วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2557

ปลาเป็นวัตถุชนิดหนึ่ง

ปลา...เป็นวัตถุชนิดหนึ่ง
เพื่อนท่านหนึ่งส่งข้อความมาถามว่า ทำไมกระผมจึงกล่าวว่าปลาเป็นเพียงวัตถุชนิดหนึ่ง..และถ้าเช่นนั้นคนปล่อยปลาจะได้บุญหรือไม่....

เรื่องนี้หากจำไม่ผิดกระผมพูดถึงเรื่องการปล่อยปลาเพื่อให้ได้บุญ เหตุที่กล่าวเช่นนั้นเพราะเห็นว่าคนปล่อยปลาส่วนใหญ่ไม่ได้มีความเมตตากรุณา ตัวสัตว์จริงๆ เพียงแต่อยากได้บุญเนื่องจากหมดดูทักมาว่าชีวิตจะประสบทุกข์ จึงต้องทำบางอย่างเช่น สะเดาะเคราะห์เพื่อแลกับชีวิตอันเป็นที่รักของตน
คำว่า ปลาเป็นเพียง วัตถุ ในที่นี้จึงหมายถึง ในสายตาของผู้ปล่อยมันแล้ว ปลาไม่ได้มีคุณค่าในตัวเองอะไรเลย นอกจากจะเป็นวัตถุที่ช่วยให้เขาสบายใจขึ้นเมื่อบอก (หลอก) ตัวเองได้แล้วว่า ตนไปสร้างความดีผ่านปลา..มาแล้ว

ตัวอย่างที่ชัดเจนอีกอันคือ แดง...ไม่เคยเชื่อในบุญคุณของแม่ ไม่เคยเห็นว่าแม่มีคุณูปการที่ใหญ่หลวงต่อตน ตนควรมีความกตัญญูตอบแทน แดงจึงไม่เคยสนใจหรือเห็นใจแม่ (หมายถึง...ไม่เคยเห็นคุณค่าและการมีชีวิตจิตใจของท่าน) ปรากฎว่าเมื่อศาสนามาบอกแดงว่า คนที่ดูแลพ่อแม่จะได้ขึ้นสวรรค์ แดงซึ่งปรารถนาเช่นนั้นจึงกลับใจมาดูแลแม่ แต่ไม่ใช่เกิดจากการเห็นคุณค่าของท่าน แดงใช้ท่านเป็นเครื่องมือในการให้ตนเองได้สวรรค์เท่านั้นเอง....ในที่นี้ แม่จึงไม่ต่างจากวัตถุชนิดหนึ่งในสายตาแดง

เช่นเดียวกับปลา หลายคนที่ซื้อปลามาปล่อยก็ใช้ปลาเป็นเครื่องมือสำเร็จความใคร่ในการทำบุญของ ตนเองเช่นเดียวกัน เขาทำเพื่อแลกกับชีวิตเขา (ซึ่งหมดดูทักว่ากำลังจะตาย) เขาไม่เคยมีความปรารถนาดีต่อชีวิตปลานั้นจริงๆ (หากเห็น..ก็ย่อมต้องซื้อปลามาปล่อยทุกครั้งที่มีโอกาสเพื่อช่วยชีวิตปลาแบบ ไม่หวังอะไรเข้าตัว) และคนปล่อยจะพิจารณาหาที่ที่ดีที่สุดเพื่อหลังจากตนได้ปล่อยไปแล้ว ปลาจะปลอดภัยทั้งจากคนและสัตว์ด้วยกัน มีอาหารกินฯลฯ ซึ่งน้อยคนจะรอบคอบในเรื่องเหล่านี้

สรุปคือ ปลาเป็นเพียงวัตถุในการใช้ไถ่บาปของหลายคน โดยไม่ได้คำนึกถึงชีวิตจิตใจของมันและสร้างจิตที่เป็นเมตตากรุณาให้เกิดขึ้น จริง (ซึ่งจิตที่เป็นเมตตากรุณานั่นเอง...จะเป็นบุญ) อย่างไรก็ตาม เราสามารถเปลี่ยนให้ปลากลายเป็นสิ่งมีชีวิตหรือสัตว์ชนิดหนึ่งได้เพียงแค่ เปลี่ยนทัศนะคติที่มีต่อพวกเขาและสร้างจิตที่เป็นพรหมวิหารให้เกิดขึ้น

ประโยชน์ที่พึงได้จากการศึกษาระดับสูง

ประโยชน์ที่พึงได้จากการศึกษาระดับสูง......ระดับสูงในที่นี้ไม่ได้หมาย ถึง การปีนขึ้นไปมุงหลังคาตึก หรือ เรียนรู้การเก็บลูกมะพร้าวเป็นต้นนะครับ แต่เป็นการศึกษาระดับปริญญาโท-เอก (และในที่นี้เจาะจงเฉพาะสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์)

การศึกษาระดับสูงไม่น่าจะมุ่งให้คนรู้รอบตัวมากกว่าคนอื่น เพราะหากต้องการความรู้ที่มาก ก็สามารถหาหนังสือที่หลากหลายอ่านด้วยตัวเองได้โดยไม่ต้องเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเรามักสังเกตได้ว่า คนมีความรู้มากประเภทนี้ จะมีลักษณะพูดมาก แสดงความเห็นได้ทุกเรื่อง และที่สำคัญ มักยกตนข่มผู้อื่น
การศึกษาระดับสูงไม่ได้เน้นให้คนเป็นคนดี เพราะหากอยากไปคนดี ก็สามารถไปบวชพระ-ชี หรือใส่ชุดขาวสมาทานศีล 8 เรียนรู้เรื่องความกตัญญูกตเวที ลงพื้นที่กันดารไปช่วยเหลือผู้ยากไร้เป็นต้นได้เลย โดยไม่ต้องเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย

แต่การศึกษาในระดับสูง (หมายเอาเฉพาะมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพพอ ..ไม่ใช่แบบจ่ายครบ จบแน่ อิอิ) จะเปิดโอกาสให้ผู้ศึกษาได้เจอกับอาจารย์ที่หลากหลาย แนวคิดที่หลากหลาย คนเหล่านี้จะช่วยจุดประเด็นต่างๆและสนับสนุนให้นักศึกษาคิดแยกแยะด้วยตนเอง มีแนวคิดที่เป็นระบบ ลึกตามลำดับ คนที่จะเรียนจบด้วยเกรดที่สูงต้องเป็นคนที่กล้าคิดและยอมรับฟังความเห็นของ ผู้อื่นได้ มีความอดทนในการฟังคำอธิบายของเขาและวิพากษ์วิจารณ์(ทั้งที่เห็นด้วยและไม่ เห็นด้วย)แบบมีเหตุมีผลได้ โดยเน้นการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างทางความคิด มิใช่ยัดเยียดให้เชื่อและมีโอกาสรับรู้เพียงแนวคิดเดียว 

ผลที่ได้รับคือ คนที่ผ่านการศึกษาระดับสูงจะสามารถเติบโตทางสติปัญญาได้ด้วยตัวเขาเอง จะสามารถวิพากษ์ปรากฎการณ์ที่ตนเคยอยู่ เคยเชื่อ และประสบการณ์ใหม่ได้แบบมีเหตุผล อันจะนำไปสู่การตัดสินใจเลือกทำในสิ่งใหม่ซึ่งเป็นสาระกว่าได้ ส่วนประโยชน์ด้านสังคม เขาก็จะสามารถชี้นำสังคมแบบเปิดให้ผู้อื่นเลือกในสิ่งที่ดีที่สุดแบบอิสระ มีความอดทนในการอธิบายและชี้แจงเหตุผลต่อผู้ย้อนแย้งได้โดยสันติ

สิ่งที่น่าเสียดายคือ หากผ่านการศึกษาระดับสูงมาแล้ว ยังมุ่งถกเถียงเพื่อรักษาศรัทธาของตน ศึกษาวิชาการแบบอ้างอิงเพื่อปกป้องความเชื่อตนเอง ไม่ยอมรับฟังความเห็นใครไม่ว่าจะมีเหตุมีผลหรือไม่ ที่สำคัญ ไม่สามารถวิพากษ์ความคิดแบบอื่นที่ตนไม่เคยเชื่อ เห็นว่าผิด หรือไม่ตรงกับจารีตแบบสร้างสรรค์ได้ ที่สำคัญ นักศึกษาเองก็จะพลาดโอกาสจากการพัฒนาแนวคิดตนเองให้เป็นอิสระ (แบบมีเหตุผล) นั่นคือ ต้องดำรงชีพด้วยความเชื่อตามข้อมูลที่ถูกถ่ายทอดซึ่งหมายถึง ตนเองในฐานะผู้ทรงความรู้นั้นกลับมีหน้าที่ต้องทำลายแนวคิดแบบอื่นที่ตนไม่ เชื่อ ไม่ทราบและไม่เข้าใจด้วย

หมายเหตุ...ผู้ที่ผ่านการศึกษาในระดับสูงไม่จำเป็นต้องคิดถูกและพูดถูกทุก เรื่อง ข้อนี้ไม่ต่างจากคนทั่วไป เพียงแต่เขาเป็นคนที่ได้ลับทักษะทางความคิดไว้พร้อมระดับหนึ่งแล้วเพื่อการ ใช้เหตุผลตรวจสอบ และจะสามารถเปิดใจรับฟังคำชี้แนะหรือเหตุผลอื่นๆได้ อันจะนำไปสู่การทำความเข้าใจและหาความรู้ใหม่ของเขาตลอดเวลา...ซึ่งข้อนี้หา ได้ยากจากคนทั่วไปที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการสอนในบรรยากาศที่มีความเชื่อหลาก หลายและอาจารย์ที่เป็นตัวอย่างและตัวผลักดันให้นักศึกษาวิพากษ์อยู่ตลอดเวลา ...... ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ล้วนมีข้อยกเว้น เช่นคนที่ผ่านการศึกษาระดับสูงอาจไม่จำเป็นต้องเปิดใจแยกแยะสิ่งใหม่ได้ เนื่องจากปัจจัยด้านต่างๆเช่น มหาวิทยาลัยอาจไม่มีบุคลากรเช่นนั้น และในทางตรงกันข้าม คนที่ไม่เคยผ่านมหาวิทยาลัยเลยอาจมีความคิดที่หลักแหลมและเปิดใจกว้างก็ได้ ซึ่งทั้งสองประเภทที่มีข้อยกเว้นนี้อาจเป็นคนส่วนน้อย

เจ้ากรรมนายเวร

เจ้ากรรมนายเวร.......

ตามหลักพุทธ...ไม่มีเจ้ากรรมนายเวรที่จะมาตามจองล้างจองผลาญใครคับ เพราะเรายกเรื่องการสนองเวรให้เป็นกฎของกรรมไป กฎแห่งกรรมเป็นเหมือนผู้พิพากษาคนกลางที่ยุติธรรมที่สุด คนเราก็มีกรรมเป็นของตัวเอง ตายไปก็มีความคิดใหม่ อยู่ในที่ใหม่ ไม่มีใครคิดจะไปตามทำร้ายคนอื่นหรอกครับ อิอิอิ
ยกเว้น คนที่ยังมีชีวิตกันอยู่ทั้ง 2 คน เกลียดกัน และตามจองล้างกัน นี่จึงเป็นเจ้ากรรมนายเวรคับ ฉันขโมยรองเท้าแก แกเอาน้ำมารดบนโต๊ะทำงานฉัน อิอิอิ

ตามหลักความจริง...โยมไม่สามารถอ้างกรรมเก่าว่าอาตมาทำร้ายโยม ชาตินี้โยมเลยกลับมาแก้แค้น แล้วตีหัวอาตมา ศาลเขาไม่ยอมครับ เพราะกรรมเก่าใช้อธิบายไม่ได้ มิฉะนั้น คนก็จะอ้างกรรมเก่าและทำกรรมแบบแย่ๆกันเต็มเลย พุทธก็เหมือนกันครับ กรรมจะเป็นตัวจัดสรรมันเอง ไม่ใช่เราหรือเจ้ากรรมนายเวรตัวไหนต้องมาคอยจดบันทึกแล้วตามเก็บของเก่าด้วย ตัวเอง เพราะมิฉะนั้นเวรกรรมก็จะไม่สิ้นสุดครับ เพราะคนเราต่างอยากสนองกรรมด้วยตัวเราเองเพื่อความสะใจทั้งสิ้น แต่นั่นไม่ใช่ความจริงคับ

สรุปคือ...ตามหลักการพุทธ และความเป็นจริงแล้ว ไม่มีเจ้ากรรมนายเวรที่ต้องมาคอยตามล้างกันข้ามภพข้ามชาติครับ เพราะเรายกให้เป็นเรื่องกรรมที่จะมาจัดสรรเอง เช่น จัดสรรการเกิด ฐานะ เป็นต้นให้เรา เราจึงไม่จำเป็นต้องจำให้ได้ ว่าใครดีกับเราบ้าง เราจะต้องไปตามอุปถัมภ์ หรือ ใครร้ายกับเรา ก็จะไปตามจองล้างจองผลาญมัน...การมาประโคมข่าวเรื่องเจ้ากรรมนายเวร ต้องทำบุญแก้กรรม จึงเป็นเรื่องที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงและมุ่งผลประโยชน์ของผู้นั้นมากกว่า คับ

โลโกปตฺถมฺภิกา เมตฺตา เมตตาธรรม ค้ำจุนโลก

บาลีชาติละคำ ชาตินี้เสนอคำว่า......โลโก ปตฺถมฺพิกา เมตฺตา เมตตาธรรมค้ำจุนโลก (หลายคนบอว่า นี่เป็นพุทธศาสนสุภาษิต อาจลองค้นดูก่อนเพื่อความแน่ใจนะครับ อิอิ เดี๋ยวจะโดนหลอกเรื่องที่มา/การอ้างอิง)

สังเกตเห็นว่า หลายคนชอบใช้ภาษิตนี้และมันเขียนผิดตามที่ยกมาด้านบน ที่จริงเขียนอย่างนี้ครับ
โลโกปตฺถมฺภิกา เมตฺตา (สังเกตว่า มีเพียง 2 ศัพท์เท่านั้นครับ ไม่แยกเป็น 3) เนื่องจาก


1. คำว่า โลโกปตฺถมฺภิกา มาจากการรวมกันของ 2 ศัพท์ คือ โลก+อุปตฺถมภิกา.... สระ โอ ที่เห็นเกิดมาจากการเปลี่ยนรูปของ สระอุ ครับ ซึ่งยืมมาจากศัพท์หลัง ฉะนั้นการจะเขียนให้มีรูปโอได้ ต้องเอาศัพท์หลังมาเขียนรวมเข้าด้วยคับ ไม่แยกจากกัน
เช่นคำว่า กุศโลบาย มาจาก กุศล+อุบาย จะเขียนแยกเป็น กุศโล บาย ไม่ได้ครับ หรือ วิเทโศบาย เป็นต้นครับ

ส่วนคำว่า ปตฺถมพิกา ก็ให้เขียนเป็น ปตฺถมฺภิกา (ใช้ ภ สำเภาครับ) วิธีสังเกตง่ายๆ คือเปรียบเทียบกับหลักการเขียนการันต์ในภาษาไทยเอา เนื่องจากเราก็ยืมมาจากบาลีอีกทีหนึ่ง นั่นคือคำว่า อุปถัมภ์ (ไม่ใช่ อุปถัมพ์) แปลว่า การดูแล ค้ำจุนฯลฯ

ที่สำคัญ การศึกษาภาษิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพุทธวจนะ พระไตรปิฎก หรือของนักปราชญ์ท่านอื่น ต้องตระหนักเสมอว่า อาจเป็นความจริงแค่บางส่วนเท่านั้น ซึ่งก็อาจมีอย่างอื่นที่เป็นจริงได้เช่นกัน (ความเชื่อเรื่องเหตุเดียวผลเดียวอาจไม่ถูกต้องตามหลักการพุทธ) เช่น 

1. ความเมตตาเป็นธรรมค้ำจุนโลก แต่หากใครจะพูดว่า...
2. ความกรุณาเป็นธรรมค้ำจุนโลก ก็ถูกเหมือนกัน หรือ
3. มุทิตา เป็นธรรมค้ำจุนโลกก็ถูก
4. อุเบกขา เป็นธรรมค้ำจุนโลกก็ได้ (เนื่องจากมีสถานการณ์ที่เราต้องวางท่าทีแบบแตกต่างกัน)


ทำนองเดียวกับการพูดว่า “มนุษย์อยู่ได้ เพราะกินอาหาร”....คนที่ 2 จะพูดว่า มนุษย์อยู่ได้เพราะอากาศ คนที่ 3. บอกว่า มนุษย์อยู่ได้เพราะแสงแดด ก็ถูกทุกคน .... สรุปคือ อย่าเพิ่งมั่นใจว่าภาษิตที่ตนเชื่อเป็นความจริงแท้อยู่อย่างเดียว อย่างอื่นผิดหมดเลย อิอิ ต้องพิจารณาดูเหตุปัจจัยให้รอบด้านก่อนครับ จึงจะเป็นผู้ศึกษาศาสนาโดยไม่ตกเป็นเหยื่อศรัทธา

ดอกไม้มงคล

ดอกไม้มงคล....ปัจจุบันมีพุทธสถานหลายที่ชอบระบุไว้ว่า “ห้ามนำดอกไม้เหล่านี้มาบูชาพระ เนื่องจากไม่เป็นมงคล” เช่น พุทธซ้อน เยมีร่า กุหลาบฯลฯ (มีเยอะกว่านี้แต่จำไม่ได้ครับ)

น่าตั้งข้อสังเกตว่า “ไฉนคนปัจจุบันยังเชื่อเรื่องเหล่านี้อยู่? อาจารย์บางท่านอธิบายให้เห็นภูมิปัญญาคนไทยสมัยก่อน เช่นการปลูกต้นมะลิข้างบ้านว่าจะเป็นมงคล มงคลของเขาก็ไม่งมงายเสียทีเดียว ยังอธิบายเพิ่มได้ว่า เพราะเมื่อดอกมะลิบาน ลมก็ช่วยพัดเอาความหอมเข้าในบ้านได้ สร้างความสดชื่นให้แก่คนในบ้าน เป็นผลให้คนมีความสบายใจ ผ่อนคลาย ทำการงานต่อไปได้ (จนชีวิตเจริญรุ่งเรือง....คือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนการใช้ชีวิตให้มีความสุข)

มงคล แปลง่ายๆว่า “สิ่งที่จะทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง” พุทธศาสนาเน้นว่า มงคลจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดี มิใช่เกิดจากความเชื่อแล้วเที่ยวบูชานั่นนี่ให้มาดลบันดาล (ดูข้อความในมงคลสูตรทั้ง 38 ประการเป็นตัวยืนยัน)

พุทธศาสนาจึงสอนว่า การไม่คบคนพาล การเลือกคบแต่บัณฑิต การปฏิบัติธรรม การดูแลพ่อแม่ ญาติมิตร การศึกษาเล่าเรียนมีความรู้ ความขยันในการงาน การเว้นจากสุรายาเมา ความไม่ประมาท เป็นต้น เป็นมงคล .... ไม่ใช่การไปกราบพระที่วัดโน้น ลอดโบสถ์ที่วัดนี้ สะเดาะเคราะห์ที่วัดนั้น
สรุปคือ...การจะทราบว่าสิ่งนั้นเป็นมงคลหรือไม่ต้องดูว่า เราทำไปแล้ว มันทำให้ชีวิตเราดีขึ้นทั้งทางศีล ทางจิตใจ และมีปัญญารู้เหตุรู้ผลเพิ่มขึ้นหรือไม่....ถ้าไม่ ก็พึงทราบว่า นั่นไม่ใช่มงคลในพุทธศาสนาครับ

จึงกลับมาตั้งคำถามว่า การนำดอกชบา ดอกเยมีร่า ดอกกุหลาบเป็นต้นไปบูชาพระ...จะทำให้ชีวิตเป็นอัปปมงคลได้อย่างไร?....ถ้า พิจารณาดูให้ลึก การนำดอกไม้ไปบูชาพระ ทำให้ชีวิตเราดีขึ้นอย่างไร ลองคิดแบบไม่ต้องใช้ศรัทธาดูสิครับ ? อิอิอิ 

ความจริงหลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษาควรออกแบบให้คนอธิบายเรื่องง่ายๆเหล่า นี้บ้างนะครับ ไม่ต้องไปถามว่า โพชฌงค์ 7 คืออะไร มีอะไรบ้าง? เพราะมันยากเกินไป ผู้สอบก็จำไปสอบ เปลี่ยนเป็นคำถามพื้นๆแทนว่า.... มงคลในพุทธศาสนาคืออะไร? ต่างจากความเชื่อในลัทธิอื่นอย่างไร? เป็นต้น หากเป็นเช่นนี้ผู้เรียนจะสามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตจริงครับ ไม่ตกเป็นเหยื่อความเชื่อที่คนโน้นว่าอย่าง คนนี้ว่าอีกอย่าง สุดท้ายกลัวอกุศลกรรมจะเกิดหากตนไม่ยอมเชื่อ (วิจิกิจฉา) เลยไม่กล้าตั้งคำถาม ขอใช้ชีวิตแบบผู้มีเมตตาและอุเบกขาไปวันๆ แล้วกัน และหากเปลี่ยนข้อสอบมาเน้นความเข้าใจพุทธศาสนาแบบมีเหตุมีผลได้จริง เชื่อว่าบ้านเราจะไม่มีพระ(รวมทั้งพวกที่สึกออกไปแล้ว) ใช้ความไว้วางใจที่ผู้คนมีให้ ช่วยกันปลูกฝังอะไรที่งมงายแก่ลูกหลานได้อีกคับ อิอิอิ

ชาวพุทธสุดโต่ง 2 ประเภท

ชาวพุทธสุดโต่ง 2 ประเภท

ประเภทแรก เป็นกลุ่มที่ไม่เคยสนใจศึกษาพุทธศาสนาเลย มีผู้ชักจูงให้ทำอะไรก็ทำตามนั้น เช่น ทำบุญบริจาคเงิน บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็น ต่อชะตาสะเดาะเคราะห์เป็นต้น ความน่าสงสารของกลุ่มคนเหล่านี้เกิดจากการต้องทำงาน มีภาระ หรือบ้างก็ปล่อยปละละเลยจนไม่มีโอกาสศึกษาคำสอนจากพระไตรปิฎก การกลัวเวรกรรม เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ เป็นเหตุให้เขาถูกชักจูงได้ง่าย

ประเภทที่สอง น่าจะเกิดขึ้นเมื่อราว 5-6 ปีที่แล้วนี่เอง คือ กลุ่มที่ขอสมาทานยึด/เชื่อดำรัสของพระพุทธเจ้าอย่างเดียวเท่านั้น คำสอนอย่างอื่นจะผิดหรือถูกอย่างไรก็ขอทิ้งไปเนื่องจากเห็นว่าเสียเวลาในการ ศึกษาเล่าเรียน หรือขัดขวางความพ้นทุกข์ ที่ยิ่งกว่านั้น หากไม่รับเฉพาะคำพระศาสดา ถือว่าเป็นการทำลายศาสนาอยู่ตลอดเวลา (เปรียบดังกลอง..ที่ต้องเปลี่ยนหนังหุ้มไปเรื่อยเมื่อสึกหรอ จนไม่เหลือของเก่า) เหตุที่คนกลุ่มนี้ศรัทธาในพุทธวจนะ เนื่องจากเบื่อกับคำสอนที่หลากหลาย ไม่ทราบว่าอะไรผิดถูกกันแน่ ซึ่งแทนที่จะเลือกแก้ปัญหาด้วยการใช้ปัญญา ก็เลือกหันมาศรัทธาต่อคัมภีร์ต้นฉบับ อันจะทำให้เขามั่นใจได้ว่า ถูกต้องที่สุด เพราะยังไม่ถูกสอนหรือตีความจากใคร 

โยมรู้สึกว่า การยึดพุทธวจนะเป็นความสุดโต่ง...เนื่องจากมีเพื่อนที่หันไปศึกษาพุทธวจนะ เช่นกัน และได้แชร์ภาพการค้นหาศัพท์คำว่า “ติดสมมติ” ในโปรแกรมพระไตรปิฎกมาให้ดู ซึ่งเธอบอกว่า “ไม่มีคำนี้ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัส เพราะฉะนั้นจึงเป็นของปลอม ชาวพุทธไม่ควรยอมรับ” ขออธิบายคำนี้นิดหนึ่งก่อน

“สมมติ” ในที่นี้หมายถึง สิ่งนั้นไม่ได้เป็นตามธรรมชาติ แต่มนุษย์มากำหนดขึ้น เช่น ดิฉันเป็นครู หรือบางท่านเป็นพระภิกษุ ซึ่งทั้งครูและภิกษุในที่นี้เป็นสมมติ เพราะเราแค่กำหนดมันขึ้นตามสถานะทางสังคมและหน้าที่ สิ่งนี้จะไม่เที่ยงแท้ เนื่องจากดิฉันจะลาออกจากการเป็นครู และพระจะลาสิกขาจากการเป็นภิกษุเมื่อไหรก็ได้ หรือตัวอย่างเช่นตุ๊กตาน่ารัก เราก็ไปหลงสมมติที่มันถูกสร้างขึ้น ทั้งที่จริงแล้วมันเป็นเพียงส่วนประกอบของเสื้อผ้า สี ปุยนุ่นเป็นต้น ที่กล่าวมานี้เป็นสมมติ

ส่วนปรมัตถ์ คือ ทั้งตัวดิฉัน ตัวพระภิกษุ และตุ๊กตา “ล้วนตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์” มีการเกิดขึ้นและดับไป การสอนให้ไม่ให้ติดสมมติแท้ที่จริงก็คือ การสอนให้เห็นขันธ์ ธาตุ อายตนะ ฯลฯ นี่เอง เพื่อเตือนใจให้เราไม่หลงกับสมมติที่เราเป็นอยู่ขณะนี้และลืมนึกถึงความเป็น จริงขั้นปรมัตถ์ไปเสียจนลืมค้นหาตัวเอง ปฏิบัติธรรม เป็นต้น 

ซึ่งหากจะไม่ยอมเปิดรับอย่างอื่นที่พระพุทธเจ้าไม่ตรัสดังการปฏิเสธคำว่า “ติดสมมติ” ก็อยากจะแนะนำให้ลองพิมพ์หาคำว่า Facebook Swensen Tesco Lotus Honda หรือมอเตอร์โซด์ โทรศัพท์ บัตรเครดิต เป็นต้นในพระไตรปิฎกดูก็ได้ และหากประสงค์จะยึดตามพุทธวจนะจริงๆ ก็ได้โปรดอย่าใช้บริการสิ่งที่ไม่มีในพุทธวจนะด้วย 

หลายคนปฏิเสธความถูกต้องทั้งที่รู้ว่าถูก เพียงเพราะมันไม่ได้มาจากพุทธวจนะเท่านั้น หากจะให้ตนยอมรับก็ต้องพูดด้วยคำในพระไตรปิฎก เนื่องจากอ้างการรักษาพุทธศาสนาด้วยการต้องยึดไว้ทั้งอรรถ(ความหมาย)และ พยัญชนะ(ตัวอักษร) สังเกตว่า สำนักพุทธวจนะทั้งหลายจะให้ความสำคัญกับคำพูดตามพระไตรปิฎกมาก (พยัญชนะ) โดยบอกว่า การอธิบายเพื่อสื่อความหมาย (อรรถ) เพียงอย่างเดียวไม่พอและทำให้ศาสนาเสื่อม ความเป็นจริงก็คือ การท่องพุทธวจนะตามพระไตรปิฎกไทยก็ถือเป็นการไม่รักษาพยัญชนะแล้วเช่นกัน หากประสงค์จะรักษาทุกอย่างตามพระพุทธเจ้า ก็ต้องเปลี่ยนไปท่องและสอนเป็นภาษาบาลีด้วย

สรุปคือ เมื่อก่อนโยมรู้สึกดีใจมากที่เกิดการศึกษาพุทธศาสนาตามคัมภีร์ขึ้น โดยเน้นเจาะจงไปที่พุทธวจนะอีกด้วย แต่คาดไม่ถึงจริงๆว่า จะพัฒนามาจนเป็นระบบศรัทธาอันหนึ่ง ที่ไม่สอนให้คนมองความเป็นจริง (อาจเป็นเพราะผู้สอนเองไม่สามารถแยกศาสนาที่มีศรัทธาในพระเจ้า กับ ศาสนาที่เน้นการพัฒนาศักยภาพคนตามกฎของเหตุและผล ไม่ออก) เพื่อนของโยมหลายคนกลายเป็นคนใจแคบ ไม่รับฟังความเห็นและคำพูดใครเพียงเพราะไม่มีปรากฎตามพุทธวจนะ ซึ่งหากจะเอาตามหลักการพุทธศาสนาจริงๆ กาลามสูตรเป็นเครื่องมือที่ดีอันหนึ่งที่จะทำให้เราได้แยกแยะผิด ถูก มีเหตุผล เป็นกุศลหรือเกิดประโยชน์จริงหรือไม่ มากกว่าการเชื่อเพียงเพราะคนนั้นคนนี้เป็นผู้พูด 

ที่น่าเศร้าไปมากกว่านั้น บางสำนักยังตีความใหม่และสอนว่า กาลามสูตรข้อ “อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะผู้นั้นเป็นครูของเรา” ว่า ครูในที่นี้หมายถึงศาสดาในศาสนาอื่น ส่วนชาวพุทธต้องเชื่อพุทธวจนะอย่างสุดใจ (ห้ามเชื่อศาสนาอื่นหรือกระทั่งสาวกในพุทธศาสนา) ทั้งที่ความจริง การศึกษาพุทธศาสนาเป็นกระบวนการทำความเข้าใจ รับเอาสิ่งที่มีเหตุผลมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนเอง ไม่ใช่ระบบความเชื่อ ซึ่งโยมเห็นว่า พุทธวจนะกลับมีความน่ากลัวและไปไกลมากขึ้นทุกที เพราะระบบศรัทธาสามารถชักจูงคนได้ง่าย กว่าการสอนให้คนเกิดปัญญา เปิดใจรับฟังคนอื่น และที่สำคัญ กำลังเปลี่ยนศาสนาของผู้รู้ ปัญญาชน ไม่บังคับศรัทธา (Doctrine/Causation) ให้กลายเป็นศาสนาในระบบศรัทธา เชื่อถือยึดมั่นในพระพุทธเจ้าแทนพระผู้เป็นเจ้า (Dogma)

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ แน่นอนว่าโยมไม่เห็นด้วยกับความเชื่องมงายแบบชาวบ้าน ที่ไม่แยกแยะผิดถูก จนกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มต่างๆ ทำนองเดียวกันก็ไม่เห็นด้วยกับการยึดบุคคลเป็นที่ตั้ง(ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร) จนต้องศรัทธาอย่างปักใจ ไม่ยอมก้าวไปสู่การยอมรับความจริงอย่างอื่น ที่คนนั้นไม่ได้พูดไว้ตามตัวอักษร และเห็นว่าศาสนาพุทธควรส่งเสริมให้มีการศึกษาที่พัฒนาปัญญาศาสนิกเพื่อเขาจะ ได้พึ่งตนเอง และตัดสินความผิด ถูก ด้วยความสามารถเขาเอง ที่สำคัญ มีความกล้าหาญและสามารถพอในการเปิดใจรับฟังผู้อื่นพร้อมทั้งพูดคุย อธิบายธรรมะแก่ผู้อื่นได้โดยไม่พึ่งศรัทธาเป็นหลัก อันนี้เป็นความรู้สึกและความเห็นที่อยากแสดง ท่านใดมีข้อแนะนำก็โปรดใช้ความเมตตาอนุเคราะห์แสดงความเห็น อย่าได้เกรงใจเจ้าค่ะ

ภริยาสูตร อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต

ภริยาสูตร อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต.........ว่าด้วยภรรยา
ลองอ่านพระสูตรนี้แบบละเอียดและหาประเด็นตั้งคำถามดูนะครับ จะมีข้อถกเถียงในตอนท้ายของข้อความ


๖๐. ครั้งนั้นแล ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของอนาถ บิณฑิกคหบดี แล้วประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว สมัยนั้นแล ในนิเวศน์ของอนาถบิณฑิกคหบดี มีเหล่ามนุษย์ส่งเสียงดังอื้ออึง อนาถบิณฑิกคหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามอนาถบิณฑิกคหบดีดังนี้ว่า
“คหบดี เหตุไรหนอ เหล่ามนุษย์ในนิเวศน์ของท่านจึงส่งเสียงดังอื้ออึง เหมือนชาวประมงแย่งปลากัน” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางสุชาดานี้ ข้าพระองค์พามาจากตระกูลมั่งคั่ง เป็นสะใภ้ในเรือน นางไม่เชื่อฟังแม่ผัว ไม่เชื่อฟังพ่อผัว ไม่เชื่อฟังสามี แม้แต่พระผู้มีพระภาค นางก็ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา”

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกนางสุชาดาหญิงสะใภ้ในเรือนมาตรัสว่า “มานี่ สุชาดา” นางสุชาดาหญิงสะใภ้ในเรือนทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกับนางสุชาดาหญิงสะใภ้ในเรือนดังนี้ว่าสุชาดา ภรรยา ๗ จำพวกนี้ ภรรยา ๗ จำพวกไหนบ้าง คือ

๑. ภรรยาดุจเพชฌฆาต
๒. ภรรยาดุจนางโจร
๓. ภรรยาดุจนายหญิง
๔. ภรรยาดุจมารดา
๕. ภรรยาดุจพี่สาวน้องสาว
๖. ภรรยาดุจเพื่อน
๗. ภรรยาดุจทาสี


บรรดาภรรยา ๗ จำพวกนั้น เธอเป็นภรรยาจำพวกไหน นางสุชาดากราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันไม่เข้าใจความหมายแห่งพระภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อนี้ อย่างพิสดาร ขอประทานวโรกาสขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงแสดงธรรมแก่หม่อมฉัน โดยวิธีที่หม่อมฉันจะเข้าใจความหมายแห่งพระภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ โดยย่อนี้ได้อย่างพิสดาร”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สุชาดา ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” นางสุชาดาหญิงสะใภ้ในเรือนทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า

1. ภรรยาใดคิดประทุษร้าย ไม่เกื้อกูลอนุเคราะห์ ยินดีต่อชายเหล่าอื่น ดูหมิ่นสามี เป็นหญิงที่เขาซื้อมาด้วยทรัพย์ พยายามฆ่าสามี ภรรยาเช่นนี้ เรียกว่า ภรรยาดุจเพชฌฆาต

2. ภรรยาใดมุ่งจะยักยอกทรัพย์แม้มีจำนวนน้อย ที่สามีประกอบศิลปกรรม พาณิชยกรรมและกสิกรรมได้มาภรรยาเช่นนี้ เรียกว่า ภรรยาดุจนางโจร

3. ภรรยาใดไม่สนใจการงานเกียจคร้าน กินจุ หยาบคาย ดุร้าย มักพูดคำชั่วหยาบ ข่มขี่สามีผู้ขยันหมั่นเพียร ภรรยาเช่นนี้ เรียกว่า ภรรยาดุจนายหญิง

4. ภรรยาใดเป็นผู้เกื้อกูลอนุเคราะห์ทุกเมื่อ คอยทะนุถนอมสามี เหมือนมารดาคอยทะนุถนอมบุตรรักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ไว้ ภรรยาเช่นนี้ เรียกว่า ภรรยาดุจมารดา

5. ภรรยาใดเป็นเหมือนพี่สาวน้องสาว มีความเคารพในสามีของตน มีใจละอายต่อบาป ประพฤติคล้อยตามอำนาจสามี ภรรยาเช่นนี้ เรียกว่า ภรรยาดุจพี่สาวน้องสาว

6. ภรรยาใดเห็นสามีแล้วชื่นชมยินดี เหมือนเพื่อนเห็นเพื่อนผู้จากไปนานแล้วกลับมา เป็นหญิงมีตระกูล มีศีล มีวัตรปฏิบัติต่อสามี ภรรยาเช่นนี้ เรียกว่า ภรรยาดุจเพื่อน

7. ภรรยาใดถูกสามีขู่จะฆ่าจะเฆี่ยนตี ก็ไม่โกรธ สงบเสงี่ยม ไม่คิดขุ่นเคืองสามี อดทนได้ ไม่โกรธ ประพฤติคล้อยตามอำนาจสามี ภรรยาเช่นนี้ เรียกว่า ภรรยาดุจทาสี (ทาส)

ภรรยาใดในโลกนี้ ที่เรียกว่า ภรรยาดุจเพชฌฆาต ภรรยาดุจนางโจร และภรรยาดุจนายหญิง ภรรยานั้น เป็นผู้ทุศีล หยาบคาย ไม่เอื้อเฟื้อ เมื่อตายไป ย่อมไปสู่นรก ส่วนภรรยาใดในโลกนี้ ที่เรียกว่า ภรรยาดุจมารดา ภรรยาดุจพี่สาวน้องสาว ภรรยาดุจเพื่อน ภรรยาดุจทาสี ภรรยานั้น เพราะเป็นผู้ตั้งอยู่ในศีล ยินดีและสำรวมมานาน เมื่อตายไป ย่อมไปสู่สุคติโลกสวรรค์
สุชาดา ภรรยา ๗ จำพวกนี้แล เธอเป็นภรรยาจำพวกไหน นางสุชาดากราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำหม่อมฉันไว้ว่า เป็นภรรยาดุจทาสี” ภริยาสูตรที่ ๑๐ จบ

ประเด็นที่น่าตั้งข้อสังเกตมีดังนี้ครับ

1. นางไม่เชื่อฟังแม่ผัว ไม่เชื่อฟังพ่อผัว ไม่เชื่อฟังสามี แม้แต่พระผู้มีพระภาค นางก็ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา” แต่เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเรียกมา นางก็ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร...เราจะอธิบายปรากฎการณ์นี้อย่างไรได้บ้าง 1. คำพูดนี้ขัดแย้งกันเอง 2.นางแสแสร้งทำความเคารพเพราะเกรงใจพระพุทธเจ้าในฐานะแขกผู้มาเยือน...หาก เป็นเช่นนี้ อย่างน้อยก็สะท้อนให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ต่างจากคนทั่วไป ที่มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ ซึ่งต่างกับการถูกนำเสนอให้ชาวพุทธเชื่อว่า ท่านศักดิ์สิทธิ์ ไปไหนมีแต่คนเข้ามาถวายความเคารพด้วยจิตศรัทธา 


2. ความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์...ปัญหาสำหรับคนที่ปฏิเสธ และยกนรกสวรรค์ให้มาอยู่ในใจซึ่งเป็นปัจจุบัน ........ จากพระดำรัสที่ว่า ภรรยาเช่นนี้ เป็นผู้ทุศีล หยาบคาย ไม่เอื้อเฟื้อ “เมื่อตายไป” ย่อมไปสู่นรก....หรือ....ย่อมไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ตกลงนรก สวรรค์ ในภพหน้ามีป่าวคับ? อิอิ

3.ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำหม่อมฉันไว้ว่า เป็นภรรยาดุจทาสี” คำถามคือ คนที่นิสัยไม่ดีเช่นนั้น เมื่อได้ฟังธรรมะแค่นี้ สามารถเปลี่ยนตัวเองเป็นคนละคนได้เลยหรือ...หรือจะเป็นการเสแสร้งอีกเช่น เคย? เนื่องจาก หากอยากเป็นคนดีจริง ก็สามารถเลือกภรรยาประเภทอื่นๆ ซึ่งดีกว่านี้ มีสิทธิ ศักดิ์ศรี มีความเป็นมนุษย์มากกว่านี้ได้ .... ในการศึกษาศาสนา จะมีคำถามตามมาตลอดว่า ผู้นั้นสามารถเปลี่ยนตนเองได้หรือไม่หลังจากฟังธรรมะไปแล้ว ส่วนใหญ่ชาวพุทธจะเชื่อว่าได้.....เนื่องจากพระพุทธเจ้าจะใช้พระญาณตรวจสอบ ก่อนที่จะเทศน์ให้ใครฟัง เพื่อจะได้เลือกสรรธรรมที่ตรงกับภาวะนั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะได้ผล และชาวพุทธจะไม่ยอมเชื่อว่า พระพุทธเจ้าตรัสไปแล้ว ผู้ฟังคนนั้นไม่ได้นำไปใช้ เพราะเท่ากับบอกว่า การเทศน์ครั้งนั้นล้มเหลว.... แต่ฝรั่งหลายคนจะไม่ยอมเชื่อเรื่องนี้ เนื่องจาก พระสูตรเองก็จบไว้เท่านี้ “ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำหม่อมฉันไว้ว่า เป็นภรรยาดุจทาสี” ซึ่งเป็นเพียงคำพูดเชิงถวายสัตย์ แต่ไม่ได้ให้ภาพต่อไปว่า ต่อมานางมีพฤติกรรมอย่างไร ฉะนั้น การเชื่อว่า นางกลับเป็นคนดีได้จริง จึงเป็นความคาดหวังของผู้อ่านเอง ซึ่งนอกเหนือการนำเสนอของพระสูตร 

4. หากมองในทรรศนะของ “สตรีนิยม” อาจกล่าวได้ว่า พุทธศาสนากดสตรีให้ต่ำลง สอนให้ผู้หญิงเป็นทาสผู้ชาย ปลูกฝังอุดมคติของหญิงที่ดีที่ต้องรับใช้สามีเป็นต้น ประเด็นนี้แก้ตัวได้ว่า ไม่มีส่วนไหนที่พระพุทธเจ้าสอนให้ผู้หญิงต้องตกต่ำกว่าผู้ชาย การพูดถึงภรรยาทั้ง 7 ประเภทนั้น ไม่ได้ต้องการสอนให้คนต้องเป็นอย่างที่พระองค์ต้องการ แต่ได้ยกเอาประเภทของผู้หญิงที่มีอยู่จริงในสังคมมาอธิบาย ที่สำคัญการที่นางสุชาดาเลือกที่จะเป็น “ภรรยาดุงทาส” ก็เป็นเจตจำนงค์ของนางเอง ซึ่งหากนางเลือกประเภทอื่น เช่นภรรยาดุจพี่น้องสาว ดุจมารดา เป็นต้นก็ไม่มีใครว่าอะไร 

ต้องเข้าใจว่า พุทธศาสนาไม่ได้เกิดมาภายใต้อุดมการสตรีนิยม เพื่อเรียกร้องสิทธิสตรี เพราะพื้นฐานศาสนาส่วนใหญ่ (ในแง่โลกิยะ) เพียงต้องการให้สังคมมีความสงบสุข ให้บริบททางสังคมเอื้อแก้การพัฒนาตัวเองในขั้นโลกุตตระต่อไปได้อีก ที่สำคัญ....การแก้ตัวว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้กล่าวว่า ภรรยาดุจทาสดีที่สุด เพราะพระองค์ไม่ได้ตรัสรับรองอะไรเลย เมื่อนางเลือกแล้วก็แล้วไป หากเห็นดีเห็นงามด้วยก็ควรตรัสว่า “สาธุ ดีแล้วสุชาดา เธอช่างเป็นสาวกที่ดีของเราจริงๆ” ซึ่งหากตรัสเช่นนี้ ก็จะสื่อความว่า พุทธศาสนากดขี่ผู้หญิงให้ต่ำลงจริงๆ

5. พระสูตรนี้ สะท้อนให้เห็นถึงหลักการของพุทธศาสนาได้ชัดเจน คือ เพียงเสนอตัวเลือก พูดให้เห็นข้อดี ข้อเสีย ส่วนผู้ฟังจะเอาอย่างไร ก็ปล่อยให้เป็นเสรีภาพของเขาเอง .... เป็นลักษณะของศาสนาแบบ Doctrine ซึ่งตรงข้ามกับ Dogma ที่เน้นให้เชื่อและต้องเอาคำที่พูดไปปฏิบัติตาม หากฝ่าฝืนถือเป็นความผิดบาป การทำความเข้าใจประเด็นนี้ก็สำคัญมาก จะนำไปสู่ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับศีล 5 เป็นต้น ว่าไม่ได้เป็นบทบัญญัติที่สั่งบังคับให้ใครทำ แต่เป็นการเสนอข้อเด่น ข้อด้อย แล้วให้ผู้นั้นเลือกสมาทานเอาเอง (ใครไม่สมาทานก็เรื่องของเขา) “ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาสิกขาบท..เพื่อฝึกฝนตนเอง...คือการงดเว้นจากการฆ่า สัตว์ฯลฯ” ไม่ได้แปลว่า “ศีลข้อที่ 1 ห้ามฆ่าสัตว์” (เพราะการสั่งให้ทำเป็นลักษณะแบบ Dogma) ซึ่งไม่ใช่รูปแบบของพุทธศาสนา 

เรื่องนี้ยังตั้งคำถามถึงความเชื่อของสายพุทธวจนะได้อีกว่า...แท้จริงแล้ว พุทธศาสนาสอนให้เชื่อและต้องเอาไปปฏิบัติตามนั้น หรือ สอนให้รู้จักคิด แยกแยะ แล้วเลือกสิ่งที่เหมาะกับจริตตนไปปฏิบัติตามความเหมาะสม ?

เส้น แบ่งระหว่าง คุณธรรม กับ ปัญญา

เส้น แบ่งระหว่าง คุณธรรม กับ ปัญญา.....เป็นการยากที่จะแบ่งทั้ง 2 อย่างนี้ออกจากกัน เพราะปัญญาหรือการยึดหลักเหตุผล ความถูกต้องก็ถือเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง และคุณธรรมเอง จะเป็นความดีงาม (หรือถูกต้องได้) จนเป็นที่น่าเชื่อถือ ก็ต่อเมื่อมีปัญญามาประกอบ แต่เพื่อให้ข้อถกเถียงในสังคมปัจจุบันของทั้ง 2 อย่างนี้เป็นไปได้จึงควรมีการขีดเส้นความแตกต่าง

ซึ่งความจริง พุทธศาสนาเองก็มีการแบ่งหลักการทั้ง 2 อย่างนี้ออกชัดเจนเหมือนกัน ตามหลัก ภาวนา 3 (ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ข้อ 228)

1. กายภาวนา มนุษย์ต้องพัฒนาพฤติกรรมทางกาย (ผ่านวัตรปฏิบัติทางศีล)
2. จิตตภาวนา การพัฒนาจิตใจ (ผ่านสมาธิ หรือคุณธรรมต่างๆ)
3. ปัญญาภาวนา การพัฒนาปัญญา (การรู้จักเหตุผล มองปัญหาได้ทะลุปรุโปร่งฯ)


จะเห็นว่า จิต (อันหมายถึง ความรู้สึก คุณธรรม ความดีงามทางใจเป็นต้น) แยกออกอย่างชัดเจนจากปัญญาคือ การเข้าใจหลักของเหตุและผล แน่นอนว่า ต่อให้แยกทั้งสามอย่างนี้ออกจากกัน แต่ก็มิได้หมายความว่า มนุษย์ต้องพัฒนาจากข้อแรก ไปถึงข้อที่สาม ตามลำดับเท่านั้น หากแต่จะเริ่มจากส่วนไหนก็ได้ ซึ่งบางครั้ง การพัฒนาตัวหนึ่ง อาจไปเกื้อหนุนการพัฒนาตัวอื่นได้ด้วย (อ้างใน ป.อ.ปยุตฺโต...ธรรมบรรยายเรื่อง ไตรสิกขา)

ฉะนั้น เมื่อแยกคุณธรรมกับปัญญาออกจากกัน คุณธรรมจึงเป็นความดีงาม สิ่งที่คนเชื่อ เคารพบูชายึดเป็นอุดมคติเพื่อสร้างตัวตนของตนเองจึงไม่ต้องมีปัญญามาประกอบ ก็ได้ ส่วนปัญญา ก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยความเชื่อ ความรู้สึก มาประกอบด้วยก็ได้ แต่จะเน้นความสามารถในการมองเหตุผลและยืนอยู่กับความถูกต้องได้ ตัวอย่างเช่น

“เมื่อเกิดปัญหาในครอบครัว สามารถแก้ปัญหาได้ 2 ทางคือ ทางแห่งคุณธรรม(จิตใจ)และทางแห่งปัญญา เรามักถูกปลูกฝังว่า การใช้ปัญญาแก้ปัญหาในครอบครัวเป็นสิ่งไม่สมควร เพราะจะนำไปสู่การทะเลาะ เถียงเพื่อหวังแพ้ชนะ ซึ่งต่อให้เราชนะ แต่คนที่แพ้ก็เป็นคนรักของเรา การชนะของเราทำร้ายจิตใจของอีกคน ฉะนั้น ปัญญาจึงไม่สามารถแก้ปัญหาครอบครัวได้ สิ่งที่จำเป็นคือ ความรัก การเสียสละ อันได้แก่ คุณธรรมทางจิตใจต่างหาก อิอิอิ...” ซึ่งถ้ามองแบบไม่เข้าข้างคุณธรรม ก็ต้องแย้งว่า การแก้ปัญหาด้วยความเสียสละนั่นแหละ จะไม่สามารถแก้ปัญหาแบบยั่งยืนได้ เพราะทั้งสองฝ่ายไม่รู้จักความถูกต้อง ปัญหาเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยกเว้น อีกฝ่ายจะบูชาคู่รักตนจนยอมทุกอย่าง ซึ่งสุดท้าย ก็ไม่สามารถพัฒนาคนไปสู่ทางที่เจริญขึ้นได้ (ตามหลัก ภาวนาทั้ง 3 ของพุทธศาสนาเป็นต้น) 

คำนิยาม....ของคุณธรรมและปัญญาอาจแบ่งได้ตามหลักการกระทำตามปรัชญาตะวันตกได้ดังนี้ครับ
------คุณธรรม..เป็นการกระทำด้วย “เจตนาดี แต่ไม่สนใจเครื่องมือ หรือ วิธีการ” ที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่ตนเชื่อว่า สิ่งนั้นดี/ถูกต้องอยู่แล้ว

-------ปัญญา ... เราไม่สามารถทราบถึงเจตนาเขาได้ว่าดีหรือไม่ “แต่การกระทำเป็นไปตามกฎของเหตุผล ยึดหลักความถูกต้อง ให้ความสำคัญกับเครื่องมือ หรือวิธีการ” 


อาจมีคนแย้งว่า เจตนาเป็นสิ่งสำคัญมิใช่หรือ กฎหมายก็ยังต้องดูเจตนาของจำเลย...ตอบว่า ดูตรงไหนจึงจะเห็นครับ เราทราบเจตนาได้ก็ผ่านกระบวนการกระทำอีกนั่นแหละ (กรรมจะเป็นเครื่องส่อเจตนา) การตัดสินที่กระบวนการ จะนำไปสู่ข้อสิ้นสุดได้ แต่การดูเจตนา สามารถอ้างคุณธรรมได้แบบไม่จบสิ้นครับ อิอิ

เราลองมาดูตัวอย่างเปรียบเทียบการสอนลูกแบบ อบรม”คุณธรรมทางจิตใจ” และ “การสอนให้ลูกใช้ปัญญา มองเห็นเหตุผลด้วยตนเองดู”

1. ไม่อยากให้ลูกออกไปเล่นในที่มืด ......
พ่อแม่ที่มีคุณธรรมจะสอนว่า “ลูกอย่าไปเล่นตรงนั้นนะ เดี๋ยวจะมีเสือมากิน มีผีมาหลอกฯลฯ สามารถพูดทุกอย่างได้โดยไม่ต้องสนใจความจริง เพราะ...เป้าหมายคือ อยากให้ลูกปลอดภัย


ส่วนพ่อแม่ที่เน้นเหตุผล การใช้ปัญญาจะพูดว่า..... ลูกอย่าไปเล่นตรงนั้น มันมืด อาจมีงูหรือสัตว์มีพิษกัดเอาได้ เพราะความมืด ลูกอาจสะดุดอะไรหกล้มได้ฯลฯ .....โดยมีเป้าหมายเดียวกัน


ผลที่ได้จากการสอนทั้งสองนี้คือ แบบแรก จะเป็นคนดีเชื่อฟังพ่อแม่ เพราะกลัวเสือและผี แต่เมื่อโตขึ้น ได้รับรู้ว่าพ่อแม่โกหก บทเรียนนี้จะเป็นก้าวแรกที่ทำให้เขาทราบว่า พ่อแม่โกหกเขา ซึ่งเด็กจะตอบโต้ด้วยการซักเหตุ ผล เป็นต้น แต่พ่อแม่ประเภทนี้ส่วนใหญ่ไม่สามารถตอบลูกได้ ส่วนประเภทหลัง... โตขึ้นไม่กลัวผี เพราะไม่ถูกปลูกฝังมา เกิดหกล้มหรือโดนงูกัด เขาจะหวนนึกถึงคำเตือนของพ่อแม่...กรณีที่ไปอยู่ที่อื่น เขาก็จะไม่ไปเล่นในที่มืด เพราะเห็นภัยที่แท้จริงของมัน ไม่ใช่การหลอกลวงด้วยเจตนาดีของพ่อแม่

2. อยากให้ลูกทำบุญ เข้าหาศาสนา
พ่อแม่ที่มีคุณธรรม จะสอนลูกว่า “ลูกต้องบริจาคเงินให้วัด ซื้อของไปถวายพระ หรือปล่อยปลาดุก เป็นต้น เพื่อลูกจะได้เก็บบุญไว้เลี้ยงตัว ผลบุญจะทำให้เรียนเก่ง โตขึ้นจะไม่อดอยาก ได้สะเดาะเคราะห์ ตายไปจะไปสู่สวรรค์และนิพพาน


ส่วนพ่อแม่ที่เน้นเหตุผล จะสอนว่า....ลูกต้องคิดถึงคนอื่น ใครมีความทุกข์เราควรช่วยเหลือ พระมีหน้าที่ศึกษาและสอนธรรมะแก่ชาวบ้าน ท่านไม่ทำอาหารฉัน ฉะนั้นถ้ามีโอกาสก็ช่วยใส่บาตรท่าน เพื่อท่านจะได้มีกำลังสอนชาวบ้านในทางที่ถูก มีโอกาสก็ช่วยเหลือสรรพสัตว์ด้วยการให้อาหารมันเป็นต้น คิดถึงความลำบากของคนอื่น ถ้าทุกคนช่วยกัน สังคมก็จะดีขึ้น


การสอนแบบแรก ก็จะทำให้เด็กเป็นคนดี ชอบการเข้าวัด เห็นพระเป็นต้องยกมือไหว้หรือถวายของ (เงิน) มีการสะเดาะเคราะห์ปล่อยปลาที่ไหนก็ร่วมด้วยเสมอ เพราะหวังให้โชคชะตาตัวเองดี ร่ำรวย ส่วนเด็กประเภทหลัง ก่อนทำอะไร ช่วยเหลือใคร ก็คิดถึงความเหมาะสมก่อน นึกถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้นั้น (ไม่ใช่ตัวเอง) ซึ่งเด็กคนนี้จะไม่ตกเป็นเหยื่อบุญหรือศรัทธาของใคร 

จะเห็นว่า การสอนด้วยคุณธรรมความเชื่อ และปัญญาการพิจารณาเหตุผล มีความแตกต่างกันอย่างมาก แบบแรกเป็นการรักษาขนบ ดำรงรูปแบบของศาสนา และเชื่อมั่นว่าตนเป็นคนดีโดยไม่ต้องตั้งคำถามต่อความถูกต้อง ซึ่งเด็กประเภทนี้ จะรังเกียจและตัดสินคนอื่นที่เชื่อไม่เหมือนตนว่าเป็นคนชั่ว แต่เด็กประเภทหลัง เมื่อเกิดความขัดแย้งกัน ก็จะนำไปสู่การถกเถียง หาเหตุผลเพื่อแก้ปัญหา 

เรามักถูกอบรมมาอีกว่า การสอนให้เชื่อแบบแรกง่ายกว่า ส่วนแบบหลังเหมาะกับเด็ก (รวมทั้งผู้ปกครองที่) ฉลาดเท่านั้น ... แม้พระสงฆ์เองที่สอนแต่คุณธรรม ไม่ยอมอธิบายธรรมะด้วยความถูกต้องเป็นเหตุเป็นผลก็เชื่อเช่นนี้ ซึ่งก็ไม่จริง การอธิบายเหตุ ผล ตามความจริงไม่ได้เป็นเรื่องยาก เพียงแต่พูดในสิ่งที่ตนรู้ ไม่โกหกแม้เจตนาดี และต้องหาความรู้ในสิ่งที่ตนยังไม่ทราบอยู่ตลอดเวลา เช่นการจะสอนลูกเรื่องบุญที่ถูกต้อง) หากเราสังเกตตัวเด็กเอง...เด็กจะมีความกระตือรือร้นในการอยากรู้เหตุผลอยู่ แล้ว แต่พัฒนาการนี้ก็ต้องหยุดลงเมื่ออยู่กับผู้ปกครองที่มีคุณธรรมมาก ไม่เคยสอนให้คิดแบบมีเหตุผลได้เลย อิอิอิ

สรุปได้ว่า...เมื่อเราแยกอธิบาย คุณธรรม ออกจาก ปัญญา แล้วจะเห็นว่า คุณธรรมมีโทษไม่น้อย แต่หลายคนก็ยังต้องการให้ตนและครอบครัวมีคุณธรรม ด้วยความเชื่อว่า การเป็นคนมีคุณธรรมทำให้ชีวิตตัวเองมีคุณค่า ซึ่งคนเหล่านี้มองข้าม ปัญญา ไป และไม่เคยเชื่อว่า ปัญญาจะสามารถทำให้คนดีได้ ปัญญาจะไม่รับรองสวรรค์เมื่อตายไป อิอิ 

เป็นความจริงที่ว่า การพัฒนาตามหลักพุทธ ตัวใดตัวหนึ่งก็จะเอื้อแก่การพัฒนาตัวอื่นๆด้วย เช่น “การมีปัญญามองเห็นความรู้สึกรักสุขเกลียดทุกข์ของคนอื่น” จะนำไปสู่ การสมาทานศีล (กายภาวนา) เพื่อจะไม่เบียดเบียนเขาด้วยกาย/วาจา และพัฒนาความรู้สึกเมตตา สงสาร (คุณธรรม หรือ จิตภาวนา) ให้เกิดขึ้นตามมาอีกได้ 

ส่วน การเชื่อว่า หากพัฒนาคุณธรรมเขาให้ดีได้ เช่นรักพ่อแม่ บูชาท่าน กราบเท้าท่านก่อนนอน ไม่เถียงและไม่ทำให้ท่านลำบากใจ ... สิ่งนี้จะนำไปสู่การรักษาศีลได้แน่ๆ แต่อาตมาไม่แน่ใจว่าจะนำไปสู่การมีปัญญาได้หรือไม่? หากเขาถูกปลูกฝังให้เชื่อโดยไม่ได้ให้ตั้งคำถาม .. เขาเป็นคนใจบุญ พร้อมจะถวายเงินหมดตัว ... ก็ไม่แน่ใจว่า คุณธรรมของเขาจะนำไปสู่การพัฒนาปัญญาได้อีกหรือไม่ ...เราอาจช่วยกันคิดเรื่องนี้ดูครับ

แต่ถ้าให้เลือก อาตมาอยากคุยกับคนที่ไม่มีคุณธรรมมากกว่าครับ เพราะเขาจะได้ไม่มีมานะเรื่องความเป็นคนดี ไม่มีมาตรฐานมาวัดเราว่า เราเป็นคนชั่วเพียงเพราะไม่ยอมล้างเท้าแม่ในเดือนสิงหาคม อิอิ และไม่ด่าเราว่าไร้สาระเพียงเพราะเราเชื่อไม่เหมือนเขา คนประเภทหลังอาจดูกล้าเถียง เหมือนไม่เคารพ แต่อย่างน้อย การถกกันบนหลักการความถูกต้อง...จะนำไปสู่จุดจบที่ยอมรับร่วมกันได้ คนประเภทนี้พร้อมจะเปลี่ยนตัวเองไปยืนข้างความถูกต้องเสมอ ปัญญาที่มีก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเพราะได้ผ่านประสบการณ์ การเปิดใจ พูดคุยกับผู้รู้ต่างๆ ซึ่งต่างจากคนประเภทแรกที่ไม่ยอมเชื่อใครเลย (นอกจากคนที่มีคุณธรรมตรงกับตน) ต่อให้เหตุผลดี เพราะตนเชื่อว่า คุณธรรมต่างหากที่จะคุ้มครองโลกนี้ได้ ....
อยากเตือนพระที่เทศน์สอนไว้นิดหนึ่งว่า ทุกครั้งที่เราพูดธรรมะแบบเหตุผลให้คนยึดคุณธรรมฟัง เขาจะรับฟังด้วยความเคารพ เนื่องจากการอ่อนน้อมเป็นคุณธรรมสำคัญของเขา อิอิ ไม่จำเป็นจริงๆ จะไม่โต้แย้งเด็ดขาด ได้แต่กล่าวสาธุๆๆๆๆๆๆ แต่ที่จริง ชีวิตเขาจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรอก เขาพร้อมที่จะเชื่อของเดิม และประกอบพิธีกรรมทุกอย่างที่สามารถยืนยันความเป็นคนมีคุณธรรมของเขาได้ 

ฉะนั้น..ท่านอย่าดีใจว่า คำสอนของท่านสามารถเปลี่ยนคนได้ง่าย..อิอิ ไม่จริงหรอกครับ คนมีคุณธรรม เปลี่ยนยากกว่าพวกมีปัญญาเสียอีก อิอิอิ เพราะอันนี้แหละครับ ผมจึงบอกว่า การที่พุทธศาสนาจะก้าวไปข้างหน้าได้ เราต้องทิ้งคุณธรรมให้ได้เสียก่อน...

 จุด อ่อนหรือความยากของข้อความนี้คือ การแบ่งแยกปัญญาออกจากคุณธรรม จริงอยู่ว่า “คุณธรรมสามารถแยกออกจากปัญญาได้อย่างชัดเจนและมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมาก มาย” เช่นการสอนให้เป็นคนดีโดยไม่ต้องสนใจเหตุผลหรือความถูกต้อง การอบรมให้เด็กเทิดทูนพ่อแม่ ครูอาจารย์ พระสงฆ์ หลักคำสอนทางศาสนา “โดยไม่ต้องตั้งคำถามอะไรเลยเป็นต้น”

แต่ การแยกปัญญาออกจากคุณธรรมทางใจเป็นเรื่องยากมาก ส่วนหนึ่งเนื่องจากปัญญาเป็นธรรมะขั้นสูงสุดอยู่แล้ว การเรียนวิทยาศาสตร์ และสามารถประดิษฐ์อุปกรณ์ใหม่ๆได้ ส่วนใหญ่เป็นเพียง “ความรู้” ด้านอาชีพ สาขาหนึ่งที่ถูกฝึก(ให้เชื่อ) มาเท่านั้น เขาเพียงแต่ปรับเปลี่ยนบางอย่างแล้วได้อุปกรณ์อันใหม่ ซึ่งเราจะสังเกตว่า “คนจบวิทยาศาสตร์ที่ยังงมงายมีเกลื่อนทั่วไป” เพราะศาสตร์ที่ใช้ได้มาจากการเรียนในสาขาวิชา ไม่ได้พัฒนาให้กลายเป็นวิถีชีวิตที่ก่อนจะทำหรือเชื่ออะไรต้องพิจารณาดูเหตุ ผล ให้พร้อมก่อนเสมอ (ดูตัวอย่างเรื่องนี้ได้ในหนังเรื่อง...”ตั้งวง”) แต่ปัญญาในพุทธศาสนาเป็นการมองปรากฎการณ์อย่างรอบคอบ ดำเนินชีวิตด้วยสติ ปัญญา (ไม่ยกความเป็นใหญ่ให้อารมณ์ ความชอบส่วนตัว) ฉะนั้น เมื่อมีปัญญามองเห็นความทุกข์ของตนเองและผู้อื่นแล้ว คุณธรรมความเมตตาสงสารเป็นต้นก็ตามมาโดยอัตโนมัติ (ตัวอย่างเช่นการเห็นเทวทูต 4 แล้วเสด็จออกบวช หรือ บรรลุธรรมมีปัญญาแล้วก็เกิดกรุณาอยากสั่งสอนสรรพสัตว์)

สิ่ง ที่อาตมาต้องการสื่อผ่านข้อความนี้คือ การอบรมคุณธรรมที่ไม่ใช้ปัญญาประกอบ(ซึ่งมีอยู่เกลื่อนกลาด) หวังเพียงให้คนเป็นเด็กดี เป็นพุทธศาสนิกชนที่ศรัทธาตั้งมั่น “มีเจตนาดีโดยไม่สนใจวิธีการ” อาจนำผลเสียมาสู่สังคมวงกว้างได้ นั่นคือ ผู้ถูกอบรมจะกลายเป็นคนดีที่ขาดปัญญา ทำทุกอย่างเพียงเพราะเชื่อว่าดี โดยไม่สนใจคนรอบข้าง ไม่สามารถรับฟังเหตุผลที่ต่างไปจากตนได้ และอาจเป็นอุปสรรคในการพัฒนาปัญญาขั้นสูงขึ้นไป

แต่ หากใช้วิธีอบรมปัญญา...”โดยไม่ต้องสนใจคุณธรรมความดี” การสอนที่มีเหตุผล ชี้ให้ดูตามความเป็นจริง ฝึกให้เขาคิดตามเหตุปัจจัย จะทำให้เขาใช้ชีวิตด้วยความรอบคอบ เปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น เอาใจเขามาใส่ใจตนตามความเป็นจริง ไม่หลงเชื่ออะไรง่าย มีอุปนิสัยรักความถูกต้อง คนที่มีปัญญาเช่นนี้ จะสามารถพัฒนาคุณธรรมทางใจเช่นความสงสาร ความกตัญญูเป็นต้นขึ้นมาได้เองโดยอัตโนมัติ ....... นี่เป็นข้อเสนอนะครับ ซึ่งเราอาจต้องเอาไปทบทวนดูอีกทีหนึ่ง หรือ แสดงความเห็นแย้งได้ครับ

เมื่อเธอต้องขับรถไฟ

เมื่อเธอต้องขับรถไฟ.....มีตัวอย่างที่ต้องอาศัยจริยธรรมในการตัดสินว่า ทำอย่างไรจึงจะถูก มานำเสนอกันเกลื่อนกลาด โดยเฉพาะเรื่อง “รถไฟราง” 

เป็นเรื่องของคนขับรถไฟ ที่ถึงทางแยกแล้วต้องเลือกว่าจะไปซ้ายหรือขวา โดยที่ทางซ้ายเป็นทางที่เลิกใช้ไปแล้ว มีหญ้าปกคลุม ชายคนหนึ่งจึงมานอนหลับอยู่บนรางนั้น ส่วนทางขวาเป็นทางที่ใช้แล่นตามปกติ บังเอิญวันนั้นมีเด็กสองคนมานอนหลับอยู่บนราง คนขับจึงต้องเลือกว่าจะเหยียบ 1 คนหรือ 2 คน
ปกติเรื่องนี้นำเสนอเพื่อให้นักศึกษาได้นำไปคิดและเลือกด้วยตัวเอง ช่วงหลัง พบว่า การนำเสนอเรื่องนี้มีเป้าหมายเพื่อชวนเชื่อหรือเลือกให้ไปแล้ว นั่นคือ บอกไปว่า เราควรเลือกที่จะฆ่าคนเพียง 1 คน เพื่อรักษาชีวิตของคน 2 คนไว้ ต่อให้เด็ก 2 คนนั้นผิด มานอนบนรางที่รถต้องวิ่งก็ตาม “ฉะนั้นในชีวิตจริง เราไม่จำเป็นต้องรักษากฎระเบียบเป็นหลัก สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงคือ ประโยชน์ที่จะตกแก่คนส่วนใหญ่ต่างหาก”

การอธิบายตามแนวคิดนี้เรียกว่า อรรถประโยชน์นิยม (Utilitarianism) มีคำอธิบายในพจนานุกรมดังนี้ครับ....doctrine that the useful is the good; especially as elaborated by Jeremy Bentham and James Mill; the aim was said to be the greatest happiness for the greatest number
กระผมไม่กล้าถกเรื่องแนวคิดนี้ เนื่องจากเกรงว่าตัวเองอาจไม่เข้าใจทฤษฎีของเยเรมีได้เพียงพอ อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ถูกปฏิเสธโดยนักปรัชญาอีกหลายคน เช่น จอห์น โรว์ (Rawls) เป็นต้น ด้วยเห็นว่า แนวคิดนี้มีความบกพร่องและอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มอำนาจต่างๆได้ เมื่อถกประเด็นทฤษฎีไม่ได้ จึงอยากนำตัวอย่างนี้มาตัดสินตามหลักบางอย่างของพุทธศาสนาครับ

1. ระหว่างการที่เราปล่อยให้รถไฟไปตามทางของมันซึ่งวิ่งอยู่เป็นประจำ(เป็นผล ให้ต้องเหยียบคน 2 คน) กับ การเลือกเลี้ยวซ้ายเพื่อเหยียบคนเพียงคนเดียว อย่างใดจะเรียกว่าเป็นเจตนาและนำไปสู่การทำปาณาติบาต?

2. การวัดคุณค่าว่า คน 2 คนมีค่ามากกว่าคนคนเดียว .... เราใช้อะไรเป็นเกณฑ์? ทั้งๆที่ คน 2 คนทำผิด (ด้วยการมานอนบนราง ทั้งที่รู้ว่ารางนั้นจะมีรถไฟวิ่งมา) และ คน 1 คนทำถูก

การนำเสนอเพื่อให้เชื่อว่า เราต้องเลือกรักษาผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ (ซึ่งอาจสอดคล้องกับปรากฎการณ์ทางการเมืองไทยในปัจจุบัน) จึงเป็นการนำเสนอเหตุผลเพียงด้านเดียว พอๆกับที่กระผมนำเสนอเหตุผลเพียงด้านเดียวเพื่อแย้งแนวคิดนี้ อย่างไรก็ตาม การอ้างเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ทำให้เราต้องตัดประโยชน์ของคนส่วนน้อยไปทั้งๆ ที่เขามีความชอบธรรม ซึ่งการปกครองแบบนี้สุดท้ายแล้วไม่ได้เป็นประชาธิปไตยภายใต้กฎหมาย แต่เป็นเผด็จการที่ครองอำนาจด้วยการอ้างคุณธรรมความดีและการทำเพื่อส่วนรวม ในทางตรงกันข้าม การทำตามกฎระเบียบซึ่งต่อให้ดูโหดร้าย (กับคนผิด) แต่อย่างน้อยสามารถรักษาสิทธิของคนที่ชอบธรรมได้ สังคมจะมีบรรทัดฐานในการตัดสินผิดถูกคน อย่างน้อย คนที่รักษากฎระเบียบจะถูกคุ้มครองโดยรัฐ ซึ่งหากเราเห็นว่ากฏระเบียบไม่ชอบธรรม สิ่งที่ต้องแก้ก็คือกฎระเบียบนั้น เมื่อแก้แล้วก็ปฏิบัติตามกฎนั้นต่อไป ในทางตรงกันข้าม การอ้างอิงเอาประโยชน์สุขของผู้คนส่วนใหญ่เป็นหลัก .... จะมีคำถามตามมามากมายว่า ใครคือคนส่วนใหญ่? สิ่งนั้นเป็นประโยชน์/สุขที่ชอบธรรมหรือไม่? รัฐจะคุ้มครองประชาชนที่เป็นคนดีซึ่งอาจเป็นคนส่วนน้อยได้หรือไม่? ฯลฯ

สิ่งที่พุทธวจนะนิยมควรทำเพิ่ม กรณีสวดปาติโมกข์ 150 ข้อ

สิ่งที่พุทธวจนะนิยมควรทำเพิ่ม........กรณีสวดปาติโมกข์ 150 ข้อ

อันนี้เป็นการแสดงความเห็นนะครับ ไม่มีลักษณะโจมตี หรือ เข้าข้างฝ่ายใด (ต่อให้มีเจตนาเช่นนั้นก็จะไม่แสดงออก อิอิ) เพียงแต่เห็นว่ามีประเด็นบางอย่างที่ต้องมาตกลงกันก่อน

ประการแรก คนที่ไม่ใช่พุทธวจนะนิยมก็ตกใจว่า ศีลของพระจะถูกตัดลดลง (ความเป็นพระก็จะหายไป) ให้เข้าใจว่า สำนักพุทธวจนะเขาไม่ได้ตัดทิ้งครับ ศีลข้อน้อยใหญ่พระก็ยังต้องสมาทานเหมือนเดิม ส่วน 150 ข้อนั้นเป็นแต่เพียงที่ต้องเอามาทบทวนเดือนละ 2 ครั้งในพิธีกรรมเท่านั้น เหตุที่ต้องตัดออกไป เพราะมีพุทธวจนะในพระสูตรกล่าวว่า มันมีแค่นั้นคับ..ฉะนั้นอย่าตื่นเต้นและเข้าใจให้ตรงนะคับ

ส่วนท่านที่เป็นพุทธวจนะนิยม ก็อย่าเพิ่งเข้าใจว่า ข้ออื่นๆ นอกจาก 150 ข้อนั้น เป็นสิ่งแปลกปลอม ไม่ใช่ตถาคตภาษิต แต่สาวกที่อกตัญญูแต่งยัดเข้ามาทีหลังหวังจะทำลายศาสนา อิอิ เพราะบรรดา เสขิยวัตร เป็นต้น (ที่ท่านเห็นว่าเป็นของปลอม) ก็เป็นธรรมเนียมที่พระต้องปฏิบัติอยู่แล้วครับ เช่น [วินัยปิฎก ปริวารวรรค ข้อ ๓๙๒] ภิกษุ คะนองมือ หรือเท้า นั่งในละแวกบ้าน ต้องอาบัติตัวหนึ่ง คือ ทุกกฏ เป็นต้น ฉะนั้น...อย่าเพิ่งตระหนกและคิดไปไกลขนาดศาสนาเสื่อมคับ อิอิ
สิ่งที่พุทธวจนะนิยมควรทำการบ้านเพิ่มคือ

1. ต้องแปลศัพท์ว่า สาธิกํ ให้ได้ว่า ครบถ้วน พอดี ไม่ขาดไม่เกิน.... สังเกตว่า หลายคนชอบเอาพระไตรปิฎกฉบับแปลต่างๆ มาอ้าง เพื่อแสดงว่า ข้อความตรงนี้แปลว่า....”150 ข้อ”...ฉะนั้น การสวดนอกเหนือจาก 150 ข้อจึงผิด อิอิ ประเด็นคือ “เราจะเอาฉบับแปลมายืนยันสักกี่ฉบับก็ไม่มีผล” แต่ต้องกลับไปดูภาษาบาลีคับ ซึ่งฝ่ายที่บอกว่าต้องเป็น 227 ท่านก็ให้เหตุผลโดยอ้างอิงไวยากรณ์ว่า ศัพท์นี้มาจาก สห+อธิกํ สห แปลว่า กับ/พร้อม/ด้วย ส่วน อธิกํ แปลว่า มากกว่า/เกิน รวมกันแล้ว มันจึงแปลว่า มากกว่า 150 ข้อ..ไม่ใช่ 150 ข้อถ้วนคับ

ซึ่งหากจะยืนยันว่ามี 150 ข้อถ้วน ท่านจะต้องหาทางแปล สาธิกํ ให้เป็นอย่างอื่นให้ได้ จะลองแนะนำนะครับ เช่น เมื่อราว2ปีที่แล้ว ท่านก็อ้างเหตุผลว่า สาธิกํ ที่ใช้ในพระไตรปิฎกส่วนใหญ่ จะแปลว่า ถ้วน/พอดี หากจะแปลมันว่ามากกว่า หรือ เกิน ภาษาบาลีมักใช้ อติเรกํ แทน ..... อันนี้ก็น่ารักฟังคับ แต่ต้องแสดงหลักฐานและคำอธิบายที่เป็นรูปธรรมกว่านี้ 

2. พุทธวจนะนิยม อาจต้องตัดเหตุผลเรื่อง “การสวด 227 ข้อจะทำให้ศาสนาเสื่อมทิ้งไป” เพียงเพราะไม่ตรงตามพุทธวจนะ อิอิ เพราะสิ่งที่ท่านสวดเกินกว่า 150 ข้อนั้น มิได้มีอะไรแปลกปลอมและส่งผลในทางลบเลย สิ่งที่จะทำให้ศาสนาเสื่อมคือ การบัญญัติ(กำหนด) สิ่งที่เป็นธรรมว่า ไม่ใช่ธรรม สิ่งเป็นวินัยว่าไม่ใช่วินัย เช่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า การรู้อริยสัจจะทำให้พ้นทุกข์ แล้วพระสาวกมาบอกว่า การรู้อริยสัจ ทำให้ตกนรกต่างหาก อิอิ กรณีของพระวินัย “พระพุทธเจ้าตรัสว่า การฆ่าสัตว์เป็นสิ่งไม่ดี ส่วนพระสาวกก็มาบัญญัติใหม่ว่า เป็นสิ่งที่ควรทำ ได้บุญมาก พระพุทธเจ้าตรัสห้ามไม่ให้พระจับตัวผู้หญิง สาวกมาสอนใหม่ว่าทำได้โดยไม่เป็นอาบัติ” ฯลฯ อันนี้แหละครับ ทำให้ศาสนาเสื่อม ซึ่งการสวด 227 ข้อ ไม่ส่อประเด็นนอกคอกแบบนี้เลย ยังเป็นการลงลึกในรายละเอียดเรื่องแนวปฏิบัติมากกว่าด้วยซ้ำ ฉะนั้น ในการถกเถียง อาจลองต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า ศาสนาเสื่อมคืออะไร ต้องทำอย่างไรเป็นต้นโดยการดูบริบท วิธีการปฏิบัติด้วย มิใช่มองตามตัวอักษรเท่านั้นคับ (การยกเหตุผลศาสนาเสื่อมนี้มาอ้าง ทำให้คนทั่วไปมองว่า พุทธวจนะนิยมงมงาย ไม่เข้าใจสาระของพุทธศาสนาคับ)

3. ข้อโต้แย้ง ซึ่งฝั่ง 227 มักนำมาใช้คือ ต่อให้แปลมันว่า 150 ข้อถ้วนแล้วก็จริง แต่พระสูตรที่ตรัสตอนนั้นไม่ใช่ตอนจะปรินิพพาน (ที่ตรัสเสร็จแล้วตาย) เพราะธรรมดาว่า พระพุทธเจ้าบัญญัติวินัยเพิ่มเรื่อยๆ สมัยแรกก็ไม่มีสิกขาบทเพราะพระสงฆ์ยังปฏิบัติตัวดี ไม่เป็นที่ติเตียนของชาวบ้าน เช่น พระโกณฑัญญะ บวชโดยไม่มีสิกขาบทสักข้อ อิอิ แต่พอพระสงฆ์มากขึ้น สิกขาบทก็เพิ่มขึ้น จึงต้องมีการเพิ่มเรื่อยๆ ... ซึ่งช่วงเวลาในการตรัสพระสูตรนั้น อยู่ในช่วงที่ สิกขาบทยังปรับขึ้นหรือลงอยู่ ...ข้อโต้แย้งนี้ พุทธวจนะนิยมก็ควรหาเหตุผลที่ดีกว่ามาแย้งให้ได้ครับ

อันนี้เป็นประเด็นที่ใช้ในการถกเถียงเพื่อให้ตรงกัน และ ยอมรับกันได้นะคับ ส่วนตัว ในทางปฏิบัติ กระผมเห็นด้วยกับการสวด 150 ข้อคับ..เพราะ พิธีกรรมจะได้เสร็จเร็ว ไม่ต้องนั่งนานให้ปวดขา อิอิ ที่สำคัญ การสวดเป็นภาษาบาลี พระส่วนใหญ่ฟังไม่รู้เรื่องอยู่แล้วคับ จึงเป็นการทำตามพิธีเท่านั้น (โดยที่เชื่อว่า ทำแล้วศาสนาจะไม่เสื่อม อิอิ) แต่อย่างไรก็ตาม การถกเถียงเพื่อให้ได้ข้อสรุปก็ยังน่าสนใจอยู่คับ เป็นกำลังใจให้พุทธวจนะนิยมทุกคนนะคับ...ออ ให้ฝ่าย 227 ด้วย อิอิ

เมื่อ ดร.มาถวายสังฆทาน

เมื่อ ดร.มาถวายสังฆทาน

ไม่นานมานี้ ดร. หน้าตาดีท่านหนึ่งซื้ออาหารมาถวายสังฆทานตอนเพล โชคไม่ดีที่ท่านมาช้าไปนิดหนึ่ง พระจึงลงมือฉันกันแล้ว พระจึงบอกให้ท่านนำของมาประเคนแล้วรอกรวดน้ำตอนฉันเสร็จ

ปรากฏว่า ท่านไม่สบายใจ เนื่องจากเชื่อว่า หากไม่ทำพิธีถวายสังฆทานก็จะไม่ได้บุญ ท่านนั่งมองพระด้วยความแปลกใจ อาตมาก็เข้าใจความรู้สึกของท่านดี เลยหันไปมองท่าน สายตาของเราทั้งสองก็สบกัน และสนทนาผ่านความรู้สึกด้วยประโยคสั้นๆดังนี้

ทำไมพวกแกไม่ทำพิธีถวายสังฆทานให้ฉันก่อนว่ะ ศาสตร์ ?
เค้าจะทำไงได้อะ ก็ตัวเองมาช้านิ และพระก็ลงมือฉันกันแล้วด้วย อิอิ

สุดท้ายท่านตัดสินใจลุกออกไปจากศาลา และซื้ออาหารชุดใหม่ไปถวายพระที่กุฏิรูปหนึ่งซึ่งทำหน้าที่รับสังฆทานอยู่เป็นประจำ พวกเราก็ฉันเสร็จพอดี ฝั่งโน้นก็ทำพิธีเสร็จและ ดร.กำลังเอาน้ำที่กรวดมาเทใต้ต้นไม้ .... แต่อย่างน้อย ท่านคงสบายใจขึ้นแล้ว และคงไม่คิดจะมาถวายสังฆทานกับพระที่ไม่ยอมทำพิธีให้ท่านอีก

อาตมามีโอกาสเจอ ดร.ท่านนี้อีกครั้งหนึ่งแบบซึ่งๆหน้า ซึ่งก็เตรียมตัวจะอธิบายเรื่องนี้อยู่แล้วหากมีโอกาส แต่ปรากฏว่า ท่านเดินสวนอาตมาไปโดยไม่มองหน้าอาตมาอีกเลย อิอิ (นี่...ตัวเองโกรธเค้าแล้วหอ?)

จึงอยากฝากผ่านคนที่มีโอกาสอ่านข้อความนี้เพื่อจะได้ทำความเข้าใจกับคนใกล้ชิด และพระสอนศีลธรรมที่สอนนักเรียนเรื่องการถวายสังฆทานเป็นต้นนะครับ ว่าเราจะสอนให้เขาท่องจำคำถวาย สอนวิธีประเคนของก็ไม่เป็นไร แต่อย่าลืมบอกเขาไปด้วยว่า....

เป้าหมายของ สังฆทาน อยู่ที่การเปิดโอกาสให้คนเสียสละวัตถุแบบเปิดใจกว้าง ไม่เจาะจงเฉพาะคนที่เรารักหรือศรัทธาเท่านั้น เราจะทำที่ไหน กับ ใครก็ได้เมื่อเห็นเขาต้องการความช่วยเหลือ หากเราสามารถบ่มเพาะจิตใจสาธารณะผ่านระบบสังฆทานได้ ก็จะทำให้เราช่วยเหลือสังคมในวงกว้างได้โดยไม่หวังอะไรตอบแทนครับ

อีกอย่างหนึ่ง พิธีกรรม ไม่สามารถใช้ความขลังกลั่นกรองวัตถุนั้นๆให้กลายเป็นบุญได้หรอกครับ เรื่องนี้พระพุทธเจ้าด่าพวกพราหมณ์ที่ชอบทำพิธีกรรมและหวังบุญมาตลอด แต่บุญจะเกิดผ่านจิตใจที่เป็นเมตตา ปรารถนาจะอนุเคราะห์คนอื่นให้มีชีวิตรอดและผาสุกโดยอัตโนมัติ บุญจึงสำเร็จตั้งแต่เขาปรารถนาดีและแบ่งปันข้าวของให้ผู้อื่นแล้วครับ มิต้องผ่านการจัดพิธีถวายฯ

เรื่องนี้น่าคิดนะครับว่า ตกลงการเรียนการสอนพุทธศาสนาตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยจะมีประโยชน์จริงหรือไม่ หากสอนให้เขาท่องจำบทสวด ฝึกประกอบพิธีกรรม โดยไม่เข้าใจหลักการพุทธศาสนา ที่สำคัญ เขาจะมองคนที่เชื่อไม่เหมือนเขาว่าเป็นคนชั่วไปเลย ขณะเดียวกัน เมื่อรังเกียจพระกลุ่มหนึ่ง ก็ผันตัวเองเข้ามาตกเป็นเหยื่อของพระอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งตนสามารถใช้ปลอบใจตัวเองว่า ตนได้เป็นคนดีแล้วเพียงแค่ได้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

สร้างข้อเรียกร้องทางจริยธรรมกับพระเครื่อง

สร้างข้อเรียกร้องทางจริยธรรมกับพระเครื่อง....

พูดเรื่องเจ้าแม่กวนอิมแล้ว ทำให้นึกต่อไปว่า ความจริงชาวพุทธเราน่าจะหันมาสนใจพระเครื่องแบบเป็นจริงเป็นจังสักทีนะครับ กระผมไม่มีเป้าหมายที่จะทำลายความเชื่อนี้อีกแล้ว เพราะคงเป็นไปไม่ได้แน่ แต่คิดว่ามีทางออกที่จะทำให้พระเครื่องมีคุณค่ามากขึ้น (ตามแนวคิดของท่าน ป.อ.ปยุตโต) คือ ผูกข้อเรียกร้องทางจริยธรรมกับองค์พระไว้ให้ได้

นั่นคือ ต่อจากนี้ พระเราก็ยังคงขายพระเครื่อง หรือทำพระเครื่องมาแจกกันได้ตามปกติ เพียงแต่อยากให้สนใจประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้รับมากกว่า ผลดลบันดาล ซึ่งทำให้เขางมงายและไม่ขวนขวายด้วยตนเอง วิธีง่ายๆคือ ทำพระออกมาแล้ว เราลองนึกคุณลักษณะพิเศษของหลวงพ่อองค์นั้นออกมาให้ได้ มิใช่แค่บอกว่า เอาไปแล้วจะรวย หรือปลอดภัย ... แต่มีข้อเรียกร้องที่เป็นเหตุ..ว่า โยมต้องทำอย่างไรจึงจะรวย หรือ ปลอดภัย เช่น

หากใครบูชาหลวงพ่อจันทร์ จะต้องเป็นคนไม่ลักทรัพย์ผู้อื่น แม้สิ่งนั้นมีราคาน้อยก็ไม่เอา หลวงพ่อจะคุ้มครองก็ต่อเมื่อเขารักษาสัจจะข้อนี้ได้

ใครบูชาหลวงพ่ออังคาร ต้องไม่สนใจลูกเมีย สามี คนอื่น มิใช่แค่ล่วงละเมิดทางเพศ แต่จะไม่แม้แต่พูดจาหยอกล้อ จีบ หรือ สร้างความสนิทสนมอย่างอื่น หากทำได้ หลวงพ่อจึงจะคุ้มครอง

ใครบูชาหลวงพ่อพุธ ต้องเลิกดื่มสุราและไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดทุกประเภท
ใครบูชาหลวงพ่อศุกร์ ต้องเป็นคนมีเมตตากรุณา ไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาตพยาบาท เป็นต้น

คราวนี้...หลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ของทุกวัด จะมีคติธรรมที่เรียกร้องใช้ชาวพุทธปฏิบัติตามด้วย เช่นถ้าพูดถึงหลวงพ่ออาทิตย์คนละแวกนั้นก็จะทราบว่า ท่านอยากให้เราเป็นคนขยัน อดออม ไม่เล่นการพนัน หลวงพ่อเสาร์...อยากให้เราไม่พูดโกหก เป็นต้น ซึ่งท่านจะรังเกียจคนที่ไม่ทำตามคำสอนท่าน โดยจะลงโทษด้วยการไม่ให้ความช่วยเหลือหากเราตกทุกข์ฯลฯ

ถ้าทุกองค์มีข้อเรียกร้องทางจริยธรรมแบบนี้ ชาวพุทธอาจห้อยพระเพียงแค่องค์เดียว และจะพยายามฝึกตนเองให้มีคุณธรรมข้อนั้นตามมาด้วย ซึ่งการทำก็ไม่ยากครับ “เพียงแค่พูดให้ชาวบ้านที่มารับพระเครื่องไปฟังว่า หลวงพ่อท่านเด่นทางด้านนี้ ใครอยากให้หลวงพ่อคุ้มครอง ต้องรักษา คุณธรรมข้อนี้ๆ...ตลอดชีวิต”

หรือใครที่ผลิตพระพุทธเจ้ามา อาจกำหนดศีลทั้ง ๕ ข้อไปเลยก็ได้ กรณีที่เขาบกพร่อง ก้าวล่วงสัจจะข้อนั้น เราอาจบอกให้ต้องเริ่มต้นใหม่ด้วยการรักษาศีล ๕ อย่างเคร่งครัด หรือ เข้าปฏิบัติวิปัสสนาเป็นเวลาสามวันก็ได้ อิอิ อย่าไปคิดว่าไม่มีผลนะครับ เราช่วยกันปลูกฝังคติแบบนี้ ชาวพุทธจะสามารถเพิ่มคุณธรรมเขาขึ้นมาได้ผ่านพระเครื่องที่เขาบูชาแน่ๆ (ต่อให้ไม่ร้อยเปอร์เซนแต่ก็) ดีกว่าการขาย/ให้ไปโดยไม่มีข้อเรียกร้องทางจริยธรรมเลย

อยากฝากอันนี้ให้ลองนำไปใช้นะครับ กระผมไม่ทราบว่า การใช้พระเครื่องเป็นบันใดจูงเขาเพื่อการพัฒนาตนเองจะผิดหลักการพุทธศาสนาหรือไม่ แต่หากอ้างตามปรัชญาแนว อัตถประโยชน์นิยม (Utilitarianism) คิดว่าอันนี้มีประโยชน์แน่ๆครับ

บูชาเจ้าแม่กวนอิม

บูชาเจ้าแม่กวนอิม........
ฟังการบรรยายธรรมจากหลวงพ่อมหายานท่านหนึ่ง...วัดธรรมปัญญา บางม่วง อ.สามพราน จ.นครปฐม ท่านพูดถึงความเป็นมาและพัฒนาการของการบูชาเจ้าแม่กวนอิมอย่างน่าสนใจ

นั่นคือ คนทั่วไปจะมองว่า พุทธศาสนามหายานมีความงมงาย ไม่สอนให้ชาวพุทธเกิดปัญญาพึ่งตนเองได้เหมือนเถรวาท ที่มักเชื่อกันว่า ยึดตามพระไตรปิฎก ความจริง การเกิดเจ้าแม่กวนอิม เพราะต้องการตอบสนองความเชื่อพื้นฐานของมนุษย์นั่นเอง กล่าวคือ ต้องการที่พึ่งทางใจ

ท่านเล่าว่า ต่อให้ไม่มีเจ้าแม่กวนอิม คนก็หวังพึ่งสิ่งอื่นอยู่แล้ว เช่น กราบไหว้จอมปลวก ต้นไม้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ มหายานได้มองเห็นจุดอ่อนของมนุษย์ในข้อนี้ และยอมรับความเป็นจริงของโลก มิใช่มองแต่อุดมคติ เจ้าแม่กวนอิมจึงเกิดขึ้นเพื่อให้คนได้เคารพบูชาและเติมเต็มความต้องการทางจิตใจนี้เอง

แท้จริง เจ้าแม่กวนอิมเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งมหายานก็ยอมรับพระพุทธเจ้าศรีศากยมุนี (สิทธัตถะ) เช่นกัน การไม่ให้ผู้คนบูชาหวังพึ่งพระพุทธเจ้าด้วยเหตุผลว่าพระองค์อยู่ห่างไกลจากมนุษย์ แต่พระโพธิสัตว์กวนอิม ซึ่งเป็นลูกศิษย์ยังเป็นเทพที่ใกล้ชิดมนุษย์มากกว่า โดยจะสามารถช่วยเหลือเมื่อมนุษย์หมดกำลังใจและประสบปัญหาที่ไร้ทางออกได้

กระนั้นมิได้หมายความว่า การบูชาเจ้าแม่กวนอิมจะเป็นเรื่องงมงายแบบไร้สาระ เพราะธรรมดา ผู้ที่สมาทานตนเองเป็นลูกศิษย์พระแม่กวนอิม จะต้องรับเอาคุณธรรม คือความเมตตากรุณาไปปฏิบัติในชีวิตจริงด้วย นั่นคือ หากทุกคนบูชาเจ้าแม่กวนอิมและสมาทานเอาวัตรข้อนี้ไป สังคมจะสงบสุขเป็นแน่ ซึ่งต่างจากการที่ชาวพุทธหลายคนกราบไหว้พระพุทธรูป หรือ พระเครื่อง เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ ดลบันดาลโดยไม่มีข้อเรียกร้องทางจริยธรรม ให้พัฒนาตัวเองอะไรเลย

ท่านเล่าต่อว่า ชาวพุทธมหายานในไทยส่วนใหญ่เป็นคนจีน อุปนิสัยของคนเหล่านี้คือขยันหมั่นเพียร ฉะนั้น ต่อให้บูชาเจ้าแม่กวนอิม ก็ไม่มัวแต่รอหวังผลดลบันดาลแน่ๆ แต่จะดิ้นรน อดทน ขวนขวายด้วยตนเอง การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถือเป็นกิจวัตรอย่างหนึ่งเพื่อสร้างกำลังใจโดยจะไม่ละทิ้งความพยายามของมนุษย์และคุณธรรมที่เจ้าแม่กวนอิมบำเพ็ญคือ เมตตากรุณาต่อสัพพสัตว์

กวนอิม หรือ อวโลกิเตศวร เป็นพระโพธิสัตว์ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นตั้งแต่ยุคมหายานในอินเดีย เมื่อถึงประเทศจีน คนจีนได้นำเรื่องเล่าขององค์หญิงเมี่ยวซานซึ่งเป็นคนท้องถิ่น มีวัตรปฏิบัติที่ต่างจากคนทั่วไป คือเสียสละ และเมตตากรุณา เรื่องราวขององค์หญิงจึงถูกนำไปโยงกับแนวคิดพระโพธิสัตว์ ปรากฏการณ์นี้จึงเป็นการทำความเชื่อต่างถิ่นให้กลายเป็นของท้องถิ่น (Localization)

สรุปคือ การเลิกอ้อนวอนพระพุทธเจ้า ไม่บูชาท่านในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ถอยมาบูชาเจ้าแม่กวนอิมซึ่งถือเป็นพระโพธิสัตว์แทน ทำให้พระพุทธเจ้าไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของการให้ผลดลบันดาล หากมองด้วยใจเป็นธรรม ถือว่า มหายานได้รักษาเกียรติพระพุทธเจ้าไว้มาก โดยผลิตเทพองค์อื่นขึ้นมารับหน้าที่นั้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ทั่วไป อีกกรณีหนึ่ง การบูชาที่ต้องมาพร้อมกับ ข้อเรียกร้องทางจริยธรรม คือมิใช่แค่หวังพึ่งแล้วจะสำเร็จ แต่ตนต้องบำเพ็ญบารมีหรือคุณธรรมนั้นๆด้วย เท่ากับเป็นการใช้เทพ ดึงมนุษย์ขึ้นสู่การพัฒนาจิตใจตนเองและช่วยเหลือสังคมมากขึ้น อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งตนเองและส่วนรวมได้

สรุปอีกทีว่า....หลวงพ่อท่านนี้ พูดดีมากครับ อิอิอิ

สื่อมวลชน ทำลายศาสนา

สื่อมวลชน ทำลายศาสนา......ชาวพุทธส่วนใหญ่ทั้งพระและฆราวาส จะมองว่า สื่อที่นำเสนอข่าวด้านลบของพระ หรือ พุทธศาสนา มีเจตนาต้องการทำลายศาสนาพุทธในเมืองไทย บ้างก็คิดไกลไปถึงขั้นที่ว่า สื่อพวกนี้ได้รับเงินมาจากชาวมุสลิมหรือคริสต์ (อันนี้ฟังจากการแสดงความเห็นที่ดูเป็นจริงเป็นจัง จากพระที่เรียนมหาวิทยาลัยสงฆ์ครับ .... น่าคิดเหมือนกันว่า ทำไมคนที่ผ่านมหาวิทยาลัยสงฆ์ จะถูกปลูกฝังแนวคิดนี้มาเกือบหมดเลย อิอิ)

เพราะชาวพุทธจะมองว่า สิ่งที่สื่อนำเสนอมักเป็นเรื่องลบ ไฉนไม่เอาวัตรปฏิบัติดีๆมานำเสนอบ้าง เช่น พระเณรกำลังเรียนหนังสือ กำลังกวาดขยะ ฯลฯ ตอบง่ายนิดเดียวครับ ว่า การนำเสนอข่าว จะต้องเป็นประเด็นร้อน ที่แปลกใหม่ เพื่อตีแผ่สิ่งที่คนยังไม่ทราบ การนำภาพพระกวาดขยะไปลงข่าวหนังสือพิมพ์ เป็นเรื่องที่ไม่ก่อให้เกิดความรู้ใหม่ครับ คิดว่าเหตุผลง่ายๆ นี้เราน่าจะเข้าใจได้นะ ถ้าเรายังมองสื่อในแง่ลบอยู่ โดยเชื่อว่าพวกเขาจะไม่นำเสนอข่าวดีๆได้ ท่านลองท่องจำพระไตรปิฎกทั้ง 45 เล่มให้ได้สิคับ รับรองว่า หนังสือพิมพ์ทุกฉบับต้องลงข่าวท่านแน่ๆ อิอิ

การนำเสนอเรื่องไม่ดี ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมาก นั่นคือทำให้คนพุทธได้ตื่นตัว ไม่ตกเป็นเครื่องมือพระ เช่นโยมผู้หญิงที่เข้าไปดูดวง ถวายสังฆทาน สักน้ำมันกับพระสองต่อสองแล้วถูกข่มขืน เณรน้อยที่ถูกหลวงพ่อ กระทำชำเราฯลฯ อย่างน้อยสังคมจะได้เปลี่ยนทัศนะคติว่า การบวชไม่ได้ทำให้คนวิเศษ ไม่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้ เพราะคนส่วนใหญ่มักจะนำลูกที่ติดยาเสพติดไปบวช (อยู่วัดแล้วเสพง่ายขึ้น ตำรวจไม่จับ เจ้าอาวาสก็ไม่ไล่ออก เพราะการมีพระจำนวนมากๆในวัดนำผลประโยชน์บางอย่างมาให้ตน) ลูกกำลังจะเป็นกระเทย ก็พาไปบวช เพื่อให้ได้อยู่แต่กับพระเณรที่เป็นสังคมผู้ชาย (คิดได้รอบคอบจริงๆ) อิอิ สรุปคือ ข่าวช่วยทำให้เราตาสว่างขึ้นครับ ไม่อยู่กับการหลอกตัวเองว่าวัดเป็นสังคมพระศรีอาริย์ (Utopian Dream)

หากไม่อยากให้สื่อนำเสนอข้อมูลด้านลบ สิ่งที่เราควรทำคือ เราเองต้องไม่ประพฤติตัวแย่ ไม่ใช่ขอร้องให้มีกฎหมายคุ้มครองตัวเอง ขอไม่ให้สื่อมวลชนมาทำข่าวพระสงฆ์ วิธีแก้ง่ายนิดเดียวครับ นั่นคือ ท่านเลิกมีเมีย เลิกกินเหล้า เลิกเล่นการพนัน เลิกหลอกหาเงินจากชาวบ้าน เลิกไขว่คว้าเรื่องยศตำแหน่ง แค่นี้ สื่อมวลชนก็ไม่มีข่าวร้ายๆ ของพระไปเผยแพร่แล้วคับ อิอิ นี่เป็นวิธีแก้ปัญหาแบบประชาธิปไตยนะครับ ซึ่งเราไม่ควรใช้วิธีเผด็จการอำนาจนิยม อิอิ

สรุปคือ เราควรเป็นกำลังใจให้สื่อมวลชนครับ มีอะไรก็นำเสนอไปตามนั้น ต่อให้เสนอเกินความจริงไปบ้าง ก็ยังเกิดประโยชน์ เพราะช่วยให้สังคมตื่นรู้มากขึ้น หากเสนอข่าวที่ไม่เป็นความจริง สื่อก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ ตามฐานะ นี่เป็นสิ่งที่เราควรส่งเสริมครับ มิใช่ช่วยกันรณรงค์ให้ยุบสื่อหรือให้เลิกนำเสนอข่าว

หากบางท่านยังมองว่า สื่อทำลายศรัทธาปสาทะของคนมีต่อศาสนา.... เรื่องนี้ พุทธศาสนาสอนศรัทธาที่มาคู่กับปัญญาครับ ไม่ให้เราเชื่ออะไรง่ายอยู่แล้ว หากเราคิดจะศรัทธาพระแบบไม่ลืมหูลืมตา เราก็ผิดตั้งแต่ต้น (เพราะไม่เกิดประโยชน์ในการพัฒนาตัวเอง)กรณีที่เรารู้จักแยกแยะ พิสูจน์ความจริง ศรัทธาด้วยเหตุผล การนำเสนอข่าวพระชั่วไม่กี่คน ไม่สามารถทำลายศรัทธาชาวบ้านที่ฉลาดได้หรอกครับ (และพระชั่วเหล่านั้น ก็ไม่ได้เป็นที่ศรัทธาของปัญญาชนเหล่านี้อยู่แล้ว จึงไม่ได้ทำลายศรัทธาแต่อย่างใด) เราไม่จำเป็นต้องมีพระจำนวนมากๆ เพื่อไว้เป็นสรณะ ให้บ้านเมืองยึดเหนี่ยวหรอกครับ อิอิ ปัจจุบันเป็นยุคของประชาธิปไตย มิใช่ลัทธิบูชาตัวบุคคล อยากเข้าถึงศาสนา เราก็ไม่จำเป็นต้องไปกราบเท้าใครให้เขาเสกกระหม่อมอีกต่อไป ขอแนะนำให้ไปซื้อพระไตรปิฎกฉบับประชาชน (มหามกุฏราชวิทยาลัย) เล่มละ 500 บาท มาไว้ประจำบ้านและศึกษาให้เข้าใจครับ อันนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ชาวพุทธควรทำ และก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมาก.....กว่าการสุมหัวกับพระแล้วนั่งด่า สรยุทธ์ อิอิอิ

จงทิ้งความกตัญญูเสียเถอะ

จงทิ้งความกตัญญูเสียเถอะ....วันนี้เป็นวันแม่ ทุกคนพูดถึงความกตัญญูกตเวที กระผมตื่นนอนตอนเช้า ตั้งใจจะอ่านหนังสือ แต่ก็ถูกรบกวนด้วยเสียงเพลงวันแม่ ที่ผู้คนใกล้ๆเปิดจนดังมาก และมีแนวโน้มว่าจะเปิดไปทั้งวัน ..... เราจะตัดสินอย่างไรกับปรากฎการณ์นี้ ระหว่าง “ชาวบ้านคนนั้นอยากแสดงความรักแม่ ความกตัญญูจนไม่รู้จักกาละเทศะ” หรือ “กระผมเองไม่รู้จักกาละเทศะว่า วันนี้เป็นวันพิเศษอย่างไร ซึ่งควรอนุโลมแก่คนที่มีความกตัญญู”

สังเกตว่า เราให้ความสำคัญกับคุณธรรมจริยธรรมมากจนมองข้ามความถูกต้องและการเคารพสิทธิคนอื่นไปแล้ว เป็นความจริงว่า คุณธรรมที่เป็นความรู้สึก/ความเชื่อลึกๆข้างในของคน จะทำให้เขามองอะไรไม่ชัด ไม่ต่างจากคนถูกความรักครอบงำ เด็กที่ร้องไห้เพราะซาบซึ้งพระคุณแม่...ส่วนมากจะเป็นลักษณะพูดหว่านล้อมให้เชื่อ มากกว่าการมีปัญญามองเห็นมันตามความเป็นจริง (ลองไปสังเกตในงานอบรมคุณธรรมจริยธรรมครับ) กระผมไม่ได้บอกว่าคุณธรรมเป็นสิ่งชั่วร้าย เพราะมนุษย์มีมิติด้านอารมณ์ด้วย (แยกต่างจากมิติทางปัญญา) การอบรมมนุษย์จึงต้องละทิ้งมิติในแง่นี้ไปไม่ได้ เพียงแต่อยากชี้ให้เห็นว่า การเน้นแต่มิตินี้ จะปิดทาง ทำให้คนก้าวไปไม่ถึงอีกมิติหนึ่งคือ ปัญญาครับ

ทุกคนถูกเรียกร้องให้กตัญญู คำถามคือกตัญญูคือ? หากคนนั้นทำผิดเราจะทำอย่างไร? เราลองมาตัดสินเหตุการณ์นี้ดู
1. หากพ่อแม่เราเป็นคนชั่ว เราต้องทำตามคำสั่งนั้นหรือไม่? (ซึ่งพระสอนว่า คำของพ่อแม่มีค่าทุกคำ และ ลูกต้องเชื่อฟัง)

2. พระอุปัชฌาย์ (ที่ถือเป็นแม่คนที่สอง) หากท่านไม่เคารพธรรม วินัย ไม่รู้ธรรมะ เราจะต้องทำตามคำสั่งท่านหรือไม่?

3. หัวหน้าในที่ทำงาน หากท่านเป็นคนไม่ดี ทุจริต คดโกง เราจะต้องกตัญญูกตเวทีต่อท่านอย่างไร?
น่าตั้งข้อสังเกตว่า...ทำไมไม่มีคนสอนเราถึงทางออก หากต้องเผชิญกับกรณีพิเศษเหล่านี้ .... ที่ยิ่งกว่านั้น ยังบอกว่า หากเราไม่เชื่อฟังเขา เราต้องกลายเป็นคนชั่วที่อกตัญญู เราลองมาดูแนวคิดของอิสลามครับ

ศาสนาอิสลามสอนว่า “สวรรค์อยู่ใต้เท้ามารดา”...หมายถึง เราจะขึ้นสวรรค์ได้ก็ต่อเมื่อปรนนิบัติมารดา (รวมทั้งบิดา) แต่กรณีที่ถึงเวลานมัสการพระเจ้า แม่อยากชวนเราไปเที่ยวห้าง เล่นการพนัน...สิ่งที่เราต้องทำคือ เชื่ออัลเลาะห์ ไม่ใช่เชื่อมารดา

ตัวอย่างนี้ชี้ชัดว่า เราถูกปลูกฝังคุณธรรมเพื่อให้เป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนงาน ให้รักคนบางคนโดยไม่ต้องตั้งคำถาม ที่สำคัญ คุณธรรมนั้นจะไม่สามารถพัฒนาชีวิตเราและพัฒนาสังคมให้ก้าวไปสู่มิติแห่งปัญญาได้

เรามักเห็นว่า เด็กรักพ่อแม่มาก..อยากซื้อของไปให้ท่าน แต่ขณะจ่ายเงิน ก็แซงคิวคนอื่นๆ, รักพระ/ศาสนามาก อยากทำบุญ เอาของไปถวายท่าน ยอมสละเงินหมดตัว แต่ไม่เห็นหัวคนจนๆข้างบ้าน,หรือทำบุญกรวดน้ำทุกวันแต่ไม่สามารถให้อภัยใครได้เลยฯลฯ ตกลง คุณธรรมทำให้สังคมเราดีขึ้นจริงหรือ?

การพัฒนาปัญญา คือการชี้ให้เขาเห็นความสำคัญของคนอื่นๆ ตามความเป็นจริง ฝึกให้เขามองปรากฎการณ์ให้ทะลุ เห็นเหตุ และผลของสิ่งนั้น เขาจะไม่ถูกครอบงำด้วยอารมณ์ความรู้สึกข้างใน เพราะจะต้องตัดสินมันด้วยเหตุผลและปัญญา ไม่ผูกพันอยู่กับสิ่งใดจนถอนไม่ขึ้น แต่พร้อมจะเปลี่ยนทัศนะตัวเองตลอดเมื่อเห็นว่าสิ่งอื่นถูกต้องและ เป็นประโยชน์กว่า เราไม่ต้องกลัวว่า หากสอนให้เด็กมีปัญญา รู้จักคิดตั้งคำถาม สาวเหตุสาวผล แล้วเขาจะขาดจริยธรรม ไม่เลี้ยงดูพ่อแม่ ในทางตรงกันข้าม เขาจะมองเห็นว่า พ่อแม่มีบุญคุณกับเขาแค่ไหน อย่างไร (มองเห็นตามความเป็นจริงด้วย ไม่ใช่มองในกรอบที่พระวิทยากรล้างสมองมา เช่น..พ่อแม่รักลูกเท่ากันทุกคน ทุกสิ่งที่พ่อแม่ทำก็เพื่อประโยชน์ของลูก....ไม่มีพ่อแม่คนใดเป็นคนชั่วฯลฯ) เขาควรตอบแทนท่านอย่างไรดีเพื่อจะให้เหมาะสมแก่สถานภาพ ที่ยิ่งกว่านั้น เขาจะมองเห็นคุณค่าของคนและวัตถุอื่นๆ เช่น เมื่อใช้ชีวิตด้วยความรู้ (ไม่ใช่อารมณ์) ก่อนซื้ออะไรเขาจะพิจารณาถึงคุณค่า ราคาและความจำเป็นของสิ่งนั้น ไม่ใช้เงินฟุ่มเฟือย ไม่รบกวนพ่อแม่...ซึ่งต่างจากคนที่ถูกฝึกแต่ด้านอารมณ์ เมื่อต้องเผชิญกับสิ่งที่ตนไม่ถูกบอกให้เชื่อมา ก็มีท่าทีต่อสิ่งนั้นไม่ถูก สุดท้ายต้องตกเป็นเหยื่อคนอื่น หลายครั้ง....เอาความคิดตัวเองไปมองคนที่เชื่อไม่เหมือนตนว่าเลวร้าย อกตัญญู โดยไม่ตั้งคำถามถึงความถูกผิดและประโยชน์

กระผมจึงอยากสรุปว่า แท้จริงแล้ว เราอาจไม่จำเป็นต้องบอกตัวเองว่าเป็นคนมีคุณธรรม จริยธรรม หรือต้องแสดงมันให้คนอื่นได้รับรู้โดยลืมตั้งคำถามต่อความถูกต้อง เพียงแต่เราฝึกให้เป็นคนมีปัญญา มองเห็นประโยชน์และโทษ รู้สถานะตนเอง ให้ความเคารพต่อสิทธิผู้อื่น ถ้าเรามีปัญญาที่จะมองเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆได้ ปัญญาจะบอกเราเองว่าเราควรกระทำต่อสิ่งนั้นอย่างไร เราจะดูแลคนที่มีบุญคุณต่อเราอย่างไร ใช้ชีวิตอย่างไรในสังคมที่เอาเปรียบเรา ฯลฯ การกระทำที่เกิดจากปัญญา จะไม่มัดใจเราให้ผูกติดเยื่อไยเหมือนกับความรู้สึกที่เกิดจากคุณธรรม อารมณ์ ความรัก และอาจง่ายต่อการทำตนให้พ้นทุกข์ตาม หลักพุทธศาสนาอีกด้วย .... นั่นคือ เราพัฒนาปัญญาให้ได้ ความกตัญญูกตเวทีจะตามมาเอง และทำงานประสานกันอย่างเหมาะสม แต่หากเน้นคุณธรรมความกตัญญูเป็นหลักผ่านการล้างสมอง โฆษณาชวนเชื่อ จะทำให้คนก้าวไปไม่ถึงปัญญาและต้องใช้ชีวิตตามความรู้สึกครับ

แสดงความเห็นโดยไม่ต้องเกรงใจนะครับ...ขอเพียงให้แสดงเหตุผลที่ดีด้วย ไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึกคับ เพราะคนอื่นอาจรู้สึกไม่เหมือนท่าน อิอิอิ

มีวันนี้เพราะแม่ให้

มีวันนี้เพราะแม่ให้......แม่นำเงินมาถวาย 1,000 บาท ปกติจะปฏิเสธแต่วันนี้ไม่..เนื่องจากเห็นว่าเป็นวันแม่แห่งชาติ อยากเปิดโอกาสให้แม่ได้ทำหน้าที่แม่ที่ดีบ้าง อิอิอิ

หนูต้องขอโทษจริงๆ ที่แม้โตแล้ว ก็ยังต้องให้แม่ส่งเสียทุกเดือน แต่โดยเฉลี่ยเพียงเดือนละหนึ่งพันบาท คงไม่รบกวนแม่มาก หนูไม่เคยคิดจะไปหางานทำเพื่อให้ได้เงินเป็นหมื่น เพราะเห็นว่าไม่จำเป็น เงินหนึ่งพันบาทก็พอประทังชีวิตอยู่ได้ ทั้งค่าเดินทางและค่าถ่ายเอกสาร หนังสือที่อ่านก็ยืมฟรีจากห้องสมุด ฉะนั้นจึงไม่ควรเอาเวลาที่มีไปแลกกับการต้องทำงาน หาเงิน จนไม่มีเวลาเพียงพอให้ตัวเอง ขณะเดียวกัน แม่เองก็พอมีเงินอยู่แล้ว ต่อให้ไม่ได้รับเงินจากหนูแม่ก็อยู่ได้

หนูจึงไม่มีอะไรตอบแทนแม่ได้เลย ไม่เคยคิดจะล้างเท้าแม่ กราบเท้าแม่ หรือซักผ้าให้แม่...ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ได้โปรดทำเองเถอะนะ หากไม่ไหวก็ขอให้พ่อและพี่สาวช่วยเถอะ อิอิ เพียงแต่ขอสัญญาในฐานะพระ...ว่า

1. ต่อให้หนูมีโอกาสเลี้ยงดู อุปัฏฐากตอนแม่ป่วย/แก่ชราจริงๆ หนูจะไม่ถ่ายรูปตอนหนูเช็ดตัวให้แม่ เข็ญรถพาแม่ชมสวน ออกเผยแพร่ในเฟสบุคเหมือนที่หลายคนชอบทำเด็ดขาด อิอิ

2. หนูจะพยายามอย่างถึงที่สุด เพื่อจะไม่หลอกเอาเงินจากญาติโยมทั้งในทางตรงและทางอ้อม ในฐานะผู้ทรงอาคมศักดิ์สิทธิ์ และ ผู้ทรงคุณธรรมที่จะหล่อหลอมให้สังคมมีความสุข เชื่อลึกๆว่า แม่อาจภาคภูมิใจในพฤติกรรมข้อนี้ของหนูได้....หมายเหตุ...สัญญาข้อนี้จะสิ้นสุดลงทันที เมื่อแม่เลิกส่งเงินให้หนูเดือนละพัน เพราะธรรมดามนุษย์ต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดตามทฤษฎีวิวัฒนาการ อิอิ

สุดท้าย หนูรู้สึกโชคไม่ดีนักที่แม่คลอดหนู มาให้อยู่บนโลกนี้ ในท่ามกลางผู้คนที่หลากหลาย ทั้งคนดี คนชั่ว คนเจตนาดี และตอแหล แต่หากแม่ไม่คลอดหนู แล้วอีด่างเลือกทำหน้าที่นี้แทน หนูก็คงลำบากมากกว่านี้ เป้าหมายอย่างเดียวที่อยากทำเพื่อแม่คือ ให้แม่มีโอกาสได้พัฒนาสติ สัมปชัญญะ และพอกพูนปัญญาตัวเอง จนสามารถพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวงได้คับ จึงมีความปรารถนาอย่างยิ่งว่า หากเราทั้งสองคนต้องตายจากกันไป ก็ขอให้อย่าได้ผุดได้เกิดกันอีกเลยนะ

ปล.หนูรักแม่เหมือนเดิมครับ อิอิอิ

ช่างโชคดีเหลือเกิน ที่ผมนับถือศาสนาอิสลาม

ช่างโชคดีเหลือเกิน ที่ผมนับถือศาสนาอิสลาม.....เดือน รอมาฎอนนี้ มุสลิมที่คุ้ยเคยกันท่านหนึ่งพูดให้ฟังว่า ผมโชคดีเหลือเกินคับหลวงพี่ ที่เป็นมุสลิม คนมีรายได้น้อยอย่างผม ค่าผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ค่าเล่าเรียนลูกและค่าอาหารประจำวันก็หมดพอดีครับ แทบไม่มีเงินเก็บ เหตุที่พอดีเพราะผมเป็นมุสลิมคั

1. ไม่ต้องจ่ายเงิน ใส่ซองในงานศพคนรู้จัก เพราะประเพณีมุสลิมเราทำกันวันเดียวจบ ยิ่งงานที่อยู่ไกลก็ไม่ต้องไปครับ เพราะไม่ทัน แต่โดยสรุป เราไม่เน้นเรื่องเงินครับ ซึ่งต่างจากคนพุทธ แถมในงานศพก็มีการละเล่นร้องเพลงอย่างสนุกสนาน เล่นการพนัน เลี้ยงเหล้า ซึ่งมุสลิมทำไม่ได้ครับ รวมทั้งการต้องบริจาคเงินสมทบกฐิน ผ้าป่า ที่วางเกลื่อนในทุกที่...โชคดีที่ผมเป็นมุสลิม ไม่ทำเพื่อนก็ไม่ว่าอะไรคับฯลฯ

2. เรานับถือพระเจ้าองค์เดียว บูชาท่านก็ไม่ต้องใช้ดอกไม้ ธูปเทียนอะไรเลย ต่างจากคนพุทธที่ต้องจ่ายเงินกับของเหล่านี้ บางคนต้องซื้อหิ้งพระ เช่าพระตามวัดต่างๆ เป็นประจำ จะออกรถก็ต้องไปหาฤกษ์ยามและพาไปให้พระเจิม ซึ่งก็ต้องจ่ายเงินอีก ถ้าผมเป็นคนพุทธ เงินเดือนผมไม่พอแน่ๆครับ

3. คนพุทธบวชแค่ครั้งเดียว สึกออกมาแล้วจะทำตัวอย่างไรก็ได้ เพราะถือว่าได้บุญไปแล้ว แถมการบวชยังเอาเปรียบผู้หญิงอีก กันไม่ให้ผู้หญิงได้บวช ส่วนมุสลิมเรา หญิงชายเท่ากันครับ และต้องบวชในเดือนรอมาฎอนทุกปีจนตาย เพื่อได้ถือศีล ใช้ชีวิตแบบสมถะ เข้าใจความรู้สึกว่าคนจน คนหิวโหยเป็นอย่างไร จะได้เมตตาและช่วยเหลือเขาครับ

4. สถานศักดิ์สิทธิของคนพุทธมีเต็มไปหมด ทั้งรอยเท้าพระพุทธเจ้า รอยเท้าอรหันต์ วัดนั้นก็บอกว่าตัวมีพระธาตุ ต้องไปกราบไหว้บูชากันไม่จบไม่สิ้น ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ จ่ายเงินก็เยอะ ส่วนมุสลิม มีเมกกะที่เดียวครับ และห้ามไม่ให้มีการจำลองสร้างในที่อื่นด้วย ปกติในชีวิตหนึ่งก็ไปกันครั้งเดียวครับ ส่วนคนที่เงินไม่พออย่างผม ศาสนาก็อนุโลมไว้ว่าไม่เป็นไร สรุปคือ ผมอยู่ได้อย่างผาสุกเพราะศาสนาอิสลามคับ

5. ผมว่า...หากจะเอาวิถีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาใช้ ก็ต้องนับถือศาสนาอิสลาม เพราะวิถีมุสลิมเท่านั้นแหละครับที่จะอยู่แบบไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หลงงมงายไปทั้งกับความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่หลากหลายและวัตถุนิยมในปัจจุบันครับ

อาตมาเชื่อว่า....โยมคนนี้ไม่ได้ตั้งใจจะดูหมิ่นศาสนาไรเลยเลย เขาเพียงแต่ต้องการเล่าวิถีชีวิตตัวเองซึ่งเป็นมุสลิมและเห็นว่า ตนใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้เพราะอิสลาม...ซึ่งก็จริงครับ อิอิ อาตมาฟังแล้วไม่รู้จะพูดอย่างไรเลย ได้แต่บอกโยมแกไปนิดเดียวว่า อาตมาเห็นด้วยกับโยมอย่างมากเลย อยากให้ชาวพุทธหันมาใช้ชีวิตแบบโยมจัง...ออ ส่วนกรณีที่โยมยกมาทั้งหมดนั้น ไม่มีในหลักปฏิบัติของศาสนาพุทธหรอกครับ ไม่ทราบเหมือนกันว่าเขาไปเอามาจากไหน อิอิ

จดหมายถึง พระคุณเจ้าทุกรูปที่ชอบขอเงินจากญาติโยม

จดหมายถึง.....พระคุณเจ้าทุกรูปที่ชอบขอเงินจากญาติโยม

กระผมขอเขียนจดหมายฉบับนี้ด้วยความรู้สึกสะเทือนในและอับอายแทนในฐานะพระภิกษุรูปหนึ่งนะครับ เนื่องจากเห็นหลายวัด หลายท่านชอบใช้วิธีหาเงินในหลายรูปแบบ โดยไม่คำนึงถึงชาวบ้านผู้ได้รับใบบอกบุญจากท่านไปว่า “เขาจำต้องให้เพราะความคุ้นเคย ขัดไม่ได้” ทั้งที่เขาเองก็เดือดร้อน เงินในครอบครัวแทบหมุนไม่ทัน

กระผมไม่ใช่รังเกียจเงินนะครับ ส่วนตัวอยากได้เงินมาก อยากทอดผ้าป่าสัก 2557 กอง กองละ 2557 บาท อิอิ เพื่อตั้งเป็นทุนการศึกษาตัวเองโดยเฉพาะ ให้ดีได้สัก 10-20 ล้านด้วยซ้ำจะได้ไปหาที่เรียนดีๆมีคุณภาพในต่างประเทศ .... นี่เป็นเจตจำนงจริงๆ ไม่ได้เอาไปเพื่อจุดประสงค์อื่นเช่นซื้ออุปกรณ์เทคโนโลยีทันสมัยอวดชาวบ้านเป็นต้น (ปัจจุบันยังใช้โน๊ตบุคเอเซอร์รุ่นแรก ที่จอดับไปแล้ว ต้องเอาจอคอมฯเก่ามาเสียบช่องฉายโปรเจคเตอร์..ประกาศความจน อิอิ) กระผมว่า เหตุผลเรื่องการเรียนนี้ยังดูดีกว่าทุกเหตุผลที่พวกท่านชอบยกมาอ้าง เช่น สร้างโบสถ์ หรืออาคารปฏิบัติธรรมราคา 20 ล้าน แต่ไม่มีคนมาปฏิบัติธรรม (รวมทั้งคนสอนเองก็ไม่เข้าใจเรื่องการปฏิบัติธรรม)ฯลฯ.........

แต่ที่ยังไม่ลงมือเรี่ยไรญาติโยมในตอนนี้เป็นเพราะ....ละอายใจตัวเอง ครับ (ย้ำๆๆๆๆๆๆๆ) กรณีที่เราบอกว่า หาเงินเพื่อสืบทอดศาสนา...?? สร้างวัตถุมารักษาศาสนา แต่ขณะเดียวกัน เราทำให้คนมีความรู้ระอาใจ ออกจากพุทธศาสนาไปมากต่อมากครับ ท่านลองฟังสัมภาษณ์ชาวมุสลิม อดีตซึ่งเคยเป็นชาวพุทธต้องเปลี่ยนศาสนาสิครับ ว่าเหตุผลอะไรเขาจึงไม่ศรัทธาพวกเราฯลฯ

กระผมสังเกตว่า ปัจจุบันพระเราพยายามเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นเงินหมดแล้ว เราอาจเคยได้ยินคำว่า แปลงทรัพย์สินให้เป็นทุน......แปลง ทักษิณให้เป็นทุน (โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง).....และ แปลงทรัพย์สินให้เป็นบุญ อันหลังนี่น่ากลัวนะครับ เพราะถ้าใช้ดีก็ดีไป แต่พระหลายท่านก็เอามามอมเมาชาวบ้านว่า

“โยมมีเงินก็ตายเปล่า เอาติดตัวไปไม่ได้ ฉะนั้นวิธีเดียวในการรักษาสมบัติโยมให้ถาวร คือเปลี่ยนเป็นเงินแล้วมาบริจาคอาตมาซะ เพื่อสร้างเป็นบุญ เก็บไปใช้ได้ทุกภพทุกชาติ”...อิอิอิ (ไม่อายบ้างหรอครับ)

เราไม่เพียงแต่สอนเพื่อให้เขาเอาเงินมาให้ แต่เรายอมรับไหมละครับว่า ประเพณีต่างๆที่ยังสืบทอดกันอยู่ก็เพราะ....เราต้องการเงิน

กฐิน...ก็เพื่อต้องการเงิน โดยใช้จีวรเป็นเครื่องมือ
แห่เรือพระ....ก็เพื่อเงิน
หล่อ...แห่...ถวาย...เทียนพรรษา เพื่อ “เงิน” เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับเทียน เพราะทุกคนรู้ว่าปัจจุบันมีไฟฟ้าใช้ วัดไม่ได้ใช้เทียนเลย (เว้นกรณีวัดกันดารมาก..ซึ่งก็ควรเอาไปถวายตลอดไม่ใช่เฉพาะช่วงพรรษา) หรือวัดที่ใช้ก็จุดทิ้ง เพื่อให้คนสบายใจว่าสิ่งที่เขาถวายมามีคนใช้.... เทียนจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการหาเงินช่วงเข้าพรรษาอีก (ท่านอาจอธิบายว่า เพื่อความสามัคคี...ต้องถามว่า สามัคคีเพื่อ? ไฉนท่านไม่จัดบรรยายธรรมแล้วให้แต่ละองค์กรมาฟังเพื่อความสามัคคีละครับ? คนจะได้ฉลาดขึ้นด้วย)

แท้จริงแล้ว เราไม่เคยเห็นคุณค่าที่แท้จริงของวัฒนธรรมหรอกครับ เพราะหากคิดจะสืบสานวัฒนธรรมจริง น่าจะมีการมาขบคิดกันว่า จะสืบสานวัฒนธรรมอย่างไรให้สร้างสรรค์และเกิดประโยชน์แก่สังคมมากที่สุดฯลฯ

พระเรามีความโชคดีอยู่อย่างหนึ่งครับ คือพูดอะไรแล้วโยมเขาเชื่อ ต่อให้ไม่เชื่อเขาก็ไม่เถียง เหตุผลเพราะเขากลัวบาป เขาเชื่อในเจตนาของเราว่าต้องดีแน่ๆ กระผมก็เชื่อนะครับว่าหลายท่านที่ออกปากขอเงินชาวบ้านก็มีเจตนาดี แต่ท่านลืมนึกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งท่านควรใช้เวลาทบทวนเรื่องนี้ให้ มากเหมือนกันครับ อย่างแรก...การออกปากขอโยม (ต่อให้มาในรูปกระดาษ) ก็เป็นอาบัติครับ หากโยมไม่ปวาราณาไว้ว่า “ท่านอยากได้อะไรบอกโยมนะ เดี๋ยวโยมจัดให้” อิอิ ซึ่งคนปวารณามีน้อยคับ

สมเด็จสังฆราชท่านตรัสว่า พระควรอยู่ให้พอดี เหมาะสม คนที่ทำหน้าที่ตัวเองดีแล้ว สำรวมในศีล สอนธรรมะที่ถูกต้องกับชาวบ้าน ไม่ต้องแสดงฤทธิ์เดช ปาฏิหาริย์ คนก็เอาของมาดูแลเลี้ยงดู ไม่อดตายแน่ครับ ส่วนคนที่มันไม่ดีจริง ต้องดิ้นรนหาโน่น หานี่ ประกอบฤทธิ์เดชให้คนเห็น อันนี้มันแย่และส่งผลเสียต่อพุทธศาสนาในวงกว้างด้วย

กระผมว่า หากเรายังคิดว่า ไม่เป็นไร แจกซองผ้าป่าไป ค่าซอง 5 บาทเอง แต่ผู้ที่ทำบุญมาเยอะกว่า อย่างไรก็ได้กำไรแน่ๆ.....หรือแจ้งบุญไปยังผู้มีจิตศรัทธา ใครไม่ศรัทธาไม่ไม่ต้องทำ ไม่ได้ว่าอะไร นิ่งเฉยไว้ (แต่แจกให้กับทุกคน) แนวคิดแบบนี้ไม่ควรมีอยู่ในตัวพระครับ

ท่านพุทธทาส อธิบายเรื่อง วิหิงสา หรือการเบียดเบียนว่า การเบียดเบียนนี้ต่างจากโทสะหรือประทุษร้าย เพราะโทสะ เราทำด้วยเจตนา แต่วิหึงสา เราทำเพราะไม่จงใจ ลืมมองผลลัพธ์ไป

อกุศลมูล *.........* อกุศลวิตก
โลภะ (โลภ) *.........* กามวิตก
โทสะ (โกรธ) *..........* พยาบาทวิตก
โมหะ (หลง) *........* วิหึงสาวิตก

อันนี้เพื่อต้องการสรุปว่า การเบียดเบียน สามารถทำได้เพียงเพราะเราหลง หรือโง่เขลา การบอกบุญคนอื่น ที่ถือเป็นการบังคับให้เขาต้องทำ (ต่อให้เราไม่มีเจตนาเช่นนั้นก็ตาม) แต่เพราะลืมนึกไปว่า คนที่ได้ซองไปแล้วเขาไม่กล้าปฏิเสธ และจำต้องบริจาคเงินที่เขามีอยู่น้อยแล้ว หรือต่อให้มีเยอะ แต่หากเขาเห็นว่ากิจกรรมนั้นไม่เป็น ประโยชน์ ไม่มีความปรารถนาจะส่งเสริม แต่ก็ต้องจำใจทำ .... ซึ่งก็มาเข้ากับดักเราอีก เขาไม่จงใจทำ เลยทำน้อยแค่ 100 เดียว แต่ซองที่เราแจกไป ราคา 5 บาทเองครับ อิอิ

สรุปคือ อยากให้พวกเราคิดอะไรให้มากกว่าเดิมก่อนจะออกปากขออะไรใคร ถ้าอยากให้โยมเขามีโอกาสทำบุญ เราอาจมารวมตัวกันเพื่อตกลงกันให้ได้ก่อนว่า “อะไรกันแน่คือบุญ ต้องทำที่ไหน ทำกับใคร ทำอย่างไร เมื่อไหร เป็นต้น”

และสิ่งที่พระเราต้องทำมากกว่าคือ การเตรียมตัวเองให้พร้อม ทั้งด้านการศึกษาพระธรรมวินัย และการปฏิบัติ กรณีไม่ได้ทั้งสองอย่างก็เลือกเอา อย่างหนึ่ง เพราะทราบกันดีว่า คนอาจเก่งไม่เหมือนกัน เมื่อเราเก่งด้านนั้นแล้ว เดี๋ยวโยมเขาจะเข้ามาหาเราเอง พาเราไปบรรยายธรรม พาเราไปสอนกัมมัฏฐาน มีตึก/อาคารที่รองรับคนได้เป็นพันครับ เราไม่ต้องหาเงินสร้างเองเลย....แต่หากเราหลงมาสร้างวัตถุเอง ทำเท่าไหร่ก็ไม่จบสิ้นครับ ที่สำคัญ เราลืมพัฒนาตัวเองและไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้สังคมได้จริง (อันนี้เราต้องคิดให้หนักนะครับ)

โยมเองก็ได้โปรดอย่ากลัวบาปที่จะปฏิเสธการทำบุญ บุญในพุทธศาสนานอกจากจะเกิดประโยชน์แก่สังคมแล้ว จะต้องเป็นไปเพื่อชำระใจและสร้างเสริมปัญญาด้วย กระผมไม่ได้ห้ามไม่ให้ใครทำบุญนะครับ เพราะหลายคนเชื่อว่า คนที่ห้ามคนอื่นเป็นมาร....มีแต่ตกนรก อิอิ เพียงแต่อยากขอให้ทุกฝ่ายได้ใช้ปัญญาคิดพิจารณาให้มากกว่าเดิม กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง ละเว้นในสิ่งที่จะนำไปสู่การเบียดเบียนสังคมทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา ทั้งหมดนี้เขียนขึ้นเพราะความช้ำชอกใจเวลาเห็นคนจนต้องบริจาคเงินทำบุญแบบปฏิเสธไม่ได้ครับ

ขอให้ทุกคนโชคดีครับ

ทำบุญปล่อยนก

ทำบุญปล่อยนก....หลังจากนกได้มาทำรังอยู่ข้างกุฏิราวหนึ่งเดือน มีไข่ 3 ฟอง ปรากฎว่าวันนี้มันได้พาลูกๆบินจากไปโดยสวัสดิภาพแล้ว อิอิ (ห้ามกล่าวสาธุนะ อาตมาไม่ชอบคำนี้เลย เพราะไม่รู้ว่าคนที่ชอบพูด “สาธุ” รู้สึกอย่างไรและคิดอะไรอยู่กันแน่)

เรื่องที่อยากแนะนำคือ ต่อไปหากอยากจะทำบุญเช่นในวันเกิด ไม่ต้องไปซื้อนกในกรงตามตลาดมาปล่อยหรอกครับ เท่ากับไปส่งเสริมธุรกิจพวกจับนก พรากลูกพรากแม่ ปล่อยไป... จับมา...เวียนไปเวียนมาเพื่อสร้างความสบายใจแล้วบอกตัวเองว่าได้ทำบุญ อิอิ หรือไปซื้อปลาที่ทางวัดจัดไว้ให้เพื่อให้คนมาซื้อไปปล่อยต่อ (ทำไมเอ็งซื้อมาแล้วไม่ปล่อยไปเลยว่ะ? ... ยังจะเอาปลามาทำกำไรอีก แล้วบอกโยมว่าได้บุญ????)

วิธีที่จะแนะนำคือ ไม่ต้องไปหาซื้อนกมาปล่อยครับ ถึงวันเกิดรอบหนึ่ง ไปซื้อต้นไม้มีพุ่มมาปลูกไว้รอบๆ บ้านก็ได้ เช่นพวกต้นไทรเตี้ยๆ ต้นแก้ว ฯลฯ มีตังค์น้อย ปีหนึ่งก็ซื้อต้นหนึ่ง สมาชิกในบ้านมี 3 คน ปีหนึ่งได้ตั้ง 3 ต้น สามารถใช้จัดสวนนั่งอ่านหนังสือหรือพักผ่อนหย่อนใจในบริเวณบ้านโดยไม่ต้องไปไกลถึงสวนสาธารณะหรือห้างฯ เมื่อมีร่มไม้ เดี๋ยวนกก็จะมาขออาศัยทำรัง เราไม่จำเป็นต้องให้อาหารอะไรเลย เพียงแต่อาจต้องคอยไล่พวกแมวเป็นต้นไปไกลๆ ราวเดือนหนึ่งลูกมันก็บินได้และจะจากไปเองโดยไม่ต้องไปจับแล้วมาปล่อยออกจากกรงเพื่อถ่ายรูป อิอิอิ

อันนี้น่าจะเป็นการทำบุญที่ลงทุนน้อยและได้บุญจริงนะครับ ลองหันมาทำบุญที่แบบไม่ต้องพึ่งพิธีกรรม แบบไม่ต้องหลอกตัวเองเพื่อความสบายใจและชดเชยกรรมชั่ว ทำอย่างนี้ได้จิตใจเราจะพัฒนาไปสู่การทำบุญได้ทุกรูปแบบและทุกขณะครับ

ธรรมกายที่รัก....ฉันต้องขอโทษจริงๆนะที่มองเธอในแง่ลบมาตลอด

ธรรมกายที่รัก....ฉันต้องขอโทษจริงๆนะที่มองเธอในแง่ลบมาตลอด

1. ฉันมองว่าเธอชอบประกอบพิธีใหญ่ๆ หรูหรา เพื่อเอาใจผู้คน หวังให้คนศรัทธากับรูปแบบ จากนั้นก็ขูดรีดให้เขาต้องทำบุญหนักๆด้วยเจตนาของเขาเอง แต่วันนี้ฉันเข้าใจแล้วว่า วัดบ้านนอกที่อยู่แวดล้อมบ้านฉันก็ไม่ได้ต่างไปจากเธอ ต่างประกอบพิธีกรรมแข่งกันเพื่อเรียกศรัทธาคน และหวังเงินบริจาคจากผู้คน เหตุที่เขายังหาเงินได้น้อยไม่ใช่เพราะเขาไม่ต้องการเงิน แต่เขายังมีความสามารถน้อยกว่าเธอ วันหน้าหากวัดเติบโตเจริญขึ้น เขาก็จะเป็นเช่นเดียวกับเธอ ฉะนั้นหากฉันจะกลัวและรังเกียจเธอ ฉันควรหันมาตั้งคำถามกับวัดข้างบ้านฉันด้วยหรือไม่?

2. ฉันเคยมองว่าเธอมัวแต่สร้างภาพ ไม่เคยเปลี่ยนแปลงคนได้จริง แต่เมื่อได้ใกล้ชิดศิษย์ของเธอหลายคน เขาช่างมีอุปนิสัยที่งดงาม น่ารัก ทั้งกิริยาและคำพูด หากนำมาเทียบกับพุทธบริษัทวัดอื่นๆ ฉันว่าเธอช่างมีความสามารถในการอบรมคนจริงๆ แม้พระสงฆ์เองก็มีกิริยาอากัปเรียบร้อย พระของเธอไม่เคยถูกนำไปออกข่าวเรื่องข่มขืนเด็ก แอบหนีเที่ยวตอนกลางคืน เสพยาเสพติดฯลฯ เหมือนวัดอื่น การสร้างภาพของวัดอื่นๆก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าเธอ เดี๋ยวนี้เขาจัดพิธีอะไรกันก็รีบถ่ายภาพแชร์กันจนเกลื่อนโลกออนไลน์ ฉะนั้นหากให้ฉันรังเกียจเธอ ต่อไปฉันคงต้องตั้งคำถามกับวัดข้างบ้านฉันก่อน

3. ทุกคนมองว่าเธอให้ความสำคัญกับเงินเป็นหลัก ฉันเข้าใจว่าเป็นเพราะองค์กรของเธอใหญ่ จำต้องเลี้ยงดูคนมหาศาลเพื่อขับเคลื่อนโครงการใหญ่ๆให้ดำเนินไปได้ ซึ่งพอหันกลับมาดูพระข้างบ้านฉันที่วันๆเอาแต่นั่งด่าเธอเรื่องเงิน ถึงคราววันที่ 22 เมษายน เขาก็ยังรับนิมนต์ไปวัดเธอเพื่อรับเงิน 5,000 บาท (ฉันเองก็เคยไปเอาเงินเธอมาเหมือนกัน อิอิ) ฉะนั้น หากจะว่าเธอโลภ ฉันควรตั้งคำถามกับตัวฉันเองและพระที่ว่าเธอด้วยเหมือนกัน

4. หากพูดเรื่องอวดคุณวิเศษ... สิ่งที่เธอทำบ่อยคือ ทายว่าคนตายแล้วจะไปเกิดที่ไหน ซึ่งขอพูดตามตรงว่า ฉันไม่เชื่อเธอและคิดว่าหลายคนก็เป็นเหมือนกัน แต่ประโยชน์ของเธอก็มีอยู่ตรงที่เธอชี้แจงว่า เพราะอะไรเขาจึงต้องไปเกิดเช่นนั้น สิ่งที่เธอนำมาอธิบายก็เป็นไปตามพระไตรปิฎกหรืออรรถถา ทำให้คนได้คิดหรือตระหนักบ้างเพื่อ เตรียมการสำหรับตัวเอง ส่วนพระข้างบ้านฉัน แท้จริงก็ไม่ได้ต่างไปจากเธอ ทำตัวเป็นอรหันต์ ขลังศักดิ์สิทธิ์ (ซึ่งเธอไม่เคยทำ) สร้างวัตถุที่เต็มไปด้วยอำนาจคุ้มครองดลบันดาลขึ้นมาขายผู้คน ประกาศว่าตนสามารถล้างเคราะห์กรรม สร้างชีวิตใหม่ที่เต็มไปด้วยความเจริญรุ่งเรืองให้ผู้คน ท่านเหล่านี้ต่อให้ไม่พูดโอ้อวดว่าเป็นอริยบุคคล แต่การสร้างวัตถุวิเศษ ขึ้นมาผ่านพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ เท่ากับยืนยันความวิเศษของเขาไปโดยอัตโนมัติหรือไม่ ซึ่งหากฉันจะด่าเธอว่า ชอบอวดคุณวิเศษ ฉันก็ควรย้อนดูพระข้างบ้านฉันเหมือนกัน

5. ฉันเคยมองว่า เธอส่งเสริมการศึกษา (ปริยัติ) แต่เพียงเปลือกนอก ปั้นพระที่มีความรู้เพื่อจะใช้เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้แก่องค์กร แต่ตอนนี้ เธอก็ทำให้ฉันเห็นว่า พระจากสำนักเธอจบการศึกษาบาลีปีละหลายรูป การศึกษาทางโลกก็ไม่น้อย ซึ่งต่อให้เชื่อว่าเขาถูกเธอล้างสมอง ไม่ให้มองเห็นเหตุผล และความเป็นจริงของพุทธศาสนา ก็ไม่ควรยกความผิดนี้ให้กับเธอ แต่ต้องพิจารณาว่า ทำไมหลักสูตรบาลีและนักธรรมไม่สามารถปั้นคนให้เป็นสัมมาทิฏฐิและมีอุดมการณ์ที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาได้ และหากต้องแก้ ก็ต้องแก้ที่ตัวหลักสูตร/หนังสือเรียน แต่อย่างน้อย เธอก็ยังทำงานด้านส่งเสริมการศึกษาได้ดีกว่าวัดข้างบ้านฉันที่หาพระมาปั้นไม่ค่อยได้ หามาแล้วก็ประสบความสำเร็จน้อย สำเร็จแล้วก็สึกออกไปทำงานทางโลก หรือต่อให้ไม่สึกก็ไม่ได้ใช้ธรรมะที่เรียนมาสั่งสอนผู้คนเลย เมื่อเธอทำงานได้ดีกว่าคนอื่นๆ ทำไมฉันจะต้องด่าเธออีกล่ะ?

6. ฉันเคยมองว่า การทำสมาธิในรูปแบบของเธอเป็นสมถะ มัวแต่ให้คนนั่งเพ่งดวงแก้ว ระลึกอยู่ที่ศูนย์กลางกาย แต่คงไม่มีใครปฏิเสธว่า สมถะไม่ดี เพราะมันสามารถใช้เป็นฐานขึ้นสู่วิปัสสนาได้ หากเทียบจิตใจที่ฟุ้งซ่านกับจิตสงบที่ผ่านการฝึกบ้าง อย่างไรเสียจิตสงบย่อมดีกว่าเสมอ เธอฝึกคนให้รู้จักแบ่งปันให้ทาน รักษาศีล และทำภาวนาในเบื้องต้น คนที่ฉลาดย่อมต้องหาทางต่อยอดการภาวนาของตนเองได้ ซึ่งเมื่อเทียบกับวัดข้างบ้านฉัน ไม่ได้ให้ความรู้เหมือนกับเธอ ส่วนหนึ่งเพราะเขาไม่มีความรู้เอง จะพูดเรื่องการให้ทานแบบลงรายละเอียดก็ไม่ได้ ทำให้ชาวบ้านมีศีลก็ไม่ได้ ส่วนภาวนา ก็มีทั้งพุทโธ จับลมหายใจแบบไม่ต้องบริกรรม หรือพองหนอ-ยุบหนอ...ซึ่งฉันเข้าใจว่า หากไม่ให้ความรู้เรื่องภาวนากันแบบสมบูรณ์ สิ่งที่ชาวบ้านทั่วไปทำกันอยู่ก็คงเป็นสมถะไม่ต่างจากเธอแน่

ปัจจุบันมีคนด่าเธอมากขึ้นเรื่อยๆ ตัดต่อภาพที่น่าเกลียดเพื่อโจมตีเธอ หลายคนเมื่อรู้ว่าอะไรเป็นโครงการของ เธอ เช่น อบรมจริยธรรม มารยาท บวชพระสงฆ์ หรือปฏิบัติธรรม เขาก็รีบปฏิเสธกันทันที ซึ่งฉันเห็นว่า เขามีอคติกับเธอแบบสุดขั้วจนลืมตั้งคำถามกับพระสงฆ์คณะอื่นๆไปเสีย เป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่คนบ้านเรา รวมทั้งฉันเอง ไม่ได้ถูกสอนให้รู้จักคิดแยกแยะเหตุผลแบบไม่ต้องขึ้นกับบุคคลหรือสำนักได้ เราเห็นอันหนึ่งผิด เราก็จงเกลียดจงชังมันและรีบไปมองว่า สิ่งอื่นที่ไม่ใช่อันนั้นถูกหมด แต่ฉันก็เห็นว่าเธอเลือกแก้ปัญหาในทางที่ถูกต้องแล้ว คือใช้ความสงบเข้าว่า ใครว่าอย่างไรก็ปล่อยไป เธอก็มุ่งทำงานของเธอต่อไป วิธีนี้เองที่จะทำให้เธอขับเคลื่อนงานไปได้รวดเร็วกว่าคนอื่นๆ สุดท้าย ฉันขอเป็นกำลังใจให้เธอนะ.....ธรรมกายที่รัก