วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2557

ชาวพุทธสุดโต่ง 2 ประเภท

ชาวพุทธสุดโต่ง 2 ประเภท

ประเภทแรก เป็นกลุ่มที่ไม่เคยสนใจศึกษาพุทธศาสนาเลย มีผู้ชักจูงให้ทำอะไรก็ทำตามนั้น เช่น ทำบุญบริจาคเงิน บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็น ต่อชะตาสะเดาะเคราะห์เป็นต้น ความน่าสงสารของกลุ่มคนเหล่านี้เกิดจากการต้องทำงาน มีภาระ หรือบ้างก็ปล่อยปละละเลยจนไม่มีโอกาสศึกษาคำสอนจากพระไตรปิฎก การกลัวเวรกรรม เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ เป็นเหตุให้เขาถูกชักจูงได้ง่าย

ประเภทที่สอง น่าจะเกิดขึ้นเมื่อราว 5-6 ปีที่แล้วนี่เอง คือ กลุ่มที่ขอสมาทานยึด/เชื่อดำรัสของพระพุทธเจ้าอย่างเดียวเท่านั้น คำสอนอย่างอื่นจะผิดหรือถูกอย่างไรก็ขอทิ้งไปเนื่องจากเห็นว่าเสียเวลาในการ ศึกษาเล่าเรียน หรือขัดขวางความพ้นทุกข์ ที่ยิ่งกว่านั้น หากไม่รับเฉพาะคำพระศาสดา ถือว่าเป็นการทำลายศาสนาอยู่ตลอดเวลา (เปรียบดังกลอง..ที่ต้องเปลี่ยนหนังหุ้มไปเรื่อยเมื่อสึกหรอ จนไม่เหลือของเก่า) เหตุที่คนกลุ่มนี้ศรัทธาในพุทธวจนะ เนื่องจากเบื่อกับคำสอนที่หลากหลาย ไม่ทราบว่าอะไรผิดถูกกันแน่ ซึ่งแทนที่จะเลือกแก้ปัญหาด้วยการใช้ปัญญา ก็เลือกหันมาศรัทธาต่อคัมภีร์ต้นฉบับ อันจะทำให้เขามั่นใจได้ว่า ถูกต้องที่สุด เพราะยังไม่ถูกสอนหรือตีความจากใคร 

โยมรู้สึกว่า การยึดพุทธวจนะเป็นความสุดโต่ง...เนื่องจากมีเพื่อนที่หันไปศึกษาพุทธวจนะ เช่นกัน และได้แชร์ภาพการค้นหาศัพท์คำว่า “ติดสมมติ” ในโปรแกรมพระไตรปิฎกมาให้ดู ซึ่งเธอบอกว่า “ไม่มีคำนี้ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัส เพราะฉะนั้นจึงเป็นของปลอม ชาวพุทธไม่ควรยอมรับ” ขออธิบายคำนี้นิดหนึ่งก่อน

“สมมติ” ในที่นี้หมายถึง สิ่งนั้นไม่ได้เป็นตามธรรมชาติ แต่มนุษย์มากำหนดขึ้น เช่น ดิฉันเป็นครู หรือบางท่านเป็นพระภิกษุ ซึ่งทั้งครูและภิกษุในที่นี้เป็นสมมติ เพราะเราแค่กำหนดมันขึ้นตามสถานะทางสังคมและหน้าที่ สิ่งนี้จะไม่เที่ยงแท้ เนื่องจากดิฉันจะลาออกจากการเป็นครู และพระจะลาสิกขาจากการเป็นภิกษุเมื่อไหรก็ได้ หรือตัวอย่างเช่นตุ๊กตาน่ารัก เราก็ไปหลงสมมติที่มันถูกสร้างขึ้น ทั้งที่จริงแล้วมันเป็นเพียงส่วนประกอบของเสื้อผ้า สี ปุยนุ่นเป็นต้น ที่กล่าวมานี้เป็นสมมติ

ส่วนปรมัตถ์ คือ ทั้งตัวดิฉัน ตัวพระภิกษุ และตุ๊กตา “ล้วนตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์” มีการเกิดขึ้นและดับไป การสอนให้ไม่ให้ติดสมมติแท้ที่จริงก็คือ การสอนให้เห็นขันธ์ ธาตุ อายตนะ ฯลฯ นี่เอง เพื่อเตือนใจให้เราไม่หลงกับสมมติที่เราเป็นอยู่ขณะนี้และลืมนึกถึงความเป็น จริงขั้นปรมัตถ์ไปเสียจนลืมค้นหาตัวเอง ปฏิบัติธรรม เป็นต้น 

ซึ่งหากจะไม่ยอมเปิดรับอย่างอื่นที่พระพุทธเจ้าไม่ตรัสดังการปฏิเสธคำว่า “ติดสมมติ” ก็อยากจะแนะนำให้ลองพิมพ์หาคำว่า Facebook Swensen Tesco Lotus Honda หรือมอเตอร์โซด์ โทรศัพท์ บัตรเครดิต เป็นต้นในพระไตรปิฎกดูก็ได้ และหากประสงค์จะยึดตามพุทธวจนะจริงๆ ก็ได้โปรดอย่าใช้บริการสิ่งที่ไม่มีในพุทธวจนะด้วย 

หลายคนปฏิเสธความถูกต้องทั้งที่รู้ว่าถูก เพียงเพราะมันไม่ได้มาจากพุทธวจนะเท่านั้น หากจะให้ตนยอมรับก็ต้องพูดด้วยคำในพระไตรปิฎก เนื่องจากอ้างการรักษาพุทธศาสนาด้วยการต้องยึดไว้ทั้งอรรถ(ความหมาย)และ พยัญชนะ(ตัวอักษร) สังเกตว่า สำนักพุทธวจนะทั้งหลายจะให้ความสำคัญกับคำพูดตามพระไตรปิฎกมาก (พยัญชนะ) โดยบอกว่า การอธิบายเพื่อสื่อความหมาย (อรรถ) เพียงอย่างเดียวไม่พอและทำให้ศาสนาเสื่อม ความเป็นจริงก็คือ การท่องพุทธวจนะตามพระไตรปิฎกไทยก็ถือเป็นการไม่รักษาพยัญชนะแล้วเช่นกัน หากประสงค์จะรักษาทุกอย่างตามพระพุทธเจ้า ก็ต้องเปลี่ยนไปท่องและสอนเป็นภาษาบาลีด้วย

สรุปคือ เมื่อก่อนโยมรู้สึกดีใจมากที่เกิดการศึกษาพุทธศาสนาตามคัมภีร์ขึ้น โดยเน้นเจาะจงไปที่พุทธวจนะอีกด้วย แต่คาดไม่ถึงจริงๆว่า จะพัฒนามาจนเป็นระบบศรัทธาอันหนึ่ง ที่ไม่สอนให้คนมองความเป็นจริง (อาจเป็นเพราะผู้สอนเองไม่สามารถแยกศาสนาที่มีศรัทธาในพระเจ้า กับ ศาสนาที่เน้นการพัฒนาศักยภาพคนตามกฎของเหตุและผล ไม่ออก) เพื่อนของโยมหลายคนกลายเป็นคนใจแคบ ไม่รับฟังความเห็นและคำพูดใครเพียงเพราะไม่มีปรากฎตามพุทธวจนะ ซึ่งหากจะเอาตามหลักการพุทธศาสนาจริงๆ กาลามสูตรเป็นเครื่องมือที่ดีอันหนึ่งที่จะทำให้เราได้แยกแยะผิด ถูก มีเหตุผล เป็นกุศลหรือเกิดประโยชน์จริงหรือไม่ มากกว่าการเชื่อเพียงเพราะคนนั้นคนนี้เป็นผู้พูด 

ที่น่าเศร้าไปมากกว่านั้น บางสำนักยังตีความใหม่และสอนว่า กาลามสูตรข้อ “อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะผู้นั้นเป็นครูของเรา” ว่า ครูในที่นี้หมายถึงศาสดาในศาสนาอื่น ส่วนชาวพุทธต้องเชื่อพุทธวจนะอย่างสุดใจ (ห้ามเชื่อศาสนาอื่นหรือกระทั่งสาวกในพุทธศาสนา) ทั้งที่ความจริง การศึกษาพุทธศาสนาเป็นกระบวนการทำความเข้าใจ รับเอาสิ่งที่มีเหตุผลมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนเอง ไม่ใช่ระบบความเชื่อ ซึ่งโยมเห็นว่า พุทธวจนะกลับมีความน่ากลัวและไปไกลมากขึ้นทุกที เพราะระบบศรัทธาสามารถชักจูงคนได้ง่าย กว่าการสอนให้คนเกิดปัญญา เปิดใจรับฟังคนอื่น และที่สำคัญ กำลังเปลี่ยนศาสนาของผู้รู้ ปัญญาชน ไม่บังคับศรัทธา (Doctrine/Causation) ให้กลายเป็นศาสนาในระบบศรัทธา เชื่อถือยึดมั่นในพระพุทธเจ้าแทนพระผู้เป็นเจ้า (Dogma)

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ แน่นอนว่าโยมไม่เห็นด้วยกับความเชื่องมงายแบบชาวบ้าน ที่ไม่แยกแยะผิดถูก จนกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มต่างๆ ทำนองเดียวกันก็ไม่เห็นด้วยกับการยึดบุคคลเป็นที่ตั้ง(ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร) จนต้องศรัทธาอย่างปักใจ ไม่ยอมก้าวไปสู่การยอมรับความจริงอย่างอื่น ที่คนนั้นไม่ได้พูดไว้ตามตัวอักษร และเห็นว่าศาสนาพุทธควรส่งเสริมให้มีการศึกษาที่พัฒนาปัญญาศาสนิกเพื่อเขาจะ ได้พึ่งตนเอง และตัดสินความผิด ถูก ด้วยความสามารถเขาเอง ที่สำคัญ มีความกล้าหาญและสามารถพอในการเปิดใจรับฟังผู้อื่นพร้อมทั้งพูดคุย อธิบายธรรมะแก่ผู้อื่นได้โดยไม่พึ่งศรัทธาเป็นหลัก อันนี้เป็นความรู้สึกและความเห็นที่อยากแสดง ท่านใดมีข้อแนะนำก็โปรดใช้ความเมตตาอนุเคราะห์แสดงความเห็น อย่าได้เกรงใจเจ้าค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น