วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2557

ประโยชน์ที่พึงได้จากการศึกษาระดับสูง

ประโยชน์ที่พึงได้จากการศึกษาระดับสูง......ระดับสูงในที่นี้ไม่ได้หมาย ถึง การปีนขึ้นไปมุงหลังคาตึก หรือ เรียนรู้การเก็บลูกมะพร้าวเป็นต้นนะครับ แต่เป็นการศึกษาระดับปริญญาโท-เอก (และในที่นี้เจาะจงเฉพาะสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์)

การศึกษาระดับสูงไม่น่าจะมุ่งให้คนรู้รอบตัวมากกว่าคนอื่น เพราะหากต้องการความรู้ที่มาก ก็สามารถหาหนังสือที่หลากหลายอ่านด้วยตัวเองได้โดยไม่ต้องเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเรามักสังเกตได้ว่า คนมีความรู้มากประเภทนี้ จะมีลักษณะพูดมาก แสดงความเห็นได้ทุกเรื่อง และที่สำคัญ มักยกตนข่มผู้อื่น
การศึกษาระดับสูงไม่ได้เน้นให้คนเป็นคนดี เพราะหากอยากไปคนดี ก็สามารถไปบวชพระ-ชี หรือใส่ชุดขาวสมาทานศีล 8 เรียนรู้เรื่องความกตัญญูกตเวที ลงพื้นที่กันดารไปช่วยเหลือผู้ยากไร้เป็นต้นได้เลย โดยไม่ต้องเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย

แต่การศึกษาในระดับสูง (หมายเอาเฉพาะมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพพอ ..ไม่ใช่แบบจ่ายครบ จบแน่ อิอิ) จะเปิดโอกาสให้ผู้ศึกษาได้เจอกับอาจารย์ที่หลากหลาย แนวคิดที่หลากหลาย คนเหล่านี้จะช่วยจุดประเด็นต่างๆและสนับสนุนให้นักศึกษาคิดแยกแยะด้วยตนเอง มีแนวคิดที่เป็นระบบ ลึกตามลำดับ คนที่จะเรียนจบด้วยเกรดที่สูงต้องเป็นคนที่กล้าคิดและยอมรับฟังความเห็นของ ผู้อื่นได้ มีความอดทนในการฟังคำอธิบายของเขาและวิพากษ์วิจารณ์(ทั้งที่เห็นด้วยและไม่ เห็นด้วย)แบบมีเหตุมีผลได้ โดยเน้นการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างทางความคิด มิใช่ยัดเยียดให้เชื่อและมีโอกาสรับรู้เพียงแนวคิดเดียว 

ผลที่ได้รับคือ คนที่ผ่านการศึกษาระดับสูงจะสามารถเติบโตทางสติปัญญาได้ด้วยตัวเขาเอง จะสามารถวิพากษ์ปรากฎการณ์ที่ตนเคยอยู่ เคยเชื่อ และประสบการณ์ใหม่ได้แบบมีเหตุผล อันจะนำไปสู่การตัดสินใจเลือกทำในสิ่งใหม่ซึ่งเป็นสาระกว่าได้ ส่วนประโยชน์ด้านสังคม เขาก็จะสามารถชี้นำสังคมแบบเปิดให้ผู้อื่นเลือกในสิ่งที่ดีที่สุดแบบอิสระ มีความอดทนในการอธิบายและชี้แจงเหตุผลต่อผู้ย้อนแย้งได้โดยสันติ

สิ่งที่น่าเสียดายคือ หากผ่านการศึกษาระดับสูงมาแล้ว ยังมุ่งถกเถียงเพื่อรักษาศรัทธาของตน ศึกษาวิชาการแบบอ้างอิงเพื่อปกป้องความเชื่อตนเอง ไม่ยอมรับฟังความเห็นใครไม่ว่าจะมีเหตุมีผลหรือไม่ ที่สำคัญ ไม่สามารถวิพากษ์ความคิดแบบอื่นที่ตนไม่เคยเชื่อ เห็นว่าผิด หรือไม่ตรงกับจารีตแบบสร้างสรรค์ได้ ที่สำคัญ นักศึกษาเองก็จะพลาดโอกาสจากการพัฒนาแนวคิดตนเองให้เป็นอิสระ (แบบมีเหตุผล) นั่นคือ ต้องดำรงชีพด้วยความเชื่อตามข้อมูลที่ถูกถ่ายทอดซึ่งหมายถึง ตนเองในฐานะผู้ทรงความรู้นั้นกลับมีหน้าที่ต้องทำลายแนวคิดแบบอื่นที่ตนไม่ เชื่อ ไม่ทราบและไม่เข้าใจด้วย

หมายเหตุ...ผู้ที่ผ่านการศึกษาในระดับสูงไม่จำเป็นต้องคิดถูกและพูดถูกทุก เรื่อง ข้อนี้ไม่ต่างจากคนทั่วไป เพียงแต่เขาเป็นคนที่ได้ลับทักษะทางความคิดไว้พร้อมระดับหนึ่งแล้วเพื่อการ ใช้เหตุผลตรวจสอบ และจะสามารถเปิดใจรับฟังคำชี้แนะหรือเหตุผลอื่นๆได้ อันจะนำไปสู่การทำความเข้าใจและหาความรู้ใหม่ของเขาตลอดเวลา...ซึ่งข้อนี้หา ได้ยากจากคนทั่วไปที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการสอนในบรรยากาศที่มีความเชื่อหลาก หลายและอาจารย์ที่เป็นตัวอย่างและตัวผลักดันให้นักศึกษาวิพากษ์อยู่ตลอดเวลา ...... ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ล้วนมีข้อยกเว้น เช่นคนที่ผ่านการศึกษาระดับสูงอาจไม่จำเป็นต้องเปิดใจแยกแยะสิ่งใหม่ได้ เนื่องจากปัจจัยด้านต่างๆเช่น มหาวิทยาลัยอาจไม่มีบุคลากรเช่นนั้น และในทางตรงกันข้าม คนที่ไม่เคยผ่านมหาวิทยาลัยเลยอาจมีความคิดที่หลักแหลมและเปิดใจกว้างก็ได้ ซึ่งทั้งสองประเภทที่มีข้อยกเว้นนี้อาจเป็นคนส่วนน้อย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น