วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2557

จงทิ้งความกตัญญูเสียเถอะ

จงทิ้งความกตัญญูเสียเถอะ....วันนี้เป็นวันแม่ ทุกคนพูดถึงความกตัญญูกตเวที กระผมตื่นนอนตอนเช้า ตั้งใจจะอ่านหนังสือ แต่ก็ถูกรบกวนด้วยเสียงเพลงวันแม่ ที่ผู้คนใกล้ๆเปิดจนดังมาก และมีแนวโน้มว่าจะเปิดไปทั้งวัน ..... เราจะตัดสินอย่างไรกับปรากฎการณ์นี้ ระหว่าง “ชาวบ้านคนนั้นอยากแสดงความรักแม่ ความกตัญญูจนไม่รู้จักกาละเทศะ” หรือ “กระผมเองไม่รู้จักกาละเทศะว่า วันนี้เป็นวันพิเศษอย่างไร ซึ่งควรอนุโลมแก่คนที่มีความกตัญญู”

สังเกตว่า เราให้ความสำคัญกับคุณธรรมจริยธรรมมากจนมองข้ามความถูกต้องและการเคารพสิทธิคนอื่นไปแล้ว เป็นความจริงว่า คุณธรรมที่เป็นความรู้สึก/ความเชื่อลึกๆข้างในของคน จะทำให้เขามองอะไรไม่ชัด ไม่ต่างจากคนถูกความรักครอบงำ เด็กที่ร้องไห้เพราะซาบซึ้งพระคุณแม่...ส่วนมากจะเป็นลักษณะพูดหว่านล้อมให้เชื่อ มากกว่าการมีปัญญามองเห็นมันตามความเป็นจริง (ลองไปสังเกตในงานอบรมคุณธรรมจริยธรรมครับ) กระผมไม่ได้บอกว่าคุณธรรมเป็นสิ่งชั่วร้าย เพราะมนุษย์มีมิติด้านอารมณ์ด้วย (แยกต่างจากมิติทางปัญญา) การอบรมมนุษย์จึงต้องละทิ้งมิติในแง่นี้ไปไม่ได้ เพียงแต่อยากชี้ให้เห็นว่า การเน้นแต่มิตินี้ จะปิดทาง ทำให้คนก้าวไปไม่ถึงอีกมิติหนึ่งคือ ปัญญาครับ

ทุกคนถูกเรียกร้องให้กตัญญู คำถามคือกตัญญูคือ? หากคนนั้นทำผิดเราจะทำอย่างไร? เราลองมาตัดสินเหตุการณ์นี้ดู
1. หากพ่อแม่เราเป็นคนชั่ว เราต้องทำตามคำสั่งนั้นหรือไม่? (ซึ่งพระสอนว่า คำของพ่อแม่มีค่าทุกคำ และ ลูกต้องเชื่อฟัง)

2. พระอุปัชฌาย์ (ที่ถือเป็นแม่คนที่สอง) หากท่านไม่เคารพธรรม วินัย ไม่รู้ธรรมะ เราจะต้องทำตามคำสั่งท่านหรือไม่?

3. หัวหน้าในที่ทำงาน หากท่านเป็นคนไม่ดี ทุจริต คดโกง เราจะต้องกตัญญูกตเวทีต่อท่านอย่างไร?
น่าตั้งข้อสังเกตว่า...ทำไมไม่มีคนสอนเราถึงทางออก หากต้องเผชิญกับกรณีพิเศษเหล่านี้ .... ที่ยิ่งกว่านั้น ยังบอกว่า หากเราไม่เชื่อฟังเขา เราต้องกลายเป็นคนชั่วที่อกตัญญู เราลองมาดูแนวคิดของอิสลามครับ

ศาสนาอิสลามสอนว่า “สวรรค์อยู่ใต้เท้ามารดา”...หมายถึง เราจะขึ้นสวรรค์ได้ก็ต่อเมื่อปรนนิบัติมารดา (รวมทั้งบิดา) แต่กรณีที่ถึงเวลานมัสการพระเจ้า แม่อยากชวนเราไปเที่ยวห้าง เล่นการพนัน...สิ่งที่เราต้องทำคือ เชื่ออัลเลาะห์ ไม่ใช่เชื่อมารดา

ตัวอย่างนี้ชี้ชัดว่า เราถูกปลูกฝังคุณธรรมเพื่อให้เป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนงาน ให้รักคนบางคนโดยไม่ต้องตั้งคำถาม ที่สำคัญ คุณธรรมนั้นจะไม่สามารถพัฒนาชีวิตเราและพัฒนาสังคมให้ก้าวไปสู่มิติแห่งปัญญาได้

เรามักเห็นว่า เด็กรักพ่อแม่มาก..อยากซื้อของไปให้ท่าน แต่ขณะจ่ายเงิน ก็แซงคิวคนอื่นๆ, รักพระ/ศาสนามาก อยากทำบุญ เอาของไปถวายท่าน ยอมสละเงินหมดตัว แต่ไม่เห็นหัวคนจนๆข้างบ้าน,หรือทำบุญกรวดน้ำทุกวันแต่ไม่สามารถให้อภัยใครได้เลยฯลฯ ตกลง คุณธรรมทำให้สังคมเราดีขึ้นจริงหรือ?

การพัฒนาปัญญา คือการชี้ให้เขาเห็นความสำคัญของคนอื่นๆ ตามความเป็นจริง ฝึกให้เขามองปรากฎการณ์ให้ทะลุ เห็นเหตุ และผลของสิ่งนั้น เขาจะไม่ถูกครอบงำด้วยอารมณ์ความรู้สึกข้างใน เพราะจะต้องตัดสินมันด้วยเหตุผลและปัญญา ไม่ผูกพันอยู่กับสิ่งใดจนถอนไม่ขึ้น แต่พร้อมจะเปลี่ยนทัศนะตัวเองตลอดเมื่อเห็นว่าสิ่งอื่นถูกต้องและ เป็นประโยชน์กว่า เราไม่ต้องกลัวว่า หากสอนให้เด็กมีปัญญา รู้จักคิดตั้งคำถาม สาวเหตุสาวผล แล้วเขาจะขาดจริยธรรม ไม่เลี้ยงดูพ่อแม่ ในทางตรงกันข้าม เขาจะมองเห็นว่า พ่อแม่มีบุญคุณกับเขาแค่ไหน อย่างไร (มองเห็นตามความเป็นจริงด้วย ไม่ใช่มองในกรอบที่พระวิทยากรล้างสมองมา เช่น..พ่อแม่รักลูกเท่ากันทุกคน ทุกสิ่งที่พ่อแม่ทำก็เพื่อประโยชน์ของลูก....ไม่มีพ่อแม่คนใดเป็นคนชั่วฯลฯ) เขาควรตอบแทนท่านอย่างไรดีเพื่อจะให้เหมาะสมแก่สถานภาพ ที่ยิ่งกว่านั้น เขาจะมองเห็นคุณค่าของคนและวัตถุอื่นๆ เช่น เมื่อใช้ชีวิตด้วยความรู้ (ไม่ใช่อารมณ์) ก่อนซื้ออะไรเขาจะพิจารณาถึงคุณค่า ราคาและความจำเป็นของสิ่งนั้น ไม่ใช้เงินฟุ่มเฟือย ไม่รบกวนพ่อแม่...ซึ่งต่างจากคนที่ถูกฝึกแต่ด้านอารมณ์ เมื่อต้องเผชิญกับสิ่งที่ตนไม่ถูกบอกให้เชื่อมา ก็มีท่าทีต่อสิ่งนั้นไม่ถูก สุดท้ายต้องตกเป็นเหยื่อคนอื่น หลายครั้ง....เอาความคิดตัวเองไปมองคนที่เชื่อไม่เหมือนตนว่าเลวร้าย อกตัญญู โดยไม่ตั้งคำถามถึงความถูกผิดและประโยชน์

กระผมจึงอยากสรุปว่า แท้จริงแล้ว เราอาจไม่จำเป็นต้องบอกตัวเองว่าเป็นคนมีคุณธรรม จริยธรรม หรือต้องแสดงมันให้คนอื่นได้รับรู้โดยลืมตั้งคำถามต่อความถูกต้อง เพียงแต่เราฝึกให้เป็นคนมีปัญญา มองเห็นประโยชน์และโทษ รู้สถานะตนเอง ให้ความเคารพต่อสิทธิผู้อื่น ถ้าเรามีปัญญาที่จะมองเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆได้ ปัญญาจะบอกเราเองว่าเราควรกระทำต่อสิ่งนั้นอย่างไร เราจะดูแลคนที่มีบุญคุณต่อเราอย่างไร ใช้ชีวิตอย่างไรในสังคมที่เอาเปรียบเรา ฯลฯ การกระทำที่เกิดจากปัญญา จะไม่มัดใจเราให้ผูกติดเยื่อไยเหมือนกับความรู้สึกที่เกิดจากคุณธรรม อารมณ์ ความรัก และอาจง่ายต่อการทำตนให้พ้นทุกข์ตาม หลักพุทธศาสนาอีกด้วย .... นั่นคือ เราพัฒนาปัญญาให้ได้ ความกตัญญูกตเวทีจะตามมาเอง และทำงานประสานกันอย่างเหมาะสม แต่หากเน้นคุณธรรมความกตัญญูเป็นหลักผ่านการล้างสมอง โฆษณาชวนเชื่อ จะทำให้คนก้าวไปไม่ถึงปัญญาและต้องใช้ชีวิตตามความรู้สึกครับ

แสดงความเห็นโดยไม่ต้องเกรงใจนะครับ...ขอเพียงให้แสดงเหตุผลที่ดีด้วย ไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึกคับ เพราะคนอื่นอาจรู้สึกไม่เหมือนท่าน อิอิอิ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น