วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2557

บูชาเจ้าแม่กวนอิม

บูชาเจ้าแม่กวนอิม........
ฟังการบรรยายธรรมจากหลวงพ่อมหายานท่านหนึ่ง...วัดธรรมปัญญา บางม่วง อ.สามพราน จ.นครปฐม ท่านพูดถึงความเป็นมาและพัฒนาการของการบูชาเจ้าแม่กวนอิมอย่างน่าสนใจ

นั่นคือ คนทั่วไปจะมองว่า พุทธศาสนามหายานมีความงมงาย ไม่สอนให้ชาวพุทธเกิดปัญญาพึ่งตนเองได้เหมือนเถรวาท ที่มักเชื่อกันว่า ยึดตามพระไตรปิฎก ความจริง การเกิดเจ้าแม่กวนอิม เพราะต้องการตอบสนองความเชื่อพื้นฐานของมนุษย์นั่นเอง กล่าวคือ ต้องการที่พึ่งทางใจ

ท่านเล่าว่า ต่อให้ไม่มีเจ้าแม่กวนอิม คนก็หวังพึ่งสิ่งอื่นอยู่แล้ว เช่น กราบไหว้จอมปลวก ต้นไม้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ มหายานได้มองเห็นจุดอ่อนของมนุษย์ในข้อนี้ และยอมรับความเป็นจริงของโลก มิใช่มองแต่อุดมคติ เจ้าแม่กวนอิมจึงเกิดขึ้นเพื่อให้คนได้เคารพบูชาและเติมเต็มความต้องการทางจิตใจนี้เอง

แท้จริง เจ้าแม่กวนอิมเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งมหายานก็ยอมรับพระพุทธเจ้าศรีศากยมุนี (สิทธัตถะ) เช่นกัน การไม่ให้ผู้คนบูชาหวังพึ่งพระพุทธเจ้าด้วยเหตุผลว่าพระองค์อยู่ห่างไกลจากมนุษย์ แต่พระโพธิสัตว์กวนอิม ซึ่งเป็นลูกศิษย์ยังเป็นเทพที่ใกล้ชิดมนุษย์มากกว่า โดยจะสามารถช่วยเหลือเมื่อมนุษย์หมดกำลังใจและประสบปัญหาที่ไร้ทางออกได้

กระนั้นมิได้หมายความว่า การบูชาเจ้าแม่กวนอิมจะเป็นเรื่องงมงายแบบไร้สาระ เพราะธรรมดา ผู้ที่สมาทานตนเองเป็นลูกศิษย์พระแม่กวนอิม จะต้องรับเอาคุณธรรม คือความเมตตากรุณาไปปฏิบัติในชีวิตจริงด้วย นั่นคือ หากทุกคนบูชาเจ้าแม่กวนอิมและสมาทานเอาวัตรข้อนี้ไป สังคมจะสงบสุขเป็นแน่ ซึ่งต่างจากการที่ชาวพุทธหลายคนกราบไหว้พระพุทธรูป หรือ พระเครื่อง เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ ดลบันดาลโดยไม่มีข้อเรียกร้องทางจริยธรรม ให้พัฒนาตัวเองอะไรเลย

ท่านเล่าต่อว่า ชาวพุทธมหายานในไทยส่วนใหญ่เป็นคนจีน อุปนิสัยของคนเหล่านี้คือขยันหมั่นเพียร ฉะนั้น ต่อให้บูชาเจ้าแม่กวนอิม ก็ไม่มัวแต่รอหวังผลดลบันดาลแน่ๆ แต่จะดิ้นรน อดทน ขวนขวายด้วยตนเอง การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถือเป็นกิจวัตรอย่างหนึ่งเพื่อสร้างกำลังใจโดยจะไม่ละทิ้งความพยายามของมนุษย์และคุณธรรมที่เจ้าแม่กวนอิมบำเพ็ญคือ เมตตากรุณาต่อสัพพสัตว์

กวนอิม หรือ อวโลกิเตศวร เป็นพระโพธิสัตว์ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นตั้งแต่ยุคมหายานในอินเดีย เมื่อถึงประเทศจีน คนจีนได้นำเรื่องเล่าขององค์หญิงเมี่ยวซานซึ่งเป็นคนท้องถิ่น มีวัตรปฏิบัติที่ต่างจากคนทั่วไป คือเสียสละ และเมตตากรุณา เรื่องราวขององค์หญิงจึงถูกนำไปโยงกับแนวคิดพระโพธิสัตว์ ปรากฏการณ์นี้จึงเป็นการทำความเชื่อต่างถิ่นให้กลายเป็นของท้องถิ่น (Localization)

สรุปคือ การเลิกอ้อนวอนพระพุทธเจ้า ไม่บูชาท่านในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ถอยมาบูชาเจ้าแม่กวนอิมซึ่งถือเป็นพระโพธิสัตว์แทน ทำให้พระพุทธเจ้าไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของการให้ผลดลบันดาล หากมองด้วยใจเป็นธรรม ถือว่า มหายานได้รักษาเกียรติพระพุทธเจ้าไว้มาก โดยผลิตเทพองค์อื่นขึ้นมารับหน้าที่นั้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ทั่วไป อีกกรณีหนึ่ง การบูชาที่ต้องมาพร้อมกับ ข้อเรียกร้องทางจริยธรรม คือมิใช่แค่หวังพึ่งแล้วจะสำเร็จ แต่ตนต้องบำเพ็ญบารมีหรือคุณธรรมนั้นๆด้วย เท่ากับเป็นการใช้เทพ ดึงมนุษย์ขึ้นสู่การพัฒนาจิตใจตนเองและช่วยเหลือสังคมมากขึ้น อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งตนเองและส่วนรวมได้

สรุปอีกทีว่า....หลวงพ่อท่านนี้ พูดดีมากครับ อิอิอิ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น