์ลงหรือให้หมดทุกข์นั้นเป็นเรื่องเกินจินตนาการ ไม่ได้หมายความว่าศาสนาพุทธปฏิเสธเรื่องภพชาติหรือกรรมเก่า แต่พระพุทธเจ้าไม่ให้มัวแต่ไปติด/สนใจอยู่กับกรรมเก่าจนต้องตามแก้กันไม่หวั่นไม่ไหว (เราอาจเทียบกับชาวพุทธปัจจุบันเรื่องพวกชอบดูดวง แก้กรรมและสะเดาะเคราะห์ทั้งหลาย) แต่ให้รีบสร้างกรรมใหม่คือกรรมดีตามหลักมรรคมีองค์ ๘ เป็นต้น โดยสรุปคือการมัวแต่ทรมานตนเองให้ลำบากมีแต่จะตายเปล่าแลไม่เป็นการเปิดตนเองให้ค้นพบปัญญาที่แท้จริง แต่อย่างไรก็ตามวิธีดูสำหรับนักบวชแล้วก็ดูน่าพิสมัยกว่าวิธีแรก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่นิยมกันทั่วไปไม่เว้นแม้แต่พระโพธิสัตว์เองฯ
ผลจากการบำเพ็ญทุกกรกิริยาทำให้พระโพธิสัตว์เจียนตายและต่อมาได้เลิกแล้วหันมาบำเพ็ญสมาธิและปัญญาแทน โดยได้ตรัสถึงผลที่พระองค์ประสบมาว่า
เพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อยนั่นเอง อวัยวะน้อยใหญ่ของอาตมภาพย่อมเป็นเหมือนเถาวัลย์มีข้อมาก หรือเถาวัลย์มีข้อดำฉะนั้น. ตะโพกของอาตมภาพเป็นเหมือนเท้าอูฐฉะนั้น. กระดูกสันหลังของอาตมภาพผุดระกะ เปรียบเหมือนเถาวัฏฏนาวฬีฉะนั้น. ซี่โครงของอาตมภาพขึ้นนูนเป็นร่องๆ ดังกลอนศาลาเก่ามีเครื่องมุงอันหล่นโทรมอยู่ฉะนั้น. ดวงตาของอาตมภาพถล่มลึกเข้าไปในเบ้าตา ประหนึ่งดวงดาวปรากฎในบ่อน้ำลึกฉะนั้น. ผิวศีรษะของอาตมภาพที่รับสัมผัสอยู่ก็เหี่ยวแห้ง ดุจดังผลน้ำเต้าที่ตัดมาสดๆ อันลมและแดดกระทบอยู่ก็เหี่ยวแห้งฉะนั้น. อาตมภาพคิดว่า จะลูบผิวหนังท้องก็จับถูกกระดูกสันหลัง คิดว่า จะลูบกระดูกสันหลังก็จับถูกผิวหนังท้อง. ผิวหนังท้องกับกระดูกสันหลังของอาตมภาพติดถึงกัน. เมื่ออาตมภาพคิดว่าจะถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ ก็เซซวนล้มลงในที่นั้นเอง. เมื่อจะให้กายนี้แลมีความสบาย จึงเอาฝ่ามือลูบตัว. เมื่ออาตมภาพเอาฝ่ามือลูบตัว ขนทั้งหลายมีรากเน่าก็หล่นตกจากกาย.[17]
เมื่อปัญจวัคคีย์เห็นว่าพระองค์ทรงล้มเลิกความตั้งใจก็พากันโจทย์ว่าท่านละความพยายามหันกลับมาเป็นคนมักมาก(ในอาหารเป็นต้น)อีกแล้ว จึงตกลงเลิกปรนนิบัติพระองค์และพากันหนีไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ปล่อยให้พระองค์อยู่คนเดียว ซึ่งกลายเป็นข้อดีด้วยซ้ำที่หมดคนรบกวนสามารถบำเพ็ญสมาธิภาวนาได้เต็มที่ ตรงนี้เป็นอีกส่วนหนึ่งที่โล้นมักเอาไปเป็นประเด็นหลอกชาวบ้าน คือเมื่อปฏิบัติธรรมกันไม่ค่อยคืบหน้าก็ให้กำลังใจ(บางครั้งถึงกับเป็นการบั่นทอนกำลังใจกันเลย)ว่า “เจ้าชายสิทธัตถะซึ่งมีปัญญามากใช้เวลาบำเพ็ญอยู่ตั้งหลายล้านปี (๔ อสงขัยแสนมหากัป)หรือที่สั้นกว่านั้นคืออย่างน้อย ๖ ปี(พูดจากการบำเพ็ญทุกกรกิริยา) เราชาวบ้านสามัญธรรมดา สติปัญญาน้อยจะให้เห็นผลทันตานั้นคงไม่ได้” ความจริงการบำเพ็ญนานหลายล้านปีนั้นเป็นการบำเพ็ญตนเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า แต่การจะให้บรรลุธรรมคือพ้นทุกข์ทั่วไปไม่ต้องใช้เวนานานขนาดนั้นกลับต้องขึ้นอยู่กับความพยายาม อีกอย่าง ที่ว่าท่านสิทธัตถะใช้เวลาถึง ๖ ปีก็เป็นคำพูดที่ไม่ถูกต้อง เพราะเวลาเหล่านั้นล้วนใช้ไปกับการเดินทางผิด ทรมานตนเองฯ แต่เมื่อพระองค์กลับเข้ามาบำเพ็ญเพียรทางใจซึ่งพระองค์ก็สอนให้เราทั้งหลายทำเช่นนั้น พระองค์กลับใช้เวลาสั้นมากเพียงแค่หนึ่งวัน คือนับจากการถวายข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาแล้วพระองค์ก็ทรงอธิษฐานที่จะนั่งสมาธิใต้ต้นโพธิ์และวันรุ่งขึ้นก็บรรลุธรรมได้เลยฯ ลองมาดูระยะหวังผลที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรเป็นเครื่องยืนยันอีกทีว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้อย่างนี้ ตลอด ๗ ปี เขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทิ(กิเลส)เหลืออยู่ก็จะเป็นพระอนาคามี...(ร่นลำดับสั้นมาเรื่อยๆ) ๖ ปี, ๕ ปี, ๔ ปี, ๓ ปี, ๒ ปี, ๑ ปี, ๗ เดือน, ๖ เดือน, ๕ เดือน, ๔ เดือน, ๓ เดือน, ๒ เดือน, ๑ เดือน, ครึ่งเดือน,(และสุดท้าย) ๗ วันเขาพึงหวังผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน ๑ หรือเมื่อยังมีอุปาทิ(กิเลส)เหลืออยู่ ก็จะเป็นพระอนาคามี ๑ ฯ[18]
เราอาจยังสงสัยอยู่ว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นจริงไฉนเราจึงต้องปฏิบัติธรรมกันนานแสนนาน เข้าโครงการปฏิบัติแบบเข้มข้น ๗ วันแล้วก็ไม่เห็นจะบรรลุ? กระผมใคร่จะขอแสดงความเห็นแบบผู้ที่ยังมิได้บรรลุเช่นกันว่า น่าจะมีเหตุผล/อุปสรรคใหญ่อยู่ ๒ ประการคือ
๑. เราเอง(หมายถึงผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย)ไม่มีความรู้จริงเรื่องพระศาสนา ตัวอย่างเช่นการจะทำให้ใจสงบได้ต้องรู้จักพิจารณากาย(กายานุปัสสนา)เป็นต้น เช่นขันธ์ห้าว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง แล้วเลือกยกคำว่าสังขารมา เราก็ไม่เข้าใจแล้วคิดว่ามันเป็นร่างกาย (ทั้งที่จริงเป็นการปรุงแต่ง ๓ ทางคือ บุญ บาป และอเนญชา) หรือวิญญาณ เราก็คิดว่าเป็นดวงจิตที่ล่องลอยไปโน้นไปนี้(บางท่านถึงกับแซวเล่นกันว่าถ้างั้นก็ช่วยกันตะคลุบหน่อย..จับเอามาใส่ขวนนี่!)ทั้งที่วิญญาณคือการรับสัมผัสระหว่างตากับรูป หูกับเสียงเป็นต้น การทราบเรื่องเหล่านี้สามารถสลายความเป็นตัวตนไปได้เพราะเมื่อทราบว่า เราเห็นภาพได้ต้องอาศัยตาและรูปมาประกอบกัน ทุกอย่างต้องอาศัยเหตุและปัจจัยทั้งสิ้น มิใช่เป็นตัวตน(อัตตา)ที่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จอยู่ในตัว เมื่อต้องอาศัยปัจจัย ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามเหตุและปัจจัย มิใช่ความปรารถนาของเราเอง(อนัตตา) หรือให้ชัดกว่านั้นก็จะเห็นว่า รูป ก็มีการเปลี่ยนแปลง ตาเราเองก็มีการเปลี่ยนแปลง(ไปสู่การแตกดับ) ล้วนไม่น่าอภิรมณ์รักใคร่หรือยึดมั่นว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้งดงามสืบไปหรือต้องเป็นของเราฯ สรุปสั้นๆว่า เราส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เหล่านี้เลย สักแต่ใส่ชุดขาว (ตราจาละวัน) แบกปิ่นโตเข้าวัด หรือเข้าร่วมนั่งสมาธิเพื่อได้นิพพานคือเมืองแก้วในจินตนาการและติดตามพระพุทธเจ้าหรือพระป่าของเราไปใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันเท่านั้นเอง ให้สังเกตว่าแค่พูดถึงปัจจุบันก็ชัดเจนมากแล้วโดยไม่ต้องไปอ้างถึงอดีตเป็นแสนอสงขัยเลยฯ
๒.หลายคนมีความรู้ชัดเจนแล้ว ซึ่งก็น่าจะบรรลุธรรมได้ แต่พุทธศาสนาเป็นเรื่องของ วิริยวาที คือต้องลงมือทำเอาจริงเอาจัง สังเกตได้จากแม้ในมหาสติปัฏฐานสูตรที่ยกมา พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนที่จะบรรลุธรรมต้องเจริญ(ปฏิบัติ)อยู่ตลอด ไม่ใช่วันละ ๑๐ นาทีก่อนนอน หรือตอนถูกภรรยาด่าใหม่ๆ การทำอย่างนี้ไม่ใช่จะไม่มีผลเลย แต่เป็นการกระทำที่ไม่ติดต่อ จึงสู้กับกิเลสที่โถมเข้ามาตลอดเวลาไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า แม้รับประทานอาหาร ตลอดจนถ่ายปัสสาวะ อุจจาระก็ต้องดำรงสติไว้ฯ เราจะเห็นว่าผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่ก็มิได้ทำเช่นนี้เลย หากเข้าโครงการปฏิบัติธรรมแบบเข้มข้นดังที่กล่าวมา ถ้าเป็นเวลาพัก(ซึ่งอาจมีอยู่สั้นมาก)ผู้ปฏิบัติจะลืมตัว ดีใจจนขั้นหายใจออกทางปากโดยมีเสียงเบาๆว่า “อ่า” บางคนถึงกับใช้เวลาที่มีรีบวางศีรษะลงบนหมอนหรือที่พบเห็นกันทั่วไปคือใช้เวลาน้อยให้มีค่าที่สุดโดยการกล่าวชมวิทยากรว่า “ดูสิ! โคตรเหนื่อยเลย มันจะมาฝึกหรือจะมาฆ่ากันแน่วะ” ที่ยกมานี่เพียงต้องการชี้ให้เห็นว่าช่วงเวลาเหล่านี้ล้วนเป็นช่วงที่เราลืมตัวขาดสติตามรู้ทั้งสิ้น (ห้ามเถียงนะว่า “ก็รู้ว่ากำลังนินทาคนอยู่”) หรือแม้แต่พระภิกษุเอง จะหาผู้มีความรู้เข้าใจเรื่องสังขารเป็นต้นก็น้อยแล้ว ผู้มีความรู้นั้นจะสนใจการปฏิบัติก็น้อยลงไปอีกครึ่ง ส่วนผู้มาปฏิบัติแล้วจะดำรงสติให้สืบต่อเช่นนั้นก็คงเหลืออยู่สองสามหน่อฯ ด้วยเหตุนี้เองจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมการปฏิบัติธรรมจึงไม่ค่อยเห็นผลฯ แต่หากเราเล็งเห็นอุปสรรคทั้งสองข้อที่กล่าวมาและหลีกเลี่ยงเสีย โดยใช้เวลาศึกษาและปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง เชื่อว่าพระนิพพานต้องอยู่ในมือทุกท่านแน่ (เป็นกำลังใจให้นะ) ความจริงการก้าวพ้นวัฏสงสารหรือการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าสนับสนุนที่สุด แม้พระองค์เองก็เคยตรัสว่าที่เกิดมาเพราะเห็นว่าโลก(สรรพสัตว์)ยังต้องเวียนว่ายอยู่กับสิ่งเหล่านี้ หากไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็ไม่มีความทุกข์ พระองค์ก็ไม่จำเป็นต้องมี มาดูพระดำรัสพระองค์เองดีกว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย (หาก)ธรรม ๓ ประการนี้ ไม่พึงมีในโลก พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่พึงบังเกิดในโลก ธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้แล้วจะไม่พึงรุ่งเรืองในโลก ๓ ประการเป็นไฉน คือ ชาติ ชราและ...ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะธรรม ๓ ประการนี้มีอยู่ในโลก ฉะนั้น พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงบังเกิดในโลก ธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้จึงรุ่งเรืองในโลก
“ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการแล้ว ก็ไม่อาจละชาติ ชรา มรณะได้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ ราคะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย...บุคคลไม่ละธรรม ๓ ประการแล้ว ก็ไม่อาจละราคะ โทสะ โมหะได้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ สักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑...”[19]
จากเนื้อความที่ยกมานี้ อาจารย์บางท่าน(มี พระมหาโอทก อริยปคุโณ เป็นต้น)จึงกล่าวว่า ศาสนาพุทธไม่ได้ต้องการคนไทย คนฝรั่ง หรือพม่า แต่ศาสนาพุทธเหมาะกับผู้ที่ยังต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย และยังไม่มีวิธีก้าวพ้นจากสิ่งเหล่านี้ ผู้ใดประสงค์จะพ้นจากสิ่งเหล่านี้ (โดยที่ไม่จำเป็นต้องมาประกาศว่าตนเป็นชาวพุทธ)แต่ขอให้ศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อความพ้นทุกข์กันเถิดฯ
ความต่างระหว่างพระเจ้ากับพระพุทธเจ้า
มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องทราบถึงความแตกต่างระหว่างพระเจ้ากับพระพุทธเจ้าเพื่อจะได้มีทัศนะท่าทีที่ถูกต้องกับคำ/สิ่งเหล่านี้ โดยความรู้สึกพื้นฐานคำว่าพระเจ้า หรือเจ้าล้วนเป็นการแสดงถึงผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ สามารถกำหนดหรือควบคุมกฎเกณฑ์สิ่งต่างๆได้โดยในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Lord ซึ่งก็ตรงตามความหมายของพระเจ้าในหลายศาสนาอยู่แล้ว นั่นคือพระองค์เป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่ง เป็นผู้สร้างโลก ควบคุมชะตากรรมมนุษย์ฯ ซึ่งเต็มไปด้วยยศ อำนาจ ไม่มีผู้ใดเทียบเทียมหรือต่อรองได้ เพราะหน้าที่เหล่านี้ การจะยกย่องพระองค์จึงคู่ควรกับคำว่า Lord นั้นอย่างมาก ความจริงแม้พระพระพุทธเจ้าเองในหลายที่ก็ถูกเรียกว่า Lord แต่มีนัยยะที่แตกต่างกันคืออำนาจหรือความเป็นใหญ่ของพระพุทธเจ้ามิได้เป็นอำนาจที่มาตั้งแต่เกิด แต่เป็นอำนาจที่บ่มเพาะหรือแสวงหาด้วยตนเอง(ตรงกันข้ามกับพระเยซูซึ่งเป็นบุตรพระเจ้า) อีกอย่างพระพุทธเจ้าเองมิได้เป็นผู้ควบคุมกฎหรือสร้างกฎขึ้นมา เช่นโลกจะหมุนรอบดวงอาทิตย์หรือคนเกิดมาแล้วต้องตายเป็นต้นล้วนมิได้เกิดจากอำนาจพระพุทธเจ้า เพราะแม้พระองค์เองก็ต้องเป็นไปตามกฎนี้ พระองค์เป็นแต่เพียงคนที่มาเข้าใจกฎเข้าคือสามารถอยู่กับโลกได้โดยไม่ต้องสุขทุกข์ขึ้นลงไปตามภาวะของโลกและเปิดเผยสังธรรมนั้นแก่มนุษย์เป็นต้นเท่านั้นเอง ด้วยสติปัญญาและความกรุณานี้ซึ่งถือเป็นคุณูปการใหญ่ในการทำให้คนพ้นจากทุกข์โดยไม่ต้องไปกราบเท้าอ้อนวอนพระเจ้าฯ แต่ใช้ความสามารถและปัญญาตัวเองในการเอาชนะกิเลสความอยากรวมถึงความโง่เขลาไปได้ พระองค์จึงถูกเปรียบเสมือนครูผู้ชี้ทาง เปิดของที่ปิด หงายของที่คว่ำ บอกทางแก่ผู้หลงทาง เหตุนี้เองจึงได้ชื่อว่า Lord เช่นเดียวกัน
อีกอย่างอาจเทียบจากการสังเกตศัพท์แบบง่ายๆคือพระเจ้าเป็นใหญ่เพราะมีสิทธิอำนาจมาก (ในกรณีที่เรายังไม่ถกกันเรื่องข้อเท็จจริง) แต่พระพุทธเจ้ามิได้เป็นใหญ่ขึ้นมาเฉยๆ ตามศัพท์ยังมีอีกตัวหนึ่งคือ พุทธะ หมายถึงเป็นใหญ่ได้เพราะมีปัญญา เทียบง่ายๆกับปัจจุบันระหว่างข้าราชการสองคน คนหนึ่งเข้าบรรจุได้เพราะสอบ ส่วนอีกคนเป็นเด็กฝากลูกรัฐมนตรีฯ
เมื่อพระองค์บรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้าแล้วผู้ที่พระองค์เลือกที่จะแสดงธรรมโปรดคืออาจารย์ทั้งสองที่เคยศึกษาด้วย แต่เพราะท่านเหล่านั้นตายไปก่อนแล้วจึงตัดสินใจโปรดปัญจวัคคีย์ เริ่มแรกท่านเหล่านั้นล้วนไม่เชื่อว่าพระองค์จะบรรลุธรรมได้เพราะทิ้งวิธีทรมานตนไปเสียแต่สุดท้ายก็ยอมรับฟังธรรมและได้รับประโยชน์จากพระธรรมนั้นกลายเป็นพระสงฆ์สาวกชุดแรกของพุทธศาสนาไป ซึ่งมีข้อความที่พระองค์ตรัสเล่าเองว่า
พวกภิกษุปัญจวัคคีย์ได้เห็นเราเดินทางมาแต่ไกลจึงได้นัดหมายกันว่า ท่านพระสมณโคดมพระองค์นี้ที่เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากกำลังเสด็จมา พวกเราไม่ต้องไหว้ ไม่ต้องลุกขึ้นยืนรับ ไม่ต้องรับบาตรจีวร แต่ว่าต้องปูอาสนะไว้ ถ้าทรงปรารถนาก็จักประทับนั่ง. เมื่อเราเข้าไปใกล้ พวกภิกษุปัญจวัคคีย์ ก็ไม่สามารถดำรงอยู่ในข้อนัดหมายกัน คือบางรูปลุกขึ้นรับบาตรจีวร บางรูปปูอาสนะ บางรูปตั้งน้ำล้างเท้า แต่พูดกับเราโดยระบุนามและใช้คำพูดว่า "อาวุโส" เราจึงบอกภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าได้พูดกับตถาคตโดยระบุนาม และใช้คำพูดว่า "อาวุโส" ตถาคตได้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธ พวกเธอจงเงี่ยโสตลงสดับ เราจะสอนอมฤตธรรมที่เราได้บรรลุ เราจะแสดงธรรม เมื่อพวกเธอปฏิบัติตามที่เราสอน ไม่นานนัก ก็จักกระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ อันเป็นคุณยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรผู้ออกบรรพชาโดยชอบมุ่งหมายในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง.[20]
พระธรรมที่พระองค์แสดงครั้งแรกเป็นการประกาศลบล้างหลักการผิดพลาด ๒ ประการที่อธิบายแล้วคือการทรมานตนเองและการมุ่งแสวงหาแต่ความสุขภายนอก โดยให้ทางออกอันเป็นทางสายกลางหรือทางที่ประเสริฐว่าเป็นทางที่ไม่ตึงและหย่อนเกินไป หมายความว่าใช้วัตถุหรือปัจจัยภายนอกมาค้ำชู/จุนเจือร่างกายได้โดยให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ แล้วใช้เวลาส่วนใหญ่มุ่งหาความสงบหรือปัญญาภายใน พระองค์ยังกล่าวถึงการแก้ปัญหาที่ถูกจุดตามแนวอริยสัจ ๔ คือพิจารณาให้เห็นทุกข์และละเว้นเหตุอันจะก่อให้เกิดทุกข์ โดยการก้าวสู่ความสุขตามแนวทางของมรรคมีองค์ ๘ (อันนี้อาจยังงงอยู่บ้างแต่จะอธิบายให้ชัดเจนในหัวข้อถัดไปเรื่อง พระธรรม) ผลที่ได้รับคือท่านโกณทัญญะหนึ่งในปัญจวัคคีย์(หรืออดีตศาสตราจาย์ของพวกเรา)เกิดความเข้าใจธรรมะ(บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน)และการสนทนาธรรมก็เลื่อนไปหัวข้ออื่นๆจนในที่สุดทุกท่านก็มีปัญญาพ้นกิเลสเป็นพระอรหันต์กันถ้วนหน้า พระองค์ทรงใช้เวลาทั้งหมด ๔๕ ปีในการประกาศธรรมจากนั้นก็ปรินิพาน(เผื่อมีคนไม่รู้ความหมาย...ตายงัย) เรื่องราวจบง่ายไปป่าวเนี่ย?
พระพุทธรูปนั้นสำคัญไฉน?
เรื่องราวของพระพุทธรูปก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีการถกเถียงกันกระทั่งกลายเป็นปัญหาที่มี่ใครอยากกล่าวถึงอีกเพราะกลัวคนฟังจะไม่เห็นด้วยกับตนและถูกกล่าวหาว่าไม่ใช่ชาวพุทธบ้างหรือเชื่อถือแบบงมงายบ้าง ที่มาของพระพุทธรูปสันนิษฐานกันว่าน่าจะมีแบบออกหน้าออกตาช่วงที่กษัตริย์กรีกบุกยึดอินเดีย เพราะตามความเชื่อของกรีกมีการบูชาเทพเจ้าหลายองค์ แม้เวลาไปรบก็ต้องเอาเทพเจ้าเหล่านั้นไปด้วย (บางคนบอกทำไปถ่วงเรือไม่ให้จมและง่ายกับการบังคับเฉยๆ โดยยกตัวอย่างตุ๊กตาวัดโพธิ์เป็นต้นที่มีรูปร่างสวยงาม แต่งตัวแบบชาวจีน ได้มาตอนสมัยยังใช้สำเภาบรรทุกของจากจีนมาขึ้นฝั่งที่นี่ แต่การจะยกหินมาวางถ่วงไว้เฉยๆมันไม่ได้สุนทรียภาพและหากจะทิ้งไว้ให้เพื่อนบ้านก็อาจโดนด่าตามหลังว่ามาเอาแต่เนื้อ ทิ้งก้างไว้ให้ตามเก็บฯ ฉะนั้นเพื่อทำให้หินถ่วงน้ำหนักมีค่าก็พากันแกะให้เป็นรูปต่างๆ สัตว์บ้าง คนบ้าง เมื่อดูแล้วมีราคามากขึ้นไม่เหมือนกับขยะทั่วไปที่ทิ้งไว้เกลี่อนกลาด ความจริงคำพูดนี้ก็น่าพิจารณาอยู่แต่ดูเหมือนจะสุดโต่งไปนิดหนึ่งเหมือนกัน บางทีคนจีนเขาอาจมีความตั้งใจแกะมาฝากคนไทยโดยเฉพาะก็ได้...ต้องพูดให้กำลังใจหน่อย เวลาไปวัดโพธิ์จะได้ไม่โกรธจนหน้าเขียวเหมือนตุ๊กตายักษ์) คัมภีร์ทางพุทธศาสนาเล่มหนึ่งคือ มิลินทปัญญหา ถึงกับบันทึกไว้ว่ากษัตริย์กรีกองค์นี้ซึ่งชำนาญในการโต้วาทีมาก ชนะนักบวชทั้งหลายในสมัยนั้น ภายหลังได้ขึ้นเวทีรุ่นเอฟวี่เวทเจอกับพระนาคเสน ส่งเข้าแข่งขันโดยพุทธศาสนา โดนพระนาคเสนน็อคทุกยก สุดท้ายได้มีศรัทธาเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา มีการเลี้ยงภัตตาหารพระและ(อาจ)สร้างพระพุทธรูปโดยเลียนแบบเทพเจ้าขึ้นมาเป็นตัวแทนพระพุทธเจ้าด้วย
อย่างไรก็ตามให้ทราบก่อนว่าเริ่มแรกจุดประสงค์ของการสร้างพระพุทธรูปก็เพื่อให้ชาวพุทธหรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ศึกษาธรรมะมากพอสมควรนึกถึงพระพุทธเจ้าและคำสอนที่พระองค์เคยสอนเมื่อได้เห็นรูปของพระองค์ ความจริงยุคแรก(ตั้งแต่พุทธกาลจนปรินิพพานใหม่ๆ)ไม่มีการสร้างรูปเหมือนของพระพุทธเจ้าเลย อาจด้วยเหตุผลที่ว่ารูปจำลองไม่สามารถทำหน้าที่ได้เหมือนองค์จริง ยุคแรกจึงแก้ปัญหาด้วยการสร้างสัญลักษณ์มาแทนพระองค์โดยอาศัยสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมาเป็นตัวเชื่อมต่อหรือบริบทในการอธิบาย เช่น จะบอกว่านี่คือภาพเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ ก็แทนด้วยภาพพระนางสิริมหามายายืนจับกิ่งสาละ หรือ ดอกบัว ๗ ดอก(ที่เชื่อว่าเดินได้ ๗ ก้าวโดยมีดอกบัวรองรับ) หรือภาพตรัสรู้ ก็ทำเป็นภาพของต้นโพธิ์ ภาพแสดงธรรมจักรฯก็เป็นภาพกวางหมอบหรือบางคนว่ากวางเหลียวหลัง ความจริงชื่อหลังนี้ฟังแล้วทำให้คิดมากอยู่ แต่อาจารย์ท่านหนึ่ง (Soran Lasovic) อธิบายว่า เพราะเป็นการปาฐกถาหรือแสดงธรรมครั้งสำคัญมาก(เกี่ยวกับการพ้นทุกข์) แม้กวางที่ชอบวิ่งหนีคนแบบไม่คิดชีวิต กลับยังต้องให้ความสำคัญคือหยุดวิ่งแล้วเหลียวหลังมาฟังฯ ภาพปรินิพพานก็แสดงออกมาเป็นต้นรังคู่แล้วมีเตียงอยู่ตรงกลาง(โดยไม่มีผู้ป่วย)ฯลฯ จะเห็นว่าไม่มีภาพพระพุทธเจ้าปรากฎอยู่ ทำนองเดียวกันกับอิสลาม หากเราดูหนังที่เกี่ยวกับท่านศาสดามูฮัมหมัด จะไม่ปรากฎภาพท่านเลยอาจจะโดยเหตุผลเดียวกันคือไม่มีใครที่คู่ควรจะรับบทบาทที่สูงส่งเช่นนั้น เมื่อพิจารณาถึงบทบาทนี้ ทำให้คิดถึงหนังของพุทธศาสนาเรื่องหนึ่งที่พระเอก(แสดงเป็นพระพุทธเจ้า)หน้าตาดีมาก ต่อมาช่วงก่อนหนังจะออกโรงไม่นาน ปรากฎว่าพระพุทธเจ้าคนนั้นก็ไปถ่ายหนังโป๊ สื่อออกมาโจมตีกันหนาหูว่าไม่ควรเอาหนังเรื่องพระพุทธเจ้านั้นออกมา เพราะเวลาคนดูแทนที่จะได้บุญกลับจะนึกถึงแต่ฉากประทับใจของพระเอกคนนั้นในอีกเรื่องหนึ่งฯ
อาจสรุปได้ว่าการสร้างพระพุทธรูปมีจุดประสงค์เพื่อแสดงภาพในอดีต(ว่าพระองค์ทำอะไร ที่ไหน กับใคร)และย้อนนึกถึงธรรมะที่พระองค์สอน ซึ่งต่างกับการบูชาเทพเจ้าหรือไม้กางเขนในศาสนาอื่นๆที่หวังการอ้อนวอน หวังผลดลบันดาล หรือขอพระราชทานอภัยโทษเป็นต้นฯ ดังนั้นการกราบไหว้เพื่ออ้อนวอนจึงเป็นการผิดหลักการของพุทธศาสนาและไม่เกิดประโยชน์ที่แท้จริงกับผู้กราบไหว้บูชาฯ
ครั้งหนึ่งกระผมได้มีโอกาสถกกันกับอาจารย์ท่านหนึ่ง(ชอบร้องเหมือนนกเขาว่า...กูเป็นพระครู)โดยท่านกล่าวตำหนิพระเกษม อาจิณฺณสีโล ที่ออกว่าห้ามเรื่องการกราบไหว้พระพุทธรูปซึ่งอาจารย์เกษมใช้คำว่า “นี่เป็นแค่โลหะ ไม่ใช่พระพุทธเจ้า...อย่าไปกราบมัน” ทำเอาพระนกเขารูปนี้ทนไม่ได้และเมื่อทราบว่ากระผมพูดในทำนองเห็นด้วยกับท่านเกษมจึงมาเยี่ยมถึงที่ด้วยมิตรภาพของการปรองดอง
นกเขา...ผมว่าท่าน(พระเกษม)ทำเกินไป เป็นชาวพุทธอย่างงัยไม่ไหว้พระพุทธเจ้า?
นกกระจอก...ก็ถูกแล้วนี่ครับ เป็นโลหะ...ไหว้แล้วมัวแต่หวังผลดลบันดาลจะได้อะไร ครับ? (ผู้อ่านอย่าเพิ่งคิดว่าทำไมกระผมจึงใจไม้ใส้ระกำขนาดนี้ พูดยั่วอารมณ์ท่าน เฉยๆครับ)
นกเขา...ก็ใครบอกว่าเราเอาแต่กราบไหว้อ้อนวอนอย่างเดียวละ? แม้แต่ผมเอง(ท่าน นกเขา)ก็กราบ เพื่อนึกถึงพระคุณของท่านเหมือนกัน
นกกระจอก...ก็ไอ้ที่นึกถึงคุณนั้นนะท่านงัยครับ...ชาวบ้านเขาเอาแต่จุดธูปอ้อนวอน
นกเขา...อย่างงัยก็ตาม ถ้าเรายังมีพระพุทธรูปเป็นที่พึ่งที่ระลึกอยู่ การจะทำความชั่วก็ ทำลำบากขึ้น ท่านลองนึกภาพดูสิว่าถ้ามีพระพุทธรูปอยู่ทุกที่ ท่านจะกล้าทำชั่วไหม?
นกกระจอก...(พูดตรงๆ เริ่มทนไม่ไหวแล้ว เพราะยังไม่ได้กินน้ำเลย) แล้วเวลาที่ท่าน หลอกชาวบ้าน หาแต่เงินบริจาค ไม่ยอมพูดเรื่องบุญที่แท้จริงคือการเสียสละช่วยเหลือ ผู้อื่น รักษาศีลและเจริญปัญญาละ? ให้ถวายแต่กับตนเองและพวกโล้นอย่างเดียว ท่าน ไม่ทำต่อหน้าพระพุทธรูปหรอ?
นกกระจอก...เมื่อท่านยังเงียบอยู่ จึงรับซัดต่อไปว่า... การจะนึกถึงคุณพระพุทธเจ้าได้ ผู้เห็น(พระพุทธรูป)จะต้องมีความรู้เรื่องสาระธรรมที่ท่านสอนระดับหนึ่งแล้วครับ ถ้าไม่ มีความรู้ก็ไม่ต่างอะไรกับการนึกถึงท่านทักษิณ ท่านชวนฯ มันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ตัวเองไม่ได้ อีกอย่างหากท่านต้องการจะระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าจริง มันไม่จำเป็น ต้องกราบเท้าพระพุทธเจ้าหรอก แม้แต่อ่านพระไตรปิฎกหรือปฏิบัติธรรมก็นึกถึง พระพุทธเจ้าได้ และเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าต้องการให้เราทำมากกว่า ข้อเสียของ พระพุทธรูปคือ เริ่มแรกต้องใช้เงินมหาศาลในการสร้าง (แม้ท่านจะหลอกคนว่าได้บุญ ใหญ่ก็ตาม) แต่เงินเป็นแสนเป็นล้าน หากเอามาพิมพ์พระไตรปิฎกหรือซีดีธรรมะแจก ชาวบ้านจะมีประโยชน์ขนาดไหน เรื่องเหล่านี้ท่านไม่เคยเห็นความสำคัญเลย คิดแต่จะ ทอดกฐินสร้างโบสถ์ สร้างพระฯลฯ ถามจริงเหอะ ความรู้ที่เรียนมาท่านไม่เคยคิดจะ เอามาพัฒนาสังคมบ้างหรอครับ?
ปรากฎว่าท่านก็ยอมรับแล้วเปลี่ยนไปสนทนาเรื่องอื่นต่อฯ อีกเรื่องที่อยากยกมาให้ดูคิดว่าบางทีการอ่านจากประสบการณ์จริงก็ทำให้เข้าใจง่ายเหมือนกัน
ครั้งหนึ่งสมัยเรียนปริญญาตรี มีการชุมนุมใหญ่ของสองสีคือเหลืองกับแดง นักศึกษาส่วนใหญ่(ที่ยังพอมีสติสัมปชัญญะ ไม่ถึงกับต้องเดินเช็ดน้ำลายหรือติดเกมส์จนงอมแงม)ล้วนหาที่พึ่งคือหาฝักฝ่ายในการสังกัด เพื่อนคนหนึ่งเป็นแดงแจ๋ที่ออกหน้าออกตา จะเข้ามาคุยกับอีกกลุ่มก็ไม่ได้เพราะเขาเป็นเหลือง จึงไปหาเพื่อนคนซึ่งเป็นพระมหายาน พกหนังสือเล่มหนึ่งคือ “ชำแหละจำลอง” ไปให้อ่านเพื่ออ้างอิงหลักฐาน ประเด็นหนึ่งที่น่าจะทำให้พันธมิตรฯไม่น่าศรัทธาได้คือการมีสันติอโศกมาเป็นกองทัพธรรมหนุนหลัง และในลัทธินั้นเอง ครั้งหนึ่งมีการเอาพระพุทธรูปออกจากวัด สนับสนุนไม่ให้คนกราบไหว้แต่ให้มาศึกษาพระไตรปิฎกแทน ปรากฎว่าเมื่อท่านมหายานเอาไปอ่านแล้ว (ต้องเข้าใจว่าพุทธฯมหายานที่แท้ต่างกับศาสนาพุทธที่คนจีนนับถือ นั่นคือไม่ใช่การไหว้เทพเจ้า แต่เป็นการใช้ความคิด/ปัญญาเข้าถึงสัจธรรมที่เรียกว่าสุญญตาหรืออนัตตาในเถรวาทนั่นเอง) ท่านก็มาพูดกับพระจีวรแดงนั้นว่า “ก็ถูกแล้วนี่ครับ เพราะการไหว้พระพุทธรูปทำให้คนมองไม่เห็นพระพุทธเจ้าที่แท้คือตัวรู้(พุทธภาวะภายใน) ไปติดกันอยู่แค่ทองเหลืองภายนอก ยิ่งกราบไหว้ก็ยิ่งโง่งมงายมากขึ้น เซ็นเขายังบอกว่าให้ฆ่าพระพุทธเจ้าทิ้งด้วยซ้ำ(หมายถึงฆ่าความยึดมั่นในรูปขันธ์ร่างกาย เน้นไปที่องค์ธรรมหรือการปล่อยวาง) ผมว่าสันติอโศกทำถูกแล้ว” ผลออกมาคือผิดคาด นอกจากจะไม่ได้เพื่อนเป็นแดงแล้ว บางคนที่ยังก้ำกึ่งเลือกไม่ถูกเมื่อฟังดังนั้นก็มาเป็นเหลืองเพิ่มขึ้นฯ (ให้เข้าใจว่าการถกเถียงของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ไม่เรียนเรื่องการเมืองฯโดยตรงไม่ได้ครอบคลุมทุกประเด็นหรือเต็มไปด้วยอุดมการณ์เหมือนผู้ชุมนุมกลางท้องถนน) ความจริงมีบทความในพระไตรปิฎกที่กล่าวโดยพระวักกลิ(ภิกษุที่ดูคล้ายเป็นโรคจิตถ้ำมอง คือชอบไปแอบดูพระพุทธเจ้าเนื่องจากพระองค์หล่อสมาร์ทมาก แต่ต่อมาก็ได้บรรลุธรรม)ซึ่งชอบอ้างอิงกันมาให้พิจารณาด้วย
ครั้งนั้นพระพิชิตมารทรงทราบว่า เรายินดีในพระพุทธรูป(ร่างกายที่งดงามของพระพุทธเจ้า) จึงได้ตรัสสอนเราว่า อย่าเลยวักกลิ ประโยชน์อะไรในรูปที่น่าเกลียดซึ่งชนพาลชอบเล่า ก็บัณฑิตใดเห็นสัทธรรม บัณฑิตนั้นชื่อว่าเห็นเรา ผู้ไม่เห็นสัทธรรม ถึงจะเห็นเราก็ชื่อว่าไม่เห็น กายมีโทษไม่สิ้นสุด เปรียบเสมอด้วยต้นไม้มีพิษ เป็นที่อยู่ของโรคทุกอย่าง ล้วนเป็นที่ประชุมของทุกข์ เพราะฉะนั้น ท่านจงเบื่อหน่ายในรูป พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งขันธ์ทั้งหลาย จักถึงที่สุดแห่งสรรพกิเลสได้โดยง่าย[21]
ภาษิตนี้ต้องการชี้ว่าการยึดติดอยู่กับรูปหรือร่างกายล้วนไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้มัวแต่เฝ้ามองหรือกราบไหว้โดยไม่ใช้เป็นเครื่องพิจารณาให้เห็นความเปลี่ยนแปลงแตกดับ แต่อย่างไรก็ตามเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน พึงทราบว่าข้าพเจ้ามิได้ปฏิเสธการไหว้พระพุทธรูป เพราะหากผู้ใดประสงค์จะไหว้ก็สามารถทำได้ แต่สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือการน้อมเอาพระจริยวัตร สาระธรรมคำสอนมาใส่ตนเพื่อพัฒนาตนเองจนไปถึงจุดที่พ้นจากทุกข์ให้ได้(แน่นอนว่าสิ่งนี้ต้องมีความรู้เรื่องพระองค์และสาระธรรมระดับหนึ่งแล้ว) เพราะหากจะกราบไหว้เพียงเพื่อขอพรหรือความสบายใจ พระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูปเองก็มีค่าน้อยเกินไปเหมือนภาษิตที่ยกไว้ก่อนแล้วว่าเหตุที่พระองค์ต้องมาเกิดตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้ามิใช่เพื่อแค่ให้มนุษย์มีที่พึ่งทางใจ(เพราะถ้าจะกล่าวแค่แง่นั้น ปลัดขิกก็เป็นที่พึ่งให้ได้ แฟนก็เป็นที่พึ่งทางใจได้ฯลฯ) แต่การมาของพระพุทธเจ้าเพื่อทำให้คนพ้นจากการเวียนเกิดเวียนตายหรือสังสารวัฎ หากเราไม่ยอมศึกษาคำสอนพระองค์หรือปฏิบัติธรรมตามที่ทรงแนะนำไว้ การจะพัฒนาตนก็เกิดขึ้นไม่ได้ จะมีแต่การกราบไหว้ เคารพ อ้อนวอนและเปล่งอุทานว่าตนเป็นศิษย์พระพุทธเจ้า ทั้งที่กราบไหว้เสร็จแล้วแทนที่จะไปปฏิบัติธรรม กลับไปซื้อหวย เล่นการพนัน ทานข้าวกับกิ๊ก ลอยกระทงฯลฯก็จะกำจัดกิเลสที่เกิดขึ้นไม่ได้ พึ่งตนเองไม่ได้ ซึ่งการพูดเช่นนี้อาจยังไม่กระจ่างพอสำหรับผู้ครองเรือนหรือโล้นที่หลอกให้ผู้อื่นบริจาคเงินทำบุญอย่างเดียว แต่กระผมเชื่อว่าหากเราลองศึกษาพุทธศาสนาจริงจังมากขึ้น ใช้เวลาที่นั่งเขียนผลงานเลื่อนสมณศักดิ์หรือนินทาชาวบ้านมาเป็นการเดินจงกรมนั่งสมาธิ คงไม่นานแน่ที่เราจะเห็นว่าการกราบไหว้/การสร้างพระพุทธรูปเป็นเรื่องไร้สาระสู้สาระธรรมของพระองค์ไม่ได้เลย แม้เข้าใจถึงขั้นนี้แล้วโล้นทั้งหลายก็ยังสนับสนุนให้มีการจัดงานปลุกเสกพระ(พุทธาภิเษก) อาจเป็นไปได้ว่าสามารถจูงใจคนได้มากกว่าการเรียกให้มาฟังปาฐกถา หรือนั่งสมาธิภาวนาและยังมีรายรับมากกว่าหลายเท่าตัว จนมีการถามคำถามแซวกันเล่ยว่า ในโลกนี้ประเทศไหนดินราคาแพงที่สุด? ส่วนใหญ่มักตอบกันว่า “อเมริกา ฝรั่งเศสอังกฤษหรือญี่ปุ่น” แต่คำตอบที่ถูกต้องคือ “เมืองไทย” เหตุผลคือสมมติอเมริกาขายที่ดินได้ตารางวาละ ๕๐ ล้าน ประเทศไทยสามารถเอาดินแค่หยิบมือเดียวมาทำพระเครื่องขายได้ ๕๐ ล้านเหมือนกันฯ ท่านปัญญานันทะ (พระพรหมมังคลาจารย์...ชื่อนี้เป็นสมณศักดิ์ที่แน่นอนไม่เปลี่ยนอีก เพราะท่านมรณภาพไปแล้ว!)กล่าวว่า “เราไม่จำเป็นต้องมาทำพิธีปลุกเสกพระพุทธรูปหรือพระพุทธเจ้าหรอก เพราะท่านตื่นตั้งนานแล้ว มีแต่พวกเรา(คือพี่โล้น)และญาติโยมนั่นแหละที่โง่ ยังไม่ยอมตื่นจากความงมงายสักที เรามาช่วยกันปลุกพวกเราเองเถิด” หลายครั้งที่ข้าพเจ้าเห็นคนแขวนพระเครื่อง บางคนถึงกับสะพายเป็นพวง เราลองนึกภาพดูง่ายๆว่าระหว่างเราเห็นคนพกพระเครื่องกับคนพกหนังสือธรรมะเช่นพุทธธรรมเป็นต้น อย่างไหนน่าจะสะท้อนถึงความเป็นชาวพุทธหรือสร้างความประทับใจแก่ผู้ที่พบเห็นได้มากกว่า? ใคร่ขอเสนอว่าหากต้องการจะห้อยแต่พระโดยไม่สนใจธรรมะ กระผมว่าเราเข้าห้องไปนมาซกับเพื่อนมุสลิมวันละ ๕ ครั้งคือไปสวดมนต์นึกถึงพระพุทธเจ้ายังมีประโยชน์กว่ามากหากเทียบกับการเอาพระไปเลี่ยมทอง แขวนคอเพียงเพื่อให้เกิดการเสียดสีสร้างอารมณ์ต่างๆนาๆโดยเฉพาะสตรี หากวันหนึ่งเกิดโชคร้ายขึ้นมา สร้อยขาด พระท่านก็ตกไปในระหว่างหุบเขานั้น หากท่านมีชีวิตจริงคงอวกแตกน่าดูฯ ขอจบด้วยพุทธภาษิตอันหนึ่งที่เป็นดั่งความประสงค์ของพระพุทธเจ้าให้พุทธบริษัทของพระองค์แสวงหาทั้งเวลาที่พระองค์ยังอยู่และจากไปแล้ว
ดูกรอานนท์ ก็ภิกษุ(รวมถึงฆราวาสด้วย)เป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูกรอานนท์ ภิกษุเป็นผู้มีตนเป็นเกาะมีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ อย่างนี้แล. ดูกรอานนท์ ก็ผู้ใดผู้หนึ่งในบัดนี้ก็ดี ในเวลาที่เราล่วงไปแล้วก็ดี จักเป็น ผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา ภิกษุเหล่านั้นจักเป็นผู้เลิศ(พ้นทุกข์ได้).[22]
[1] อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยศาสนาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล (ที่รู้จักเพราะท่านเป็นอาจารย์สอนกระผมเอง...แม้ท่านจะ(ทำเป็น)จำไม่ได้หรือไม่ยอมรับกระผมเป็นศิษย์ก็ตามที)
[2] เป็นลักษณะของอนัตตา เช่นถ้าเราบอกว่าร่างกายนี้เป็นของเราจริง ทำไมเราจึงปฏิเสธการ แก่ เจ็บ ตายไม่ได้เล่า?
[3] Page 9. To him there was a queen, named Maya, as if free from all deceits (maya) (ซึ่งกระผมได้ทราบทีหลังว่าท่านอาจเอาความคิดมาจากหนังสือเล่ม The Life of the Buddha หรือ Buddha-Carita ที่เขียนโดยท่าน อัศวโฆษ (Asvakosa)แปลโดย Edward B. Cowell เมื่อได้มาอ่านพบเอาเอง แต่นี่เป็นเพียงการสันนิษฐานเพราะบางทีท่านอาจจะคิดอย่างนี้ได้เองโดยไม่ได้ถูกหล่อหลอมมาจากกหนังสือเล่มนี้ก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามคงไม่ถึงขั้นอัศวโฆษกลับชาติมาเกิด)
[4] เป็นการตรัสตอบพระเจ้าพิมพิสารตอนหนึ่งว่า “ราชะ! ชนบทตรงข้างภูเข้าหิมพานต์ สมบูรณ์ด้วยความเพียรเครื่องหาทรัพย์ เป็นเมืองขึ้นแห่งโกศล มีพวกชื่อ อาทิตย์โดยโคตร ชื่อ ศากยะโดยชาติ อาตมาภาพออกบวชจากตระกูลนั้น จะปรารถนากามก็หามิได้” (ปัพพัชชาสูตร มหาวัคค์ สุตตนิบาต ขุททกนิกาย ๒๕/๔๐๗/๓๕๔) ความจริงในประเทศเนปาลนามสกุล “ศากยะ” ก็ยังมีปรากฎอยู่มากมายจนปัจจุบัน เช่นพระ ดร.อนิล ศากยะ สามเณรอุชชวัณ/กบิล ศากยะ..ซึ่งขณะนี้ทุกคนอยู่เมืองไทยฯ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นตระกูลเดียวกับพระพุทธเจ้า(ที่ครั้งหนึ่งตระกูลนี้เคยถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาแล้ว..ดูเพิ่มเติมเรื่องพระเจ้าวิฑูทภะ..และขอแสดงความยินดีกับครอบครัว/บรรพบุรุษท่านเหล่านี้ด้วยที่ฝ่าวงล้อมรอดตัวมาได้ เสมือนเป็นหลักฐานด้านบุคคลชิ้นสุดท้ายที่หลงเหลือพอจะยืนยันการมีอยู่จริงของพระพุทธเจ้าอย่างชัดเจนอันหนึ่งฯ...ที่ยกมาทั้ง ๓ คนนั้นหน้าตาดีหมดเลย(กรณีที่เปรียบเทียบกันเอง) จึงเป็นได้ที่พระพุทธเจ้าเองก็น่าจะงดงามหล่อเหลาเป็นแท้)
[5] ความจริงชมพูทวีปสมัยพุทธกาลมิได้หมายถึงประเทศอินเดียเท่านั้น แต่รวมถึงประเทศเพื่อบ้าน เช่น เนปาล ปากีสถาน บังกลาเทศฯลฯ ชมพูทวีปหมายถึงทวีปหรือประเทศใหญ่ที่เต็มไปด้วยต้นหว้า (ชมฺพุ-บาลี แปลว่า ไม้หว้า) หนังสือบางเล่มแปลตามตัวเป็นสำเนียงไทยเลยว่า ไม้ชมพู่?
[6] ศาตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
[7] ผู้ใดประสงค์จะอ่านความไร้สาระเหล่านั้นสามารถอ่านดูได้จากบล็อกทั่วไปโดยพิมพ์คำว่า “พระพุทธเจ้าเป็นคนไทย” ที่น่าสนใจเป็นพิเศษเช่น “พระพุทธเจ้าเป็นคนไทย"...ยืนยันโดยองค์หลวงปู่มั่นhttp://www.buddhapoem.com/index.php?lay=boardshow &ac=webboard_show&Category=buddhapoemcom&thispage=1&No=69145 และ พระพุทธเจ้าเป็นคนไทย (หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง) http://board.palungjit.com/ (วันที่เข้าชมเว็บ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ คำเตือน..ที่แนะนำให้อ่านเพื่อจะได้เห็นความไร้สาระและไม่มีตรรกะ ไม่ใช่ให้เชื่อ!)
[8] พระวินัยปิฏก จุลวรรค ข้อ ๑๘๐ (เมฏฺโกกุฏฺา นาม ภิกฺขู เทฺว ภาติกา โหนฺติ พฺราหฺมณชาติกา....อนุชานามิ ภิกฺขเว สกาย นิรุตฺติยา พุทฺธวจนํ ปริยาปุณิตุนฺติ ฯ)
[9] โพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ข้อ ๔๙๑ (โส โข อหํ ราชกุมาร กึกุสลคเวสี...รมณียํ สมนฺตา จ โคจรคามํฯ)
[10] สุขุมาลสูตร เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย ข้อ ๔๗๘ (ตสฺส มยฺหํ ภิกฺขเว ตโย ปาสาทา...น เหฏฺฐาปาสาทํ โอโรหามิ ฯ)
[11] พระสูตรเดียวกัน (ตสฺส มยฺหํ ภิกฺขเว เอวรูปาย...อตฺตานํ เยว อติสิตฺวา อหํปิ โขมฺหิ ชราธมฺโม ชรํ อนตีโต)
[12] ดูเนื้อหาเพิ่มเติม พุทธประวัติมหายาน (พุทธประวัติฉบับค้นพบใหม่) โดย เสฐียร พันธรังษี หน้า ๓๖-๔๘
[13] พระพุทธเจ้าเป็นคนไทย? พุทธศาสนา ทรรศนะและวิจารณ์ ศาตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก/ราชบัณฑิต http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROamIyd3h PVEUxTVRJMU1nPT0= (วันที่เข้าชมเว็บ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ที่ขีดเส้นใต้เป็นการเน้นข้อความที่สำคัญโดยกระผมเอง)
[14] กัณฐกะวิมาน ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ข้อ ๘๑ (อหํ กปิลวตฺถุสฺมึ สากิยานํ ปุรุตฺตเม...ตสฺเสว อานุภาเวน วิมานํ อาวสามิทํ) เป็นคำพูดที่เทพบุตรกล่าวตอบท่านมหาโมคคัลลานะเรื่องสาเหตุที่ทำให้มาเกิดเป็นเทพบุตร
[15] ให้สังเกตว่าชาวอารยันสมัยนั้นมีความสามารถระดับหนึ่งที่จะพิจารณาเห็นธรรมชาติพื้นฐานของชีวิตว่ามีความทุกข์ เติมไม่รู้จักเต็ม ต้องประสบกับความอยาก ความเจ็บป่วย และความตายเป็นต้นอย่างหลีกหนีไม่ได้ฯ ณ ดินแดนแห่งนั้นจึงเต็มไปด้วยนักบวชผู้หวังจะปลดปล่อยตนสู่อิสรภาพ
[16] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ข้อ ๒๒๐ จูฬทุกขักขันธสูตร เอวํ วุตฺเต อหํ มหานาม เต นิคนฺเถ เอตทโวจํ...สพฺพํ ทุกฺขํ นิชฺชิณฺณํ ภวิสฺสตีติฯ โน หิทํ อาวุโสติฯ
[17] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ข้อ ๕๐๓ เสยฺยถาปิ นาม อสีติกปพฺพานิ วา กาลปพฺพานิ วา เอวเมวสฺสุ...โลมานิ กายสฺมา ปปตนฺติ ตาเยวปฺปาหารตายฯ
[18] ทีฆนิกาย มหาวรรค ข้อ ๓๐๐ โย หิ โกจิ ภิกฺขเว อิเม จตฺตาโร สติปฏฺาเน...สตฺตาหํ ตสฺส ทฺวินฺนํ ผลานํ อฺตรํ ผลํ ปาฏิกงฺขํ ทิฏฺเ ว ธมฺเม อฺา สติ วา อุปาทิเสเส อนาคามิตา ฯ
[19] อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต อภัพพสูตร ข้อ ๗๖ “ตโย เม ภิกฺขเว ธมฺมา โลเก น สํวิชฺเชยฺยุ™...วิจิกิจฺฉํ อปฺปหาย สีลพฺพตฺตปรามาสํ อปฺปหาย..”
[20] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ข้อ ๓๒๖ อทฺทสํสุ โข มํ ภิกฺขเว ปฺจวคฺคิยา ภิกฺขู...ทิฏฺเว ธมฺเม สยํ อภิญฺา สจฺฉิกตฺวา อุปสมฺปชฺช วิหริสฺสถาติ ฯ
[21] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ ข้อ ๑๑๒ พุทฺธรูปรตึ ตฺวา ตทา โอวทิ มํ ชิโน...ปสฺสํ สพฺพกิเลสานํสุเขนนฺตํ คมิสฺสสิ ฯ
[22] สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ข้อ ๗๑๒-๗๑๓ เย หิ เกจิ อานนฺท เอตรหิ วา มมจฺจเย วา อตฺตทีปา วิหริสฺสนฺติ...ภิกฺขู ภวิสฺสนฺติ เย เกจิ สิกฺขากามาติฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น