เมื่อ ดร.มาถวายสังฆทาน
เมื่อ ดร.มาถวายสังฆทาน
ไม่นานมานี้ ดร. หน้าตาดีท่านหนึ่งซื้ออาหารมาถวายสังฆทานตอนเพล โชคไม่ดีที่ท่านมาช้าไปนิดหนึ่ง พระจึงลงมือฉันกันแล้ว พระจึงบอกให้ท่านนำของมาประเคนแล้วรอกรวดน้ำตอนฉันเสร็จ
ปรากฏว่า ท่านไม่สบายใจ เนื่องจากเชื่อว่า หากไม่ทำพิธีถวายสังฆทานก็จะไม่ได้บุญ ท่านนั่งมองพระด้วยความแปลกใจ อาตมาก็เข้าใจความรู้สึกของท่านดี เลยหันไปมองท่าน สายตาของเราทั้งสองก็สบกัน และสนทนาผ่านความรู้สึกด้วยประโยคสั้นๆดังนี้
ทำไมพวกแกไม่ทำพิธีถวายสังฆทานให้ฉันก่อนว่ะ ศาสตร์ ?
เค้าจะทำไงได้อะ ก็ตัวเองมาช้านิ และพระก็ลงมือฉันกันแล้วด้วย อิอิ
สุดท้ายท่านตัดสินใจลุกออกไปจากศาลา และซื้ออาหารชุดใหม่ไปถวายพระที่กุฏิรูปหนึ่งซึ่งทำหน้าที่รับสังฆทานอยู่เป็นประจำ พวกเราก็ฉันเสร็จพอดี ฝั่งโน้นก็ทำพิธีเสร็จและ ดร.กำลังเอาน้ำที่กรวดมาเทใต้ต้นไม้ .... แต่อย่างน้อย ท่านคงสบายใจขึ้นแล้ว และคงไม่คิดจะมาถวายสังฆทานกับพระที่ไม่ยอมทำพิธีให้ท่านอีก
อาตมามีโอกาสเจอ ดร.ท่านนี้อีกครั้งหนึ่งแบบซึ่งๆหน้า ซึ่งก็เตรียมตัวจะอธิบายเรื่องนี้อยู่แล้วหากมีโอกาส แต่ปรากฏว่า ท่านเดินสวนอาตมาไปโดยไม่มองหน้าอาตมาอีกเลย อิอิ (นี่...ตัวเองโกรธเค้าแล้วหอ?)
จึงอยากฝากผ่านคนที่มีโอกาสอ่านข้อความนี้เพื่อจะได้ทำความเข้าใจกับคนใกล้ชิด และพระสอนศีลธรรมที่สอนนักเรียนเรื่องการถวายสังฆทานเป็นต้นนะครับ ว่าเราจะสอนให้เขาท่องจำคำถวาย สอนวิธีประเคนของก็ไม่เป็นไร แต่อย่าลืมบอกเขาไปด้วยว่า....
เป้าหมายของ สังฆทาน อยู่ที่การเปิดโอกาสให้คนเสียสละวัตถุแบบเปิดใจกว้าง ไม่เจาะจงเฉพาะคนที่เรารักหรือศรัทธาเท่านั้น เราจะทำที่ไหน กับ ใครก็ได้เมื่อเห็นเขาต้องการความช่วยเหลือ หากเราสามารถบ่มเพาะจิตใจสาธารณะผ่านระบบสังฆทานได้ ก็จะทำให้เราช่วยเหลือสังคมในวงกว้างได้โดยไม่หวังอะไรตอบแทนครับ
อีกอย่างหนึ่ง พิธีกรรม ไม่สามารถใช้ความขลังกลั่นกรองวัตถุนั้นๆให้กลายเป็นบุญได้หรอกครับ เรื่องนี้พระพุทธเจ้าด่าพวกพราหมณ์ที่ชอบทำพิธีกรรมและหวังบุญมาตลอด แต่บุญจะเกิดผ่านจิตใจที่เป็นเมตตา ปรารถนาจะอนุเคราะห์คนอื่นให้มีชีวิตรอดและผาสุกโดยอัตโนมัติ บุญจึงสำเร็จตั้งแต่เขาปรารถนาดีและแบ่งปันข้าวของให้ผู้อื่นแล้วครับ มิต้องผ่านการจัดพิธีถวายฯ
เรื่องนี้น่าคิดนะครับว่า ตกลงการเรียนการสอนพุทธศาสนาตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยจะมีประโยชน์จริงหรือไม่ หากสอนให้เขาท่องจำบทสวด ฝึกประกอบพิธีกรรม โดยไม่เข้าใจหลักการพุทธศาสนา ที่สำคัญ เขาจะมองคนที่เชื่อไม่เหมือนเขาว่าเป็นคนชั่วไปเลย ขณะเดียวกัน เมื่อรังเกียจพระกลุ่มหนึ่ง ก็ผันตัวเองเข้ามาตกเป็นเหยื่อของพระอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งตนสามารถใช้ปลอบใจตัวเองว่า ตนได้เป็นคนดีแล้วเพียงแค่ได้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น